ประกายความคิดในวันเริ่มต้น
“ความล้มเหลวในการเรียนของลูกที่มีแม่เป็นครู คือลูกตัวเองจบ ป.6 แล้วหาที่เรียนต่อไม่ได้ จึงได้เกิดแนวคิดว่ายังคงมีผู้ปกครองอีกหลายท่านที่วางใจในครูผู้สอน แต่ทำไมจึงมีความล้มเหลวเกิดขึ้น จึงได้
ปฏิญาณว่า ต่อไปนี้เราจะตั้งใจสอนให้ดีที่สุดให้นักเรียนของเราประสบความสำเร็จสมกับความไว้วางใจที่ผู้ปกครองมี
จึงได้น้อมนำกระแสพระราชดำรัสในเรื่องหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง และกระบวนการเชื่อมโยงเพื่อขับเคลื่อนความพอเพียง นั่นคือ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” สู่การเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างครบถ้วนและสมดุลทั้ง 4 ด้าน จึงได้นำปัจจัยต่างๆ มาบูรณาการเชื่อมโยงการเรียนการสอน โดยเข้าใจผู้เรียน เข้าใจสาระ เข้าใจการเรียนการสอน โดยเริ่มให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตัวเอง ทั้งสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว สิ่งที่อยู่ในสังคม มาเชื่อมโยงสู่สาระที่สอน และพัฒนาผู้เรียนให้สามารถนำหลักคิด ความรู้ คุณธรรมไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้
ครูวาริน รอดบำเรอ กับการสอดแทรกเศรษฐกิจพอเพียงในวิชาคณิตศาสตร์
โดย ครูวาริน รอดบำเรอ
เป็นครูสอนคณิตศาสตร์มานานกว่า 28 ปี พยายามคิดค้นพัฒนาสื่อการเรียนการสอนคณิตศาสตร์เพื่อให้เด็กเข้าใจได้ง่ายๆ พร้อมสอดแทรกหลักเศรษฐกิจพอเพียงด้วยวิธีการที่หลากหลาย โดยเชื่อมโยงกับเรื่องใกล้ตัวนักเรียนพัฒนาการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ให้กลายเป็นชั่วโมงที่นักเรียนสนุกและอยากเรียนเชื่อมโยงความรู้จากห้องเรียนสู่ชุมชนและจากชุมชนสู่ห้องเรียน มีการใช้บุคคลและแหล่งเรียนรู้ท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์ ด้วยสร้างการเรียนรู้ให้เด็กเข้าใจเนื้อหาและสภาพชีวิตความเป็นจริงของครอบครัว ชุมชน และสังคม
บูรณาการคณิตศาสตร์เพื่อความพอเพียง
กลุ่มสาระวิชาคณิตศาสตร์ของโรงเรียนศรีวิชัยฯได้บูรณาการเนื้อหาและออกแบบการเรียนการสอนตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงในทุกช่วงชั้น โดยเน้นจัดประสบการณ์หรือสร้างสถานการณ์ใกล้ตัวให้ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้าด้วยการปฏิบัติจริง ทดลอง สรุปรายงาน เพื่อให้เกิดมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาวิชามีทักษะการแก้ปัญหา การให้เหตุผลและนำประสบการณ์ด้านความรู้ ความคิด การใช้ทักษะชีวิต และการใช้เทคโนโลยีไปใช้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
การจัดการเรียนการสอนของกลุ่มสาระวิชาคณิตศาสตร์ในทุกช่วงชั้น จะเชื่อมโยงสาระวิชาคณิตศาสตร์กับหลักสูตรท้องถิ่นในเรื่องต่างๆ อาทิ การศึกษา อายุ อาชีพ จำนวน ระบบเศรษฐกิจ สภาพสังคม และสิ่งแวดล้อมต่างๆ ของชุมชน
ตัวอย่างเช่น ในช่วงชั้นที่ 4 (ม.4- ม.6) ซึ่งครูวาริน รอดบำเรอ รับผิดชอบนั้น จะมีการบูรณาการและออกแบบกิจกรรมตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเชื่อมโยงการเรียนรู้ชุมชนดังนี้ ชั้น ม.4 เรื่องฟังก์ชันกำลังสองกับความพอเพียง และการพัฒนาชุมชนด้วยเศรษฐกิจพอเพียงชั้น ม.5 เรื่องอัตราส่วนตรีโกณมิติกับการแก้ปัญหาตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโจทย์คณิตศาสตร์ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงการใช้จ่ายเงินอย่างประหยัดด้วยฟังก์ชันลอการิทึมและสนุกกับสินค้ามือสองด้วยฟังก์ชันลอการิทึมส่วนชั้นม.6เป็นเรื่อง ความน่าจะเป็นกับความพอเพียง เป็นต้น
การที่ครูวารินบูรณาการและออกแบบกิจกรรมดังกล่าวข้างต้นเพราะมุ่งหวังให้เด็กเข้าใจในวิชาคณิตศาสตร์ สามารถวิเคราะห์และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เช่น ครูจะสร้างโจทย์ปัญหาลอการิทึมให้สัมพันธ์กับรูปภาพพระราชกรณียกิจและโครงการในพระราชดำริพร้อมทั้งแสดงการแก้ปัญหา หรือนำรูปภาพจากบัตรเติมเงินโทรศัพท์พร้อมทั้งแสดงการแก้ปัญหา หรือสนุกกับสินค้ามือสองด้วยฟังก์ชั่นลอการิทึม หรือการพัฒนาชุมชนในท้องถิ่น เป็นต้น
ขณะเดียวกันในเนื้อหาสถิติและการประยุกต์ ก็มีการออกแบบกิจกรรมที่ให้เด็กสนุกกับการเรียนรู้หลายรูปแบบและเชื่อมโยงชุมชนใกล้ตัว เช่น การวิเคราะห์ชีวิตประจำวันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและการนำเสนอข้อมูลรายงานการสำรวจอาชีพของชุมชนวังตะกู โครงงานรนณรงค์การรับประทานอาหารให้หมดจานโครงงานคณิตศาสตร์ “ข้าวทุกเม็ด น้ำทุกหยด มีคุณค่า” โครงงานคณิตศาสตร์กับการบูรณาการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงการ์ตูนป๊อปอัฟคณิตศาสตร์แฝงคุณธรรมและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงการสร้างจิตอาสาและบำเพ็ญประโยชน์
ครูวารินเน้นสอนให้เด็กเกิดจิตอาสาในตัวเองก่อน รู้ว่าจะช่วยเหลือตนเอง พ่อแม่ และครอบครัวอย่างไร จากนั้นจึงเข้าสู่โรงเรียนและชุมชน โดยการสอนจะเป็นในลักษณะของการชวนคิด ชวนคุย ชวนกันทำ ทำให้เกิดการซึมซับจนกระทั่งเด็กไปแสวงหาเอง เช่น เด็กไปสมัครทำงานจิตอาสากับหน่วยงาน องค์กรภายนอก ซึ่งเป็นผลที่เกิดกับเด็กโดยตัว (ดังตัวอย่างบันทึกของเด็กด้านล่าง)
สำหรับครูวารินนั้น“เศรษฐกิจพอเพียง” ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นสิ่งที่สอนมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 ปลูกฝังเด็กมาโดยตลอด โดยเฉพาะการสอนให้เด็กบันทึกรายรับ รายจ่าย วิเคราะห์ทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งเป็นการจัดการเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ แต่ไม่ได้เชื่อมโยงให้เห็นเป็นเรื่องเดียวกัน กระทั่งปี 2549 เมื่อ ผอ.