เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง
วันที่ 11-12 กรกฎาคม 2555 ณ นกน้ำรีสอร์ท อ.เมือง จ.สตูล
การจะให้ครูเปลี่ยนวิธีสอน พี่เลี้ยงต้องใช้ทั้งศาสตร์และใช้ศิลป์ ต้องหาวิธีการที่แยบยล และถ้าอยากให้ได้ผลจริง ต้องติดตามผลอย่างต่อเนื่องและเข้มข้น ถ้าทำได้ตั้งแต่ช่วงแรกจะเห็นผลชัดเจนมาก และที่สำคัญผู้บริหารต้องผลักดัน ไม่ใช่เห็นด้วยแต่อยู่เฉยๆ การจัดให้มีการพูดคุยหารือเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้ครูทำงานได้ง่ายขึ้น สบายใจขึ้น และการเห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็ก ระหว่างทำวิจัยจะเป็นกำลังใจให้ครู เพราะเมื่อครูเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลง ความสุขก็จะเกิดขึ้น เมื่อความสุขเกิด แรงกระตุ้นในใจจะทำให้ครูสอนแบบเดิมไม่ได้อีก การทำวิจัยกับชาวบ้านและครูต่างกัน เพราะความคิดของชาวบ้านไม่ซับซ้อน เชื่อก็คือเชื่อ เมื่อเชื่อแล้วจะไว้ใจ พี่เลี้ยง สกว.ส่วนใหญ่มักเป็นที่รักของชาวบ้าน แต่ความชื่นใจเมื่อเห็นความสำเร็จระหว่างโรงเรียนที่ทำวิจัย กับชาวบ้านที่ทำวิจัยไม่เท่ากัน เพราะหากครูเปลี่ยนวิธีสอน เด็กเก่ง เป็นเด็กดี และมีความสุขกับการเรียน จะให้ความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่กว่า
จุดเริ่มต้น “ครูทำวิจัย”
ก่อนหน้าจะให้โรงเรียนไทรงามทำวิจัยเมื่อประมาณปี 2548 เคยทดลองให้ครูนำกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นไปใช้ ชื่อชุดโครงการเครือข่ายนักวิจัยรุ่นเยาว์เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยประกาศเปิดรับโครงการทั่วไป ตอนแรกมีครูสมัครมาประมาณ 30 โรง แต่เมื่อมีการเปิดเวที พูดคุย ทำความเข้าใจเรื่องกระบวนการวิจัย มีการปรับข้อเสนอโครงการ ท้ายสุดเหลือ 4 โรงที่ลองทำวิจัยกับเรา ผลจากโครงการนั้นไม่น่าพอใจมากนัก เพราะในตอนนั้นเราไม่มีพี่เลี้ยงที่มีความถนัดในเรื่องนี้ แต่ก็เริ่มเห็นปัญหา แล้วเริ่มตั้งข้อสงสัยกับตัวเองว่า ทำไมเด็กไม่เก่งเลย ทำไมเด็กชั้น ป.5 - ป.6 ถึงอ่านหนังสือไม่ออก เฉื่อย เนือย ไม่กระตือรือร้น ไปลงพื้นที่เด็กจะตอบไม่ได้ เขียนไม่ได้ กลับไปก็เล่าไม่เป็น ไม่กล้าแสดงออกเลย ให้ออกมาเล่าหน้าชั้น หรือต่อหน้าคนอื่น เด็กจะเกี่ยงกัน เห็นจุดบอดของเด็กเยอะมาก ก็เริ่มสงสัยต่อว่าแล้วครูสอนอย่างไร แถมเวลาให้ครูบันทึกกิจกรรมครูก็บันทึกไม่เป็น ทั้งที่มันน่าจะง่าย ช่วงท้ายของโครงการชุดนี้ เราจึงเริ่มเข้าไปสร้างสัมพันธ์กับนักเรียนบางโรงมากขึ้น ตัวเองก็เริ่มหาความรู้เรื่องกิจกรรมนำเรียน เพื่อให้เด็กเรียนอย่างสนุก มีความพร้อม และเริ่มทำกิจกรรมกับเด็กๆ เพื่อฝึกทักษะทางวิชาการ เช่น ฝึกอ่าน พูด เขียน ถาม เห็นว่าเด็กพัฒนาตัวเองได้เร็ว เริ่มมองเห็นว่า ครูน่าจะให้เด็กเรียนรู้อย่างเป็นกระบวนการ ไม่ใช่เปิดหนังสือหรือเรียนในห้องเรียนอย่างเดียว ถือว่าเป็นก้าวแรกที่เริ่มเรียนรู้พื้นที่วิจัยนอกเหนือจากที่เคยสนับสนุนให้ชาวบ้านทำวิจัย
จากนั้นจึงเริ่มทำโครงการชุดที่ 2 มี 4 โรงเรียนเข้าร่วมเช่นกัน แต่รอบนี้ได้มีโอกาสติดตามการทำวิจัยกับครูมากขึ้น แต่โปรแกรมที่จะอบรมครูก็ยังไม่ชัดเจน มีเพียงใบความรู้ที่ออกแบบเองเกี่ยวกับการเขียนโครงการ และการบันทึกกิจกรรม การทำรายงานเชิงคุณภาพ แต่จะจัดให้มีเวทีรายงานความก้าวหน้าของโครงการสม่ำเสมอ เชิญนักวิชาการ เชิญที่ปรึกษามาช่วยเติมเต็ม ให้ข้อเสนอแนะ เราในฐานะพี่เลี้ยงก็ได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นจากตรงนี้ ประกอบกับมีโรงเรียนหนึ่งปิดการสอน 1 อาทิตย์เพื่อให้ครูไปอบรม พี่เลี้ยงจึงทดลองไปทำค่ายให้เด็ก 3 วัน ฝึกทักษะการเป็นนักวิจัย ความรู้เกี่ยวกับโจทย์วิจัย เก็บข้อมูลเพิ่ม ตรวจสอบข้อมูลโดยให้คนเฒ่าคนแก่นั่งฟัง ปรากฏว่าเป็นโครงการที่เห็นความเปลี่ยนแปลงของเด็กชัดกว่าโรงเรียนอื่น ครูเริ่มตกใจที่เห็นเด็กตัวเองเก่งขึ้น ครูก็เริ่มสงสัยว่า เอ๊ะ... เด็กเก่งได้อย่างไร ตั้งแต่ตอนไหน โดยเฉพาะเวทีปิดโครงการ เด็กประถมทำเองเกือบทุกอย่าง นำเสนอเก่งมาก ทำให้พี่เลี้ยงเริ่มเห็นวิธีการที่จะให้ครูพานักเรียนทำวิจัย
ครูเปลี่ยน...เด็กเปลี่ยน
เมื่อเห็นชัดว่า ผู้ที่ทำให้เด็กเก่งได้ก็คือครู เพราะครูอยู่กับเด็กทุกวัน จะพัฒนาเด็กฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องพัฒนาครูด้วยจึงจะยั่งยืน พวกเราจึงพุ่งเป้าไปที่การปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอน หลักคิดคือ “เด็กพร้อมที่จะเรียนรู้และพัฒนาตัวเองถ้าครูมีวิธีการสอนที่ถูกต้อง” ที่ผ่านมาคำว่า “ใช้เด็กเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา” ไม่เคยเกิดขึ้นจริง พระราชบัญญัติการศึกษาที่วางไว้ นโยบายดี แต่ผู้ปฏิบัติทำเหมือนเดิม ผลที่เกิดก็เหมือนเดิม การพุ่งเข้าสู่โรงเรียนในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาจึงพุ่งเป้าไปที่โรงเรียนขนาดเล็ก โดยมีเงื่อนไขคือ ผู้บริหารสนใจ อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง พร้อมที่จะปรับการบริหารจัดการที่เอื้อต่อการทำวิจัย ครูทุกคน เด็กทุกชั้น ต้องทำวิจัย โดยเลือกโจทย์ที่ใกล้ตัวรอบๆ รั้วโรงเรียนมาออกแบบกระบวนการเรียนรู้ จัดชั่วโมงสำหรับเรียนนอกห้อง บูรณาการสู่ 8 กลุ่มสาระ เพื่อเป็นเครื่องมือในการนำเรียนอย่างเป็นกระบวนการ ขณะเดียวกันพี่เลี้ยงก็ต้องศึกษาหาความรู้ให้กับตัวเองให้มากขึ้น เพื่อจะพูดกับครูกับผู้บริหารได้ชัดเจน เป็นภาษาเดียวกัน การทำงานกับโรงเรียนเหนื่อยมาก แต่สิ่งที่ช่วยเยียวยาจิตใจได้ก็คือ “เด็ก” ทุกครั้งที่เห็นความเปลี่ยนแปลงของเด็กในเชิงสร้างสรรค์ มีพัฒนาการที่ดีขึ้น เราก็มีความสุข เป็นความสุขที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงาน ความสำเร็จของโครงการหรือกำลังใจของพี่เลี้ยงจึงไม่ต้องรอให้เสร็จสิ้นโครงการ
การนำกระบวนการวิจัยไปทดลองให้ครูใช้ ไม่ง่ายเหมือนทำกับชาวบ้าน แต่จะซับซ้อนกว่ากันมาก เพราะก่อนหน้านี้เราไม่มีความรู้พื้นฐานมาก่อนว่าในโรงเรียนเขามีอะไรกันบ้าง เขาจัดการกันอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนพัฒนาโจทย์วิจัย ครูจะกลัวคำว่า “วิจัย” มาก กลัวจะเหมือนวิจัย 5 บท ก็จะถอยเสียก่อน เราจึงต้องมีวิธีการให้ครูคลายความกลัว ให้ครูเห็นความต่างระหว่างวิจัย 5 บท กับวิจัยแบบ สกว. เมื่อครูหายกลัวแล้ว ต้องเปิดเวทีคุยวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง ปัญหา โอกาส เป็นการทำ SWOT กันอย่างจริงจัง ท้ายสุดก็วิเคราะห์ออกมาได้ว่า เด็กมีปัญหาอะไร ครูพึงพอใจกับการสอนหรือไม่ มีปัญหาอย่างไร แล้วจึงค่อยมาชวนกันหาทางออก ซึ่งตรงนี้เราจะคุยให้ครูเห็นความเป็นไปได้ในการนำกระบวนการวิจัยไปแก้ปัญหา ซึ่งปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือ เด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ วินัยต่ำ ผลสัมฤทธิ์ไม่ดีพอ ผู้ปกครองจึงให้ลูกไปเรียนที่อื่น ครูเองก็เหนื่อย สอนไม่ทัน เพราะต้องทำงานหลายอย่างนอกเหนือการสอน เมื่อได้ข้อสรุปจึงเริ่มลงไปสู่การออกแบบกระบวนการวิจัยภายใต้โจทย์วิจัยที่อยู่รอบรั้วโรงเรียน
พี่เลี้ยงนักวิจัยต้องใช้ศาสตร์และศิลป์
ช่วงที่หนักอีกขั้นของพี่เลี้ยงคือ “ขั้นดำเนินการ” ที่ให้ครูจัดกระบวนการเรียนการสอนแบบมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับครูแทบทุกคน ครูส่วนใหญ่เก่งการสอนวิชาตัวเอง สอนในหนังสือ และคิดว่าเขาสอนดี ทำหน้าที่เพียงพออยู่แล้ว ครูมักคิดว่าเด็กไม่เก่ง พ่อแม่ไม่ช่วยสอน ดังนั้นการให้ครูเปลี่ยนวิธีสอน พี่เลี้ยงจึงต้องใช้ทั้งศาสตร์และต้องใช้ศิลป์มากๆ พี่เลี้ยงต้องหาวิธีการที่แยบยล และถ้าอยากให้ได้ผลจริง ต้องมีการติดตามผลอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นซึ่งถ้าทำได้ตั้งแต่ช่วงแรกจะเห็นผลชัดเจนมาก และที่สำคัญผู้บริหารต้องผลักดัน ไม่ใช่เห็นด้วยแต่อยู่เฉยๆ การจัดให้มีการพูดคุยหารือเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้ครูง่ายขึ้น สบายใจขึ้น การเห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็ก ระหว่างทำวิจัยจะเป็นกำลังใจให้ครู เพราะเมื่อเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลง ความสุขก็จะเกิดขึ้น เมื่อความสุขเกิด แรงกระตุ้นในใจจะทำให้ครูสอนแบบเดิมไม่ได้อีก
ที่แตกต่างอีกอย่างคือ การทำงานวิจัยกับโรงเรียน ต้องเกี่ยวพันกับหลายส่วนมาก นอกจากผู้บริหาร ครู เด็ก แล้วยังมีผู้ปกครอง คนในชุมชน ภูมิปัญญา และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เวลาครูอยู่ในห้อง ในโรงเรียนเสียงดัง แต่พอกับผู้ปกครองหรือคนอื่น ครูมักปฏิสันถารไม่เป็น เวลามีการประชุมครูมักเป็นฝ่ายพูด ผู้ปกครองรับฟัง เสร็จแล้วก็แยกย้ายกันไป กรรมการสถานศึกษาส่วนใหญ่มีไว้เพื่อให้ครบองค์ประชุมเท่านั้น แต่การดึงเข้ามาช่วยกันเสนอแนะเพื่อบริหารโรงเรียนให้เกิดประโยชน์ยังไม่เกิดขึ้นจริง นี่เป็น “จุดอ่อน” ของครูในการสร้างการมีส่วนร่วมกับคนในชุมชน
