เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง

เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง

วันที่ 11-12 กรกฎาคม 2555 ณ นกน้ำรีสอร์ท อ.เมือง จ.สตูล

ครูวิไลวรรณ สอนมานานกว่า 33 ปี  เป็นครูที่ดุมาก เพราะยากให้นักเรียนทำได้ในแบบที่ครูต้องการหรือคาดหวังไว้ หากนักเรียนไม่ฟังครูจะใช้สายตามอง นักเรียนจึงกลัว ก่อนที่จะนำ PBL มาใช้รู้สึกกังวลว่า เด็กอนุบาลกับ ป.1 จะทำวิจัยได้หรือไม่ เพราะครูก็ยังไม่เข้าใจหลักการ จึงมีการประชุม อบรม ศึกษาหาข้อมูลทั้งจากคู่มือ และจากเจ้าหน้าที่ สกว.  ค่อยๆ ทำไป จนในที่สุดทำได้ไประดับหนึ่งพบว่า  เด็กมีน้ำใจมากขึ้น กล้าแสดงออก  มีความคิดสร้างสรรค์และยอมรับผู้อื่น ส่งผลไปถึงวิชาอื่นๆ ด้วย เด็กจะช่วยเหลือกัน เวลาจับกลุ่มแต่ก่อนเด็กเก่งจะอยู่กับเด็กเก่ง แต่เดี่ยวนี้จะคละกันไป โดยเด็กเก่งก็จะมาช่วยเด็กที่เรียนอ่อนกว่า ครูก็มีวิธีการสอนที่หลากหลายขึ้น
 

โรงเรียนบ้านโคกประดู่ เป็นโรงเรียนขนาดกลางเปิดสอนระดับอนุบาล – ประถมศึกษา มีนักเรียน 156 คน ครู 10 คน แต่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ 3 คน  ลักษณะโรงเรียนเป็นชนบทกึ่งเมือง  อยู่ติดถนนใหญ่และห้างสรรพสินค้า แต่เป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมบ่อย  จึงแก้ปัญหาด้วยการทำชั้นปูนซีเมนต์แล้วนำสิ่งของตั้งบนที่สูง บ้านนักเรียนส่วนมากอยู่ติดลำคลอง คนในชุมชนให้ความร่วมมือร่วมใจกันดี  
 

การนำ “กระบวนการวิจัย” มาใช้ในการเรียนการสอน : เรารับราชการครูมานาน 33 ปี ในสายตาเด็กมักจะมองว่าครู “ดุ”  ที่ครูดุเพราะครูตั้งความหวังไว้กับนักเรียนมาก อยากให้นักเรียนทำได้ในแบบที่ครูต้องการ ในแบบที่ครูคาดหวังไว้ เด็กจึงต้องฟังครู ต้องปฏิบัติตามครู หากนักเรียนไม่ฟังครูจะใช้สายตามอง เมื่อนักเรียนเห็นก็จะกลัวครู นี่คือประสบการณ์แบบเดิมที่สอนนักเรียน ซึ่งก็มีนักเรียนบางส่วนยังชอบวิธีการสอนแบบเดิม เพราะเด็กนักเรียนส่วนใหญ่ยังไม่กล้าแสดงออก ส่วนเด็กที่กล้าแสดงออกครูก็ไม่ได้เปิดโอกาสให้นักเรียนแสดงความสามารถ


ตอนแรกที่ผู้บริหารนำการเรียนการสอนแบบ PBL เข้ามา เรายอมรับว่ามีความกังวลอยู่ว่า เด็กอนุบาลกับ ป.1 จะทำวิจัยได้หรือ ในเมื่อครูยังไม่เข้าใจหลักการ จึงมีการประชุม อบรม ศึกษาหาข้อมูลกระบวนการวิจัย 10 ขั้นตอนทั้งจากคู่มือ และจากเจ้าหน้าที่ สกว.  ค่อยๆ ทำไป จนในที่สุดทำได้ไประดับหนึ่ง พอเริ่มมีงานวิจัยเข้ามาเราก็เริ่มฝึกเด็ก โรงเรียนได้ซื้อเครื่องขยายเสียงให้แต่ละชั้นเรียน อันดับแรกคือฝึกให้นักเรียนใช้ไมโครโฟน เพื่อให้เด็กกล้ามากขึ้น เพื่อนพูดได้เราก็ต้องพูดได้ เมื่อถึงเวลาเรียนเด็กจะจัดเตรียมไมโครโฟนด้วยตนเอง


