เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง

เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง

วันที่ 11-12 กรกฎาคม 2555 ณ นกน้ำรีสอร์ท อ.เมือง จ.สตูล


การขึ้นโจทย์วิจัยชาวบ้านกับโรงเรียนต่างกัน การขึ้นโจทย์วิจัยชาวบ้าน  พี่เลี้ยงต้องจับมือชาวบ้านเขียน  แต่ของโรงเรียนครูเขียนโครงการได้เอง  แต่ก็ต้องพาไปดูที่อื่นทำวิจัยเพื่อสร้างความเข้าใจ เพื่อให้ผู้บริหารและครูเห็นว่า “กระบวนการวิจัย” ช่วยให้ “เด็กเก่ง” ได้อย่างไร   เพราะเราเชื่อว่า เมื่อชาวบ้านยังทำได้ ครูกับเด็กก็ต้องทำได้เช่นกัน
 

ก่อนหน้าที่จะเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงโครงการวิจัยประเด็นการศึกษา เคยเป็นพี่เลี้ยงให้ชาวบ้านทำวิจัยมาก่อน     โครงการวิจัยของชาวบ้านระยะเวลาทำวิจัย 2 - 3 ปี แต่ทำให้เขาพัฒนาตัวเอง พูดเก่งขึ้น  เขียนเก่งขึ้น อ่านเก่งขึ้น ทักษะเหล่านี้พัฒนาขึ้นมาก  เห็นชัดภายใน 2 - 3 ปี    ประกอบกับมีชาวบ้านทำโครงการวิจัยเรื่องขนมพื้นบ้านของท่ามาลัย จะต้องทำหลักสูตรท้องถิ่นเรื่องขนม  ก็ต้องเอาหลักสูตรท้องถิ่นนี้ไปสัมพันธ์กับครูกับนักเรียนบ่อยๆ  เพราะต้องการทดลองหลักสูตร  กับผอ.สุทธิ ก็คุยกันบ่อย เห็นแนวทางไปข้างหน้าร่วมกัน  จึงเริ่มชวน ผอ.ไปเยี่ยมชาวบ้านที่ทำวิจัย  ไปร่วมเวที พาไปศึกษาดูงานที่อื่น  บอกผอ.สุทธิว่า ชาวบ้านยังทำได้ ครูกับเด็กก็ต้องทำได้เช่นกัน  จึงทดลองช่วยออกแบบหลักสูตรท้องถิ่นว่าจะสามารถนำไปสู่การเรียนการสอนได้หรือไม่  ไปพร้อมกับการถอดบทเรียนซึ่งพบว่าครูส่วนใหญ่ยังสอนเหมือนเดิม  ผอ.สุทธิจึงเริ่มจัดให้มีสัปดาห์ขนมพื้นบ้าน โดยจัดเป็นฐานการเรียนรู้  6  ฐาน ให้เด็กผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปเรียนตามฐานต่างๆ  ตอนนั้นใครไปใครมาก็จะรู้จักขนมพื้นบ้านที่โรงเรียนตะโละใส  ผอ.สุทธิก็เริ่มเห็นแนวทางชัดขึ้นว่า จริงๆ มันอยู่ที่ “กระบวนการ”  ระหว่างผู้บริหาร พี่เลี้ยง กับครู ก็เริ่มคุยกันอย่างจริงจังมากขึ้น จากนั้นจึงนำ “กระบวนการ” เข้าสู่ระบบโรงเรียน เริ่มจากโรงเรียนตะโละใสเป็นที่แรก เพื่อให้เด็กเรียนรู้เต็มกระบวนการ ทำทุกชั้น ให้ครูทุกคนมีส่วนร่วม โรงเรียนตะโละใสจึงเป็นโรงเรียนแรกที่ได้เริ่มงานวิจัยเต็มที่  พี่เลี้ยงก็เริ่มเรียนรู้จากจุดนี้
 

