การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านคลองยาง
“โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมพลังผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา”
วันที่ 27 พฤษภาคม 255 ณ ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารไทยพาณิชย์ หาดตะวันรอน ชลบุรี
ครูไลลาเริ่มต้นจากความไม่เข้าใจในครั้งแรก แต่ได้นำแผนการสอนเดิมมาปรับใช้จึงทำให้เข้าใจว่า จริงๆ แล้วหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้นสามารถนำมาใช้ได้กับทุกรายวิชา โดยอาศัยการสอนแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ข้ามกระโดด เน้นกิจกรรมให้เด็กได้ลงมือทำเป็นประจำ และเรื่องจิตอาสาก็จะออกมาจากตัวเด็กเอง
การออกแบบการเรียนรู้ : เกิดจากความไม่เข้าใจในครั้งแรก ในเรื่องของวิธีการทำแผนที่ยังไม่ชัดเจนว่าตรงไหนสามารถนำ 3 ห่วง 2 เงื่อนไขเข้าไปใช้ได้ กอปรกับเป็นโรงเรียนประถม จึงคิดหนักว่าจะลงสู่การเรียนการสอนได้อย่างไร แต่เมื่อได้เข้ามาอบรมทำให้เข้าใจว่าในระดับประถมศึกษายังไม่เน้นเรื่องการทำแผนการเรียนการสอน ทำให้ความหนักใจลดลง ทำให้ทำแผนได้ถูกทางและดีขึ้น สำหรับเรื่องแผนเรานำแผนเดิมมาปรับใช้ ทำให้เข้าใจว่าทุกแผนสามารถเข้ากับ 3 ห่วง 2 เงื่อนไขในทุกรายวิชา ช่วงแรกที่มีโรงเรียนอื่นๆ เข้ามาดูงานตั้งแต่ที่เรายังไม่ได้เป็นศูนย์ เราก็ไม่สามารถให้คำตอบเขาได้ เพราะเรายังไม่เข้าใจชัดเจน และยังไม่ลงสู่ตัวเด็กจริงๆ แต่ก่อนเราพร่ำสอนให้เด็กท่องจำว่าตรงไหนคือมีเหตุมีผล มีความพอประมาณ มีภูมิคุ้มกัน แต่ทำอย่างไรก็ไม่สำเร็จ เพราะจริง ๆ แล้วเราสามารถใช้วิธีการสอนแบบปกติได้ แต่เน้นให้สอดคล้องกับหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ไม่จำเป็นต้องเน้นว่านี่คือภูมิคุ้มกัน นี่คือความพอประมาณ
ปัจจุบันการออกแบบแผนและกิจกรรมจะทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ข้ามกระโดดเหมือนที่ผ่านมา จากอดีตเคยเน้นแต่เรื่องผลสัมฤทธิ์ โดยไม่ได้หันไปดูเรื่องหลักของการปฏิบัติ ก็เปลี่ยนมาเน้นกิจกรรมให้เด็กลงมือทำ เน้นให้เด็กทำโครงงานและจิตอาสา เมื่อเด็กได้ทำบ่อยๆ หลักปรัชญาฯ ก็จะออกมาจากตัวเด็กเอง
เรื่องที่ชัดเจนคือโครงงานที่ให้เด็กได้คิดเอง เราจะวัดจากผลสำเร็จว่าเด็กเข้าใจความหมายของเศรษฐกิจพอเพียงหรือไม่ เช่น โครงงานพัฒนาจิตวิสัยเด็ก ให้เด็กได้ทำกิจกรรมในระยะเวลา 1 เดือน และสังเกตจากพฤติกรรมของเขาว่ามีการพัฒนาไปมากน้อยเพียงไร
แรงบันดาลใจในการทำเศรษฐกิจพอเพียง : ปกติเราจะปฏิบัติตัวอย่างดีอยู่แล้ว แต่ไม่เป็นระบบ แต่เมื่อได้มาเรียนรู้เรื่องนี้มากๆ ทำให้เราได้นำหลักคิดเข้ามาใช้ คิดเป็นระบบขึ้น โดยเฉพาะการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน เมื่อเราทำได้ดีจึงอยากนำไปใช้กับนักเรียน เมื่อเราเจอปัญหาของนักเรียน เราจะมีความคิดที่เป็นระบบ โดยเฉพาะในหลักสูตรมีเรื่องของคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของเด็กในเรื่องของความพอเพียงอยู่แล้ว ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่นำไปสู่การเรียนการสอน จึงต้องปฏิบัติทั้งตนเองและนักเรียนด้วย
ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากเด็กนักเรียน : ให้นักเรียนทำโครงงานไม่ใช้มอเตอร์ไซค์ในการเดินทาง ปรากฏว่าเด็กใช้น้อยลงมาก พฤติกรรมการกินอาหารให้หมดจาน เราก็ติดตามไปถึงที่บ้าน ผู้ปกครองจะเล่าให้ฟังว่าเด็กจะบอกว่าข้าวทุกเม็ดมีคุณค่า ที่โรงเรียนเมื่อก่อนจะนำเศษอาหารไปทำปุ๋ยได้เยอะ แต่ปัจจุบันมีการทำปุ๋ยลดลง หมายความว่าเด็กพยายามทานให้หมด เมื่อถึงเวลาทานข้าว เขาจะรู้จักความพอประมาณว่าควรทานข้าวแค่ไหนไม่ให้เหลือ หรือโครงงานเรื่องส้วมสุขสันต์ ช่วงแรกเหมือนกับว่าเราบังคับให้เขาทำ แต่ปัจจุบันเด็กจะมีการแบ่งกลุ่มไปดู จนเขาได้รางวัลระดับจังหวัดและระดับประเทศ ถือว่าเป็นผลงานของเขาที่เขาทำสม่ำเสมอ
ผู้บริหารกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง : ด้วยความที่ครูในโรงเรียนมีน้อย แต่มีคนมาดูงานเยอะมาก เราต้องมีวิธีการบริหารจัดการคือให้คณะที่มีคนมาน้อยๆ มาร่วมกับอีกคณะหนึ่งเพื่อประหยัดเวลา สิ่งที่สำคัญที่สุดคือชุมชน ชุมชนจะมาช่วยจัดสถานที่และต้อนรับ เรื่องอาหารชุมชนจะเป็นผู้ดำเนินการให้ และบางศูนย์จะมีคนในชุมชนเข้ามาให้ความรู้อยู่ในฐานด้วย เพราะชุมชนที่นี่ได้รับรางวัลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนใหญ่คนในชุมชนจะเรียนรู้ไปกับเด็ก ตอนแรกให้คนในชุมชนกับเด็กเป็นวิทยากรร่วมกัน แต่พบว่าทำให้เด็กเสียเวลาเรียนไปมาก ผู้อำนวยการจึงปรับแผนใหม่ โดยท่านรับหน้าที่เป็นผู้บรรยายเองเกือบทั้งหมด ส่วนครูวิทยากรต่างๆ เมื่อถึงช่วงเวลาของตัวเองจึงจะมาเสริม ส่วนเวลาที่ไม่ต้องบรรยายก็ให้กลับไปสอนหนังสือเหมือนเดิม ชุมชนที่นี่มีส่วนร่วมเยอะมาก แม้ผู้อำนวยการจะนับถือศาสนาพุทธแค่คนเดียวในชุมชน แต่ท่านสามารถเป็นผู้นำในชุมชนได้ เพราะท่านมีมนุษย์สัมพันธ์ดี ชุมชนจึงยอมรับ