เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง
วันที่ 11-12 กรกฎาคม 2555 ณ นกน้ำรีสอร์ท อ.เมือง จ.สตูล
ครูยุทธนามีประสบการณ์สอนมานานกว่า 20 ปี ที่ผ่านมา มีเครื่องมือการสอน 2 ชนิดคือตำราเรียนกับแบบฝึกหัด ยอมรับว่าการสอนโดยใช้ PBL ยาก เพราะเป็นเรื่องใหม่ แต่เมื่อได้ทดลองทำแล้วเห็นผลชัดเจน เช่น ครูได้รู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคลมากขึ้น และได้รู้ว่านักเรียนแต่ละคนมีความสามารถไม่เหมือนกัน เด็กทุกคนมีดีอยู่ในตนเอง แต่เรายังค้นสิ่งดีๆ ที่อยู่ในตัวเด็กไม่พบเท่านั้นเอง สำหรับจุดเปลี่ยนของนักเรียนคือสามารถทำกิจกรรมกลุ่มได้มากขึ้น
โรงเรียนบ้านบ่อหิน เป็นโรงเรียนขนาดกลาง เปิดสอนตั้งแต่อนุบาล - ประถมศึกษา มีนักเรียน 280 คน ครู 13 คน มีครูพี่เลี้ยงพิเศษ ซึ่งได้งบประมาณจาก สพฐ. 2 คน และงบจ้างจากโรงเรียน 2 คน นักเรียนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม จากประสบการณ์การสอนกว่า 20 ปีที่ผ่านมาเน้นให้นักเรียนฟังสิ่งที่ครูสอนให้เท่านั้น และต้องปฏิบัติตามที่ครูบอก หากนักเรียนพูดคุยกันเวลาเรียน ครูก็จะไม่พอใจ เช่น ตนเองเป็นครูสอนคณิตศาสตร์ก็จะอธิบายให้นักเรียนฟัง แล้วให้นักเรียนทำแบบฝึกหัด ครูมีเครื่องมือ 2 อย่างคือ ตำราเรียนกับแบบฝึกหัด การเสนอความคิดเห็นของผู้เรียนมีน้อย
การนำ “กระบวนการวิจัย” มาใช้ในการเรียนการสอน : เนื่องจากโรงเรียนมีแหล่งเรียนรู้อยู่มากเพราะโรงเรียนส่งเสริมด้านอาชีพหลายอย่าง เช่น ชีววิถี โครงการอาหารเด็กยั่งยืน ที่เคยนำเสนอระดับประเทศมาแล้ว ในช่วงแรกที่โรงเรียนเข้าร่วมกับ สกว.สำหรับการเรียนการสอนแบบ PBL รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ยาก เพราะเป็นสิ่งใหม่ โชคดีว่าพี่เลี้ยง สกว.จะเข้ามาช่วยเวลาเราจัดกิจกรรม โรงเรียนจัดให้มีวิชาวิจัยในช่วงบ่ายของวันพฤหัสบดีและวันศุกร์สัปดาห์ละ 5 ชั่วโมง จัดให้มีการทำวิจัยทุกชั้นเรียน แต่เนื่องจากโรงเรียนมีบุคลากรมาก ผอ. จึงจัดให้มีครูวิจัยอยู่ประจำห้องละ 2 คน เพื่อสะดวกในการจัดกิจกรรม คือคนหนึ่งจัดกิจกรรม อีกคนหนึ่งเป็นคนบันทึก โดยแต่ละสัปดาห์ก็จะสับเปลี่ยนหน้าที่กันไป
สำหรับงานวิจัยปีที่ผ่านมา นักเรียนอนุบาล 1.ทำเรื่องกล้วย อนุบาล 2 – 3 เรื่องปลาหางนกยูงนักเรียน ป.1เรื่องกล้วย ป.2 เรื่องดอกมะลิ ป.3 เรื่องสรรพคุณทางยาของดอกอัญชัน ป.4 เรื่องการลดกลิ่นและลดน้ำเสียจากการเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ ป.5 เรื่องการนำถุงนมไปใช้ประโยชน์ ส่วนชั้น ป.6 ไม่ได้เข้าร่วม เพราะเน้นทางด้านวิชาการเนื่องจากต้องสอบเข้าเรียนต่อชั้น ม.1
การนำไปใช้ในกระบวนการจัดการเรียนการสอนโดย ป.1 - 3 เน้นสิ่งที่อยู่ในโรงเรียน ส่วน ป. 4 - 5 เน้นสิ่งที่อยู่นอกโรงเรียนในหัวข้อหลัก 4 ประเด็นคือ ภูมิปัญญา ตำนาน ประเพณี และศาสนา โดยให้นักเรียนเป็นผู้ตัดสินใจโดยใช้กระบวนการกลุ่ม เลือกเรื่องที่มีประโยชน์ต่อชุมชนและตัวเองมากที่สุด เช่น ตนเองสอนชั้น ป.4 พอดีช่วงนั้นกระทรวงมหาดไทยแจกท่อซีเมนต์ให้กับเกษตรกรในหมู่บ้าน ทุกครัวเรือนจะได้รับบ่อปูนซีเมนต์ 1 ลูก พร้อมพันธุ์ปลาและอาหาร ซึ่งเป็นช่วงที่เรากำลังเริ่มทำวิจัยพอดี