เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง

เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง

วันที่ 11-12 กรกฎาคม 2555 ณ นกน้ำรีสอร์ท อ.เมือง จ.สตูล


โรงเรียนได้นำการวิจัยเข้ามาใช้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เมื่อก่อนเป็นคนไม่มั่นใจในตัวเอง ไม่กล้าแสดงออกในความสามารถของตัวเอง เวลาครูให้ออกไปนำเสนองาน  มักจะไม่กล้า แต่พอโครงการของ สกว.เข้ามาก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น และอาชีพที่ใฝ่ฝันของเธอคืออยากเป็นนักวิจัยแพทย์ และเป็นนักวิจัยเกี่ยวกับด้านวิชาการ


เมื่อถามถึงครูในดวงใ เธอตอบว่า ครูเจ๊ะ อารีฟ๊ะห์ เนื่องจากครูมีอดทนสูง เคยเห็นครูร้องไห้บ่อยมาก เนื่องด้วยภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ เนื่องจากครูเจ๊ะยังไม่มีครอบครัว จึงเปรียบเสมือนแม่คนที่ 2 ของเธอ ซึ่งเธอพักอยู่หอพักกับครูเจ๊ะมา 5 ปีแล้ว ตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งได้รับการอบรมสั่งสอนจากครูมาตลอด อย่างเรื่องทำผิดกฎระเบียบโรงเรียนหรือหอพัก ครูก็จะคอยมาตักเตือนคอยให้คำแนะนำ ให้เราพยายามปรับตัว ทำให้รู้สึกว่ารักและสนิทสนมกับครูมากเหมือนครอบครัวเดียวกัน  


ครูเจ๊ะเป็นครูที่มีวินัยในตนเองสูง ปฏิบัติตามกฎของโรงเรียน และดูแลเด็กทุกคนเป็นอย่างดีเหมือนเป็นแม่ มีความอดทนสูงและไม่เกี่ยงงาน เช่น งานตัดไม้  ครูคือตัวอย่างที่เธอยึดเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตัว ทั้งในเรื่องความรับผิดชอบ ความอดทน และความเสียสละ


เมื่อถามถึงวิชาที่ชอบมากที่สุด เธอตอบว่าวิชาชีววิทยา เพราะเป็นวิชาที่เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งรอบตัวของมนุษย์ จากสิ่งเล็กๆ ไปจนถึงสิ่งที่ใหญ่ที่สุด เช่น ระบบเซลล์ ไปจนถึงการสร้างระบบสุริยะหรือโลก ตรงกันข้ามวิชาที่ไม่ชอบที่สุดคือภาษาอังกฤษ เนื่องจากครูผู้สอนเป็นชาวต่างชาติ และเธอเองไม่ถนัดภาษาจึงสื่อสารกับครูลำบาก


การนำ “กระบวนการวิจัย” มาใช้ในการเรียน : ตั้งแต่โรงเรียนให้เริ่มทำวิจัย เธอชอบโครงการแปรรูปอาหารทะเลมากที่สุด เนื่องจากเป็นผลงานที่ประทับใจ ได้วิจัยร่วมกับชาวบ้าน และสามารถเอามาใช้กับที่บ้านได้ เนื่องจากที่บ้านติดกับทะเล ชีวิตความเป็นอยู่ก็ต้องอาศัยทะเล จึงคิดว่าเป็นประโยชน์มาก  การทำวิจัยทำให้เธอมีพัฒนาการที่ดีขึ้นถึงแม้จะยอมรับว่าเคยร้องไห้ในการทำวิจัยชิ้นนี้มาแล้ว


ตอนอยู่มัธยมศึกษาปีที่ 3 เธอไม่เคยทำวิจัยมาก่อนจึงคิดว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่ก็อาศัยการศึกษาเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ และพยายามปรับตัวและการเรียนการสอนของตนเองให้เข้ากับวิจัยให้ได้ ช่วงแรกในการทำวิจัยเคยร้องไห้ เพราะรู้สึกว่าทำแล้วยากมากและยังปรับตัวไม่ได้ คิดว่าการทำวิจัยมันมากเกินไปและกังวลว่าจะกระทบกับผลการเรียน แต่เมื่อได้ทำไปสักระยะหนึ่งก็เริ่มประทับใจกับงานนี้มาก พอทำงานวิจัยชิ้นนี้เสร็จได้นำไปให้ที่บ้านดู และที่บ้านได้นำการวิจัยของเธอไปใช้ให้เป็นประโยชน์จึงรู้สึกภูมิใจ


ที่โรงเรียนจะมีคาบวิจัยประจำสัปดาห์คือวันอังคารกับพฤหัสบดี ตั้งแต่เวลา 14.00 น.เป็นต้นไป โดยกำหนดว่าแต่ละห้องต้องมีผลงานวิจัยห้องละ 1 เรื่อง แล้วนำเสนอกับผู้ปกครอง เริ่มจากการให้นักเรียนเลือกหัวข้อการทำวิจัยที่นักเรียนสนใจ ซึ่งแต่ละคนก็มีความสนใจแตกต่างกันไปจึงได้หัวข้อวิจัยค่อนข้างเยอะ เช่น 1 ห้อง มี 28 คน ก็จะได้ 28 หัวข้อ หลังจากนั้นก็จะทำการคัดเลือกหัวข้อและให้นักเรียนแต่ละคนเสนอเหตุผลของตนเองว่าเหตุใดจึงเลือกการวิจัยเรื่องนี้ แล้วให้เพื่อน ๆ ในห้องโหวตหัวข้อที่น่าสนใจจนเหลือ 10 หัวข้อ โดยใช้การยุบรวมหัวข้อที่มีความคล้ายคลึงกันหรือจัดอยู่ในประเภทเดียวกัน เช่น วิจัยเกี่ยวกับ กุ้ง ปลาหมึก ปลาทะเล ก็จะจัดไว้ในกลุ่มเดียวกัน เรื่องพืชก็จัดเป็นกลุ่มใหญ่ ซึ่งครูจะมีหน้าที่ให้คำปรึกษา จากนั้นก็คัดหัวข้อให้เหลือ 5 หัวข้อ ไปจนถึง 3 หัวข้อ และโหวตหัวข้อที่สามารถทำได้จนเหลือ 1 หัวข้อ ซึ่งก็ได้หัวข้อ การลดลงของตัวเคย ซึ่งตัวเคยคือกุ้งตัวเล็ก ๆ ที่เอาไปทำกะปิ พวกเราสังเกตว่ากะปิแต่ละร้านสีมักไม่เหมือนกัน แต่ทุกร้านจะบอกว่าเป็นกะปิแท้ นักเรียนจึงเกิดข้อสงสัยและได้นำข้อสงสัยดังกล่าวไปหาข้อมูลเบื้องต้นและนำมาคุยกันในห้องเรียนอีกครั้งถึงเรื่องที่ได้ไปศึกษามาในคาบวิจัย


ในการคุยกันในคาบวิจัย นักเรียนจะเล่าถึงเรื่องที่ได้ศึกษามา เช่น กะปิมีประโยชน์และโทษ อย่างไรบ้าง สีและกลิ่นเป็นอย่างไร แต่ละร้านมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่นักเรียนมีวิถีชีวิตติดกับทะเลจึงใช้การสอบถามจากภูมิปัญญาชาวบ้านว่าลักษณะตัวเคยเป็นอย่างไร นำไปใช้อย่างไร และสำคัญอย่างไร หลังจากนั้นก็จะมาคุยกันถึงสาเหตุการลดลงของตัวเคยว่าเกิดจากอะไรบ้าง ตัวเคยมีลักษณะการสืบพันธุ์อย่างไร เพื่อศึกษาเรื่องการขยายพันธุ์และวิเคราะห์ถึงการลดจำนวนของตัวเคย


