การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนแม่พริกวิทยา
“โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมพลังผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ด้านการศึกษา”
วันที่ 27 พฤษภาคม 255 ณ ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารไทยพาณิชย์ หาดตะวันรอน ชลบุรี
โรงเรียนแม่พริกวิทยามีการโยกย้ายบ่อยทั้งครูและผู้อำนวยการ โดยผู้อำนวยการสายัณห์ พรมใส เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งผู้บริหารเมื่อ 5 เดือนที่ผ่านมา ยังถือว่าเป็น “มือใหม่” ในการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผอ. จึงพยายามเรียนรู้ ศึกษาทำความเข้าใจข้อมูลด้วยตนเอง ที่โรงเรียนมีครูแกนนำที่มีความเข้าใจหลักปรัชญาฯ อยู่จำนวนหนึ่ง มีห้องศูนย์ศึกษาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อย่างไรก็ตาม เมื่อศึกษาและสังเกตเด็กในโรงเรียนกลับเกิดคำถามในใจว่า เด็กเกิดอุปนิสัยพอเพียงจริงหรือ ครูมีความเข้าใจจริงหรือ เพราะผอ. สังเกตว่าเด็กยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติจริง จึงมีแนวคิดจัดสร้างศูนย์การเรียนรู้บนพื้นที่ 4 ไร่ โดยเน้นจัดฐานการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่น ภายใต้หลักคิดที่ว่าการได้ลงมือทำน่าจะเพิ่มทักษะจนเกิดการเรียนรู้ นำไปสู่ความเข้าใจ และอุปนิสัยพอเพียงได้อย่างแท้จริง พร้อมกับกำหนดให้ครูจัดแผนการเรียนรู้ให้สอดคล้อง เชื่อมโยงกับฐานการเรียนรู้ใหม่นี้ด้วย
บริบทโรงเรียนแม่พริกเป็นโรงเรียนมัธยมขนาดกลาง มีพื้นที่ 200 ไร่ เป็นพื้นที่ป่า 150 ไร่ เนื่องจากผอ. เพิ่งย้ายมารับตำแหน่งได้ 5 เดือน จึงเป็นน้องใหม่ในโครงการเศรษฐกิจพอเพียง แต่โรงเรียนแม่พริกวิทยาได้รับการประเมินเป็นศูนย์การเรียนรู้รุ่นแรก จึงได้ศึกษาจากเพื่อนครูและห้องศูนย์ฯ และในปี 2554 มีโรงเรียนมาเรียนรู้ดูงานมากกว่า 30 ครั้ง โดยผอ.ได้เข้าฟัง 2 ครั้ง เกิดตั้งคำถามในใจว่าเด็กนักเรียนเรานั้นพอเพียงจริงหรือ? ความพอเพียงเราให้กับเด็กนักเรียนของเรา หรือเราเป็นวิทยากรให้กับโรงเรียนอื่นๆ นั้นใช่ความพอเพียงจริงหรือ? ผลออกมาสู่ตัวเด็กจริงหรือ? แล้วไปถึงตัวผู้ปกครองและชุมชนหรือไม่อย่างไร? ครูกลับตอบ ผอ.ไม่ได้ ผอ.จึงลงพื้นที่เข้าไปพูดคุยกับผู้ปกครองนักเรียน คุยกับเด็ก พบว่าถ้าเป็นกลุ่มนักเรียนแกนนำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงถือว่าดี มีความเข้าใจ แต่ยังมีเด็กกลุ่มอื่นทีไม่ค่อยเข้าใจ ด้านผู้ปกครองยังไม่รู้ว่าโรงเรียนได้เข้าโครงการ จึงคิดต่อไปว่าหากเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ต้องดำเนินการอย่างไรให้เด็กนักเรียนทุกคนรู้และเข้าใจในหลักเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง
ยกตัวอย่าง เช่น เวลาครูสอนเด็กให้เจียวไข่ ภาคทฤษฎีมีอะไรบ้าง วัตถุดิบมีอะไรบ้าง ขั้นตอนวิธีทำอย่างไร มีสื่อวิดีโอก็นำมาให้เด็กดู เทียบกับอีกกรณีหนึ่งที่ให้เด็กนักเรียนลงมือทำไข่เจียวเองและทำเป็นประจำสม่ำเสมอ มาประเมินผลว่าเด็กกลุ่มไหนเจียวไข่ได้ดีกว่ากันดี นัยยะของการเจียวไข่ที่จริงไม่ใช่เงื่องง่าย ไม่ว่าจะเป็นการใช้อุณหภูมิของไฟ หรือเรื่องแก๊ส หากวันหนึ่งแก๊สที่บ้านหมด เด็กจะแก้ปัญหาได้ไหม ผอ.เชื่อว่าหากเด็กถูกฝึกมาจากบ้านเรื่องทักษะชีวิตทำอาหารเป็นประจำ เช่น วันนี้แก๊สหมด เด็กอาจจะใช้ฟืนแทน เมื่อเปรียบกับเด็กอีกคนหนึ่งที่ขาดทักษะชีวิต ไม่ได้ทำอาหารเป็นประจำ เมื่อไม่มีแก๊สมื้อนี้อาจจะอดกินข้าวก็เป็นได้ จึงเป็นที่มาของการให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติจริง
อย่างไรก็ตาม โรงเรียนแม่พริกวิทยายังไม่มีศูนย์ที่ให้เด็กเรียนรู้และปฏิบัติจริง เน้นให้เด็กเรียนรู้ด้านวิชาการ เมื่อมีคนมาดูงานที่โรงเรียนก็เป็นลักษณะนำเข้าห้องโดยมีวิทยากรบรรยายด้านวิชาการ และให้แกนนำเด็กลงสู่ฐาน ผอ.จึงแสดงความคิดเห็นว่า หากไม่ให้เด็กลงปฏิบัติจริงอย่างต่อเนื่องแล้ว อาจจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นก็เป็นได้เมื่อเด็กรุ่นเก่าจบออกไป หรือครูแกนนำย้ายออกไป จึงปรึกษากับครูในโรงเรียนว่าควรใช้พื้นที่สวนมะขามประมาณ 4 ไร่ มาทำเป็นอุทยานแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง โดยเน้นจัดสาธิตในส่วนที่โรงเรียนทำได้ เช่น แย้ อึ่งอ่าง ผักหวานป่า เป็นต้น แบ่งเป็น 8 กลุ่มสาระ และเพิ่มมาอีก 1 กลุ่มสาระคือสมาคมอาเซียน เมื่อนำสาระไหนลงไป ก็ต้องเชื่อมโยงกับกลุ่มสาระนั้นให้ได้ สอนแล้วเด็กต้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์ที่บ้านได้