เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง
วันที่ 11-12 กรกฎาคม 2555 ณ นกน้ำรีสอร์ท อ.เมือง จ.สตูล
โรงเรียนบ้ายเขาจีน ประสบปัญหาเด็กนักเรียนลดลงทุกปี เพราะบริเวณโดยรอบแวดล้อมไปด้วยโรงเรียนคุณภาพหลายแห่ง ก่อนเปิดเทอมจะเห็นผู้ปกครองขับรถพาเด็กไปเรียนที่อื่นเสมอ เป็นเพราะผู้ปกครองขาดความเชื่อมั่น เนื่องที่ผ่านมาเกิดความไม่เข้าใจระหว่างโรงเรียนกับชุมชนฝังรากลึกอยู่ บริบทของโรงเรียนแวดล้อมไปด้วยความสุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะปัญหายาเสพติด จึงตั้งใจเรียกศรัทธาจากชุมชนกลับคืนมา สภาพแวดล้อมของโรงเรียนต้องเป็นที่ยอมรับ ครูต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เชื่อถ้าทำ 3 อย่างนี้ได้จะทำให้โรงเรียนพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ด้วยการนำ “กระบวนการวิจัย” เข้ามาใช้ เมื่อทำได้ระยะหนึ่งพบว่า ครูทุกคนมีความสุข สังเกตได้จากแววตาของครูเวลาเขาพูดที่พูดถึงเด็กแต่ละคนว่าเวลาโต้ตอบกับครูแม้จะตะกุกตะกัก แต่ในแววตามีรอยยิ้ม จึงสรุปได้ว่าถ้าครูทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ความภูมิใจและคุณค่าของครูจะเกิด ส่วนเด็กก็กล้าพูดกล้าแสดงออกมาขึ้น ที่สำคัญคือ จำนวนเด็กนักเรียนชั้นอนุบาลเริ่มเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และผู้ปกครองให้ความร่วมมือมากขึ้น
โรงเรียนบ้านเขาจีนเป็นโรงเรียนขยายโอกาส อยู่ในเขตเทศบาลตำบลคลองขุด มีครู 19 คน นักเรียน 280 คน บริเวณรอบๆ โรงเรียนในรัศมี 1.5 กิโลเมตรมีโรงเรียนดีประจำตำบล ห่างออกไป 2 กิโลเมตรเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดคือสตูลวิทยา กลับเข้าไปในเมืองประมาณ 3 กิโลเมตรเป็นโรงเรียนพิมานพิทยาสรร และติดโรงเรียนบ้านเขาจีนก็เป็นโรงเรียนปอเนาะดีๆ อีก 1 โรง ข้ามไปอีกฝั่งหนึ่งเป็นโรงเรียนเทศบาล บริบทของโรงเรียนจึงแวดล้อมไปด้วยโรงเรียนที่มีคุณภาพ ช่วงก่อนเปิดเทอมที่เป็นช่วงรับเด็กจะเห็นผู้ปกครองพาเด็กผ่านหน้าโรงเรียนอยู่เสมอ จากข้อมูลเชิงลึกพบว่า ผู้ปกครองขาดความเชื่อมั่น เพราะที่ผ่านมาเกิดความไม่เข้าใจระหว่างโรงเรียนกับชุมชนฝังรากลึกอยู่ เนื่องจากเป็นชุมชนต่างวัฒนธรรม เป็นสังคมกึ่งเมืองกึ่งชนบท มีคนย้ายเข้าย้ายออกมาก คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง หาเช้ากินค่ำ ประชาชนส่วนใหญ่ 60 เปอร์เซ็นต์เป็นมุสลิม สังคมแวดล้อมไปด้วยอบายมุข นักเรียน 30 เปอร์เซ็นต์อาศัยอยู่กับตายาย พ่อแม่ไปทำงานต่างประเทศ/ต่างจังหวัด หย่าร้าง ทำให้เด็กขาดความอบอุ่น แต่ผู้ปกครองที่อยู่ในชุมชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือดี
การนำ “กระบวนการวิจัย” มาใช้ในการเรียนการสอน : บริบทของโรงเรียนแวดล้อมไปด้วยความสุ่มเสี่ยงของนักเรียนเยอะมาก สิ่งที่ผมตั้งใจว่าจะต้องทำให้ได้คือ ต้องเรียกศรัทธาจากชุมชนกลับคืนมา สภาพแวดล้อมของโรงเรียนต้องเป็นที่ยอมรับ ครูต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ถ้าทำ 3 อย่างนี้ได้จะทำให้โรงเรียนพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น และเมื่อผมได้รับฟังข้อมูลและกระบวนการที่ ผอ.สุทธิ นำเสนอ ผมตอบรับทันที เพราะ 1.จะได้พัฒนาครู 2. เมื่อดูกระบวนการแล้วชุมชนเข้าร่วมได้แน่นอน ถ้าครูตั้งใจมีส่วนร่วมโดยใช้กระบวนการนี้ เด็กเกิดแน่นอน แล้วผมไปดูข้อเสนอแนะในการประเมินของ สมศ.รอบ 2 ระบุไว้ว่าครูต้องจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น ต้องส่งเสริมให้เด็กนักเรียนมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ แล้วถ้าดำเนินการในโครงการนี้ก็จะสอดรับกับ สมศ.และเด็กเกิด ผมเลยจัดทำเป็น “โครงการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการวิจัยของโรงเรียนบ้านเขาจีน” แต่กระบวนการที่ผมนำมาใช้จะมีการสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมเพิ่มเติม
โครงการนี้เป็นหนึ่งในแผนที่ผมวางไว้คือ ปรับครู ดึงชุมชน ส่งผลต่อนักเรียน แต่วิธีคิดวิธีการบริหารของผมต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ที่ผ่านมาครูกับชุมชนขาดการยอมรับนับถือกัน มีการขับไล่ครู 1 ครั้ง ผู้บริหาร 1 ครั้ง ผู้บริหารต้องสร้างความตระหนักให้ครูเห็นความสำคัญว่าเราต้องเปลี่ยนแปลงแล้ว ถ้าเป็นอยู่อย่างนี้ ถึงช่วงเวลารับเด็ก เดี๋ยวครูก็ขับรถผ่านหน้าโรงเรียนไป ผมต้องเชื่อมโยงตั้งแต่นโยบายว่าเราต้องการรับการประเมินของ สมศ.เราจะทำอย่างไร สมรรถนะครูผู้สอนมีอะไรบ้าง มาตรฐาน สพฐ. สมศ.เป็นอย่างไร ลองไปศึกษามาดูสิ ทีนี้ก็เชื่อมโยงถึงว่าถ้าเรานำกระบวนการนี้มาใช้ จะตอบรับได้ไหม คิดและอธิบายให้ครูฟังว่าถ้าครูได้รับรู้ถึงความจำเป็นเหล่านี้ เขาน่าจะไม่ต่อต้าน และเขาก็จะหันมาให้ความร่วมมือ ชี้ให้ครูเห็นถึงความจำเป็นที่เราต้องปรับ แต่ว่าครูเขาก็ยังนิ่งๆ เงียบๆ แต่พอเราคุยกันไปเรื่อยๆ เขาก็จะเริ่มเข้าใจและมีความตั้งใจร่วมกันขึ้นมาบางส่วน
