โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมพลังผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา ณ ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารไทยพาณิชย์ หาดตะวันรอน ชลบุรี

การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนโพนทองวิทยายน

“โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมพลังผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา”

วันที่ 27 พฤษภาคม 255 ณ ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารไทยพาณิชย์ หาดตะวันรอน ชลบุรี
 

โรงเรียนโพนทองฯ ขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทั้งในและนอกห้องเรียน เน้นการจัดกิจกรรมให้เด็กได้เรียนรู้ จนนำไปสู่การจัดกิจกรรม “ตลาดนัดความรู้” ที่มีการดึงคนในชุมชน ปราชญ์ท้องถิ่น และองค์กรพัฒนาเอกชนเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วย ใช้หลัก “4 ก้อนเส้า” สร้างความยั่งยืนให้กับการขับเคลื่อนงาน
 

การขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนโพนทองขับเคลื่อนผ่านทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน โดยในห้องเรียนจะให้ครูวางแผนการเรียนรู้ตามหลักความพอเพียง ส่วนนอกห้องเรียนจัดให้มีกิจกรรมทุกๆ เดือน และนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปใส่ในทุกๆ กิจกรรม  มีครูเป็นผู้ออกแบบ เมื่อดำเนินกิจกรรมเช่นนี้ได้ระยะหนึ่งพบว่าครูเกิดทักษะในการวางแผน ส่วนนักเรียนก็สนุกกับการเรียนรู้  ไม่หนีเรียน เกิดการมีส่วนร่วม และเกิดเป็น “นวัตกรรม” ที่สำคัญที่ทำให้เกิดการเรียนรู้เพื่อเชื่อมโยงกลุ่มเป้าหมายนั่นคือการจัดกิจกรรม “ตลาดนัดความรู้”  ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2554  มีผู้ร่วมงานหลายฝ่ายทั้ง ครู นักเรียน ปราชญ์ท้องถิ่น  และองค์กรพัฒนาเอกชน มีเวทีวัฒนธรรมอีสาน เพื่อให้เกิดความหลากหลายและสร้างความเชื่อมโยงกับชุมชน  นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม 1 ห้องเรียน 1  โครงงาน ซึ่งผมออกแบบผังให้เหมือนกันหมด  โดยทุกโครงงานต้องบูรณาการเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไป ไม่เว้นแม้แต่กีฬาสี ก็ต้องจัดให้มีการประชุมพร้อมบอกแนวทางในการนำเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ จนเกิดเป็นการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทั้งโรงเรียน

สำหรับแนวทางการสร้างความยั่งยืนนั้น โรงเรียนโพนทองใช้หลัก 4 ก้อนเส้า ดังนี้ ก้อนที่ 1 คือการสร้างครูแกนนำ กลุ่มสาระละ 1 คน  ก้อนที่ 2 สร้างยุวชนคนพอเพียง เริ่มจากปี พ.ศ. 2554  เป็นรุ่นที่ 1 รับสมัครนักเรียนโดยความสมัครใจ ผ่านการเขียนเรียงความแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของข้าพเจ้าคืออะไร  จากนั้นให้แนวคิดให้ปัญญาก่อนนำมาเสริมกับครูที่ทำดีอยู่แล้วเพื่อช่วยกันขยายผล  ก้อนที่ 3 คือสร้างทำเนียบปราชญ์ท้องถิ่น และก้อนที่ 4 คือการเชื่อมโยงเครือข่ายในแต่ละพื้นที่ทั้งระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศ