เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง
วันที่ 11-12 กรกฎาคม 2555 ณ นกน้ำรีสอร์ท อ.เมือง จ.สตูล
โรงเรียนบ้านทางยาง นำ “กระบวนการวิจัย” มาใช้เพื่อต้องการแก้ปัญหาพฤติกรรมการสอนของครูแบบ “เช้าชามเย็นชาม” พยายามให้ “ใจ” ครูเพื่อดึงครูให้เข้าร่วมกระบวนการ เคยคิดถอดใจหลายครั้ง เพราะกลัวว่าจะทำไม่สำเร็จ แต่สุดท้ายก็สู้ เพราะคิดว่าถ้าไม่ทำตอนนี้แล้วจะไปทำตอนไหน เมื่อตั้งใจว่าจะทำ จึงทำตัวเป็น “โค้ช” ที่ดี จับมือพาครูทำทุกอย่าง วันนี้แม้จะยังเห็นผลไม่ชัดเจน แต่เชื่อว่าครูเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง แม้จะยังไม่ได้เต็มร้อยก็ตาม ส่วนเด็กเห็นผลชัดคือกล้าพูด กล้าแสดงออก
โรงเรียนบ้ายทางยาง มีข้าราชการครู 3 คน พนักงานราชการ 1 คนทำหน้าที่สอนศาสนา ครูอัตราจ้าง 1 คน ครูพี้เลี้ยงเด็กพิเศษ 1 คน นักเรียน 103 คน แต่ละหมู่บ้านจะมีโรงเรียนประจำตำบลอยู่ 1 โรง นักเรียนจึงกระจายอยู่ตามตำบลต่างๆ คนในชุมชนส่วนใหญ่อพยพมาจากถิ่นอื่น ประกอบอาชีพรับจ้าง
การนำ “กระบวนการวิจัย” มาใช้ในการเรียนการสอน : เข้ามารับตำแหน่งผู้บริหารที่นี่เมื่อปี 2553 ก่อนที่จะมาเป็นผู้อำนวยการเคยเป็นครูสายผู้สอนมาก่อน แล้วจึงมาสอบเป็นสายบริหาร ตอนแรกที่ได้ไปรับฟังข้อมูลที่โรงเรียนอนุบาลสตูล คิดว่ามันหนัก แต่รู้ว่าที่โรงเรียนมีปัญหา เพราะเราตั้งใจไว้ว่าอยากแก้ปัญหาของโรงเรียนให้ได้ ยิ่งเห็นพฤติกรรมของครูแล้วยิ่งไม่อยากให้เป็นแบบนั้น อยากให้นักเรียนมีการพัฒนา แต่ก็ยังคิดว่ามันจะหนักไปไหม เราประเมินความพร้อมของโรงเรียนไปด้วย ตอนแรกคิดถอดใจแล้ว คิดว่าถ้าทำแล้วอาจจะไม่รอด แต่พอสุดท้ายก็สู้ คิดว่าถ้าเราไม่ทำตอนนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะไปทำตอนไหน ก็เลยคิดว่าถึงจะหนักก็ลองสู้ดูก่อน คิดว่าเมื่อเข้าไปแล้วจะพยายามทำ เราในฐานะผู้บริหารแม้จะเป็นเบอร์หนึ่งที่พร้อมจะทำ แต่ใจครูอยู่ที่ศูนย์ เพราะพฤติกรรมของเขาคือเช้าชามเย็นชาม ซึ่งอาจเป็นเพราะเขามีปัญหาหลายอย่าง แต่เราก็พยายามให้ “ใจ” และคิดว่าทำอย่างไรก็ได้เขามาเป็นพวกเรา บอกเขาว่าที่เราทำทุกอย่างนี้ก็เพื่อนักเรียนทั้งสิ้น จะเดินไป จะคลาน จะวิ่งก็ต้องทำ
ด้วยความที่พฤติกรรมของครูเป็นแบบนี้ นักเรียนก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ก็เลยคิดว่าเราจะพัฒนาครูโดยใช้“กระบวนการวิจัย” เพื่อพัฒนาผู้เรียน สืบเนื่องมาจากผลประเมินของ สมศ.รอบ 2 ในมาตรฐานที่ 4 การคิดวิเคราะห์ และมาตรฐานที่ 5 คือผลสัมฤทธิ์ยังไม่ดี ทั้ง 2 มาตรฐานนี้ทำให้ต้องพัฒนาครู เพื่อให้ครูไปพัฒนานักเรียนต่อไป
