เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง

เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง

วันที่ 11-12 กรกฎาคม 2555 ณ นกน้ำรีสอร์ท อ.เมือง จ.สตูล


ครูโรงเรียนบ้านโคกพะยอม นำ “กระบวนการวิจัย” มาใช้ในการเรียนการสอน เพราะเป็น “นโยบาย” ของ ผอ.  เมื่อ ผอ.รับมาแล้ว ก็ต้องทำให้ดีที่สุด แม้จะยังไม่เห็นด้วย แต่เมื่อผู้บริหารเดินหน้า  เราในฐานะครูก็ต้องเดินตาม  โรงเรียนบ้านโคกพะยอมมี “ฐานทุน” ที่ดี เพราะชุมชนทำวิจัยชาวบ้านกับ สกว. มาก่อน จึงเข้าใจแนวคิดเรื่องงานวิจัยดี เมื่อโรงเรียนจะนำการวิจัยมาใช้ คนในชุมชนจึงให้ความร่วมมือเต็มที่ โดยเฉพาะ “ครูภูมิปัญญาท้องถิ่น” ต่างๆ หลังนำ “กระบวนการวิจัย” มาใช้พบว่า นักเรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด กล้าคิด กล้าแสดงออกมากขึ้น
 

โรงเรียนบ้านโคกพะยอม เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก สอนระดับอนุบาล – ป.6 เริ่มนำ “กระบวนการวิจัย” มาใช้ เนื่องจาก ผอ. ไปรับนโยบายมา แล้วส่งครูไปอบรม แม้ตอนแรกครูจะยังงงว่าไปตกปากรับคำกับผอ. ตอนไหน แต่เมื่อได้รับมอบหมายก็จะทำให้ดีที่สุด  หลังจากอบรมกลับมาก็ต้องมาอบรมให้ครูที่ไม่ได้ไปให้รับรู้ไปพร้อมกัน  และเมื่อเริ่มกระบวนการสอนก็ต้องพบปัญหาอุปสรรคมากมาย แต่ครูทุกคนก็ไม่ท้อปรึกษากันว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ดำเนินการไปถึงไหนกันแล้ว เพราะถึงอย่างไรก็ต้องร่วมมือกันให้งานเดินต่อไปให้ได้ มีครูท่านหนึ่งเขาติดภารกิจไม่ได้ไปอบรมทั้ง 2 ครั้ง อาจจะคิดว่าถ้าเราไม่ได้ไปอบรมก็ไม่ต้องทำ แต่นโยบายของโรงเรียนคือต้องทำทุกชั้น เขาก็จะมาขอคำปรึกษาจากเราว่าตรงนี้ทำอย่างไร เขามีความพยายามที่จะทำความเข้าใจเรื่องนี้ เรื่องการสอนใครไม่เข้าใจตรงไหนก็ต้องช่วยกันปรับทั้งครู ทั้งนักเรียน
 

ความโชคดีของโรงเรียนโคกพะยอมคือเป็นโรงเรียนชุมชนเข้มแข็ง ในชุมชนมีผู้นำชุมชนที่คร่ำหวอดเรื่องงานวิจัยท้องถิ่นมาบ้าง เวลาที่ผอ.ประชุมผู้ปกครองก็จะแจ้งว่า เราจะมีการเรียนการสอนใหม่เพิ่มเข้ามา บอกผู้ปกครองว่าถ้าลูกหลานไปถามอะไร ช่วยหาคำตอบให้ลูกหลานด้วย เขาก็จะเข้าใจเพราะเขาทำวิจัยชาวบ้านมาเหมือนกัน ก็จะเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงของเด็ก บางคนจากที่ไม่ค่อยพูด ทำอะไรช้า ๆ  ไม่ค่อยได้รับการยอมรับจากกลุ่ม เขาก็จะพยายามพัฒนาตัวเองเพื่อให้เข้ากลุ่มได้  และกล้าที่จะแสดงความคิดเห็น ครูผู้สอนเองช่วยกระตุ้นให้เขาได้พูดด้วย ผิดถูกไม่ว่ากัน เดี๋ยวเพื่อนจะบอกเองว่าที่พูดมานั้นจะต้องปรับอย่างไร เขาพยายามที่จะไม่ให้เป็นภาระของเพื่อน
 

