เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง

เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง

วันที่ 11-12 กรกฎาคม 2555 ณ นกน้ำรีสอร์ท อ.เมือง จ.สตูล


ตลอด 30 กว่าปีที่สอนหนังสือมา ครูระเบียบมีวิธีการสอนที่สอดคล้องกับชื่อ “ระเบียบ” ทุกอย่างต้องถูกต้องตามแบบแผน ครูมีบทบาทเป็นนางเอก พระเอก เป็นผู้สั่งการ ครูเก่งที่สุด หากเด็กไม่ทำตามจะลงโทษด้วยการ “ตี” เด็กทุกคนเมื่อเข้าห้องเรียนจึงนั่งเงียบ เรียบร้อย ฟังครู กลัวครู เมื่อมองย้อนกลับไปครูก็รู้สึกเสียใจกับการกระทำที่ผ่านมา แต่เมื่อนำ PBL มาใช้พบว่า “กระบวนการวิจัย” สามารถสร้างคนและสร้างชาติได้จริงๆ ถ้าทำอย่างต่อเนื่อง  ถือเป็นจุดเปลี่ยนของการศึกษา ให้เด็กได้คิดและปฏิบัติจริง ได้เรียนรู้จากอุปสรรคและความล้มเหลว เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เด็กหรือครูไปเจออุปสรรคนั่นคือโอกาสที่ยิ่งใหญ่ในการที่เราจะแก้ปัญหา ปัจจุบันครูระเบียบเปลี่ยนการลงโทษเด็กจากการ “ตี” เป็นการ “กอด” แทน  จากที่เคยตีสิบที ก็เปลี่ยนเป็นกอดสิบที เด็กก็จะรู้สึกอายที่ต้องให้ครูกอด เด็กบอกว่าผมแปรงฟันไม่สะอาด ไม่อยากให้ครูกอด นักเรียนเปลี่ยนแปลงไปมาก อยากบอกว่าดีใจมากที่ได้มารู้จัก สกว.


โรงเรียนไทรงามเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียน 96 คน ครู 7 คน ผู้ปกครองส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม อาทิ ตัดยาง ทำนา งบประมาณในการบริหารคือค่าหัวนักเรียนจากรัฐบาล มีส่วนจาก อบต. อุดหนุนจำนวนหนึ่ง ส่วนหนึ่งมีคณะครูที่แปรสินทรัพย์ให้กลายเป็นค่าใช้จ่ายภายในโรงเรียน


การนำ “กระบวนการวิจัย” มาใช้ในการเรียนการสอน : ตนได้รับการบรรจุเป็นครูตั้งแต่ปี 2521 สอนหนังสือมาเป็นเวลา 30 กว่าปี การสอนแบบเดิมของตนคือสอนให้สอดคล้องกับชื่อตนเอง “ระเบียบ” แยกออกเป็นประเด็น บุคลิกภาพ อาทิ โต๊ะเรียนก็ต้องจัดวางอย่างเป็นระเบียบตามแถว ห้ามเอียงข้างใดข้างหนึ่งโดยเด็ดขาด และคล้ายกับโรงเรียนอื่นคือ ครูมีบทบาทเป็นนางเอก พระเอก เป็นผู้สั่งการ ตัวครูต้องเก่งมาก ต้องเก่งกว่าเด็ก ความรู้สึกในช่วงเวลานั้น เวลาทำการสอนมักจะยืนอยู่หน้าห้อง จะสอนทุกอย่างตามตำราทั้งหมด บางครั้งอาจมีการร้องเพลงบ้างเพราะครูชอบความสนุกสนาน การบ้านมักให้ทำตามแบบฝึกหัด ด้านการประเมินผลแบ่งออกเป็นหลายแบบด้วยกัน เช่น หากมีการบ้านแล้วไม่ได้ทำจะลงโทษด้วยการ “ตี” ตามข้อที่นักเรียนไม่ได้ทำ แต่ในการตีก็จะบอกเหตุผลว่าตีเพราะอะไร เช่น  ครูตีเพราะหนูทำการบ้านไม่เสร็จ ความรู้สึกในช่วงนั้นคือการกระทำแบบนี้เพื่อให้เด็กนักเรียนจำจะได้ไม่กล้าทำอีก ฉะนั้นเด็กทุกคนเมื่อเข้าห้องเรียนก็จะนั่งเงียบ เรียบร้อย ฟังครู กลัวครู เมื่อมองย้อนกลับไปครูก็รู้สึกเสียใจกับการกระทำที่ผ่านมา