ตอนที่มารับตำแหน่งใหม่ๆ จะใช้เวลาส่วนใหญ่สังเกตดูพฤติกรรมของครูเป็นอย่างไร เห็นว่าครูผู้ชายไม่ค่อยดูแลนักเรียน ครูผู้หญิงจะมีพฤติกรรมที่เห็นแก่นักเรียนมากกว่า ก่อนเข้าร่วมโครงการ 1 ปีเห็นของโรงเรียนภาพหมดเลย ในใจคิดว่าถ้าเราปรับเปลี่ยนครูทันทีทันใดคงไม่ได้ ก็รู้สึกเห็นใจเขาเหมือนกัน แต่คิดอย่างไรก็ต้องทำ เพราะเรามองว่า นักเรียนคือเป้าหมายสำคัญ และเชื่อมั่นในตัวเองว่าถ้ามีปัญหาอะไรเราสามารถเป็นที่ปรึกษาให้เขาได้ ก็เลยทำข้อเสนอโครงการ มีทีมงานจาก สกว.มาฟัง ซึ่งตอนนั้นของเราเป็นโรงเรียนสุดท้ายแล้ว นี่คือที่มาของการเข้าร่วมโครงการวิจัย ตอนที่เล่าให้ครูและทีมงาน สกว.ฟัง ครูเขาก็คิดว่าจะเป็นภาระ เราอาจจะเดาใจเขาไม่ถูก แต่คิดว่าอันนี้คือหน้าที่ของเขา เขาไม่มีข้อปฏิเสธ และคิดว่าจะมีคนมาช่วย แต่เขาก็ยังเฉยๆ จะว่ายังไงก็ว่าไป แต่เราก็ไม่ท้อ บอกว่าถ้าเราไปก็ต้องไปด้วยกันทั้งโรงเรียน ครูเขาก็คิดว่าถ้าเราร่วมกันทั้งโรงเรียนก็น่าจะไปได้ ก็เลยเล่าให้ครูฟังว่าเราจะพัฒนานักเรียนโดยใช้กระบวนการวิจัย
ปัญหาอุปสรรค : ตอนนี้ครูอาจจะยังไม่เข้าใจ คำว่า “วิจัย” ทำให้ครูกลัว เขามองไม่เห็น เขาไปไม่ถึง เขาคิดว่าวิจัยจะต้องมีขั้นตอนเยอะ ตรงนี้ยังล้างไม่ออก คิดว่าเป็นเรื่องยาก แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่วิจัย แต่เป็นกระบวนการเท่านั้น เป็นการสืบค้นข้อมูลของเราและเราจะได้ผลสัมฤทธิ์ไปถึงนักเรียน ซึ่งโดยส่วนตัวเราเข้าใจแล้วว่า “วิจัย” เป็น “เครื่องมือ” ที่จะทำให้นักเรียนดีขึ้น แต่ครูยังไม่เข้าใจ เราในฐานะผู้บริหารก็ต้องค่อยเสริมเข้าไป เราจะไม่พูดคำว่า “วิจัย” เลย แต่บอกเขาว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้นักเรียนมีคุณลักษณะ มีทักษะเพิ่มขึ้น กล้าคิด กล้าแสดงออก มีความคิดเป็นของตัวเอง ครูส่วนใหญ่ยังติดว่าอะไรที่เป็นรูปแบบเขาจะงงทันที เช่น แผน วิจัย มาตรฐาน และปัญหาอีกข้อหนึ่งคือครูเป็นวัยที่เพิ่งแต่งงาน บางคนมีลูกอ่อน จึงทำงานได้ไม่เต็มที่
วิธีการทำงานของเราก็พยายามอะลุ่มอล่วย อะไรที่พอจะช่วยกันได้ให้ช่วยกัน ลงไปด้วย ลงไปจนครูเขิน แรกๆ เราก็พาไป ครูเขาไม่เข้าใจว่าทำอย่างไร การจัดการเรียนการสอนต้องทำอย่างไร ผอ.ต้องลงไปเป็นโค้ชให้ครู พยายามให้เขารู้สึกดีว่ามันไม่ใช่เรื่องยาก แต่ให้ครูอยู่กับเด็กนะ เราไม่อยากสั่ง แต่ดูแล้วถ้าเขาไม่ทำเราก็จะลงไปทันที ตอนหลังเขาก็อยู่เหมือนเดิม แต่ว่าน่าจะซึมไปบ้าง แต่เมื่อเราเห็นครูเฉยเมื่อไรเราก็จะลงไปทันที ซึ่งการที่เขาเฉยอาจจะเป็นเพราะครูที่โรงเรียนมีน้อยและภารกิจงานก็มีเยอะ การประชุมก็ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ว่าพฤติกรรมของครูเปลี่ยน แต่เราไม่รู้ว่าเขาจะเข้าใจในกระบวนการนี้ไหม แต่ว่าความเป็นผู้นำเขาเปลี่ยน มีการแลกเปลี่ยนกัน ตรงนี้เห็นได้ชัด เพราะตอนแรกที่เข้าไปจะไม่มีตรงนี้ นักเรียนก็เหมือนกันเห็นได้ชัดเจน