กระบวนการนี้ช่วยให้นักเรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงไปมาก เช่น การเลือกประธาน รองประธาน เขาจะใช้สิทธิ์กัน บางครั้งเขาก็ขอเสนอตัวสมัครเป็นประธานเอง  เราจะเห็นความกล้าของเขาในส่วนนี้ เวลาออกพื้นที่เขาจะมีการวางแผนเลยว่าต้องทำอย่างไร เช่น วันหนึ่งเขากำหนดการการลงพื้นไว้หมดแล้ว เผอิญว่าวิทยากรที่นักเรียนจะไปเรียนรู้ด้วยท่านป่วย เดินทางไปถึงบ้านวิทยากรแล้วจึงทราบว่าท่านป่วย เลยตัดสินใจนัดวันกันใหม่ที่จะไปเรียนรู้อีก พอกลับมาเด็กเปลี่ยนความคิดทันที นักเรียนคนหนึ่งมาบอกกับเราว่า “ครูค่ะพรุ่งนี้พวกหนูขออนุญาตซื้อนมไปเยี่ยมวิทยากรได้ไหม” เขาจัดการเองหมด ขออนุญาตไปซื้อของให้วิทยากร แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของนักเรียน ซึ่งแต่ก่อนนั้นไม่เคยมี แต่เมื่อเรานำกระบวนการนี้มาใช้ทำให้เขามีความเปลี่ยนแปลง เด็กมีพฤติกรรมจิตอาสาเพิ่มขึ้นหลายคน นี่คือสิ่งที่โรงเรียนได้รับมา
 

ปัญหาและอุปสรรค : ส่วนใหญ่อยู่ที่ครู  เดิมมีครู 8 คน ครูที่เป็นอัตราจ้างพอไปอบรมกลับมา พอจะเริ่มกระบวนการวิจัยพอดีสอบบรรจุได้ ต้องย้ายไปอีก ครูที่เหลืออยู่อีกท่านหนึ่งก็จะเกษียณเดือนกันยายน  เราเลยแก้ปัญหาด้วยการเอาชั้น ป. 1 กับ ป.2 มายุบรวมกัน   เดินไปได้ครึ่งทางแล้ว  ป.3  กับ ป.4 ก็ยุบมารวมกันอีก   ส่วนชั้น ป.5 – ป.6 นั้นยุบรวมกันตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว นี่คือปัญหาของโรงเรียน แต่เราก็สามารถจัดการให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี จะสังเกตเห็นว่า จากเวทีวิจัยที่เราเชิญผู้ปกครองมาร่วมด้วย ผู้ปกครองหลายคนบอกว่า เห็นเด็กเกิดความเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน เช่น เด็กอนุบาลบางคนผู้ปกครองมาเล่าให้ฟังว่า ลูกของเขาบอกให้เราไปหาคำตอบด้วย แล้วเดี๋ยวเขาจะมาถามอีก ผู้ปกครองก็ภูมิใจมากที่ลูกรู้จักถาม
 

การนำ “กระบวนการวิจัย” มาใช้ในการเรียนการสอน :  ครูจะใช้วิธีการกระตุ้น ตั้งคำถามว่าหนูอยากทำเรื่องนี้ไหม ถ้าเขาบอกว่าอยากรู้ เราจะบอกให้เขาลองไปหาวิธีการเอาความรู้เรื่องนี้มาดูว่าทำอย่างไรถึงจะได้รู้เรื่องนี้  นักเรียนบางคนก็ไปถามผู้ปกครอง บางคนไปถามวิทยากรท้องถิ่น  บางคนหาจากอินเทอร์เน็ต แล้วจะมีการมารายงานว่ากลุ่มนี้ได้ข้อมูลมาอย่างนี้ โดยเราจะฟังจากวิทยากรของ สกว. ว่า เทคนิคของครูต้องมีอะไรบ้าง และไม่รู้ว่าเป็นผลพวงของการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบวิจัยหรือเปล่า  ที่ทำให้ผลสอบ ONET ของชั้น ป.6 ติดอันดับ 5 ของจังหวัด จากเมื่อก่อนเราจะไม่ค่อยติดฝุ่น  เมื่อเห็นผลเช่นนี้คณะครูที่เหลือก็มาปรับความเข้าใจกันว่า เมื่อเราลงเรือลำเดียวกันแล้วต้องพากันไปให้ถึงฝั่ง เวลาที่ไม่เข้าใจตรงไหน เราจะไปปรึกษาผอ. ชวนกันพูดคุยกันบ่อย ๆ ถามปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วร่วมกันคิด ครูบางคนท้อ โรงเรียนโคกพะยอมครูจะอยู่ที่นี่กันนาน จะรู้พื้นเพของชุมชนว่าเป็นอย่างไร
 

