Chapter 1: อภิศักดิ์ ทัศนี
นาทีนี้ .... “น้ำนิ่ง” หรือ อภิศักดิ์ ทัศนีย์ กลายเป็นสัญลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำงานเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูแนวหาดสมิหลาที่หาดทรายกำลังถูกกัดเซาะจนไม่เหลือความสวยงามที่เขาและเพื่อน ๆ เคยเห็นในวัยเด็ก
ทั้งหมดเกิดจากคำถามสั้น ๆ เพียงข้อเดียว “หายทรายหายไปไหน”
ซึ่งจากความสงสัย กลายเป็นความอยากรู้...จึงรวบรวมพรรคพวกเพื่อนฝูง รุ่นพี่และรุ่นน้องมาทำโครงการเพื่ออนุรักษ์แนวหาด ผ่านกลุ่มที่เรียกว่า Beach For Life
ปัจจุบัน Beach For Life เดินทางมาถึงรุ่นที่ 3 มีน้ำนิ่งทำหน้าที่เป็นพี่เลี่ยงและที่ปรึกษา...และจากเด็กที่สนใจงานด้านวิทยาศาสตร์ตั้งใจจะเป็น “นักวิทยาศาสตร์” Beach For Life ทำให้น้ำนิ่งเบนเข็มทิศมาเรียนรู้งานด้านพัฒนาชุมชนอย่างจริงจัง
ที่มาที่ไปของการเกิดขึ้นของ “โครงการพลังเมืองเยาวชนสงขลารู้ค่าและตระหนักถึงปัญหาชายหาดสงขลาของคนในท้องถิ่น” หรือ Beach For Life เกิดขึ้นจากวันที่ “น้ำนิ่ง” อยู่ในสภาวะต้องการทบทวนเรื่องราวของชีวิต...
และหาดทรายเป็นที่เดียวที่เด็ก “มหา” หรือ “โรงเรียนมหาวชิราวุธ” จังหวัดสงขลาใช้เป็นสถานที่วิ่งเล่น ผ่อนคลาย หรือแม้กระทั่งใช้เดินทอดน่องเพื่อครุ่นคิดเหตุการณ์บางอยาง
“เราก็สงสัยว่าหาดมันหายไปไหน...ตอนนั้นเห็นอยู่ว่ามีเรือมาจอด แต่ก็ไม่คิดว่ามันจะเกี่ยวกัน แต่ก็สงสัย....”
สงสัย...ให้หาคำตอบ
แม้จะสงสัยว่าหาดหายไปได้อย่างไร แต่กิจกรรมในวัยเรียนของน้ำนิ่งมีมากเกินกว่าจะพุ่งเป้าไปค้นหาความเปลี่ยนแปลงบนหาดทรายโดยตรง ด้วยความที่เรียนสายวิทยาศาสตร์ จึงให้ความสนใจสิ่งมีชีวิต
เล็ก ๆ หรือ Micro Biology
“ตอนนั้นมีโครงการ “การกัดเซาะทรายหาดต่อประชากรแพลงก์ตอน” เป็นโครงการวิจัยของ YSC[1]ก็ไปช่วยเก็บข้อมูล เพราะผมเป็นคนที่ชอบสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ เลยไปช่วยเขาส่องกล้อง แล้วก็ไปนับแพลงก์ตอน...ซึ่งเราก็ได้ความรู้จากการทำงานของ YSC โดยเฉพาะเรื่องการเขียนรายงาน 5 บท ซึ่งรายงานของเขาจะเขียนเหมือนวิทยานิพนธ์ เขียนหลักการและเหตุผล เขียนบทคัดย่อ เขียนบทนำเรียนรู้หลักการเขียน ซึ่งตอนที่เราทำ YSC เราไม่ได้หวังอะไรนอกจากหวังไปอเมริกา เราไม่ได้หวังว่าต้องเติบโตจากการทำงานอะไรเลย แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ไป เพราะผมมันหวังไว้ในใจว่าอยากไป อยากให้ตัวเองทำโครงการติดYSC แล้วเข้ารอบระดับประเทศ แล้วก็หวังไว้ในใจกับตัวเองว่า ถ้ามีโอกาสได้ไปอเมริกาก็จะยินดี แต่บังเอิญว่าทำมาแค่ 