เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง

เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง

วันที่ 11-12 กรกฎาคม 2555 ณ นกน้ำรีสอร์ท อ.เมือง จ.สตูล


ประทับใจครูธนิกา ชูละเอียด  เพราะครูเป็นกันเองกับนักเรียน  อารมณ์ดี สอนสนุก ชอบหัวเราะ ไม่เครียดโครงการที่ทำคือ “ปุ๋ยหมักชีวภาพ”  เพื่อลดต้นทุนการปลูกผักปลอดสารในโรงเรียน โครงการนี้ผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์จากโครงงานที่พวกเราอยากทำมากกว่า 20 โครงการ พอรู้ว่าต้องทำโครงการวิจัย พวกหนูก็คิดไว้หลายเรื่อง  แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะทำเรื่องปุ๋ยหมัก...แต่พอสำรวจจากที่คุณครูให้คำแนะนำคือทำโครงงานที่เป็นเรื่องใกล้ตัวและอยู่ในชุมชน...เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและเป็นประโยชน์ต่อนักเรียน ก็ได้เป็นสิบ ๆ เรื่อง เช่นถนนกับรถ โรงปุ๋ยกับการทำปุ๋ย  จากหลายสิบเรื่องคุณครูก็แนะนำว่าให้คัดเหลือ 10 เรื่อง จาก 10 เรื่องก็ให้เหลือ 3 เรื่อง และในขั้นตอนสุดท้ายเลือกให้เหลือเพียงเดียว...เลยมาสรุปตรงที่เรื่องการทำปุ๋ยหมักชีวภาพ
 

เหตุผลที่สนใจเรื่องการทำปุ๋ยเพราะ หลังอาคารเรียนมีการปลูกผัก  พวกหนูไม่อยากซื้อปุ๋ย ก็เลยคิดว่าจะทำปุ๋ยหมัก เพื่อลดต้นทุนเรื่องปุ๋ยที่ใช้สำหรับปลูกผักหลังโรงเรียน พอได้ข้อสรุปว่าจะทำ “ปุ๋ยหมัก”  จึงสอบถามเพื่อนๆ ในห้องเรียนว่ามีใครทำปุ๋ยหมักได้บ้าง  ก็พบว่า ลุงรอบี ซึ่งเป็นคุณลุงของเพื่อน ๆ ในห้อง มีชมรมการทำปุ๋ยหมัก พวกหนูก็เลยไปปรึกษาคุณลุงเกี่ยวกับการทำปุ๋ยหมัก

แต่ก่อนที่จะออกไปปรึกษาและขอความรู้เรื่องการทำปุ๋ยหมักจากลุงรอบี ต้องทำหนังสือเพื่อขออนุญาตผู้อำนวยการโรงเรียนเพื่อออกไปศึกษานอกสถานที่  และทำปหนังสือแจ้งลุงรอบีว่าจะเข้าไปขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการทำปุ๋ยหมักว่าจะเข้าไปวันไหน เวลาอะไร ตรงกับวันที่เท่าไหร่ และจะเข้าไปศึกษาหาความรู้ด้านใดบ้าง พวกเราต้องบอกให้ละเอียด เพื่อให้คุณลุงถ่ายทอดความรู้ให้ตรงกับสิ่งที่เราต้องการ  พอถึงขั้นตอนการลงมือทำ ก็พบว่า การทำปุ๋ยมี 2 แบบ คือแบบน้ำชีวภาพกับแบบแห้ง คุณลุงก็ถามว่าสนใจทำแบบไหน..พวกหนูก็บอกว่าสนใจทั้ง 2 อย่าง แต่ขอทำแบบที่ง่ายก่อน  เนื่องจากพวกเราไม่มีเวลามาก...แบบยาก ๆ เอาไว้ที่หลัง...ก็เลยได้ทำปุ๋ยแบบแห้ง

 

และเวลาเดินทางไปที่บ้านลุงรอบี ก็จะเดินกันไปเป็นแถว โดยมีครูที่ปรึกษาเดินตามอย่างใกล้ชิดและปล่อยให้พวกเราดูแลกันเอง  สำหรับอุปกรณ์การทำปุ๋ยหมักก็มี  ทลายปาล์ม  น้ำ  และเศษใบไม้ เศษหญ้า  ซึ่งวัสดุส่วนมากก็หาได้ในโรงเรียน  และเวลาทำความสะอาดตอนเช้าเราก็จะจัดหาถังขยะมาจัดเตรียมไว้ให้ เพื่อน ๆ และน้อง ๆ นำขยะหรือวัสดุที่ใช้ทำปุ๋ยมาใส่ไว้ พวกเราก็จะเอาไปทำเป็นปุ๋ยหมัก ... ตรงนี้ก็จะทำให้เพื่อน ๆ และน้อง ๆ รู้จักการคัดแยกขยะไปด้วย
 

การทำปุ๋ยหมักพวกเราจะร่วมทำกันทั้งห้อง ไม่ได้มีการแบ่งกลุ่มกันทำ แต่เนื่องจากเป็นกลุ่มใหญ่จึ่งต้องมีการออกกฎกติกาเพื่อให้ทุกคนสามารถทำงานร่วมกันได้ เช่น ต้องสามัคคี ห้ามแตกกลุ่ม ตรงต่อเวลา เป็นคนรับผิดชอบงาน ก็มีเพื่อนบางคนที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ก็ตักเตือนกัน  แต่ถ้าตักเตือนแล้วเพื่อนไมฟังก็รายงานให้คุณครูทราบ
 

ผลจากการดำเนินกิจกรรม สามารถลดปริมาณขยะในโรงเรียน ได้ปุ๋ยหมักไปใช้ในการปลูกผัก ลดต้นทุนการใช้ปุ๋ย  และสร้างความสมัครสมานสามัคคี
 

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โครงงานนี้ให้หนูรู้ว่าต่อไปนี้เวลาจะคิดอะไร จะทำอะไร จะต้องเริ่มต้นคิดเรื่องใกล้ๆ ตัวและเราทำมันได้ และถ้าเราไม่มีความรู้ในเรื่องนั้น  ต้องรู้วิธีค้นหาความรู้ ก็เหมือนกับเราทำเรื่องปุ๋ยหมัก พวกเราไม่มีความรู้เรื่องปุ๋ยหมัก  แต่เราก็ศึกษาเรียนรู้และหัดทำได้