การทำวิจัยเรื่อง “การลดจำนวนของตัวเคย” มีขอบเขตการศึกษาที่ตำบลตันหยงปู ซึ่งครูได้ประเมินแล้วว่านักเรียนสามารถทำได้และไม่เป็นอันตราย หลังจากที่ได้ลงพื้นที่ไปศึกษาข้อมูลในเรื่องดังกล่าว ทำให้ได้รับความรู้มากมาย เช่น เรื่องความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่ติดทะเล หากไม่ได้ลงพื้นที่จริงๆ จะไม่มีทางทราบเลยว่าวิถีชีวิตของคนในชุมชนเป็นอย่างไร ตัวเคยมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตและอาชีพอย่างไรบ้าง ซึ่งแต่ก่อนนุชเล่าว่าเธอไม่เคยสนใจเรื่องดังกล่าวเลย แต่เมื่อได้ลองศึกษาก็พบว่า การวิจัยสามารถเชื่อมโยงไปอีกหลาย ๆ วิชา นอกเหนือจากชีววิทยา เช่น วิชา ฟิสิกส์ หรือแม้แต่ศิลปะ หลังจากได้ข้อมูลก็จะมาสรุปกันในคาบวิชาวิจัยอีกครั้งหนึ่ง แล้วนำเสนอครูประจำชั้น ห้องละ 1 เรื่อง ครูประจำชั้นก็จะนำเสนอผู้บริหาร และถ่ายทอดสู่ผู้ปกครองอีกครั้งหนึ่ง


จากนั้นก็จะเป็นการต่อยอดการศึกษาจากการเอาความรู้ที่ได้มาทั้งหมด พบว่า สารเคมีที่ปล่อยจากบ่อกุ้งลงทะเลเป็นสาเหตุหนึ่งในการลดลงของตัวเคย ก่อนหน้าที่ชาวบ้านยังไม่ได้นิยมทำบ่อกุ้ง จำนวนตัวเคยที่ได้อยู่ที่ประมาณ 50 กิโลกรัม แต่ปัจจุบันธุรกิจบ่อกุ้งมีการขยายตัวขึ้น จำนวนตัวเคยที่ได้เหลือเพียง 20 กิโลกรัม ซึ่งชาวบ้านเองก็เดือดร้อนและเศร้าใจมาก ถึงขนาดต้องสั่งวัตถุดิบจากประเทศอินโดนีเซียมาทำกะปิ เนื่องจากตัวเคยมีไม่เพียงพอ เห็นได้ชัดว่าจากพื้นที่ที่เคยอุดมสมบูรณ์และเป็นพื้นที่หลักในการผลิตกะปิ แต่ตอนนี้ต้องใช้การนำเข้า ก็เลยต้องถ่ายทอดเรื่องดังกล่าวให้แก่คนในชุมชนอีกทางหนึ่ง


ปัญหาและอุปสรรค : ช่วงแรกเกิดปัญหาบ่อย เพราะการเรียนวิจัย ครูจะให้เด็กทำงานด้วยตัวเอง บางครั้งก็ไม่เข้าใจ ครูก็จะทำเฉยๆ  เพราะอยากให้เราแก้ปัญหาด้วยตัวเอง แต่ก็สามารถผ่านจุดนั้นมาได้ จากเรื่องเล็ก ๆ อย่างแพลงก์ตอนจนกลายมาเป็นผลงานวิจัยได้ ทำให้เกิดความภาคภูมิใจ  แต่กว่าจะทำงานสำเร็จได้ก็ต้องมีการตั้งกติกาของห้องเอาไว้เพื่อให้ทำงานได้สำเร็จ จนมาถึงตอนนี้รู้สึกสนุกและชอบการวิจัยมาก


“เมื่อก่อนทุกวิชาจะเรียนในห้องสี่เหลี่ยม แต่วิจัยเรียนได้ทุกที่ ริมทะเล ริมคลองก็ได้ ชอบตรงที่ได้ออกข้างนอกไปสัมผัสสิ่งที่เป็นของจริงที่ไม่ใช่แค่ห้องสี่เหลี่ยม แต่ละห้องก็น่าสนใจทุกห้องเลย มี EM ball ลูกประคบ ยาหม่อง ก็น่าสนใจหลายเรื่อง ตอนแรกร้องไห้บ่อยแต่พอทำไปเรื่อย ๆ รู้สึกสนุก ได้พัฒนาตัวเองและเพื่อน ๆ ครูและนักเรียนได้ศึกษาไปพร้อม ๆ กัน”
 

