เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง
วันที่ 11-12 กรกฎาคม 2555 ณ นกน้ำรีสอร์ท อ.เมือง จ.สตูล
โรงเรียนบ้านกุบังปะโหลด ประสบปัญหาจำนวนเด็กลดลงมากในระยะเวลา 5 ปี เพราะมีโรงเรียนคู่แข่งเกิดขึ้นหลายแห่ง เกิดปัญหาวิกฤติศรัทธาระหว่างชุมชนกับโรงเรียน และพฤติกรรมการสอนของครู จึงคิดนำ “กระบวนการวิจัย” มาใช้แก้ปัญหา เพราะเห็นแบบอย่างที่ดีจากโรงเรียนอนุบาลสตูล หลังใช้ “กระบวนการวิจัย” ได้ 1 ปี พบว่า ครูเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด รู้จักจดบันทึก รับรู้ รับฟัง เสนอแนะได้ เปิดใจกว้างมากขึ้น ส่วนนักเรียนก็รู้จักกระบวนการทำงานกลุ่ม บทบาทผู้นำ การเคารพเสียงข้างมาก ประชาธิปไตย ความสามัคคี การเขียน การจดบันทึก การพูด การกล้าแสดงออก จากเดิมถ้าขึ้นเวทีเด็กก็สั่น ถามหนึ่งคำกว่าจะตอบหนึ่งคำก็นานมาก แต่เดี๋ยวนี้เด็กพูดเก่งขึ้น ประโยคที่พูดได้มีมากขึ้น แต่ยังไม่ถึงขั้นวิเคราะห์สังเคราะห์
ผมเป็นข้าราชการครูมา 21 ปี เป็นผู้บริหารมา 15 ปี ทำงานอยู่ในพื้นที่จังหวัดสตูล 4 อำเภอ บริหารโรงเรียนมาแล้วทุกขนาด ย้ายมาตำรงตำแหน่งที่นี่ได้ประมาณ 2 ปี โรงเรียนบ้านกุบังปะโหลดเป็นโรงเรียน มีครู 11 คน นักเรียน 127 คน จำนวนนักเรียนในระยะ 5 ปีที่ผ่านมาลดลงโดยตลอด จาก 200 กว่าคน เหลือเพียง 127 คนในปีนี้ ย้ายมาท่ามกลางวิกฤต เพราะโรงเรียนแวดล้อมไปด้วยโรงเรียนเอกชนที่จัดการเรียนการสอนรูปแบบมุสลิม 4 โรง คนในชุมชนเป็นมุสลิม 100 เปอร์เซ็นต์
การนำ “กระบวนการวิจัย” มาใช้ในการเรียนการสอน : ผมตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าจะเข้าร่วมโครงการนี้ แต่จะหาพันธมิตรอย่างไร ก็เลยไปชวนเพื่อนๆ โรงเรียนต่างๆ เข้ามาร่วมโครงการนี้ จากพื้นฐานความคิดที่ว่า โรงเรียนไม่ผ่านการประเมินของ สมศ.รอบ 2 และวิกฤติศรัทธา ครูให้ทีวีสอนเด็ก เด็กก็ลด คู่แข่งก็เยอะ จะทำอย่างไรดี เมื่อย้ายมาที่นี่แล้วที่พอจะสู้เขาได้ จะเอาตรงไหนมาเป็นจุดเด่นของโรงเรียนเพื่อดึงลูกค้าของเรา สร้างความประทับใจให้กับผู้ปกครอง จัดโปรโมชั่นอย่างไร ต้องมีการบริหารเชิงตลาดด้วย ไม่อยากต้องการเด็กเพิ่ม แต่ต้องการแก้ปัญหา และเชื่อว่าจากหลักการแนวคิดและผลที่ ผอ.สุทธิเคยทำมาแล้ว 5 - 6 ปี ที่ว่าไม่ได้ ไม่ได้ ยาก ยาก ลำบาก รู้ว่ายาก แต่คิดว่าถ้าเราทำเรื่องนี้ เอาตรงนี้มาเป็นไฮไลท์ในการบริหารจัดการ คิดว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง ไม่ใช่แค่เด็กอย่างเดียว เรื่องอื่นๆ ก็เดินได้หมด ทั้งการทำงานเป็นทีม ความขัดแย้ง ครูอายุมากทำงานไม่ได้ ต่างวัย ชุมชนไม่ให้ความร่วมมือ การจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการวิจัยจะแก้ได้ เป็น “ยาผีบอก” หรือ “ยาหม้อใหญ่” ที่ผมคิดว่าแก้ได้ทุกเรื่อง จึงจัดทำ “โครงการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้” ขึ้นมา
แนวคิดของผมเกิดมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ทั้งกระแสสังคม ปฏิรูปการศึกษา ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน คิดนานแล้วแต่หาเพื่อนร่วมทางไม่ได้ อุดมการณ์มี แต่ไม่รู้จะไปทำกับใคร ระบบราชการก็ไม่ใช่ มีแต่นโยบาย เดิมก็คิดว่าจะแก้อย่างไรดี ก็ทำไปเรื่อยๆ แต่ก็มารู้สึกว่านโยบายที่เขียนไว้ ก็แค่เขียนไว้เฉยๆ แต่เป้าหมายมันไปไม่ถึง อยู่แต่ในกระดาษ เปลี่ยนนโยบายก็แล้ว เปลี่ยนรัฐบาลก็แล้ว ปฏิรูปแล้ว ก็ยังไปไม่ถึง ไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ มาผนวกกับที่ผมย้ายมารับตำแหน่งใหม่ที่นี่ เป็นช่วงต่ำสุดของโรงเรียนทุกอย่าง โรงเรียนแย่มาก ไม่ผ่านสักเรื่องหนึ่ง ครูก็ไม่มี วิกฤติศรัทธา หลายเรื่อง ผอ.แต่ละคนมาอยู่ได้ปีสองปีก็ย้ายตัวเองออกไป เขาแก้ไม่ได้แล้ว ยอมแล้ว ก็ไม่มีใครจะมาแล้วโรงเรียนนี้ เมื่อมาก็เป็นอย่างนี้จริงๆ
ปัญหาอุปสรรค : จากพื้นฐานดังกล่าวเมื่อผมไปมีครูเออร์ลี่รีไทร์ 4 คน เหลือครูอยู่ 4 - 5 คน ทำงานไม่ได้เลย ปัญหาก็เยอะ พอผมย้ายไป ก็กลายเป็นความหวังของครูและชุมชนว่า ผอ.คนนี้มาน่าจะช่วยโรงเรียนเราได้บ้าง จากทุนตรงนี้ผมจึงตัดสินใจเหมือน ผอ.รัชนีคืออย่างไรก็ไม่ให้โหวต พาไปให้เลยว่าผมรับแนวคิดนี้ ผมก็บอกครูว่า ผมไม่ย้ายไปไหน แต่หากผมเอาอะไรมาให้ครูต้องไม่ปฏิเสธ เดิมการบริหารของผมจะใช้วิธีสั่งการมากกว่า แต่เมื่อเข้ากระบวนการของ สกว.คือผู้บริหารทั้ง 11 โรงได้รับเหมือนกันคือเป็นผู้ฟังให้มาก กล้าแสดงออก จึงปรับเปลี่ยนการบริหารมาเป็นแบบมีส่วนร่วมเป็นหลัก รับฟังมากขึ้น
ช่วงก่อนปิดภาคเรียนสิ้นปีที่ผ่านมา ผู้บริหารทั้ง 11 โรงไปถอดบทเรียนวิธีการบริหารที่เราได้ทำงานกับ สกว. พบว่าสิ่งที่เราต้องทำเพิ่ม คือ การกำกับติดตาม นิเทศ การแนะนำรายบุคคล การใช้เวทีเพื่อนช่วยเพื่อน ประชุมติดตาม ถอดบทเรียน เสริมแรง ให้กำลังใจ เป็นผู้ฟังให้มาก ให้ลูกน้องพูดเยอะๆ สร้างเงื่อนไขในการทำงาน สร้างความตระหนัก สร้างการมีส่วนร่วม ทำตัวให้เล็ก ผู้บริหารต้องไม่ต้องทำตัวโต นั่งแต่หัวโต๊ะ ต้องลงมือทำจริง ส่งเสริมครูให้ได้รับการอบรมในเวทีต่างๆ แชร์องค์ความรู้ ปัญหาและอุปสรรคร่วมกันระหว่างผู้บริหารและครูทั้ง 11 โรง เพื่อหาทางออกร่วมกัน ซึ่งโดยสรุปปัญหาอุปสรรคของทั้ง 11 โรงนี้เราจะรู้กันหมด บางครั้งก็ช่วยกันแก้ไข และแนวคิดแต่ละคนต่างคนก็มี “ทุน” อยู่แล้ว แต่เมื่อมีการรวมตัวกันทั้ง 11 โรงก็เป็นการหาเพื่อนร่วมทาง และจะได้อุ่นใจว่าเราไม่ได้ทำคนเดียว
การประชุมครั้งแรกที่โรงเรียนอนุบาลสตูลมีโรงเรียนเข้าร่วม 15 โรง แต่เข้าร่วมโครงการ 11 โรง อีก 4 โรงยังไม่พร้อม เขาไม่มั่นใจว่าจะสามารถขับเคลื่อนได้
ผมขอพูดถึงแนวคิดที่ ผอ.แต่ละคนนำไปขับเคลื่อนตามบริบทของตัวเอง บางคนก็ทำไปบ่นไป ถอยหลังก็มี ย้ายโรงเรียนไปอยู่โรงเรียนอื่นไม่เอาแล้วโรงเรียนนี้ก็มี แต่พอผ่านตรงนี้ไปหนึ่งปี แล้ว สกว.ก็ถามกลับไปว่าในปีต่อไปมีโรงไหนจะถอนตัวบ้างก็ไม่ว่ากัน เพราะเป้าตอนแรกมีแค่ 5 โรง แต่บังเอิญว่าทั้ง 11 โรงยืนยันตอบรับทั้งหมด ยังเดินต่อทุกโรง แสดงว่าจากที่เราขับเคลื่อนไป 1 ปีทุกโรงเรียนเริ่มเห็นผลแล้ว มากน้อยอยู่ที่พื้นฐานของแต่ละโรงว่าได้แค่ไหน อย่างน้อยเด็กตัวเป็นๆ ก็เห็น ความภูมิใจของผู้ปกครองก็มี ทำให้ทุกโรงยืนหยัดทำเรื่องนี้ไปอีก 3 ปี เพราะปีแรกผมรู้ว่าผมได้แค่ 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ถึงพฤศจิกายน 2555 ก็ปีครึ่ง แต่คิดไว้ตรงนี้ว่าไม่เกี่ยวกับ สกว.แล้ว รับแนวคิดมาอย่างเดียวว่าเราจะเดินอย่างนี้ต่อ แม้ว่าพี่เลี้ยง สกว.จะไม่ช่วยก็ตาม จะขอเดินด้วยตัวเอง เพราะมีอีก 10 โรงเป็นเครือข่ายปรึกษาหารือเพื่อเดินต่อไป
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น : ตอนนี้ครูเปลี่ยนแปลงไปแล้วเรื่องการจัดการเรียนรู้เรื่องการทำกิจกรรม แต่ยังไปไม่ถึงกลุ่มสาระ กลุ่มเรามองว่าโจทย์ไม่สำคัญ แต่ตั้งพาดหัวไว้เท่านั้นเองเป็นเครื่องมือยอย่างหนึ่ง ครูที่เปลี่ยนตอนนี้มี 30 เปอร์เซ็นต์ เพราะจะเปลี่ยนทีเดียวด้วยวิธีสอนแบบเดิมๆ ที่ทำมา 25 ปี จะมาเปลี่ยนแค่ปีเดียวก็ยาก ผมพยายามเปลี่ยนให้เขาเป็นนักจัดกระบวนการมากขึ้น ปีนี้ยังไม่ขยาย แต่ยังเดินต่อเหมือนเดิม โดยแยกออกจากโครงสร้างแกนกลางต่างหาก เพื่อเลี่ยงข้อข้องใจว่าเบียดบังเวลาเรียนของนักเรียน
