เวทีพูนพลังครู ครั้งที่ 1: ครูผู้สร้างคุณลักษณะที่ดีสำหรับเด็ก

จุดเริ่มต้นของการพัฒนาเด็กๆ

ครูชิสากัญญ์ หรือที่เด็กๆ และเพื่อนครูด้วยกันเรียก “ครูกุ้ง” สอนนักเรียนในกลุ่มสาระฯ ภาษาไทย ครูกุ้งได้เล่าให้ฟังถึงเรื่องราวที่เป็นจุดเริ่มต้นในการมาสอนโรงเรียนที่มีเด็กนักเรียนไม่ถึง 200 คน ว่าครูได้ย้ายมาสอนที่โรงเรียนบ้านท่าเสาเมื่อไม่นานมานี้เอง สิ่งที่ได้สัมผัสกับโรงเรียนแห่งนี้ก็รู้สึกแปลกใจเหมือนกันว่าที่นี่เด็กๆ จะรู้หน้าที่ของตัวเองเป็นอย่างดีตามกิจวัตรประจำวันของโรงเรียน จะมีข้อจำกัดอยู่บ้างในเรื่องของการสร้างความเข้าใจระหว่างครูกับผู้ปกครอง ซึ่งในความคิดของครูกุ้งมองว่า มันเป็นเรื่องของความคาดหวังและปากท้อง คาดหวังต่อครูที่ต้องสั่งสอนและให้ความรู้เด็กเป็นหน้าที่ของครู ส่วนผู้ปกครองต้องไปหาเงินเพื่อมาเลี้ยงครอบครัว และอีกอย่างหนึ่งที่พบคือเรื่องการจัดการเรียนการสอนค่อนข้างจะยากสำหรับเด็กเพราะที่โรงเรียนจะเน้นให้เด็กต่างชั้นกันได้ทำกิจกรรมร่วมกัน สิ่งสำคัญอีกข้อหนึ่งคือการปรับตัวและเรียนรู้ให้เข้ากับการเรียนการสอนของโรงเรียน

การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนจะเน้นกระบวนการสร้างการเรียนรู้และพัฒนาเด็ก โดยไม่ให้ความสำคัญของคำตอบว่าจะผิดหรือจะถูก แต่จะเน้นทั้งทักษะการคิด กระบวนการเรียนรู้ การสร้างความรู้ด้วยตัวเอง พัฒนาทักษะชีวิตและการทำงาน รวมถึงการรู้เท่าทันของประโยชน์และโทษจากการใช้ ICTทั้งหมดนี้เราเรียกการเรียนการสอนรูปแบบนี่ว่า PBL ซึ่งทางโรงเรียนได้นำรูปแบบมาบูรณาการให้เหมาะสมกับโรงเรียนในลักษณะรูปแบบ 4 วิชาหลัก วิชาภาษาไทย อังกฤษ คณิต วิทย์ จะเรียนตามปกติ แต่ว่าวิชาที่เหลือจะนำรูปแบบ PBL มาใช้


กระบวนการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานเพื่อพัฒนาเด็ก

PBL หรือ การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน คือ การเรียนรู้ที่ใช้ปัญหาเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความต้องการที่จะใฝ่หาความรู้เพื่อแก้ปัญหา โดยเน้นผู้เรียนเป็นผู้ตัดสินใจในสิ่งที่ต้องการแสวงหาความรู้ และรู้จักการทำงานร่วมกันเป็นทีมภายในกลุ่มผู้เรียน โดยผู้สอนมีส่วนร่วมน้อยที่สุด ซึ่งการเรียนรู้จากปัญหาอาจเป็นสถานการณ์จริง ซึ่งรูปแบบของการจัดการเรียนรู้แบบการใช้ปัญหาเป็นฐาน หรือ PBL ที่ทางโรงเรียนได้นำมาใช้ผ่านการทำ “โครงงาน” เด็กทุกคนจะต้องรับผิดชอบโครงงานของตนเอง โดยเลือกจาก 23 ฐานการเรียนรู้ที่อยู่ในโรงเรียนโดยในหนึ่งเทอม นักเรียนจะมีโครงงาน 1 โครงงานรับผิดชอบร่วมกับ และแต่ละโครงงานจะมีนักเรียนคละชั้นเรียนอยู่ในกลุ่มเดียวกัน เช่น กลุ่มหนึ่งอาจจะมีเด็ก ป.3 ป.5 ป.6 อยู่กลุ่มเดียวกัน เมื่อแบ่งกลุ่มกันแล้วจะมีครูที่ปรึกษาประจำโครงงานหลังจากที่เด็กทำโครงงานเสร็จแล้วในท้ายเทอมเด็กจะต้องส่งโครงงานในรูปแบบของรูปเล่ม พร้อมทั้งทำ power point มานำเสนอ และต้องอธิบายสิ่งที่ตัวเองได้เรียนรู้จากการทำงานร่วมกัน ทำอะไรบ้าง เกิดอะไรบ้าง

