เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูล และจังหวัดตรัง
เครือข่ายโรงเรียนวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูล และจังหวัดตรัง
วันที่ 11-12 กรกฎาคม 2555 ณ นกน้ำ รีสอร์ท อ.เมือง จ.สตูล


โรงเรียนบ้านนาแก้ว เป็นโรงเรียนขยายโอกาสขนาดเล็กแห่งเดียวของจังหวัดสตูลที่มีนักเรียนไม่ถึง 100 คน นำ “กระบวนการวิจัย” มาใช้เพราะเคยใช้ “กระบวนการวิจัย” มาก่อนสมัยทำหน้าที่รองผู้อำนวยการโรงเรียนตะโละใส ได้เห็นทั้งบทบาทของผู้บริหารที่เป็น Core Team รู้ว่าครูคิดอย่างไร ผู้บริหารคิดอย่างไร ครูเครียดอย่างไร ผู้บริหารเครียดอย่างไรจากการขับเคลื่อนงาน รวมทั้งการถอดบทเรียนแล้วเห็นผลที่เกิดกับเด็กจริงๆ  ทำให้มั่นใจว่า “กระบวนการวิจัย” จะสามารถตอบโจทย์ทางการศึกษาได้ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.การศึกษา หลักสูตรหรือมาตรฐานการศึกษา และความคาดหวังของผู้ปกครอง
 

โรงเรียนบ้านนาแก้ว ในอดีตเป็นโรงเรียนขนาดกลาง แต่ต่อมาเกิดปัญหานักเรียนลดลงทุกปี ทำให้ปัจจุบันกลายเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก และเป็นโรงเรียนขยายโอกาสโรงเรียนเดียวในจังหวัดสตูล ที่มีเด็กนักเรียนไม่ถึงหนึ่งร้อยคน มีพื้นที่ 32 ไร่ เนื่องจากเคยเป็นโรงเรียนขนาดกลาง ทำให้มีความพร้อมเรื่องอาคาร สถานที่ แต่จะขาดแคลนห้องพิเศษ และวัสดุอุปกรณ์  ปีแรกที่ผมเข้ามาเป็นผู้อำนวยการมีนักเรียน 94 คน กระจายอยู่ห้องละ 10 คนบ้าง 8 คนบ้าง 5 คนบ้าง บางห้องก็เต็มไปด้วยโต๊ะเก้าอี้ ปีที่สองนักเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 107 คน จนปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 113 คน  มีครู 12 คน เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล  -  ม.3 สิ่งที่น่าอุ่นใจคือ มีนักเรียนเข้าเรียนชั้นอนุบาลรวมแล้ว 30 คน ซึ่งน่าจะเป็นทิศทางที่ดี เพราะเด็กกลุ่มนี้น่าจะเรียนที่นี่ต่อ ผู้ปกครองส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนยางพารา
 

จุดด้อย : การขาดแคลนสื่อและอุปกรณ์ต่างๆ ในห้องพิเศษ มีเพียงแค่ห้องวิทยาศาสตร์ที่ค่อนข้างจะสมบูรณ์ ห้องซาวด์แลปที่เคยมีก็หมดสภาพไปแล้ว ห้องสมุดก็มีหนังสือน้อย ทำให้นักเรียนขาดโอกาสในการเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ  โรงเรียนอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอ 2 กิโลเมตร  เป็นลักษณะกึ่งสังคมเมือง เริ่มมีแหล่งสถานเริงรมย์ส่งผลให้  สถานการณ์เด็กวัยรุ่นค่อนข้างที่น่าเป็นห่วง และที่สำคัญคือบุคลากรขาดทักษะ ขาดความกระตือรือร้น ขาดการพัฒนา น่าจะขับเคลื่อนได้ยาก  แต่จุดด้อยเหล่านี้ผมไม่ได้มองว่ามันเป็นปัญหา ผมจะพูดกับครูและผู้ปกครองเสมอว่า การที่เด็กโรงเรียนเรามีน้อยมันเป็นโอกาสให้ครูได้ดูแลเด็กนักเรียนอย่างทั่วถึง ครู 1 คนต่อเด็ก 4 คน แต่ถ้าครูสอนหนังสือเด็ก 4 คน แล้วเด็กยังอ่านหนังสือไม่ออก เราจะอธิบายกับสังคมได้อย่างไร ครูบางคนที่สอนพิเศษตามโรงเรียนอื่นๆ บางที 1 คน เขาสอนเด็ก 20 - 30 คน เขายังสอนเด็กพิเศษที่ไม่รู้เรื่องให้สามารถอ่านหนังสือได้ แต่เราสอนเด็กดีๆ แค่ 4 คน อัตราการอ่านหนังสือไม่ออกเท่าๆ  แล้วทำไมเราจะทำไม่ได้
 