ทิพวรรณอยู่สวัสดิ์ ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนและมุ่งเน้นนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาสู่การเรียนการสอน โดยให้ครูวิเคราะห์แผนงานของโรงเรียน แผนงานของกลุ่มสาระ ซึ่งพบว่ามีผลงานมากมาย และมีการนำเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาสู่การเรียนการสอนแบบเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะครูที่รู้จักนำสิ่งของเหลือใช้ที่ไม่เกิดประโยชน์มาประยุกต์ใช้เป็นสื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ ซึ่งการบูรณาการและออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่ครูวารินทำอยู่นั้นเข้าเกณฑ์การประเมินด้านเศรษฐกิจพอเพียงของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ไม่ใช่แค่เป็นการจัดการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญแต่เป็นการจัดการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งสาระวิชาคณิตศาสตร์สามารถทำได้ทุกเนื้อหา เช่น
สินค้ามือสองกับฟังก์ชั่นล็อกเป็นการสอนให้เด็กได้เรียนรู้วิกฤติในช่วงนั้นๆ เหตุการณ์หรือกระแสสังคมที่จะทำให้เด็กหลงเชื่อ ด้วยการเอามาบูรณาการในการเรียนการสอนเพื่อไม่ให้เด็กหลงเชื่อไปในทางที่ผิด เช่น ในช่วงปี 2549 กระแสสินค้ามือสองได้รับความนิยมมากในหมู่วัยรุ่น เราก็พยายามสอนให้เด็กเรียนรู้ว่าไม่ควรซื้อสินค้ามือสองโดยไม่คำนึงถึงเหตุและผล พร้อมดึงเข้าสู่เนื้อหาเรื่องฟังก์ชั่นล็อก ซึ่งเป็นเรื่องการคิดค่าเสื่อมราคาสินค้า ด้วยการให้เด็กเปรียบเทียบสินค้าว่ามีอายุการใช้งานกี่ปี หากคิดค่าเสื่อมราคาและความคุ้มค่าแล้ว ควรซื้อสินค้าหรือไม่อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวเด็กที่เราสามารถดึงเข้าสู่บทเรียนได้
บัตรเติมเงินกับคณิตศาสตร์ : คณิตศาสตร์ที่สัมพันธ์กับบัตรเติมเงินโทรศัพท์เป็นการพยายามดึงเรื่องใกล้ตัวทุกๆ เรื่องให้เข้าไปสู่กระบวนการเรียนการสอน เพราะทุกวันนี้เด็กใช้โทรศัพท์มือถือกันจนเป็นเรื่องปกติห้ามก็ไม่ได้ ครูจึงให้เด็กเก็บบัตรเติมเงินไว้แล้วให้เลือกมาหนึ่งใบ พร้อมกับให้สร้างโจทย์คณิตศาสตร์ที่สัมพันธ์กับบัตรเติมเงินโทรศัพท์นั้นว่าเกี่ยวกับเนื้อหาที่ครูสอนอย่างไร หรือบางครั้งก็ปลูกจิตสำนึกให้เด็กรักในหลวง โดยให้ค้นหาโครงการในพระราชดำริ พระราชดำรัส หรือพระราชกรณีกิจจากสื่อนิทรรศการที่ไม่ใช้แล้วให้นักเรียนไปตัดมาเก็บไว้อ่านแล้วให้สร้างโจทย์คณิตศาสตร์ที่สัมพันธ์กันพร้อมเหตุผลว่าทำไมจึงชอบเรื่องนี้
เซ็ตอินเตอร์เซ็กชั่นกับพืชผักสวนครัวการเรียนเรื่องเซ็ตแทนที่จะใส่ตัวเลข ก็อาจจะใช้ต้นไม้ หรือพืชสวนครัวที่ปลูกในพื้นที่จำกัดก็ได้ วิธีการคิดก็คือ ถ้าพืชวงที่หนึ่งเป็นวงไม้ประดับ แล้ววงที่สองเป็นไม้ที่กินได้ ฉะนั้นที่เราจะปลูกไม้ประดับเพื่อความสวยงาม หรือไม้กินได้ที่ไม่สวยงาม หากลองปลูกไม้ทั้งสองอย่างรวมกันเลือกที่สวยด้วย แล้วเอามากินได้ด้วย นั่นก็คือการอินเตอร์เซ็กชั่นกันในเรื่องของเซ็ตซึ่งสิ่งที่ครูบอกเด็กๆ ก็คือพืชสวนครัวเป็นทั้งอาหารและยา ก็โยงไปสู่เนื้อหาเรื่องเซ็ตขณะเดียวกันก็โยงไปสู่สภาพบ้านของเด็ก แล้วมีโยงไปถึงอาชีพของผู้ปกครองด้วย