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น : สำหรับการเปลี่ยนแปลงของครูเท่าที่สังเกตเห็น แต่ไม่รู้ว่าครูเขารู้สึกตัวหรือไม่ แต่เท่าที่เราสังเกตการณ์อยู่ข้างนอก คอยลงไปดู และให้กำลังใจเขา หลังจากการประชุมกลุ่มของผู้บริหาร ก็ได้นำเทคนิคการประชุมกลุ่มมาปรับใช้และพบว่าซึมอยู่ในตัวครู พอถึงเวลาประชุมครูก็จะแบ่งหน้าที่กัน มีคนนำ มีคนตาม พฤติกรรมก็สามารถเข้าไปสู่ครูได้เลย คือมีการประชุม มีคนนำ มีคนตาม มีผลสรุป อันนี้คิดว่าครูได้และเปลี่ยนแปลงคือ จะได้ผู้นำ ถึงจะไม่ชัดเจนแต่ก็ระดับหนึ่ง ตรงนี้จะเกิดชัดว่าเขาจะสร้างความเป็นผู้นำขึ้นในกลุ่ม และสุดท้ายเขาจะประเมินตัวเองได้ เหมือนกับจบเวทีรายงานผล เขามาถามเราว่า ผอ.ให้กี่คะแนน ให้เท่าไร ก็ไม่คิดว่าเขาจะถาม ก็บอกว่าเราทำกันหลายอย่างและแต่ละกิจกรรมมาอยู่ในวันเดียวกัน แต่ละกิจกรรมเกณฑ์การประเมินก็ไม่เหมือนกัน แต่ถ้าจะถามถึงการวิจัยก็คือว่าพัฒนาแต่ถามว่าเมื่อก่อนเรามีเท่าไร เรามี 0 แล้วตอนนี้เราให้ 5 เขาก็เข้าใจ เพราะเริ่มจาก 0 แล้วได้ 5 แต่ถ้าเป็นงานอื่นที่เขาทำเป็นงานประจำเกณฑ์ต้องเปลี่ยนไปตามกิจกรรม ครูก็เข้าใจ แต่เขาจะรู้ว่า ผอ.นั่งดูเขาอยู่ แล้วก็ดูว่ากิจกรรมนี้พัฒนาไปเท่าไร แล้วเราไม่ให้มากซึ่ง 5 ถือว่ามากแล้ว เพราะเราเริ่มจาก 0
ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างครูกับผอ.ก็ดีขึ้น แต่ในกระบวนการทำงาน ครูยอมรับความจริงมากขึ้น รู้จักช่วยเหลือกันและนำกัน เทอมแรกครูก็ไม่เข้าใจว่าจะทำอย่างไร จะให้นักเรียนพัฒนาโดยใช้กระบวนการได้อย่างไร เพราะมีคำว่า “วิจัย” มากั้นอยู่ เราก็บอกว่าเรายกกิจกรรมมาหนึ่งกิจกรรม เราจะจัดกระบวนการอย่างไรให้กับนักเรียนโดยใช้วิธีการนี้ ก็รู้สึกว่าประสบการณ์ตัวนั้นหลายๆ กิจกรรมทำให้ครูมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป คือรู้ว่านี่คือกระบวนการ แต่ใจอาจจะยังไม่พร้อม เข้าใจกระบวนการมากขึ้น ดำเนินการไปตามกระบวนการได้ในการทำงาน แต่ว่าในกระบวนการสอนการจัดกิจกรรมกับนักเรียนยังไม่เกิด แต่ว่าในกิจกรรมเกิด
ในตารางเรียนเราก็ต้องปรับเปลี่ยน ปีที่แล้วให้จัดการสอนแบบบูรณาการ ซึ่งเป็นจุดเสริมให้กิจกรรมวิจัยดีขึ้น กระบวนการวิจัยเป็นตัว “หนุนเสริม” ให้นโยบายเรื่องการบูรณาการทำได้ดีขึ้น สอดคล้องกัน ทำให้ครูสามารถบูรณาการได้ดีขึ้น แต่ว่าเทคนิคยังน้อย การป้อนคำถามนักเรียน การสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนยังน้อย ถ้าถามว่าครูเปลี่ยนไหม เปลี่ยน