เวิร์คช็อปโรงเรียนพอเพียง พลิกห้องเรียนสู่ "องค์กรแห่งการเรียนรู้"
เพราะทราบดีว่า เมื่อครูพอเพียงจึงสอนให้เด็กๆ พอเพียงได้ ...
มูล นิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จึงริเริ่มโครงการพัฒนาเยาวชนโดยการเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขึ้น โดยเป็นเวลากว่า 6 ปีแล้วที่ได้เข้าไปหนุนเสริมให้ผู้บริหารและคุณครูในโรงเรียนทำความเข้าใจ และน้อมนำหลักปรัชญาฯ ไปปรับใช้กับตัวเอง และท้ายที่สุดที่การนำประสบการณ์ตรงนั้นๆ มาออกแบบการเรียนรู้แก่ลูกศิษย์ตัวน้อยได้ “รู้” และ “รัก” ที่จะพอเพียงตามไปด้วย
ล่า สุด ทาง โครงการฯ ยังได้จัดเวิร์คช็อปเสริมศักยภาพผู้บริหารและคุณครูพอเพียงขึ้นไปอีกขั้น ด้วยการชักชวนให้ไปรู้จักและทำความเข้าใจกับแนวคิด “การเรียนรู้ในองค์กร” โดยมี ดร.ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม ให้เกียรติเป็นวิทยากรออกแบบและจัดกระบวนการเรียนรู้ เป็นเวลา 3 วัน ณ ศูนย์ฝึกอบรมอภิบาล บ้านผู้หว่าน จังหวัดนครปฐม
ดร.ชัย วัฒน์ ถิระพันธุ์ เล่าว่า การอบรมครั้งนี้จะทำให้ผู้บริหารและครูพอเพียงของแต่ละโรงเรียนได้กำหนด วิสัยทัศน์ที่ชัดเจนร่วมกันในการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีผู้บริหารโรงเรียนเป็นแกนนำพาครูและนักเรียนทำ ที่เมื่อได้วิสัยทัศน์ร่วมแล้วก็จะเป็นโจทย์ต่อไปที่แต่ละโรงเรียนจะต้องมี แผนงานและคณะทำงานเพื่อไปสู่จุดมุ่งหมาย ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องอาศัยพลังการเอาชนะตนเองตลอดจนอุปสรรคต่างๆ ด้วย
"คน เราถ้าไม่มีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ร่วมกัน เขาก็จะต่างคนต่างไป และก็จะตีความเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงไม่เหมือนกัน เราจึงต้องชวนเขาตีความเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงให้เข้ามาใกล้เคียงกันมากที่ สุด และเป็นการตีความเศรษฐกิจพอเพียงที่มีคุณค่าและมีความหมายสำหรับเด็กและ เยาวชนที่ต่อไปจะต้องเผชิญกับโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงสูง ซึ่งวิสัยทัศน์นี้เองที่เราจะนำไปแปลงลงในหลักสูตร วิชาการเรียนการสอน และกิจกรรมต่างๆ เพื่อปลูกฝังอุปนิสัยพอเพียงให้เกิดขึ้น" ดร.ชัยวัฒน์ กล่าว
ทั้ง นี้ นอกจากชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการมีวิสัยทัศน์ร่วมกันแล้ว คณะผู้บริหารและคุณครูพอเพียงยังได้รู้จักกับหลักคิดข้ออื่นๆ ของการทำโรงเรียนให้เป็น “องค์กรแห่งการเรียนรู้” เช่น แนวคิดเรื่อง “การเป็นนายเหนือตนเอง” ผ่านการชมและสะท้อนแง่คิดจากภาพยนตร์เรื่อง The King’s Speech การแบ่งกลุ่มย่อยสนทนากันอย่างลึกซึ้งถึงแนวคิด “การเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม” “การมีวิธีคิดและมุมมองที่เปิดกว้าง” รวมถึง “การคิดเชิงระบบ” ซึ่งจะทำให้เห็นภาพความเชื่อมโยงของสังคมไทยกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ทั้งหมดนี้แต่ละโรงเรียนสามารถนำไปปรับใช้กับการขับเคลื่อนปรัชญาของ เศรษฐกิจพอเพียงของตนเองได้ตามความเหมาะสม
อ.ดุษิต พรหมชนะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ สะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้จากเวิร์คช็อปครั้งนี้ว่า ทำ ให้ตนได้รับความคิดใหม่ๆ จากวิทยากรที่มาให้ความรู้และจัดบรรยากาศการเรียนรู้ให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้มี โอกาสแบ่งปันเรื่องราวได้ครบถ้วนทุกคน แต่ละคนมีเวลาครุ่นคิดและไตร่ตรองอย่างลึกซึ้ง ไม่เร่งรัด แบ่งปันเมื่อพร้อม จึงทำให้เรื่องราวที่ถ่ายทอดมีคุณภาพ ผู้ฟังสามารถตกผลึกเป็นความคิดใหม่ๆ เอาไปต่อยอดกับความคิดเดิมในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของ โรงเรียนได้เป็นอย่างดี
“ผม เองเคยศึกษาแนวคิดเรื่ององค์กรแห่งการเรียนรู้มาบ้าง เป็นการศึกษาด้วยตนเองจากการอ่านหนังสือ ทำให้เราได้ความรู้และความคิดมาระดับหนึ่ง แต่เมื่อได้มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ที่เน้นการเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีมยังทำให้ ผมได้เรียนรู้มากขึ้น และได้รับความคิดใหม่ๆ กลับไปปรับใช้ที่โรงเรียนด้วย” อ.ดุษิต กล่าว
ส่วน อ.คณิตา สุขเจริญ โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี สะท้อนว่า การอบรมครั้งนี้ทำให้ตนมองเศรษฐกิจพอเพียงกว้างขึ้น จากแต่ก่อนที่มองเศรษฐกิจพอเพียงเฉพาะที่เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน และการจัดการเรียนการสอนแก่ลูกศิษย์ในบริบทของสังคมไทยเท่านั้น แต่ไม่เคยคิดเชื่อมโยงเศรษฐกิจพอเพียงกับบริบทของสังคมโลก กระทั่ง ดร.ชัยวัฒน์ ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงนี้ ตัวเองในฐานะที่เป็นครู จะนำกลับไปบอกให้ลูกศิษย์ที่เกิดและเติบโตมาในยุคปัจจุบันได้ทราบด้วย เชื่อว่าจะทำให้เขารู้เท่าทันและมีภูมิคุ้มกันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกตาม หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น