โรงเรียนให้เด็กทุกชั้นทำวิจัย ชั้นอนุบาล ทำเรื่องขนมโคจากดอกอัญชัน  ป.1 เรื่องการขับขี่รถจักยานให้ปลอดภัย ให้รู้จักกฎจราจร โดยเชิญตำรวจจราจรมาให้ความรู้ ป.2 เรื่องขนมไข่เต่า ป.4 เรื่องโรคเอดส์ ซึ่งเป็นเรื่องไกลตัว แต่มีที่มาที่ไปว่าทำไมเด็กนักเรียนเลือกเรื่องนี้  ป.5 เรื่องการละหมาด บังเอิญครูย้ายจึงไม่ได้ทำต่อ จึงขาดความต่อเนื่อง ป.6 เรื่องการทำพวงกุญแจด้วยเชือกสี
 

สำหรับเด็ก ป. 4 ที่เลือกทำวิจัยเรื่องโรคเอดส์ เพราะจากการที่เด็กนำเสนอหลายๆ เรื่อง เรื่องโรคเอดส์มีคนเดียว แต่ทำไมคนเดียวสามารถโน้มนาวให้เพื่อนอีก 24 คน ให้สนใจได้ (นักเรียนทั้งห้อง 25 คน) มาวิจัยเรื่องนี้  ทั้งนี้เพราะพ่อเขาเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ แม่ก็ติดโรคเอดส์มาจากพ่อ แต่ตัวเขาเองไม่ได้เป็น เพราะก่อนที่แม่จะติดเชื้อแม่คลอดเขาออกมาแล้ว แต่ว่าแม่เขาเป็นคนที่ยอมรับได้ แล้วตอนนั้นแม่เขาก็ตั้งท้องอยู่ แม่เขาเป็นประธานผู้ติดเชื้อจังหวัดสตูล มีอาชีพให้ความรู้เรื่องเอดส์ แล้วลูกชายของเขาที่อยากนำเสนอเรื่องนี้ เพราะว่าวันๆ คลุกอยู่กับผู้ติดเชื้อเอดส์ เพื่อนก็รังเกียจเมื่อพูดถึงโรคเอดส์ เขาบอกว่าคนที่ติดเชื้อไม่เห็นน่ารังเกียดตรงไหน เห็นแม่เป็นโรคเอดส์เพื่อนบ้านไม่เห็นรังเกียดตรงไหน กลับเป็นที่ยอมรับเสียอีก เพราะแม่เขาเป็นที่ปรึกษาให้กับคนอื่นได้
 

ช่วงปิดเทอมเวลาที่แม่เขาไปเป็นวิทยากร เขามักตามไปด้วย เห็นวิธีการนำเสนอของแม่ เมื่อมานำเสนอในชั้นเรียนว่า เมื่อแม่ติดเชื้อเอดส์ เขาได้ช่วยอะไรแม่เธอบ้าง เขามีหน้าที่เตือนให้แม่ทานยาทุกวัน เพราะว่าโรคเอดส์จะขาดยาไม่ได้ โรงเรียนจึงเชิญแม่เขามาให้ความรู้ ซึ่งช่วงแรกๆ เด็กไม่ยอมรับ พออธิบายไปและให้ดูสื่อ พร้อมตัวอย่างจากตัวเขาเองที่ร่างกายก็ยังสมบูรณ์ ไม่ได้ผอมอย่างที่เห็นคนเป็นโรคเอดส์ทั่วไป นักเรียนถามว่าทำไมเขาเป็นแบบนี้ได้ เขาก็บอกว่ามันอยู่ที่ใจด้วย ต้องเป็นคนที่มีจิตใจแน่วแน่ที่จะปรับตัวให้เข้ากับสังคม แล้วคนทั่วไปจะต้องไม่แสดงอาการรังเกียจเขา เพราะว่าโรคเอดส์ไม่ได้ติดต่อกันง่ายๆ ติดต่อกันได้เพียง 3 ทางเท่านั้น พอเด็กเริ่มหาข้อมูลความรู้จากอินเทอร์เน็ต จากโรงพยาบาลก็เริ่มกระจ่างในความคิด ไม่แสดงอาการรังเกียจ อยู่ร่วมกับเพื่อนได้
 

