แรงบันดาลใจและความฝัน
"ครูไม่ใช่เรือจ้าง เพราะถ้าเป็นเรือจ้าง เด็กจะเป็นผู้โดยสาร พอส่งเขาขึ้นฝั่งแล้ว เราหมดหน้าที่ แต่มันไม่ใช่ ครูคือผู้รับผิดชอบศิษย์อยู่ตลอดไป” นี่คือ สิ่งที่มากกว่าอุดมการณ์และเป็นจิตวิญญาณของความเป็นครูที่ “อาจารย์ประพงศ์” ยึดถือและทำตัวเป็นแบบอย่างโดยเฉพาะในการสอนแบบบูรณาการ ที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องราวรอบตัว (เช่น การปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงหมู ฯลฯ) ด้วยหัวใจที่อาสาจะทำเอง ไม่มีการบังคับ สิ่งที่สอดแทรกไปตลอดการเรียนรู้คือ ทักษะชีวิตและคุณธรรมที่เพียรพยามสร้างให้เด็กเป็นคนดีมากกว่าคนเก่ง จึงไม่แปลกที่ “อาจารย์ประพงศ์” คือผู้ใหญ่ใจดีซึ่ง “กลุ่มเยาวชนจิตอาสาตำบลโพธิ์เสด็จ” เลือกยึดถือเป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิต
“คือเด็กพวกนี้ เขาจะเริ่มด้วยภายในของเขาก่อน คือเขามีใจก่อน พอเขามีใจแล้ว เขาเห็นแบบอย่างที่ดี เห็นแบบอย่างในเรื่องนี้ เขาก็อาสาสมัครจะทำด้วย ในการทำงาน เราต้องให้เขารู้กระบวนการทำงาน ปลูกทักษะกระบวนการทำงาน กระบวนการกลุ่ม ต้องการให้เขารู้วิธี ขั้นตอนทำงานมากกว่าเนื้อหาสาระตรงนั้น เพราะฉะนั้นทุกครั้งเขาทำอะไร เขาจะวางแผนก่อน วางแผนเสร็จเขาก็ลงมือทำ ลงมือเสร็จเขาก็มาถอดบทเรียนว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้าง แก้ปัญหาอะไรยังไงที่จะเอาไปปรับปรุงทีหลัง ผลลัพธ์จริงๆ คือเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม มันเกิดในตัวเด็ก ให้เด็กเขาระเบิดมาจากภายใน ปลูกฝังให้เขาเกิดจิตสำนึก เรื่องของจิตอาสาในตัวเขา เรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคม”