เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง
วันที่ 11-12 กรกฎาคม 2555 ณ นกน้ำรีสอร์ท อ.เมือง จ.สตูล
ครูสุนิดา เป็นครูมานานกว่า 30 ปี ช่วงแรกที่มีการนำ PBL มาใช้ในโรงเรียนก็ต่อต้าน เพราะเห็นว่าโรงเรียนเป็นโรงเรียนเด็กเล็ก เกรงว่าเด็กจะรับไม่ได้ ตัวครูก็ยังไม่มีความรู้พอ และยังสับสนอยู่ จึงทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ปฏิบัติไปตามขั้นตอน ก็เริ่มไปเรื่อยๆ เมื่อเริ่มทำทั้งครูและเด็กก็เริ่มชอบมากขึ้น เพราะนักเรียนแบ่งเบาภาระครูได้มาก แต่ผลยังไม่ชัดเจนเท่าไหร่เพราะว่ายังเป็นปีแรกอยู่ แต่วิธีการสอนเริ่มเปลี่ยนไป เน้นให้เด็กรู้หน้าที่ รู้บทบาทของตนเอง เปิดโอกาสให้นักเรียนแสดงความคิดเห็น ยอมรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน ส่วนเด็กก็กล้าแสดงออก เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเองมากขึ้น มีเหตุมีผล กล้าซักถาม รู้จักคิดวางแผนเป็นระบบ ที่เห็นชัดเจนเป็นช่วงภาคเรียนที่ 2 ที่โรงเรียนจัดวิชาวิจัยไว้ในวันจันทร์กับวันอังคารตอนบ่าย หากวันไหนครูติดธุระไม่สามารถเปิดห้องเรียนวิจัยได้ เด็กก็จะถามครูแล้ววันนี้เราเรียนวิจัยไหม เด็กมีความกระตือรือร้นขึ้นมาก
โรงเรียนบ่อเจ็ดลูก เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก สอนระดับอนุบาล – ประถมศึกษา นักเรียน 100 เปอร์เซ็นต์นับถือศาสนาอิสลาม มีนักเรียน 83 คน ครู 5 คน (ครูไม่ครบชั้น ) ครูสอนควบ 2 ชั้นเรียนทั้งระดับอนุบาลและประถม นักเรียนย้ายโรงเรียนบ่อยครั้ง ตามผู้ปกครองที่มีอาชีพประมง เป็นชุมชนติดทะเล คนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง หากเป็นฤดูมรสุมจึงมีการปลูกผัก รอบชุมชนเป็นป่าโกงกางและป่าชายเลน ขณะนี้มีรีสอร์ทเป็นของชุมชน ที่จัดตั้งขึ้นจากงานวิจัยท้องถิ่นของ สกว.
จากประสบการณ์การเป็นครูกว่า 30 ปี บรรจุเป็นครูตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 การเรียนการสอนจึงเป็นแบบเดิมค่อนข้างรักษาระเบียบ เช่น นักเรียนไม่ทำการบ้านส่งครูจะมีการลงโทษด้วยวิธี “ตี” เพื่อที่จะให้นักเรียนฝึกระเบียบวินัย ความรับผิดชอบ และยังทำการเรียนการสอนอยู่เพียงในห้องเรียนเท่านั้น ยกเว้นวิชาพละศึกษา
การนำ “กระบวนการวิจัย” มาใช้ในการเรียนการสอน : ช่วงแรกของการทำวิจัย เมื่อรับหลักการ PBL ก็เครียด เพราะต้องเริ่มทำกับเด็กนักเรียนชั้น ป.1 เกรงว่าเด็กเล็กเกินไป จะทำไม่ได้ เราเองก็ยังสับสน จึงทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ปฏิบัติไปตามขั้นตอน ก็เริ่มไปเรื่อยๆ ไม่ชัวร์เท่าไหร่ แต่ก็ทำ เมื่อเริ่มทำทั้งครูและเด็กก็เริ่มชอบมากขึ้น เพราะนักเรียนแบ่งเบาภาระครูได้มาก แต่ยังไม่ชัดเจนเท่าไหร่เพราะว่ายังเป็นปีแรกอยู่ ส่วนวิธีการสอนคือเน้นให้เด็กรู้หน้าที่ รู้บทบาทของตนเอง ก่อนอื่นต้องมีการสร้างข้อตกลงทุกครั้ง การสอนก็จะเปิดโอกาสให้นักเรียนแสดงความคิดเห็น ยอมรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน
เรื่องที่ทำวิจัยทั้งโรงเรียนคือ ระดับอนุบาลศึกษาเรื่องไข่เป็ด ช่วงแรกเป็นเรื่องเป็ดก่อน ต่อมาก็ศึกษาเจาะลึกเพิ่มมากขึ้น หาข้อมูลว่าไข่เป็ดนำมาใช้อย่างไร ชั้น ป.1 ศึกษาคุณลักษณะและประโยชน์ของน้ำมะพร้าว ส่วนชั้น ป.2 – ป.3 เรื่องเลี้ยงวัว ป.4 เรื่องการพัฒนาสูตรการทำขนมจากสมุนไพร ป.5 – ป.6 เรื่องการดูและรักษาโบราณสถานในบ่อเจ็ดลูก
ตัวอย่างเช่น ป.1 ให้นักเรียนสำรวจสิ่งใกล้ตัวรอบโรงเรียน แล้วให้นักเรียนออกมานำเสนอว่าได้พบเห็นอะไรบ้าง เด็กก็นำเสนอมาได้ 14 เรื่อง ก็มาระดมความคิดกันว่าเรื่องไหนมีประโยชน์ แล้วเรื่องไหนทำได้ ทำไม่ได้ หาข้อมูลได้หรือไหม เด็กก็สรุปว่าในโรงเรียนมีต้นไม้จำนวนมาก เมื่อไปอยู่ใต้ต้นไม้จะรู้สึกร่มรื่นสบาย และไปศึกษากับแหล่งข้อมูลว่าต้นไม้ในชุมชนมีกี่ชนิด แล้วมาหาข้อมูลต่ออีกว่าต้นไม้อะไรที่น่าสนใจ นักเรียนจึงเสนอว่าเป็นต้นมะพร้าวเพราะพบเจอมากที่สุดในบ้านบ่อเจ็ดลูก เพราะทุกบ้านมีต้นมะพร้าว แล้วจากการสังเกตว่ามีรถมารับซื้อมะพร้าว แสดงว่ามะพร้าวมีประโยชน์มาก จึงเลือกมะพร้าวเป็นโครงงานวิจัย แล้วให้เด็กนำเสนอว่ามะพร้าวมีส่วนประกอบอะไรบ้าง เด็กก็นำเสนอว่ามีราก มีต้น มีผล ฯ นักเรียนสนใจผลเพราะว่าเห็นรถขนผลมะพร้าวบ่อยครั้ง แต่เมื่อศึกษาเจาะลึกไปจนถึงว่าในผลมะพร้าวนั้นมีน้ำอยู่ นักเรียนอยากศึกษาเรื่องน้ำมะพร้าวว่ามีประโยชน์อย่างไร เลยเลือกเรื่องน้ำมะพร้าวและคุณลักษณะของน้ำมะพร้าว หลังจากนั้นนักเรียนก็เริ่มวางแผนเองว่าจะไปหาข้อมูลเรื่องน้ำมะพร้าวจากใคร ช่วงแรกก็ไปสอบถามข้อมูลจากผู้ปกครอง บางข้อที่นักเรียนถามผู้ปกครองยังไม่รู้ ผู้ปกครองก็ต้องช่วยลูกสืบค้นครูภูมิปัญหาที่จะให้ความรู้เรื่องนั้นได้ แล้วก็พาลูกไปสอบถาม
เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วก็มาทดลองทำ “น้ำส้มจากน้ำมะพร้าว” เพราะว่าไม่ยากเกินไป หลังจากนั้นจึงเริ่มทดลองนำน้ำส้มที่ได้จากน้ำมะพร้าวมาปรุงอาหาร เนื่องจากช่วงนั้นมะนาวมันแพง วิธีนี้นับเป็นการดัดแปลง คล้ายๆ น้ำส้มตะโนด ครูเองก็ได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเด็ก น้ำส้มจากน้ำมะพร้าวออกรสส้มเปรี้ยวแต่ไม่คล้ายกับมะนาวเสียทีเดียว แต่ก็พอใช้แทนกันได้ ในโครงงานยังให้เด็กเป็นคนทดลองว่าจะใช้น้ำมะพร้าวแก่หรือมะพร้าวอ่อน มาเปรียบเทียบเรื่องคุณลักษณะ แล้ววางไว้ 3 วันให้เปรี้ยว ปรากฏว่าเป็นมะพร้าวแก่ให้ผลดีกว่าคือเปรี้ยวเร็วกว่าและรสชาติจัดกว่า หลังจากนั้นนำน้ำมะพร้าวที่ได้มากรอง แล้วเคี่ยว ตั้งพักไว้แล้วใส่ขวด สำหรับนักเรียน ป.1 ทำไม่ยาก นักเรียนก็จะได้เรียนรู้ประโยชน์เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงที่นำของที่ในชุมชนที่มีอยู่แล้วมาใช้ประโยชน์
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น : เรายอมรับความคิดเห็นของนักเรียนมากขึ้น และนักเรียนก็มีบทบาทมากขึ้น จากเด็กพูดน้อยขณะที่ขึ้นมาจากชั้นอนุบาล แต่พอให้จับกลุ่มกันเรียนกับเพื่อนทำให้เขากล้าพูดมากขึ้น ช่วงแรกๆ ครูต้องถามนำก่อน พอนานๆ ไปเขาก็กล้าออกมานำเสนอหน้าชั้น ครูก็ภูมิใจที่เด็กกล้าแสดงออก เด็กเข้าใจบทบาทของตนเองมากขึ้น เวลาจับกลุ่มกันทำงาน เด็กจะรู้จักหน้าที่ของตนเอง มีเหตุมีผล กล้าซักถาม คือตั้งข้อสงสัยแล้วมาถามครู รู้จักคิดวางแผนเป็นระบบ ที่เห็นชัดเจนเป็นช่วงภาคเรียนที่ 2 ที่โรงเรียนจัดวิชาวิจัยไว้ในวันจันทร์กับวันอังคารตอนบ่าย หากวันไหนครูติดธุระไม่สามารถเปิดห้องเรียนวิจัยได้ เด็กก็จะถามครูแล้ววันนี้เราเรียนวิจัยไหม มองดูเด็กมีความกระตือรือร้นขึ้นมาก
ปัญหาและอุปสรรคคือ : ครูมีภาระงานมาก บางครั้งติดงานไม่สามารถสอนได้ ก็อาจต้องเลื่อนออกไป ทำให้การสอนไม่ต่อเนื่อง ไม่เป็นไปตามกระบวนการที่กำหนดไว้ อาจจะล่าช้าไป นักเรียน ป.1 จะเน้นเรื่องการพูด การฟัง การอ่าน แต่การเขียนยังไม่คล่อง ครูต้องเป็นผู้บันทึกให้