ผลที่เกิดขึ้น : มีนักเรียนคนหนึ่งเขาชอบแสดงออก แต่เพื่อนไม่ยอมรับ เหมือนว่านักเรียนคนนี้มีปัญหา แต่พอเข้ากระบวนการวิจัย ก็สอนว่าเราต้องรับฟังคนอื่น เราต้องมีน้ำใจ ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในขณะเดียวกันอันดับแรกเมื่อมีการแบ่งกลุ่ม เราต้องสร้างข้อตกลงเพื่อให้นักเรียนปฏิบัติตามข้อตกลง เด็กจะต้องมีความรับผิดชอบ ช่วยเหลือกัน เวลาออกนอกพื้นที่เด็กจะต้องมีสัมมาคารวะเวลาพูดกับผู้ใหญ่ เวลาไปทำอะไรเด็กก็จะเขียนหนังสือขอผู้บริหารเองเมื่อต้องออกนอกสถานที่ เมื่อกลับมานักเรียนก็จะเขียนหนังสือขอบคุณเอง ครูเป็นแค่ผู้คอยแนะนำ เป็นที่ปรึกษา เด็กกล้าซักถามมากขึ้น
 

ล่าสุดพาเด็กไปศึกษางานที่อนามัย เด็กถามมากจนที่เจ้าหน้าที่อนามัยตอบไม่ได้ เขาเป็นเจ้าหน้าที่อนามัยก็จริง แต่ถ้าเป็นเรื่องโรคเอดส์ เขายังไม่รู้เท่าเด็กพวกนี้ ถามว่าทำไมเด็กรู้ เพราะเด็กได้วิทยากรที่เป็นตัวจริงมาให้ความรู้ พฤติกรรมของเด็กที่เปลี่ยนคือกล้าซักถาม กล้าพูดคุย กล้าแสดงออก มีเด็กอีกคนหนึ่งที่ชอบช่วยเหลือครูชื่อณัฐริกา ครูก็ถามเด็กว่าไม่เหนื่อยหรือที่ต้องมาช่วยครู เด็กก็บอกว่าไม่เคยเหนื่อยที่จะช่วยเหลือครู ทั้งที่แต่ก่อนเวลาที่ครูเดินผ่านมา เด็กก็จะเฉยๆ แต่ปัจจุบันนี้พอครูลงจากรถนักเรียนก็มาถามแล้วว่ามีอะไรให้ช่วยไหม เด็กมีน้ำใจมากขึ้น มีความกล้าแสดงออก  เมื่อมีแขกมาเยี่ยมชมโรงเรียน นักเรียนสามารถเป็นคนต้อนรับได้อย่างดี มีความคิดสร้างสรรค์และยอมรับผู้อื่น ส่งผลไปถึงวิชาอื่นๆ ด้วยเด็กจะช่วยเหลือกัน เวลาจับกลุ่มแต่ก่อนเด็กเก่งจะอยู่กับเด็กเก่ง แต่เดี่ยวนี้จะคละกันไป โดยเด็กเก่งก็จะมาช่วยเด็กที่เรียนอ่อนกว่า อันนี้คือได้แบ่งเบาภาระของครูไปด้วย ครูก็มีวิธีการสอนที่หลากหลายขึ้น อย่างที่บอกคือยังไงเด็กจะต้องได้อย่างที่ครูคาดหวังเอาไว้ เด็กมีความคิดอิสระ ครูเป็นแค่ที่ปรึกษา เราเปิดโอกาสให้เด็กกล้ามาหาครูมากขึ้น ผู้บริหารก็ชอบ เพราะครูเห็นความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี
 

