เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง

เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง

วันที่ 11-12 กรกฎาคม 2555 


โรงเรียนบ้านเขาจีน มีนักเรียน 279 คน เป็นโรงเรียนขยายโอกาส เพื่อให้เด็กที่ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ มีโอกาสได้เรียนต่อ เด็กบางคนไม่สามารถไปเรียนต่อที่อื่นได้เนื่องจากมีปัญหาเรื่องทุนทรัพย์ เด็กมาสภาพไหนต้องรับหมด เพราะเป็นโรงเรียนขยายโอกาส  สภาพสังคมเป็นโรงเรียนกึ่งเมือง อยู่อำเภอเมืองแต่ไม่ใช่สังคมเมือง รายล้อมด้วยยาเสพติด ทั้งผู้ค้าและผู้เสพ ผู้ปกครองมีอาชีพรับจ้าง มีที่อยู่ไม่แน่นอน คือย้ายมาจากที่อื่นเพื่อมาทำงาน แล้วก็ย้ายไป
 

ใช้กระบวนการวิจัยแก้ปัญหา : จากปัญหาเหล่านี้ ผอ.จึงคิดนำ “กระบวนการวิจัย” มาใช้จัดการเรียนการสอน เราไม่ได้หวังว่าเด็กของเราจะต้องไปสอบแข่งขันชิงทุนของจังหวัดหรือไม่ หรือแข่งขันด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เพราะรู้ว่าเราสู้ไม่ได้แน่นอน แต่สิ่งที่เราอยากได้คือ ทักษะชีวิตของเด็กว่า เด็กเหล่านี้เป็นคนเก่งไม่ได้ แต่เราสามารถทำให้เขาเป็นคนดีได้  ทั้งนี้เพราะ พ.ร.บ.การศึกษาระบุไว้ว่า เราต้องทำให้เด็กเรียนรู้เสมอภาคกัน เราจะแยกว่าเด็กคนนี้เป็นเด็กในเมือง เด็กคนนี้เป็นเด็กนอกเมืองไม่ได้ “แต่เรามีวิธีการอะไรบ้าง”  ที่จะทำให้เกิดความเสมอภาคได้ นั่นคือคำถามของ ผอ. ซึ่งเป็นจิตวิทยาของท่านในการชักชวนครูร่วมกระบวนการ
 

ตอนแรกที่ ผอ.นำกระบวนการนี้เข้ามา เราต่อต้านมาก แล้วตั้งคำถามว่าทำไปเพื่ออะไร ผมสอนวิชาคอมพิวเตอร์  ผอ.บอกว่า “ให้เด็กได้เรียนรู้จากนอกสถานที่” เราบอกท่านไปว่า “ผมใช้อินเทอร์เน็ตโลกไซเบอร์ไปถึงไหน ไปต่างประเทศก็ยังได้  ให้เด็กไปศึกษาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตได้เลย” แต่เมื่อเราได้เข้าไปอบรมจริงๆ แล้ว ได้เจอกับคุณพิเชษฐ์ พี่เลี้ยง สกว. เขาบอกว่า การค้นหาข้อมูลเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนวิจัยเท่านั้นเอง  ถ้าเราเข้าไปถึงจริง ๆ แล้วเราจะได้ผลบุญที่เราคิดไม่ถึง เพราะเราสามารถทำให้เด็กคนหนึ่งสามารถวางแผนชีวิต วางแผนการทำงาน และสามารถอยู่ร่วมในสังคมได้ ที่ผ่านมาเราเคยรู้หรือไม่ว่าเด็กต้องการได้อะไรจากเรา  เข้าใจหรือไม่ว่าเด็กคนนั้นจริง ๆ แล้วเขาเป็นคนนิสัยอย่างไร เราดูเฉพาะหน้าแล้วเราตัดสินได้ไหม พอเราใช้วิธีการสอนแบบนี้ทำให้เราได้ปฏิสัมพันธ์กับเด็กและรับรู้ว่าเด็กคนนี้ที่เพื่อนไม่เอา เขามีดีอะไร เขาต้องมีดีในตัวของเขาเอง เราสามารถที่จะทำให้เด็กคนนี้ที่เพื่อนไม่เอา เข้ามามีบทบาทในกลุ่ม เพิ่มหน้าที่ให้เขาทีละนิด ๆ จากเด็กที่ไม่มีความมั่นใจ ก็ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเขามีค่าขึ้นในสังคม เพราะเพื่อนให้โอกาสเขา ครูให้โอกาสเขา จนถึงตอนนี้เรามีนักเรียนคนหนึ่ง ชื่อเด็กชายอดิศร เป็นเด็กที่มีความรับผิดชอบ แต่เป็นเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ขึ้นบัญชีดำของโรงเรียนบกพร่องทางการเรียนรู้ หมายถึงอ่านหนังสือไม่ออก เป็นนักเรียนชั้น ม. 2 เขาเป็นเด็ก 20 คนของโรงเรียนที่ต้องได้รับการพัฒนาอย่างเร่งด่วน จากตอนนั้นจนถึงปัจจุบันเด็กชายอดิศรเป็นประธานสภานักเรียน มีหน้าที่รับผิดชอบนำกิจกรรมหน้าเสาธง ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกมากสำหรับผู้ปกครองในวันที่เขานำเสนอเวทีใหญ่ตอนสิ้นปีการศึกษา ผู้ปกครองร้องไห้ด้วยความตื้นตันใจ ไม่คิดว่าลูกของเขาจะถือไมล์แล้วพูดในที่สาธารณะได้ เราเองก็อดปลื้มใจไม่ได้
 