ในช่วงที่มีการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 โรงเรียนไทรงามมีโอกาสเข้าไปประชุมแบบมีส่วนร่วมโดยการนำของ สกว. ก็ได้พบ “จุดเปลี่ยน” จริง  คือเป็นการประชุมที่ให้ครูได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ยังคุยกับเพื่อนครูว่าเมื่อไหร่ศึกษานิเทศจะนำกระบวนการของ สกว.ไปใช้เสียทีคือ ประชุมเสร็จให้ครูปฏิบัติจริง แล้วนำกลับไปใช้จริง นั่นจึงจะเปลี่ยนประเทศไทยได้ เปลี่ยนการศึกษาแบบเดิมได้ ตอนนี้ทุกคนคิดว่ากระบวนการวิจัยท้องถิ่นเป็นภาระที่เพิ่มขึ้น แต่ในหลักความเป็นจริงไม่ใช่ เพราะคนเรายึดติดกับความสบายอยู่แต่ในห้อง สอนตามหนังสือ เงินเดือนตั้งเยอะอยู่แต่ในห้องเรียนสบายจะตาย ครูนั่งหน้าพัดลม คอยตรวจการบ้าน สั่งเด็กก็ทำ โดยไม่ได้ศึกษาว่าเด็กแต่ละคนต่างกันแค่ไหน แต่พอมาถึงศตวรรษที่ 2 พอมีคนมาเปลี่ยนเรา เราทำมันเหนื่อย เปิดห้องเรียนออกไปสู่ทุ่งนามันเหนื่อยมาก คุณจะต้องวางแผนในห้องเรียนก่อนไปเรียน ที่โรงเรียนไทรงามจะมีวิชาวิจัยทุกวันอังคาร ที่เราจะเปิดห้องเรียนสู่โลกกว้างเลย ครูท่านไหนจะพาไปศึกษาเขาต้องวางแผนก่อนในวันจันทร์ช่วงบ่าย วางแผนเสร็จเริ่มวันอังคารตอนเช้าเลย เด็กนักเรียนจะตื่นเต้นมาก วันอังคารหากครูติดการประชุม นักเรียนจะผิดหวังมาก เด็กจะบอกว่า คุณครูผิดสัญญา ครูต้องหาเหตุผลมาหักล้างให้ได้ว่าทำไมต้องผิดสัญญา ครูติดประชุมหรือต้องเลื่อนต้องมีเหตุผล นี่คือสิ่งที่ค้นพบว่าเด็กชอบ แต่ถามว่าเหนื่อยไหม เหนื่อยมาก เพราะเวลาไปเด็กจะเยอะมา 30 กว่าคน ในขณะเดียวกันครูก็ไม่ได้ไปเฉยๆ ท่านผอ. ซื้อรถสำหรับเรียนรู้ 1 คัน โดยผ่อนเดือนละ 4,900 บาท ครูก็จะขับรถพาเด็กไปเรียน เปิดประตูความรู้สู่ทุ่งนา เด็กไปถึงบันทึกความรู้ในนา ส่วนครูก็ต้องบันทึกพฤติกรรมเด็ก ในมือครูจะมีแฟ้มบันทึกรายบุคคล ที่บอกว่าระบบช่วยเหลือ ที่จริงแล้วเขาเขียนแต่ระบบ ถ้าปฏิบัติจริงต้องไปแบบที่โรงเรียนไทรงามทำอยู่


การสอนแบบเดิมหากย้อนอดีตไปจะอายมากที่ตีเด็กนักเรียน ปัจจุบันกลายเป็นครูที่ใจดี เข้าใจเด็กเกินเหตุ เด็กก็แปลกใจในการเปลี่ยนของครู คือด้วยความที่เข้าใจเด็กว่าทำไมเขาเป็นอย่างนี้ ณ วันนี้ ตอนนี้ไม่เคยเบื่อเลยกับการเป็นครูมา 34 ปี เพราะชอบสายตาเด็กเวลาที่มองตาเด็กเป็นแววตาที่ใสมาก แล้วครูรู้เลยว่าวันนี้เด็กมีปัญหาอะไรบ้าง เมื่อสัปดาห์ก่อนมีนักเรียน 5 คนมีโอกาสนำเสนอเรื่องราวที่โรงเรียนให้เขตพื้นที่ฟัง เขตมาประเมินผลเรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมกับผู้ปกครอง 5 คน มาพูดให้ฟังว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของ  สกว. สอนให้เด็กพอเพียงอย่างไร ปรากฏว่าเด็กที่ไปพูด 5 คน พ่อแม่หย่าร่างถึง 4 คน ไม่มียางพารากรีดเป็นของตนเอง ผู้ปกครองของเด็กบอกว่าฝนตกเก็บยางไม่ได้ เขาก็ไม่มีเงินจ่าย นี่คือปัญหาเราจะทำอย่างไรในฐานะเป็นครู เด็กไม่ได้ทานข้าวมาโรงเรียน เราจะแก้อย่างไร เป็นปัญหาใหญ่ ถ้าเด็กเศร้ามาจะเข้าไปกอด