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น :  สิ่งที่เห็นในตัวเองที่ชัดเจนที่สุดคือ ความกล้าแสดงออก เมื่อก่อนจะเป็นคนเงียบๆ ไม่ค่อยพูด เมื่อครูให้นำเสนองานหน้าชั้นเรียนก็จะไม่กล้า เขินอาย แต่สำหรับการเรียนวิจัยถ้าไม่ออกหน้าชั้นก็ไม่ใช่วิจัยเลย ไม่ใช่แค่ตัวเรา แต่ตัวเพื่อน ๆ ด้วย สังเกตได้เพราะว่าเพื่อนหลาย ๆ คนไม่กล้า แต่พอมีวิจัย 1 สัปดาห์ ต้องออกไปนำเสนอหน้าชั้นหนึ่งครั้ง มันเป็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงตัวเองมาก เปลี่ยนแปลงเยอะเลย ตั้งแต่มีการวิจัยก็ทำให้ตัวเองกล้าขึ้น กล้าพูดในสิ่งที่อยากจะบอกในสิ่งที่ตัวเองอยากพูด มีผู้ปกครองมาชม ทุกคนเวลาเห็นลูกของตัวเองก็ดีใจ บางคนก็ถึงกับร้องไห้ว่านี่เป็นลูกฉันหรือที่ทำได้ เหมือนม๊ะกอดลูกก็บอกว่าภูมิใจในตัวลูก น่าจะเอาโครงการเหล่านี้มาพัฒนาเด็กไทยต่อไป เพราะเห็นผลได้อย่างชัดเจนในการแสดงออก
 

ตั้งแต่ได้มีการเรียนวิจัย ทำให้เราได้เรียนรู้การใช้ชีวิตหลาย ๆ เรื่อง เช่น การทำงานเป็นกลุ่ม ทำให้รู้ว่าการทำงานเป็นทีมต้องเคารพกติกาต้องเคารพความคิดคนอื่น สิ่งที่เข้ามาไม่ใช่แค่ความรู้ในจุดเล็ก ๆ แต่มันขยายวงกว้างได้ ไม่เหมือนเดิม ๆ
 

“ 4 - 5 ปีที่ผ่านมาก็อยู่กับเดิม ๆ ก็น่าเบื่อ มาเรียนแล้วก็กลับหอพัก แต่ตอนนี้รู้สึกว่าชีวิตได้มีอะไรตลอดเวลา แต่ตอนนี้พอเพื่อนเสนออย่างนั้นเราเสนออย่างนี้คือได้แลกเปลี่ยนกันสามัคคีกัน มองเห็นภาพกระบวนการกลุ่มแล้วทำให้จากคนที่ไม่เคยพูดคุยกันก็ได้ทำความรู้จักกัน เคยเข้าร่วมโครงการกับ ปตท. 5 จังหวัด คือกระบี่ ตรัง สตูล ภูเก็ต มากหน้าหลายตามากคือไม่รู้จักกันเลยแต่พอเราได้ทำงานร่วมกัน ก็ทำให้เราสนิทกัน แค่รู้จักวันแรกก็เหมือนกับว่าเรารู้จักกันมานาน เพราะได้เปิดใจคุยกัน ได้มีโอกาสเปิดโลกกว้าง มีเพื่อนมีเครือข่าย จ.ตรังได้เรียนรู้ของ กระบี่ กระบี่เรียนรู้สตูล ก็ได้รู้ว่าของดีแต่ละที่มันต่างกัน ความรู้ใหม่ ๆ มันเกิดขึ้นเยอะเลย”
 

