เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง
วันที่ 11-12 กรกฎาคม 2555 ณ นกน้ำรีสอร์ท อ.เมือง จ.สตูล
โรงเรียนบ้านทางยาง นำ “กระบวนการวิจัย” มาใช้เพื่อให้เด็กมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนมากขึ้น โดยครูทำหน้าที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ เมื่อถึงคาบวิจัยจะให้เด็กนำเสนอสิ่งที่ได้พบเห็น สรุปบทเรียนภายในกลุ่ม ทำให้เด็กกล้านำเสนอมากขึ้น ส่วนผู้ปกครองก็รู้สึกยินดีที่เห็นว่าลูกเปลี่ยนไป จากเดิมที่ไปเต้นแล้วลงจากเวทีมารับของรางวัล แต่ตอนนี้ลูกสามารถขึ้นไปพูดเรื่องวิชาการได้
โรงเรียนบ้านทางยาง เป็นโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็ก มีนักเรียน 103 ครู 6 คน ไม่ครบชั้น คือระดับอนุบาลคละชั้น ส่วนชั้น ป.5 และ ป.6 จะรวมชั้น นำ “กระบวนการวิจัย” มาใช้เพื่อให้เด็กได้มีกิจกรรมที่แปลกจากเรื่องเดิม ๆ ที่มีอยู่ในแต่ละวัน โดยให้เด็กมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนมากขึ้น เมื่อถึงคาบวิจัยจะให้เด็กมานำเสนอสิ่งที่ได้พบเห็น มีการสรุปกันภายในกลุ่ม ส่วนผู้ปกครองก็เห็นด้วย จากการนำเสนอเวทีวิจัยที่ผ่านมา ที่มีการจัดเวทีใหญ่ไปแล้ว จากแต่ก่อนเวลาเด็กขึ้นไปแสดง เด็กจะไม่ค่อยกล้าพูด ขึ้นเวทีก็จะเต้นอย่างเดียว ก็เริ่มเปลี่ยนไปมีการพูดการนำเสนอ เพราะการวิจัยจะมีแนวทางอยู่ในเรื่องของกระบวนการให้เด็กมีส่วนร่วม ส่วนครูจะทำหน้าที่อยู่เบื้องหลัง โดยได้รับความร่วมมือจากคุณพิเชษฐ์ที่คอยมาแนะนำเด็กในเรื่องของการพูด การนำเสนออยู่เสมอ
ปัญหาและอุปสรรค : ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของครู เพราะที่โรงเรียนบ้านทางยางมีครูผู้ชายจำนวนมาก ส่วนการเรียนการสอนครูค่อนข้างยอมรับ แต่กระบวนการเขียนครูจะไม่ค่อยยอมรับ กระบวนการจัดการเรียนการสอนถือว่าครูผู้ชายไม่ปฏิเสธ เช่น การพาเด็กไปเรียนรู้ พาเด็กไปพูดหรือนำเสนอ แต่ว่าในขั้นตอนของการเขียนที่มีมากทำให้ครูรู้สึกว่าการวิจัยเป็นภาระมากขึ้น แต่ในด้านของการสอนครูยอมรับ เพราะเกิดผลกับเด็กในเรื่องของความกล้า และมีความคิดมากขึ้น เด็กมีส่วนร่วมกับครูมากขึ้น แต่พอต้องมาเขียนบรรยายหลาย ๆ หน้า ก็รู้สึกว่าไม่ไหว
โดยปกติครูจะยอมรับอยู่แล้วเวลาที่ ผอ.นำอะไรใหม่ๆ มาให้เราทำ แต่พอเป็นงานวิจัยเข้ามา เราก็จะแทรกชั่วโมงการวิจัยเข้าไปด้วย วิชาอื่นก็ตัดออกไปนิดหน่อย โดยนำเอามารวมกับวิชาวิจัย ช่วงแรกตัวครูเองยังไม่เข้าใจในเรื่องของการสอนเชิงวิจัย เพราะเขาบอกเราแค่ให้สอนในเชิงวิจัยเท่านั้น ครูก็ยังจับจุดไม่ถูก ไม่รู้ว่าต้องสอนอย่างไร แต่ ผอ. ท่านเข้ามาช่วยโดยนำคู่มือการวิจัย 10 กระบวนการมาให้ศึกษา โดยขั้นแรกเป็นเรื่องของการเรียนรู้เรื่องใกล้ตัว ให้เด็กสำรวจเรื่องใกล้ตัวว่ามีอะไรบ้าง แล้วให้นักเรียนนำมาย่อส่วนเรื่อง จากเรื่องใกล้ตัวมาเป็นเรื่องที่ชอบ จากเรื่องที่ชอบมาเป็นเรื่องที่อยากจะเรียนรู้ แล้วเจาะว่าถ้านักเรียนอยากเรียนรู้เรื่องนั้นแล้วต้องทำอย่างไร
