การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์ส์วิทยาลัย
“โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมพลังผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา”
วันที่ 27 พฤษภาคม 255 ณ ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารไทยพาณิชย์ หาดตะวันรอน ชลบุรี
โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัยเป็นโรงเรียนในเมือง ไม่มี “ต้นทุน” เหมือนโรงเรียนอื่นๆ การขับเคลื่อนงานเศรษฐกิจพอเพียงของปรินส์รอยแยลส์ทำใน 3 ระดับคือ ระดับโรงเรียน ระดับผู้บริหาร และระดับครู โดยบูรณาการสู่การเรียนการสอนในห้องเรียนและเป็นรายวิชาเพิ่มเติม รวมถึงชุมนุมและโครงการต่างๆ เมื่อโรงเรียนมีความพร้อมจึงขยายผลไปสู่แผนกอื่นต่อไป ปัจจุบันโรงเรียนขับเคลื่อนหลักปรัชญาฯ ลงสู่แผนการสอนตั้งแต่อนุบาล – ม.6 มีทั้งการเรียนการสอนในห้องเรียนและกิจกรรม เน้นให้นักเรียนได้บูรณาการเรื่องการคิดตามหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ปรินส์รอยแยลส์มีวิธีก้าวข้าวปัญหาการขับเคลื่อนหลักปรัชญาฯ คือโรงเรียน “ชัดเจน” ว่าจะมีกระบวนขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจะขับเคลื่อนไปสู่ครูหรือนักเรียนอย่างไร ทำให้นักเรียนเกิดความฉลาดในตัวเองว่าเขาจะดำเนินชีวิตอย่างไร ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ฯ พระราชทานให้ และเขาจะประสบความสำเร็จในอนาคตได้อย่างไร ทั้งด้านการงาน การเงิน ครอบครัว ฯลฯ ด้วยหลักปรัชญานี้ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาครูโดยจัดรอบรมครูตั้งแต่หลักคิดไปจนถึงการบูรณาการลงสู่แผนการสอนและกิจกรรมโครงการ โดยแต่ละเทอมจะมีการสรุปแผน สรุปกิจกรรมโครงการทุกกิจกรรม เพื่อให้ฝ่ายแผนทราบผลการดำเนินงาน มีการรวบรวมองค์ความรู้เป็น “หนังสือหรือคู่มือ” ซึ่งกลั่นกรองมาจากสิ่งที่นักเรียนได้เรียนรู้ รวมทั้งบทความของนักเรียนที่ได้รับการตีพิมพ์ตามสื่อต่าง ปัจจุบันโรงเรียนกำลังจัดทำหลักสูตรชุดอุปนิสัย PRC ที่นำทุกอย่างในโรงเรียนเข้ามาหลอมรวมกัน และบูรณาการสู่การเรียนการสอนทุกกลุ่มสาระ ทุกระดับชั้น เพื่อให้นักเรียนเกิดอุปนิสัยให้ได้จริงๆ
ปรินส์รอยแยลส์เป็นโรงเรียนในเมือง ไม่มีการปลูกผัก เลี้ยงปลา เราไม่มี “ต้นทุน” เหมือนโรงเรียนอื่นๆ เพราะฉะนั้นเมื่อโรงเรียนคิดทำโครงการใดจึงต้องบูรณาการเข้าสู่หลักสูตรและแผนการเรียนการสอน การขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของปรินส์รอยแยลส์มุ่งไปที่นักเรียน สอนให้นักเรียนคิดเรื่อง 3 ห่วง 2 เงื่อนไขตลอดเวลา เช่น เวลาผมสัมภาษณ์นักเรียนที่รับทุนของสำนักงานทรัพย์สินฯ ว่าทำไมใช้มือถือรุ่นนี้ ให้นักเรียนบอกหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไขให้ฟัง และนักเรียนมีการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไร ซึ่งถ้าเขาบอกได้ แสดงว่าเขาเข้าใจหลักเศรษฐกิจพอเพียง เราเน้นให้นักเรียนได้บูรณาการเรื่องการคิดมากกว่า แต่เราก็มีการสอนในห้องเรียนและเป็นรายวิชาเพิ่มเติม รวมถึงชุมนุมและโครงการต่างๆ ด้วย จนเมื่อโรงเรียนมีความพร้อมจึงนำไปขยายผลให้แผนกอื่นต่อไป ปัจจุบันโรงเรียนขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงลงสู่แผนการสอนตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีทั้งการเรียนการสอนในห้องเรียนและกิจกรรม
การขับเคลื่อนงานเศรษฐกิจพอเพียงของปรินส์รอยแยลส์ทำใน 3 ระดับคือ ระดับโรงเรียน ระดับผู้บริหาร และระดับครู เราเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่มีนักเรียนกว่า 6,000 คน เรายึดมั่นอยู่เสมอว่าเราไม่เก็บเงินแป๊ะเจี๊ยะ แม้ว่าในแต่ละปีจะมีนักเรียนมาเข้าเรียนเยอะมาก แต่เราก็ยืนยันว่าเราไม่เก็บแป๊ยเจี๊ยะ ค่าธรรมเนียมการศึกษาของเราก็ไม่สูงกว่าโรงเรียนอื่นๆ รายได้ของโรงเรียนจึงไม่มากนัก ถ้าเราเก็บแป๊ะเจี๊ยะจากผู้ปกครองปีหนึ่งเราคงได้เงินมากกว่ากำไรที่เราทำได้ในรอบสิบปี แต่เราก็ยืนยันว่าเราจะไม่ทำแบบนั้น
เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจพอเพียงของเราจึงใช้ตั้งแต่ระดับบนจนถึงระดับล่าง เริ่มตั้งแต่การจัดทำงบประมาณที่ต้องมีการทำแผนงาน ครูและบุคลากรทุกฝ่ายของโรงเรียนจะต้องร่วมกันจัดทำแผนประจำปีสำหรับปีการศึกษาต่อไป และนำเสนอเป็นลำดับขั้นตอน โดยมีผู้บริหารทำหน้าที่กลั่นกรอง มีการตรวจสอบว่าจะใช้อะไร ใช้อย่างไร และเกิดประโยชน์อย่างไร การใช้จ่ายงบประมาณแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ โครงการในแผนกับโครงการนอกแผน โครงการนอกแผนจะมีการกลั่นกรองมากเป็นพิเศษ หากเป็นโครงการที่ครูเพิ่งคิดขึ้นมาใหม่ๆ เรามักไม่ค่อยอนุมัติ เราสอนให้ครูมีการวางแผนล่วงหน้า เพราะเรามีงบประมาณจำกัด แม้กระทั่งการถ่ายเอกสารครูทุกคนต้องใส่รหัสตัวเอง เพื่อคุมให้ได้ว่าครูแต่ละคนใช้จ่ายอย่างไร
ความเข้าใจในระดับครูค่อนข้างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะครูการงานที่มีการบูรณาการให้เห็นเป็นรูปธรรม เช่น ครูสอนนักเรียนทำไม้ปิงปองจะมีเศษไม้เหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก ครูก็จะสอนให้เด็กนำเศษไม้ไปเลื่อยฉลุเป็นตัวต่อ เป็นต้น หรือเสื้อผ้าเก่าที่นักเรียนไม่ได้ใช้ นักเรียนก็จะไปซื้อลูกปัด ลูกไม้ หรือริบบิ้นมาปักให้ดูสวยงามและใช้ต่อไปได้ ที่เห็นได้ชัดอีกกลุ่มหนึ่งคือวิชาคณิตศาสตร์ มีครูคนหนึ่งให้นักเรียนนำใบเสร็จที่พ่อแม่ผู้ปกครองไปช็อปปิ้งมาตรวจสอบดูว่าอะไรที่เป็นสิ่งจำเป็น อะไรที่เป็นสิ่งฟุ่มเฟือย แล้วนำมาเปรียบเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ ซึ่งอยู่ในหน่วยการเรียนรู้ของสาระคณิตศาสตร์ ทำให้นักเรียนก็ได้เรียนรู้ว่าสิ่งของที่พ่อแม่ซื้อมาเป็นสิ่งของฟุ่มเฟือยมากถึง 30 เปอร์เซ็นต์ นักเรียนก็เกิดความตระหนัก และได้รับความรู้เรื่องคณิตศาสตร์ไปด้วยพร้อมกัน
ส่วนระดับโรงเรียนนั้นเราค่อนข้างบูรณาการทั้งโรงเรียน เช่น ทุกครั้งที่โรงเรียนเราจะไปแข่งขันในรายการวิทยสัประยุทธ์ ครูและนักเรียนของเราจะเน้นใช้ทรัพยากรที่หาได้ในท้องถิ่นและประหยัด ในการแข่งขันทุกครั้งพิธีกรและกรรมการค่อนข้างชื่นชมโรงเรียนเราว่าใช้งบประมาณน้อย โดยเฉพาะครั้งสุดท้ายก่อนได้รับรางวัล โรงเรียนลงทุนไป 20,000 – 30,000 บาท กรรมการยังพูดแซวว่าทำไมโรงเรียนเราประหยัดจัง เขาไม่ได้ดูถูก แต่เขาชื่นชมว่าโรงเรียนเรารู้จักประหยัด จะเห็นได้ว่าทุกกิจกรรมที่โรงเรียนทำจะมีการบูรณาการเรื่องความพอเพียงเข้าไปเสมอ
การก้าวข้ามปัญหาการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของปรินส์รอยแยลส์คือ โรงเรียนต้องชัดเจนว่ากระบวนขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจะขับเคลื่อนไปสู่ครูหรือนักเรียนอย่างไร เช่น หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าเราจับแต่คำว่า “พอเพียง” ไปสอน เราก็ต้องมาดูว่าจริงๆ แล้ว เราเข้าใจคำว่าพอเพียงหรือไม่ เราพอเพียงจริงหรือเปล่า เราใช้คำว่าประหยัดแทนคำว่าพอเพียงหรือเปล่า เราสอนเด็กให้พอเพียงอย่างที่เราเข้าใจหรือเปล่า จริงๆ แล้วความสำคัญของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคือ เป็นหลักปรัชญาในการดำเนินชีวิต พอเพียงไม่ได้หมายความเราต้องประหยัด แล้วก็มีชีวิตอยู่อย่างพอเพียง ถ้าเราขับเคลื่อนหลักปรัชญาฯ โดยไม่เข้าใจ นักเรียนก็จะไม่เข้าใจเช่นกันว่าตกลงจะให้เขาดำเนินชีวิตอย่างไร
คำว่า “พอเพียง” ตามความหมายจริงๆ แล้วเรารวยได้ เป็นเศรษฐีพันล้านได้ หมื่นล้านได้ แต่เราจะมีวิธีการดำเนินชีวิตอย่างไร ให้ไปสู่จุดที่เราเรียกว่าความสำเร็จในตัวของตัวเอง เรารู้ใช่ไหมว่าเรากำลังเดินเข้าไปสู่อนาคตที่ไม่ได้เอารัดเอาเปรียบ รู้ใช่ไหมว่าถ้าวันหนึ่งเราล้มเหลว เรายังอยู่ได้ ไม่ได้ฆ่าตัวตาย ครอบครัวอยู่ได้ เรากู้เงินได้ไหม กู้ได้ แต่เรารู้ใช่ไหมว่าเรามีเงินผ่อนต่อเดือนเท่าไร เรามีเงินเดือนหนึ่งหมื่น แต่เราไปกู้เงิน 3 ล้านคงไม่ได้ ผมว่ามันอยู่ที่ว่าเราสอน “วิธีคิด” ให้นักเรียนฉลาดในการคิดมากกว่า ถ้าผมสอนให้เด็กพอเพียงแล้วบอกว่าเด็กต้องประหยัด แต่ผมไม่สอนให้เด็กรู้จักลงทุน