แต่กว่าจะสรุปเป็นเรื่องนี้ได้ เราต้องออกสำรวจรอบชุมชน แล้วดูความสนใจของนักเรียนว่าสนใจเรื่องอะไร นักเรียนสนใจเรื่องงานอาชีพ มีหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถานีตำรวจ องค์การบริหารส่วนตำบล ศูนย์เด็กเล็กนักเรียน เราก็ให้เด็กได้ออกสำรวจ พอกลับมาก็มีการนำเสนอ 20 เรื่อง คัดให้เหลือ 3 เรื่อง คือเรื่องการเลี้ยงปลาดุก ตำรวจ และอาชีพครู หลังจากนั้นเลือกเพียงหนึ่งเรื่อง โดยใช้เหตุผลต่างๆ มาตัดสิน สรุปนักเรียนก็ได้เรื่องการเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ ที่เลือกเรื่องนี้เพราะเด็กเห็นว่า เมื่อชาวบ้านได้รับบ่อซีเมนต์มา เลี้ยงได้ไม่นานบ่อซีเมนต์จะเริ่มส่งกลิ่นเหม็น ตอนที่เราไปสำรวจพบว่าบ้านหนึ่งเขาเลี้ยงอยู่ก่อนแล้วแต่ทำไมบ้านเขาไม่มีกลิ่น นักเรียนเกิดสนใจเข้าไปพูดคุย สอบถามว่า วิธีการเขาทำอย่างไรบ่อปลาจึงไม่มีกลิ่น นักเรียนจึงเลือกเรื่องดังกล่าวเป็นโครงงานวิจัย เมื่อเลือกเรื่องได้แล้วก็ออกไปหาข้อมูลอีกรอบเพื่อศึกษาภูมิปัญญาจากพื้นที่จริง แล้วหลังจากนั้นกลับมาเลี้ยงปลาที่โรงเรียน เพราะโรงเรียนมีอุปกรณ์อยู่แล้ว แต่ปัญหาคือในช่วงนั้นต้องใช้เวลาถึงหนึ่งปีกว่าได้เรื่องก็เกือบไปภาคเรียนที่ 2 แล้ว ก็ยังไม่สิ้นสุดกระบวนการที่สมบูรณ์ เพราะว่าการวิจัยต้องใช้เวลา
ผลที่ได้จากการศึกษาวิจัยเรื่องการบำบัดน้ำเสีย ตอนที่ออกไปสำรวจภูมิปัญญา ก็นำความรู้จากภูมิปัญญามาทดลองที่เลี้ยงในบ่อของโรงเรียน ที่ชาวบ้านเขาเลี้ยงเขาจะใส่ดินเหนียว ใบมะขาม และต้นกล้วยลงไปในบ่อปลา เด็กๆ จึงทำการทดลอง แล้วนำมาเปรียบเทียบอีกบ่อหนึ่งที่เลี้ยงโดยไม่ต้องใส่อะไรเป็นพื้นลอง แต่ข้อมูลศึกษาตรงนั้นยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เพราะว่าการเลี้ยงปลาดุกจริงๆ แล้วต้องใช้เวลา ซึ่งก่อนที่เราจะออกสำรวจพื้นที่เราต้องมีการสร้างข้อตกลง วาดแผนภูมิออกจากจุดนี้ไปจุดนั้น กำหนดเส้นทางและคำถามพร้อม และมีการขออนุญาตผู้บริหาร ผู้ปกครอง แล้วก็ประสานกับครูภูมิปัญญา เป็นการเขียนจดหมาย ตอนไปองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งอยู่ใกล้กับโรงเรียนก็ให้ตัวแทนนักเรียนไปประสานเอง ทำหนังสือเอง แล้วก็ประสานกับครูด้วย
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น : ครูได้รู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคลมากขึ้น เพราะบางทีเรารู้จักกันแต่ไม่สนิท นักเรียนแต่ละคนมีความสามารถไม่เหมือนกัน ได้ข้อคิดมาหนึ่งอย่างว่า เด็กทุกคนมีดีอยู่ในตนเอง แต่เรายังค้นสิ่งดีๆ ที่อยู่ในตัวเด็กไม่พบเท่านั้นเอง สำหรับจุดเปลี่ยนของนักเรียนคือสามารถทำกิจกรรมกลุ่มได้ดีขึ้น โดยเฉพาะบางคนเมื่อให้ทำงานกลุ่ม มักจะไม่เป็นที่ต้องการของเพื่อน แต่พอเราใช้กระบวนการตรงนี้ ฝึกให้เขาใช้ความรับผิดชอบ สิ่งไหนที่เขาช่วยกลุ่มได้ ก็จะเน้นให้เขาพยายามช่วย นอกจากนี้หลังจัดกิจกรรมเสร็จทุกวันศุกร์จะมีการถอดบทเรียนเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน บางครั้งกว่าจะเสร็จก็เกือบ 2 ทุ่ม สรุปปัญหาอุปสรรคได้ว่าทุกๆ ชั้นมีปัญหาอะไรบ้าง และเราสามารถช่วยเหลือกันได้อย่างไรบ้าง