เวลาที่ทำกิจกรรมในห้องเรียน เราจะใช้วิธีแบ่งกลุ่มให้นักเรียนผลัดเปลี่ยนหน้าที่รับผิดชอบกัน วันนี้คนนี้เป็นประธาน ชั่วโมงต่อไปให้เพื่อนอีกคนเป็นประธานแทน สลับกันไป อดิศรจะกังวลมากในวันที่เขาต้องเป็นเลขากลุ่ม เพราะต้องทำสรุป เขาเข้ามาปรึกษาเรา เราก็แนะนำว่า เธอเขียนได้บ้าง ไม่ได้บ้างแต่เธอมีเพื่อนไม่ใช่หรือ เธอสามารถให้เพื่อนช่วยได้ เขาก็ไปถามเพื่อน ๆ จากคำที่เขาเขียนไม่ถูก เขาเขียนผิดครั้งหนึ่งเพื่อนบอก ครั้งต่อไปเขาจะจำแล้วก็ไม่เขียนผิดอีก ถึงแม้ว่าปัจจุบันนี้เขาอาจจะเขียนถูกไม่ 100 เปอร์เซ็นต์  แต่ว่าเขามีความมั่นใจขึ้น เห็นได้ชัดเจนว่ากระบวนการค้นคว้าข้อมูลในอินเทอร์เน็ตเป็นเพียงกระบวนการหนึ่งเท่านั้นในการค้นหาข้อมูล
 

กระบวนการแบบนี้ทำให้เด็กมีครูหลายคน แทนที่จะเป็นครูคนเดียว เพราะครูแต่ละคนมีความถนัดไม่เหมือนกัน และที่เห็นชัดคือชาวบ้านผู้ปกครองมีความภูมิใจที่เขาได้มีโอกาสถ่ายทอดความรู้ให้กับลูกหลาน เพราะเขาไม่คิดว่าความรู้ที่ติดตัวเขาจะได้รับการสืบทอดต่อไป ยกตัวอย่างลุงผลที่เพาะปลากัดขาย ท่านไม่คิดว่าวันหนึ่งจะมีเด็กเข้าแถวมาขอความรู้จากท่าน ลุงผลบอกว่า “ลุงจะแก่ตายอยู่แล้ว ไม่นึกว่าจะมีเด็กมาเรียนกับลุง” ถามว่าผลสัมฤทธิ์ของเด็กดีขึ้นหรือไม่ ตอบได้เลยว่าไม่ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งตรงกับนโยบายของผอ. ที่ว่า ONET เป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินก็จริง แต่ถ้าเด็กเหล่านี้เป็นคนดีของสังคม เด็กเหล่านี้ก็จะเป็นกำลังสำคัญของสังคม เราต้องการตรงนี้ไม่ใช่หรือ
 