จุดแข็ง : โรงเรียนบ้านนาแก้วมีจุดแข็งคือเด็กๆ ของโรงเรียนมีเลือดนักสู้ เนื่องจากพื้นเพของชุมชนนาแก้ว เป็นชุมชนที่ตื่นตัวในเรื่องของการแข่งขันด้านการศึกษามาก หากโรงเรียนพัฒนาให้ผู้ปกครองเห็นก็จะทำให้มีนักเรียนเข้ามาเรียนมากขึ้น
 

โครงการเด่น : โรงเรียนบ้านนาแก้วยังไม่มีโครงการเด่นๆ แต่ผอ. ได้ประกาศเป็นนโยบาย ยุทธศาสตร์ไว้ ในแผน 4 ปี
 

แรงบันดาลใจในการนำกระบวนการวิจัยมาใช้ : ก่อนหน้าที่ผมจะย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนที่นี่ ผมเคยเป็นรองผู้อำนวยการโรงเรียนตะโละใสมา 2 ปี ได้มีโอกาสร่วมงานกับผอ.สุทธิ สายสุนีย์  ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสตูล (อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนตะโละใส) มาก่อน ถือว่ามีฐานทุนเดิมในการใช้ “กระบวนการวิจัย” มาใช้ เพราะในช่วงนั้นจะได้เห็นทั้งบทบาทของผู้บริหาร เป็น Core Team อยู่ตรงกลาง รู้ว่าครูคิดอย่างไร ผู้บริหารคิดอย่างไร ครูเครียดอย่างไร ผู้บริหารเครียดอย่างไรจากการขับเคลื่อนงาน รวมทั้งการถอดบทเรียนแล้วเห็นผลที่เกิดกับเด็กจริงๆ ทำให้ผมมั่นใจว่า “กระบวนการวิจัย” จะสามารถนำมาพัฒนาการเรียนการสอนได้ มั่นใจว่ากระบวนการนี้สามารถตอบโจทย์ทางการศึกษาได้ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.การศึกษา หลักสูตรหรือมาตรฐานการศึกษาก็ตาม  รวมไปถึงความคาดหวังของผู้ปกครองด้วย เมื่อย้ายมาเป็นผู้บริหารที่นี่จึงนำกระบวนการนี้มาใช้ด้วย
 

หลังจากเริ่มนำ “กระบวนการวิจัย” เข้ามาใช้ ถ้าถามถึงความสำเร็จ ผมตอบได้เลยว่าคงไม่สำเร็จถ้ามองในภาพใหญ่ๆ  แต่ถ้าพูดรวมๆ ทั้งคุณภาพของเด็กและครู ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน แต่ผมเป็นคนหวังน้อย ผมได้วางกรอบเกี่ยวกับครูก็คือ บอกให้รู้ สร้างจิตสำนึก เสร็จแล้วก็พัฒนาทักษะ แล้วนำทักษะที่พัฒนานั้นไปใช้ ใช้แล้วเกิดผลอย่างไรก็มาว่ากัน
 

