บทบาท การหนุนเสริมการทำงานของกลุ่มเยาวชนพงหลีแป

โมฮัมมัดซัฟฟรีย์ นารอเอ็ง (อาวี) จบปริญญาตรี สาขาฟิสิกส์ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันเป็นครู การศึกษานอกโรงเรียน.สุไหงปาดี มีความถนัดเรื่องกีฬาปันจักสีลัต คอมพิวเตอร์โปรแกรม ตัดต่อภาพ วิดีโอ วิทยากรกระบวนการและการจัดรายการวิทยุ ครูอาวีเล่าให้ฟังถึงแรงบันดาลใจและเหตุผลในการทำกิจกรรมว่า

“เป็นเพราะความชอบและใจรัก มีความสุขที่ได้ทำ ทำแล้วสบายใจ อยากให้ชุมชนตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้นและอยากสร้างแกนนำเยาวชน เพื่อพัฒนาศักยภาพของเยาวชนในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ รักษ์และหวงแหนบ้านเกิด”

การทำงานที่ผ่านมาครูอาวีใช้ประสบการณ์ที่ทำกิจกรรมมาตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยมาใช้กับน้องๆ ทำแล้วเมื่อเห็นอะไรที่ทำเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีก็สุขใจ ที่สำคัญได้เห็นพัฒนาการของน้องๆ ที่เราอยู่ด้วย หรือเห็นรอยยิ้มของเด็กๆ ที่ไปทำกิจกรรม ดูเขามีความสุขก็ทำให้รู้สึกดีมากๆเคยบอกกับน้องๆ ว่า “ไม่ใช่ทำเพียงแค่นี้แล้วให้จบไป เราสามารถต่อยอดพัฒนาการทำงานไปสู่อาชีพหรือพัฒนาตนเองให้เก่งขึ้นได้”และจากการทำโครงการครูอาวีเล่าถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้ว่า

­

“ได้ความรู้ใหม่ๆ เพิ่มเติมขึ้นทั้งในเรื่องวิธีจัดการขยะในชุมชน การหาข้อมูลและจากการทำงานจริงในพื้นที่ได้พัฒนาทักษะในเรื่องการประสานงานชุมชน การทำงานร่วมกับชุมชน จากเดิมที่เราลงไปในชุมชนน้อย เข้าหาผู้ใหญ่น้อย ลงชุมชนเฉพาะเวลาที่จำเป็นหรือเฉพาะเวลาที่มีงาน ก็กลายเป็นได้เข้าไปจัดกิจกรรมทำให้ได้ปฏิสัมพันธ์กับชุมชนและคนในชุมชนมากขึ้น ซึ่งทำให้คนในชุมชนเข้าใจในสิ่งที่ทำมากขึ้น และผู้ปกครองก็เชื่อใจอนุญาตให้ลูกหลานมาร่วมกิจกรรมกับเราได้นอกจากนี้ความคิดความเชื่อก็เปลี่ยนไป อย่างเรื่องการทำงานร่วมกัน ต้องเปิดใจและให้โอกาส ซึ่งเดิมงานส่วนใหญ่จะเริ่มจากเราวางแผน แต่เมื่อทำงานร่วมกันกับเยาวชน ต้องเปิดใจมากขึ้นก็ได้เห็นว่า บางงานเด็กๆ ก็สามารถทำเองได้ โดยที่เราคอยดูอยู่ห่างๆ เวลามีปัญหาต่างๆ ก็นำมาคุยกันในกลุ่ม จากเดิมที่ให้กำลังใจใครไม่เป็นก็สามารถให้กำลังใจกันมากขึ้น เปิดใจรับฟังมากขึ้น”

การทำงานและการหนุนเสริมของครูอาวีกับกลุ่มเยาวชนพงลีแปสุไหงปาดี มีความสนิทสนมเป็นกันเอง บางช่วงครูอาวีจะเป็น “ครู” ที่คอยสอนให้ทำสิ่งต่างๆ ผ่านการลงมือทำงานจริง ด้วยความตั้งใจให้กิจกรรมเป็นหนึ่งในการเรียนรู้และพัฒนาของเยาวชนอยู่แล้ว และในบางช่วงก็เป็น “เพื่อน” เป็น “พี่” ที่สนิทสนมชวนน้องเที่ยวเพราะเห็นว่าเด็กๆ ชอบเที่ยว หากแต่เป็นการเที่ยวที่มีประโยชน์ ได้เรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติไปในตัวและเป็นการกระชับความสัมพันธ์อีกด้วย ครูอาวีจึงไม่ได้แค่สัมพันธ์กับเด็กๆ แค่ในช่วงกิจกรรม แต่ยังมีการนัดเที่ยวป่าในช่วงปิดเทอม ส่วนการทำงานร่วมกันครั้งนี้ ครูอาวีไม่ได้วางตัวเป็นเพียงผู้เฝ้ามอง หากแต่ช่วยสนับสนุน ร่วมลงมือปฏิบัติเป็นทีมเดียวกัน

­

เห็นได้ว่าการทำโครงการนี้ ไม่ได้พัฒนาแค่เยาวชนแกนนำเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงพี่เลี้ยง หรือผู้ใหญ่ของกลุ่มให้มีโอกาสเรียนรู้ เข้าใจ เปลี่ยนแปลงและปรับตัว ในการทำงานร่วมกับเยาวชน ให้สามารถเปิดใจ รับฟัง และให้โอกาสเยาวชนในการเติบโตจากการได้ลงมือปฏิบัติมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การทำงานร่วมกัน และเติบโตสืบทอดความคิด ความเชื่อ และอุดมการณ์ในการดูแลทรัพยากรบ้านเกิดต่อไปในอนาคต