การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านคลองไคร
“โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมพลังผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา”
วันที่ 27 พฤษภาคม 255 ณ ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารไทยพาณิชย์ หาดตะวันรอน ชลบุรี
โรงเรียนบ้านคลองไคร มีผู้บริหารเป็นแกนนำคนสำคัญในการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา โดยบรรจุไว้ใน “วิสัยทัศน์และพันธกิจ” โรงเรียน จากนั้นจึงนำเข้ามาสู่แผนปฏิบัติงานประจำปี นำโครงการหรือกิจกรรมที่ครูทำอยู่แล้วมาถอดบทเรียนให้ดูว่าเข้ากับหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไขอย่างไร และขาดตกบกพร่องตรงไหนอย่างไร ช่วงแรกมีการออกแบบบทเรียนด้วยการทำฐานการเรียนรู้ 9 ฐาน ให้ครูที่รับผิดชอบฐานอธิบายให้เด็กได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง และสามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้ มีการถอดบทเรียนและจัดนิทรรศการทั้ง 9 ฐาน เพื่อสรุปสิ่งที่นักเรียนได้เรียนรู้จากกิจกรรมที่ทำในแต่ละภาคเรียน ต่อมาภายหลังมีการปรับฐานการเรียนรู้ใหม่ เหลือเพียง 2 – 3 ฐานที่เด่นๆ เท่านั้นเพื่อรองรับกับการเป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง และการขยายผลสู่ชุมชน ที่โรงเรียนครูและผู้บริหารโยกย้ายบ่อย ครูแกนนำจึงต้องปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่างถ่ายทอดให้ครูสามารถทำแผนการสอนได้ตรงตามเป้าหมาย
โรงเรียนบ้านคลองไครขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา โดยมีผู้บริหารเป็นแกนนำ เริ่มนำมาใช้ในเรื่องการบริหารจัดการ ด้วยการนำหลักปรัชญาฯ เข้ามาควบคุมเรื่องกิจกรรม โดยบรรจุไว้ใน ”วิสัยทัศน์และพันธกิจ” โรงเรียน จากนั้นจึงนำเข้ามาสู่แผนปฏิบัติงานประจำปี นำโครงการหรือกิจกรรมที่ครูทำอยู่แล้วมาถอดบทเรียนให้ดูว่าเข้ากับหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไขอย่างไร และขาดตกบกพร่องตรงไหนอย่างไร
โรงเรียนบ้านคลองไครไม่ได้ส่งครูไปอบรม มีแต่ผู้อำนวยการเท่านั้นที่ไปอบรมแล้วนำมาถ่ายทอดให้ครู และต้องทำพร้อมกันทั้งการบริหาร การจัดการเรียนการสอน ครูต้องเขียนแผนและพิจารณาดูว่าแผนสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร ระยะแรกครูยังไม่เข้าใจหลักการและความหมายของคำว่าเศรษฐกิจพอเพียง ที่โรงเรียนมีที่ดินน้อย จะทำนาเหมือนโรงเรียนอื่น ๆ ก็ไม่ได้ ทำไปก็มีปัญหาไป จนกระทั่ง ดร.ปรียานุช พิบูลสราวุธ ไปจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ โดยครั้งแรกเชิญครูที่สอนเกษตรไป เพราะว่าเรามีแผนเรื่องการจัดการพืชผักสวนครัวอย่างไรให้พอเพียง เมื่อครูเกษตรกลับมาเขาก็บอกว่ายากเพราะเขายังไม่ค่อยเข้าใจมากนัก