เริ่มแรกก็คือจะรวมนักเรียน แล้วก็จะให้เลือกว่าอยู่ฐานการเรียนรู้อะไร โครงงานไหน แล้วอยากได้สมาชิกเป็นใครหรืออยากจะอยู่กับคนไหน เด็กๆ จะมีอิสระในการเลือก แต่ครูจะจำกัดว่าโครงงานหนึ่งจะไม่เกิน 3 คน เสร็จแล้วเราก็จะมีครูประจำฐานการเรียนรู้และประจำโครงงาน ครูหนึ่งคนก็จะรับผิดชอบโครงงานประมาณ 4 ถึง 5 โครงงานเลยทีเดียวหลังจากได้ฐานการเรียนรู้และกลุ่มโครงงานแล้ว เด็กๆ ก็จะไปประชุมในกลุ่มว่าโครงงานที่เด็กๆ เลือกมานั้นจะตั้งชื่อโครงงานว่าอะไรและจะทำอะไรขึ้นมา ส่วนในการทำงานของกลุ่มนั้น บทบาทของครูจะทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกหรือผู้ให้คำแนะนำโดยมอบหมายให้นักเรียนไปค้นหาความรู้หาคำตอบมา แล้วมานำเสนอให้ครูฟัง ครูก็จะใช้เครื่องมือเป็นคำถาม เช่น ไปหาความรู้จากที่ไหน เด็กๆ ก็ต้องไปหาคำตอบ ซึ่งบางครั้งก็กลับมาถามครูบ้าง กลับไปถามพ่อแม่บ้าง ไปค้นจาก internet บ้างแล้วแต่เด็กๆ จะไปหาคำตอบจากที่ไหน จากใคร หลังจากนั้นก็จะมาเล่าให้ครูที่ปรึกษาฟังว่าไปหามาแบบไหน ได้คำตอบเป็นแบบไหน ในส่วนโครงงานก็ค่อนข้างจะเห็นได้ชัด คือโครงงานเป็นสิ่งที่นักเรียนเลือกตามความสนใจของตัวเอง เพราะฉะนั้นเด็กๆ ก็จะมีความสุขในการทำโครงงาน

ยกตัวอย่างเช่น ฐานของครูกุ้งเอง คือฐาน recycle จากเมื่อก่อนเด็กๆ มองหาขยะหรือสิ่งเหลือใช้ในพื้นที่ที่อยู่ภายในบริเวณโรงเรียน แต่ปัจจุบันก็จะเริ่มมองหาและนำขยะจากชุมชนข้างนอกนำมาทำโครงงานในโรงเรียนมากขึ้นเมื่อได้หัวข้อได้เรื่องแล้วก็จะให้เด็กๆ วางแผนเป็นปฏิทินใน 20 สัปดาห์ว่าจะทำอะไรบ้าง เป็นปฏิทินคร่าวๆ เสร็จแล้วก็จะให้ไปหาอุปกรณ์มาลงมือทำ ซึ่งแรกๆ ครูกุ้งก็จะบอกก่อนว่า โครงงานคืออะไร มันคืออะไร มีอะไรบ้าง ประเภทไหนบ้างแบบไหนที่เป็นโครงงานประเภททดลอง ประดิษฐ์ เสร็จแล้วครูกุ้งก็จะบอกการเขียนโครงงานเช่น บทที่ 1 คืออะไร บทที่ 2 คืออะไร แล้วก็ให้เด็กๆ ลงมือทำ อย่างเช่นสัปดาห์นี้ทำบทที่ 1 เด็กๆ ก็จะไปหาที่มาและความสำคัญในการทำโครงงานนี้คืออะไรบางครั้งเด็กๆ อาจเขียนความสำคัญในการทำโครงงานไม่ได้ ว่าทำไมถึงทำเรื่องนี้ เช่น จะเขียนว่าฉันทำกล่องนม recycle แบบไหนซึ่งเด็กยังไม่รู้ว่าการเขียนที่มาและความสำคัญคือมันต้องเขียนแบบไหน ครูกุ้งก็จะให้เด็กๆ ไปหามาก่อนว่ามันคืออะไร แล้วครูกุ้งก็จะเสริมทีหลัง อย่างเช่น พวกวัตถุประสงค์ค่อนข้างจะยากไปสำหรับเด็กระดับประถมหรือเปล่า ก็ค่อนข้างที่จะต้องชี้แนะ แนะนำ เพราะว่าบางกลุ่มเด็ก ป.3 กับ ป.6 มาอยู่ด้วยกัน เด็ก ป.3 ก็ไม่เอา ไม่ทำ ทำไม่ได้ ครูกุ้งจะแนะว่าเราต้องแบ่งหน้าที่ในกลุ่มจะต้องทำอะไรใครทำอะไรได้ ทีนี้พอทำโครงงานเสร็จแล้วท่านผู้อำนวยการโรงเรียนก็จะเป็นผู้ประเมินโครงงาน ก็คือ หนึ่งจะให้นักเรียนส่งเป็นแบบของรูปเล่ม สองก็คือทำบอร์ดของโครงงาน สามนักเรียนจะต้องทำ power point แล้วก็นำเสนอบนเวทีด้วยการฝึกพูด ทุกคนจะต้องได้พูด แล้วก็ถอดบทเรียนจากการทำโครงงานว่าได้อะไรจากการทำงานในครั้งนี้

อีกกระบวนการหนึ่งที่ทำควบคู่ไปกับ PBL คือ PLC(Professional Learning Community) หรือ“ชุมชนแห่งการเรียนรู้ของครู : เปลี่ยนห้องสอนเป็นห้องเรียนรู้แก่เด็ก”เป็นการรวมตัวกันของครูในโรงเรียนเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการจัดการเรียนรู้ให้เด็กๆ ได้ทักษะเพื่อการดำรงชีวิต โดยการจัดระบบสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาวิธีการเรียนรู้ของเด็กๆ อย่างต่อเนื่อง เป็นวงจรไม่รู้จบ โดยเปลี่ยนจาก “การสอนของครู” มาเป็นเน้น “การเรียนรู้ของนักเรียน” เปลี่ยนจากการสอนบอกความรู้ มาเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก สร้างความสนุกในการเรียน เน้นออกแบบโครงงาน หรือ สภาพการทำงานเสมือนจริง ให้เด็กแบ่งกลุ่มกันลงมือทำเพื่อเรียนรู้จากการปฏิบัติครูชวนเด็กร่วมกันทบทวนสิ่งที่ทำว่าได้เรียนรู้อะไร หรือฝึกทักษะอะไร เชื่อมโยงสิ่งที่รู้ด้วยการทำกับทฤษฎีที่มีคนสร้างไว้ เข้าถึงซึ่งความรู้จริงมิใช่แค่ท่องจำ เช่น กิจกรรมการใช้ศิลปะเป็นแกน เริ่มจากคุณครูร่วมกันออกแบบทักษะให้เกิดกับเด็กมากที่สุด แล้วให้เด็กคิดว่าจะตั้งชื่อกิจกรรม จนได้ชื่อกิจกรรมว่า “สร้างสรรค์สร้างศิลป์ด้วยจินตนาการ” เด็กๆ คิดเอง ในส่วนของศิลปะก็คือ การเรียนรู้เกี่ยวกับพวกเรื่องสี เรื่องการปั้น และการฟังเพลง (เป็นเพลงบรรเลง) เชื่อมโยงไปสู่ความรู้ด้านอื่นๆ เช่น ธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ ชุมชน เป็นต้น


ผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็ก

จากกิจกรรมต่างๆ ครูกุ้งได้สรุปผลการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นกับเด็กเพื่อนำไปสู่การมีลักษณะนิสัยนำไปสู่ความสำเร็จ และมีลักษณะนิสัยที่ส่งเสริมให้อยู่ในสังคมได้ดี ครูเห็นว่า เด็กๆมีความมุ่งมั่น และมีเป้าหมาย ที่ชัดเจนในการทำโครงงานที่ตัวเองได้เลือกและอยากทำ เด็กได้มีความรับผิดชอบโครงงานของตนเองและหน้าที่ของตนเองในกลุ่ม เด็กมีเหตุและผลจากการเขียนโครงงาน และการออกมานำเสนอ เด็กๆมีความกระตือรือร้น ใฝ่รู้ จากการไปหาคำตอบเอง ไม่ว่าจะมาจากการถามครูเอง พ่อแม่ และค้นหาความรู้จาก internetมีความกล้าที่จะแสดง ความคิดเห็นกับเพื่อนและกับครูเอง รวมถึงความสามารถในการเข้าสังคมและให้เกียรติผู้อื่น ผ่านกิจกรรมกลุ่มของตัวเองและการเสนองานในกลุ่มใหญ่ มีความกตัญญูจากการช่วยพ่อแม่หารายได้จาการขายเห็ด และปลูกผัก และทำน้ำยาล้างจาน เพื่อช่วยลดรายจ่ายของครอบครัว

จากโครงงานในฐาน recycle เห็นพัฒนาการของเด็กๆ จากเทอมแรกที่ต้องบอกเด็กเลยว่า “ทำอันนี้สิ” เอาไม้ไอติม “มาทำอันนี้สิ” แต่พอมาเทอมที่สองก็ให้เห็นเด็กเริ่มคิดเองว่าจะใช้อะไรจากที่เราเหลือใช้ที่โรงเรียนซึ่งเด็กก็บอกว่า “กระดาษหน้าเดียวและสองหน้าเยอะแยะเลยที่เอาไปทิ้ง จะเอาไปขายมันก็ได้แค่ขาย”เด็กๆ ก็เลยเอามาทำเป็นกระดาษคล้ายกระดาษสา เอาไปแช่น้ำแล้วเอามาตากแห้ง ใส่สี ตกแต่งและใส่อะไรที่ทำให้สวยงามแล้วก็ทำเป็นกระดาษห่อของขวัญ ทำเป็นกระดาษติดบอร์ด แทนที่จะไปซื้อกระดาษสีทำให้ครูค่อนข้างที่จะประทับใจ คืออาจจะเป็นสิ่งประทับใจที่ไม่ใช่สิ่งใหญ่โต แต่มันเป็นความคิดของเด็กๆ กล้าที่จะคิด กล้าที่จะทำ บางทีครูก็ทึ่งในความคิดของเด็กๆ เหมือนกัน