ในขณะที่ทำงานกับชาวบ้าน เราแค่หาเวลาที่ชาวบ้านสะดวก เข้าไปพูดคุย ทำกระบวนการ ให้แนวคิด แล้วปล่อยให้ชาวบ้านเป็นคน Action ค้นหาข้อมูล ค้นหาวิธีแก้ปัญหา เอามาพูดคุย เอามารวบรวมเพื่อพัฒนาศักยภาพตัวเอง คนในชุมชนรับรู้และมีส่วนร่วมกับการวิจัย ไม่ต้องใช้การตีความหรืออธิบายกับหลายภาคส่วน และที่สำคัญคือความคิดของชาวบ้านไม่ซับซ้อน เชื่อก็คือเชื่อ เมื่อเชื่อแล้วจะไว้ใจ พี่เลี้ยง สกว.ส่วนใหญ่มักเป็นที่รักของชาวบ้าน แต่ความชื่นใจเมื่อเห็นความสำเร็จระหว่างโรงเรียนที่ทำวิจัย กับชาวบ้านที่ทำวิจัยจึงอาจไม่เท่ากัน เพราะหากครูเปลี่ยนวิธีสอน เด็กเก่ง เป็นเด็กดี และมีความสุขกับการเรียน จะให้ความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่กว่า
ส่วนเรื่องเทคนิค วิธีการหรือเครื่องมือที่นำไปใช้ในโรงเรียนนั้น ในปัจจุบันพบว่าเรื่องของการศึกษาของบ้านเราฝ่ายให้ความสำคัญมาก เพราะรัฐจัดสรรงบประมาณให้เป็นจำนวนมาก แต่การศึกษาบ้านเรานับวันจะแย่ลง ปริมาณเด็กออกจากระบบสูงขึ้น โรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มขึ้นทุกปี บางชั้นเรียนมีเด็กแค่ 2 - 3 คน เด็กอ่านหนังสือไม่ออก คิดเลขช้า ครูก็บ่นว่าสอนไม่ทัน โรงเรียนถูกยุบเพราะนักเรียนน้อย ครูไม่ครบ มีสำนักติวเกิดขึ้นมากมายทั้งในเมืองและชนบท รับสอนพิเศษตั้งแต่อนุบาลขึ้นไป ติวตั้งแต่วิชาที่ง่ายไปจนถึงวิชายากๆ เราก็สงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับการศึกษาบ้านเรา ครูในระบบบอกว่า ที่เด็กมีน้อยเพราะคนคุมกำเนิด ไม่ค่อยมีลูก ผู้ปกครองหัวสูงส่งลูกไปเรียนโรงเรียนมีชื่อเสียงในเมือง ยิ่งหันไปดูโรงเรียนเอกชนพบว่าแต่ละชั้นมีเด็กมาก 40 - 50 คน แต่ เด็กมีคุณภาพ ทั้งที่ครูเอกชนไม่ได้อบรม ไม่ได้ประชุมบ่อยเหมือนครูในระบบ
ยิ่งได้เข้าไปเรียนรู้ ยิ่งเห็นว่าโรงเรียนมีจุดอ่อนเยอะมาก แต่ก็เห็นโอกาสเช่นกัน จึงเป็นสิ่งท้าทายให้สนใจนำกระบวนการวิจัยเข้าไปในโรงเรียน เพราะขนาดชาวบ้านอายุมากเรียนแค่ ป.4 ทำวิจัยแล้วยังพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นได้ โรงเรียนก็น่าทำได้เช่นกัน และหากทำได้จริงก็จะเป็นอานิสงส์แก่ผู้ปกครอง ชุมชน และสังคมด้วย ครูส่วนใหญ่ติดการสอนความรู้ในหนังสือ ยิ่งเห็นเด็กโตแล้วยังอ่านหนังสือไม่ออก ก็รู้สึกสงสารเด็ก สงสารผู้ปกครอง เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และไม่น่าจะเกิดขึ้นกับสังคมไทย ซึ่งเรามองว่าส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากนโยบายการศึกษา โดยเฉพาะเรื่องการวัดคะแนนจากส่วนกลาง ทำให้เด็กที่เรียนอ่อนหรือครูสอนไม่ทันกลายเป็นเด็กที่บกพร่องทางการเรียน เพื่อจะได้ไม่เป็นตัวถ่วง แต่ครูไม่เคยทบทวนการสอนของตัวเอง แทบไม่น่าเชื่อว่าครูบางคนสอนชั้น ป.1 นานถึง 30 ปี โดยไม่สอนชั้นอื่นหรือวิชาอื่นเลย ครูบางคนกลัวมากกับการพูดต่อหน้าสาธารณะ ครูบางคนจะมีห้องของตัวเอง ไม่ยอมเปลี่ยนห้อง นั่งสอนบนเก้าอี้ตัวเดิมนับ 10 ปี แล้วเช่นนี้ครูจะพัฒนาเด็กอย่างไร ยิ่งเด็กวัยประถม ถือว่าเป็นวัยสำคัญที่สุด แต่กลับให้ครูที่สอนมานาน ไม่มีเทคนิค ไม่มีลูกเล่น มาอยู่กับเด็กเป็นปีๆ แล้วเด็กจะพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไร มีแต่จะอ่อนแอลงไปเรื่อยๆ แต่จะให้ทำเยอะๆ ก็คงไม่ไหว เพราะเราไม่ใช่คนในวงการ ไม่มีตำแหน่งอะไร
“ทักษะ” พี่เลี้ยง “ตัวแปร” ความสำเร็จ
เมื่อเห็นปัญหาเช่นนี้ เราจึงเริ่มศึกษา หาช่องทาง หาโอกาส หาวิธีการที่ไม่ยากนัก เพื่อเป็นสื่อให้ครูกับเด็กได้ออกจากห้องเรียน ออกจากหนังสือเรียนเล่มเดิม จึงมองไปที่เรื่องราวรอบรั้วโรงเรียน ที่ครูหลายคนไม่เคยรู้ว่ารอบรั้วโรงเรียนมีอะไรบ้าง มาเป็นโจทย์วิจัย เริ่มเจาะไปที่โรงเรียนขนาดเล็ก ที่ผู้บริหารอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง มีพลังในการผลักดัน เข้าสู่กระบวนการ แรกๆ พี่เลี้ยงท้อแล้วท้ออีก เพราะผลักครูไม่ไป ตอนแรกคิดว่าเป็นเรื่องที่ครูต้องรู้ แต่เอาเข้าจริงครูก็ไม่รู้ เช่น เรื่องบูรณาการ หลักสูตรท้องถิ่น โครงงาน การทำวิจัยหน้าเดียว การวิเคราะห์ เทคนิคการเรียนรู้แบบกลุ่ม การเชื่อมโยง การบันทึกหลังการสอน ครูใบ้หมด เราก็ต้องปรับ เอาเรื่องที่ทำได้ง่ายมาชวนกันทำก่อน ค่อยๆ พากันเรียนรู้ ทำไปปรับไป ทำไปสร้างการเรียนรู้ไป ถอดบทเรียนกันไป ก็เริ่มเห็นครูสนุก เห็นแววเด็กเก่งเป็นประกายขึ้นมาบ้าง แต่ก็ต้องใช้เวลา พี่เลี้ยงต้องอดทน ใจเย็น และต้องชัดเจนในกระบวนการ ที่สำคัญไม่ต้องวางกระบวนการให้ซับซ้อน แต่ค่อยๆ ใส่ส่วนที่ขาดระหว่างทาง อาจไม่ได้พัฒนาเด็กให้เป็นเลิศ แต่สามารถพัฒนาจากจุดเดิม คิดได้ แก้ปัญหาเป็น อยู่ในสังคมได้ สิ่งที่เห็นบ่อยคือ ครูมักเป็นคนจัดการเอง ครูไม่ใจเย็น ครูไม่ให้อิสระเด็กในการคิด มักคิดให้เด็กเอง ชอบให้เด็กนั่งกับที่ เรียบร้อย ไม่คุย ไม่เดินเพ่นพ่าน ไม่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้แบบกลุ่มหรือการแลกเปลี่ยน บางโรงเรียนการแบ่งกลุ่มเด็กเป็นเรื่องยาก แบ่งไม่ได้ เพราะเขาไม่เคยเรียนแบบกลุ่ม เด็กเก่งจึงรังเกียจเด็กอ่อน บางคนเรียนชั้น ป. 1 – ป.6 ยังไม่เคยออกไปนำเสนอหน้าชั้นเลยก็มี
