การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนศีขรภูมิพิสัย

“โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมพลังผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา” วันที่ 27 พฤษภาคม 255 ณ ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารไทยพาณิชย์ หาดตะวันรอน ชลบุรีการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนศีขรภูมิพิสัย 


โรงเรียนศีขรภูมิพิสัย ขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา ภายใต้แนวคิดที่ว่า “ใช้ความรู้ รู้จักบูรณาการ ประยุกต์ใช้เป็น และต้องออกแบบได้” โดยผู้อำนวยการแสน แหวนวงศ์ ใช้หลักการบริหารที่ให้ความสำคัญกับตัว “คน” เพราะมองว่า การจะทำอะไรก็แล้วแต่ หากคนไม่เข้าใจ คนไม่มีแรงบันดาลใจก็ไม่สามารถขับเคลื่อนงานอื่นต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงบริหารโดยให้ความสำคัญกับครูทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เน้นการมีส่วนร่วมของครู นักเรียน และบุคลากรในโรงเรียนทุกคน หากครูมีปัญหา ผู้บริหารต้องสามารถให้คำปรึกษา และเป็นผู้นำทางให้ครูได้ กำหนดให้ครูวิเคราะห์แผนงานและแผนการเรียนการสอนโดยยึดหลักวิชาการ  โครงการเกิดจากความต้องการของครู แต่ผลต้องเกิดกับเด็กเป็นที่ตั้ง โดยผอ. จะตั้งคำถามกับครูเสมอว่า “ทำแล้วเด็กจะได้อะไร” หลักคิดนี้ถือปฏิบัติกันจนเกิดเป็นวัฒนธรรมการทำงานของครูในโรงเรียน ครูสามารถบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่แผนการเรียนการสอนได้ครบทุกกลุ่มสาระ



บริบทโรงเรียนศีขรภูมิพิสัย มีนักเรียน 2,800 คน  มีครู 86 คน โรงเรียนมี “ทุนเดิม” ที่ขับเคลื่อนเรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้ว  ถือว่ามีความเข้มแข็งและมีความเข้าใจเรื่องนี้พอสมควร มีการนำหลักปรัชญาฯ บูรณาการลงสู่การเรียนการสอนมาตลอด ซึ่งจะใช้ระดับชั้นเป็นตัวตั้ง การบริหารงานเน้นการสร้างคนเป็นศูนย์กลางโดยนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาจัดการทั้งหมด การดำเนินการทุกอย่างในโรงเรียนสอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักสูตร วิธีคิด วิธีจัดการ โดยหลักสูตรเป็นสิ่งสำคัญที่สุด 



ผอ.แสน บอกว่า สำหรับผู้ที่กำลังขับเคลื่อนเรื่องนี้อาจจะมองดูว่ามันเป็นเรื่องลำบาก แต่โดยเนื้อในของครู แล้ว คิดว่าครูทุกคนสามารถทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้ เพียงแต่จะมีวิธีคลี่ออกมาให้เขาเห็นได้อย่างไรว่าหลักปรัชญาฯ เริ่มจากตรงไหน ทำอะไรก็ตามต้องอยู่ที่ฐานความรู้  เพราะหลักสูตรเขาสอนอยู่ 3 ตัวด้วยกัน 1.นักเรียนต้องได้ความรู้ 2. นักเรียนต้องได้บูรณาการ 3. นักเรียนต้องประยุกต์ใช้เป็น นี่คือหลักสูตร 51 แต่ผอ.เติมอีกตัวหนึ่งคือ ต้องออกแบบได้ 



การจัดการศูนย์การเรียนรู้ฯ หากมีผู้มาดูงาน จะกระตุ้นให้เขากลับไปทำงานแบบยั่งยืน ประการแรกต้องทบทวนให้เขาเข้าใจ ประการที่สองเรื่องการจัดการหลักสูตร ตั้งแต่วิเคราะห์หลักสูตร ทำหน่วย ทำแผน จากนั้นเดินเยี่ยมฐานการเรียนรู้ต่างๆ แล้วกลับมาพูดคุยว่าผู้ที่มาดูงานได้อะไรบ้าง มีการตอบปัญหาข้อซักถาม AAR  



