เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูล และจังหวัดตรัง


เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูล และจังหวัดตรัง

วันที่ 11-12 กรกฎาคม 2555 ณ นกน้ำ รีสอร์ท อ.เมือง จ.สตูล


โรงเรียนบ้านท่าคลอง เป็นโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็ก จำนวนนักเรียนลดลงทุกปี เนื่องจากมีโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามมาเปิดเพิ่ม 2 แห่ง จึงเกิดการแย่งนักเรียนเกิดขึ้น  เมื่อเข้ามารับตำแหน่งผู้บริหารที่นี่คิดหาวิธีเพิ่มจำนวนนักเรียน เริ่มต้นด้วยการสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการเรียนรู้ ปรับปรุงห้องน้ำ โรงอาหาร ฯลฯ แต่ก็ยังไม่ได้ผล จนเมื่อได้รู้จัก สกว.จึงคิดนำ “กระบวนการวิจัย” มาใช้  เริ่มจากพาครูในโรงเรียนไปศึกษาดูงานที่โรงเรียนไทรงามและอนุบาลสตูล เมื่อครูเห็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงนำ“กระบวนการวิจัย” มาใช้  ซึ่งก่อนทำโรงเรียนมีการสอบถามความต้องการของคนในชุมชนและผู้ปกครองก่อนว่าอยากให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องอะไร ก็ได้ข้อสรุปเรื่อง “อิสลามศึกษา” เพื่อให้เด็ก ชุมชน และโรงเรียนเป็นหนึ่งเดียวกัน  เมื่อทดลองทำได้ระยะหนึ่งพบว่าเด็กเปลี่ยน ครูก็เปลี่ยน เด็กกล้าพูด กล้าทำ นำเสนอได้  ครูมีความสุขกับการสอนมากขึ้น กระตือรือร้น ส่วนผู้ปกครองก็ชอบที่โรงเรียนเน้นไปทางเรื่องศาสนา จากเดิมที่โรงเรียนก็อยู่ส่วนโรงเรียนก็มีความร่วมมือกับชุมชนมากขึ้น

โรงเรียนบ้านท่าคลองเป็นโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็ก เปิดสอนระดับประถมศึกษา มีครู 6 คน ครูส่วนใหญ่อายุเฉลี่ยน้อย นักเรียน 57 คน  นักเรียนนับถือศาสนาอิสลามเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าคลองเมื่อปี  2552  ก่อนมาดำรงตำแหน่งที่นี่รับตำแหน่งรองผู้อำนวยการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 20 จังหวัดชุมพร


บริบทของโรงเรียนผู้ปกครองส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง ฐานะค่อนข้างยากจน  บริเวณโดยรอบห่างจากโรงเรียน 1 กิโลเมตร มีโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม 2 แห่ง ถือเป็นคู่แข่งสำคัญของโรงเรียน เพราะแต่ละโรงเรียนต่างแย่งเด็กเพื่อให้เข้าเรียนในโรงเรียนของตน  และจำนวนนักเรียนของโรงเรียนบ้านท่าคลองมีจำนวนลดลงทุกปี  แต่เราก็พยายามหาวิธีเพิ่มนักเรียนทุกวิถีทาง จนได้มารู้จักกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
 
การนำ “กระบวนการวิจัย” มาใช้ในการเรียนการสอน : ช่วงที่ย้ายมาที่นี่แรกๆ เห็นว่าโรงเรียนก็น่าอยู่  ครูก็น่ารัก แต่เด็กทำไมลดลง พบว่ารอบๆ โรงเรียนมีโรงเรียนปอเนาะ และชุมชนค่อนข้างเคร่งศาสนา  โรงเรียนอยู่ติดมัสยิด ประธานกรรมการสถานศึกษาเป็นโต๊ะอิหม่าม เมื่อมีการประเมินผลของ สมศ.รอบ 2 พบว่ายังไม่ผ่าน  สมศ.แนะนำให้ทำหลักสูตรท้องถิ่นเพิ่ม และแนะนำให้ครูทำวิจัย 

เราต้องการพัฒนาโรงเรียนให้ดีขึ้น จะใช้อะไรก็ได้ ตอนแรกเราไม่รู้ว่าจะใช้อะไร มีอะไรที่พอจะไปได้ก็ทำ สืบค้นข้อมูลพบว่ามีการอบรม “วิจัยอย่างง่ายสำหรับคุณครู”  ในโครงการยุววิจัยยางพารา ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งจัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มี รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ เป็นวิทยากร แต่การอบรมครั้งนี้เน้นคณิต-วิทย์ โรงเรียนก็ทำโปรเจ็คไป แต่ตอนนั้นโรงเรียนเราไม่มีเอกวิทยาศาสตร์ เพราะเราเป็นโรงเรียนเล็กๆ ตอนที่ท่านมาเยี่ยมโรงเรียนก็มาเย็นแล้ว ครูก็สอนเด็กจนหมดแรงแล้ว  คุยกันยังไม่ทันได้ข้อสรุป แต่ก็ใช้วิธีการสื่อสารทางอีเมล์ ซึ่งอาจารย์สุธีระท่านให้คำแนะนำตลอดเวลาให้เติมตรงนั้นตรงนี้  แต่ท่านก็เงียบหายไป  เราก็ไม่ท้อ พยายามทำทุกอย่าง เพื่อให้ครูในโรงเรียนรู้สึกมีความสุข ทั้งปรับระบบห้องน้ำ ห้องอาหาร แต่เรื่องวิชาการจะพักไว้ก่อน  เน้นสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการเรียนรู้

 ตอนที่มารับตำแหน่ง ครูเก่าๆ ย้ายไปหมดแล้ว เหลือแต่ครูน้องใหม่ๆ ที่อยู่กันอย่างเรียบง่าย เรามาใหม่ก็ค่อยๆ ช่วยครูทำโน่นทำนี่ พอครูเห็นเรากระตือรือร้นก็ทำตาม เพราะเป็นเรื่องง่ายๆ ใกล้ตัว หลังจากนั้นก็ได้ไปดูเวทีที่โรงเรียนไทรงามที่มีการทำวิจัยกับ สกว.ท้องถิ่น ตอนไปก็ยังไม่รู้เลยว่า สกว.ท้องถิ่นคืออะไร เพราะเคยไปอบรมกับ สกว.ก็เป็นเรื่องวิทย์-คณิต ซึ่งมันคนละเรื่องกันเลย แล้ววันนั้นไปก็ยังงงๆ ว่าเขาทำเรื่องอะไรแปลกๆ แต่เป็นเรื่องเล็กๆ ที่น่ารักๆ  เมื่อกลับมาแล้วเราก็ทำงานของเราต่อไป ปรับภูมิทัศน์บ้างเล็กๆ น้อยๆ คุยกับชาวบ้านบ้าง ก็ยังคิดอยู่ตลอดเวลาว่าทำอย่างไรโรงเรียนเราจึงจะพัฒนาขึ้นมาได้  ช่วงนั้นพอดี สกว.ท้องถิ่นจัดเวทีนำเสนอผลงานที่จังหวัดสตูล เราก็ได้มาดู ให้คุณครูมาดูบ้าง เพื่อให้เขารู้ว่ามันไม่ยาก

นอกจากนี้ยังได้มาเรียนรู้ที่โรงเรียนอนุบาลสตูลเขาก็กลับไปเล่าว่า เขาทำเรื่องขยะในห้องซึ่งเป็นเรื่องง่ายๆ เราก็บอกว่าคล้ายๆ โรงเรียนเรา เราก็ได้ไปดูอีก 2 -3 ครั้ง ก็เลยเสนอโครงการเข้ามา  มีพี่เลี้ยงของ สกว.เข้ามาคุยที่โรงเรียนว่าปัญหาของโรงเรียนอันดับแรกที่เราอยากจะแก้คืออะไร “ปัญหาเด็กนักเรียนลดลง”  ทั้งที่ครูของเราก็เป็นครูหนุ่มสาวทั้งนั้น  ก็เลยมาคุยกับคุณครูว่าเราน่าจะทำโครงการ “อิสลามศึกษา”   เพื่อให้เด็ก ชุมชน และโรงเรียนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  


ก่อนขึ้นโครงการได้คุยกับชาวบ้าน ผู้ปกครองเพื่อสอบถามความต้องการของชาวบ้าน เห็นครู เห็นสภาพโรงเรียนจึงอยากขับเคลื่อนร่วมกันต่อ พอมาเข้าโครงการกับ สกว. เมื่อได้ชื่อเรื่องมาแล้ว ก็มาคุยกับครูก่อนว่าปัญหาของเราคืออะไร  ก็ออกมาเป็นประเด็นในการศึกษาว่าเราจะเน้นไปที่วิถีชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย  เราก็ต้องเปลี่ยนรูปแบบเหมือนกัน จากเดิมที่เคยสอนตามตารางสอน ก็ได้รับคำแนะนำจากเวทีอื่นๆ ว่านอกจากการปรับตารางสอนแล้ว ยังต้องมีชั่วโมงให้เด็กไปศึกษาหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ ตอนแรกจัดในวันศุกร์เต็มวัน ตอนแรกเรามีชั่วโมงอิสลามศึกษาสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง ก็เอาสัปดาห์ละหนึ่งชั่วโมงนั้นมารวมอยู่ในวันศุกร์ ภาคเช้าเรียนรู้เรื่องการอ่านเขียนภาษาอิสลาม  ช่วงบ่ายออกพื้นที่ คุณครูก็เริ่มให้เด็กได้สืบค้นข้อมูลของการออกไปเรียนข้างนอก

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น : เราแนะนำให้ครูปรับตารางการสอนทั้งในและนอกห้อง  โดยพูดคุยทำความเข้าใจกับครูว่าเราไม่ได้ปรับอะไรมาก จากที่เคยอยู่ในโรงเรียนก็ออกไปนอกโรงเรียน  มีการให้นักเรียนไปเรียนรู้ด้วยตัวเอง อันนี้เปลี่ยนมาก จากที่ไม่เคยให้เด็กออกไป ทำให้คุณครูรู้สึกว่าครูก็ต้องเตรียมเหมือนกัน ครูก็พูดกันหลายคน  เพราะครูก็ไม่รู้ วิทยากรอิสลามก็ตื่นตัว เตรียมข้อมูลมากขึ้น  มีครูในพื้นที่ 2 ท่าน  เนื่องจากว่าครูเห็นเหมือนกันว่าทำอย่างไรเด็กจะมาเรียนที่โรงเรียน เห็นปัญหาร่วมกัน ครูเวิร์คมาก  ครูชอบมาก เพราะไม่เคยมีใครอยากทำแบบนี้ พอทำครูก็เห็นด้วยทุกประการ  เราสนับสนุนเต็มร้อยทำอย่างไรให้เด็กอยู่   และชุมชนต้องการอย่างนี้  ให้ครูไปดูงานที่ไหนครูชอบมาก อยากไป คุยกับครูไม่นาน ครูก็ตกลง เพราะเราชอบพาครูไปดูงาน ที่พัทลุงไปดูมาหมด  เรารู้สึกว่าครูโรงเรียนประถมเขาค่อนข้างแคบ อยู่แต่โลกใบเล็กๆ พอดีไปเจอครูที่มีอายุเฉลี่ยประมาณ 35 ปี    พาไปดูงาน พาไปพักผ่อน ครูชอบมาก เราอาศัยเรื่องง่าย ๆ เรื่องที่ครูชอบ พาเขาไปดูเรื่องง่ายๆ ได้ลงพื้นที่เปลี่ยนบรรยากาศ เพราะครูเป็นอิสลาม 80 เปอร์เซ็นต์ 

 ทุกวันศุกร์เราจะจัดกิจกรรมอิสลามศึกษาตั้งแต่เช้าถึงเย็น ได้คำแนะนำจากโรงเรียนไทรงามว่าเราน่าจะมีแผนบูรณาการเพื่อตอบโจทย์วิชาการและเขตการศึกษาว่า พาไปทั้งวันเสียเวลาเรียนของเด็กหรือไม่  เราจึงต้องมีแผนบูรณาการรองรับ

