ประกายความคิด สื่อเศรษฐกิจพอเพียง
นางสารภี สายหอม ครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เริ่มน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้าสู่การเรียนการสอนโดยมีที่มาจากความต้องการออกแบบการเรียนการสอนเรื่องดิน จึงหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ของดิน การแบ่งที่ดินทำกิน ฯลฯ โดยศึกษาเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อนำมาเป็นข้อมูลสำหรับการจัดการเรียนการสอน ในตอนนั้นครูยังไม่เข้าใจนักว่าเรื่องดังกล่าวสัมพันธ์กับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร แต่ด้วยความใฝ่เรียนรู้ เป็นนักอ่าน และชอบค้นคว้าทำให้ครูสารภีพยายามอ่านหนังสือเพื่อทำความเข้าใจ นำมาสู่การศึกษาเรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในลำดับต่อมา จนเกิดความเข้าใจเพิ่มขึ้นว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักคิด ที่สามารถนำมาใช้กับการดำเนินชีวิตได้ในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นชีวิตส่วนตัว การทำงาน การเรียนการสอน ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ในชีวิตประจำวันไปจนถึงเรื่องใหญ่ เมื่อเล็งเห็นความสำคัญและตระหนักรู้ว่าหากทุกผู้คน ทุกอาชีพนำหลักปรัชญาฯ นี้ไปปฏิบัติจะสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข
ก้าวย่างสำคัญอันนำมาซึ่งโอกาสในการเรียนรู้หลักปรัชญาฯ อย่างลึกซึ้ง และนำมาซึ่งการบูรณาการสู่การจัดการเรียนการสอน เกิดขึ้นเมื่อครูสารภีอ่านหนังสือพิมพ์พบว่ามีการประกวดสื่อเศรษฐกิจพอเพียง จึงไปค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม แล้วประยุกต์ให้เข้ากับการดำเนินเรื่องของตัวละคร พร้อมทั้งสอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องของดินที่อาจารย์กำลังสอนในขณะนั้นด้วย จากนั้นได้มอบหมายให้นักเรียนวาดรูปประกอบเรื่อง สื่อชิ้นนี้ได้รับรางวัลเหรียญทอง และทำให้ได้ไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นอกจากนี้ ยังได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมจัดทำชุดหน่วยการเรียนการสอนบูรณาการเศรษฐกิจพอเพียง ณ วิทยาลัยมหาดไทย อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี และได้เข้าร่วมกิจกรรมอีกหลายครั้งกับโครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ร่วมกับสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ. และสำนักกิจการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มูลนิธิสยามกัมมาจล ซึ่งได้รับหนังสือ เอกสาร ที่เกี่ยวข้องมาศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก
เน้นเรื่องใกล้ตัว มาออกแบบการเรียนการสอน
ครูสารภี เล่าว่า วิชาวิทยาศาสตร์ ในการออกแบบการเรียนการสอนนั้น จะหยิบยกเรื่องใกล้ตัวที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน และกระตุ้นให้นักเรียนสำรวจ สืบค้นหาความรู้ด้วยตนเอง ทั้งนี้ ครูจะยึดหลักง่ายๆ โดยเน้นที่ตัวผู้เรียนเป็นสำคัญ พยายามให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียน ก่อนออกแบบการสอนจะเตรียมความพร้อม ด้วยการศึกษาวิเคราะห์หลักสูตรจนเข้าใจ ศึกษานักเรียนเพื่อจัดกลุ่มให้เหมาะสม เพราะแต่ละคน แต่ละห้องก็มีพื้นฐานต่างกัน จากนั้นจะชี้แจงให้นักเรียนเข้าใจเป้าหมายการเรียน ชี้แจงเครื่องมือในการตรวจสอบความรู้ ตลอดจนทักษะต่างๆ การทำงานร่วมกัน
“นอกจากครูต้องเตรียมตัวให้พร้อมแล้ว ครูยังเตรียมนักเรียนให้พร้อมก่อนการเรียนการสอนด้วย เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่ดีระหว่างนักเรียนกับครู รวมถึงนักเรียนกับนักเรียนด้วยกัน ทำให้การเรียนการสอนสนุก เป็นไปในทิศทางเดียวกัน”
ด้านการดึงนักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนการสอน ทำได้ตั้งแต่การชวนคิดชวนคุย หรือให้นักเรียนร่วมกันออกแบบก่อนเรียน เช่น ครูอาจจะถามนักเรียนว่าถ้าเรียนเรื่องนี้ แล้วให้นักเรียนทำบทบาทสมมุติ หรือออกสำรวจ หรือค้นคว้าแล้วมารายงาน นักเรียนชอบแบบไหน ให้นักเรียนได้เป็นผู้มีส่วนในการกำหนดการเรียนรู้ตามที่เขาชอบ โดยครูจะคอยดูเรื่องความเหมาะสมทั้งกับเนื้อหา ผู้เรียน สถานที่ พร้อมกับโยนคำถามว่า “ทำไม” ให้นักเรียนคิดและหาเหตุผลอยู่เสมอ จากนั้นครูจะกำหนดกลุ่มการเรียน แหล่งเรียนรู้ สื่อ กิจกรรมการเรียนรู้ วิธีการประเมินผลที่เหมาะสม และจัดให้นักเรียนแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในห้องเรียน ศึกษาเนื้อหาเกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่สำคัญในแต่ละกิจกรรมนั้นต้องให้นักเรียนถอดความรู้ วิเคราะห์หลักความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล หลักความมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว เงื่อนไขความรู้และคุณธรรม เพื่อให้นักเรียนสามารถคิดแบบเชื่อมโยง เกิดหลักคิดและหลักปฏิบัตินำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้