2 ปี แล้วโครงการติดอันดับ 19 จาก 40 โครงการ แต่เราอยู่ 1 ใน 3 ของสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เราก็เลยรู้สึกแฮปปี้แล้ว พอแล้ว ไม่เอาแล้วอเมริกา แค่นี้ก็ได้แล้ว อยู่แล้ว สำหรับเรามันเป็นช่วงเวลาที่เหนื่อยมาก เพราะต้องเข้าแล็ปทุกวัน โดดเรียนเพื่อเข้าแล็ปซึ่งตอนนั้นเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเจอครูที่ปรึกษา แล้วครูก็รู้จักกับป้าหนู 2รู้จักกับสงขลาฟอรั่ม ซึ่งป้าหนูบอกว่า จะมีการอบรมเรื่อง “การกัดเซาะชายฝั่ง” ซึ่งตอนนั้นเราไม่รู้เรื่องหรอก รู้แค่ว่าถ้ามีการกัดเซาะชายฝั่ง แพลงก์ตอนเราตายแน่...คืออารมณ์ผมจะเป็นประมาณ ถ้าสนใจอะไรแล้ว เรื่องนั้นๆ จะเป็นของเรา เหมือนตอนนั้นสนใจแพลงก์ตอน ก็แพลงก์ตอนเป็นลูกชั้น ต้องปกป้อง ต้องดูแลมันไว้”
หลังอบรม “การกัดเซาะชายฝั่ง” ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ระดับจังหวัด หลายหน่วยงานโดยเฉพาะองค์กรพัฒนาเอกชนสนใจเรื่องนี้ แต่ยังไม่มีใครเคลื่อนไหวอย่างจริงจัง
ถึงกระนั้นก็ตาม ความรู้เรื่องการกัดเซาะชายฝั่งก็ยังไม่ทำให้ “น้ำนิ่ง” เห็นว่าจะนำไปสู่การขับเคลื่อนได้อย่างไร…กระทั่งมีโอกาสเข้าอบรมกับสงขลาฟอรั่มอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์3เป็นวิทยากร
“อาจารย์ชวนคุยเรื่องรากเหง้าของสงขลา แล้วก็ให้ทำผังเครือญาติ บังเอิญลิงค์ไปลิงค์มา ก็พบว่าบรรพบุรุษเคยร่วมกันจัดตั้งศาลเจ้าเมือง เราก็เลยรู้สึกอินเลย เพราะเราสนุกกับทะเลมาตั้งแต่เด็กๆ เลยรู้สึกว่าอยากรักษามันไว้ และผมเห็นว่า เมืองสงขลาเราโชคดีที่บรรพบุรุษเราเลือกที่ได้ถูกต้อง มีทั้งป่า ทะเล ภูเขา บรรพบุรุษเราก็สายนี้ไง เลยคิดว่าปกป้องไว้ดีกว่า”
หลังเรียนรู้เรื่องการกัดเซาะ และเห็นความเป็นมาของรากเหง้าตัวเอง น้ำนิ่งสนใจโครงการ “พลังพลเมืองเยาวชนสงขลา” จึงรวมเพื่อน 5 คนแล้วก็เขียนโครงการเสนอไป
“ตอนแรกที่ส่งโครงการ ตั้งใจทำ 2 เรื่องเลย ทั้งการอนุรักษ์เมืองเก่า และเรื่องหาด แบบจับปลาสองมือ แต่หลังจากอบรมกลับมา ในทีมก็มาคุยกัน ได้ข้อคือทำประเด็นเดียวก็คือเรื่องหาด ซึ่งก็มีแนวทางมาบ้างจากการเข้าไปอบรมกับ อ.สมบูรณ์ 4 ซึ่งเรารู้แค่ว่าเมื่อการเกิดการกัดเซาะของชายฝั่ง มันส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่ของแพลงก์ตอน ประมาณว่าหาดเป็นที่ดูดซับอาหารของแพลงตอนไว้ ถ้าเมื่อไรหาดหายไปเปลี่ยนเป็นหิน จะไม่มีพื้นที่ให้สิ่งมีชีวิตที่เล็กกว่าแพลงก์ตอนอยู่ ซึ่งมันจะสะเทือนต่อหวงโซ่อาหารทั้งหมด เราก็เลยรู้สึกว่ามันก็สำคัญ”