ผมรับสมัครทีมงาน 5 คนเพื่อไปเขียนโครงการร่วมกับ 11 โรงเรียน แล้วนำมาขยายผล วิธีการบริหารต้องเปลี่ยนไปเมื่อดำเนินการไปสักพักหนึ่ง เราต้องบริหารความรู้สึกของครูเยอะมาก เพราะยังมีครูกลุ่มที่เหลืออยู่ ซึ่งเราต้องวิเคราะห์ด้วยว่าเขาคิดอะไรอยู่ เขาต้องการอะไรบ้าง บริหารความรู้สึก คือผมตั้งเป้าไว้ว่าถ้าเขาเป็นพวกเราแล้วทำอย่างไรเขาก็มีความสุข ก็เลยต้องใช้เทคนิคการบริหารความรู้สึกเยอะ เรามีการประชุมกันทุกสัปดาห์ ผมใช้วิธีปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ของครู บางครั้งผมเป็นประธานในที่ประชุม แต่ผมต้องการให้เขารู้ว่าการเป็นประธานในที่ประชุม มันมีความรู้สึกอย่างไร ก็ใช้วิธีปรับเปลี่ยนหมุนเวียนกันให้ครูแต่ละคนทำหน้าที่ประธานบ้าง เลขาบ้าง ให้เขารู้ว่าการเป็นประธานบางครั้งเราต้องสั่งบ้าง บางครั้งเราต้องอดทนฟังบ้าง ปรับเปลี่ยนกันทำหน้าที่ทั้งโรงเรียน ตอนแรกใช้วิธีหาอาสาสมัครมาทำหน้าที่ แต่หากไม่มีอาสาสมัครก็ให้เพื่อนชี้ ครูทุกคนหมุนเวียนกันทำหน้าที่
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น : ทำได้ระยะหนึ่งผมจัดให้มีการถอดบทเรียนครูครั้งแรก หลังจากที่เขาไปจัดกิจกรรมการเรียนการสอนชั่วโมงแรก วันที่ 21 พฤษภาคม 2554 อาจารย์กัญญา แสงเพชร ซึ่งปัจจุบันเออร์ลี่รีไทร์ไปแล้ว วันแรกท่านสะท้อนความรู้สึกว่า “เป็นนิมิตรหมายอันดีมากจากที่ดิฉันเป็นครูมาจากเป็นครูผู้ถือหนังสือเล่มเดียว กลับกลายมาใช้วิธีการเทคนิคให้นักเรียนเข้ามามีส่วนร่วม ใช้กิจกรรมหลากหลายร่วมคิดร่วมทำ และนักเรียนมีความพึงพอใจ ดิฉันชอบมากและคิดว่าคุณค่าความเป็นครูของดิฉันเริ่มเกิดขึ้นแล้ว”
สรุปได้ว่าทุกคนมีความสุข ผมสังเกตเห็นจากแววตาของครูเวลาเขาพูดที่พูดถึงเด็กแต่ละคนว่าเวลาโต้ตอบกับครูแม้จะตะกุกตะกัก แต่ในแววตามีรอยยิ้ม ผมเลยสรุปได้ว่าถ้าครูทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ความภูมิใจและคุณค่าของครูจะเกิด ตอนนี้ของผมครูไม่ได้มีปัญหา เขาพร้อมที่จะทำ แต่ก็ต้องปรับนิดหนึ่งเพราะว่าครูยังเป็นผู้รอคำสั่ง กำลังปรับเปลี่ยนว่าเมื่อไรครูจะเป็นผู้คิด
นอกจากนี้ผมยังปรับวิสัยทัศน์โรงเรียนด้วย ใส่คุณธรรมจริยธรรมเข้าไป แล้วก็หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเทคโนโลยีเพื่อสอดรับกับนโยบาย ซึ่งทุกอย่างเกิดขึ้นจากกระบวนการนี้ทั้งหมด และต้องปรับวิธีการทำงานเพื่อให้ครูขับเคลื่อนไปให้ได้ ถ้าเราใช้แบบเดิมอยู่คงไม่ได้ เพราะกระบวนการนี้เราต้องอดทนขึ้น รับฟังความคิดเห็น กล้ายอมรับความจริงและต้องแก้ปัญหาบนพื้นฐานด้วยข้อเท็จจริงไม่ใช่ความรู้สึก แก้ปัญหารายบุคคล