เด็กจะก้าวผ่านความยากจนได้อย่างไร เราต้องสอนให้เด็กรู้จักคิดอย่างมีเหตุมีผล และใช้ชีวิตให้เป็นด้วย “หลักการคิด” นักเรียนก็จะเข้าใจมากขึ้น แต่ถ้าเราคิดอย่างหนึ่ง แล้วเราบอกให้นักเรียนพอเพียง แต่จริงๆ เราคิดอีกแบบหนึ่ง ผมคิดว่าถ้าเป็นเช่นนี้การขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคงไม่เกิด เพราะฉะนั้นความคิดต้องชัดเจนก่อน จึงจะขับเคลื่อนลงสู่นักเรียนได้ชัดเจน ทำให้นักเรียนเกิดความฉลาดในตัวเองว่าเขาจะดำเนินชีวิตอย่างไรตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ฯ พระราชทานให้เขาได้อย่างไร และเขาจะประสบความสำเร็จในอนาคตได้อย่างไร ทั้งด้านการงาน การเงิน ครอบครัว ฯลฯ ด้วยหลักปรัชญานี้
ปรินส์รอยแยลส์เน้นให้นักเรียนรู้จัก “คิด” มากกว่าที่การท่องจำว่าเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร แผนการสอนครูต้องรู้ว่าจะสอนเด็กให้เข้าใจในประเด็นไหน ประเด็นประหยัดอย่างเดียวใช่หรือไม่ ถามว่าการประหยัดเป็น ความพอเพียงหรือไม่ คำตอบมีทั้งใช่และไม่ใช่ เพราะบางวันเราสามารถไปรับประทานอาหารร้านที่อร่อยๆ ได้ แต่ต้องดูฐานะของตัวเอง ฐานะการเงิน ฐานะครอบครัว ต้องรู้ว่าเราจะดำเนินชีวิตอย่างไร เพราะฉะนั้นผมถึงบอกว่าเราควรจะชัดเจนในการขับเคลื่อน เพราะจริงๆ แล้วเราต้องการสร้างคนฉลาดที่เป็นคนที่มีคุณธรรม เพื่อให้สังคมไทยไปรอด
ในแต่ละปีเรามีโครงการเยอะมาก ฉะนั้นการทำโครงการแต่ละเรื่อง เราจึงเน้นย้ำและให้ความสำคัญกับการวางแผนก่อนล่วงหน้า แล้วกลั่นกรองรอบหนึ่ง ก่อนจะออกมาเป็นแผนปฏิบัติการ เราค่อนข้างเน้นเรื่องการกลั่นกรองแผน และหลังจากอนุมัติแผนประจำปีแล้ว เมื่อถึงปีการศึกษาปกติก็จะมีการกลั่นกรองอีกรอบหลังจากครูยื่นโครงการที่อนุมัติไปแล้วในแผนปฏิบัติการประจำปี เป็นการกลั่นกรอง 2 ชั้น เพื่อดูว่าครูใช้จ่ายอย่างไร โดยก่อนดำเนินโครงการโรงเรียนจะมีการกลั่นกรองอย่างรอบคอบตั้งแต่หัวหน้าระดับชั้น หัวกลุ่มสาระ หัวหน้างาน ไปจนถึงผู้ช่วยผู้อำนวยการของแต่ละแผน รองผู้อำนวยการที่รับผิดชอบ ไปจบที่ผู้อำนวยการเซ็นต์อนุมัติ ประเด็นการกลั่นกรองที่โรงเรียนให้ความสำคัญคือเรื่องการประหยัด แต่หากบางกิจกรรมจำเป็นต้องใช้งบประมาณมากก็ดูตามความเหมาะสม ไม่จำเป็นต้องประหยัดที่สุด เช่น การส่งนักเรียนไปแข่งขันในรายการวิทยสัประยุทธ์ หากให้นักเรียนเดินทางโดยรถตู้ รถบัส หรือรถไฟ กว่าจะไปถึงสถานีต้องใช้เวลานาน ไหนจะต้องใช้เวลาเตรียมอีก เราดูแล้วเด็กจะเหนื่อยมาก ตอนหลังเราจึงสนับสนุนการเดินทางโดยเครื่องบินเพื่อให้เด็กมีความพร้อมเต็มที่ ไปถึงแล้วสามารถนำพลังที่มีอยู่แสดงออกมาได้อย่างเต็มศักยภาพ ฉะนั้นเวลาเราดูโครงการเหล่านี้เราจะดูที่ความเป็นไปได้มากที่สุด เพราะหากให้นักเรียนเดินทางไปก่อนล่วงหน้าสองวัน นักเรียนต้องหยุดเรียนหลายวัน แต่ถ้านักเรียนเดินทางโดยเครื่องบิน นักเรียนยังได้เรียนอีกสองวันและประหยัดเวลาการเดินทาง ผมถึงบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็น “หลักคิด” ที่เราจะสอนให้รู้จักคิดอย่างมีเหตุมีผลว่าอะไรดีกว่ากัน นักเรียนเขาก็จะได้เรียนรู้วิธีคิดที่เราลงไปให้นักเรียนด้วย
ปรินส์รอยแยลส์มีแหล่งเรียนรู้ค่อนข้างมาก โรงเรียนมักพูดเสมอว่า “แพงเท่าไรก็ถูกถ้าใช้คุ้ม” เรายินดีลงทุนสร้างแหล่งเรียนรู้ถ้านักเรียนใช้ทั้งโรงเรียน ฉะนั้นเราจึงต้องสอนให้นักเรียนรู้จักคิด เช่น ตัวอย่างจากเรื่องเล่าที่ว่ามีศาสตราจารย์ท่านหนึ่งไปบ้านเพื่อน นั่งคุยกับเพื่อนได้พักหนึ่ง เมื่อศาสตราจารย์คนนั้นกลับมาปรากฏว่าล้อรถหายไปล้อหนึ่ง เขาก็ไปหาล้ออะไหล่มาเปลี่ยน ขณะที่กำลังเปลี่ยนเห็นน็อตตัวหนึ่งหายไป เขาไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ทำได้เพียงแค่นั่งรอคนผ่านมา พอดีมีเด็กคนหนึ่งขับรถผ่านมา ถามเขาว่าลุงรถเป็นอะไร ลุงก็บอกว่าน็อตมันหายไปไม่รู้จะทำอย่างไร เด็กคนนั้นก็บอกว่าไม่เห็นยากเลย ลุงก็ถอดน็อตจากล้ออื่นมาใส่ก็น่าจะพอขับรถไปได้แล้ว ศาสตราจารย์คนนั้นก็ถามเด็กว่าคิดได้อย่างไร จากตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าเราต้องสอนให้นักเรียนคิดเยอะๆ ไม่ใช่ว่าโรงเรียนเราทำได้ แต่โรงเรียนเรากำลังอยากให้นักเรียน “คิดเป็น” ถ้านักเรียนในประเทศไทย “คิดได้-คิดเก่ง” เขาก็จะพาชีวิตตัวเองไปสู่ทางที่ดีได้ แต่เขาต้องมี 3 ห่วง 2 เงื่อนไขด้วย ซึ่งมันวัดยาก แต่ถ้าเขาสามารถทำให้ตัวเองมีความสุขได้ และไม่เดือดร้อนเงินตัวเองที่หามาได้ อยู่ได้ชนเดือน มีเงินเก็บ ก็แสดงว่าเขาน่าจะใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้ถูกต้อง
การบริหารจัดการศูนย์เรียนรู้ : นอกจากโรงเรียนจะเป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ในโรงเรียนยังมีศูนย์พอเพียง ซึ่งมีหลักปรัชญาฯ มีหนังสือเงินทองของมีค่า ฯลฯ อยู่ในนี้ เพราะปรินส์รอยแยลส์เริ่มกิจกรรมเงินทองของมีค่าพร้อมๆ กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง เพราะฉะนั้นทั้งสองเรื่องจึงเป็นเนื้อเดียวกัน ในศูนย์พอเพียงจะมีเอกสารทุกอย่างที่ครูและนักเรียนสามารถเข้าไปค้นคว้าได้
ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของปรินส์รอยแยลส์ขับเคลื่อนโดยฝ่ายวิชาการ เพราะหลังจากที่เราบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้แต่ละแผนกลงสู่แผนการสอนทุกกลุ่มสาระ ทุกรายวิชา ทุกระดับชั้น และกิจกรรมแล้ว ทำให้ในแผนการเรียนรู้จะเห็นเศรษฐกิจพอเพียงชัดเจนมาก
การขยายผล: หากมีองค์กรภายนอกเข้ามาเรียนรู้ดูงาน ปรินส์รอยแยลส์จะเน้นไปที่ “กระบวนการคิด” เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมากกว่าการดำเนินกิจกรรมโครงการ โดยการเรียนรู้ดูงานมี 2 แบบคือ ดูในห้องเรียนเพื่อดูว่าเราทำจริงอย่างที่พูดหรือไม่ ซึ่งในแผนการสอนจะโยงให้เห็น และครูก็จะโยงมาในแต่ละคาบว่ามีอะไรเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจพอเพียงบ้าง 2.ดูกิจกรรมการดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจพอเพียง เช่น กิจกรรมไทยแลนด์โกกรีนที่ทำร่วมกับบางจากเรื่องการประหยัดและอนุรักษ์พลังงาน การหาพลังงานทดแทน เพื่อให้นักเรียนตระหนักถึงพลังงานที่กำลังจะหมดไปและพลังงานทดแทน เพราะฉะนั้นการศึกษาดูงานของปรินส์รอยแยลส์จะมี 2 ส่วนคือในรายวิชาพื้นฐานและรายวิชาเพิ่มเติมที่เป็นกิจกรรมโครงการ
การพัฒนาครูเรามีการอบรมครูตั้งแต่หลักคิดไปจนถึงการบูรณาการการเรียนการสอนที่ลงสู่แผนการสอนและกิจกรรมโครงการ โดยในแต่ละเทอมจะมีการสรุปแผน สรุปกิจกรรมโครงการทุกกิจกรรม เพื่อให้ฝ่ายแผนรู้ว่าครูแต่ละคนดำเนินงานไปถึงไหนอย่างไรส่วนการรวบรวมองค์ความรู้จะมีการกลั่นกรองสิ่งที่นักเรียนได้เรียนรู้ออกมาเป็น หนังสือหรือคู่มือ รวมทั้งบทความของนักเรียนที่ได้รับการตีพิมพ์ตามสื่อต่างๆ
การต่อยอด : ขณะนี้ปรินส์รอยแยลส์กำลังจัดทำหลักสูตรชุดอุปนิสัยนักเรียน PRC อยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการ มีการเชิญตัวแทนผู้ปกครอง ตัวแทนชุมชน สมาคมผู้ปกครอง ผู้บริหาร เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ มี ศ.นพ.เกษม วัฒนชัยเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ เพราะท่านเป็นนักเรียนเก่าของโรงเรียน เราตั้งใจว่าเราจะทำหลักสูตรนี้ให้ได้ เพราะโรงเรียนมีอัตลักษณ์คือ รักและเอื้ออาทรต่อผู้อื่นและสังคมด้วยความจริงใจ
หลักสูตรชุดอุปนิสัย PRC นี้เป็นการนำทุกอย่างในโรงเรียนเข้ามาหลอมรวมกัน ครูต้องนำหลักสูตรนี้ไปบูรณาการสู่การเรียนการสอนทุกกลุ่มสาระ ทุกระดับชั้น เพื่อให้นักเรียนเกิดอุปนิสัยให้ได้จริงๆ
เหตุผลที่ปรินส์รอยแยลทำชุดหลักสูตรนี้ มาจากคำกราบบังคมทูลของครูใหญ่เมื่อครั้งได้รับพระราชทานนามโรงเรียนว่า นักเรียนของเราจะเป็นผู้ที่จงรักภักดีต่อแผ่นดิน เป็นพลเมืองดี เป็นผู้ทำงานเป็น ซื่อตรง และเรายังมีคุณลักษณะ 8 ประการ มีคาแรกเตอร์ของโรงเรียน มีเศรษฐกิจพอเพียง ฯลฯ จึงคิดทำให้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เพื่อให้ง่ายต่อการเรียนการสอนของครู และเพื่อให้เกิด “อัตลักษณ์” ในตัวผู้เรียนได้จริงๆ