เดินออกจากห้องเรียน เปลี่ยน! เด็กให้เป็นพลเมือง
- ในทางปฏิบัติไม่มีห้องเรียนไหนหรือวิชาใดๆ ทำให้เด็กโตขึ้นได้ ถ้าปราศจากการลงมือทำ
- วิธีสำคัญคือชวนพวกเขาก้าวออกมาจากคอมฟอร์ทโซน แล้วลงสนามประลองยุทธ์จริง เล่นจริง เจ็บจริง และได้ประสบการณ์จริง
- โครงการพลเมืองอาสา Active Citizen คือสนามสำคัญที่ช่วยให้เด็กๆ โตขึ้นกลายเป็นพลเมือง
- โตยังไง…ก็โตแบบสนใจเรื่องที่มากไปกว่าตัวเอง สนใจความต้องการของชุมชนด้วย จนทั้งหมดรวมกันเป็น Passion ติดตัวติดใจไปตลอด
เรื่อง/ภาพ: The Potential’s team
ความแตกต่างระหว่าง ‘พลเมือง’ กับ ‘เยาวชน’ ในห้องประชุมหมายเลข 101 คือการสุกงอมจากการถูกบ่มเพาะด้วยผู้ดูแล พี่เลี้ยง ชุมชน สังคม ให้เติบโตด้วยจิตสำนึกรักตัวเอง และรักในชุมชนที่อยู่อาศัย
ไม่ใช่แค่รักและมีใจพัฒนา แต่คือกระบวนการที่เด็กๆ จะได้ฝึกทำงานในสนามจริง เผชิญปัญหาจริง และอุปสรรคนานัปการจากความคิดเห็นที่แตกต่างแต่เป็นเรื่องปกติ
เพราะโจทย์ในงานมหกรรมวิชาการคือ กว่าทศวรรษ พัฒนาครอบครัวอบอุ่น สร้างคุณค่าคน วันที่ 27-28 กุมภาพันธ์ 2561 ณ อาคารอิมแพคฟอรั่ม คือการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทิศทาง และการทำงานประเด็นพัฒนาเยาวชน
มูลนิธิสยามกัมมาจลจึงเปิดบ้าน ชวนเด็กๆ ในโครงการพลเมืองอาสา Active Citizen เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และชวนคุยในหัวข้อ ‘กระบวนการสร้างความเป็น ‘พลเมือง’ บนความเป็นไทยในยุค 4.0’ ว่า…
กว่าจะเป็นพลเมืองในวันนี้ พวกเขาต้องผ่านเพื่อพบอะไรบ้าง?
สนามประลองยุทธ์ ณ แม่น้ำสุน
แม้จังหวัดน่าน จะนับเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญของประเทศ แต่แม่น้ำสุน แหล่งน้ำสำคัญของบ้านทุ่งสุน อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน กลับประสบปัญหาน้ำแล้ง บ้างปนเปื้อนสารเคมีจากการทำเกษตรกรรม
นี่จึงเป็นปัญหาที่เด็กบ้านทุ่งสุนอย่าง ปุ๊กกี้-จิราภา เทพจันตา เยาวชนในโครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน รวมตัวกับเพื่อนทำโครงการ ‘หนึ่งเยาวชน หนึ่งชุมชน หนึ่งต้นน้ำ’ ลุกขึ้นมาแก้
ที่จริงแล้วปุ๊กกี้ตั้งใจทำโครงการเกี่ยวกับภาษาไทลื้อ ซึ่งเป็นภาษาบ้านเกิดที่เธอสนใจ แต่เมื่อคุยกับ มิ้นท์-สุทธิรา อุดใจ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเรียนรู้ พี่เลี้ยงประจำโครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชน จังหวัดน่าน และถูกตั้งคำถามว่า โครงการที่ปุ๊กกี้อยากทำ จะทำให้ชุมชนรู้สึกมีส่วนร่วมด้วยอย่างไร เมื่อทำแล้วใครได้ประโยชน์
‘เสียใจ’ คือคำตอบพร้อมรอยยิ้มของปุ๊กกี้ ก่อนจะอธิบายว่า แต่เธอเข้าใจเจตนาของพี่เลี้ยง ที่ต้องการให้เธอพัฒนาโจทย์ และตอบคำถามพื้นฐานให้ได้ว่า ต้องการจะทำอะไร เพื่ออะไร จุดหมายปลายทางหน้าตาเป็นอย่างไร ตั้งต้นด้วยความสนใจที่มากไปกว่าตัวเอง แต่เป็นความต้องการของชุมชนด้วย
และด้วยสถานการณ์น้ำที่รุนแรงในตอนนั้น กระบวนการสร้างความเข้าใจในการใช้น้ำร่วมกันของชุมชน จึงอยู่ในความสำคัญอันดับแรกๆ
แน่นอนว่าระหว่างการทำงานปุ๊กกี้เจอการปะทะ ทั้งจากเพื่อนในทีม คนในชุมชน และการต้องคอยเตือนและทบทวนถึงจุดประสงค์ของทีมอยู่เสมอว่า ตั้งธงไว้แค่ไหน ต้องทำแค่ไหน เพื่อไม่ให้เจอกับความคาดหวังของชุมชนระหว่างทางกดทับ แล้วหัวหน้าทีมจะเปลี่ยนใจ ออกนอกเส้นทางที่ตั้งไว้แต่แรก แต่สุดท้ายปุ๊กกี้และทีมก็ผ่านมาได้ และดีเสียด้วย
ขณะที่ ดวงพร ยังรักษ์ โค้ชจากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดน่าน กล่าวเสริมว่า หน้าที่ของโค้ช พี่เลี้ยง คือการเป็นหลักยึด และต้องขยันหยิบโจทย์ที่ท้าทายให้แก่เด็กๆ อยู่เสมอ