การประยุกต์ใช้หลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไขในการทำงานของครู
ครูสารภี บอกว่า การสอนให้เด็กนำหลักปรัชญาไปใช้ ต้องทำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้นักเรียนค่อยๆ ซึมซับจนกลายเป็นวิถีปฏิบัติ ขณะเดียวกันครูต้องมีบทบาทเป็นผู้หนุนเสริม ซึ่งจะสำเร็จได้ยากยิ่งหากตัวครูไม่ทำเป็นแบบอย่าง หรือไม่ได้นำไปใช้กับตนเอง สำหรับการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงของครูสารภี มีกระบวนการและขั้นตอน ดังนี้คือ ครูศึกษาและวิเคราะห์หลักสูตร มาตรฐานการเรียนรู้ ตัวชี้วัด สาระการเรียนรู้ จัดทำหน่วยการเรียน ลำดับเนื้อหาและเวลาเรียนที่สามารถนำมาบูรณาการเข้ากับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วิเคราะห์ผู้เรียน โดยขอประวัติและข้อมูลอื่นๆ ของนักเรียนที่จะสอนจากครูประจำชั้น จากงานทะเบียน/วัดผล และเก็บข้อมูลด้วยตนเองจากการให้นักเรียนทำแบบทดสอบก่อนเรียน การสังเกต การสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการ ในช่วงการจัดการเรียนรู้ 1-2 สัปดาห์แรกของการเปิดภาคเรียน จากนั้นมาสู่ขั้นตอนการประมวลข้อมูลที่ได้ทั้งหมดแล้วนำมาจัดแบ่งกลุ่มนักเรียนออกเป็นกลุ่มๆ คละนักเรียนที่มีความรู้ความสามารถ อ่อน ปานกลาง เก่ง วิเคราะห์เนื้อหาและกิจกรรม เพื่อออกแบบการเรียนรู้ นอกจากนี้ยังใช้หลักปรัชญาฯ มาวิเคราะห์การเตรียมการว่าครูใช้หลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไขอย่างไร นักเรียนได้หลักคิดหลักปฏิบัติอย่างไรระหว่างเรียน หลังการเรียนมีผลลัพธ์ KPA ใน 4 มิติอย่างไร
รวมกลุ่มก่อการดี สู่วิถีพอเพียง
หลังจากศึกษา ทดลองทำ นำมาปฏิบัติจนเกิดผลในการเรียนการสอนของตนเองแล้ว ครูสารภีได้รับบทบาทเป็นครูแกนนำเพื่อขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่เพื่อนครู ในช่วงเริ่มต้นครูเล่าว่า ได้ชักชวนเพื่อนครูที่ตระหนักถึงความสำคัญของการนำหลักปรัชญาฯ มาใช้ โดยสามารถรวมตัวกันได้ 5 คน หลังจากที่แต่ละคนได้สลับเปลี่ยนหมุนเวียนกันออกไปเข้ารับการอบรม ศึกษาดูงาน และศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจนมีความเข้าใจและสามารถนำมาใช้กับการเรียนการสอนและการทำงานของตนได้แล้ว แกนนำทั้งหมดจึงเริ่มภารกิจถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจ รวมถึงเทคนิคต่างๆ สู่ครูท่านอื่นๆ ในโรงเรียน เพื่อให้ทุกคนเดินไปแนวทางเดียวกัน จากจุดนี้เองที่ทำให้โรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคมมีการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน และได้แต่งตั้งกลุ่มก่อการดี เป็น “คณะกรรมการงานขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยมีครูสารภีเป็นหัวหน้างาน
5 ส. พอเพียง
ครูสารภี เล่าต่อว่า หลังจากรวมกลุ่มครูที่มีใจ เห็นความสำคัญได้แล้ว จึงเข้าขอคำปรึกษากับผู้อำนวยการโรงเรียน เพื่อนำไปสู่การประชุมให้เป็นที่รับทราบโดยทั่วกันทั้งโรงเรียน เพื่อร่วมกันวางแผน กำหนดนโยบาย เป้าหมาย วิสัยทัศน์ รวมถึงวางกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษาในทุกๆ ด้าน ทั้งนี้การทำงานดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารเป็นอย่างดี ทำให้ในแง่การบริหารไม่ค่อยติดขัด เพราะมีทีมทำงานที่มีใจ มีความสามัคคี และเล็งเห็นประโยชน์อันมีนักเรียนเป็นเป้าหมายสำคัญ หลังจากการประชุมคณะครูแล้ว ครูสารภีและกลุ่มก่อการดีทั้ง 5 เริ่มทำหน้าที่ของการเป็นผู้ถ่ายทอดอย่างเข้มข้น ผ่านขั้นตอนที่กลั่นกรองออกมาได้ 5 ขั้นตอน เรียกว่า 5ส. พอเพียง ได้แก่ สร้างศรัทธา สร้างแกนนำ สร้างโอกาส สร้างผลงานเชิงประจักษ์ และสร้างเครือข่าย
“ครูยังไม่รู้เหนือรู้ใต้ จะมาบอกให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ก็ไม่ได้ เราต้องเริ่มจากการสร้างความตระหนักให้เขาศรัทธา เราใช้ความศรัทธาในหลวงมาก่อน จากนั้นค่อยๆ ชี้ให้เขาเห็นความสำคัญหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วิธีการก็หลากหลาย ทั้งไปหาแผ่นซีดีที่เกี่ยวข้องมาเปิด ไปอบรมอะไรมาก็ขอก๊อปปี้ข้อมูล ตัวอย่างต่างๆ มาแจกจ่ายคุณครู สรุปองค์ความรู้ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข แล้วเอาเข้าที่ประชุมทุกเดือนๆ พาเขาไปศึกษาดูงาน แล้วอบรมเชิงปฏิบัติการให้เขา เราจะทำอย่างนี้ต่อเนื่อง”
หลังจากสร้างความตระหนัก ขั้นต่อไปครูสารภี บอกว่าต้องสร้างคน สร้างแกนนำ โดยจะเลือกครูที่มีความพร้อม ที่สำคัญต้อง “มีใจ” เพราะคิดว่า หากใช้ใจนำ เรื่องอื่นๆ เช่น ความรู้ ความเข้าใจ จะหนุนเสริมเติมเต็มกันได้ไม่ยาก โดยอาจจะเริ่มจากชักชวนครูที่ใกล้ชิด มีความสนิทสนมที่สามารถพูดคุยกันได้ก่อน หลังจากนั้นจึงค่อยๆ กระจายไปสู่หัวหน้ากลุ่มสาระ หัวหน้างาน เริ่มจากจัดการประชุมทำความเข้าใจ แล้วจึงมอบหมายให้ครูกลุ่มนี้ไปกระจายต่อยังครูที่ประจำในกลุ่มสาระ ทั้งนี้ จะมีการจัดประชุมกับคณะแกนนำ เพื่อติดตามงานอย่างสม่ำเสมอ
