การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนเชียงขวัญพิทยาคม
“โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมพลังผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา”
วันที่ 27 พฤษภาคม 255 ณ ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารไทยพาณิชย์ หาดตะวันรอน ชลบุรี
โรงเรียนเชียงขวัญพิทยาคมเริ่มต้นขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการเปลี่ยนความคิดครู ให้ครูออกไปศึกษาดูงานและรับการอบรม แต่พบว่า ครูยังไม่สามารถตอบหรือวิเคราะห์แผนการเรียนรู้ โครงการ หรือกิจกรรมต่างๆ ได้ว่าสอดคล้องกับหลักปรัชญาฯ อย่างไร ผอ.จึงใช้หลักค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆ เรียนรู้ ให้เวลา และให้โอกาสครู ใช้วิธีประชุมทีมครูแกนนำบ่อยๆ เน้นให้ครู นักเรียนถอดบทเรียนจากสิ่งที่ทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวิธีการดังกล่าว ทำให้ครูและนักเรียนเข้าใจหลักปรัชญาฯ มากขึ้น จนเกิดกลุ่มครูแกนนำ นักเรียนแกนนำ ที่มีความเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถขยายผลได้ทั้งในโรงเรียนและโรงเรียนเครือข่าย
บริบทโรงเรียนเชียงขวัญพิทยาคม มีนักเรียน 500 คน ครู 27 คน นักเรียนมีพื้นฐานยากจน อยู่ในแหล่งยาเสพติด ก่อนนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาขับเคลื่อนในโรงเรียน ครูทุกคนยังเข้าใจว่าเศรษฐกิจพอเพียงคือการเกษตร หลังจากนั้นครูในโรงเรียนเชียงขวัญพิทยาคมเริ่มทำความเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เริ่มเขียนแผนการเรียนรู้ แต่ยังเป็นการลอกเลียนมาจากการไปศึกษาดูงาน เมื่อ ผอ.ไปนิเทศ สอบถาม ให้คุณครูวิเคราะห์ว่าแผนนั้นๆ สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร ครูกลับตอบไม่ได้ เป็นที่มาให้ ผอ.ต้องกลับมาทบทวนใหม่ เริ่มใช้การถอดบทเรียนในทุกกิจกรรมทั้งกับครูและนักเรียน
การบูรณาการหลักเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนเริ่มขึ้นที่การจัดฐานการเรียนรู้ ที่ผู้อำนวยการให้อิสระกับครูจัดได้ตามถนัด ซึ่งส่วนใหญ่จะเสนอของบประมาณจัดทำแปลงเกษตรปลูกพืช หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดเป็นชั่วโมงการเกษตรปลูกพืชในภาคบ่าย ให้นักเรียนลงทำแปลงผัก ผ่านไป 2 เดือน มีนักเรียนชั้น ม.ปลาย ขอเข้าพบ ผอ.ช่วงพักกลางวัน แล้วถามว่าคาบเศรษฐกิจพอเพียงมีเพื่ออะไร แม้แต่ครูเขาก็ไม่อยากลงไป ผอ.ถามกลับว่าแล้วนักเรียนทำแปลงผักอะไร แล้วคิดเห็นอย่างไร นักเรียนตอบว่าปลูกมะนาว เพราะคิดว่ามะนามเป็นพืชเศรษฐกิจ ลูกหนึ่งขายได้หลายบาท ผอ.ถามต่อว่าแปลงปลูกเป็นลักษณะแบบไหน และได้วิธีการปลูกมาจากวิชาไหน นักเรียนก็ช่วยกันตอบว่า ปลูกระหว่างต้น ระหว่างแถว นำวิธีมาจากวิชาเกษตร แล้วผอ.ก็ยังถามอีกว่าแล้วการปลูกมะนาวเกี่ยวข้องกับวิชาอื่นอีกหรือไม่ นักเรียนช่วยกันคิดก่อนตอบ วิชาวิทยาศาสตร์เคยสอนว่ามะนาวมีรากแก้วรากฝอย คณิตศาสตร์ การคำนวณหาพื้นที่ระหว่างต้น ผอ.ตอบกลับไปว่านั่นแหละคือการบูรณาการเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เรื่องของการปลูกพืชแต่มีผลในการเอาหลักวิชาอื่นๆ มาใช้ได้ตั้งหลายวิชา สิ่งที่พวกเธอทำในตอนนี้ ทั้งเรียนรู้เรื่องการปลูก การดูแลรักษา การแบ่งเวรกันทำงาน ต้องมีมีคุณธรรม มีวินัยในตนเอง และหากนักเรียนมีต้นมะนาวที่บ้านจะได้นำวิชาความรู้ในชั่วโมงแปลงผักกลับไปใช้ที่บ้าน ซึ่งเป็นการนำความรู้จากโรงเรียนไปสู่บ้านนั่นเอง
หลังจากเหตุการณ์นั้น ผอ.ได้เชิญครูแกนนำมาประชุม เพราะคิดว่าหากครูยังไม่เข้าใจ หลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข เดินหน้าต่อไปก็คงไม่ประสบผลสำเร็จ จากนั้นจัดครูแกนนำชุดใหม่ จัดนักเรียนแกนนำชุดใหม่ ที่มีความสมัครใจ แล้วเน้นให้ครูแกนนำชวนกันถอดบทเรียน วิเคราะห์จากสิ่งที่ทำจนทุกคนเข้าใจตรงกันว่าเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่การปลูกพืชกับเลี้ยงสัตว์เท่านั้น แต่ใช้ได้กับทุกเรื่องเพราะเป็นหลักคิด จึงเริ่มลงสู่ตัวนักเรียนแกนนำ เมื่อนักเรียนแกนนำเข้าใจ แล้วให้นักเรียนกลุ่มนี้ไปขยายผลให้นักเรียนกลุ่มอื่นต่อไป
เมื่อครูตีโจทย์ออกว่าหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไขคืออะไร จึงจัดตั้งกลุ่มสาระเป็นฐานการเรียนรู้ ในฐานจะต้องมีพร้อม ทั้งหลักสูตร หน่วยการเรียนรู้ แผนการจัดการเรียนการสอน และผลงานของนักเรียน ซึ่งต้องคล้องจองกัน ที่สำคัญคือต้องมีที่มาที่ไป เพราะไม่อยากให้โรงเรียนอื่นหลงทางเช่นเดียวกับเชียงขวัญพิทยาคม
ด้านชุมชน เมื่อทำตามโครงการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จะมีครูดูแลออกเยี่ยมบ้านพูดคุยกับผู้ปกครอง รวมไปถึงจัดประชุมผู้ปกครอง ผลตอบรับกลับมาพบว่าเด็กนักเรียนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี จากที่เคยใช้เงินฟุ่มเฟือยก็รู้จักเก็บออม ช่วยงานพ่อแม่ ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ เป็นต้น