เรารับผิดสอนชั้น ป.5 และ ป. 6 เรื่อง การเพาะเห็ดจากทะลายปาล์ม เพราะในละแวกใกล้ ๆ โรงเรียนมีสวนปาล์มเป็นจำนวนมาก เด็กเห็นว่ามีปาล์มเยอะ ประกอบกับแถว ๆ โรงเรียนมีการเพาะเห็ด เด็กจึงสนใจ เรานำเรื่องนี้มาเป็นหัวข้อวิจัย ให้เด็กค้นหาว่าหากจะเพาะเห็ดจากทะลายปาล์มต้องทำอย่างไร ใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ มีปัญหาอะไรหรือไม่ ถ้าเด็กสนใจเราจะต่อยอดอย่างไร โดยเป็นกระบวนการของเด็กที่คิดจากวงกว้าง แล้วค่อย ๆ ย่อส่วนมา วาโรงเรียนของเรามีอะไรบ้าง จากใหญ่มาเล็ก
กิจกรรมที่ทำผ่านกระบวนการวิจัย : ตัวอย่างเช่น โครงการวิจัยเกี่ยวกับทะลายปาล์ม ที่ให้เด็กไปศึกษา ไปจดบันทึก โดยให้เด็กตั้งโจทย์ก่อน ตั้งข้อตกลงกันก่อนในห้องเรียนว่า จะไม่ทิ้งขยะ ไม่แตกแถวเวลาลงพื้นที่ จากนั้นก็ร่วมกันตั้งคำถามวิจัย เวลาที่เราออกไปลงพื้นที่ต้องเตรียมอะไรไปบ้าง สมุดบันทึก กล้องถ่ายรูป มีคำถามอะไรบ้างที่เราอยากรู้ เช่น ทะลายปาล์มมาจากไหน พอไปถึงเราก็ตามหาตามคำถามที่เราร่วมกันคิดขึ้นมา สร้างข้อตกลงว่าจะต้องไปอย่างไร ในช่วงปลายปีจะมีเวทีงานวิจัย เป็นเวทีที่นักเรียนตื่นเต้นมากเพราะว่าเด็กจะได้นำเสนอ นักเรียนจะชอบ เพราะแต่ก่อนจะได้แค่ออกไปเต้นอย่างเดียว เดี๋ยวนี้ได้ทำกิจกรรมเป็นวิชาการ ในส่วนของผู้ปกครอง เมื่อเด็กลงจากเวที เราจะให้ผู้ปกครองมาแสดงความคิดเห็น เขาก็ยินดีที่เห็นว่าลูกเขาเปลี่ยนไป จากที่ไปเต้นแล้วลงเวทีมารับของรางวัล แต่ตอนนี้ลูกของเขาขึ้นไปพูดเรื่องวิชาการ รู้สึกว่าลูกของเขามีความสมารถเชิงวิชาการมากขึ้น
โรงเรียนจะจัดให้ “กระบวนการวิจัย” สัปดาห์ละ 2 คาบ คือวันจันทร์และวันวันอังคาร ส่วนวันพุธเป็นวันนัดประชุมสรุปบทเรียนว่าที่สอนมาในวันจันทร์และอังคารมีปัญหาตรงไหนอย่างไร โดยบางครั้งจะเชิญ สกว.เข้าไปช่วยให้ข้อเสนอแนะ เพราะยังไม่ชัดเรื่อง “กระบวนการวิจัย” ต้องพยายามเรียนรู้ว่าเราจะจัดการเรียนกันอย่างไร ซึ่งเราจัดการโดยการขมวดเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก เช่น เรื่องการเขียนที่เกี่ยวกับภาษาไทยเราเก็บมาไว้ในรายวิชาภาษาไทย หรือส่วนไหนที่เกี่ยวข้องกับงานมือเก็บเอาไว้ในวิชาศิลปะ เป็นต้น
ปัญหาและอุปสรรค : ส่วนใหญ่เป็นเรื่องความพร้อมของครูที่ยังไม่เข้าใจเรื่องการวิจัยชัดเจน ซึ่งคิดว่าสกว.น่าจะช่วยทำให้ครูชัดเจนมากขึ้นว่าต้องทำอะไร อย่างไร เพื่อที่ สกว.จะได้ไม่เสียเวลาเปล่า และเสียงบประมาณเปล่าๆ ซึ่งบางโรงเรียนนำเสนอออกมาว่าครูยังไม่พร้อม ครูยังจับจุดไม่ถูกในเรื่องของการวิจัย แต่ตัวเด็กได้ในเรื่องความกล้า และการแสดงออกทางความคิด แต่ความชัดเจนของครูนั้นยังไม่มี เพราะลักษณะการทำงานของ สกว.จะไม่ให้ความทั้งหมด แต่เขาต้องการให้ครูนำไปใช้กับนักเรียนก่อน บางครั้งเมื่อเราทำไปแล้วเรานึกได้ว่าเป็นเหมือนที่เขาบอกเราเมื่อครั้งนั้น เป็นกระบวนการที่เราต้องเรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรม