เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง

เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูลและจังหวัดตรัง

วันที่ 11-12 กรกฎาคม 2555 ณ นกน้ำรีสอร์ท อ.เมือง จ.สตูล


โรงเรียนบ้านโคกประดู่  นำ “กระบวนการวิจัย” ของ สกว.เข้ามาใช้ในการพัฒนาโรงเรียน เนื่องจากการวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็งของโรงเรียนพบว่า ครูขาดเทคนิคการสอน ไม่กระตือรือร้น ไม่สามารถจุดประกายความคิดและการเรียนรู้ให้เด็กได้ ขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน เมื่อนำ “กระบวนการวิจัย”  มาใช้พบว่าสามารถแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง แต่ต้องมีการปรับกระบวนการให้เป็นรูปแบบเฉพาะของตนเอง โยเน้นไปที่การบูรณาการข้ามกลุ่มสาระ ให้ครูประจำชั้นสอนบูรณาการหลายวิชา  และจากเดิมที่เคยใช้กระบวนการ 10 ขั้นของ สกว. ก็ปรับลดลงเหลือ  8 กระบวนการ  โดยยุบรวมขั้นตอนการตรวจสอบและการนำไปใช้ให้อยู่ในขั้นตอนเดียวกัน   ผลที่เกิดคือครูมีแผนการเรียนรู้ มีการบูรณาการเข้าสู่แผนการสอน สามารถพัฒนาให้เด็กมีศักยภาพมากขึ้น เด็กกล้าแสดงออก คิดเป็น วางแผนเป็น ผู้ปกครองและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกับโรงเรียนมากขึ้น
 

โรงเรียนบ้านโคกประดู่  เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีครู 10 คน นักเรียน 159 คน เป็นชุมชนเมือง โรงเรียนขาดแคลน เรื่องของการพัฒนาศักยภาพเด็ก ประสบปัญหาน้ำท่วมปีละ 3 – 4 ครั้ง เป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้  เมื่อเกิดน้ำท่วมแต่ละครั้งโรงเรียนต้องหยุดเรียนประมาณ 4 – 5 วัน จากผลกระทบดังกล่าวทำให้โรงเรียนต้องจัดอาคารสถานที่ใหม่ เพื่อแก้ปัญหา ต้องสร้างแท่นที่สูงเพื่อเก็บของสูงประมาณ 1 เมตร ไม่ต้องยกขึ้นยกลงเวลาน้ำท่วม เด็กที่โรงเรียนจะต้องเตรียมพร้อมอยู่เสมอเรื่องการรับมือน้ำท่วม  โดยโรงเรียนจะให้ความรู้และแนวปฏิบัติตนไว้เมื่อเกิดน้ำท่วม
 

จากการวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็งจากภาพรวมของโรงเรียนพบว่า ขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน ครูขาดทักษะการเรียนการสอน เมื่อมีโครงการของ สกว.เข้ามา จึงเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่โรงเรียนจะใช้โครงการนี้แก้ปัญหาครูขาดเทคนิคการเรียนการสอน ครูไม่กระตือรือร้น ไม่สามารถจุดประกายความคิดและการเรียนรู้ให้เด็กได้   เมื่อนำ “กระบวนการวิจัย”  มาใช้พบว่าสามารถแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง   โดยกระบวนการวิจัย”  มีทั้งการจัดประชุมที่มีพี่เลี้ยงจาก สกว.เข้ามาชวนคิดชวนคุย  ครูได้ปรึกษาหารือและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ไปศึกษาดูงาน มีการนิเทศติดตามทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ส่วนการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนนั้นจะทำผ่านการประชุมต่างๆ มีการจัดประชุมผู้บริหารร่วมกับผู้ปกครอง และจัดให้มีกิจกรรมร่วมกัน
 

โรงเรียนบ้านโคกประดู่มีโครงการเด่นคือโครงการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โครงการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมตามวิถีมุสลิม เนื่องจากโรงเรียนตั้งอยู่ในชุมชนมุสลิม ผลจากการนำ “กระบวนการวิจัย” เข้ามาใช้ 2 ปี  และได้ วิเคราะห์กระบวนการ 10 ขั้นตอนแล้ว  ผมเห็นว่าโรงเรียนจะจัดการเรียนการสอนในแบบที่เป็นตัวของเราเองคือเน้นไปที่การบูรณาการข้ามกลุ่มสาระ ให้ครูประจำชั้นสอนบูรณาการหลายวิชา  และจากเดิมที่ใช้กระบวนการ 10 ขั้นของ สกว. ในปีที่ผ่านมาเราก็ปรับลดลงเหลือ  8 กระบวนการ เพราะคิดว่าบางกระบวนการสามารถยุบรวมกันได้ ขั้นตอนที่ยุบรวมคือ ขั้นตอนการตรวจสอบและการนำไปใช้   การตรวจสอบคือ นำบุคคลที่เกี่ยวข้องมาช่วยยืนยันข้อมูล และพูดคุยว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ส่วนไหน เพราะทุกคนจะลืมไม่ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เก็บเกี่ยวมา บางคนก็เก็บอย่างละเอียด บางคนไม่ได้เก็บเลย แต่ปีนี้เราจะเน้นการใช้ประโยชน์มากขึ้น
 

ผลที่เกิด : ครูมีแผนการเรียนรู้ มีการบูรณาการเข้าสู่แผนการสอน พัฒนาให้เด็กมีศักยภาพ มีแหล่งเรียนรู้ จัดห้องเรียนให้น่าอยู่ มีสภาพแวดล้อม สื่อและแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียนและภายนอกชุมชน มีครูภูมิปัญญาเข้ามาให้ความรู้ในโรงเรียนและนอกโรงเรียน เป็นการเปลี่ยนแปลการจัดการศึกษาในรูปแบบใหม่ เมื่อก่อนเป็นเด็กขี้อาย ไม่กล้านำเสนอ เห็นอะไรก็กลัว แต่ตอนนี้เด็กกล้าแสดงออก คิดเป็น วางแผนเป็น
 

แรงบันดาลใจในการนำกระบวนการวิจัยมาใช้ :  ครูขาดทักษะการเรียนการสอน  โรงเรียนขาดความพร้อมในหลายๆ เรื่อง และในรอบ 4 – 5 ปีที่ผ่านมาชุมขนไม่เคยเข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมของโรงเรียนเลย  แต่เมื่อได้ร่วมงานกับ สกว. นำ “กระบวนการวิจัย” เข้ามาใช้ มีการดึงภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ามา มีการสำรวจแหล่งเรียนรู้ในชุมชน วิทยากรและผู้รู้ต่างๆ ในชุมชน  ผ่านไป 1 ปี ในฐานะที่เป็นผู้บริหารเรารู้สึกว่าการจัดการลงตัวไปเยอะมาก ครูมีเทคนิคมากขึ้น ครูกระตือรือร้น เด็กก็กระตือรือร้น ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมกิจกรรมมากขึ้น  เช่น เวลาจัดประชุมผู้ปกครองจะเข้าร่วมจนเต็มห้องประชุม ครูเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ ทั้งพฤติกรรมการเรียนการสอน เทคนิคการสอน ส่วนตัวผู้บริหารเองก็เห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นคือ การบริหารจัดการลื่นไหลและเป็นระบบมากขึ้น”

การเปลี่ยนแปลงของผู้บริหาร :  รู้สึกว่าเรามีความอดทนมากขึ้น มีความยืดหยุ่น มีความเป็นระเบียบเป็นระบบมากขึ้น ต้องอดทน เปิดโอกาสให้ครูได้แสดงความคิดเห็น  เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบไปทั้งระบบ