แต่จะทำเช่นนี้ได้ “ทักษะ” ของพี่เลี้ยงสำคัญมาก โดยเฉพาะการพาครูให้เดินตามกระบวนการของเรา โดยเขาไม่รู้ตัวว่าถูกสอน ครูจะโกรธมากถ้าเราบอกว่าต้องทำอย่างนี้ เมื่อก่อนเข้าไปพัฒนาโครงการกับครู แค่เห็นเราติดกระดาษชาร์ท และเขียนเพื่อให้ครูทุกคนเห็น เราก็โดนว่า “เคยแต่สอนคนอื่น วันนี้โดนคนอื่นสอนบ้างแล้ว” เราจึงต้องทำความเข้าใจกันใหม่ว่า การที่เราเขียนขึ้นกระดาษชาร์ท เพื่อช่วยทบทวนเรื่องที่พูดคุยกัน เป็นการเช็คความเข้าใจร่วมกันไปด้วยในตัว ใครอยากเติมตรงไหนก็เติมได้ และเป็นการให้ความสำคัญกับความคิดของทุกคน ทุกคนมีสิทธิ์เสนอความคิดและถูกเขียนลงไปในชาร์ท และยังเก็บเป็นหลักฐานการทำงานได้ด้วย แถมยังเป็นอุปกรณ์ที่ไม่แพง
อย่างไรก็ตาม อยากจะลองสรุปกระบวนการนำวิจัยสู่โรงเรียนเป็นขั้นตอนง่าย ๆ ดังนี้
· ขั้น SWOT เพื่อค้นหาอุปสรรค ข้อขัดข้อง สิ่งที่ยังไม่ได้ดังใจ อะไรที่เป็นปัญหาอยากแก้ อยากทำให้ดีขึ้น การเรียนการสอน เด็ก ชุมชน และช่วยกันชี้ช่องทางในการแก้ปัญหา หาทางออก
· ขั้นหาเรื่อง (หาโจทย์วิจัย) เป็นการวิเคราะห์ชุมชน ฐานทุนที่มีทุกด้าน ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม ภูมิปัญญาด้านต่างๆ อาหารการกิน การประกอบอาชีพ เพื่อดูว่า เรื่องไหนจะนำมาเป็นโจทย์ให้เด็กเรียนรู้ได้ มีคนบอกความรู้ เดินทางสะดวก เป็นเรื่องที่ท้าทายการสืบค้นทั้งเด็กและครู
· ขั้นออกแบบ เมื่อได้เรื่องได้โจทย์แล้ว ครูก็ช่วยกันออกแบบกระบวนการดำเนินงาน ตั้งแต่ต้นจนจบ ส่วนใหญ่ใช้เวลา 1 ปีการศึกษา จึงออกแบบได้หลากหลาย แตกยอด หรือมีกิจกรรมที่สนุกสนานท้าทายผู้เรียน
· ขั้นชี้แจง เป็นการชี้แจงผู้ปกครอง ถึงการนำกระบวนการวิจัยมาใช้พัฒนาการเรียนการสอน ป้องกันความเข้าใจผิดและเป็นการขอความร่วมมือไปด้วย
· ขั้นวางแผนในชั้นเรียน เป็นขั้นที่สำคัญมาก ครูต้องปรับบทบาทเป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ กระตุ้นให้เด็กอยากรู้อยากทำ ครูต้องให้เด็กช่วยกันวางแผนว่า จะไปหาความรู้เรื่องอะไร จากใคร สิ่งที่อยากรู้มีอะไรบ้าง (ประเด็น และคำถาม) จะไปหาได้ที่ไหน จะไปเมื่อไหร่ จะไปอย่างไร และจะตั้งกติกาการทำงานว่าอย่างไร ผลัดกันนำเสนอ เป็นการเติมเต็มข้อมูลระหว่างกลุ่ม ครูจะคอยกระตุ้น ชี้แนะ และเติมเต็ม
· ขั้นลงมือทำ หลังจากวางแผนกันในชั้นเรียนแล้ว จึงลงมือปฏิบัติการจริง ขั้นนี้ครูมีบทบาทเป็นผู้สังเกตการ คอยบันทึกพฤติกรรมเด็ก เพื่อจะได้กลับไปคุยกันในชั้นเรียน
· ขั้นสรุป/ประเมิน หลังจากลงพื้นที่จึงมาสรุปในชั้นเรียน ผลัดกันนำเสนอ ได้ความรู้อะไรบ้าง บรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่ ระหว่างปฏิบัติการมีปัญหาอะไร สาเหตุ วิธีแก้ในคราวต่อไป
· ทำซ้ำ เป็นการย้อนทวนอีกครั้ง เพื่อทดลองแก้ปัญหาวิธีใหม่ สืบค้นความรู้เพิ่มอาจจะหัวข้อเดิม หรือหัวข้อใหม่ เพราะส่วนใหญ่ครั้งแรกๆ จะมีปัญหามาก เด็กถามไม่เป็น ถามแล้วถามอีก ไม่ฟัง จดไม่ทัน ทำผิดกติกา ไม่ช่วยกันทำงาน ข้อมูลเรียบเรียงไม่ได้ ฯลฯ การทำซ้ำจะเป็นการลงมือทำและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เด็กจะเริ่มเคยชินกับกระบวนการ การให้เด็กผลัดกันเป็นผู้นำผู้ตาม จึงมักแสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่ถูกเก็บเอาไว้ ครูจะเริ่มมีทัศนคติที่ดีต่อเด็ก ต่อชุมชน
· ขั้นสรุปความรู้และเผยแพร่ เป็นขั้นสุดท้ายของโครงการ
ทั้งหมดนี้จะใช้วงจรคุณภาพ PDCA กำกับการทำงานทุกระดับ การทำงานแบบนี้จึงเป็นเหมือนการทำวิจัย 5 ชั้นคือ
ผู้บริหารใช้ PDCA กับครู ในการกำกับ ติดตาม ประเมินผล ผู้บริหารกำลังวิจัยการสอนของครู
ครูใช้ PDCA กับเด็ก ในการให้เด็กทำวิจัย ครูกำลังวิจัยเด็ก เพื่อพัฒนาศักยภาพเด็ก
เด็กใช้ PDCA กับเด็ก เพื่อสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน เด็กกำลังวิจัยตัวเอง วิจัยเพื่อน เสริม