การทำความเข้าใจกับกลุ่มครู : โชคดีที่โรงเรียนมีกลุ่มครูอาวุโสเป็นส่วนมาก อาวุโสคือเป็นครูที่บรรจุอยู่ที่โรงเรียนตั้งแต่แรก เข้าใจบริบทของโรงเรียนเป็นอย่างดี เป็นคนในพื้นที่ ส่วนใหญ่แล้วครูอาวุโสถ้าไม่รับก็คือไม่รับ แต่ผอ.ท่านก็ใช้วิทยายุทธ์ ใช้คำถามจี้ใจดำ ถามว่าครูอาวุโสว่า ครูสอนโรงเรียนนี้มากี่ปี ถามว่าเด็กเปลี่ยนแปลงไหม ลูกศิษย์ครูมีกี่รุ่นแล้วที่จบไป ได้เป็นนายแพทย์กี่คน ได้เป็นตำรวจกี่คน แล้วเด็กที่เหลือจำนวนมากเหล่านั้นไปอยู่ไหน อยู่ในละแวกชุมชนเหล่านี้ แล้วคนที่ค้ายาเสพติดก็ลูกศิษย์เราไม่ใช่หรือ นักการเมืองคอรัปชั่นก็ลูกศิษย์เราไม่ใช่หรือ  เพื่อทำความเข้าใจกับครูก่อน แล้วก็ถามครูต่อว่าอยากจะลองดูไหม ถ้าเราเปลี่ยนวิธีนี้แล้ว เราได้เด็กดีคืนมา เราอาจจะได้เด็กที่เก่งน้อยลง แต่เราจะได้เด็กที่ดีเพิ่มขึ้น ครูจะยอมแลกหรือไม่ เพื่อเป็นผลบุญในระยะปลายอายุของชีวิตข้าราชการ  ผอ.จะคุยกับครูอาวุโสก่อน ถ้าครูเหล่านั้นตกลง ขั้นต่อไปคือคณะครูที่ต่อต้าน นั่นคือตัวเราเอง ซึ่งเป็นครูรุ่นใหม่  ใช้เทคโนโลยีสอนเด็กนักเรียนซึ่งเป็นวิชาที่เด็กชอบอยู่แล้ว  เราคิดว่าเรามีวิธีการอื่นมากมายที่สามารถทำให้เด็กเป็นคนดีได้ ทั้งอบรมคุณธรรมจริยธรรม จัดกิจกรรมต่างๆ  แต่เด็กก็ยังไม่ซึมซับ  จะเป็นแบบประเดี๋ยวประด๋าว  จัดอบรมคุณธรรมจริยธรรม 3 วัน เด็กซึ้งอยู่แค่ 3 วัน จบค่ายก็จบกัน เพราะมันไม่ได้ปลูกฝังอยู่ในใจ
 

ต่อมาได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณพิเชษฐ์  พร้อมกับลูกสาวได้ไปเรียนที่โรงเรียนอนุบาลสตูล ไปเจอกับคุณครูประจำชั้น ครูถามว่าลูกสาวเปลี่ยนแปลงไปไหม เราสังเกตว่าทำไม่ลูกสาวของเราช่างถามมากขึ้น อยากรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ เช่น เวลาเราพาลูกสาวไปสงขลา เราบอกลูกว่าสะพานที่สงขลาชื่อสะพานติณสูลานนท์ เป็นสะพานที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ลูกสาวก็ถามต่อขึ้นว่า แล้วสะพานที่ยาวที่สุดในโลกชื่ออะไร เขารู้จักเปรียบเทียบ  จึงถามครูที่ปรึกษา ท่านก็แนะนำว่าที่โรงเรียนมีการเรียนวิชาแบบนี้อยู่ ลูกจะได้ถามมากขึ้น ซึ่งช่วงนั้นทางโรงเรียนเรายังไม่รับ และสิ่งที่เห็นชัดเจนคือ แม้โรงเรียนเราผลสัมฤทธิ์จะไม่เพิ่มขึ้น แต่ในทางกลับกันจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นในชั้นอนุบาล หมายความว่าผู้ปกครองให้ความไว้วางใจว่า วิธีการเหล่านี้สามารถทำให้ลูกหลานของเขารู้จักวางแผน รู้จักการอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม รู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มากกว่าการที่จะให้เขาเรียนรู้แค่เพียงในหนังสืออย่างเดียว
 

การนำ “กระบวนการวิจัย” มาใช้จัดการเรียนการสอน : จุดเปลี่ยนจากที่ไม่เคยรับกระบวนการนี้เพราะได้ดูรายการทีวีย้อน “ทุ่งแสงตะวัน” แล้วเรารู้สึกว่าโครงการแบบนี้คล้ายกับรายการทุ่งแสงตะวัน เราเห็นว่ารายการเหล่านี้เป็นรายการที่เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง มีความสนุกสนาน บางครั้งเราเห็นว่าเด็กที่มาเรียนในห้องคอมพิวเตอร์มีความสนุกสนานแล้ว แต่สนุกสนานเฉพาะเรื่องที่เรามอบให้ แต่จริงๆ แล้วไม่ได้เกิดจากการเรียนรู้ด้วยตัวเด็กเอง  จึงคิดว่าน่าจะลองนำมา “กระบวนการวิจัย” มาใช้ เราสอนหนังสือมากว่า 20 ปี   น่าจะลองเปลี่ยนดูบ้าง ปรึกษากับคุณเชษฐ์ว่าถ้าเราทำตรงนี้แล้วสามารถนำไปทำเป็นวิทยฐานะได้หรือไม่  คุณเชษฐ์บอกว่าไม่เกี่ยวกัน โครงการนี้เราทำด้วยใจ เราทำเพื่อเด็ก เราปรับเปลี่ยนวิธีการของเราเพื่อให้เด็กเกิดทักษะเท่านั้น  ส่วนกระบวนการที่จะนำไปทำวิทยาฐานะนั้นคนละเรื่องกัน คุณเชษฐ์ถามต่อว่า พี่คิดว่าพี่สอนหนังสือมากว่า 20 ปีพี่ภูมิใจในหน้าที่การงานของพี่หรือไม่  ผมตอบไปว่า เราก็ภูมิใจที่สอนให้เด็กไปสอบเข้าสถานศึกษาอื่น ๆ ได้ คุณพิเชษฐ์ก็ถามต่อว่าแล้วพี่มั่นใจได้หรือไม่ว่าเด็กเหล่านั้นจะเป็นคนดี ในเมื่อเด็กเรียนเก่งก็ต้องเป็นคนดี เราตอบจริง ๆ แล้วความดีอยู่ที่ใจว่าเด็กเหล่านั้นเมื่อจบไปแล้ว เขายังระลึกถึงโรงเรียนอยู่หรือไม่ ระลึกถึงเรื่องอะไร เราให้เขาเต็มที่แล้วหรือยัง จากนั้นก็เริ่มชวนให้เราปรับเปลี่ยนวิธีการสอน โดยให้เราเล่าถึงการออกแบบการสอนของเราว่าเราออกแบบอย่างไร
 

วิธีการสอนของเราคือ ศึกษาแผนการสอนจากอินเทอร์เน็ต เอาจากไหนมาสอนก็ได้ แต่นั่นเป็นวิธีการที่เราเอาเปรียบเด็กอยู่ เพราะสิ่งเหล่านี้เด็กนักเรียนเขาสามารถเปิดอ่านเองได้ แต่เด็กอยากจะเรียนรู้อะไรนั้น เราเคยถามเด็กบ้างหรือไม่  เรารู้สึกว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราสอนตามหลักสูตรก็จริง  เรานำหลักสูตรแกนกลางมาแตกเป็นตัวชี้วัด มาแตกเป็นหลักสูตรของสถานศึกษา แต่เราไม่เคยถามนักเรียนเลยว่าเขาต้องการหรือไม่ เกิดความคิดที่ว่าเราน่าจะปรับเปลี่ยน จึงชวนน้องคนหนึ่งที่ตอนแรกมีแนวคิดเดียวกับเราคือ ต่อต้านว่าถ้าเราลองดูสิว่าถ้ามันผิดก็ต้องผิดกันทั้งโรงเรียน แต่ถ้าเราทำตามเพื่อนครูแล้วเป็นผลดี ก็ได้บุญกับตัวเรา น้องอีกคนก็ตกลงร่วมกัน คิดว่าทำบุญให้กับเด็ก และได้แนวการสอนแบบใหม่ด้วย ได้เปลี่ยนพฤติกรรมการสอนดูบ้าง จากที่เราคิดว่าวิธีการของเรานั้นดีที่สุดแล้ว เราเป็น Teacher Center แล้ว เราเก่งที่สุดแล้ว ได้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันกับเด็ก พอเข้าไปสู่สภาวะสภาพการเรียนรู้จริง ๆ  ที่เราได้จัดกระบวนการเรียนรู้แบบวิจัย เราไม่ได้เก่งกว่าเด็กเลย ในบางเรื่องบางครั้งเรายังถามเด็กเลยว่าเด็กนักเรียนคิดได้อย่างไร เธอรู้หรือว่าเป็นแบบนี้ ครูไม่ได้เก่งทุกวิชา บางครั้งก็ต้องไปเรียนรู้ร่วมกัน สุดท้ายผู้ปกครองภูมิใจ เป็นเด็กนักเรียนที่ผู้ปกครองฝากฝังให้เราช่วยดูแลเรื่องการเรียน เราก็ดึงให้เขาร่วมกิจกรรมจนตอนนี้เขาสามารถบริหารน้องๆ เวลาที่ครูมีประชุมเขาสามารถบริหารจัดการได้เลย ตัวครูเองก็มั่นใจว่าเด็กเขาจะเป็นคนดีของสังคมได้
 

โรงเรียนเขาจีนไม่ได้ตัดเกรดเหมือนกับโรงเรียนอื่น ๆ  คือไม่ได้ตัดสินเป็นผลการเรียนของผู้เรียนในรายวิชานี้ ไม่มีคะแนน ไม่ได้ลงในสมุดประจำของนักเรียน ดังนั้นการที่เราจะดึงให้นักเรียนมาเรียนในรายวิชานี้ด้วยความเต็มใจ เราต้องให้ใจเขาก่อน ให้นักเรียนมาด้วยใจก่อน  ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วเราไม่สามารถเอาคะแนนไปขู่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ครูจึงต้องเป็นนักจัดกระบวนการมากขึ้น  จากการเรียนแบบเดิมที่มีคะแนนเป็นตัวล่อ มีข้อสอบเป็นตัวดึงความสนใจให้นักเรียนเข้ามา ก็เปลี่ยนเป็นใช้กระบวนการให้นักเรียนมีความสนุกและมีส่วนร่วมในการเรียนมากที่สุด ซึ่งเกิดจากที่คณะครูได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน  ของโรงเรียนเราถ้าถามว่ามีการพูดคุยกันกี่ครั้ง ไม่สามารถบอกได้ แต่ทุกครั้งที่เจอหน้ากันระหว่างครูจะต้องถามเรื่องนี้ก่อน  ด้วยความที่ว่าเราเริ่มพร้อมกันทั้งโรงเรียน ไม่มีแกนนำ ไม่มีรุ่นพี่รุ่นน้อง เราทำพร้อมกัน รวมทั้ง ผอ.ด้วย เราสามารถปรึกษากันได้หมด บางทีผอ.ก็มาถามเรา เมื่อเราแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ทำให้รู้ว่าบางครั้งเราไม่สามารถนำกระบวนการของเพื่อนไปใช้ได้ เพราะแต่ละห้องเรียนมีบริบทแตกต่างกัน
 

กระบวนการวิจัยในห้องเรียน :   สำหรับการนำกระบวนการวิจัยมาใช้สำหรับชั้น ม. 2 เด็กจะมีวุฒิภาวะแล้ว สามารถร่างจดหมายได้ และออกแบบได้ว่าในการลงพื้นที่ต้องเตรียมอะไรบ้าง เด็กสามารถทำได้ แต่เด็ก ม.1 ครูต้องกระตุ้นมากกว่า เพราะเด็ก ม. 1 มักถูกมองว่าเป็นนักเรียนที่ปลายแถว เกเร เพราะโรงเรียนเราเป็นโรงเรียนขยายโอกาส เราก็ไปถามเด็กว่านักเรียนอยากจะเป็นนักเรียนยุคใหม่หรือไม่ ซึ่งเด็กก็ยินดีร่วมกันเสนอแนวทางในการเรียนรู้ ครูจะเตรียมการกระตุ้นว่านักเรียนอยากเรียนแบบไหน รูปแบบที่นักเรียนต้องการเป็นแบบไหน  นักเรียนก็สะท้อนความคิดออกมาว่าอยากเรียนแบบนั้น แบบนี้ อยากออกนอกพื้นที่ เราจึงเริ่มเข้าสู่กระบวนการ เริ่มตั้งแต่เรียนรู้เรื่องใกล้ตัว เช่น เราเป็นใคร มาจากไหน มีใครบ้างเป็นญาติเรา เพื่อให้เด็กเรียนรู้กระบวนการบันทึกข้อมูล สามารถแยกแยะได้ว่า ตระกูลของเขาแบ่งเป็นกี่สายสาย ได้เรียนรู้เรื่องกระบวนการสอบถาม เป็นการปูพื้นฐานให้เด็กเข้าสู่กระบวนการต่อไป
 

ขั้นตอนต่อมาคือการเลือกเรื่อง ก็ให้เด็กนำเสนอเรื่องตามที่ตนเองสนใจ ประมาณ 30 เรื่องแล้ว 30 เรื่องนั้นแต่ละคนก็นำเสนอออกมาว่าเรื่องที่ตนเองเสนอนั้นอยากจะให้เพื่อนเรียนเพราะมีประโยชน์อย่างไร มีข้อมูลอยู่ตรงไหน ใครเป็นแหล่งภูมิปัญญาได้บ้าง มีการแลกเปลี่ยนโดยใช้หลักประชาธิปไตยบ้าง ใช้หลักการแสดงความคิดเห็นเป็นผู้นำผู้ตามบ้าง จนได้เรื่องออกมาเป็น 2 เรื่องสุดท้ายคือ  การแก้ปัญหายาเสพติด และการแก้ปัญหาการจราจรหน้าโรงเรียนช่วงเลิกเรียน ซึ่งเป็นปัญหาจากผู้ปกครองจอดรถไม่เป็นที่ สุดท้ายได้เรื่องในการศึกษาจริง ๆ เป็นเรื่องของการแก้ปัญหาการจราจรหน้าโรงเรียน สาเหตุของปัญหาจราจรหน้าโรงเรียนว่ามีสาเหตุมาจากอะไร พบว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาจราจรในเวลาคับขันมีเรื่องอะไรบ้าง แล้วจะแก้ไขอย่างไร อะไรบ้างที่เป็นปัญหาภายใน และอะไรที่เป็นปัญหาภายนอก  ปัญหาภายในเราสามารถขอความร่วมมือจากใครได้บ้าง จะดำเนินการเมื่อไหร่ สามารถดำเนินการเองได้หรือไม่ ใช้งบประมาณเท่าไหร่  ส่วนปัญหาภายนอกต้องขอความร่วมมือจากใคร สุดท้ายตอนนี้ปัญหาภายในก็จัดการผ่านสภานักเรียน โดยได้จัดการรูปแบบแถว และการถือธง ส่วนปัญหาภายนอกคือทางม้าลาย กำลังนำเรื่องนำเสนอต่อเทศบาลให้จัดการให้
 

