เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง
วันที่ 11-12 กรกฎาคม 2555 ณ นกน้ำรีสอร์ท อ.เมือง จ.สตูล
ด.ญ.สุกัญญา เกียรติสุข หรือโซฟี ศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ความใฝ่ฝันของโซฟีคือการเป็นครู เพราะเห็นครูสอนเด็กให้เป็นคนดี จึงอยากที่เอาเป็นแบบอย่าง เมื่อถามถึงความประทับใจในตัวครู โซฟีบอกว่า ประทับใจครูระเบียบ เนื่องจากครูระเบียบสอนสนุก ครูเป็นห่วงและรักเด็ก ครูเคยบอกว่านักเรียนเปรียบเหมือนลูกในไส้ของครู ส่วนวิชาที่ชอบวิชาคือภาษาไทย ชอบมาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เพราะวิชาภาษาไทยจะมีการร้องเพลง เช่น เพลงอุทยานไทยแห่งชาติ บางครั้งก็มีการบูรณาการวิชาภาษาอังกฤษควบคู่ไปด้วย เช่น ศัพท์คำว่า ดอกไม้ ก็คือฟลาวเวอร์ ครูจะฝึกให้เด็กนักเรียนรักษาภาษาไทย เพราะเดี๋ยวนี้ในเฟซบุ๊กจะมีคำแปลก ๆ หลายคำ คำที่เคยพูดกันตั้งแต่สมัยโบราณบางคำก็หายไป
เมื่อได้ทำโครงงานวิจัยเรื่อง “เปิดประตูเรียนรู้สู่ทุ่งนา” ซึ่งครูจะให้นักเรียนทำนากันเอง เราเรียนเรื่องโครงงานจิตอาสาต้นข้าว คือเราเรียนวิจัยก่อนแล้วมาทำนาข้าวแล้วเราก็นำเรื่องจากนาข้าวมาทำโครงงานที่โรงเรียน โครงงานจิตอาสาเราได้ไปปลูกข้าว เราคิดว่าการทำปุ๋ยหมักชีวภาพโดยไม่ต้องซื้อสารเคมี เราไม่ต้องไปซื้อปุ๋ยจากข้างนอก เราก็นำปุ๋ยหมักนั้นมาใส่ในต้นข้าวของเราโดยการทดลอง นำข้าว และน้ำหมักที่เราไปซื้อมามาผสมกับรำข้าว เราจะนำน้ำหมักที่หมักเสร็จแล้วไปแจกผู้ปกครองและพ่อบ้านของเรา เรานำไปเผยแพร่ในชุมชน ใช้เวลาทำประมาณ 1 เดือน
วิธีการเลือกกลุ่ม จะจัดคละรุ่นพี่รุ่นน้องเข้าด้วยกัน วันอังคารจะมีวิชาวิจัยทุกคนก็จะใส่ชุดผ้าทอ มาเรียนวิจัยแล้วบูรณาการเรื่องภาษาไทย ภาษาอังกฤษ จับกลุ่มเอา ป.4 - 6 มารวมกัน โดยการลงพื้นที่ไปหาภูมิปัญญาชาวบ้าน แล้วถามเกี่ยวกับการทำนาว่าทำอย่างไรบ้าง
“ป้ามาลี กับยายถนอมให้ลองแปลงที่นาสาธิต ในกลุ่มมี 5 คน เราจะช่วยกันช่วงหนึ่งเราจะพา ป.2 - 6 มาร่วมทำงานแล้วก็เชิญผู้ปกครองแล้วก็โรงเรียนมาช่วยกันทำนาในโรงเรียน มีหนึ่งวันที่ไม่เรียนวิชาต่าง ๆ แต่จะเรียนวิชาวิจัยท้องถิ่นแล้วแบ่งกลุ่ม ครูจะให้โจทย์หนึ่งโจทย์แล้วให้คิดคำถาม แล้วนำวิจัยมาเสนอหน้าชั้นเรียน บางครั้งพอเรื่องนี้จบแล้ว ก็จะไปเรื่องหนึ่ง เช่น การทำนาก็แบ่งเป็น การหว่านข้าว ทำทุกวันอังคาร ตอนแรกจะแบ่งกลุ่มกันประมาณ 4-5 คน ในกลุ่มก็จะปรึกษากันว่าใครจะเป็นประธาน รองประธาน เลขานุการ และที่เหลือก็จะเป็นสมาชิกในกลุ่ม แบ่งบทบาทหน้าที่กัน พอครูให้โจทย์แล้ว ครูจะให้ไปศึกษากันแล้วหาความรู้กับภูมิปัญญา ครูจะให้ไปถามเรื่องการทำนา แล้วก็ให้นักเรียนแบ่งกลุ่มกัน แล้วแต่ว่าแต่ละกลุ่มจะถามกันแบบไหน แล้วให้มาสรุปในโรงเรียน”