ศักยภาพซึ่งกัน
เด็กใช้ PDCA กับชุมชน เพื่อหาความรู้ในสิ่งที่อยากรู้ เด็กกำลังวิจัยท้องถิ่นของตัวเอง
พี่เลี้ยงใช้ PDCA กับโรงเรียน เป็นตัวกำกับกระบวนการ สกว.กำลังวิจัยโรงเรียนที่นำ
กระบวนการวิจัยไปใช้
ผลจึงเกิดครบทุกองคาพยพ รวมไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
เครื่องมือในการทำวิจัยแบบมีส่วนร่วม (participation) ที่จะนำไปสู่ ความสำเร็จ (Achievement) เปลี่ยนครูผู้สอนให้เป็นครูนักออกแบบจัดการเรียนรู้ (Facilitator) ผ่านวงจรการทำงาน PDCA+S
เครื่องมือนี้เป็นเครื่องมือคุณภาพ โรงเรียนทุกแห่ง องค์กรทุกที่ สามารถนำไปใช้ในการทำงานได้ และหากดำเนินการต่อเนื่อง จะทำให้ผลผลิตมีคุณภาพ ที่ผ่านมาก็ใช้เครื่องมือนี้ในการให้ครูปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน เป็นเครื่องมือที่อธิบายไม่ยาก ไม่ซับซ้อนและจะได้ผลจริงถ้าลงมือทำอย่างต่อเนื่อง
“วิจัย” ยาขมครูไทย
หลายคนอาจสงสัยว่าแล้ว ครูที่ยังมองไม่เห็นอะไรเลย เรามีวิธีการพูดคุยกับเขาอย่างไร ให้เขายอมรับเราบทบาทของเรา วิธีที่เราใช้คือไม่พูดเรื่องวิจัย เพราะคำว่า “วิจัย” กับครูเป็นอะไรที่เข้ากันไม่ได้ ครูสอนความรู้ในหนังสือไม่ได้ผิด เพียงแต่มันไม่ใช่สูตรสำเร็จในสถานการณ์ปัจจุบัน การทำให้ครูยอมรับในตัวของเราก่อน จะทำให้เราทำงานง่ายขึ้น เราไม่ได้พูดเรื่องวิจัยเมื่อเจอครู แต่เรามักใช้คำถามกับครูว่าเป็นอย่างไรบ้างวันนี้ เด็กเป็นอย่างไร ผู้ปกครองเป็นอย่างไร แล้วครูจะแก้ปัญหาอย่างไร กินกาแฟกันไป คุยกันไป แรกๆ มักนั่งฟังครูบ่นให้ฟังเสียมากกว่า โดยที่ครูไม่รู้ว่าเรากำลังเก็บข้อมูล ได้โอกาสเมื่อไหร่เราก็จะใส่กระบวนการเข้าไป บางทีเราก็ชวนเด็กมาเรียนกับเรา บางทีเราก็ชวนครูไปเที่ยวที่อื่น โรงเรียนอื่น ที่จังหวัดสตูลมักไปบ่อยเพราะอยู่ใกล้ ให้ครูได้เห็นผลผลิตจากโรงเรียนอื่นก่อน แล้วค่อยตามไปนั่งคุยที่โรงเรียน ดังนั้นเรื่องงานมาทีหลัง เมื่อครูยอมรับขั้นต่อไปถึงจะเป็นการชวนทำวิจัย โดยให้ครูลืมวิจัยที่เคยรู้จักไปก่อน แต่ให้ครูลองหยิบเรื่องราวในชุมชน หรือรอบรั้วโรงเรียนที่น่าสนใจ มานั่งออกแบบด้วยกัน ถ้าให้ครูเขียนโครงการเลย ครูจะเขียนไม่ได้ ต้องค่อยๆ พากันเขียนโครงการ เสร็จแล้วก็มีการประชุมบ่อยๆ เมื่อเข้าสู่กระบวนการ บางครั้งเราก็ต้องพานำ พาทำกิจกรรมการเรียนการสอนให้เด็กก่อน ฝึกทักษะการเป็นนักวิจัยให้เด็กเพื่อให้ครูเห็นก่อน แล้วจึงปล่อยให้ครูลงมือทำเอง เพราะครูส่วนใหญ่ต้องการตัวอย่าง
กิจกรรมแรกๆ ที่ต้องจัดให้มีคือ กิจกรรมพลังกลุ่ม 3 วัน 2 คืน เป็นกิจกรรมที่ครูต้อง Action ทั้งความคิด การลงมือทำ การแสดงอารมณ์ความรู้สึก การเรียนรู้เพื่อนร่วมงานในมุมที่ลึกกว่าเดิม และการสะท้อนความคิด ครูที่ไม่เคยได้รับการอบรม ก็รู้สึกตื่นตาตื่นใจ ที่กิจกรรมนี้ได้สร้างความคลี่คลายอะไรบางอย่างในตัวเขา ในองค์กรเขา ส่วนกิจกรรมค่ายนักวิจัยน้อยเป็นค่ายที่ทำคล้ายๆ ค่ายครู แต่ทำกับเด็ก ปรับกิจกรรมให้เหมาะกับเด็ก กิจกรรมนี้ทำให้ครูเริ่มเห็นศักยภาพเด็กที่ครูไม่เคยเห็นมาก่อน ครูก็จะเริ่มแปลกใจ และเห็นสิ่งดีๆ ในตัวเด็กมากขึ้น จึงมักเกิดคำถามว่า สกว.ทำได้อย่างไร ที่ยากของครูคือการเขียน ที่ผ่านมาไม่ว่าจะทำอะไรครูมักต้องการตัวอย่าง หรือการก็อปปี้ การเขียนเป็นยาขมสำหรับครู นี่คือองค์ความรู้ในการทำวิจัยของครูและเด็ก เป็นเอกสารที่โชว์ได้ และในที่สุดเขาก็จะเห็นว่ามันเกิดประโยชน์ มันตอบโจทย์เขาได้เกือบหมด
ส่วนผู้อำนวยการโรงเรียนมีบทบาทคือเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียน (Change Agent) โดยทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคู่กับพี่เลี้ยงนักวิจัยจาก สกว. ร่วมกำหนดโครงสร้างเวลาการเรียนรู้ และบริหารงบประมาณวิจัย ชวนประชุมออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ของครูในโรงเรียน และนิเทศติดตามการสอนเป็นระยะ เป็นแกนนำออกแบบกิจกรรมหลัก เช่น การอบรม และศึกษาดูงาน ในส่วนของการสร้างวง PLC (Professional Learning Center) จะมีการกำหนดช่วงเวลาหลังจัดการเรียนรู้ สัปดาห์ละครั้ง เพื่อสรุปผล และถอดบทเรียน ระหว่างครูในโรงเรียน นอกจากนี้ยังมีการส่งครูไปร่วมแลกเปลี่ยนกับครูต่างโรงเรียนอีกด้วย
วิธีการสร้างความร่วมมือกับชุมชน ใช้วิธีการประชุมชี้แจงก่อนเริ่มโครงการวิจัย โดยใช้กลไกคณะกรรมการสถานศึกษาเป็นส่วนประสานกับผู้ปกครอง หลังจากนั้นใช้วิธีการเรียกประชุมเตรียมการระหว่างกิจกรรม เช่น กิจกรรมการนำเสนอเค้าโครงรายงาน กิจกรรมการลงพื้นที่เก็บข้อมูล กิจกรรมการนำเสนอผลโครงงาน เป็นต้น นอกจากนี้ใช้เครื่องมือการถอดบทเรียนในการพูดคุย