จากเรื่องนี้เด็กๆ ได้ความรู้การคัดแยกขยะ การเพิ่มมูลค่าของสิ่งเหลือใช้ การรักษาสิ่งแวดล้อม และการประหยัด เด็กได้ลงมือทำ เกิดการทำงานร่วมกัน การแบ่งหน้าที่ นอกจากนี้เด็กๆ กล้าที่จะไปนำเสนอผลงานของตัวเอง กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นกับครู เด็กไว้ใจครูมากขึ้น ผู้ปกครองเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในตัวเด็ก เช่น โครงงานเพาะเห็ด ทุกวันเด็กจะเก็บเห็ดไปขายที่หน้าโรงเรียน เด็กมีรายได้โครงงานน้ำยาล้างจาน เด็กก็จะกลับไปทำที่บ้าน ผู้ปกครองเค้าก็จะเห็นว่าเด็กเค้าทำและทำใช้ที่บ้าน หรือเทคนิคการปลูกผัก มีเด็กคนหนึ่งที่เค้ากลับไปปลูกผักที่บ้าน แล้วแม่ก็กลับมามาเล่าให้ครูฟัง อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองในการร่วมประเมินโครงงาน เราจะเชิญผู้ปกครองมาช่วยให้คะแนนในการทำโครงงานของนักเรียนแต่ก็ได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครองบางส่วนแต่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ครู นักเรียน ผู้ปกครอง ได้มีกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์มากยิ่งขึ้น

จากกิจกรรมการเรียนรู้ชุมชนนั้นเด็กๆ จะได้เรียนรู้การเป็นพลเมืองที่ดี ความมีระเบียบ และมีวินัยเมื่อต้องออกนอกโรงเรียน เด็กได้เรียนรู้ถึง ความซื่อสัตย์ความกตัญญูสำนึกผิดชอบชั่วดี ความยุติธรรม ความรัก ความเมตา มีน้ำใจ ผ่านอาชีพและสถานที่ต่างๆ ในชุมชนยกตัวอย่างผ่านกิจกรรมที่เห็นผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็ก การได้พาเด็กๆ ไปเรียนรู้ชุมชนหรือสถานที่สำคัญๆ ในชุมชน เช่น ไปสถานีตำรวจ เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และตระหนักเกี่ยวกับเรื่องภัยสังคม โดยการพาเด็กๆ ไปสัมภาษณ์ตำรวจ ก่อนที่จะไปจะให้เด็กทำการบ้านก่อน โดยให้ลองคิดบทสัมภาษณ์ว่า เค้าอยากถามเรื่องอะไร กับตำรวจบ้าง ซึ่งเวลาไปจริงๆ ก็จะปล่อยเด็กๆ เป็นผู้สัมภาษณ์เพื่อจะดูว่าเด็กมีทักษะเรื่องการตั้งคมถาม การวางตัว ไหวพริบ ปฏิพาน รวมถึงการสื่อสารกับคนอื่นๆ โดยครูกุ้งได้ทำการบันทึก VDO เพื่อกลับมาฉายให้เด็กๆ ดู ผลที่ได้คือ ในวันนั้นบังเอิญไปเจอตำรวจที่เพิ่งจับผู้ต้องหามาพอดี ข้อหามียาเสพติด (ยาบ้า) ก็ทำให้เด็กๆ ได้เห็นของจริง แล้วเด็กๆ ก็รู้สึกกลัว และสอดคล้องกับปัญหาในชุมชนเพราะว่าบัญหาของชุมชนมีเรื่องเรื่องของยาเสพติดค่อนข้างจะเยอะ ก็เลยให้เด็กตระหนักถึงเรื่องนี้ เด็กบางคนเห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติไปแล้ว เมื่อเราแก้ไขไม่ได้ แต่ว่าเราป้องกันมันได้ นอกจากนี้พอเอา VDO ที่ถ่ายไว้ไปให้เด็กดู ก็ยังสอดแทรกเรื่องของการวางตัวและมารยาท อีกด้วย