จากข้าวต้มมัดสู่ฟังก์ชั่นล็อกเป็นการนำคณิตศาสตร์เชื่อมโยงสู่อาชีพของผู้ปกครอง โดยเวลาสอนครูจะให้เด็กๆ เล่าถึงอาชีพของผู้ปกครอง ซึ่งจากการเล่าเรื่องของเด็กๆ พบว่ามีผู้ปกครองหลายท่านประกอบอาชีพที่น่าสนใจมาก แม้จะเป็นอาชีพง่ายๆ ก็ตาม เช่น การทำข้าวต้มมัด การทำข้าวหลาม การปลูกชะอม เป็นต้น เมื่อเลือกอาชีพข้าวต้มมัดแล้ว จึงให้เด็กกลับไปถามสูตรการทำจากผู้ปกครอง ขณะเดียวกันครูก็เปิดเว็บไซต์ค้นหาข้อมูลการทำข้าวต้มมัดว่ามีส่วนผสมอะไรบ้าง จากนั้นจึงเปลี่ยนสัดส่วนของส่วนผสมออกมาเป็นเนื้อหาการเรียนเรื่องราก เรื่องฟังก์ชั่นล็อกใส่เข้าไป เสร็จแล้วจึงให้เด็กออกมาเล่าเรื่องราว ซึ่งผลที่ได้คือชิ้นงานของเด็กๆ ที่ได้ทั้งความรู้และความสนุกสนานไปพร้อมกัน
สิ่งสำคัญของการบูรณาการเรียนการสอนแบบนี้ก็คือเราต้องย้ำในส่วนที่เด็กไม่เข้าใจ ให้เด็กเข้าใจก่อน จากนั้นจึงให้เด็กวิเคราะห์ว่าที่ทำอย่างนี้ ดีหรือไม่ดีอย่างไรและมีข้อเสียตรงไหนอย่างไร เช่น ข้าวต้มมัด 1 มัดทำมาจากอะไรบ้าง ใบตองที่ใช้ห่อมาจากต้นกล้วย กล้วยที่ปลูกกว่าจะใช้ได้ต้องใช้เวลาปลูกนานเท่าไร ใช้น้ำใช้ปุ๋ยเท่าไหร่ เสร็จแล้วให้ทุกคนสะท้อนอาชีพของผู้ปกครอง โดยให้เด็กเขียนสรุป แล้วครูก็จะเสริมแรงกระตุ้นให้กับเด็กด้วยคำชมเมื่อเด็กส่งงาน ด้วยการเขียนลงไปในใบส่งงาน (ตัวอย่างการให้คะแนนของครูวารินและการเขียนคอมเม้นท์เสริมแรง)
สำหรับผลงานของเด็กๆ นั้น ครูวารินจะคัดเลือกชิ้นงานที่ดีๆ ของเด็กแต่ละรุ่นเก็บไว้เป็นตัวอย่างให้กับเด็กรุ่นต่อๆ ไปได้ดู นอกจากนี้ครูเองก็ต้องเรียนรู้จากงานของเด็กด้วยว่าหากจะสอนเรื่องนี้ในปีต่อไปต้องมีการปรับเปลี่ยนใหม่เพื่อให้ทันสมัย ไม่น่าเบื่อ และไม่ซ้ำของเดิม
ไม่เฉพาะครูวารินเท่านั้นที่บูรณาการและออกแบบการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์โดยนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาใช้ แต่ยังรวมถึงครูท่านอื่นๆ ในกลุ่มสาระวิชาคณิตศาสตร์ที่ได้ร่วมกันออกแบบและจัดการเรียนการสอนจนทำให้วิชาคณิตศาสตร์ที่เด็กๆ หลายคนส่ายหน้าไม่อยากเรียน ให้กลายเป็นวิชาที่สนุกไม่น่าเบื่ออย่างที่คิด ซึ่งครูวารินเองบางครั้งสอดแทรกเนื้อหาวิชาลงไปโดยที่เด็กไม่รู้ตัว เช่นกิจกรรมเรื่องการสำรวจ แทนที่จะบอกว่าวันนี้จะเรียนเรื่องโครงงานกัน ก็เปลี่ยนเป็นว่าวันนี้ครูจะเล่านิทานให้ฟัง ซึ่งวิธีการนี้ทำให้ได้ข้อสรุปว่าแม้แต่เด็ก ม. 5ก็ยังชอบฟังนิทานอยู่
“ถ้าพูดหรือบอกเด็กเฉยๆ เด็กก็ไม่ชอบ แต่ครูจะบอกว่าวันนี้จะสอนเรื่องโครงงานคณิตศาสตร์ โดยเริ่มตั้งแต่ว่าโครงงานมีกี่ประเภท แล้วใช้สื่อประกอบทั้งสื่อภาพ สื่อนิทาน พอเล่าจบ ก็ชวนเด็กมาช่วยกันสำรวจโครงงานในโรงเรียนก่อนว่าเขาจะสามารถช่วยเหลืออะไรได้บ้าง เมื่อจะทำก็ต้องมีการเก็บข้อมูล สอนเด็กให้รู้เป้าหมาย วิธีการ ขั้นตอนในการทำโครงงาน ที่ต้องมีการวางแผน แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วก็ต้องมีการพูดคุยกันและร่วมกันคิดวิเคราะห์ การสอนแบบนี้พบว่า เด็กสนใจมาก เพราะเขามองเห็นภาพของการทำโครงงาน จึงเกิดความรู้สึกดีในการเรียนและการทำงานร่วมกับเพื่อนและในที่สุดแล้วการทำโครงงานก็สามารถดึงให้เด็กนำความรู้ทางคณิตศาสตร์มาใช้ในการทำงานได้”
ทำด้วยใจ จึงทำได้ดี