แนวทางการผลิตเด็ก “คุณภาพ”
โรงเรียนต้องผลิตสินค้าที่มีคุณภาพนั่นก็คือ เด็ก ถ้าผลผลิตเป็นที่พอใจ ลูกค้าพึงพอใจก็จะมาเลือกใช้บริการ ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องชี้ให้เขาเห็นว่าที่ผ่านมา เขาผลิตสินค้าเพียงวิธีเดียวคือ การเปิดตำราสอน ทำให้ผลผลิตของเขาตกยุค ไม่ทันสมัย ใช้การไม่ค่อยได้ มีปัญหาเรื่องคุณภาพ เราก็จะชวนครูคุยเรื่องคุณภาพของผลผลิต และคุณภาพของเครื่องผลิตก่อน เราต้องชี้ให้เห็นว่า เครื่องผลิตของเขาไม่มีคุณภาพ เราจะไปช่วยยกระดับเครื่องผลิต โดยใช้หลัก SWOT ภายในองค์กร เพื่อให้เห็นสิ่งที่เขาจำเป็นต้องแก้ เราจะนำเครื่องมือไปแทรกให้เขาใช้กระบวนการวิจัยควบคู่กับวงจร Demming (PDCA) โดยหยิบเครื่องมือการสรุปการเรียนรู้หลังจัดกิจกรรมที่เรียกว่า Summary มาประยุกต์กับการถอดบทเรียน (Refreshtion – การกระตุ้นความจำ) เครื่องมือวิจัยที่เน้น “Plan Do Check Action + Summary” มากจะช่วยแก้ปัญหาคุณภาพเด็กได้ เราจะช่วยเข้าไปดูแล หนุนเสริมให้ครูเป็นนักจัดการเรียนการสอนที่ไม่ใช่สอนหนังสือ แต่ให้เปลี่ยนเป็นสอนคนแทน
เราต้องการใช้เครื่องมือใหม่ไปให้เขาทดลองใช้นั่นคือ การเรียนรู้อย่างเป็นกระบวนการ หรือการเรียนรู้ร่วมกันผ่านเรื่องราวรอบรั้วโรงเรียนอย่างเป็นกระบวนการ ที่ต้องเน้นตรงนี้เพราะที่ผ่านมา ครูสอนแบบไม่ให้เด็กคิด มักให้ทำอย่างเดียว ทำเสร็จก็ไม่มีการสะท้อนความคิด หรือไม่มีการสรุปบทเรียน แต่ไปทำอย่างอื่นต่อ ความรู้ของเด็กจึงไม่คงทน เด็กไม่รู้ว่าเรียน รู้ จำไปเพื่ออะไร เด็กเพียงทำตามคำสั่งของครู คิดเองไม่เป็น ไม่ถูกฝึกให้คิด ดังนั้นในการทำงาน เราจึงต้องเน้นกระบวนการและวิธีการให้มาก จริงๆ แล้วจะเป็นเรื่องในหนังสือหรือจะเป็นสิ่งแวดล้อมรอบตัว ก็สามารถสร้างการเรียนรู้ให้เด็กได้ แต่ครูต้องปรับวิธีการ แทนที่จะเป็นคนสอน ก็เป็นครูที่คอย “กระตุ้น” ให้เด็กคิด วางแผนการทำงาน ให้รู้ว่าจะต้องหาความรู้เรื่องอะไร เพื่ออะไร ให้เด็กรู้จักการทำงานเป็นกลุ่ม รู้จักตั้งคำถาม ไปหาสิ่งที่อยากรู้ ตั้งกติกาในการทำงาน นำเสนอกันเอง แชร์ความรู้กันเอง มีปัญหาก็ให้เด็กช่วยกันคิดหาทางแก้ปัญหากันเอง ทักษะต่างๆ ของเด็กจะเกิดจากการจัดกระบวนการตรงนี้ของครู ครูเองก็จะเริ่มเห็นศักยภาพเด็กเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่สุดครูก็จะติดกระบวนการไปเอง เด็กกี่รุ่นๆ ที่ผ่านมือครูก็ถูกสอนให้คิด สอนให้ทำ สอนให้แก้ปัญหา แบบนี้ คุณภาพของสินค้าจึงจะดี ลูกค้าก็พึงพอใจอยากเข้ามาใช้บริการต่อ และเด็กก็มีทักษะติดตัว คิดเป็น คงทน พฤติกรรมไม่พึงประสงค์ก็ลดลง เพราะเขาถูกกำกับด้วยกติกาและกระบวนการกลุ่ม กระบวนการเช่นนี้ฟังดูแล้วอาจเป็นนามธรรม แต่เป็นวิธีการที่ปฏิบัติได้จริง เห็นผลชัดเจน และเปลี่ยนครูได้ ครูที่เปลี่ยนจะไม่อยากสอนหนังสือแบบเก่า และจะหาทางพัฒนาวิธีสอนของตัวเองอยู่เสมอ
การเข้าไปสนับสนุนสถานศึกษาของ สกว.ตรังเป็นการฝังวิธีการเรียน วิธีการสอน ฝังลงไปในวิธีบริหารจัดการภายในโรงเรียนด้วย เช่น ก่อนที่จะนำกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นเข้าสู่การเรียนการสอนจะต้องมีการบริหารจัดการ เช่น ต้องจัดให้มีวันสำหรับเรียนวิจัย โรงเรียนวิจัยของตรังมี 7 โรง แต่ละโรงจะจัดเวลาแตกต่างกันตามบริบท ตัวอย่างของโรงเรียนไทรงาม เมื่อก่อนใช้เวลาตอนบ่าย 1 วัน แต่ตอนหลังรู้ว่าแค่ช่วงบ่าย 3 - 4 ชั่วโมงไม่พอ จึงขยายเป็น 1 วัน คือทุกวันอังคาร ครูกับเด็กจะเรียนผ่านกระบวนการ เรียนหน่วยใดก็ได้ในแต่ละโจทย์ แต่ให้ครูบูรณาการให้ได้มากที่สุด ก็จะไม่กระทบกับเวลาเรียน เพราะต้องเรียนแบบบูรณาการอยู่แล้ว ตอนนี้ครูบอกว่า ก่อนเลิกเรียนวันจันทร์ก็ต้องมาวางแผนกันแล้ว และบางทีก็ต้องไปนำเสนอสิ่งที่ได้ในเช้าวันพุธ ซึ่งง่ายเพราะโรงเรียนไทรงาม ครู 1 คน รับผิดชอบ 1 ชั้น ให้ครูบริหารจัดการเวลาเอง ซึ่งครูสามารถพาเรียนไปได้จนสุดทาง แต่ถ้าครูสอนแบบรายชั่วโมงเด็กจะเรียนไม่สุด เพราะต้องเปลี่ยนวิชา หรือโรงเรียนบ้านท่าคลองที่อยู่ท่ามกลางอิสลาม ทุกวันศุกร์ผู้ปกครองหยุดงานนอกบ้าน ก็ใช้วันศุกร์ทั้งวันเป็นวันเรียนวิจัย ให้เด็กไปเรียนรู้กับผู้รู้ภูมิปัญญาก็สะดวก และยังได้ร่วมละหมาดกับชาวบ้าน ฝึกการเป็นศาสนิกชนที่ดี ชาวบ้านก็ชอบ เพราะได้รับรู้ความเคลื่อนไหว เป็นต้น