ถามว่าความต่างระหว่างการขึ้นโจทย์วิจัยชาวบ้านกับโรงเรียนต่างกันอย่างไร ตอบได้เลยว่าต่างกันมาก เพราะการขึ้นโจทย์วิจัยชาวบ้าน  พี่เลี้ยงต้องจับมือชาวบ้านเขียน  แต่ของโรงเรียนครูเขียนโครงการได้เอง  แต่ก็ต้องพาไปดูที่อื่นทำวิจัยเพื่อสร้างความเข้าใจกันก่อน  ทั้งนี้หลังจากที่ทำที่โรงเรียนตะโละใสมาแล้ว เราก็อยากขยายผล  ก็เริ่มหารือกันในทีมว่า มีผู้บริหารโรงเรียนไหนบ้างที่มีแวว มีความเป็นผู้นำ และมีแนวทางการบริหารที่ดี  สามารถผลักดันกระบวนการวิจัยเข้าสู่โรงเรียนได้   ทีมพี่เลี้ยงก็มาช่วยกันวิเคราะห์  คัดสรรโรงเรียนจนได้โรงเรียนประมาณ 15 โรง ก็จัดเวทีพูดคุยกับผู้บริหารเพื่อทำความเข้าใจ  แต่จริงๆ แล้วผู้บริหารเหล่านี้บางคนก็เคยไปดูที่โรงเรียนตะโละใสมาบ้างแล้ว   เห็นแล้วว่า “กระบวนการวิจัย” ช่วยให้ “เด็กเก่ง” ได้อย่างไร   จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำความเข้าใจ  ทีมพี่เลี้ยงก็ร่วมกันวิเคราะห์ดูว่าผู้อำนวยการรุ่นใหม่ในจังหวัดสตูล ที่พร้อมต่อการเข้าร่วมการเปลี่ยนแปลง  โดยดูจากประวัติการทำงาน  ความตั้งใจ  และผลงาน  มีที่ปรึกษาผู้ประสานงานพื้นที่เป็นผู้พิจารณา  หลังจากนั้นส่งหนังสือเชิญกินน้ำชาร่วมกัน  โดยในวันนั้นพวกเราจัดให้มีการนำเสนอของนักเรียนซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการจัดการเรียนรู้  พร้อมเครื่องมือที่เรียกว่า “กระบวนการวิจัย 10  ขั้นตอน” โดยประสานงานพื้นที่สตูล  แล้วขอการตัดสินใจ


สำหรับวิธีการเชิญชวนให้ผู้บริหารคนอื่นสนใจ “กระบวนการวิจัย” คือพวกเราจะให้เด็กเป็นคนนำเสนอ  โชว์เด็ก เพื่อให้ผู้บริหารเห็นตัวอย่างที่ชัดเจน จากนั้นก็มานั่งคุยกันว่าเราจะเดินไปด้วยกันไหม โดยมีเครื่องมือสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ที่เรียกว่ากระบวนการวิจัย 10  ขั้นตอน นำตัวอย่างของโรงเรียนบ้านตะโละใสที่ใช้วิธีการศึกษาเรื่องใกล้ตัว  หาเรื่องที่นักเรียนสนใจ  ก่อนจะวิเคราะห์  ตัดสินใจ  แล้วพัฒนาโจทย์โครงงาน  กระบวนการมาก่อนเนื้อหาที่นักเรียนสนใจ  มาให้ดูเป็นแบบอย่าง


นอกจากนี้ยังใช้วิธีการฝึกอบรมกระบวนการ  อบรมพลังกลุ่ม อบรมการเขียน   อบรมพัฒนาโจทย์  วิธีการศึกษาดูงานโรงเรียนหรือแหล่งเรียนรู้ที่จัดการศึกษาด้วยกระบวนการวิจัย  การประชุมสัญจร  การลงพื้นที่ติดตาม  เพื่อสร้างความรู้ ยกระดับทักษะครูตลอดระยะเวลาทำโครงการ แต่ที่จังหวัดตรังจะใช้เครื่องมือสนับสนุนการจัดการเรียนรู้จะใช้กระบวนการวิจัยควบคู่กับวงจร Demming (PDCA)  โดยหยิบเครื่องมือการสรุปการเรียนรู้หลังจัดกิจกรรมที่เรียกว่า Summary  ประยุกต์กับรูปแบบการถอดบทเรียน (Refreshtion – การกระตุ้นความจำ)  ใช้วิธีการกำหนดประเด็นเรื่องในการเรียนรู้ แล้วพัฒนาโจทย์โครงงาน  ใช้เนื้อหาที่นักเรียนสนใจเป็นสื่อในการนำเข้าสู่กระบวนการ


แต่เนื่องจากแต่ละโรงเรียนมีความแตกต่างกันอยู่แล้ว การนำเรื่องนี้ฝังเข้าสู่ระบบจึงต้องมีวิธีการที่แตกต่างหลากหลาย อาทิ การชวนครูคุยโดยมีเป้าหมายเรื่องที่เรียน  กระบวนการจะสามารถขยับได้อย่างไรบ้าง  หรือชวนกันออกแบบ 10 ขั้นตอน  การวางแผนการเรียนรู้ในทุกขณะ  ผู้บริหารจะร่วมผลักดันกับพี่เลี้ยงอย่างไร และการตั้งชื่อวิชาเฉพาะคือ วิชาบูรณาการที่สอนสัปดาห์ละ 4 ชั่วโมง แบ่งเป็นวันละ 2 คาบ ตอนบ่าย 2 วันใน 1 สัปดาห์    เพื่อให้ครูทดลองใช้วิธีการแล้วขยายผลต่อไปในอนาคต