เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง
วันที่ 11-12 กรกฎาคม 2555 ณ นกน้ำรีสอร์ท อ.เมือง จ.สตูล
การนำ “กระบวนการวิจัย” มาใช้เป็นเรื่องที่ดี แต่อยากให้คำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยของเด็กให้มาก เนื่องจากบางครั้งเด็กที่ทางโรงเรียนพาออกไปข้างนอกยังเป็นเด็กเล็ก ตนเห็นว่าควรให้เด็กเรียนรู้อยู่ในห้องเรียน ฝึกอ่านและเขียนให้คล่อง และนำโครงงานวิจัยให้เด็กทำเป็นครั้งคราวน่าจะเพียงพอแล้ว
“สิ่งที่พูดกับลูกชายอยู่ประจำคือ อย่ากินข้าวหก ๆ เขาตอบกลับมาว่า แม่อ้าปากผมก็รู้แล้วว่าจะพูดอะไร ผมท่องได้ทุกคำ เราแค่อยากให้เขามีสำนึกที่ดีในทุก ๆ ด้าน”
นางบุญชีพ ยิ้มส่ง ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนไทรงาม จังหวัดตรัง เป็นอีกท่านหนึ่งที่คาดหวังไว้ว่า โรงเรียนจะช่วยให้ลูกของตนเรียนดี เป็นเด็กดี มีจิตสำนึกที่ดีในทุกด้าน ตัวเองรู้เรื่องการนำโครงการวิจัยมาใช้ในโรงเรียนพร้อม ๆ กับครูในโรงเรียน เนื่องจากทางโรงเรียนไทรงามได้แจ้งมาทางผู้ปกครองโดยตรง ให้เข้าร่วมประชุมผู้ปกครองและชี้แจงถึงการนำโครงการวิจัยมาใช้ควบคู่ในโรงเรียน และเห็นว่ามีการลงพื้นที่จริงในการจัดกิจกรรมแต่ละครั้ง ซึ่งก็จะเข้าร่วมกิจกรรมของทางโรงเรียนเป็นประจำ
“เวลาโรงเรียนพาเด็กไปเรียนรู้เรื่องการทำนา เขาก็จะให้ผู้ปกครองไปช่วยลงแขก ไหว้วานกันไปให้ผู้ปกครองไปช่วยโรงเรียน แล้วก็จะมีคนในชุมชนมาช่วยด้วย เราก็เห็นทุกอย่างว่าโรงเรียนให้ลูกเราทำอะไรบ้าง เริ่มจากเห็นกิจกรรมเด็ก พอโรงเรียนขอความช่วยเหลือก็คอยสนับสนุนอยู่ตลอด”
ตนจะสอนลูกชายอยู่เสมอว่าอย่ากินข้าวหก ซึ่งลูกชายก็ยังทำไม่ได้ จนเด็กได้เรียนรู้กระบวนการตามการวิจัยที่โรงเรียนใช้ แล้วกลับมาถามผู้เป็นแม่ว่า “ทำไมไม่ให้กินหก” ตนก็ไม่ได้ตอบไป เพียงแต่บอกว่าจะทำให้เลอะเทอะ ไม่นานนักลูกชายกลับมาบอกว่า “ผมรู้แล้วทำไมแม่ไม่ให้กินข้าวหก กว่าจะได้ข้าวสักเม็ดนี่มันเหนื่อยใช่ไหม” หลังจากนั้นเด็กก็พยายามไม่กินข้าวหก ถึงแม้จะมีหกบ้างแต่ก็ให้เขาพยายามฝึกเพราะเขาเองก็รู้สาเหตุแล้ว
การนำหลักคิดมาใช้ในโรงเรียน อยากให้คำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยของเด็กให้มาก เนื่องจากบางครั้งเด็กที่ทางโรงเรียนพาออกไปข้างนอกยังเป็นเด็กเล็ก ตนจึงมีความเห็นว่า เด็กประถม 1-3 ควรให้เรียนรู้อยู่ในห้องเรียน แล้วใช้วิธีการสอดแทรกหลักคิดลงไปในสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเด็ก เพราะเกรงว่าเด็กเล็กจะควบคุมยากและเกรงจะเกิดปัญหาด้านความปลอดภัย ที่สำคัญเด็กเล็กควรฝึกอ่านและเขียนให้คล่อง และนำการโครงงานวิจัยให้เด็กทำเป็นครั้งคราวน่าจะเพียงพอ