อีกกิจกรรมหนึ่งที่อยากจะยกตัวอย่างคือกิจกรรมสร้างสรรค์สร้างศิลป์ด้วยจินตนาการ จากการสังเกตการเรียนรู้ของเด็กๆ พบว่าเด็กเกิดการมีสุนทรียภาพ อารมณ์ขัน จากการฟังเพลงและวาดภาพ มีความมั่นคงทางอารมณ์จากการใช้เวลาในการปั้นซึ่งกิจกรรมสร้างสรรค์สร้างศิลป์ด้วยจินตนาการ เป็นกิจกรรมที่ให้เด็กๆได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องสี สีจากธรรมชาติ แม่สี การผสมสี และยังมีการปั้น และการฟังเพลง โดยการให้เด็กๆ ฟังเพลงแล้วจินตนาการจากเพลงที่ฟังให้สื่อออกมาเป็นภาพวาด ส่วนในเรื่องของการปั้นเด็กจะเคยชินกับการปั้นดินน้ำมัน ครูก็เลยให้คำถามว่าไปลองค้นคว้าหาความรู้สิว่าเราโตแล้วเราไม่ใช้หรอกดินน้ำมัน อะไรบ้างที่เราสามารถใช้ปั้นได้ เด็กๆ ช่วยกันตอบนอกจากดินน้ำมันแล้วยังมี แป้งโด กระดาษมาฉีกแช่น้ำก็ปั้นได้หรือนำไปผสมกับกาว ก็ปั้นเป็นรูปร่างได้ เป็นต้น

จากการสังเกตของครูกุ้ง เด็กๆ มีความสุขมากกว่าการที่เค้านั่งจับดินสอและสมุด การให้เด็กลงมือทำมากกว่าที่เค้าจะนั่งฟัง หรือดู เพียงอย่างเดียวก็จะปรับเปลี่ยนวิธีที่ทำให้เด็กได้เรียนอย่างมีความสุขเพราะว่าสิ่งที่เด็กได้ทำ แล้วสิ่งนั้นทำเสร็จมันสามารถสร้างความสุขแก่เด็กๆ และครูทุกคน และกิจกรรมเหล่านี้จะนำเด็กๆ ไปสู่การมีลักษณะนิสัยที่จะนำเด็กๆ ไปสู่ความสำเร็จ และเป็นการส่งเสริมให้เขาอยู่ในสังคมได้ดี ในอนาคต


สิ่งที่ครูได้เรียนรู้จากการสร้างการเรียนรู้

สิ่งที่ครูได้เรียนรู้มีอยู่หลายๆ เรื่องด้วยกันนะ ไม่ว่าเรื่องเปลี่ยนตัวเองก่อนๆ ที่จะไปเปลี่ยนคนอื่น เรื่องการที่เด็กได้ลงมือทำในสิ่งที่ตนเองได้คิดทำให้เด็กมีความสุขและสนุกกับการเรียนรู้ เรื่องการยอมรับความคิดของเด็กๆ เรื่องการใช้บรรยากาศในการสอนที่ทำให้สนุกเรื่องกระบวนการ PBL ที่ช่วยสรุปความรู้ทุกที่ของเด็กให้สามารถตัดสินใจเลือกในการคำตอบในการสอบ เรื่องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการจัดการเรียนรู้ให้เด็กๆ ร่วมกับครูในโรงเรียน และการที่จะไม่หยุดเรียนรู้และแสวงหาความรู้ให้มากที่สุด

สุดท้ายครูได้ไปอบรมเกี่ยวกับการออกข้อสอบในแนว pizza (ข้อสอบต้องใช้การวิเคราะห์และประมวลผลด้วยตนเอง) มาก็มองสะท้อนไปว่าบางทีก็ขึ้นอยู่กับเวลาที่เราออกข้อสอบกับเด็กๆ ให้เด็กๆ เคยชินกับข้อสอบมากน้อยแค่ไหนเพราะอย่างเวลาที่ไปออกข้อสอบกับคุณครูด้วยกันคือโรงเรียนเราสอน PBL “เราจะรู้เลยว่าเราเหมือนตัวประหลาดที่เราไปอยู่ในกลุ่มครู”เขาบอกว่าจะต้องตอบข้อนี้นะข้อนี้จะต้องได้คะแนนเราก็จะบอกว่าไม่จำเป็นนะถ้าเกิดต้องกับเด็กที่คิดต่างแล้วคิดแล้วอธิบายได้เขาบอกว่าไม่ได้นะตอบข้อนี้ก็ต้องเป็นอย่างนี้ก็เลยมองว่ามันก็ขึ้นอยู่กับเวลาที่เราสร้างคำถามสร้างข้อสอบให้เด็กได้คิดด้วยอะไร