หลังจากนั้นมีการเชิญผู้บริหารเข้าประชุม พร้อมครูฝ่ายวิชาการและตัวแทนที่สามารถถ่ายทอดความรู้ได้ 2 – 3 คน ทำให้รู้และเข้าใจว่าปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้นไม่ได้มีแต่เรื่องการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์เท่านั้น แต่หมายถึงในฐานะที่เราเป็นครู เราจะปลูกฝังจิตสำนึกเด็กให้มีความรู้ความเข้าใจ นำหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไขไปใช้ได้อย่างไร ครูจะทำแผนการจัดการเรียนรู้อย่างไรเพื่อให้เด็กเข้าใจ หลังจากนั้นก็ได้พูดไปถึงการจัดกิจกรรมในเรื่องการพัฒนาผู้เรียน ผู้บริหารจึงได้ประชุมตัวแทนองค์กร คณะกรรมการสถานศึกษา คณะแกนนำและครูขับเคลื่อน โดยมาคิดว่าเราจะขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร ผลคือโรงเรียนบ้านคลองไครจะขับเคลื่อนไปพร้อมกันทั้งโรงเรียน ทั้งด้านบริหารจัดการภายใต้หลักความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล โดยการจัดทำโครงการต่างๆ ครูต้องทำแผนการเรียนรู้ ออกแบบหน่วยการเรียนรู้และนำมาใช้จัดกิจกรรมนักเรียนผ่านฐานการเรียนรู้ 9 ฐาน เช่น การทำดอกไม้ประดิษฐ์ กระดาษรีไซเคิล การผลิตน้ำดื่ม และการทำกะปิ ฯลฯ โดยสอดแทรกหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ถ่ายทอดความรู้ผ่านความหมาย แปลความและตีความ เช่น ฐานประดิษฐ์ดอกไม้จะสอนว่าทำไมเราต้องตัดกระดาษเท่านี้ เพราะเราต้องพอประมาณ ถ้าเหลือก็ทิ้งเปล่าๆ อธิบายโดยใช้กิจกรรมเหล่านี้มาฝึกให้เด็กคิด ได้เรียนรู้จากการปฏิบัติ ซึ่งกิจกรรมฐานการเรียนรู้นี้จะจัดขึ้นทุกวันพุธ วิธีการคือจัดเป็นฐานเวียนเหมือนกิจกรรมลูกเสือ แต่เมื่อผ่านไป 1 ปี โรงเรียนมีการปรับเปลี่ยนโดยจัดให้นักเรียนเรียนเป็นชั้นเรียนและเป็นเทอม เช่น ถ้าเรียนรู้เรื่องปลาดุกก็เริ่มจากให้เด็กฝึกวิธีเลี้ยงให้อาหารดูแลรักษาและทำบัญชีจนจบ ซึ่งปัจจุบันยังเรียนแบบนี้อยู่ สิ้นปีมีการเข้าค่ายวิชาการให้นักเรียนแต่ละฐานจัดนิทรรศการของตนเองนำเสนอผลงานของแต่ละฐาน ส่วนครูทุกคนจะอยู่ประจำฐานทุกฐานเช่นกัน โดยทุกเช้าวันพุธจะมีการนำเสนอที่หน้าเสาธง อาจจะนำเรื่องของชีวิตประจำวันมาอธิบายหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนผู้บริหารจะนำคณะครูไปดูงานที่โรงเรียนอื่นบ้าง เพื่อนำมาปรับใช้กับฐานการเรียนรู้เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ต่อไป
สำหรับปัญหาและอุปสรรค ช่วงแรกๆ เป็นเรื่องของครูเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ว่าจะทำแผนอย่างไร ผลสรุปคือเราทำแผนทุกชั้นเรียน เราไปดูงานที่โรงเรียนสนามบินมาพบว่าเขาจะสอดแทรกหลังแผนการสอนทุกแผน แต่สำหรับโรงเรียนเราถ้าทำอย่างนั้นคงไม่ไหว แต่เราจะสร้างหน่วยการเรียนรู้ขึ้นมา โดยอาจจะดึงจากในหนังสือและนำมาเพิ่มเติมให้ละเอียดขึ้นเป็นแบบอย่างเฉพาะของตัวเอง ปัญหาที่พบอีกอย่างคือครูและผู้บริหารย้ายบ่อย เราจึงต้องสอนเทคนิคการถ่ายทอด การฝังลึก และการสร้างจิตสำนึกเรื่องการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงลงสู่การเรียนการสอนอยู่ตลอดเวลา
การถ่ายทอดลงสู่นักเรียน ครูจะให้นักเรียนเขียนเรื่องเล่าในสิ่งที่เขาปฏิบัติที่บ้าน หรือเขียนเรื่องเล่าของครอบครัวเขาว่านำหลักปรัชญาฯ มาใช้ในเรื่องใดบ้าง ส่วนฐานการเรียนรู้ 9 ฐานนั้น หลังจากได้ไปเรียนรู้ดูงานแล้วผู้ บริหารคิดว่าเราต้องหาฐานที่เด่นๆ 2 – 3 ฐานที่สามารถขยายผลไปสู่ชุมชนได้ ยิ่งเมื่อโรงเรียนเป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงจึงต้องจัดเป็นฐานใหญ่ๆ ให้โรงเรียนอื่น ๆ มาดูงานได้ โดยนำเรื่องน้ำมาจัดทำเป็นฐานการเรียนรู้ชื่อว่า “หยดน้ำใส ดั่งดวงหทัยองค์ราชันย์” เป็นการผลิตน้ำดื่ม มีการประชุมโดยให้ตัวแทนคณะกรรมการศึกษาองค์กรท้องถิ่น ตัวแทนนักเรียน ตัวแทนผู้ปกครอง แล้วขอความสนับสนุนจากองค์กรภายนอก ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการทำแผน ซึ่งน้ำดื่มตอนนี้สามารถใช้ได้แล้วในโรงเรียน แต่ยังไม่ได้รับการรับรองจาก อย.เท่านั้นเนื่องจากหากบรรจุน้ำดื่มทิ้งไว้ในถัง 2 - 3 วันจะมีตะกอนเกิดขึ้น จึงต้องมีการพัฒนาต่อยอดให้ดียิ่งขึ้น ที่เรายกฐานเรียนรู้เรื่องน้ำดื่มมาให้องค์กรภายนอกที่เข้ามาดูได้เรียนรู้นั้น เป็นเพราะโรงเรียนมีแผนจะขยายผลไปสู่ชุมชน ให้ชุมชนเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการและสร้างรายได้ แต่ต้องร่วมมือกันระหว่างโรงเรียนกับชุมชนโดยมีหน่วยงานภายนอกให้การสนับสนุนเรื่องทุน
ในฐานะของการเป็นครูแกนนำ บทบาทหน้าที่ของเราคือปฏิบัติงานร่วมกับผู้บริหาร ผู้บริหารเป็นแกนนำคนสำคัญที่คอยขับเคลื่อน โน้มน้าว และสร้างแรงบันดาลใจให้กับครู ส่วนครูแกนนำมีหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ที่ได้จากการอบรมให้กับครูโรงเรียน ทั้งพูดคุย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ การทำแผนการสอน ช่วยดูแลแผนของครูใหม่ว่าน่าจะเป็นไปในทิศทางใด ส่วนการเลือกครูแกนนำจะเลือกครูที่เก่งด้านกิจกรรม เพราะเรามีฐานการเรียนรู้ที่ต้องออกแบบฐาน ต้องฝึกเด็ก และสร้างทีมงานที่โดดเด่นในเรื่องการจัดกิจกรรม ส่วนครูคนอื่นต้องอยู่ในฐานการเรียนรู้ทุกคน มีผู้รับผิดชอบเป็นทีมๆ ละ 2 - 3 คนเพื่อฝึกนักเรียน ทีมแกนนำจะมีหน้าที่คือ ทำแผนการเรียนรู้ ถ่ายทอดความรู้ หลักการต่างๆ และทำสื่อวีดีทัศน์นำเสนอเมื่อมีคนเข้ามาเรียนรู้ดูงาน รวมทั้งฝึกเด็กๆ ส่วนในฐานการเรียนรู้สำหรับผู้นำองค์กร ผู้บริหารกับครูแกนนำจะประชุมร่วมกันถ่ายทอดความรู้ให้รับทราบ โดยเน้นไปที่วัตถุประสงค์ของการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาใช้จัดการเรียนการสอน เช่น ทำไมโรงเรียนต้องจัดการเรียนการสอนแบบนี้ ทำไมต้องมีฐานการเรียนรู้ เพื่อให้ครูเข้าใจตรงกัน
สำหรับการเป็นแบบอย่างให้กับเพื่อนครู เรานำหลักปรัชญาฯ มาใช้ทั้งในเรื่องการทำงานและครอบครัว เช่น มาทำงานให้ทันเวลา ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย โดยเริ่มที่ตัวเราแล้วนำมาใช้กับครอบครัว เรามักได้ยินผู้อำนวยการพูดโน้มน้าวอยู่บ่อยๆ ถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งครูทุกคนก็น้อมรับ และพร้อมที่นำหลักปรัชญาฯ นี้ไปแต่ความสามารถของแต่ละคนไม่เท่ากันเท่านั้นเอง