“ตัวเราเองก็ต้องสร้างศรัทธา ไม่ใช่ให้เขาทำงานแล้วตัวเองเอ้อระเหย ไม่ดูแล วิธีการคือ เราต้องคลุกคลีกับเขา ร่วมทุกข์ ร่วมสุข ร่วมคิด ร่วมชื่นชม ตรงนี้สำคัญมาก ทิ้งเขาไม่ได้ เขามาขอคำอธิบายเรื่องใดๆ ก็แล้วแต่ก็ต้องอธิบายให้เขาฟัง และเราต้องกระจ่าง เราต้องหาความรู้ตลอดเวลา พัฒนาตัวเราเองตลอดเวลา ไม่ใช่ดูงานให้เขาไม่ได้ ให้คำปรึกษาไม่ได้ เราเองต้องมีความคิดสร้างสรรค์ตลอดเวลา ว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถอธิบายให้เขาเข้าใจได้ในระยะเวลาสั้นๆ คิดวิธีการ ต้องหยิบฉวยสิ่งใกล้ตัว และใช้คำพูดง่ายๆ”
เมื่อสร้างแกนนำได้แล้ว งานของทีมขับเคลื่อนเริ่มเดินต่อด้วยการสร้างโอกาสให้ครูแกนนำ เช่น หากมีเวทีอบรมที่ไหน ก็จะส่งครูแกนนำไปก่อน พยายามให้ครูทุกคนได้ไปเรียนรู้ ก่อนไปครูสารภีจะทำความเข้าใจว่าเวทีนั้นๆ หรืองานนั้นๆ เกี่ยวกับประเด็นอะไร ซึ่งจะทำให้ครูแกนนำที่จะไปมีฐานความรู้ และทำการบ้านก่อน เพื่อให้การออกไปศึกษาดูงาน อบรมแต่ละครั้งเกิดผลมากที่สุด เมื่อครูกลับมาก็จะเปิดโอกาสให้นำความรู้ที่ได้มาถ่ายทอดสู่เพื่อนครูคนอื่นๆ
“เวลาไปอบรมส่งแกนนำไปก่อน บางทีเขาให้ไปสอง เราจะทำยังไง อีก 3 – 4 คน กลัวเขาเสียใจ โทรไปถามผู้จัดงานว่าเพิ่มได้ไหม เขาบอกว่ามีงบประมาณจำกัด ก็ไปหา ผอ. บอกผอ. ว่าอันนี้สำคัญมาก เราพอจะเอางบของเราได้ไหม แล้วก็โทรไปบอกเขา บอกขออนุญาตไปแต่ออกค่าใช้จ่ายเอง ผอ.อนุญาต แทนที่จะไปสอง ก็ไปสาม ไปสี่ ไปห้า แต่ละคนที่ไปก็แสดงศักยภาพนะ เขาไปแต่ละทีก็ไปแสดงศักยภาพ ทำการบ้านมาก่อนนะ อธิบายเนื้องานเป็นแบบนี้ๆ นะสร้างภูมิคุ้มกัน หาความรู้มาก่อน ทำให้การไปแต่ละครั้งได้งานกลับมาเต็มที่ จนกระทั่งระยะต่อมามีแกนนำเพิ่มขึ้นมาเป็น 12 คน”
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งในการขับเคลื่อนหลักปรัชญาฯ และเป็นสิ่งที่ครูสารภีเน้นย้ำ ทำกันจนเป็นวิถีของโรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคม ก็คือ การสร้างผลงานเชิงประจักษ์ โดยส่งเสริมให้ครูเกิดการพัฒนาปรับปรุงในการจัดทำหน่วยการเรียนรู้และแผนการจัดการเรียนรู้ สื่อ นวัตกรรมที่บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีการถอดบทเรียน ถอดองค์ความรู้ และวิเคราะห์ตามหลักสามห่วง สองเงื่อนไขในทุกงาน ทุกกิจกรรม ซึ่งนอกจากเด็กๆ จะได้ฝึกคิดวิเคราะห์แล้ว การถอดบทเรียนยังทำให้ได้มองเห็นเส้นทาง เข้าใจเส้นสายของแต่ละองค์ความรู้ที่ได้ นำมาสู่การจัดเป็นหลักฐาน รูปเล่ม สื่อการเรียนรู้ ตัวอย่างงานเก็บไว้ร่วมกันชื่นชม เป็นหลักฐานความสำเร็จที่ใช้ส่งต่อให้ผู้มาศึกษาดูงานหรือรุ่นน้อง ได้เรียนรู้เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ต่อไป
“ทุกงานของเด็ก เราพยายามทำให้เด็กเขาถอดออกมา แล้วครูจะประมวลเพื่อเอามาเขียน เพื่อให้เห็น นำมาจัดแสดง จัดเก็บ เดินไปทางไหนก็เห็น ก็สัมผัสได้ ทำให้นักเรียน ครูผู้สอนเกิดความภาคภูมิใจด้วย”
เมื่อการขับเคลื่อนในโรงเรียนเริ่มชัดเจนเป็นรูปธรรม มีทีมขับเคลื่อนเข้มแข็ง รวมถึงมีคุณครูที่เข้าใจ นำไปสู่การออกแบบแผนการเรียนการสอนแบบบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้มากขึ้น นักเรียนเริ่มมีความเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถวิเคราะห์ หรือถอดบทเรียนการเรียนรู้ในแต่ละวิชา โครงการ กิจกรรมต่างๆ ได้แล้ว ขั้นต่อไปคือการหาพันธมิตรเพื่อ สร้างเครือข่าย โดยได้ชักชวนโรงเรียนที่มีใจเดียวกัน มาร่วมศึกษาเรียนรู้ และให้ความช่วยเหลือ แจกเอกสาร เบอร์โทรศัพท์ อีเมล์เพื่อติดต่อกัน นอกจากนั้นยังมีการออกไปเผยแพร่องค์ความรู้ การดำเนินงานของโรงเรียนเพื่อเผยแพร่ให้สถาบันการศึกษาอื่นๆ เกิดการรับรู้และเข้าใจ เห็นประโยชน์ในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้มากขึ้น
เทคนิคเพื่อนร่วมทางในฐานะทีมขับเคลื่อน
การทำงานกับคนไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ถึงกับยากเสียทีเดียว ครูสารภีบอกว่า เทคนิคและหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนอยู่ที่ การทำตัวเป็นแบบอย่าง ใช้วิธีการพูด การสื่อสาร อธิบายความด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย และหยิบยกตัวอย่างใกล้ตัว เพราะเมื่อครูเข้าใจ ศัพท์ 3 คำ คือ พอประมาณ หมายถึงอะไร คำพูดอะไรที่สื่อไปถึงความพอประมาณได้ ความมีเหตุมีผล คำพูดอะไร ที่จะสื่อไปถึงการมีเหตุมีผล กิจกรรมหรือพฤติกรรมอะไรที่สามารถสื่อไปถึงการสร้างภูมิคุ้มกัน ถ้าครูเข้าใจ 3 คำนี้ ครูก็จะไปออกแบบการเรียนการสอนได้ และเมื่อครูสามารถทำขั้นแรกได้แล้ว ครูสารภียังเน้นให้ลึกลงไปถึงการออกแบบการเรียนการสอน การทำงานที่โยงไปถึงสี่มิติ โดยจะอธิบายอย่างง่ายๆ ถึงเรื่องนี้ให้ครูฟังว่า ถ้าเมื่อใดที่มีการให้นักเรียนได้ใช้วัสดุอุปกรณ์ นั่นหมายความว่าได้ลงไปสู่มิติของวัตถุแล้ว เมื่อลงไปสู่มิติของวัตถุแล้ว ครูก็สามารถที่จะตรวจสอบได้ว่า การใช้วัสดุอุปกรณ์ของนักเรียนมีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องแล้วหรือไม่ ใช้เครื่องมืออุปกรณ์เหล่านั้นเป็นไหม นั่นหมายถึงทักษะ จากนั้นโยงให้เด็กตระหนักว่าการใช้วัสดุอุปกรณ์นั้นมีค่า มีความสำคัญ ต้องใช้อย่างทะนุถนอม เท่าที่จำเป็น