การบริหาร : ช่วงแรกที่ผมนำ “กระบวนการวิจัย” เข้ามาใช้ ต้องต่อสู้ทางความคิดกับครูมากเหมือนกัน เพราะครูเคยชินกับวิธีการสอนแบบเดิมๆ ทำงานสบายๆ  ผมใช้หลากหลายวิธีมาก ทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ข่มขู่ ท้าทาย โดย วางบทบาทตนเองไว้ 3 บทบาท คือ  1. บทบาทผู้ถูกขับเคลื่อน ซึ่งถูกขับเคลื่อนโดยทีมงาน สกว. และถูกขับเคลื่อนโดยเครือข่าย 11 โรงเรียน ในการบริหารจัดการและนำมาสู่ครู นักเรียน ชุมชน 2. บทบาทผู้ขับเคลื่อน จะเริ่มตั้งแต่การพัฒนาความคิดของครู ให้ครูแต่ละคนได้เรียนรู้ขอบข่ายหน้าที่ หลักสูตร  มาตรฐาน จากนั้นจึงเริ่มจุดประกาย ช่วยกันหาวิธีการที่จะพัฒนาเด็ก บอกให้ได้ยิน พูดให้ได้ยิน สุดท้ายก็จะตะล่อมมาถึงแนวทางในการแก้ปัญหา นำเสนอกระบวนการในการพัฒนาทักษะกระบวนการ 10 ขั้นตอน กำหนดให้ครูไปทำแผนหรือไปต่อยอด ช่วยเติมเต็ม ร่วมกันจัดทำเป็นปฏิทินปี ปฏิทินย่อยประจำสัปดาห์ จัดทำเป็นแผนรวม กำหนดให้ครูทำแผนรายชั้น ทำประชาพิจารณ์แผน เติมเต็ม แล้วก็นำแผนไปใช้ ซึ่งช่วงของการนำแผนไปใช้นั้นจะมีกระบวนการกำกับติดตาม ให้การช่วยเหลือ เมื่อครูทำการสอนเสร็จแล้วจะมีการถอดบทเรียนในระดับห้องเรียนแล้วก็มาถอดรวมกัน  3. บทบาทผู้ร่วมวิจัย ทำข้อตกลงกับครูว่าขอเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมที่ครูดำเนินการ เพื่อช่วยสังเกต เก็บข้อมูล กำกับ ดูแล  
 

ทั้งนี้ที่ผ่านมาพบว่า ครูยังทำได้ไม่ลึก แต่กระบวนการวิจัย 10 ขั้นนั้นครูสามารถทำได้ สามารถเดินไปตามปฏิทินและตามแผนที่กำหนดไว้ได้ แต่ความลึกในการแตกแขนงยังไปไม่ถึง ความคิดของครูยังไม่แตก   แต่ก็เห็นแววของครูแล้ว 3 คนว่าน่าจะเป็นแกนนำได้  ผมใช้วิธีค่อยเป็นค่อยไป  ค่อยๆ พัฒนาความคิดครูด้วยการให้งาน ผลัดกันนำ ผลัดกันตาม ให้ครูน้อยดำเนินการ ครูอาวุโสเป็นหัวหน้าประกบคู่กัน โดยผมออกหนังสือเชิญประชุม  เมื่อประชุมเสร็จให้จดรายชื่อ มอบหมายหาประธานการประชุม บันทึกการประชุมเป็นลักษณะจับมือทำ ผมประชุมทั้งวัน แต่บางทีมีประชุมเป็นรายชั่วโมง บางครั้งผมยอมที่จะพูดเรื่องเดียวกัน  7– 8 ครั้ง เพราะแต่ละคนจะใช้วิธีการพูดไม่เหมือนกัน
 