แล้วตอนนี้ปัญหาก็เพิ่มมาอีก เรื่องเกี่ยวกับบุหรี่ ยาเสพติดเริ่มเข้ามาในโรงเรียนแล้ว น่าเป็นห่วงมาก เด็กติดเกมก็น่าห่วง เรื่องฟุตบอลโลกก็น่าห่วง เล่นฟุตบอลจนเป็นลม เห็นถุงดำวางอยู่ข้างโรงเรียน มาเปิดดูเป็นใบกระท่อมนี้ไม่ใช่ปัญหาที่เล็กๆ แล้ว เราต้องช่วยกันแก้ปัญหาตรงนี้ ประสบการณ์ที่เป็นครูมานานตกใจกับปัญหาของเด็กในอนาคตข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะเด็กชนบท ไม่พูดถึงสังคมเมืองเพราะเขามีฐานะดี เอาตัวรอดได้ ส่วนสังคมชนบทใครจะเข้ามาช่วยเขา เป็นปัญหาที่น่าห่วงมาก


กระบวนเรียนรู้แบบ PBL แบบ “กระบวนการวิจัย” สามารถสร้างคนและสร้างชาติได้จริงๆ ถ้าทำอย่างต่อเนื่อง  ถือเป็นโอกาสที่จะถึงจุดเปลี่ยน โดยเปิดโอกาสให้เด็กคิดและปฏิบัติจริง ถามว่าการพานักเรียนไปเรียนในทุ่งนาโรยด้วยดอกกุหลาบหรือไม่ ไม่เลย พบแต่อุปสรรค แต่เด็กเกิดการเรียนรู้ เพราะอุปสรรคคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด เมื่อไหร่ที่เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วไม่มีอุปสรรคนั่นคือความล้มเหลวอย่างสินเชิง เมื่อไหร่ที่คุณรับรู้ว่าชีวิตนี้คุณสบายเหลือเกิน นั่นแหละคืออุปสรรคของชีวิตคุณแล้ว และเมื่อไหร่ก็ตามที่เด็กหรือครูไปเจออุปสรรคนั่นคือโอกาสที่ยิ่งใหญ่ในการที่เราจะแก้ปัญหา


ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น :  เรากลายเป็นคนที่ยอมรับความคิดเห็นในการค้นหาโจทย์วิจัย แต่ไม่ใช่ว่าจะตามใจเด็กทั้งหมด แต่ต้องวิเคราะห์หลักสูตรก่อนว่า ในหลักสูตรวางเป้าหมายตรงไหน เมื่อวิเคราะห์เสร็จจึงมาทำเป็นหน่วยการเรียนรู้ ในโจทย์การเรียนรู้ท้องถิ่นจะมีโจทย์ทั้งหมด 13 หน่วย หน่วยนั้นจะบูรณาการไปยัง 8 สาระ


หน่วยแรกประชุมผู้ปกครอง เช่น โรงเรียนไม่ต้องเสียกระดาษกับหมึกพิมพ์ เพราะใช้วิชาจดหมายเรียน โดยให้นักเรียนเขียนจดหมายราชการเลย สอนเขียนจดหมายถึงผู้ปกครอง โดยนักเรียนเป็นผู้เขียนเอง เมื่อผู้ปกครองมาประชุม ผู้ปกครองจะได้รับจดหมายของลูก เมื่อผู้ปกครองได้รับจดหมายของลูกผู้ปกครองก็จะทำการประเมิน ลูกเขียนดีหรือไม่ เขียนผิดกี่แห่ง นับเป็นการประเมินจากผู้ปกครองอัตโนมัติ