ระหว่างรออนุมัติโครงการจากสงขลาฟอรั่ม ซึ่งโครงการของ Beach For Life ถูกปรับแก้จากคณะกรรมการหลายครั้ง โดยเฉพาะเรื่องเป้าหมายของตัวโครงการ
แต่ที่ชายหาด การพังทลายและการถูกกัดเซาะยังคงดำเนินต่อไป ต้นสนเริ่มล้มไปทีละต้น หาดทรายเริ่มหายไปทีละคืบ ชนิดที่ว่าถ้าไม่สังเกตก็มองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง และโยธาจังหวัดก็กำลังวางกระสอบทรายเพื่อป้องกันการกัดเซาะของชายฝั่ง
“คือเราห่วงแพลงก์ตอน เลยรวมเพื่อนในหอเกื้อ (หอพัก) เขียนหนังสือประท้วงว่า ‘ทำลายหาดหนูทำไม’ แล้วก็จะส่งประกาศไปให้นายกพีระ 5 นั่นคือความคิดแรก แล้วพอดีรุ่งเช้าสงขลาฟอรั่มแจ้งว่า โครงการผ่าน และได้รับงบประมาณ 20,000 บาท เลยไปบอกเพื่อนทั้ง 5 คนว่า โครงการเราผ่านแล้ว ใบประกาศที่เขียนไว้เพื่อจะประท้วงนายกพีระก็ลืมกันไปเลย ทิ้งไว้ในห้องแล็ป อ.ก็ทิ้งลงขยะไปหมดเลย เลยไม่ได้ไปประท้วงเลย แต่ได้ชื่อ “Beach for Life” มาแทน”
เริ่มต้นที่ “ค่าย” พัฒนาแกนนำ
เมื่อโครงการผ่าน สมาชิกทั้ง 5 คน มานั่งหารือถึงแผนการทำงาน พวกเขามองว่า งานแบบนี้ไม่เหมือนช่วงที่ทำงานกับ YSC ซึ่งต้องใช้กำลังคนค่อนข้างมากในการขับเคลื่อน
และในฐานะเด็กกิจกรรม พวกเขามองไปที่ “ค่าย”
ทำไมถึงไปมองเรื่องค่าย ??
“เด็กอย่างพวกเรามันมองไม่ออกหรอกว่าจะทำอะไร ด้วยความที่เราก็ผ่านค่ายมาเยอะ เลยคิดว่าค่ายนี่ละที่จะรวมคนได้เยอะที่สุด เราก็เลยใช้ค่าย”
อีกเหตุผลที่น้ำนิ่งอธิบายคือ งานลักษณะนี้เป็นงานเคลื่อนไหว ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีคนช่วย และตัวน้ำนิ่งเองก็ไม่เคยทำงานเป็นทีม นั่นจึงเป็นทีมาของการ “หาแกนนำ”
“ตอนนั้นมันเป็นเพียงความรู้สึกเฉย ๆ ว่าเราจะทำงานนี้คนเดียวไม่ได้ ถ้าทำคนเดียวนี่ตายแน่ ๆ 5 คนนี้ทำไม่รอดแน่ๆ เพราะงานมันใหญ่กว่า YSC มาก มันไม่เหมือนงานวิจัยที่เราต้องเข้าแล็ป อันนั้นเราทำคนเดียวได้ ไม่ว่าเนื้องานมันจะมากแค่ไหนแต่เราคอนโทรลได้...เราเลยวางแผนไว้ว่าเรามี 5 คน ต้องสร้างตัวคูณ จาก 5 คนต้องเป็น 50 จาก 50 คนเป็น 500 จาก 500 เป็น 5,000 คน คือพยายามจะให้มันแตกแบบขยายวงไปเรื่อยๆ แตกจาก 5 คน จากแกนนำค่าย เป็นแกนนำโรงเรียน เป็นแกนนำจังหวัด คือเรามองถึงจังหวัดเลย 5,000 คน”
เมื่อเป้าหมายคือคน 5,000 คน แต่การระดมคนครั้งเดียว 5,000 คนเป็นเรื่องเกินความสามารถของเด็กระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ดังนั้นวิธีการจึงต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป แผนการทำงานของ ทีม Beach For Life คือ ประกาศรับสมัครสมาชิกซึ่งวางเป้าหมายไว้ที่ 50 คน
“แต่สุดท้ายก็ได้มา 30 คน คือ 30 คนนั้นคะยั้นคะยอมาแล้วนะ เรียกว่าเป็นเด็กในหอเกื้อทั้งหอเลยมาเป็น “Beach for Life” อย่าเรียกว่าบังคับ เรียกว่าล่อลวงมาดีกว่า ทุกคนถูกล่อลวงมาหมดเลย สุดท้ายมันเลยเหลือไม่เยอะ เพราะว่ามาแบบไม่เต็มใจ ไม่ได้อาสามา”
บทเรียนครั้งนี้...ทำให้พวกเขาเห็นความสำคัญของ “การสร้างความเข้าใจ”
“อยากให้เป็นทีมงานที่จะช่วยกันเผยแพร่สื่อเรื่องหาด แต่เราก็ยังไม่รู้ว่าจะสื่ออะไร เรายังไม่รู้เลยว่าสื่อคืออะไร เลยนั่งคุยกัน วางกรอบ คร่าวๆ ว่าสื่อที่เราจะทำคือ เสียงตามสาย เพราะในโรงเรียนมันมีเสียงตามสาย นอกจากนั้นก็มีแผ่นพับ สารคดี เฟสบุ๊ค ยูทูป
และสำหรับแผนการดำเนินงานด้านสื่อเพื่อการเผยแพร่ จะมีการการทำแบบทดสอบสำหรับคนสงขลาจำนวน 700 ชุดเพื่อ “วัดความเข้าใจ” เกี่ยวกับหาด และเมื่อได้ข้อมูลว่า คนสงขลาไม่เข้าใจเรื่องอะไรเกี่ยวกับหาด เนื้อหาในสื่อก็จะทำออกมาเพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ จากนั้นก็จะทำการทดสอบ “อีกครั้ง” เพื่อดูว่าคนสงขลามีความเข้าใจเกี่ยวกับหาดมากน้อยแค่ไหน
“ใช้แบบสอบถามชุดเดิม แล้วมาทำการเปรียบเทียบดูว่า คนสงขลารู้มากขึ้นมั้ย สรุปว่า รู้มากขึ้นนิดเดียว ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ คือมันรู้กันแค่ 40 เปอร์เซ็นต์ ได้แค่การตระหนักรู้ เข้าใจถึงคุณค่าของหาด แนวทางการอนุรักษ์ ผมจำตัวเลขไม่ได้แล้วว่าเท่าไร...แต่ว่ารู้ไม่เยอะเหมือนกับที่เราตั้งใจไว้”
ปรับกระบวนการทำงาน
บทเรียนแรกคือความล้มเหลวที่หาแนวร่วมไม่ครบ 50 คน บทเรียนที่สองคือกระบวนการเผยแพร่ข้อมูลเรื่องคุณค่าและความสำคัญของหาดทรายที่มีต่อคนสงขลายังไม่สำเร็จตามวัตถุประสงค์ เพราะสิ่งที่ตั้งไว้คือ “คนสงขลา” ต้องมาร่วมกันดูแลและอนุรักษ์หาด
“ผมมองว่า...การหาแนวร่วมคือ 1.เราต้องได้คนที่มาด้วยใจ 2.เขาควรที่จะรู้ตั้งแต่แรกๆ ว่าสิ่งที่จะต้องทำมีอะไรบ้าง แล้วต้องทำอะไรบ้าง ให้เขาได้มีโอกาสร่วมกันคิดตั้งแต่แรก ๆ เลย และบทเรียนนี้ ก็ได้เอามาใช้ใน บีชฯ รุ่น 3 ถ้าถามว่า ในปีแรกงานที่ทำมันบรรลุวัตถุประสงค์ไหม...มันก็บรรลุในเนื้องานของมันนะ บรรลุในตัวกิจกรรม แต่เป้าหมายการให้คนรับรู้ มันยังไปไม่ถึง มันได้คนบางส่วนจาก 50 มันได้ใจคนมาบางส่วนจาก 500 ได้มาจากกิจกรรมที่เราทำ โดยที่เราก็ไม่รู้ว่ามันได้ยังไง อย่างน้องๆ มาปีแรกก็คงรู้สึกว่ามาก็โดนพี่นิ่งใช้ ก็เลยไม่มากัน เลยเหลือคนที่อยากทำจริงๆ ไม่กี่คน แล้วคนพวกนี้แหล่ะที่พาคนมาทำ “Beach for Life” เพิ่มขึ้นในปีที่ 2”