เพราะผู้บริหารทำกับครู ตอนนี้คิดว่าครูเข้าใจกระบวนการ แต่ต้องฝึกทักษะความเป็นมืออาชีพ ที่ไม่ใช่อาชีพครู ขออย่างเดียวให้ใจมา คิดว่าปีนี้จะวางแผนไม่ให้ไปติดอยู่ที่แผน ไม่ได้จดบันทึก ผลงานมันก็ยาก พัฒนาครู และผู้เรียนโดยใช้กระบวนการวิจัย ส่วนเด็กถ้าพูดถึงทักษะ การคิดวิเคราะห์ การพูดสื่อสารเปลี่ยน รู้จักค้นคว้าก็มี แต่แรงกระตุ้นแรงเสริมจากครูยังน้อย
อย่างไรก็ตามเมื่อถึงเวลาสอนเขาก็จะสอนโดยยึดครูเป็นศูนย์กลาง ทั้งๆ ที่เราบอกว่าให้ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง ครูทำหน้าที่กระตุ้นอย่าไปบอกเด็กหมด แต่ทำได้ยาก เขาบอกว่าเขาไม่ถนัด แต่เขาก็ทำตามๆ กัน เพราะมีคนนำอยู่ ตอนนี้มีครูที่ไม่รู้เรื่องเลย 1 คน ครูอนุบาลเริ่มชัดเจนขึ้น มีการพาเด็กไปเดินในแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน ครูชั้น ป.2 และ ป.6 ก็ทำได้ชัดเจนขึ้น
สำหรับผลที่เกิดกับเด็ก ผู้ปกครองก็เห็นและชอบโรงเรียน พอเห็นผลจากการนำเสนอในเวทีครั้งแรก ให้เด็กนำเสนอแต่ละเรื่อง เช่น อนุบาลเรื่องไอศกรีม ป.1 เรื่องดิน ป.2 ตะไคร้ ป.4 หยุดไม่ได้ทำ ป.5 - 6 การเพาะเห็ด จากที่ครูขาดทักษะ ก็เริ่มรู้ว่าวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้แบบนี้คืออะไร แม้จะยังไม่ลงลึกถึงขั้นปฏิบัติ ทำให้หัวข้อการเรียนรู้ของครูแคบ แค่รู้ก็ตอบโจทย์ได้ว่าจัดกระบวนการอย่างไรให้เด็กรู้ แต่ไม่ได้จัดกระบวนการให้เด็กฝึกปฏิบัติและสามารถพิสูจน์ความรู้นั้นได้ โรงเรียนเรายังไม่ถึงขั้นนั้น
ที่เป็นเช่นนี้เพราะเรื่องการจัดกระบวนการ คิดว่าครูเข้าใจ เนื่องจากมีวัตถุประสงค์บอกไว้ว่า กระบวนการนี้เพื่อเด็กรู้ เด็กปฏิบัติได้ ครูก็คิดแล้วถ้าทำเช่นนี้ เขาต้องทำเยอะ ทำแค่ให้เด็กรู้ก็ทำน้อยหน่อย ง่ายกว่า ครูก็จะลดภาระงานลงไปหนึ่งเปลาะ แต่กระบวนการก็จะได้หมด แต่ก็ยังไม่ถึงขึ้นนักเรียนได้ลงมือปฏิบัติในสิ่งที่เขาอยากรู้ นักเรียนได้แค่รู้เท่านั้น นอกจากนี้เด็กได้ฝึกทักษะกระบวนการสื่อสาร ซึ่งเป็นกระบวนการปรกติ แต่การปฏิบัติยังไปไม่ถึง ถ้าจะให้ถึงขั้นนั้นครูต้องมีความรู้รวบยอดมากกว่านี้ รู้ในเนื้อหา และสามารถสร้างแรงจูงใจอย่างไรก็ได้ให้เด็กบรรลุวัตถุประสงค์ของการฝึกปฏิบัตินั้นให้ได้ แต่ก็ยังดีว่าเขาได้ 1 ข้อก็ยังดี ที่ได้ฝึกให้เด็กได้เรียนรู้
ที่โรงเรียนเราจะจัดประชุม 1.เครือข่ายผู้ปกครอง กรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง เครือข่ายองค์กร ให้รับรู้เรื่องของโรงเรียนมากขึ้น เช่น สมมติเราจะจัดกิจกรรมรายงานผล ใครรับผิดชอบก็นัดเครือข่ายผู้ปกครองให้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมนั้นๆ มากขึ้น เพราะลูกเขาเรียนอยู่ที่นี่