ความทุ่มเทในการทำหน้าที่ครูเพื่อเด็กไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นกับครูวารินเมื่อเร็วๆ นี้ แต่ครูวารินทำมานานแล้ว จากประสบการณ์ที่เป็นจุดฉุกคิดเมื่อครั้งลูกต้องสอบเข้าเรียนต่อในชั้นม.1 แต่ไม่สามารถทำข้อสอบคณิตศาสตร์ง่ายๆ อย่างการหา ครน. และ หรม.ได้ ทั้งที่ให้ลูกเรียนพิเศษอยู่ตลอดเวลา เลยรู้ว่าครูที่สอนคงไม่ได้จริงจังกับการสอนมากนักทั้งที่ผู้ปกครองทุกคนต่างฝากความหวังไว้กับครู ถ้าครูไม่คิดถึงเด็ก แล้วผู้ปกครองจะไว้วางใจได้อย่างไร ครูวารินจึงปวารณาตัวว่าจะต้องสอนให้เด็กรู้เรื่องคณิตศาสตร์ให้ได้ จากนั้นครูวารินจึงเริ่มพัฒนาสื่อการสอนให้มีความหลากหลาย เช่น การสร้างนวัตกรรมสื่อการสอนคณิตศาสตร์ “กระดานเอนกประสงค์”ซึ่งเป็นสื่อที่ประดิษฐ์จากเศษวัสดุ โดยใช้กระดานสังกะสี เส้นแม่เหล็ก และเศษวัสดุเหลือใช้ที่นำมาประยุกต์ให้สอดคล้องกับสาระที่สอน นักเรียนสามารถหยิบจัดเคลื่อนไหวได้ตามความต้องการ และมีการนำเศษวัสดุที่นำมาใช้ใหม่ เช่น ตัวติดตู้เย็นที่มีคนนำมาให้ก็จะเก็บเอามาเป็นสื่อการสอนให้กับนักเรียน(ดูภาพตัวอย่าง)และบางครั้งในการเรียนครูก็ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้บอก แต่อาจให้เด็กสรุปกันเอง ซึ่งหลายๆ ครั้งพบว่าเด็กๆ ชอบวิธีการสอนแบบนี้ เพราะรู้สึกสนุก
อย่างไรก็ตามก่อนที่จะเริ่มการสอนครูวารินจะเตรียมการสอนและเตรียมสื่อก่อน ซึ่งบางครั้งสื่อที่นำมาสอนก็นำมาใช้เพื่อสอบเด็กด้วยแทนการสอบข้อเขียน ซึ่งเด็กจะสนุกและพูดออกมาเองว่าการสอบไม่จำเป็นต้องเป็นข้อเขียน การสอบอาจมากจากการทำกิจกรรมและวัดผลจากการทำกิจกรรมก็ได้ ซึ่งสื่อการสอนที่ครูวารินทำมาก็มีหลากลายรูปแบบ ทั้งสื่อเอกสาร สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อประดิษฐ์ และสื่อคอมพิวเตอร์
“เราต้องพัฒนาสื่อการสอนที่หลากหลาย ไม่ใช่เป็นครูโบราณคร่ำครึแต่เราต้องก้าวให้ทันยุคสมัยและนำมาเชื่อมโยงมาประยุกต์ใช้กับเด็ก เพื่อให้เขาเข้าใจได้ง่าย” ครูวาริน บอกพร้อมกับย้ำว่า คณิตศาสตร์ส่วนมากมักเป็นนามธรรม การสอนให้เด็กเข้าใจได้ง่ายขึ้นจึงต้องเป็นการเรียนรู้จากรูปธรรมไปหานามธรรม ครูต้องหาสิ่งที่เป็นรูปธรรมง่ายๆ ให้เด็กเห็น ซึ่งบางครั้งอาจมาจากการเชื่อมโยงโจทย์เนื้อหาที่ต้องการสอดแทรกเข้าไป หรือบางโจทย์อาจใช้คำพูดแทรกเข้าไปแทนก็ได้
กัลยาณมิตรกับเพื่อนครู
ครูวารินได้ขยายแนวคิดในการทำงานดังกล่าวไปสู่เพื่อนครูด้วยการ ผ่านสื่อการสอนที่ทำขึ้นซึ่งเพื่อนครูก็นำไปใช้ในการเรียนการสอนเช่นกัน และบางครั้งก็มีการนิเทศ หรือแนะนำแก่เพื่อนครูบ้าง เช่นการเป็นวิทยากรไปเล่าถึงวิธีการสอนให้กับเพื่อนครูทั้งในกลุ่มสาระและนอกกลุ่มสาระ ซึ่งเป็นไปตามโครงสร้างการบริหารงานภายในกลุ่มสาระและภายในโรงเรียนที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของครูนั่นเอง โรงเรียนจึงมีส่วนสำคัญยิ่งในการบูรณาการและออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนของครูแต่ละกลุ่มสาระวิชา