“เราต้องพูดชี้ชัด ไม่อ้อมค้อม ตรงประเด็น สอบทานถามครูว่าคุณครูได้ให้นักเรียนทำงานเป็นกลุ่มไหม ทำงานเป็นคู่ไหม คุณครูได้พูดคุยกับนักเรียนไหม คุณครูได้พานักเรียนไปมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชน ถ้ามีปฏิสัมพันธ์กับชุมชน กับครู กับเพื่อน ด้วยกัน นั่นคือมิติทางด้านสังคม อยากให้เด็กมีมิติทางด้านสังคม นักเรียนควรจะมีวิธีการยังไง จึงจะไปเกิดมิติทางด้านสังคมอย่างมีความสุข และประสบผลสำเร็จ คือนักเรียนจะต้องมีความรอบรู้ที่จะเข้าสังคม มีความรู้ที่จะไปทำงานกลุ่ม มีความรู้แล้ว มีลักษณะของคุณธรรม ความตระหนักของความเป็นผู้นำ มีลักษณะของความเป็นประชาธิปไตย มีทักษะในการที่จะอภิปรายยกมือ แล้วคุณครูได้สอนหรือยังในห้องเรียน ถ้าครูได้สอนแปลว่าคุณครูได้สร้างมิติทางด้านสังคมกับนักเรียนแล้ว มีไหมไปตรวจสอบแผนตัวเองดูสิ เราก็จะค่อยๆ บอกเขา แล้วถ้าเราให้นักเรียนใช้วัสดุอุปกรณ์ วัสดุอุปกรณ์ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม ถ้าใช้วัสดุอุปกรณ์แล้วจะกระทบกับสิ่งแวดล้อมไหม ใช้มากจนเกินไปไหม พูดไปเราก็เอาหนังสือตามรอยพ่อเดินอย่างพอเพียงให้คุณครูอ่านหน้านี้ หน้านี้ ความหมายเป็นแบบนี้ มิติมันอยู่ตรงนี้ มีไหม ถ้านักเรียนใช้ ทำงานแล้วดูแลความสะอาดหน่อยนะ เกิดมิติทางด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว มีไหมที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาเป็นแหล่งเรียนรู้ แต่จำเป็นไหมที่จะเกิดใน 1 ชม. ไม่จำเป็น สอนไปตามธรรมชาติ แต่เมื่อครบหน่วย มันก็จะเกิดของมันเอง บอกครูเขาไปแบบนี้ สั้นๆ ให้เข้าใจง่ายๆ ก็ได้ผล”
นอกจากการชี้แนะแนวทางด้วยคำอธิบายที่ชัดเจนแล้ว บทบาทที่ดีของทีมขับเคลื่อนที่ต้องทำควบคู่กันไปคือ การเป็นพี่เลี้ยง เป็นเพื่อนร่วมทาง ที่คอยรับฟังปัญหา ร่วมหาทางแก้ไข แนะจุดด้อย เติมจุดขาด นิเทศ ติดตาม ทั้งแบบเป็นทางการหรือใช้วิธีสังเกตว่า ครูเขาไม่เข้าใจจุดไหน อย่างไร ก็เข้าไปปรับความคิด แล้วค่อยๆ คุยไปทีละนิดทีละหน่อย ที่สำคัญควรยกย่องเชิดชู สร้างขวัญกำลังใจอย่างสม่ำเสมอ
ให้บทบาท ให้โอกาส นำมาสู่การเปิดใจของครู
ครูสารภี เล่าว่า ในการทำงาน สร้าง 5 ส. ย่อมต้องใช้เวลา ที่ผ่านมามีทั้งครูที่สนใจ ยินดีที่จะนำหลักปรัชญาฯ ไปใช้ สำหรับปัญหาเรื่องครูยังไม่เปิดใจ อาจไม่ได้หมายความว่าครูไม่เข้าใจ ไม่อยากทำ หากแต่เพราะเขายังไม่ได้รับบทบาท หรือโอกาสในการทำงาน ในกรณีนี้ครูสารภีจะใช้วิธีการใช้ความเป็นพี่น้องเข้าไปถามไถ่ พูดคุยถึงเรื่องติดขัด เสนอตัวเข้าช่วยเหลือ และให้บทบาท โดยทุกกลุ่มสาระจะมีการสลับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นหัวหน้ากลุ่มสาระ ทำให้สามารถแก้ปัญหานี้ได้
“ที่ผ่านมามีบ้างที่ครูยังไม่เข้ามา เราก็เข้าใจว่าครูแต่ละคนแตกต่างกัน เราต้องใช้วิธีที่แตกต่างกัน ต้องรู้จักสังเกต ใครไม่เข้ามาเราก็อย่ามองข้าม ต้องเข้าไปพูดคุย เข้าไปถามว่า มีปัญหาอะไรไหม ให้ช่วยไหม เรื่องของการที่จะไปนิเทศรุ่นน้อง เรื่องของการเขียนแผน นำตัวอย่างมาให้ดู มีกรณีตัวอย่าง อาจารย์ท่านหนึ่ง เป็นอาจารย์พละ มักจะมองอยู่ห่างๆ ไม่ได้เข้ามา แต่มาถึงรอบที่เขาต้องเป็นหัวหน้ากลุ่มสาระ พอเขาได้ไปประชุม อบรม เขาก็จะต้องไปเป็นวิทยากรโดยปริยาย เขาก็เริ่มเข้ามาปรึกษา มาแสดงความคิดเห็น จริงๆ เขามีความรู้แต่เขาไม่พูด กักเอาไว้ เพราะใจเขายังไม่เปิด แต่บังเอิญมันเป็นคิวของเขาที่เขาจะต้องเป็นหัวหน้ากลุ่ม เขาก็เลยเปิดออกมา ทำให้เราได้ค้นพบด้วยว่า การให้บทบาทเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อเขาได้เป็นหัวหน้าแล้ว เขาต้องแสดงศักยภาพ และเราก็เป็นพี่เลี้ยงให้เขา ชื่นชม ให้กำลังใจ วิธีการอย่างนี้สามารถแก้ปัญหาจุดนี้ได้ดี ออกไปข้างนอกเป็นวิทยากรเขาก็สนุกสนาน เขาได้แสดงออก ทำให้เขามีความภาคภูมิใจและอยากทำงาน”
ทำอย่างไรเมื่อครูย้ายไปและเข้ามาใหม่
ปัจจุบันครูสารภี บอกว่า ครูทุกคนสามารถเขียนแผนได้ อาจจะมีระดับความเข้าใจไล่เรียงกันไป สำหรับครูที่ย้ายเข้ามาใหม่จะมีวิธีการจัดการเรียนรู้ไปตามธรรมชาติ เนียนเป็นเนื้อเดียวกันไปกับทุกกิจกรรม โดยจะใช้โอกาสเมื่อตัวแทนครูได้ออกไปขยายผลให้กับโรงเรียนเครือข่าย จะให้ครูใหม่ออกไปเรียนรู้จากสนามจริง นอกจากนั้นจะจัดอบรมให้ในวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์ ไม่จัดอบรมในวันปกติ เพราะจะส่งผลต่อการเรียนการสอน อย่างไรก็ตาม ครูสารภีบอกว่าจะไม่อบรมทันที แต่จะให้ครูได้เรียนรู้ด้วยกันเองก่อน