วิชาศิลปะคือให้นักเรียนจัดห้องเรียน แล้วครูก็จะประเมินนักเรียนพอใจไหมที่จัดห้องเรียนแบบนี้ พอใจไหมกับงานของตนเอง ห้องเรียนของนักเรียนก็จะสวย ปรากฏว่าครูต้องอายนักเรียน เพราะนักเรียนจะประดิษฐ์บอร์ดด้วยตนเอง ไม่ได้ซื้อสำเร็จรูป นักเรียนก็จะรักห้องของตนเองมากขึ้น ขอเพียงครูต้องตั้งตนเป็นครูอำนวยจริงๆ เช่น ตั้งกระดาษไว้ให้เขาได้ทำ ได้ฝึกเท่านั้นเอง อย่างวิชาคณิตศาสตร์ให้นักเรียนวัดที่นา แต่นักเรียนเรียนคณิตศาสตร์เกือบตาย แต่วัดที่นาไม่เป็น เวลาเขามาซื้อขายที่ดิน เด็กไม่รู้เรื่อง เราก็สอนแบบบูรณาการ ไร่หนึ่งมีกี่งาน ที่นาเป็นลักษณะนี้เขาเรียกสี่เหลี่ยมอะไร อย่างวิชาภาษาไทย ให้นักเรียนไปเขียนเล่าความประทับใจว่าวันนี้ไปเรียนที่นาได้เห็นอะไรบ้าง นั่นคือการบ้านของครูวิจัยท้องถิ่น ไม่เป็นการบ้านตามในหนังสือแล้ว ตอนเช้าก็จะนำมาอ่านให้เพื่อนฟังนั่นก็เป็นการเพิ่มทักษะการอ่าน ทักษะการสื่อสารก็ใช้ นักเรียนต้องเตรียมคำถามไปถามครูท้องถิ่น เชื่อหรือไม่นักเรียนสามารถตั้งคำถามได้เป็น 10 ข้อ ที่จะไปถามครูภูมิปัญญาในเช้าวันอังคาร นักเรียนจะจัดกระเช้าเตรียมผลไม้ที่มีนำไปให้ครูภูมิปัญญา เพื่อแสดงความมีน้ำใจ นั่นคือการเรียนงานอาชีพ


วิทยาศาสตร์ระบบนิเวศในท้องนาคุณจะสอนเท่าไหร่ก็ได้เรื่องการอยู่รอดของพืชและสัตว์ การเกี่ยวข้าว ครูจะพานักเรียนไปยืนดูการเกี่ยวข้าวด้วยรถเกี่ยวข้าวในแปลงสาธิต การเก็บข้าวด้วยแกะซึ่งเป็นของชาวใต้ข้าวจะงอกน้อย แต่ทำไมแปลงที่เป็นของชาวบ้านที่เขาไม่มีเวลาเขาใช้รถ ทำไมต้นข้าวขึ้นเต็มนา เด็กนักเรียนบอกว่าเก็บกับรถจะร่วงง่าย ส่วนเก็บกับแกะเราต้องระมัดระวัง แล้วการลงแขกเกี่ยวข้าวก็เป็นน้ำใจเป็นความสามัคคี ได้ไปเรียนรู้ในสังคมโดยไม่ต้องสอน วิชาสุขศึกษา กระโดดข้ามสิ่งกีดขว้าง อยู่ในห้องเรียนข้ามไม่ได้ ต้องไปกระโดดข้ามที่สนามเด็กเล่น แต่อยู่ในทุ่งนา กระโดดข้ามหัวนา เด็กสนุกก็มาก ภาษาอังกฤษเราก็จะสอนเป็นคำศัพท์ เช่น Let's go ไปกันเถอะ เป็นต้น ประวัติศาสตร์ สอนระดับประเทศ ระดับจังหวัดยังสอนอยู่ แต่สอนให้เด็กรู้รากเหง้าตนเอง สอนประวัติศาสตร์บ้านของตนเองเสียก่อน ประวัติชุมชน พอให้เด็กทำจริงๆ เด็กไม่รู้นะว่าทำไมบ้านของตนเองชื่อใสเดือย ทำไม่บ้านตนเองชื่อต้นไทร ให้นักเรียนค้นคว้า ค้นจากไหน ค้นจากผู้เฒ่าผู้แก่ แล้วเด็กได้ผูกพันกับผู้ใหญ่
 

ถามว่าเหนื่อยไหมกับการตรวจเรียงความ เหนื่อย เด็กผิดจะวงสีแดง เดี๋ยวนี้ไม่วงแล้ว และดีใจที่เด็กเขียนผิด จะเรียกนักเรียนมาบอกว่าครูดีใจที่นักเรียนเขียนคำว่าแปลงนาผิด ถ้านักเรียน เรียนตามแบบหนังสือ เพราะในหนังสือไม่มีคำว่าแปลงนา เรียกให้เด็กนำไปแก้ เด็กก็จะยิ้มอย่างมีความสุข กลายเป็นการเรียนรู้ เด็กจะภูมิใจและไม่รู้สึกว่าตนเองด้อยค่า ดีใจที่มาโรงเรียน แล้วครูก็ใช้วิธีการกอดเด็กเป็นการลงโทษ จากที่เคยตีสิบที ก็เปลี่ยนเป็นกอดสิบที เด็กก็จะรู้สึกอายที่ต้องให้ครูกอด เด็กบอกว่าผมแปรงฟันไม่สะอาด ไม่อยากให้ครูกอด นักเรียนเปลี่ยนแปลงไปมาก อยากบอกว่าดีใจมากที่ได้มารู้จัก สกว.
 

โรงเรียนไทรงามเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก เวลามีการแข่งขันอะไรก็มักจะแพ้เสมอ เพราะว่าเราไม่มีตัวเลือก ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 ที่ สกว. เข้ามาเต็มรูปแบบ ถือเป็นความภาคภูมิใจของครูทุกคน เราทราบว่าเด็กโรงเรียนไทรงามพูดเก่ง เลยส่งนักเรียนแข่งนักข่าวรุ่นเยาว์ นักเรียนได้เหรียญทองในระดับเขต  ส่วนเรื่องโครงงานคุณธรรมนาข้าวซึ่งเป็นทีม 5 คน ก็ได้เหรียญทองระดับเขตเช่นกัน โครงงานอาชีพก็ได้เหรียญทองระดับเขตเช่นกัน นักเรียนจะเลือกหัวหน้าห้องเอง เราไม่รู้ว่าการเรียนการสอนแบบ PBL มีการเปลี่ยนหรือพัฒนาอย่างไร มีอยู่วันหนึ่งตนเข้าห้องเรียนเพื่อทำการสอนปกติ นักเรียนที่เป็นหัวหน้าห้องบอกว่า เราเปลี่ยนหัวหน้าห้องทุกวันที่ 1 นะครับ ครูถามถึงเหตุผล เด็กบอกว่าอยากเปิดโอกาสให้เพื่อนเป็นผู้นำบ้างครับ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เกิดขึ้นตอนไหน เกิดขึ้นตอนที่เด็กยอมรับเพื่อน ไม่ค่อยทะเลาะกัน อย่างการจัดกลุ่มซึ่งเด็กก็มีทั้งอ่อน ปานกลาง และเก่ง เด็กสามารถแบ่งได้เองเป็นกระบวนการซึมซับได้เรื่อยๆ
 

อีกเรื่องหนึ่งเด็กหญิงสุกัญญา เปี่ยมสุข ที่ได้ไปถือพานให้นายกฯ อภิสิทธ์ เวชาชีวะ ได้ถือกุญแจประเทศ เด็กเราไป 5 คนได้รับการคัดเลือกทั้ง 5 คน เพราะเก่งเรื่องการนำเสนอ ไม่น่าเชื่อว่าโรงเรียนเล็กๆ อย่างเราจะทำได้ ต้องบอกว่าเป็นความเมตตาจาก สกว.ที่ให้โอกาส เวลาประชุมผู้ปกครองๆ ก็จะเข้ามามีส่วนร่วม อาทิ เข้ามาช่วยกวาดขยะในโรงเรียน เด็กมีความกล้าแสดงออกมากขึ้น เมื่อมีงานเด็กจะเป็นพิธีกรเอง โรงเรียนไทรงามอยู่ไกลวัด ประมาณ 3 กิโลเมตร  ทุกเดือนจะนิมนต์พระมาที่โรงเรียน ซึ่งปกติครูต้องนำสวด ปรากฏว่าหลังๆ เป็นเด็กนำ  เวลาเด็กพูดผิดกลายเป็นสิ่งน่ารัก เด็กจะนำสวดมนต์เอง เด็กไทรงามจะเรียนภาษาไทยไปพร้อมการสวดมนต์ในวันศุกร์สิ้นเดือน เด็กสามารถเป็นพิธีกรงานใหญ่ระดับตำบลได้ ตอนนี้เป็นที่กล่าวขวัญมากของผู้วิจัยท้องถิ่น เลยพูดกันติดปากว่าถ้าไทรงามต้องนา ถ้าไทรงามต้องไร่ เป็นเอกลักษณ์ของโรงเรียนไปแล้ว


ปัญหาและอุปสรรค : ช่วงแรกมีครูต่อต้านไม่เห็นด้วย ตอนแรกมีครูเข้าร่วม  8 คน ต้าน 2 คน แต่ผอ.ใช้วิธีบริหาร ในที่สุดเขาก็เข้ามาทำ ปรากฏว่าสำเร็จไปหลายระดับ