ครูตอนนี้ถ้าเปรียบเทียบกับทั้ง 11 โรงเรียน โรงเรียนของผมน่าจะเข้มแข็งอยู่ในอันดับต้นๆ ที่เห็นได้ชัดคือครูเปลี่ยนเรื่องการจัดกิจกรรม จากครูผู้บอกคำตอบ เริ่มจะใช้การเป็นนักจัดกระบวนการมากขึ้น ใช้คำถามกระตุ้นนักเรียนมากขึ้น รู้จักที่จะอดทนรอคำตอบจากนักเรียน ไม่ตอบก่อน ถ้าเป็นเมื่อก่อนครูจะบอกตั้งแต่ครั้ง 2 – 3 แล้ว แต่ตอนนี้รู้จักรอมากขึ้น มีการเตรียมตัว เห็นได้จากกระบวนการเริ่มต้นครูจะมีการนำเข้าสู่บทเรียนด้วยเกมมากขึ้น อันนี้ผมได้คำตอบมาจากเด็กนักเรียน ที่เห็นชัดเจนอีกข้อหนึ่งก็คือการเสียสละมีมากขึ้นไม่ว่าเวลา หรือว่าทรัพย์สินส่วนตัว ตอนถอดบทเรียนครูจะมีการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ครูยอมรับฟังความคิดเห็นนักเรียนมากขึ้น จากเมื่อก่อนนักเรียนเสนออะไรขึ้นมาครูจะบล็อกไว้ แต่ตอนนี้ต้องเปิดกว้างแล้ว เพราะว่าเป็นข้อตกลงว่าถ้าเด็กเสนอต้องมีเหตุผลตามหลัง เพราะฉะนั้นต่างคนต่างมีเหตุผล ไม่มีถูก ไม่มีผิด เฉพาะกิจกรรมนี้ เวลาเด็กเสนออะไรขึ้นมา ครูรับฟังและให้เด็กอธิบายเหตุผลเพิ่มเติม ครูจะเป็นผู้คอยชี้แนะ ใส่กรอบเข้าไป ถ้าเด็กให้เหตุผลไม่เต็มครูก็จะเพิ่มเข้าไป ยอมรับกันมากขึ้น ครูยอมรับความจริง เช่น ตอนถอดบทเรียนที่เพื่อนครูแนะนำครูก็ยอมรับ ส่วนใหญ่เป็นประเด็นเก็บตกระหว่างงานในการจัดกิจกรรม เช่น พาเด็กออกไปแหล่งเรียนรู้ บางชั้นครูจะตีกรอบไว้ แต่เมื่อมาสรุปในประชุมก็มีการแนะนำว่าข้อตกลงต่างๆ เด็กต้องเป็นคนเสนอ การตั้งคำถามเด็กต้องเตรียมไว้ก่อนล่วงหน้า โดยให้เด็กเป็นคนเสนอ ซึ่งครูก็ยอมรับ และเมื่อไปถึงแหล่งเรียนรู้เด็กก็ต้องตกลงกันว่าเมื่อไปถึงใครจะเป็นคนนำ ต้องทำอย่างไรก่อน ให้กล่าวขอบคุณ เด็กเป็นคนนำทั้งหมด ซึ่งเมื่อก่อนครูเป็นคนทำ การเขียนบันทึกต่างๆ เด็กเป็นคนร่าง โดยครูทำแบบฟอร์มให้ก่อน
ตอนนี้ทุกชั้นทำแบบนี้หมด ส่วนจะผิดถูกอย่างไรค่อยว่ากัน โดยหนังสือที่ออกไปแหล่งเรียนรู้จะมี 2 ฉบับ ฉบับหนึ่งเป็นของนักเรียน เซ็นต์ด้วยหัวหน้าชั้น อีกฉบับหนึ่งเป็นของผู้บริหารเซ็นต์ด้วยผู้บริหาร แนบไปยังภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเด็กทำจนวิถีชีวิตของเขาไปแล้ว นั่นคือสิ่งที่เปลี่ยนแปลง ครูยอมรับตรงนี้ว่าเขาเปลี่ยนแปลงแล้ว และยังคืบคลานไปถึงว่าครูบางคนยอมรับว่าเขียนบันทึกไม่เป็น ครูมีทักษะเพิ่มขึ้น ณ ปัจจุบันนี้ไม่ต้องบอกแล้ว ครูสามารถเขียนบันทึกราชการได้ มีทักษะเพิ่มขึ้น และมีข้อตกลงอีกข้อหนึ่งคือเมื่อเด็กไปแหล่งเรียนรู้ เด็กจะต้องกลับมาเล่าปากเปล่าให้ฟังว่าเขาได้เรียนรู้อะไรบ้าง ตอนนี้ที่ยังขาดที่สุดคือการจดบันทึกไม่ค่อยละเอียด แต่มีการเปลี่ยนแปลง ทุกคนมีสมุดบันทึกและจดมากขึ้น
สำหรับการบูรณาการ ตอนนี้ยังไม่ค่อยชัดเจน แต่จะใช้ในการบูรณาการกิจกรรม บางกิจกรรมเช่นกิจกรรมของประชาธิปไตย สภานักเรียนนำมาใช้ การไปทัศนศึกษาต่างจังหวัด เด็กร่วมวางแผนกันเอง ถ้าในเชิงบูรณาการกลุ่มสาระยังไม่ถึง คิดว่าอีกสัก 1- 2 ปีน่าจะไปถึง