“ให้เขาเรียนรู้ไปก่อน ให้ครูรุ่นพี่เขาอธิบายให้กันฟังไปก่อน บางคนใจร้อนก็มาถาม และเขาก็จะได้รับการนิเทศจากทางวิชาการ ว่าโรงเรียนเราเป็นแบบนี้ๆ นะ เราทำงานกันโดยยึดหลักปรัชญาฯ ไปเรียนรู้นะ เราก็ให้เอกสารไป บางคนยังไม่เข้าใจก็มาถาม แต่บางคนถ้าอยากให้เราจัดอบรมให้เราก็จัดให้ หรือหากเราได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรไปจัดอบรมให้โรงเรียนนอกพื้นที่ จะให้ครูใหม่เหล่านี้ไปเรียนรู้ร่วมกัน เหตุผลทำไมเราถึงพาไป เราจะให้เขาเห็นเลยว่าเราทำงานแบบนี้ ไปรู้ไปเห็นเลย ให้เขาเห็นเลยว่าโรงเรียนเราเดินไปด้วยแนวทางนี้นะ มาอยู่โรงเรียนนี้จะต้องเป็นวิทยากรได้ ส่วนครูที่ย้ายออกก็ไม่มีปัญหาเพราะเรามีทีมที่แข็ง มีการกระจายไปยังกลุ่มสาระต่างๆ งานต่างๆ แล้ว ครูบางคนเขาย้ายกลับภูมิลำเนา เขาก็เอาไปขยายผลต่อ มีปัญหาเขาก็ยังมาขอคำปรึกษา พาโรงเรียนมาดูงานก็มี ตรงนี้ก็เห็นผลว่ามันติดตัวเขาไปด้วย”
สร้างบรรยากาศ ติดหู ติดตา ติดใจ
นอกจาก 5 ส. ที่เป็นประเด็นสำคัญแล้ว ครูสารภีบอกว่า การสร้างบรรยากาศให้โรงเรียนเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ สังคมแห่งความพอเพียง ยังช่วยให้ทั้งครูและนักเรียนได้ซึมซับ โดยจะเห็นได้ว่าทั่วทั้งบริเวณอาคาร ห้องสมุด ห้องเรียน สวน ฯลฯ จะมีสื่อที่สะท้อนให้เห็นผลงานเชิงประจักษ์ของครู และนักเรียนจัดแสดงอยู่ทั่ว
“เราใช้หลัก ติดหู ติดตา ติดใจ หูก็คือฟัง ติดตาก็เห็น จะอยู่ในใจ และเตือนย้ำซ้ำทวน ตักเตือน ลักษณะอย่างนี้ ครูทุกคนจะช่วยกัน มีความสามัคคีดี จนเกิดเป็นวิถี หยั่งรากเป็นวัฒนธรรม เจอกันตอนเช้าจะต้องยกมือไหว้ เด็กนักเรียนเจอกันก็ทักทายสวัสดีครับ สวัสดีค่ะ จนเราไม่รู้ว่าเกิดขึ้นตอนไหนอย่างไร จนเป็นพฤติกรรมที่บ่งบอกเป็นเชิงประจักษ์ เราต้องยิ้มให้กันนะตอนเช้า ไหว้กัน มีมนุษย์สัมพันธ์ แขกมาเราต้องสามารถทักทายพูดคุย เชิญชวน แนะนำ การผายมือ การนำ การเป็นไกด์ เด็กของเราต้องกล้าเข้าไปคุยกับแขก กล้าเสนองาน สืบเนื่องมาตอนทำโรงเรียนในฝันของเรา 1 รัก 3 น่า โรงเรียนในฝันเขาว่าอย่างนั้น 1 รัก คือ ต้องรักนักเรียน ต้องรักโรงเรียน 3 น่า คือ น่าดู เข้ามาโรงเรียนแล้วโรงเรียนจะต้องสวยงาม คือจะต้องมีความปลอดภัย น่าเรียน จะต้องมีแหล่งเรียนรู้ ซึ่งฐานเดิมที่เรามีอยู่บ้าง เมื่อนำหลักปรัชญาฯ เข้ามาใช้ก็ยิ่งเกิดผลชัดเจนขึ้น”
จัดกิจกรรมตามความสนใจของผู้เรียน
ขณะที่การสร้างทีมดำเนินไปอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง การจัดกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ ในโรงเรียนก็เกิดขึ้นมาตามลำดับ ครูสารภีบอกว่า แม้ชุมชนโดยรอบจะเป็นชุมชนการเกษตร แต่โรงเรียนเลือกที่จะทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น ห้องสมุดมิติใหม่ ธนาคารโรงเรียน คลินิกภาษา Youth Counselor นักเรียนเพื่อนที่ปรึกษา ฯลฯ เนื่องจากครูร่วมกันวิเคราะห์ พบว่า บริบทของเด็กเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา เป็นเด็กวัยรุ่นที่มีความสนใจหลากหลาย ซึ่งส่วนใหญ่ที่บ้านทำการเกษตรอยู่แล้ว หากโรงเรียนจัดกิจกรรมหรือแหล่งเรียนรู้ที่เป็นเกษตรอีกอาจทำให้นักเรียนเบื่อหน่าย ครูจึงจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับความสนใจของเด็ก ให้เด็กมีส่วนร่วมในการคิด ออกแบบกิจกรรม ซึ่งทำให้การเกิดเรียนรู้
“ถ้าทำเกษตรก็ต้องให้เขาปลูกผักอีก อยู่บ้านเขาก็ทำอยู่แล้ว เรื่องนี้เราเพียงแต่สอนนักเรียนว่า ปลูกแบบไหนถึงจะคุ้มค่า ปลอดภัย เพราะเผลอๆ ภูมิปัญญาของชาวบ้านเขาสูงกว่าเราด้วยซ้ำ เราเลยตัดสินใจเอาเรื่องที่นักเรียนสนใจอยากมาเรียนรู้ เราถือหลักอย่างนั้น มันจึงหลากหลาย เมื่อเราถ่ายทอดให้เด็ก เขาจะนำสิ่งที่ซึมซับไปปฏิบัติ พัฒนาชีวิตเขาได้ เกิดการผ่องถ่าย เอาสิ่งเหล่านี้ไปสอนพ่อ สอนแม่ สอนผู้ปกครอง ใช้คำว่าสอนก็ไม่ได้ จะใช้คำว่าบอกเขาก็ไม่เชื่อ เด็กเขาเอาไปใช้ในวิถีชีวิตเขา ญาติพี่น้องเห็น เป็นการผ่องถ่ายองค์ความรู้ ผ่องถ่ายจากสิ่งที่เขาได้พบ ได้เห็น ได้นำหลักปรัชญาฯ ในโรงเรียนไปใช้ในชีวิต ยกตัวอย่างเช่น ทำไมเขาต้องฝากเงินกับธนาคารโรงเรียน เขาได้หลักในการบริหารเงิน 20 บาท จึงจะมีเงินเก็บ นี่เป็นการผ่องถ่ายองค์ความรู้ เขาทำได้แล้วพ่อแม่เห็น พ่อแม่ก็ได้คิด ขนาดเด็กยังรู้จักประหยัด แล้วพ่อแม่ล่ะ ตรงนี้เรียกว่าการผ่องถ่ายองค์ความรู้ ไปหาผู้ปกครอง”
นอกจากเน้นที่ความสนใจของผู้เรียน คุณครูยังคำนึงถึงการนำวัสดุในท้องถิ่นมาใช้ในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ นำมาเพิ่มมูลค่า แม้ว่าบางอย่างไม่ถึงกับสร้างรายได้หรือมีราคา แต่เป้าหมายของโรงเรียนคือต้องการให้นักเรียนรู้แนวทางในการจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นของตนเอง รู้จักใช้สิ่งใกล้ตัว สามารถนำความรู้ไปต่อยอด และประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ครูสารภี ยกตัวอย่างเช่น รังบวบ ที่เคยรู้แค่ว่านำมาใช้ประโยชน์ในการขัดตัวได้ แต่เมื่อเด็กรู้จักประยุกต์ ก็สามารถนำมาย้อมสีจัดเป็นกระเช้าดอกไม้ได้ หรือผลมะกรูด ก็สามารถนำมาทำกระเช้าดับกลิ่นได้ เป็นต้น
เงื่อนไขความสำเร็จ
หากพูดถึงหัวใจของความสำเร็จ ครูสารภีบอกว่า 1. ต้องเป็นแบบอย่าง 2. ผู้ที่รับหลักการ (ผู้บริหาร หรือทีมขับเคลื่อน) ต้องนำหลักคิดมากระจายไปสู่กลุ่ม สายงานต่างๆ ได้ และ 3. ผู้ที่เคลื่อนงานต้องมีความรู้กระจ่าง มีใจอย่างแท้จริง
“เป็นธรรมดา ว่าบางคนก็สนใจอย่างจริงจัง บางคนก็ไม่สนใจ บางคนก็รับรู้เท่านั้นแต่ไม่ได้คิดยาวออกไป ถ้าอบรมแล้วกลับไปโรงเรียนเราเจอคำถามจะตอบว่ายังไง ถ้ารู้ไม่กระจ่าง พอครูถามมาตอบเขาไม่ได้ แบบนี้ความเชื่อศรัทธาที่มีอยู่ก็จะหายไป แต่สำหรับโรงเรียนพี่ พี่จะบอกเลยไปอบรมมาให้ทำความเข้าใจให้กระจ่างนะ กระจ่างก่อนที่เราจะมาขยายผลนะ มาประชุมกันก่อนนะ ต้องสร้างศรัทธานะ พูดให้เป็นแนวเดียวกันนะ คณะที่ไปจะต้องมาประชุมกันก่อน พูดกันคนละแบบ เถียงกันเอง ความศรัทธาไม่มี เพราะฉะนั้นเราต้องทำกันเป็นกระบวนการหลายครั้งที่เขามาดูเรา แล้วกลับไปเขาไปเล่าไม่ได้ เพราะบางคนมาเพื่อมาถ่ายรูป ไม่ได้มาอย่างนี้ พอกลับไปเจอคำถาม ตอบไม่ได้ หลายโรงเรียนเมื่อผู้บริหารย้ายก็ไม่มีการเสริมต่อ เพราะอะไร พี่คิดว่า เพราะว่ามันไม่กระจายออก มันเป็นกระจุก แล้วก็ส่วนใหญ่ตรงมาจากผู้บริหาร หากผู้บริหารเป็นคนสั่ง ถ้าผู้บริหารไม่ได้สั่งก็ไม่ได้ทำ แต่โรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคมมีทีมประสานเป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนจะเป็นตัวกลางเชื่อมประสานขึ้นไปสู่ฝ่ายบริหารซึ่งเป็นทีมนำ แล้วจะนำข้อมูลแนวทางการปฏิบัติหรือนโยบายลงมาสู่ครูซึ่งเป็นทีมปฏิบัติ รับข้อมูลความคิดเห็นจากครูแล้วนำเสนอผู้บริหาร ผู้บริหารจะเสนอแนะ กลั่นกรอง เติมเต็ม เพราะผู้บริหารยึดหลักการนี้อยู่แล้ว งานทุกอย่างก็จะสำเร็จ ไม่กระจุกอยู่แค่กลุ่มครูไม่กี่คน”
ด้วยโมเดลการทำงานแบบดาวกระจายเช่นนี้เองทำให้การขับเคลื่อนสามารถหยั่งราก จนเกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กร นำไปสู่วิถีชีวิตของบุคลากรและนักเรียนที่มีความพอเพียง “เราวัดได้ที่ไหน เราดูว่าครูที่นี่ วิถีชีวิตของเขา เขาไม่ค่อยมีหนี้มีสิน เขาไม่มีการตั้งกลุ่มนั่งกินเหล้าเมายา ต่างคนต่างทำงาน ไม่มีปัญหาคนทะเลาะเบาะแว้งกัน ช่วยกัน พี่ช่วยน้อง น้องช่วยพี่ ต่างคนต่างรู้หน้าที่ สังเกตดูว่าเวลาเขาจะใช้สื่ออะไร ทำไมเขาจะต้องไปขวนขวายเอาตรงนั้นตรงนี้จากท้องถิ่นมานำเสนอ ทั้งที่โรงเรียนมีโอกาสซื้อให้เขาได้ แต่เขาก็ใช้อย่างประหยัด เขาออกแบบให้นักเรียนออกไปหาในท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ นั่นแสดงว่ารู้จักนำของที่มีอยู่มาใช้อย่างคุ้มค่า ให้นักเรียนเห็นเป็นตัวอย่าง มันอยู่ในตัวคน และอีกอย่างในด้านคุณธรรม ที่นี่ก็มีด้านความสามัคคี ถ้าไม่มีความสามัคคีมันก็คงไม่เติบโตได้ถึงขนาดนี้”
การบริหารจัดการศูนย์การเรียนรู้ฯ
เมื่อโรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคมได้รับบทบาทเป็นศูนย์การเรียนรู้ฯ สิ่งที่ครูสารภีเน้นย้ำ คือ ความคุ้มค่าของผู้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ดูงาน ทั้งนี้ได้จัดหลักสูตรการอบรมไว้สองแบบ คือ แบบเร่งรัด 1 วัน และ แบบ 2 วัน โดยก่อนมาดูงานโรงเรียนจะสอบถาม พูดคุยถึงวัตถุประสงค์ พื้นฐาน บริบทของโรงเรียน จำนวนผู้ที่จะมาศึกษาดูงานก่อนเป็นลำดับ จากนั้นจะให้คำแนะนำว่าโรงเรียนนั้นๆ ควรใช้หลักสูตรใด หรือเน้นเรื่องใดเป็นพิเศษ เช่น อบรมเรื่องการออกแบบแผนการเรียนรู้ ออกแบบหน่วยการเรียนรู้ หรือหากเป็นก้าวแรก ยังไม่ได้เริ่มทำเลยก็จะจัดให้เหมาะสม ด้วยการปูพื้นฐาน ฉายภาพสร้างความตระหนักความเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ครูสารภีอธิบายว่า การอบรมจะแบ่งเป็นภาคเช้า เริ่มจากแนะนำ ทำความรู้จักผู้บริหาร ครูแกนนำ ผอ.จะขึ้นกล่าวต้อนรับ และบรรยายเพื่อสร้างความตระหนัก จากนั้นรองผอ.วีระพล สายหอม จะเสนอภาพการบริหารโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียน จุดเริ่มต้นเคลื่อนงาน ตั้งแต่ปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ ลงสู่การเคลื่อนงานด้านต่างๆ ต่อด้วยครูสารภีจะบรรยายถึงวิธีการขับเคลื่อนงานทำอย่างไร จุดเด่นของโรงเรียน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น จากนั้น รองผอ. กฤตวรรณ เรืองทุม จะบรรยายงานวิชาการ การจัดแผนการเรียนรู้ การออกแบบหน่วยการเรียนรู้ สื่อการเรียนรู้ ภาคบ่ายจะออกไปดูกิจกรรมตามฐานการเรียนรู้ต่างๆ จากนั้นจะกลับมาสรุปการเรียนรู้ สะท้อนการเรียนรู้ ตอบข้อซักถาม จบด้วยการมอบเกียรติบัตร
“การดูฐานถ้ามีมาเยอะก็แบ่งเป็นสองสาย สายเอ สายบี สลับกัน ถ้ามีนักเรียนมาด้วย จะให้นักเรียนแกนนำเป็นผู้พาไป เราถือว่านักเรียนคุยกับนักเรียนเขาจะเข้าใจ นี่คือมาศึกษาดูงาน 1 วัน ไปเดินดูให้เห็นจริงเลยในแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ซึ่งทำแบบนี้มีส่วนดีไหม ดี เพราะครูในแต่ละกลุ่มสาระ ในแต่ละแหล่งเรียนรู้คุณจะต้องพัฒนาตลอดเวลา ต้องมีคนมาศึกษาดูงานตลอดเวลา ครูได้เป็นวิทยากรตลอดเวลา ก็พัฒนาการศึกษา การอธิบายความของครูไปในตัว”
หากอบรมเรื่องแผนการเรียนรู้อาจจะใช้โปรแกรมสองวัน ในกระบวนการจะมีใบงาน มีสื่อต่างๆ ประกอบการอบรม วิทยากรหลักจะเป็นผู้บรรยาย และจัดให้ครูได้ปฏิบัติจริง ด้วยการแบ่งครูเป็น 8 กลุ่ม ตามกลุ่มสาระ ให้ทดลองเขียนแผนโดยมีครูแกนนำแต่ละกลุ่มสาระของโรงเรียนเป็นวิทยากรผู้ช่วยทุกกลุ่มสาระ เมื่อได้ชิ้นงานออกมา จะนำมาวิเคราะห์ร่วมกันว่าแผนนั้นสอดคล้องกับหลักสามห่วงสองเงื่อนไขอย่างไร
“การอบรมเขียนแผน เราจะบอกผู้ติดต่อตั้งแต่แรกว่า ให้ครูเตรียมหน่วยการสอนหรือแผนที่มีอยู่แล้ว แผนที่เขาสะดวก และคิดว่าสามารถสอดแทรกหลักสามห่วง สองเงื่อนไขในกิจกรรรมได้ง่ายที่สุดมาด้วยในวันอบรม วิธีการของวิทยากรคือ ช่วยบอกวิธีการให้เขาเข้าใจว่า หลักสามห่วง สองเงื่อนเป็นอย่างไร มีความสำคัญอย่างไร คำพูดไหนที่สื่อไปถึงกิจกรรมการเรียนรู้ที่เราฝึกนักเรียน เช่น กิจกรรมการเรียนรู้นั้นๆ ครูให้นักเรียนอภิปราย วิเคราะห์ ก็จัดเป็นลักษณะเชิงเหตุเชิงผล ก็คือห่วงของเหตุผล การคิดวิเคราะห์ หรือหากแผนนั้นครูให้นักเรียนทำงานกลุ่ม แสดงว่านักเรียนในกลุ่มมีการวางแผนงานอย่างไร ลำดับขั้นตอนงานอย่างไร เราก็จะยกตัวอย่างให้ครูฟัง จุดนี้เป็นตัวอย่างของการสร้างคุณลักษณะในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับนักเรียน วิทยากรจะบอก อธิบายและพาทำ จากนั้นจะนำแผนที่คุณครูมีอยู่แล้วมาช่วยกันวิเคราะห์ว่าในกิจกรรมของครูมีแบบที่วิทยากรยกตัวอย่างหรือไม่ ถ้ายังไม่มีคุณครูลองเปลี่ยน ลองคิดกิจกรรมการเรียนรู้ดู ในเรื่องอื่นๆ อย่างเช่น เวลา ใช้สองชั่วโมง สามชั่วโมง พอหรือไม่ เราชี้ประเด็นให้เขาเห็น องค์ประกอบของแผน ของการออกแบบหน่วย แต่ถ้ากรณีที่ครูไม่ได้นำแผนมา ทางโรงเรียนจะมีหลักสูตรของแต่ละกลุ่มสาระเอาไว้ศึกษาเป็นตัวอย่าง ให้คุณครูลองทำดู อันนี้จะยากหน่อย บางทีคุณครูก็เพียงแต่เข้าใจ ลงมือปฏิบัติไม่ครบก็หมดเวลาเสียก่อนแล้ว เราจะต้องย้ำให้เขาเอาแผนมาด้วย อันนี้จะได้ผลมากกว่า”
ด้านการอบรมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ครูสารภีบอกว่าสำคัญและจำเป็นพอๆ กับการออกแบบหน่วยการเรียนรู้ จึงจัดให้ผู้มาศึกษาดูงานได้เรียนรู้ด้วย ทั้งนี้เพราะเห็นว่า ส่วนใหญ่โรงเรียนแต่ละโรงจะมีกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนหลากหลายตามบริบทของเขาอยู่แล้ว เช่น แนะแนว กิจกรรมในเครื่องแบบ ชุมนุม แต่ยังขาดการเชื่อมโยงบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และวิเคราะห์สามห่วง สองเงื่อนไข กิจกรรมเสริมเหล่านี้เป็นกิจกรรมตามความสนใจ ซึ่งนักเรียนไม่ได้ถูกบังคับ เขาเรียนด้วยความสุข เมื่อมีความสุข ความใส่ใจจะมีมาก การที่เขาได้ปฏิบัติตามความสนใจของตนเอง จึงมีความตั้งใจสูง ทำได้ดี โรงเรียนจึงเล็งเห็นในจุดนี้ว่า หากครูนำหลักสามห่วง สองเงื่อนไขไปสอดแทรก น่าจะทำได้ง่าย ทำได้ผล โดยเฉพาะถ้าครูเข้าใจก็จะสามารถอธิบายให้นักเรียนฟังไปพร้อมๆ กับการปฏิบัติ ซึ่งจะทำได้ง่าย เป็นธรรมชาติกว่าการจัดการเรียนรู้ในหลักสูตร 8 กลุ่มสาระ
“ในส่วนกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เราจะบอกกรอบว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง ในโรงเรียนแต่ละโรงที่มาเขาจะมีกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนอยู่แล้ว ก็ให้เขาย้อนกลับไปคิดว่าในโรงเรียนเมื่อจัดกิจกรรมนั้นๆ ได้ปลูกหรือเสริมสร้างคุณลักษณะอยู่อย่างพอเพียง ช่วงตอนไหน อย่างไร การอบรมจะมีใบงานให้เขาบอกชื่อกิจกรรม ขั้นตอนการดำเนินการ แล้วจึงให้เขาวิเคราะห์ว่าการดำเนินงานดังกล่าวไปเชื่อมโยงกับหลักสามห่วง สองเงื่อนไขอย่างไร ให้เขาคิด เมื่อขั้นตอนนั้นเสร็จแล้ว วิทยากรจะถามว่าถ้าทำใหม่ ออกแบบใหม่จะปรับปรุงตรงไหน จะเสริมสร้างตรงไหนให้เด็กเกิดอุปนิสัยพอเพียงได้ ตรงนี้คือฝึกให้ครูคิด แล้วลองปรับจากสิ่งที่เขามี เหมือนพาเขาทำแบบฝึกหัด ก็จะง่ายในเวลาอันสั้น หลักๆ ให้เขาเข้าใจก่อน เขาจะกลับไปคิดต่อ ออกแบบต่อเมื่อเขากลับไปให้สมบูรณ์ขึ้น หลังจากนั้นจะพาไปดูของจริงที่โรงเรียนได้จัด ซึ่งก็คือฐานต่างๆ ห้องเรียนรู้ต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว โดยไม่ต้องจัดอะไรขึ้นมาใหม่ เช่น ห้องแสดงผ้าพื้นเมือง ในสาระการเรียนรู้การงานอาชีพฯ โครงการหมอภาษา กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย จะมีกรณีตัวอย่างให้ดู แผนการเรียนรู้ที่ครูจัดการเรียนการสอน ครูจะอธิบาย ตอบข้อซักถาม เล่าวิธีการ แต่ถ้ามาในช่วงที่มีกิจกรรม ก็จะสอบถามพูดคุยกับนักเรียนตอนนั้นได้เลย เช่น ห้องสมุดโรงเรียน ธนาคารโรงเรียน ที่ดำเนินการอยู่แล้วทุกวัน วิทยากรอาจจะคัดเลือกตัวอย่างผลงานของนักเรียนในกิจกรรมนั้นๆ ให้เห็นผลงานว่าเราทำจริง และนักเรียนก็สามารถทำได้หลากหลาย”
