เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง
วันที่ 11-12 กรกฎาคม 2555 ณ นกน้ำรีสอร์ท อ.เมือง จ.สตูล
สำหรับเกณฑ์การประเมินผลสำเร็จของโครงการมีดังนี้
ครูเกณฑ์การประเมินมีเครื่องมือคือ พระราชบัญญัติการศึกษาว่าด้วยบทบาทหน้าที่ความเป็นครู ประกอบผลการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการวิจัย ซึ่งประกอบด้วย
§ มีทักษะการวางแผนออกแบบ จัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการวิจัยแก่ผู้เรียนซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของตนเองได้ โดยประเมินจากชิ้นงาน, การนำเสนอ, รายงานโครงงาน, และทักษะการฟัง คิด อ่าน เขียนของผู้เรียน
§ มีทัศนคติต่อการจัดการเรียนรู้ ที่เปิดโอกาสแก่ผู้เรียน โดยประเมินจากการพูดคุย แลกเปลี่ยนในวงประชุม และติดตามพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ในชั้นรียน
§ มีทักษะการนำเสนอการจัดการเรียนรู้ต่อสาธารณะชน ทั้งการเขียน การพูด โดยประเมินจากรายงานวิจัยของครูรายคน และการพูดแลกเปลี่ยนระหว่างครูในเครือข่าย และนอกเครือข่าย (กรณีมีผู้มาศึกษาดูงาน)
นักเรียนเกณฑ์การประเมินมีเครื่องมือคือ ตัวชี้วัดทางการศึกษา ซึ่งประกอบด้วยสมรรถนะ 5 ,คุณลักษณะอันพึงประสงค์ 8 , ตัวชี้วัดทางการศึกษาของสพฐ. 15 ข้อ, ตัวชี้วัดของสมศ. 12 ข้อ โดยมีความเห็นของครูผู้สอน และผู้ปกครองประกอบการประเมิน
ฉะนั้นในฐานะพี่เลี้ยงมีสิ่งที่ควรทำและพึงระวังดังนี้
สิ่งที่ต้องทำคือ การเติมเต็มทัศนะคติ เครื่องมือ เทคนิคในการจัดกระบวนการแก่ครูอย่างหลากหลาย โดยการเปิดโอกาสเรียนรู้ร่วมกันระหว่างครู-พี่เลี้ยง-ผู้บริหารและผู้ปกครองอย่างสม่ำเสมอ
สิ่งที่ควรทำคือ การถอดความรู้ โดยใช้เครื่องมือ KM เพื่อสร้างการเรียนรู้ระหว่างครูในโรงเรียนเครือข่ายและนอกเครือข่าย รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหน่วยงานการศึกษาอื่นๆ
สิ่งที่พึงระวังคือ การครอบงำความคิดในการจัดการเรียนรู้ของครู ผ่านระบบโครงสร้างสถานศึกษา ที่เน้นชั้นการบังคับบัญชา ซึ่งจะเป็นการทำลายความคิดสร้างสรรค์ในการจัดการเรียนรู้
ข้อเสนอแนะและแนวทางการทำงานจากการประชุม
จากเวทีการประชุม มีข้อสรุปซึ่งเป็นรูปธรรมที่สะท้อนการจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนเครือข่ายตรัง-สตูล โดยแยกชั่วโมงวิจัยออกจากชั่วโมงปกติว่า เป็นการจัดการเรียนรู้แบบ “Study Lab” (ห้องทดลองการเรียนการสอน) อันเป็นการนำกระบวนการวิจัยเป็นเครื่องมือในการพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนรู้ของครู ซึ่งมีผู้อำนวยการเป็น Change Agent (ผู้นำการเปลี่ยนแปลง) เพื่อสร้างการเรียนรู้ที่สามารถยกระดับการคิดวิเคราะห์ และสร้างความเชื่อมั่นในตัวผู้เรียน หากว่าการจัดการเรียนรู้ดังกล่าวมีแง่ดีในมิติของพื้นที่เชิงทดลอง แต่ในพื้นที่จริงที่ครอบคลุมสาระวิชาหลักยังไม่อาจตอบได้ ทางทีมมูลนิธิสยามกัมมาจล จึงมีข้อเสนอแนะต่อการขับเคลื่อนประเด็นการศึกษาพื้นที่ตรัง-สตูล จำนวน 4 ประเด็น ดังนี้
1. ควรจะเชิญคนภายนอกมาช่วยถอดกระบวนการจัดการเรียนรู้ (HowTo) ของตรัง-สตูล เพื่อให้เห็นกรรมวิธี เคล็ดลับ เทคนิค การจัดการเรียนรู้ และนำไปใช้ได้จริง
2. ควรมีการจัด Knowledge Management (การจัดการความรู้) ระหว่างครูต่อครูในเครือข่ายให้มากขึ้น เพื่อถอดบทเรียนการเรียนรู้ และยกระดับการจัดการเรียนรู้ในแต่ละขั้นตอน โดยให้เริ่มต้นจากครูแกนนำ อันเป็นการสร้างรูปแบบ Professional Learning Community (ชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ –คำของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาต่อไป
3. ควรมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายกับหน่วยงาน หรือกลุ่มองค์กรที่จัดการศึกษาที่หลากหลาย เพื่อเพิ่มพูนทัศนคติ พัฒนากระบวนการเรียนการสอนที่หลายหลาก และประชาสัมพันธ์ในสิ่งที่เข้าใจได้ เพื่อเป็นการขยายงานในวงกว้างกว่าเดิม
4. ควรนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกเรื่อง ในการเรียนรู้แบบ Project Base Learning (โครงงานนักเรียน) โดยเชื่อมไปสู่วิชาหลัก เพื่อเป็นชุดเครื่องมือคิดวิเคราะห์ และเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันทางการตัดสินใจในชีวิต
5. ควรทำยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนให้ชัด
ข้อเสนอแนะทั้ง 4 ประการข้างต้น อยู่ภายใต้สัญญาความร่วมมือระหว่างศูนย์ประสานงานการวิจัยตรัง-สตูล กับมูลนิธิสยามกัมมาจล โดยมีข้อท้าทายอยู่ที่การสลายพื้นที่ทดลองหรือ Study Lab สู่พื้นที่สาระการเรียนรู้ 8 สาระ เพื่อสร้างรูปธรรมการเรียนรู้อย่างแท้จริง.