ด้านครู ที่สำคัญที่สุดคือการสนับสนุนครู หากครูจะเสนอโครงการหรือกิจกรรมใดๆ ก็ตาม ครูต้องวิเคราะห์มา เราไม่ได้เอาเงินเป็นตัวตั้ง เอางานเป็นตัวตั้ง ต้องคิดต้องมีเหตุผล ต้องวิเคราะห์ก่อนถึงจะให้การสนับสนุน ด้านการบูรณาการสู่แผนการเรียนการสอน หัวหน้ากลุ่มสาระจะจัดทีมกันอย่างเป็นระบบ มีกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน มีการไปศึกษาตามแหล่งเรียนรู้ตามหลักปรัชญาฯ แล้วกลับมาวิเคราะห์ สิ่งเหล่านี้จะทำกันจนกลายเป็นวัฒนธรรม การจัดการทรัพยากร บริหารจัดการตามงานวิชาการ โดยนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาดำเนินการ 



ด้านนักเรียน ใช้นักเรียนชั้น ม.5 เป็นสภานักเรียน ส่วนน้อง ม.4 ให้เตรียมสานต่อ โดยมี พี่ ม.6 เป็นที่ปรึกษา เพราะฉะนั้น เหตุผลเพราะถ้าใช้ พี่ ม.6 อาจกระทบการเรียน เพราะต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัย โอเนตก็จะต่ำ ความต่อเนื่องไม่มี ทุกวันนี้ถามว่าในโรงเรียนตรงไหนเป็นหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคิดว่าเป็นองค์รวมของเราทั้งหมด 



ด้านชุมชน  ใช้ชุมชนมาเป็นแหล่งเรียนรู้ เช่น ปราสาทศรีขรภูมิ ใช้หลักสูตรบูรณาการของ ม.4  เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง เคียงคู่ปราสาทศรีขรภูมิ ให้เด็กหาความสูงของปราสาทโดยใช้ตรีโกณของวิชาคณิตศาสตร์ การเชื่อมโยงอิฐทั้งหลายในวิชาเคมี เรียนรู้รอบๆ องค์ปราสาทในวิชาชีววิทยา เรื่องการเซ่นสังเวยของวิชาการงานอาชีพ เครื่องแต่งกาย ศิลปะระบำ อันนี้คือการบูรณาการ 8 กลุ่มสาระแบบสหวิทยาการ ครูทุกคนมีส่วนร่วม นักเรียนได้ดำเนินการ



เป้าหมาย ทำอย่างไรจึงจะพัฒนาคนในโรงเรียนให้มีสติ รู้คิด มีปัญญารู้คิด ซื่อสัตย์สุจริต จริงใจ เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน นี่คือเป้าหมายสูงสุดที่ในหลวงบอกว่าคนเป็นศูนย์กลาง 



ผลที่เกิด เมื่อถามถึงนักเรียน เด็กได้ความรู้เพราะเขารู้จักตัวเอง ได้บูรณาการการทำงานกับคนอื่น เชื่อมโยงได้ นักเรียนมีความรับผิดชอบมากขึ้น มีความเป็นผู้นำมากขึ้น  การทะเลาะเบาะแว้ง ยาเสพติดก็ค่อยๆ ลดลงไป เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่ต้องยากจน เศรษฐกิจพอเพียงเป็นคนร่ำรวยต่างหาก ถ้ารู้จักพอในบริบทของตัวเอง เวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมาโรงเรียนไม่เคยมีเด็กเรียนแพทย์เลย แต่ปีนี้เด็กที่โรงเรียนสอบเรียนต่อแพทย์ได้ ครูจากที่มีวุฒิปริญญาตรีเริ่มไปเรียนปริญญาโท – ปริญญาเอกมากขึ้น เพราะเขาคิดเป็น ใฝ่เรียนรู้ เราจะเปลี่ยนวิสัยทัศน์โรงเรียนใหม่เป็นสถานศึกษาชั้นนำมาตรฐานสากล ดำรงตน ยึดครองตนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ด้านชุมชน  พ่อแม่ผู้ปกครองสนับสนุนงบเพื่อมาพัฒนาบริหารทุกปี