“การขยายผลในกลุ่มครูด้วยการ ต้องเริ่มจากสิ่งที่คุณครูถนัดก่อน เพราะครูรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องยาก สามารถทำได้เอง ทำให้เกิดพลังให้ครูอยากทำต่อไปเรื่อยๆ ถ้าอยากรู้ว่าการออกแบบการเรียนการสอนของเราประสบผลสำเร็จหรือไม่ ให้มองดูตาเด็กเวลาเรียนว่าแตกต่างจากที่เคยสอนหรือไม่ แววตาของเด็กจะบอกให้รู้ว่าเขาอยากเรียนไหม เขาอยากเจอครูไหม และเขามีความสุขที่จะเรียนหรือไม่อย่างไร ถ้าครูทดลองแค่หนึ่งหน่วยการเรียนรู้ก็จะเห็นความแตกต่างของเด็กอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งตรงนี้คือ “พลัง”ให้ครูมุ่งมันพัฒนาการสอนต่อไป”
สื่อสัมพันธ์คณิตพิชิตพอเพียง : จากโรงเรียนถึงผู้ปกครอง
จากวิถีปฏิบัติของครูวารินดังกล่าวข้างต้น ผนวกกับการได้รับการเสริมพลังจากกระบวนการของมูลนิธิสยามกัมมาจล และ สรส. ที่เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และจัดการความรู้ ทำให้ครูเกิดความภาคภูมิใจว่าสิ่งที่ทำอยู่ในวิถีและผลที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม แต่ก็เกิดคำถามขึ้นในใจเช่นกันว่า ที่ว่าดีนั้นดีจริงหรือไม่ ยั่งยืนหรือไม่ จึงเกิดความคิดย้อนกลับเพื่อต้องการตรวจสอบว่าสิ่งที่ครูปลูกฝังให้เด็กในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงนั้น เด็กนำไปใช้จริงหรือไม่อย่างไร เหล่านี้คือคำถามที่ครูคิดก่อน แล้วจึงแตกหน่อออกมาเป็นกิจกรรมที่สะท้อนให้เห็นว่าเด็กมีความรู้ทางด้านเศรษฐกิจพอเพียงจริง และเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันจริง ซึ่งคนที่จะบอกได้ก็คือผู้ปกครอง แต่ครูก็ไม่สามารถไปสอบถามผู้ปกครองที่บ้านได้ทั้งหมด จึงคิดว่าน่าจะเชิญผู้ปกครองมาที่โรงเรียนโดยใช้เวลาเพียงครึ่งวันก็สามารถหาคำตอบได้ทั้งหมด และเป็นวิธีที่ประหยัด เพราะถ้าครูออกไปตามบ้านผู้ปกครองก็ต้องเสียทั้งเวลาการเดินทางและอันตรายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น จุดนี้แสดงให้เห็นว่าครูมีความ“ฉุกคิด”ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เป็นความพอประมาณแก่ศักยภาพของครูซึ่งได้ประเมินตัวเองไว้แล้ว
กิจกรรมสื่อสัมพันธ์คณิตพิชิตพอเพียงจึงเป็นการออกแบบกิจกรรมที่โยงเข้าสู่เนื้อหาบทเรียนที่นักเรียนได้เรียนไปแล้วรวมทั้งกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนและการประเมินด้านคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียนการทำกิจกรรมนี้นักเรียนในชั้นเรียนคณิตศาสตร์ที่ครูวารินสอนจะเป็นผู้วางแผนและดำเนินการเองทั้งหมด โดยมีครูวารินและครูในกลุ่มสาระวิชาคณิตศาสตร์เป็นที่ปรึกษา
ครูวารินบอกว่า กิจกรรมสื่อสัมพันธ์คณิตพิชิตความพอเพียง เป็นโครงการคุณธรรมนำความรู้สู่ความพอเพียงโรงเรียนศรีวิชัยวิทยากลุ่มเป้าหมายคือ นักเรียนที่เรียนคณิตศาสตร์ ชั้น 4/1-25/1-2 และ6/1-2 จำนวน 200คนพร้อมผู้ปกครอง โดยมี 8 กิจกรรมที่เชื่อมโยงกัน ซึ่งมีการใช้หลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไขของเศรษฐกิจพอเพียงมาตั้งแต่เริ่มคิด โดยมีรายละเอียดกิจกรรมดังนี้