ส่วนเงื่อนไขเรื่องระยะเวลาการทำวิจัย อย่างน้อยต้อง 1 ปีการศึกษาเป็นต้นไป และจะต้องเริ่มในช่วงเทอมแรกของปีการศึกษา เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมาทำเรารู้ว่า หากโครงการวิจัยเข้าไปในช่วงเทอม 2 ไม่เหมาะอย่างยิ่ง เพราะครูนักเรียนต่างวุ่นวายกับการเตรียมตัวสอบ ประเมินกิจกรรมและงานวิชาการในโรงเรียน จนไม่มีเวลามาเรียนรู้กระบวนการ และต้องทำซ้ำ จึงจะฝังลงไปในการเรียนการสอนได้ ไม่เช่นนั้นครูก็จะกลับไปลู่จุดเดิม และต้องให้ครูมองกระบวนการให้ออก โดยฝึกให้เด็กเคยชินกับการเรียนการสอนอย่างเป็นกระบวนการคือ ให้นักเรียนมีการแบ่งกลุ่มทำงานหรืองานเดี่ยวก็ได้ แต่เด็กจะต้องรู้จักวางแผนการทำงานกันเอง แบ่งหน้าที่แบ่งบทบาทกันเอง ลงมือทำและแก้ปัญหาด้วยตัวเอง สรุปความรู้ที่ได้ด้วยตัวเอง ครูมีหน้าที่กระตุ้น ให้ข้อเสนอแนะ และเติมในสิ่งที่ยังขาดเท่านั้น ต้องไม่สอนมาก สั่งมาก
ใช้สื่อรอบตัวรอบรั้วโรงเรียนเป็นเนื้อหาที่จะพาเด็กเรียน การใช้เรื่องราวรอบรั้วโรงเรียนมาเป็นโจทย์วิจัยเป็นแค่เครื่องมือหนึ่งเท่านั้น เพราะอยู่ดีๆ จะให้ครูสอนด้วยวิธีใหม่ไม่ได้ การเลือกเนื้อหาใกล้ตัวแล้วบูรณาการเนื้อหาสาระลงไป จะเป็นการฝึกครูให้ทดลองการสอนแบบใหม่ เมื่อชำนาญแล้ว จะพาเรียนเรื่องอะไรก็ไม่ยาก ให้มีกลไกการติดตามประเมินผล ทั้งภายในโรงเรียนคือระหว่างผู้บริหารกับครู และระหว่างพี่เลี้ยง สกว. ครู และผู้บริหาร เพื่อช่วยกันคลี่คลาย แก้ไขข้อติดขัด และเป็นการฝึกครูให้รู้จักการนำเสนออย่างเป็นกระบวนการไปด้วย ตั้งเงื่อนไขเรื่องการเขียนรายงาน เพราะครูส่วนใหญ่ไม่มีการบันทึกหลังสอน และยังไม่กระตุ้นให้เด็กเขียนบันทึกหลังเรียน เงื่อนไขแบบนี้ทำให้ครูค่อยๆ รวบรวมข้อมูล ค่อยๆ เห็นความเปลี่ยนแปลง และท้ายที่สุดครูก็จะได้องค์ความรู้ เกี่ยวกับวิธีการจัดการเรียนการสอนในแบบเฉพาะของครู ในขณะที่นักเรียนก็จะมีชิ้นงานปรากฏตลอดเวลา และเห็นพัฒนาการของเด็ก จัดให้มีการเผยแพร่ความรู้จากการทำวิจัย เป็นการฝึกให้ครูรู้จักใช้เวทีสาธารณะให้เป็นประโยชน์ และเป็นการฝึกเด็กได้เป็นอย่างดี ให้โอกาสเด็กได้แสดงศักยภาพความสามารถ ผู้ปกครอง คนในชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้มีโอกาสเข้ามารับรู้ ชื่นชม เพื่อจะได้หนุนเสริมได้ถูกที่ถูกทาง ซึ่งทั้งหมดนี้ท้ายที่สุดครูจะค่อยๆ มองออก และยินดีที่จะเดินวิ่งตามลู่นี้ แต่เป็นไปในแบบฉบับของตัวเองมากขึ้น เพราะเห็นประโยชน์ เห็นสิ่งดีงาม ตลอดทาง
ผู้บริหารต้องเป็น “ธงนำ”
สำหรับ “เทคนิค” ที่ใช้เลือกโรงเรียนเข้าสู่กระบวนการของเราอันดับแรกคือ ผู้บริหาร ถ้าเราหวังเปลี่ยนทั้งระบบ หวังการฝังกระบวนการที่ยืนยาว ต้องพุ่งเป้าคัดเลือกผู้บริหารก่อน หลังจากนั้นจึงเลือกขนาดของโรงเรียน โรงเรียนขนาดใหญ่อาจขับเคลื่อนได้ยากกว่าโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะระว่างทางต้องทำความเข้าใจในกระบวนการต้องพูดคุย ประชุมกันบ่อยๆ ซึ่งแน่นอนว่าต้องรบกวนเวลาส่วนตัวของครูบ้าง แต่เราสามารถหาเวลาที่ลงตัวสำหรับทุกคนได้ง่ายกว่า
ผู้บริหารนอกจากเห็นด้วยแล้ว ยังต้องผลักดันและมีแรงผลัก เห็นด้วยแต่นั่งเฉยให้พี่เลี้ยง สกว.ไปผลักก็ไม่สำเร็จ เราต้องการปรับผู้บริหารด้วย และผู้บริหารต้องปรับการบริหารจัดการบางอย่างที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลง ต่อการนำกระบวนการวิจัยไปใช้ เช่น ต้องมีการ SWOT ภายในโรงเรียนและภายนอกโรงเรียน ปัญหาอุปสรรค สิ่งติดขัด ปัจจัยเงื่อนไข โอกาสที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ หรือยกระดับคุณภาพร่วมกัน เงื่อนไขที่เราต้องให้ทางโรงเรียนจัดคือ ต้องปรับตารางเรียน ต้องจัดให้มีโจทย์วิจัยจากชุมชนหรือนอกห้อง ต้องให้ครูทุกคนเด็กทุกชั้นทำวิจัย ต้องมีกระบวนการกำกับ ติดตาม ประเมินผล อย่างน้อยเดือนละครั้ง ต้องสนับสนุนให้ครูและเด็กใช้ PDCA อย่างต่อเนื่อง เป็นประจำ ต้องดึงการมีส่วนร่วมจากชุมชน ผู้ปกครอง และที่สำคัญคือต้องบริหารแบบมีส่วนร่วม
ผู้บริหารบางคนนั่งโต๊ะทั้งวัน ไม่เดินไปไหน หรือผู้บริหารบางคนกว่าจะเข้าโรงเรียนก็ช้ามาก บางคนไม่ค่อยเข้าโรงเรียน ปล่อยให้เป็นโรงเรียนของครูกับเด็ก พี่เลี้ยงจึงต้องใช้ทักษะบางอย่างเพื่อรู้ให้ได้ว่า ผู้บริหารโรงเรียนนั้นเป็นอย่างไร แล้วค่อยเดินหน้าทำความคิดไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นถ้า ปัจจัยนำเข้า (input) ตอนแรกดี กระบวนการดี (process) แน่นอนว่า out put ก็ต้องดี นี่เป็นหลักง่ายๆ ในการนำไปสู่ความสำเร็จ
สิ่งที่ดำเนินการอยู่คือ ให้ครูและเด็กหยิบเรื่องราวรอบรั้วโรงเรียนมาเรียนชั้นละโจทย์ ถือเป็นการซ้อมก่อนก็ได้ เพราะคิดว่าเมื่อครูรู้วิธีสอนแล้ว ต่อไปการให้เด็กทำโครงงานจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ครูสามารถหยิบเอาบางส่วนจากที่กำลังทำอยู่แล้วก็ยังได้ แค่เอาหลักการทำโครงงานไปสอนเด็ก แล้วให้เด็กหาโจทย์ หาเรื่องจากโจทย์เดิมหรือโครงการวิจัยเดิมที่ทำอยู่แล้ว เริ่มจากวิชาไหนก็ได้ที่เด็กสนใจ อยากรู้ เช่น เด็กที่ทำเรื่องนาข้าวอยู่แล้ว เขาอาจทำโครงงานวิทยาศาสตร์ เรื่องดิน สิ่งแวดล้อม หรือสัตว์ที่อยู่ในทุ่งนา หรืออาจทำโครงงานการนำหอยเชอรี่ไปใช้ประโยชน์ หรือการคิดค้นหาวัสดุแทนดินมาปลูกข้าวก็ได้ ซึ่งมันไม่ยาก เพียงแต่ว่าตอนนี้ครูยังคิดแยกส่วนว่า นี่วิจัย สกว. นี่โครงงาน นี่วิจัยหน้าเดียว นี่วิจัยชั้นเรียน สรุปคือ ครูต้องการคนช่วยมอง ช่วยคิด เป็นโค้ช เป็นที่ปรึกษา หรือตัวอย่าง แล้วครูก็จะไปได้
“บทเรียน” ของพี่เลี้ยง
อย่างไรก็ตามจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้เราได้ “บทเรียน” ในการขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จเช่นกัน การเป็นพี่เลี้ยง สกว. สิ่งสำคัญคือ ทักษะการวิเคราะห์ต้องเก่ง ถือเป็นด่านแรกของพี่เลี้ยง ไม่เช่นนั้นเราอาจมองพลาดได้ พี่เลี้ยงต้องวิเคราะห์คน วิเคราะห์งาน และหน้างานให้ออก เชื่อมโยงให้เป็น ให้ครูเห็นว่าทำแบบนี้แล้วจะนำไปสู่อะไรที่เป็นรูปธรรม ทักษะการสื่อสารต้องดี การชวนพูดชวนคุย ต้องจับประเด็นดี มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี อดทน พยายาม มีหลักคิดในการทำงาน เชื่อมั่นและศรัทธาต่องานที่ทำว่า เป็นสิ่งดีสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง และสร้างผลกระทบที่ดีได้ต่อชุมชนสังคมได้ และต้องรู้จักหาความสุขระหว่างการทำงาน ไม่เช่นนั้นจะหมดกำลังใจ และที่สำคัญต้องถอดบทเรียนการทำงานของตัวเองสม่ำเสมอ
นอกจากนี้การเป็นพี่เลี้ยงที่ดีต้องมีการติดตาม หนุนเสริม และให้กำลังใจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงแรก ถ้าพี่เลี้ยงปล่อย ครูก็สอนแบบเดิม ไม่พาเด็กทำวิจัย แล้วจะไปเริ่มใหม่ครูก็ขี้เกียจ ไม่อยากทำ และที่สำคัญคือต้องพยายามอย่าให้ครูเห็นว่าเป็นภาระ ถ้าพี่เลี้ยงทำความเข้าใจกับครูได้ตั้งแต่ต้น ค่อยเริ่มจากสิ่งที่ครูทำได้ง่ายๆ สร้างการยอมรับก่อนการทำงานต่อไปก็จะง่ายขึ้น และพี่เลี้ยงต้องเติมทักษะความรู้ให้กับตัวเองให้มากในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานการศึกษา ต้องพยายามพูดภาษาเดียวกับครู ไม่ต้องให้ครูพูดภาษาเดียวกับเรา พี่เลี้ยงต้องคำนึงเสมอว่า การสร้างความเข้าใจเป็นหน้าที่ของพี่เลี้ยง ต้องไม่โทษว่าครูไม่เก่ง สอนไม่เป็น และต้องจัดให้มีการพบปะ แลกเปลี่ยนระหว่างเครือข่ายโรงเรียนวิจัยบ้าง เพื่อกระตุ้นและแลกเปลี่ยนวิธีการทำงาน และรวบรวมความรู้ เพื่อนำมาจัดการ (KM) จัดให้มีโอกาสในการประชาสัมพันธ์หรือบอกกล่าวต่อโรงเรียนอื่น ผู้ปกครอง คนในชุมชน ผ่านเวทีหรืองานวิชาการ เพื่อสร้างแรงกระตุ้น และสร้างขวัญกำลังใจให้ครู
จะเห็นได้ว่า ทุกขั้นตอนของการทำงานล้วนเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ และทุกขั้นตอนล้วนแต่สำคัญที่พี่เลี้ยงจะละเลยหรือมองข้ามไม่ได้ เริ่มตั้งแต่ ขั้น input เราต้องมีเงื่อนไขปัจจัยนำเข้าที่เหมาะสมกับบริบท อาทิ มีการ ทำ SWOT ร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนเห็นปัญหา และเห็นทางออกร่วมกัน มีการปรับตารางเรียนให้มีวันวิจัย ครูทุกคนต้องทำวิจัย เด็กทุกชั้นต้องทำวิจัย ต้องมีการชี้แจงกับผู้ปกครอง มีแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ต้องมีการออกแบบการประเมิน ติดตาม ถ้าเราวาง input ไม่ดี อาจไปกระทบให้กระบวนการล้มได้
ขั้น process ขั้นนี้ต้องใช้กระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วมควบคู่กับการใช้กรอบ PDCA+S มากำกับ ตลอดเวลาที่ดำเนินการ ทำไปถอดบทเรียนไป ทำไปถอดความรู้ไป จะค่อยๆ เห็นผลที่เป็นรูปธรรม ถ้า process ไม่ดี ความเปลี่ยน แปลงก็เห็นไม่ชัด ครูก็หมดกำลังใจ ท้ายที่สุดก็ไม่เกิด แต่ถ้าปัจจัยนำเข้าดี กระบวนการดี output out come ก็จะปรากฏชัดขึ้นๆ สามารถตอบโจทย์ได้แทบทุกอย่าง การประเมิน การบริหาร ครู เด็ก ทักษะวิชาการ คุณลักษณะ สมรรถนะ และยังเลยไปถึงการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน กับผู้ปกครอง ตอบโจทย์ พ.ร.บ.การศึกษาได้ในที่สุด