ยกตัวอย่างเช่น โครงการหมอภาษาพัฒนาเยาวชน เป็นโครงการที่สร้างเด็ก และเยาวชนให้เป็นผู้นำในการแก้ปัญหาการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง โดยมอบความไว้วางใจให้เป็นหมอภาษา มุ่งเน้นการฝึกทักษะกระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ และการประยุกต์ความรู้มาใช้ป้องกันและแก้ไขปัญหา ซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้านการมีภูมิคุ้มกันที่ดีในการใช้ภาษาไทย โดยใช้เงื่อนไข ความรู้เป็นตัวกำหนด โดยจัดให้เด็กเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติให้ทำได้ คิดเป็น แก้ปัญหาเป็น รักการอ่าน และเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง
ฐานการเรียนรู้ “ร้านหมอภาษา” นี้เป็นฐานที่จัดขึ้นเพื่อผู้เรียนจะได้ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ภาษาไทย โดยเน้นที่ทักษะการออกเสียงให้ถูกต้อง เพื่อให้การสื่อสารสัมฤทธิ์ผล นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องกับภาษาไทยให้สมาชิกได้ปฏิบัติเพิ่มเติม โดยมีการจำลองสถานการณ์ว่าการออกเสียงภาษาไทย ไม่ถูกต้อง ไม่ชัดเจน เปรียบเหมือนเป็นโรคที่ต้องการรับการบำบัดรักษา ขั้นตอนบำบัดรักษาจะคล้ายกับการเข้ารับการรักษาโรคในคลินิกหรือโรงพยาบาล คือ ทำประวัติ วินิจฉัยโรค บำบัดเฉพาะโรค ตรวจหลังบำบัด บริการให้คำปรึกษา รับยา และรับใบรับรองการเข้าร่วมกิจกรรม ผู้ที่ได้รับการบำบัดรักษาจนสามารถออกเสียงได้ถูกต้องชัดเจน จะได้รับเกียรติบัตร “ใบรับรองคุณภาพ” เพื่อเป็นกำลังใจ นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมทายนิสัยจากลายมือ กิจกรรมภาษาสวยด้วยมือเรา และกิจกรรมทายสำนวนไทย เพิ่มเติมอีกด้วย
วิธีการจัดกิจกรรม กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ได้รับสมัครนักเรียนเพื่อคัดเลือกเป็น “หมอภาษา” โดยเป็นนักเรียนที่มีความรู้ ความสามารถในการใช้ภาษาไทยได้ดีและถูกต้อง มีความรับผิดชอบ เสียสละ สามารถแบ่งเวลาในการเรียนและทำกิจกรรมได้ ผ่านการสอบโดยครูที่ปรึกษาจะเป็นผู้คัดกรอง จำนวน 20 คน เป็นหมอภาษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น 10 คน ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย 10 คน โดยจัดกิจกรรมทุกวันในช่วงพักกลางวัน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ มัธยมศึกษาตอนต้น เวลา 11.15-12.05 น. มัธยมศึกษาตอนปลาย เวลา 12.05-13.00 น.
ทั้งนี้การแยกให้บริการแก่สมาชิกเพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของสมาชิกในแต่ละระดับ ใช้เวลาพักกลางวันเพื่อไม่ให้กระทบเวลาเรียน มีการลำดับขั้นตอนการให้บริการชัดเจน ให้สมาชิกใช้บริการอย่างสะดวก ทั้งนี้จะมีสื่อ สถานที่ในการจัดกิจกรรมที่เอื้อต่อผู้เข้ามาบำบัด โดยหมอแต่ละคนจะสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำหน้าที่เพื่อให้แต่ละคนเรียนรู้งานในทุกขั้นตอน สิ่งที่นักเรียนได้จากการจัดกิจกรรมหมอภาษา คือนักเรียนมีความกล้าแสดงออกมากขึ้น ผ่านการพูดคุยสอบถามอาการเบื้องต้นของเพื่อนนักเรียนที่เข้ามารักษา นักเรียนมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ตนเองได้รับมอบหมาย เรียนรู้ที่จะเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่ม การปรับตัวเข้ากับคนอื่น มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีในการพูดคุยกับเพื่อนนักเรียน เรียนรู้ที่จะให้เกียรติเพื่อนนักเรียนที่เข้ามารับการรักษา และมีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นผู้ช่วยเหลือเพื่อนๆ ให้ใช้ภาษาไทยได้ถูกต้องมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ครูสารภีเล่าว่า ในการมาศึกษาดูงานแต่ละครั้ง สามารถปรับเปลี่ยนกำหนดการได้ตามสถานการณ์ ทั้งนี้วิทยากรจะช่วยกันสังเกตว่าผู้มาอบรมมีความเข้าใจมากน้อยเพียงใด จากนั้นจะช่วยกันประเมินว่าควรยืดหยุ่นเวลาจัดกิจกรรมอย่างไรเพื่อให้ผู้มาดูงานได้รับความรู้มากที่สุด
“หากเขาเขียนแผนยังไม่ชัด เราก็อาจจะยืดเวลาให้เขาไปอีกในส่วนนั้น ระยะเวลาในการดูงานก็อาจจะสั้นลงไป อาจช่วยกันประเมินว่าจำเป็นต้องนำเสนอมั๊ย ตัด เพิ่ม ลดทอนส่วนไหนให้เหมาะสม เราก็จะสอบถามจากครูวิทยากรด้วย ช่วยกันประเมินว่าแต่ละคนแต่ละกลุ่มเป็นอย่างไร แล้วจะดูสถานการณ์ ยืดหยุ่นกันตามความเหมาะสม โดยดูที่ผู้มาเรียนรู้เป็นหลัก ในช่วงท้ายของการดูงาน เราจะกลับมาสรุปการเรียนรู้ เขามาดูงานของเราแล้ว เขาไปทำต่อได้ไหม มาแล้วมันคุ้มค่าไหม เราก็จะบอกเสมอว่าเมื่อมาศึกษาดูงานแล้วคุณจะต้องไปตั้งหลักที่โรงเรียนคุณนะ คุณจะต้องไปวิเคราะห์กับบริบทของคุณ เริ่มจากทุนเดิมที่ตัวเองมีอยู่จะเริ่มงานอย่างไร”