การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิ
“โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมพลังผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา”
วันที่ 27 พฤษภาคม 255 ณ ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารไทยพาณิชย์ หาดตะวันรอน ชลบุรี
โรงเรียนชุมชนบ้านห้วยค้อมิตรภาพที่ 206 จังหวัดขอนแก่นได้รับรางวัลต้นแบบของการใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นรางวัลที่ได้โดยที่อาจารย์เบญจมาศก็ยังไม่เข้าใจความหมายของคำว่าพอเพียง เพียงแค่ใช้ชีวิตแบบพออยู่พอกินเท่านั้นเอง การได้รับรางวัลในครั้งนั้นเกิดจาก ความที่อยากจะพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง และเห็นว่าชุมชนมีปัญหาเรื่องเด็กด้อยโอกาสและยากจน จึงชักชวนคนในหมู่บ้านมาทำเกษตรในรูปแบบครอบครัว เน้นให้เด็กและผู้ปกครองทำงานร่วมกัน โดยให้ปลูกผักและเลี้ยงสัตว์ไปพร้อมๆ กัน เมื่อได้ผลผลิตออกมาก็ให้นำไปใช้ประกอบอาหารภายในครอบครัว ห้ามนำไปขาย เน้นให้เด็กและผู้ปกครองรู้จักพึ่งพาตนเองเป็นหลัก โดยใช้หลักการสอนคือทำให้เห็น บอกต่อ และพาทำ คุณครูเบญจมาศ ค่อยๆ ปลูกฝังเด็ก ผ่านการบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้เด็กฟังทีละนิดๆ เพื่อให้เด็กซึมซับไปเรื่อย ๆ
โรงเรียนชุมชนบ้านห้วยค้อมิตรภาพที่ 206 มีนักเรียน 200 คน และครู 18 คน มีอาคารไม้ 8 ห้อง เป็นโรงเรียนขยายโอกาส เราเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียน จึงรักโรงเรียนมาก เพราะบ้านอยู่ใกล้กับโรงเรียน ช่วงแรกที่เป็นครูสอนที่โรงเรียนอื่นมาก่อน หลังจากสูญเสียสามี จึงคิดอยากจะกลับมาพัฒนาบ้านเกิด จึงไปชวนเพื่อน ชวนพี่ที่เป็นลูกศิษย์ที่โรงเรียนมาช่วยกันพัฒนาชุมชน เริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ด้วยความที่ชุมชนมีเด็กด้อยโอกาส และค่อนข้างยากจน เด็ก ๆ ไม่อยากมาเรียน เด็กบางคนไม่ได้กินข้าวมาโรงเรียน จึงปรึกษากับผู้ปกครองว่าอยากลองทำเกษตรดู โดยมีข้อแม้ว่าครอบครัวต้องมาร่วมกันทำด้วย โดยเริ่มจากครอบครัวที่จำเป็นก่อน โรงเรียนมีพื้นที่ให้ที่แบ่งเป็นแปลงเกษตร 6 ไร่ แต่มีข้อตกลงร่วมกันว่า เมื่อทำเสร็จแล้วเด็กต้องได้กิน และเด็กต้องได้ฝึกปฏิบัติและได้ความรู้ด้วย เพราะเชื่อว่าเมื่อเด็กได้กินแล้วสมองก็จะพัฒนา ครอบครัวที่ได้ทำงานร่วมกันก็จะเกิดความอบอุ่น จึงเริ่มทดลองทำปีแรก 5 ครอบครัว และต่อมาขายเป็น 30 ครอบครัว และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ใครมีวัสดุอะไรก็เอามาช่วยกันทำ เงินที่ลงทุนก็ได้มาจากมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย โดยไม่ขอเงิน แต่ให้ช่วยซื้อของที่เราต้องการ
แต่มีเรื่องหนึ่งที่เรารู้สึกผิดหวังคือโรงเรียนเป็นต้นแบบการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในโรงเรียนในปี พ.ศ. 2550 แต่เรากลับไม่รู้จักหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเลย เพราะสิ่งที่เราทำไปตรงกับเกณฑ์ของเขา เราแค่มีอยู่ มีกิน มีความสุข โดยใช้ครอบครัวเป็นฐานในการทำกิจกรรมเท่านั้น
การออกแบบการเรียนรู้และกิจกรรม : จากฐานเดิมที่เราคิดว่าถ้าเด็กพออยู่พอกินเขาก็จะมีความสุข ถ้าให้แต่ละครอบครัวเลี้ยงไก่ไข่ 5 ตัว ถ้าเขาไม่เอาข้าวให้ไก่กิน ไก่ก็ตาย เด็กก็จะรู้หน้าที่ ให้แต่ละครอบครัวช่วยกันทำ ทั้งปลูกผักและเลี้ยงสัตว์ โดยต้องทำทั้งสองอย่างพร้อมๆ กัน ผลผลิตที่ได้ให้นำไปกินที่บ้าน ห้ามขาย หรือการเลี้ยงปลา 500 ตัว ก็ให้แต่ละครอบครัวช่วยกันขุดบ่อ เรามุ่งหวังให้เด็กมีกิน และครอบครัวมีความสุข เราเองก็ปลื้มที่เห็นเด็กเอาผลผลิตไปให้แม่ทำกับข้าวในตอนเย็น
ต่อมาผู้อำนวยการย้ายมาใหม่ ท่านก็ปรับพื้นที่เก่าเป็นพื้นที่การทำแบบรวมใจ ให้ทุกคนมีส่วนร่วม และยังใช้รูปแบบเดิมคือครอบครัว พูดคุยกับผู้ปกครองว่าปีนี้เราอาจจะได้ผลผลิตไม่เต็มร้อย แต่ทุกคนจะได้กินข้าวด้วยกัน แต่ผู้ปกครองต้องมาช่วยกัน “วันแม่ผู้ปกครองแต่งตัวสวย แต่พอถกผ้าขึ้นเป็นกางเกง พาลูกดำนากัน ” เด็กจะเห็นคุณค่าของข้าวทุกเมล็ด เพราะเขาได้ปลูกเอง เก็บเกี่ยวเอง ช่วยกันทั้งครอบครัว ผลผลิตพอเพียงสำหรับระยะเวลา 200 วัน
การที่เราปลูกฝังเด็กนักเรียนในเรื่องนี้ ทำให้เด็กรักโรงเรียน ช่วงเปิดเทอมเด็กๆ ก็จะช่วยกันทำความสะอาดโรงเรียน เราจะบ่มเพาะเด็กตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล เด็กๆ กล้าแสดงออก เพราะเขาพูดจากใจจริงของเขา เราจะวางแผนโดยการบูรณาการ เช่น เราทำข้าวเสร็จแล้ว เราก็จะทำผลิตภัณฑ์จากข้าว สิ่งของทุกอย่างที่อยู่ในชุมชนเราสามารถหยิบมาใช้ได้หมด ให้เด็กเห็นคุณค่าของสิ่งของทุกชิ้นในชุมชน หรือดอกทานตะวัน เราปลูกฝังให้เด็กรักโรงเรียน และความรับผิดชอบ เด็กจะดูแลของเขาเองในพื้นที่ของเขา เมื่อได้ผลผลิตออกมา เราจะนำไปขาย หรือนำเอาเมล็ดมาคั่วให้เด็ก ๆ ได้กินกัน
เรื่องที่เราประทับใจคือ จากการจัดเวทีให้เด็กแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน หรือเวลามีงานวัดเด็กๆ ก็จะไปร่วมกัน เราสอนเด็กผูกผ้า พี่ก็จะสอนให้น้องทำกันต่อๆ ไป ตัวเราชอบงานศิลปะด้วย มีหลายคนนำเครื่องสานมาให้เราเยอะมาก จึงคิดว่าจะสร้างพิพิธภัณฑ์ 1 ลายผ้า 2 เครื่องจักสาน คิดว่าจะต่อยอดในด้านนี้
สำหรับวิธีการสอนเราจะเน้นเรื่องการทำให้เขาเห็น พูดคุยแลกเปลี่ยน และวิธีการบอกปากต่อปาก ทำให้เขาเห็น บางครั้งเราพาเขาไปเรียนในชุมชน และบอกให้เขาทำตาม พาให้เขาทำ นอกจากการเลี้ยงไก่เลี้ยงปลาแล้ว จะมีการปลูกกล้วย ทุกสิ่งทุกอย่างเน้นเรื่องครอบครัวเป็นหลัก เราจะไม่ให้เขานำกลับบ้าน แต่จะแบ่งปันกัน เวลากลับบ้านเขาก็จะเด็ดไปกินด้วย และเวลากลับบ้านจะทำรอยเท้าเอาไว้ให้เขาเดิน พร้อมกับทบทวนว่าวันนี้เราทำความดีอะไรไปบ้างที่โรงเรียน กลับไปบ้านจะทำความดีอะไร เป็นการตอกย้ำให้เขาคิดต่อไป
ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดต่อตัวเด็กนักเรียน : จากการติดตามเด็กที่จบ ม.3 ปีที่แล้ว เด็ก 30 คน จะไปเรียนต่อการโรงแรมที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ 13 คน เพราะเขาจะไปรับเด็กที่โรงเรียนเลย เขาเห็นว่าโรงเรียนสวยและน่าอยู่ จึงอยากที่ช่วย เพราะเขามีโครงการของเขาอยู่แล้ว เด็กๆ ไปฝึกงานกับเขา ถ้าเด็กสามารถอยู่ได้ในระยะเวลา 2 เดือนเขาก็จะส่งเรียนต่อเลย เป็นการปลูกฝังให้เด็กมีความรักและความศรัทธา เราก็มาคุยกับผู้ปกครองในทางผู้ปกครองให้โรงเรียนการันตีว่าเด็กเป็นอย่างไร
เด็กที่โรงเรียนจะมีหลายระดับ ถ้าเด็กคนไหนเรียนไม่ค่อยเก่ง เราจะส่งเสริมให้เขาเรียนวิชาชีพ เรียนตัดผม ฝึกอาชีพ เสริมสวย การเรียนการสอนของเราจะเน้นให้เด็กได้ทดลองทำและสอดแทรกโดยการถาม เช่น เด็กอนุบาลให้เขาร้องเพลงก้อนดินของพ่อ เราจะถามว่าทำไมถึงร้องเพลงก้อนดิน ร้องแล้วเขารู้สึกอย่างไร เด็กจะบอกว่าเพราะว่าท่านเหนื่อย เราจะบอกเด็กไปว่าถ้าไม่อยากให้พ่อเหนื่อยต้องทำอย่างไร ถามเด็กไปเรื่อย ๆ ให้เด็กได้ซึมซับ ครูส่วนใหญ่ในโรงเรียนจะเป็นครูท้องถิ่น ครูใหม่ ๆ ที่เข้ามาจะเป็นลูกศิษย์ของเรา ครูคนไหนที่เขาอยู่ไม่ได้ก็จะออกไป ทำให้โรงเรียนของเราเป็นทีมที่ค่อนข้างจะสมบูรณ์