นอกจากนี้งานวิจัยที่เด็กทำยังประกอบไปด้วย เอกสารรูปเล่ม บอร์ดจัดแสดงผลงาน ทั้งเนื้อหาและรูปภาพประกอบ และเชิญวิทยากรที่ให้ความรู้แต่ละเรื่องมาด้วย คือเราไม่ต้องอธิบายอะไรเลย แต่เขาดูจากหลักฐานเอกสารได้


โรงเรียนบ้านโคกประดู่มีโอกาสได้เปิดเวทีนำเสนอโครงงานวิจัยให้กับ ปตท. ในโครงการ 84 ตำบลบนวิถีพอเพียง  ซึ่งโรงเรียนบ้านโคกประดู่ได้เป็นตัวแทนนำเสนอมีนักเรียนชั้น ป.4 เรื่องโรคเอดส์ และระดับของอนุบาลเรื่องขนมโคจากดอกอัญชัน  การทำงานวิจัยครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านเป็นอย่างดี ที่ผ่านมา สมศ. (สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา) เข้ามาเยี่ยม เราก็นำเสนอโครงงานวิจัยเหล่านี้ให้กับสมศ. ได้บันทึกและเปิดวีดิทัศน์ให้ชม ก็เป็นที่น่าพอใจ เขาเห็นว่ากระบวนการวิจัยสามารถนำไปสู่การเรียนการสอนที่ทำให้เด็กเปลี่ยนและพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น หัวข้อนี้ช่วยได้หลายตัวบ่งชี้ ทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น คุณภาพการเรียนการสอนก็ดีขึ้น ช่วงนี้ยังเป็นช่วงของการซ้อมกีฬา จึงต้องหยุดพักไว้สักระยะหนึ่งก่อน


ถามว่าเด็กชอบหรือไม่ ตอบได้ว่าเด็กชอบ เพราะเด็กได้เรียนรู้นอกสถานที่ เช่น ตอนทำเรื่องโรคเอดส์เราก็พาเด็กไปสถานีอนามัยในหมู่บ้าน ไปบ้านผู้ติดเชื้อเอดส์ ไปร้านอินเทอร์เน็ต เด็กก็ชอบมาก จากเมื่อก่อนที่เคยเรียนแต่ในห้องเรียน พอถึงวิชาวิจัย เด็กก็เริ่มสนุกกับการเตรียมจักรยาน ขี่จักรยานไป ฝึกความเป็นระเบียบวินัย ต้องขี่เป็นแถวให้เรียบร้อย ต้องมีสัมมาคารวะกับผู้ใหญ่ที่ให้ความรู้ เมื่อจะกลับต้องกล่าวคำขอบคุณ ถือว่าไม่เป็นการสอนโดยตรง แต่เด็กจะซึมซับไปเอง และสามารถนำไปใช้วิชาอื่นๆ ได้ด้วย งานในวันนั้นเด็กก็จะอยู่ตามซุ้มของตนเอง เรื่องทำขนมก็ทำขนมโชว์ เรื่องโรคเอดส์ก็อธิบายเรื่องดังกล่าว และเรื่องการขับขี่จักยานปลอดภัยก็มีการสาธิตการขี่จักรยาน เท่ากับว่าเด็กได้เรียนรู้เรื่องเหล่านี้ด้วยตนเอง ไม่เหมือนการเรียนแบบเดิมที่สอนอยู่หน้าห้องปาวๆ แต่เด็กไม่ได้อะไร โดยเฉพาะเรื่องการขี่จักรยานยนต์ดีมากๆ เพราะว่าโรงเรียนอยู่ติดถนนใหญ่เป็นประโยชน์มาก โดยเฉพาะผู้ปกครองของนักเรียนมักขี่รถจักรยานยนต์ย้อนศรบ่อยๆ  ทำให้เด็กนักเรียนต้องกลับไปบอกผู้ปกครองว่าการทำแบบนี้ไม่ได้ไม่ปลอดภัย ผิดกฎจราจร เพราะการเรียนแบบ PBLเน้นการปฏิบัตินำและนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วย