ส่วนพฤติกรรมการเรียนการสอนของครูในกลุ่มสาระต่างๆ ตอนนี้ผมว่าประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์เปลี่ยนแปลงไปแล้ว วิธีการสื่อสารก็เปลี่ยน การให้กำลังใจนักเรียนเปลี่ยน เพราะเขายังยึดแบบเดิมคือมุ่งผลมากกว่ากระบวนการ ซึ่งเราก็เข้าใจได้ แต่ถ้าเมื่อไรครูเข้าใจว่าเราเน้นกระบวนการมากกว่าผล แล้วกระบวนการนั้นจะเกิด ตอนนี้ผลที่เกิดกับเด็กส่วนใหญ่เกิดจากกระบวนการทั้งสิ้น ผลที่เกิดกับเด็กที่ชัดเจนคือทีมสภานักเรียน การจัดกิจกรรมทุกกิจกรรมไม่ว่าหน้าเสาธง กีฬาสี ฯลฯ ชัดเจนมาก ที่เด็กมีความสุขมากที่สุดคือการนำเสนอบนเวที แล้วส่วนใหญ่จะใช้เทคโนโลยีได้ ทำพาวเวอร์พอยต์นำเสนอเองได้ แต่ว่าที่ใช้อยู่ที่โรงเรียนเด็กอนุบาลร้องเพลงให้รุ่นพี่ฟัง เด็กเอ๋ยเด็กดีเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งสืบเนื่องมาจากข้อตกลงร่วมกันว่าถ้าน้องๆ ได้ฝึกร้องทุกวันน้องๆ จะมีความมุ่งมั่นที่จะศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอเป็นภาษาอังกฤษหน้าเสาธง โดยให้แต่ละชั้นสับเปลี่ยนหน้าที่กัน ถ้าเด็กไม่มีความรู้ก็ต้องไปหามา เพื่อฝึกให้เด็กใฝ่หาความรู้มากขึ้น
ตอนนี้น่าจะประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เพราะจำนวนเด็กอนุบาลหนึ่งจากปีที่แล้ว 22 คน ปีนี้เพิ่มเป็น 30 คน ป.1 เป็น 31 คน จาก 22 คน ที่ผมอนุมานเช่นนี้เพราะคิดว่าด้วยจำนวนเด็กที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ชั้นอนุบาลแสดงว่าชุมชนยอมรับโรงเรียนมากขึ้น เขาบอกว่าเด็กมีความกล้าแสดงออก เพราะมีเด็กคนหนึ่งอ่านหนังสือไม่ออกเลย แต่เขาสามารถขึ้นนำเสนอบนเวทีได้ ผู้ปกครองก็นั่งน้ำตาไหล ดีใจ และตอนนี้เด็กคนนี้อยู่ในทีมสภานักเรียน
เมื่อก่อนเด็กดีๆ เก่งๆ จะไปเรียนที่โรงเรียนอื่นๆ หมดเลย ผมเลยนำกระบวนการนี้เข้ามาเพราะเป็นกระบวนการที่มุ่ง “ทักษะชีวิต” ครูเป็นคนพูดเอง และครูก็ยิ้มอย่างมีความสุขเมื่อเด็กนำเสนอและคำตอบที่ยืนยันได้สุดท้ายก็คือ จากการนำเสนอปากเปล่าของ สมศ.เพราะโครงการนี้ตอบรับเกือบทุกมาตรฐานไม่ว่าเด็ก ครู หรือผู้บริหาร และชุมชนด้วย ชุมชนก็จะเข้ามามากขึ้นเมื่อลูกเขากลับไปบอกว่าวันนี้ลูกเขาจะทำอะไร แต่มันมีข้อแม้คือพื้นฐานของเด็กเราไม่เท่ากัน ทำให้จัดกิจกรรมยาก แต่ว่าพอที่จะบอกได้ว่าเด็กที่อ่านไม่ออกกับเด็กที่อ่านคล่องเขียนคล่องมีน้ำใจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ผมไปสังเกตเห็นว่าเวลาแบ่งกลุ่มเขามีหลายรูปแบบ การนับหนึ่ง สอง สาม สี่ ดีไม่ดีอย่างไรเด็กจะถกกันเอง มาถึงวิธีสุดท้ายที่เขามาบอกผมคือ น่าจะแยกคนที่อ่านไม่ออกหนึ่งกลุ่ม ปานกลางหนึ่งกลุ่ม เก่งหนึ่งกลุ่ม แล้วมาจับฉลากมันจะได้คละกลุ่มกันได้ เด็ก ป.4 เป็นคนคิด เหตุผลคือจะได้ช่วยกัน แต่ข้อแม้คือว่าทุกคนต้องปรับเปลี่ยนบทบาท แม้จะยังได้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์แต่ก็ดีขึ้น