การนำวิจัยมาใช้ในโรงเรียนเราไม่ได้เปลี่ยนวิสัยทัศน์ของโรงเรียน  แต่ปรับเปลี่ยนเรื่องการใช้เทคโนโลยี เศรษฐกิจพอเพียง  นำกระบวนการวิจัยเข้ามาใส่ในยุทธศาสตร์  เริ่มแรกที่เราให้เด็กไปเรียนรู้นอกห้องโรงเรียนคุณครูก็ชอบ  พอกลับมาครูก็กระตือรือร้นคิดกันว่าสัปดาห์หน้าจะไปบ้านใครดี  เด็กก็ชอบ แต่ว่าอาจจะบกพร่องเรื่องการบันทึกไปบ้าง  เพราะเป็นเรื่องใหม่  เราพาเด็กไปสัมภาษณ์บ้านนั้นบ้านนี้ สนุกสนานกันทั้งครูและนักเรียน แต่พอมาเขียนบันทึกเราไม่ได้จดทุกบรรทัด พอเรามาเขียนมันก็ขาดเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ผู้ปกครองเล่า   แต่ครูมีความสุขในการทำงานมากขึ้น แม้จะเหนื่อยจะร้อน มีข้อมูลในชุมชนมากขึ้น  ผู้ปกครองตอบรับดีมาก เพราะเราไปทุกบ้าน เข้าใจชุมชน  ครูพุทธจะพูดว่าครูก็เรียนไปพร้อมกับเด็กเลย ไปถามไปสัมภาษณ์กับผู้รู้ในชุมชน    เหมือนการไปดูเรื่องกุโบร์เด็กทำได้หมด ผู้ปกครองบางท่านก็ไม่ทราบเหมือนกัน เวลาเราสรุปในเวทีสาธิตให้ผู้ปกครองดู ผู้ปกครองบอกเองเลยว่าเขาเองก็ไม่ยังไม่รู้เลย  เด็กได้ทำได้เรียนรู้ ครูก็ได้รับรู้ด้วย ครูบางคนก็รู้พร้อมกับเด็กบางเรื่อง ผู้ปกครองบอกว่าบางเรื่องเขาก็ยังไม่รู้เลย เด็กไปค้นมาลึกกว่าเขาอีก  ครูก็ภาคภูมิใจ เพราะพิธีกรรมชาวบ้านบางคนไม่ทราบ

 ที่โรงเรียนจะมีการบูรณาการ 8 กลุ่มสาระ มีแผนบูรณาการชัดเจนตั้งแต่แรก เพราะได้รับคำแนะนำจากโรงเรียนไทรงามมาก่อน  ว่าจะต้องไม่ให้เด็กเสียเวลาเรียนและวิชาการต้องได้  จึงเพิ่มแผนบูรณาการเข้ามาอีกแผนหนึ่ง  เราในฐานผู้อำนวยการจะสนับสนุนทุกอย่าง เอาตัวอย่างมาให้ดู จัดอบรม พาไปดู ครูก็ไม่บ่น เพราะว่าพาไปเที่ยวด้วย ครูชอบ เวลาพาไปดูงานที่ไหน เราจะเน้นให้ครูมีความสุขตลอด คิดงานแต่ว่าไปอย่างมีความสุข   พอสรุปงาน ครูจะเห็นเลยว่าทำอย่างไรจึงจะได้ชิ้นงาน แผนบูรณาการครูก็ทำ แต่ถามว่าใช้จริงเท่าไร คงไม่เท่าไร เพราะเราเพิ่งเริ่ม แต่พอสรุปงานครูจะเห็นเลยว่าที่เขียนไว้ในแผนบูรณาการเด็กทำอันนั้นอันนี้ เราจะต่อยอดงานให้เด็กมีชิ้นงาน จากการลงพื้นที่เรามาโยงแต่ละวิชาได้อย่างไร  อันนี้เราเพิ่งเริ่มทำเมื่อปีที่แล้ว

ทั้งนี้จากการสรุปผลรอบแรกครูเห็นว่าเด็กได้เยอะมาก  เขาก็อยากทำให้ลึกเข้าไปอีก เหมือนกับว่าเทอมที่แล้วเราไปบ้านนี้ แล้วเทอมนี้เราจะแก้ปัญหาอย่างไร  ก็มาคุยกัน  กระบวนการที่เราไปทำครูก็ใหม่ เด็กก็ใหม่  เมื่อไปเก็บข้อมูลชาวบ้านก็ถามไม่ละเอียด ตอนนี้เราก็ต้องมาดู มาแบ่งกลุ่มกันว่าจะถามอย่างไร ทีมเวิร์คของครูดีขึ้น ครูเข้าใจกระบวนการ ยอมรับและคิดว่ามันไม่ได้เป็นภาระ  สมศ.ก็ชื่นชมเมื่อไปที่โรงเรียน  เพราะเราสนับสนุนครูมาก ถ้ารู้สึกว่าครูเครียดเราจะเข้าไปพูดคุยหาวิธีสนับสนุนเขาตลอดเวลา  ให้ครูมีความรู้สึกว่าโรงเรียนเล็กๆ เราต้องทำได้  เวลานัดครูเมื่อไรเขาก็จะมาทันที พฤติกรรมการเรียนการสอนของครูเปลี่ยนไป  ครูจะให้เด็กทำก่อน ไม่บอกเหมือนก่อน  ให้เด็กทำเอง เด็กก็เปลี่ยน ครูภูมิใจมาก โรงเรียนที่จังหวัดตรังต่างคนต่างทำ ไม่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน  แต่ในโรงเรียนเราจะมีการพูดคุยกันตลอดเวลา

เราภูมิใจที่เห็นการเปลี่ยนแปลงของครู ผอ.แฮปปี้ตั้งแต่แรก  ตอนนี้ครูก็เริ่มแฮปปี้ตั้งแต่เห็นงานเด็กในเวทีนำเสนอผู้ปกครอง ชุมชนก็ทะลุเป้าแล้ว  ตอนนำเสนอทีแรกครูก็เครียด กลัวเด็กจะทำไม่ได้ พอเด็กทำได้ดี  ครูก็ภูมิใจ ผู้ปกครองน้ำตาคลอเมื่อเห็นลูกทำได้ เด็กกล้าพูด กล้าทำ นำเสนอได้  ผู้ปกครองยังไม่ได้เข้ามาสนับสนุนโรงเรียน  เพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่เป็นชนขั้นกลางถึงขั้นล่าง มีคลุกวงในบ้างเป็นบางส่วน ในคนที่มีเวลาก็เข้ามาเป็นผู้รู้ให้บ้างและชี้แนะบางเรื่อง  ทัศนคติของผู้ปกครองชอบเลยว่าโรงเรียนไปทางเรื่องศาสนา จากเดิมที่โรงเรียนก็อยู่ส่วนโรงเรียนก็มีความร่วมมือกับชุมชนมากขึ้น  เดี๋ยวนี้ตั้งแต่การแต่งกายนักเรียนเปลี่ยนใหม่หมด วันศุกร์จะแต่งเต็มยศเลย  เรียกว่าโรงเรียนทุ่มทุนสร้างมาก 

โครงการวิจัยที่ทำคือเรื่อง “อิสลามศึกษากับความสัมพันธ์ในชุมชนโดยใช้กระบวนการวิจัยท้องถิ่น”  ป.1 มาคิดกันเถอะ  ป.2 มารยาทอิสลาม ป.3 ถือศีลอด ตั้งแต่เกิดจนตาย เอาเรื่องใกล้ตัวมาทำ เหมือนการแต่งงานก็พาเด็กลงพื้นที่แล้วโยงไปสู่กลุ่มสาระอื่นด้วย  เพราะเราถามแล้วว่าชุมชนอยากได้อะไร เราจะทำเรื่องนั้น แต่ประเด็นหลักคือเรียนรู้นอกห้องเรียนด้วยตนเอง