เมื่อแบ่งกลุ่มเสร็จแล้วสมาชิกในกลุ่มก็จะช่วยกันตั้งคำถามว่า การทำนามีกี่ขั้นตอน ขั้นตอนการทำนาเป็นอย่างไร โดยครูจะนั่งดูนักเรียน แล้วครูก็จะให้พวกเราดูแลกันเอง แล้วตั้งคำถามอยู่ในห้อง ครูจะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา หากนักเรียนมีปัญหาก็ให้ถามครู การวิจัยครูให้ทำ 1 เรื่องต่อ 1 กลุ่ม แบ่งเป็นกลุ่มละ 4-5 คน และเลือกหัวข้อที่ตนเองสนใจ เช่น เราเลือกการทำนา เราต้องวางแผนว่าเราจะไปหาภูมิปัญญาที่ไหน แล้วเตรียมคำถาม แล้วอาจจะมีของฝากมาให้ภูมิปัญญา หรือบางครั้งก็ค้นหาจากอินเทอร์เน็ต แต่ส่วนใหญ่จะไปถามภูมิปัญญา จากนั้นก็จดบันทึกที่ภูมิปัญญาได้บอกมาทุกขั้นตอน แล้วมาสรุปงานกันว่าได้ความรู้อะไรมาบ้าง แล้วก็มาเสนอหน้าชั้นเรียนให้เพื่อน ๆ กลุ่มอื่นๆ ได้รู้ว่าเราทำอะไรมาบ้าง ครูจะคอยเป็นที่ปรึกษา คอยแนะนำ โดยแต่ละกลุ่มจะมีการวางแผนกันก่อน แล้วก็จะปรึกษากับคุณครูว่าได้หรือไม่ แล้วดีหรือไม่ ถ้าไม่ดีตรงไหนครูก็จะแนะนำแล้วกลับมาทำตามที่ครูแนะนำ เช่น เราทำงานแล้วมีการวางแผน บางทีก็มีผิดพลาดไปบ้าง เช่น เรื่องคำถาม ถ้าเราถามนอกเรื่อง เราก็จะถามแต่ในประเด็นที่เด็ก ๆ ควรจะได้รู้ ครูบอกว่าจะถามแบบให้ภูมิปัญญาเล่ามาก็ได้
“ตอนแรก ๆ จะยากทุกขั้นตอน ตอนแบ่งกลุ่มเพื่อน ๆ จะแบ่งกันไม่ลงตัวจะไม่รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น แต่พอเราเรียนแบบนี้ซ้ำ ๆ ทำแบบนี้บ่อย ๆ เราก็จะแบ่งกลุ่มลงตัวกับผู้อื่นมากขึ้น มีเรียนมาตั้งแต่ ป.3 ตอนนี้ ป.5 ก็สองปีแล้ว เราก็ต้องตั้งกติกาคือให้ฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ห้ามเล่นเสียงดัง ถ้าคิดไม่ตรงกันเราก็ฟังก่อนว่าเพื่อนคิดดีหรือไม่ ถ้าไม่ดีก็บอกว่าแบบนี้ดีกว่า ถ้าไม่ลงตัวก็ไปปรึกษาครู”
สำหรับความแตกต่างระหว่างการเรียนแบบปกติและเรียนโดยใช้การวิจัยนั้น ถ้าเรียนแบบธรรมดา จะทำให้เราเบื่อหน่าย เพราะเรียนแต่ในห้องเรียน แต่เรียนโดยการใช้งานวิจัยจะได้ออกไปข้างนอกไปศึกษาบ้านภูมิปัญญา ได้เรียนรู้จากชีวิตจริง การทำงานเป็นทีม ได้เรียนรู้เรื่องความสามัคคี และมีน้ำใจกันในกลุ่ม เช่น การช่วยเหลือผู้อื่นและอยู่กลุ่มเดียวกันก็จะไม่ทะเลาะกัน ตอนแรก ๆ มีทะเลาะกันไม่พอใจกัน คือมีการพูดแทรกกัน ไม่ฟังกัน แล้วก็จะโกรธกัน คือเราจะต้องยอมเขาก่อน แล้วมาพูดกันว่ามันดีหรือไม่อย่างไร
“การทำนาคือ ทุกขั้นตอนที่มันยาก คิดว่าการทำนามันน่าจะยากและมันก็ไม่เหมาะกับเราด้วย มันจะเหนื่อย จะร้อน และเราก็ไม่รู้เราทำไม่เป็น คิดว่าการดำนายากที่สุด เพราะต้องใช้คนมากในการดำนาแต่ถ้าคนน้อยก็จะเสร็จช้า ลงไปตอนแรกก็คิดว่ามันน่าเบื่อ แต่พอลงไปแล้วสนุกมากเลย ได้รู้จักคุณค่าของข้าวไปด้วย ตอนที่ยังไม่ทำนาเมื่อก่อนเราก็กินข้าวเหลือ แต่ตอนนี้เรารู้ว่ากว่าข้าวจะได้มามันยากก็เลยกินข้าวหมดเลย”