ระดับชั้นที่น่าจะนำไปใช้ได้ชัดเจนที่สุดคืออนุบาลเรื่องทักษะการพูด อนุบาลจะใช้ในกิจกรรมของเขาสอดแทรกได้ในทุกกิจกรรมไม่ว่าจะเป็นวาดภาพ พูด และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ปกครองได้อย่างชัดเจน โดยชุมชนเขาพูดเองว่าเขามีความภาคภูมิใจที่เขาได้เป็นวิทยากรให้ลูกหลาน
ผมคิดว่าถ้าครูเข้าใจ “กระบวนการลึกซึ้ง” น่าจะเกิดประโยชน์ แต่ว่ากระบวนการวิจัยก็ไม่ใช่ยาวิเศษ ต้องหาเครื่องมืออื่นมาช่วย และต้องปรับไปตามสถานการณ์
ผมยืนยันได้ว่าครูที่นี่ชอบสอนมาก มีครูบางคนมาบอกผมว่า ผอ.เอาอย่างนี้ได้ไหม เราไม่ต้องทำอย่างอื่น เราสอนแต่ O-Net แต่ว่าตอนนี้ครูเข้าใจแล้วว่า O-Net ไม่ได้สำคัญที่สุด เพราะเขาเห็นผลที่ออกมาคือ “ทักษะชีวิต” มากกว่า โชคดีว่าตอนนี้ครูเริ่มเข้าใจแล้ว เขารับได้ ไม่ผ่าน สมศ.ไม่เป็นไร แต่ให้ชุมชนรับผลงานของคุณครูได้ เขาเรียนรู้ว่าการอยู่ในสังคมเขาต้องเคารพผู้ใหญ่อย่างไร ในท้องถิ่นของเขาเขาจะอยู่ได้ไหม เขามีอะไรบ้างเมื่อเขาจบไปแล้ว ไปทำอะไรได้บ้างไหม โดยให้เด็กเป็นคนเลือกว่าถ้าเขาจะเรียนรู้เรื่องอะไรใครมีความรู้มากที่สุด เด็กก็จะมาโหวตกัน ที่เห็นชัดเจนของโรงเรียนคือชุมชนให้ความร่วมมือมากขึ้นในเรื่องการจัดการศึกษา ผมจัดทำคู่มือผู้ปกครองเรื่องสอนลำดับพื้นฐาน เข้ามามีส่วนร่วมสอนลูกมากขึ้น แต่ชุมชนของผมพ่อแม่ไม่ค่อยได้อยู่กับลูก ต้องไปประกอบอาชีพ ชุมชนก็ชอบ
ส่วนใหญ่ทุกโรงเรียนในโครงการนี้จะ “เปิดประเด็น” ไว้ว่า “โรงเรียนจะสร้างลูกเขาให้เป็นอย่างไร” ในที่ประชุมผู้ปกครอง ซึ่งเป็นประเด็นที่ท้าทายมาก สำหรับโรงเรียนบ้านเขาจีนประธานคณะกรรมการสถานศึกษาบอกไว้เลยว่าอีก 3 ปีโรงเรียนบ้านเขาจีนจะปลอดนักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ สำหรับโรงเรียนบ้านเขาจีนผมบอกกับผู้ปกครองว่าทุกเรื่องที่ผู้ปกครองเสนอมา ผมทำให้หมด ขอแค่ให้ท่านดูแลลูกหลานของท่านอย่าไปยุ่งกับยาเสพติดเท่านั้น แต่ก็ยังทำไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ส่วนใหญ่เขาก็มั่นใจ
การทำ “พลังกลุ่ม” เป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้ครูแต่ละคนรู้จักตัวตนของกันและกันมากขึ้น เมื่อทุกคนรู้ตัวตนแล้ว เขาจะเข้าใจว่าความเป็นหนึ่งในองค์กรสำคัญที่สุด ทุกคนมีดีอยู่ที่ตัว แต่ว่าทุกคนไม่ดีหมด แต่ละโรงเรียนก็ขับเคลื่อนเหมือนกัน เมื่อเราทำงานได้ระยะหนึ่งเมื่อมีปัญหาก็ใช้ “พลังกลุ่ม” มาแก้ไขปัญหา