นอกจากนี้บางครั้งเราก็มีการแลกเปลี่ยนชั้นกัน  เช่น เราสอนชั้น ม.2  ก็ให้ลงไปสอนชั้นอนุบาลดูบ้าง เพื่อให้เห็นความแตกต่าง เพื่อจะได้มีการแลกเปลี่ยนกัน ที่โรงเรียนจะเน้นการแลกเปลี่ยนตั้งแต่การประชุม เช่น ครั้งนี้สมมุติว่าเราเป็นประธาน ครั้งหน้าต้องไม่ใช่เรา  ซึ่งวิธีการเช่นนี้ครูจะนำไปใช้กับเด็กด้วย เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ใช้ความสามารถของตนเองเต็มที่  ถือเป็นวิธีการที่ดีที่ช่วยกระตุ้นทั้งครูและนักเรียนให้เป็นคนที่มีความอดทน อดทนในการที่จะคำตอบจากนักเรียน ไม่เหมือนแต่ก่อนที่ 1+1 จะต้องเท่ากับ 2 เสมอไป แต่ครั้งนี้เราต้องรอว่าทำไมต้องตอบ 2     และ 2 มาจากอะไร  ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาเป็นเดือน เพราะความเปลี่ยนแปลงของเด็กเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เราต้องรอคำตอบให้ได้ก่อน แต่สิ่งนั้นต้องเกิดจากความสนใจของเขาจริง ๆ  อย่างน้อยหากสิ่งที่เขาสนใจนั้นจะไม่ได้รับความสนใจจากเพื่อน แต่อย่างน้อยเขาอาจจะไปศึกษาต่อเองในภายหลัง จากผู้รู้จากเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับกระบวนการนี้ก็ได้ในอนาคต
 

บทบาทเกี่ยวกับการทำวิจัย :     ครูส่วนใหญ่จะเป็นพี่เลี้ยง แนะนำแนวทางเพื่อให้ไปกระตุ้นให้เด็กคิด บางครั้งนักเรียนอาจจะมีความคิดดีๆ อยู่แล้ว แต่นำเสนอออกมาไม่ได้ ถ้าเรากระตุ้นถูกจุด นักเรียนก็จะสามารถนำเสนอออกมาได้อย่างเต็มที่ บางครั้งเราอาจจะนำด้วยคำถาม ตั้งประเด็นเป็นคำถามปลายเปิดเอาไว้ ให้นักเรียนได้คิดต่อ ครูต้องเป็นนักจัดกระบวนการอย่างเต็มที่ ในแต่ละวันครูจะต้องออกแบบ เพราะถึงแม้ว่าในรายวิชานี้จะไม่มีคะแนน แต่เราก็ต้องออกแบบการสอนเพราะถือว่าอย่างน้อยวิชานี้อาจจะเป็นวิชาที่นักเรียนชอบวิชาหนึ่งก็ได้ เราต้องทำให้ดีที่สุด ผลที่เกิดชัดเจนในแง่ของตัวเด็กนั้นแทบจะไม่ต้องพูดถึง เด็กมีความแตกต่างจากเดิมมากคือ จากเด็กที่ไม่มีความกล้า ให้ออกไปพูดหน้าห้องเรียน หน้าเสาธงนั้นยากมาก แต่เดี๋ยวนี้แทบจะแย่งกันพูด หน่วยงานอื่นมาขอใช้สถานที่ ครูแทบจะไม่ต้องทำอะไรเลย ครูแค่ตั้งเครื่องเสียงให้เท่านั้น  ที่เหลือนักเรียนเขาสามารถจัดการได้  ส่วนที่สองคือผู้ปกครอง เมื่อเรานำกระบวนการวิจัยเข้ามาใช้ ให้เด็กนำเอาแบบสอบถามไปถามผู้ปกครองว่าผู้ปกครองคิดอย่างไรเกี่ยวกับปัญหาการจราจร ผู้ปกครองจอดรถอย่างไร มีความปลอดภัยแค่ไหน  ซึ่งผู้ปกครองก็บอกว่าอยู่มาตั้งนานไม่มีใครคิดแบบนี้ เรื่องความปลอดภัยตรงนี้ สุดท้ายผู้ปกครองก็เป็นพลังให้กับเรานำปัญหานี้ไปบอกผู้ปกครองท้องถิ่น ไปบอกเทศบาลเป็นกระบอกเสียงให้กับเรา
 