จากซ้าย: พิธีกร, มิ้นท์-สุทธิรา, ดวงพร และ ปุ๊กกี้-จิราภรณ์ (ถือไมค์)
นูรอามีนี สาและ และ น้ำนิ่ง-อภิศักดิ์
สนามประลองยุทธ์ ณ ชายหาดสมิหลา
“ต้องเริ่มที่ข้อมูล ต้องทำให้ตัวเองมีความรู้เรื่องชายหาดก่อน” คือใจกลางความสำคัญของ น้ำนิ่ง-อภิศักดิ์ ทัศนี เยาวชนโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา หลังเข้าใจแล้วว่า ถุงกระสอบทรายที่หน่วยงานภาครัฐขนใส่รถใหญ่หลายล้อมาทิ้งที่หาดสมิหลา จังหวัดสงขลา ไม่ถูกต้องตามหลักการ และแทนที่จะลดการกัดเซาะจากน้ำทะเลตามความตั้งใจของรัฐ แต่โครงสร้างแข็งเหล่านี้ มีผลอย่างมากต่อการทำลายหาด
จากนั้นน้ำนิ่งและเพื่อนจึงรวมตัวกันในชื่อ Beach for Life เพื่อศึกษาปัญหาการพังทลายของหาดทรายจากโครงสร้างแข็ง ลงพื้นที่ไปวัด สำรวจ เก็บข้อมูลการขึ้นลงของน้ำทะเล ความลาดเอียงของหาดทุกๆ เดือนอยู่ร่วมปี ไม่ใช่เท่านี้ พวกเขายังเดินหน้าหานักวิชาการ ทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านชายหาด และด้านกฎหมาย เพียงเพื่อจะให้ตัวเองมีข้อมูลมากพอและพร้อมใช้
“โครงการปีที่สอง เราเริ่มไปคุยกับเพื่อนต่างโรงเรียน 9 สถาบัน 24,000 คน ในปีที่สาม เมื่อมีข้อมูลครบถ้วนจำนวนหนึ่ง เรารู้ว่าปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมต้องแก้ไขที่กฎหมาย” น้ำนิ่งเล่า
ทำไมต้องทำงานกับข้อมูล?
ก่อนจะตอบคำถามนี้ นูรอามีนี สาและ พี่เลี้ยงน้องๆ กลุ่ม Beach for Life เล่าย้อนถึงวันที่พบกับน้ำนิ่งวันแรกๆ ว่า
“น้ำนิ่งมีความตั้งใจจริงมาก มาวันแรกเขาก็ตั้งใจจะอนุรักษ์ อยากจะเปลี่ยนแปลงชายหาดเลย เราเลยคุยกับเขาว่า เราต้องรู้ศักยภาพของเราก่อน ด้วยระยะเวลาของโครงการเพียง 4-6 เดือน เด็กๆ จะทำได้แค่นี้ โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่ต้องมีองค์ความรู้ชัดเจนมาก”
ทั้งหมดนี้เธอย้ำว่า ศักยภาพของเด็กๆ จะถูกกยกระดับได้ มาจาก passion ความหลงใหลของเด็กๆ เอง และทั้งหมดนี้มันจะเกิดขึ้นเป็นลำดับขั้น และจะเกิดก็ต่อเมื่อเขามีความอยากรู้ ซึ่งจะเป็นความหลงใหลที่ไม่มีวันหมด
ก่อนที่น้ำนิ่งจะปิดท้ายบทสนทนาช่วงนี้ว่า ความยากที่สุดของโครงการนี้ เขาได้พบกับการปะทะทางความคิดมากมาย ซึ่งมาจากคนที่มีใจอยากจะดูแลชายหาด หวังดีต่อบ้านเกิด เพียงแต่มีมุมมองของการดูแลแตกต่างกัน การประนีประนอม และต่อสู้กันด้วยข้อมูลความรู้ คือบททดสอบหลักๆ ที่เขารู้สึกว่าคุ้มค่าและทำให้เขาเติบโต
ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร
สนามประลองยุทธ์ สนามสำคัญ เส้นทางแห่งการเรียนรู้เพื่อเติบโต
ก่อนห้องประชุม 110 จะปิดลง ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร์ ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะองค์กรที่ให้การสนับสนุนการพัฒนาเยาวชนไปสู่ความเป็น Active Citizen กล่าวปิดท้ายว่า
ประสบการณ์ทั้งหมดนี้ คือห้องเรียนจริง คือสนามประลองยุทธ์จริง ที่ทำให้เด็กๆ ได้พัฒนาศักยภาพสู่การเป็นคนรุ่นใหม่ (Youth Character Building) หรือทักษะในศตวรรษที่ 21
ทั้งความคำนึงถึงความต้องการส่วนรวมมากกว่าตัวเอง ความมุมานะ พากเพียรเพื่อทำโครงการให้สำเร็จ การประนีประนอมและเผชิญหน้ากับความผิดพลาดในขั้นตอนของการถอดบทเรียน และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและระยะยาวอีกมากล้นที่เด็กๆ ต้องบริหารจัดการระหว่างทางแห่งการเติบโต หรือที่เรียกว่า Learning Journey
“ทั้งหมดนี้เข้าค่ายสามวันไม่ได้นะคะ” แล้วคนในห้องประชุม 101 ก็ร่ำลากันด้วยเสียงหัวเราะ