ปัญหาครูที่นี่คือ ทักษะการทำงานต่ำ ไม่กล้าพูด ไม่กล้าคิด เป็นผู้ตาม ผอ.ว่าอย่างไรก็อย่างนั้น แต่พอเราเปลี่ยนให้ลองคิดเอง ก็ต้องช่วยกัน เขียนก็ไม่เป็น ต้องฝึกการเขียน ฝึกบทบาทการเป็นผู้นำ จนเดี๋ยวนี้ครูรู้จักจดบันทึก รับรู้ รับฟัง เสนอแนะได้ เปิดใจกว้างมากขึ้น การทำงานก็จะเข้มแข็งขึ้น ที่ส่งผลถึงนักเรียนมากที่สุดคือ กระบวนการทำงานกลุ่ม บทบาทผู้นำ การเคารพเสียงข้างมาก ประชาธิปไตย ความสามัคคี การเขียน การจดบันทึก การพูด การกล้าแสดงออก จากเดิมถ้าขึ้นเวทีเด็กก็สั่น ถามหนึ่งคำกว่าจะตอบหนึ่งคำก็นานมาก แต่เดี๋ยวนี้เด็กพูดเก่งขึ้น ประโยคที่พูดได้มีมากขึ้น แต่ยังไม่ถึงขั้นวิเคราะห์สังเคราะห์
กระบวนการสังเคราะห์อยู่ที่ครูว่ากระบวนการนี้สังเคราะห์ว่าไปสอดคล้องกับนโยบายตรงไหนอย่างไร สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ไหม ครูยังไม่ได้เป็นนักจัดกระบวนการอย่างเต็มตัว แต่เริ่มเปลี่ยนแปลงแล้ว โดยเฉพาะวิชานี้ เพราะเราออกแบบให้ครูเป็นนักจัดกระบวนการ ครูไม่ได้เป็นคนบอกความรู้แล้ว แต่ต้องเป็นนักจัดกระบวนการให้นักเรียนค้นหาความรู้ ซึ่งความรู้มีทุกแห่ง ครูต้องพยายามตั้งคำถาม ป้อนคำถาม เราในฐานะผู้บริหารต้องสร้างครูแบบนี้ให้มากขึ้น เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานเดิมๆ
การขยายผล : ตอนนี้โรงเรียนได้สร้างเครือข่ายเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของโรงเรียนคือ มีตัวแทนผู้ปกครองเป็นกรรมการสถานศึกษา ที่วางแผนจะทำคือเครือข่ายผู้ปกครองระดับชั้นต่างๆ โดยให้ผู้ปกครองแต่ละชั้นเป็นผู้เลือก แค่ลำพังกรรมการสถานศึกษาจะขับเคลื่อนทั้งหมด คงไม่ได้ เพราะกรรมการต้องกำกับดูแลเรื่องนโยบายต่างๆ โดยที่เขาเป็นตัวกลางระหว่างกรรมการสถานศึกษากับผู้ปกครองทั้งหมด
เคล็ดลับความสำเร็จการจัดการศึกษาแบบ PBL ผู้บริหารต้องวิเคราะห์บริบทตัวเองถึงแนวคิดในการขับเคลื่อนงาน หาจุดแข็งจุดอ่อนของตัวเอง ว่าพื้นฐานของโรงเรียนเราเป็นอย่างไร เพื่อทบทวนตัวเอง แล้วปรับแนวคิดการทำงานใหม่ เพื่อหาวิธีการบริหารจัดการโรงเรียนตามวิถีทางของตนเอง นอกจากนี้ต้องปรับแนวคิดและสร้างความตระหนักให้ครูคิดเหมือนเรา ถ้าเราคิดคนเดียวแล้วไม่ไปขับเคลื่อนหรือสร้างความตระหนักให้ครู คงสำเร็จได้ยาก