 นอกจากนี้นักเรียนเขาบอกต่ออีกว่า เราแก้ปัญหาอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องให้ความรู้กับนักเรียนคนอื่นด้วย แล้วเขาก็ทำหนังสือเชิญจราจรเข้ามาให้ความรู้ เกี่ยวกับการเดินทาง เรื่องสัญญาณไฟจราจร ป้ายสัญลักษณ์ต่าง ๆ ซึ่งไปเข้ากับทักษะชีวิตและสมรรถนะของผู้เรียนเต็มๆ  จุดมุ่งหมายของการศึกษาคือนักเรียนเรียนแล้วมีความสุข แต่ถ้าเก่งอย่างเดียวไม่เป็นคนดีจะมีความสุขได้อย่างไร เพราะมาตรฐานของ สพฐ. การจัดกระบวนการกลุ่มนั้นเกี่ยวข้องกับมาตรฐานอะไรบ้าง คุณลักษณะผู้เรียน 8 ประการ เช่น สมรรถนะผู้เรียน ทักษะชีวิต เราจะให้ความรู้แก่นักเรียน เพื่อให้เขาใช้ทักษะเป็นทักษะชีวิตในวันข้างหน้า ให้เขาได้เรียนรู้ว่าในอนาคตข้างหน้าเขาจะเดินทางอย่างไรจึงจะปลอดภัย ทางเท้าควรเดินอย่างไร ไปศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากไหน หรือแม้แต่การสื่อสารที่นักเรียนแต่ละคนไปสอบถามชาวบ้าน รู้ว่าการไปบ้านผู้ใหญ่จะทำความเคารพอย่างไร จะวางตัวอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่หากเราสอนเหมือนที่ผ่านก็ได้เพียงแค่สอดแทรกจากการจัดการเรียนรู้เท่านั้น แต่นี่นักเรียนได้ปฏิบัติจริง ได้การแก้ปัญหาจริงว่าใครจะเป็นคนถาม ใครจะเป็นคนจดบันทึก ใครจะเป็นคนถ่ายรูป ถึงแม้ว่าจะไม่ตรงทั้งหมด แต่มาตรฐานที่บอกว่าเน้นให้นักเรียนคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์อย่างมีเหตุผล และยังสอดคล้อง กับ พ.ร.บ.การศึกษาปี 2542 ที่เน้นให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ถ้าไม่ทำตรงนี้แล้วเราจะไปตอบผู้ปกครองได้อย่างไรว่า เราจัดการเรียนรู้ให้ลูกของเขาได้อย่างสมบูรณ์แล้ว แต่ถ้าเราทำตรงนี้ เรามีแผนการสอน เราสามารถบอกได้เลยว่า เราสอนตามแผนแบบนี้ จัดกระบวนการแบบนี้ เราสามารถตอบเขาได้เลยว่าเราได้จัดกระบวนการให้ลูกของเขาแล้ว ถึงแม้ว่าผลสัมฤทธิ์ของเด็กจะไม่เลิศเลอ แต่ความเป็นมนุษย์ที่มีการวางแผน เราจัดให้หมดแล้ว เป็นทักษะชีวิตที่เด็กสามารถนำไปใช้ได้ในอนาคต
 

ผลที่เกิดขึ้นจากการนำ “กระบวนการวิจัย” มาใช้ : หากประเมินใน 2 ลักษณะคือ เชิงปริมาณ ผมคิดว่าเราได้ 60 เปอร์เซ็นต์ เพราะศักยภาพของนักเรียนไม่เท่ากัน ถึงแม้ว่าเราจะจัดกิจกรรมให้แล้ว แต่ความสำเร็จไม่เท่ากัน แต่ในเชิงคุณภาพ ถ้าดูจากความพอใจของผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษา รวมทั้งผู้ใหญ่ที่มาเยี่ยมชม ทุกท่านมีความพึงพอใจ ส่วนใหญ่เวลามีการนำเสนอเขาจะนำเด็กในห้องที่เราผิดชอบไปนำเสนอเกี่ยวกับกระบวนการ ซึ่งตัวเราเองก็มีความพึงพอใจ นับว่าเป็นผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากการปฏิบัติที่เราให้เขาได้ลงมือทำ