บรรยากาศการทำงาน : บรรยากาศการนำเอากระบวนการวิจัยไปใช้ของโรงเรียนบ้านนานแก้วในคน 4 กลุ่ม นั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง  บรรยากาศของ ผอ. ผมคิดว่าตัวเองมุ่งมั่นเกิน 100 เปอร์เซ็นต์ที่จะขับเคลื่อนโครงการนี้ให้สำเร็จ ในส่วนของเด็กก็จะตื่นเต้น มีความสนุกกับบรรยากาศการเรียนการสอนที่เปลี่ยนแปลงไป  แค่ได้เปลี่ยนสถานที่เรียนเด็กก็ชอบแล้ว ได้ทำกิจกรรมเพิ่มก็ชอบแล้ว ในส่วนของชุมชน มีความคาดหวังมากขึ้น เดิมทีชุมชนบ้านนาแก้ว ชาวบ้านจะเข้ามามีส่วนร่วมก็ต่อเมื่อโรงเรียนขอความร่วมมือ เช่น ช่วยถางป่า ขุดลอกคูคลอง หรือ การแข่งกีฬา เป็นต้น แต่ปัจจุบันชุมชนเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในเชิงวิชาการมากยิ่งขึ้น จัดให้คนชุมชนเป็นพี่เลี้ยงและเป็นทีมวิจัยไปพร้อมกับเด็ก มีเวทีให้ครูภูมิปัญญาได้เข้ามาร่วมมากขึ้น ส่วนในกลุ่มครู ยังไม่ยอมรับ และยังไม่มีใจเท่าที่ควร  ซึ่งผมแบ่งครูได้เป็น  3 ระดับคือ ครูที่สามารถปล่อยมือได้แล้วมีอยู่ 4 คน  ครูที่พอไปได้มี  3 คน ส่วนที่เหลือคือยังทำไม่ได้เลย ยิ่งปีนี้ยิ่งมีปัญหาเรื่องการจัดการ เพราะครูมือหนึ่งจะย้ายออก มีครูใหม่เข้ามาแทน  ปีนี้ผมจึงต้องทำ 2 ส่วนคือขับเคลื่อนครูที่มาใหม่กับคนที่ทำเดิมอยู่แล้ว  ฉะนั้นบรรยากาศของครู 3 กลุ่มนี้จะต่างกันโดยชิ้นเชิง  
 

ปัญหาอุปสรรค : ครูไม่เข้าใจกระบวนการ ยังไม่สามารถต่อยอดได้
 

การมีส่วนร่วมในชุมชน : ปัจจุบันชุมชนพร้อมที่จะเข้ามาร่วมกิจกรรมมากขึ้น  ขึ้นอยู่กับว่าโรงเรียนเปิดโอกาสให้เขามากน้อยแค่ไหน  สำหรับผมในฐานะผู้บริหารจะเน้นความจริงใจ บอกความตั้งใจ นโยบายในการทำงาน ด้วยการสร้างความเข้าใจกับคนในชุมชนว่าเขาควรจะมีบทบาทอย่างไร ครูมีบทบาทอย่างไร ให้ทุกคนได้รู้ ประมวลความคาดหวัง สะท้อนปัญหา รับทราบปัญหา เพื่อนำมาใช้ในการกำหนดเป็นนโยบาย แผนยุทธศาสตร์ โดยมีชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา โดยยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง บทบาทการมีส่วนร่วมของชุมชนจึงเปลี่ยนไป คือจากเดิมเข้ามาในเรื่องขุดลอก ถางป่า ตัดหญ้า แต่ตอนนี้เข้ามามีส่วนร่วมในบทบาททางวิชาการมากขึ้น
 

สำหรับในอนาคตผมจะวางบทบาทของผู้ปกครองต่องานวิจัย โดยกำหนดไว้ 4 บทบาท คือ 1.ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการจัดการศึกษา ผู้ปกครองจึงต้องมีส่วนสนับสนุน ช่วยเหลือ ให้กำลังใจ และอำนวยความสะดวกต่างๆ 2.ภาคีเครือข่าย โดยผู้ปกครองจะต้องเป็นส่วนหนึ่งในทีมวิจัย ออกไปลงพื้นที่ร่วมกับลูกหลาน 3.วิทยากร เป็นภูมิปัญญา และ 4.การเป็นครูคนแรก ครูคนแรกของเด็กคือความเป็นพ่อเป็นแม่ เขาสอนอะไรไปบ้างแล้ว เขายังไม่ได้สอนอะไร จะต้องมีการเติมเต็มซึ่งกันและกัน
 

การเปลี่ยนแปลงของผู้บริหาร :  ผมเปิดใจกว้างขึ้น เปลี่ยนวิธีการทำงาน มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ใช้ความอดทนอดกลั้นมากขึ้น