เราสอนชั้น ป.5 - 6  ก็จะทำหน้าที่กระตุ้นนักเรียนตั้งคำถาม เช่น นักเรียนสนใจอยากเรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง เด็กเขาจะตอบมา เด็กนักเรียน 20 กว่าคน เรื่องก็จะเยอะ แล้วเราจะทำอย่างไร เราจะบอกนักเรียนไปว่าเพราะแต่ละคนมีความสนใจไม่เหมือนกัน ทำไมนักเรียนถึงสนใจเรื่องนั้น เด็กนักเรียนเขาจะเขียนเหตุผลของเขามาให้นักเรียนเขาจะเขียนอธิบายเป็นข้อความแล้ววาดรูปไปด้วย เขาจะออกมานำเสนอทีละคนว่าที่เขาอยากเรียนเรื่องนี้ เพราะเหตุผลเขาเป็นแบบนี้ จากนั้นให้เขาเขียนถึงเรื่องราวที่เขาเรียนใส่กระดาษ Chart  จากนั้นเราก็เลือกเรื่องที่ใกล้เคียงกันมาจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งเด็กเป็นคนบอกเอง เมื่อรวมกลุ่มแล้วก็ยังได้ถึง  8 กลุ่ม จากนั้นเด็กนักเรียนเขาจะแบ่งกลุ่มกันให้ได้ 8 กลุ่ม และไปหาเหตุผลในแต่ละกลุ่มมานำเสนอ โดยเขาจะตั้งเงื่อนไขกันเองว่าในแต่ละกลุ่มมีกี่คน มี 3 คนบ้าง 2 คนบ้าง แล้วเด็กนักเรียนเขาจะไปหาเหตุผลกันมา
 

จากนั้นเขาก็จะตกลงกันเองว่าใครจะเป็นคนออกไปเสนอเหตุผล เราก็บอกว่าทำอย่างไรให้เพื่อนๆ เลือกเพียงเรื่องเดียว  นักเรียนเขาก็จะบอกว่าถ้าเราจะเรียนด้วยกัน ให้เลือกเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน  ซึ่งเด็กนักเรียนเขาคิดเงื่อนไขขึ้นมาเอง โดยครูจะตั้งคำถามเป็นระยะๆ ว่า ถ้าเรื่องที่นักเรียนอยากเรียน แต่ครูไม่มีความรู้ นักเรียนจะทำอย่างไร เด็กเขาบอกว่าไปหาความรู้จากอินเทอร์เน็ตบ้าง ภูมิปัญญาบ้าง เราก็ถามต่อว่าทำอย่างไร  เขาก็บอกว่าต้องทำหนังสือเชิญวิทยากรมาให้ความรู้ ต้องเขียนหนังสือเชิญวิทยากรอีก เราถามเขาว่านักเรียนสามารถไปหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตได้ไหม ดูว่าทำได้ไหม เขาก็ไปค้นคว้าศึกษาข้อมูลมา เพื่อให้ได้หนังสือเชิญวิทยากรและหนังสือขออนุญาตจากผอ. เขาก็ทำโดยที่ครูคอยเป็นพี่เลี้ยงให้ ในการเรียนของเขาใช้วิธีการแบบนั้น นักเรียนเขามีความกระตือรือร้นมากขึ้น ตอนที่นำเสนอครูจะพานักเรียนไปดูการนำเสนอของโรงเรียนอื่น ๆ ว่าคณะกรรมการถามว่าอย่างไรบ้าง นักเรียนเขาจะนั่งฟังสังเกตว่า สกว. มักจะถามคำถามกับนักเรียนอย่างไรบ้าง เขาจะดักคำถามหมดเลย เป็นสิ่งที่ผู้ปกครองภูมิใจว่านักเรียนเขารู้จักคิดมากขึ้น
 

นอกจากนี้เราจะบอกนักเรียนว่า ถ้านักเรียนได้ค้นคว้าด้วยตัวเอง นักเรียนจะจำได้นานมากกว่าสิ่งที่ครูบอก คราวนี้ลองคิดมาดูสิว่า นักเรียนจะทำอย่างไรเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมา นักเรียนเขาสามารถตอบได้ว่า สร้างเงื่อนไข สร้างข้อตกลง เราต้องให้ความรู้พื้นฐานในเรื่องนี้ก่อน ตอนนี้เด็กนักเรียนเขากล้าพูดกล้าแสดง จากเมื่อก่อนให้เขาพูดกับไมค์ส่วนใหญ่จะเดินหนี  แต่เดี๋ยวนี้เขาจะเลือกเองเลยว่าขอพูดหัวข้อนี้