การศึกษาสมัยก่อนก็เหมือนกับแม่นกกับลูกนก คือว่าลูกนกก็จะรอให้แม่นกมาป้อนอาหารเพียงอย่างเดียว ก็จะได้รับแต่อาหารที่แม่นกมาป้อนให้ จะไม่ได้รับสิ่งใหม่ๆ เลย แต่ตอนนี้พอมีการเอาวิจัยเข้ามาเราก็ไม่ได้เฉพาะสิ่งที่ครูให้เท่านั้น แต่เราได้ออกไปศึกษาด้วยตัวเอง ถ้าเราลงมือทำด้วยตัวเองเราจะได้มากกว่า บางครั้งนักเรียนอาจจะมีความรู้มากกว่าครูด้วยซ้ำเพราะนักเรียนเป็นคนลงมือ ครูก็คอยควบคุมเนื้อหาว่ามันตรงจุดไหม
 

สิ่งที่ทำให้เราชอบการวิจัยเพราะว่าเมื่อก่อนไม่ค่อยกล้าแสดงออก  แต่พอทำวิจัยก็ได้กล้าคิดกล้าทำกล้าแสดงออกมากขึ้น เพราะเมื่อก่อนจะขี้อายและกลัวผิด การวิจัยเราต้องออกไปเรียนรู้นอกสถานที่และจดบันทึกที่เรียนมาแล้ได้การนำเสนอไปเรื่อย ๆ จนชินแล้ว ไม่ว่าไปเรียนรู้มาจะมาจดเอาไว้ ไม่ว่าเราไปทำงานอะไรทุกครั้งจะต้องมีการบันทึกไว้ตลอด
 

“เวลาเราบันทึกอะไรต่าง ๆ ไม่ว่าเราจะไปสถานที่ไหน ความรู้ตรงนั้นเราสามารถเอามาอ่านซ้ำไปซ้ำมาได้ เหมือนกับที่โรงเรียนจะชอบจดช็อตโน๊ตและจะเป็นคนที่ฝึกทักษะการอ่านและเขียนไปในตัวด้วย ถ้าเราลงมือเขียนเองกับการที่เราไปลอกของเพื่อนเราจะได้ความรู้มากกว่าที่เราจะไปลอกของเพื่อน”
 

ถึงแม้การวิจัยจะเป็นเรื่องที่ดี แต่โดยส่วนตัวเรายังมีความกังวล หากทุกวิชามีการเอาวิจัยมาบูรณาการการเรียนบ่อยเกินไปก็อาจจะไม่ตรงตามแผนการเรียนที่หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้  อย่างเช่น การสอบ O-Net เป็นต้น
 

“ปีที่แล้วตอนอยู่ ม.4 โรงเรียนของพี่เขาจะเน้นวิจัยมาก อาทิตย์หนึ่งมีครึ่งต่อครึ่งกับการเรียนปกติ อีกอย่างพี่เรียนศาสนาด้วย เรียนสายวิทย์ แล้วเรียนวิจัยด้วยมันเยอะมาก ก็เลยทำให้การเรียนสับสนวุ่นวายมาก ก็เลยบอกฝ่ายบริหารว่า ผอ.ไม่ไหวนะลดวิจัยลงหน่อย ก็เลยลดวิจัยลงเหลือแค่วันพฤหัส 4 ชั่วโมง เพราะว่าไม่ใช่ว่ามันไม่ดีแต่ถ้าคิดถึงวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ คือกิจกรรมเด่น แต่ด้านวิชาการเราน้อยลง เราก็ได้ความรู้สวนทางกันคือถ้าเราเอาแต่วิจัยก็ทำให้การเรียนรู้วิชาพื้นฐานของเราลดลง เราต้องแบ่งให้ถูก”
 

  ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น : จากเดิมคือ ครูมักจะพานักเรียนออกไปเรียนนอกสถานที่ เช่น ถ้าเรียนวิทยาศาสตร์ บางครั้งครูประจำวิชาก็จะพาออกไปเรียนที่ริมคลอง เพื่อสร้างบรรยากาศในการเรียนเรื่องสิ่งแวดล้อม ได้ดูพืชจริง ๆ เช่น พวกเฟิร์น ถือเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศใหม่ ๆ นักเรียนก็สนุกและไม่เคร่งเครียดเกินไปด้วย