1. กิจกรรมสร้างความคุ้นเคย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่าง ผู้ปกครองนักเรียน ครู และนักเรียน
2. กิจกรรมส่งเสริมความรู้ทางคณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน
3.กิจกรรมปลูกจิตสำนึกในการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติจริง ในชีวิตประจำวัน
4. กิจกรรมสร้างเครือข่ายผู้ปกครอง เป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่าง ครู นักเรียน และผู้ปกครอง
5. กิจกรรมตามรอยคนเก่ง ที่แบบอย่างในการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง (นักเรียนและผู้ปกครอง)
6. ส่งเสริมประหยัดและเก็บออม
7. กิจกรรมเสริมสร้างสายสัมพันธ์ในครอบครัว เป็นการแสดงความกตัญญูของนักเรียน
8. การแสดงรีวิว ประกอบเพลง “พ่อของแผ่นดิน”
“การเชิญทั้งผู้ปกครองและเด็กมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ทำให้ครูได้รับรู้ข้อมูลทั้งของเด็กและผู้ปกครองไปพร้อมกันว่า ขณะที่เด็กใช้แล้วผู้ปกครองใช้ด้วยหรือไม่ เด็กกับผู้ปกครองมีการเชื่อมโยงกันอย่างไร เด็กทำอยู่ที่บ้านแล้วมีบางงานบางกิจกรรมที่เราเชื่อมโยงมาที่ผู้ปกครอง เช่น ถามอาชีพผู้ปกครองแล้วก็มีการเชื่อมโยงเกี่ยวกับเรื่องการฝากงานเงิน การออมเงิน การทำบัญชีรายรับ รายจ่าย ผู้ปกครองก็ต้องเซ็นชื่อรับรู้ และเมื่อนำมาฝากธนาคารโรงเรียนก็จะต้องถ่ายยอดเงินคงเหลือไปให้พ่อแม่ดู ซึ่งผู้ปกครองบางคนไม่รู้ว่าลูกมีเงินฝากธนาคาร บางคนรู้แล้วก็ช่วยเติมให้ลูก เพราะเห็นประโยชน์จากการออมว่าลูกจะได้มีเงินเก็บไว้ใช้ เป็นการช่วยลูกทางอ้อม สิ่งเหล่านี้คือความมีเหตุมีผลของการออม”
การทำเวทีครั้งนี้เด็กๆ จะช่วยเหลือวางแผน คิดทำกันเองทั้งหมด มีครูเป็นที่ปรึกษา ถือเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้เด็กนำความรู้ที่ได้เรียนมาปฏิบัติจริง ซึ่งในเวทีครูวารินจะเรียนเชิญหัวหน้าหมวดและครูจากกลุ่มสาระวิชาอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วย เมื่อครูเห็นว่าวิธีการสอนอย่างนี้ได้ผล ก็จะนำไปปรับใช้กับการสอนของตัวเองกิจกรรมนี้ทำให้เด็กรู้ว่าการเรียนคณิตศาสตร์ไม่ใช่แค่การเรียนอยู่ในห้องเท่านั้น แต่สามารถเรียนรู้ผ่านกิจกรรมได้
ผลการดำเนินโครงการ “สื่อสัมพันธ์คณิตพิชิตความพอเพียง” พบว่า นักเรียนและผู้ปกครองได้แบบอย่างที่ดีในการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง รู้จักนำความรู้คณิตศาสตร์ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และผู้ปกครองมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน
เก่งคณิตด้วย “หลักธรรม” น้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียง
ค่ายคณิตศาสตร์ของโรงเรียนศรีวิชัยวิทยาเกิดขึ้นจากการที่ครูปิยะ รอดบำเรอ หัวหน้ากลุ่มสาระฯคณิตศาสตร์คนปัจจุบัน เห็นว่าการสอนให้นักเรียน เรียนเก่ง เรียนดี มีความรู้เพียงอย่างเดียวนั้นยังไม่เพียงพอที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างดีมีความสุข นักเรียนควรได้รับการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมควบคู่กันไป กิจกรรมค่ายคณิตศาสตร์จึงเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้มีการพัฒนาตนเอง ให้มีคุณธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รู้จักแก้ปัญหาอย่างมีระบบ รู้จักปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เข้ากับหมู่คณะได้ รู้จักคิดอย่างมีเหตุผล เพื่อพัฒนาศักยภาพทางคณิตศาสตร์และได้รู้จักการใช้ชีวิตร่วมกันได้เป็นอย่างดีตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
กิจกรรมนี้ครูให้เด็กมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้นวางแผนการกำหนดกิจกรรม มีการแบ่งงานกันทำ รวมทั้งเก็บออมเงินเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการอยู่ค่ายตั้งแต่ต้นเทอม โดยนำมาฝากทำบัญชีกันแล้วนำมาฝากไว้ที่ครู ค่ายคณิตศาสตร์นี้จัดขึ้นที่ตลาดน้ำท่าคา จังหวัดสมุทรสงคราม ประกอบด้วยกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ ศาสนากับคณิตศาสตร์ การวัดศักยภาพด้านคณิตศาสตร์ คณิตศาสตร์แรลลี่ กิจกรรมนันทนาการและความเป็นอยู่ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของชุมชนตำบลท่าคา
ผลของกิจกรรมนี้พบว่านักเรียนได้เรียนรู้คณิตศาสตร์ในรูปแบบที่เหมาะสม มีความรับผิดชอบและทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มได้เป็นอย่างดี มีความสามารถในการสำรวจ การคาดการณ์ การสืบหาเหตุผล การใช้ยุทธวิธีที่หลากหลายในการแก้ปัญหา การเชื่อมโยงความรู้และการสื่อสาร ฝึกการอยู่ร่วมกัน การทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ ซึ่งจะต้องเป็นคนมีวินัยอดทน เสียสละ ตรงต่อเวลา เป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่น และรู้จักนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี (ตัวอย่างด้านล่าง)
ครูปิยะเล่าเสริมว่า ค่ายนี้ออกแบบให้เด็กได้บูรณาการความรู้กับเศรษฐกิจพอเพียง โดยสืบค้นว่าชาวบ้านในชุมชนนี้มีอาชีพอะไร ซึ่งครูต้องไปสำรวจพื้นที่ก่อนเพื่อให้รู้ว่ามีแหล่งความรู้อะไรบ้าง ใคร ทำอะไร ตรงไหน แล้วประสานกับชุมชนไว้ก่อน โดยไม่ได้บอกเด็ก
“แนวคิดนี้ได้มาจากรายการสู้เพื่อแม่ ที่ให้เด็กไปทำโน่นทำนี่ เราก็เปลี่ยนมาเป็นให้เด็กทำเพื่อกลุ่ม ให้ไปช่วยกันค้นหาว่าชาวบ้านตรงนี้มีอาหารอะไรที่ขึ้นชื่อ ใครเป็นเจ้าของร้าน ให้เขาไปค้นหารายละเอียดทั้งหมด เมื่อได้ข้อมูลแล้วให้วิเคราะห์ถึงรายจ่าย รายได้ และกำไร โดยเชื่อมโยงความรู้คณิตศาสตร์มาใช้ นอกจากนี้ยังมีการคิดวิเคราะห์ในเรื่องของเทคนิคการขายว่าคุ้มค่ามีเหตุมีผลหรือไม่ เช่นการขายโมบายพวงละ 20 บาท ขาย 3 พวง 50บาทนั้นความจริงแล้วเด็กมีความจำเป็นต้องซื้อหรือไม่ และได้ใช้จริงหรือไม่ สรุปแล้วถูกหรือแพง สิ่งเหล่านี้คือเทคนิคที่เราให้เด็กได้เรียนรู้จากชีวิตจริงแล้วค่อยมาวิเคราะห์ผนวกตอนท้ายซึ่งทั้งภาพรวมของค่ายและในทุกกิจกรรมที่ทำล้วนยึดหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไขทั้งสิ้น”