สิ่งที่ปรับในตอนท้ายคือ การแบ่งกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการสร้างความเข้าใจและดึงเข้ามาเป็นแนวร่วม เช่น กลุ่มเด็ก ใช้หนังสือเล่มเล็กอธิบายผ่านนิทานที่เป็นรูปวาดง่าย สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นบุคคลทั่วไปใช้วิธีการจัดบอร์ดนิทรรศการให้ความรู้
ขณะที่กลุ่มเพื่อน ๆ โดยเฉพาะในโรงเรียนใช้รูปแบบเสียงตามสาย หรือ โซเชียลมีเดีย
ถ้าเราจะทำเราก็ต้องดูกลุ่มเป้าหมายว่าควรใช้อะไรกับใคร แล้วสื่อนั้นมีผลกับเขามากน้อยแค่ไหน อย่างเช่น เราไปทำเสียงตามสาย พูดให้ตายเด็กมันก็ไม่ฟัง เพราะสื่อมันไม่ได้เป็นสื่อที่เด็กสนใจ ฟังทุกวันก็เบื่อนะ มันเช้าเกินไป เสียงก็อู้อี้ ฟังไม่รู้เรื่อง เนื้อหาก็เป็นเนื้อหาวิชาการ ยิ่งไม่มีเด็กฟังใหญ่เลย ทำอยู่นานนะ 2-3 เดือนได้ แต่ก็หายไป ต่อมาก็ทำเฟสบุ๊ค ตั้งกลุ่ม “Beach for Life” หาขอมูลใส่เข้าไป เป็นข่าวเกี่ยวกับหาดบ้าง มียอดไลค์อยู่ 200 กว่า สะเปะสะปะมาก แต่ตอนนี้ขึ้นมา 1,000 กว่าแล้ว ปรับตามเพจของภาพเล่าเรื่องเมืองสงขลาในปีแรก ที่พอเพื่อนปรับมาเป็นภาพเล่าเรื่องมียอดไลค์ 6,000 กว่า เออ...เราก็เรียนรู้จากตรงนั้นว่า พอมีภาพ มีแคปชั่น คำบรรยายที่โดดใจแล้วคนจะเข้าถึงมากกว่า เราก็เลยไปเก็บภาพสวยๆ ที่อยู่ริมหาดมา แล้วก็เอามาใส่คำบรรยายสวยๆ เท่ๆ ยอดไลค์จาก 200 มาเป็น 600 แล้วก็ขึ้นมาเรื่อยๆ แล้วตอนนี้เราก็ปรับเปลี่ยนใหม่มาเป็นแบบสำนักข่าว เรามีทั้งข้อมูลหาดที่ลิงค์มา แล้วก็มีสำนักข่าว BFL ย่อมาจาก Beach For Lift คนก็จะติดตามอันนี้อยู่เยอะ นอกจากนั้นก็มีนิทรรศการ เราได้คนผ่านไปผ่านมา จัดที่ถนนคนเดิน เนื้อหาก็มาจากบอร์ดนั่นแหละ เหมือนเดิมทุกอย่าง เป็นวิชาการล้วนๆ แล้วก็มีพักหลังที่มีหนังสือเล่มเล็ก ก็เอาหนังสือเล่มเล็กไปเล่าด้วย
Chapter 2 : งานพัฒนาคน
แม้หาดจะหายไปกับเกลียวคลื่น แต่สิ่งที่ได้เพิ่มขึ้นคือระบบความสัมพันธ์ของเยานชนจาก 9 สถาบัน ที่รวมกลุ่มเยาวชนแกนนำเกิดขึ้นอีกกว่า 50 ชีวิต
และเหนือสิ่งอื่นใดแกนนำอย่าง “น้ำนิ่ง” เกิดการพัฒนาทั้งภายนอกและภายใน
“ผมมาเปลี่ยนทัศนะจากงานนี้ จากที่ไม่ค่อยช่วยงานห้อง เราก็เริ่มที่ทำงานห้องมากขึ้น ตอนนั้นเรารู้สึกว่างานห้องมันมีคนทำอยู่แล้วไง เราเลยไม่อยากทำ แต่พอหลังๆ เออ ทำงานห้องหน่อยดีกว่า ไม่ใช่เอาแต่ทำงานนอกห้องตลอดเวลา”
น้ำนิ่งให้เหตุผลของการไม่สนใจกิจกรรมในห้องเรียนว่า ...
เพราะงานนอกห้องมันไม่มีคนทำไง งานในห้องมันน่าเบื่อนะ พูดอยู่นั่นแหละ ‘ทั้งหมดทำความเคารพ’เออ..พูดมาสิบปีแล้วนะ เราไม่อยากทำ เพื่อนเสนอให้เป็นหัวหน้าห้องมาตลอด แต่เราไม่ยอมเป็น คือเราก็รู้แหล่ะว่า หัวหน้าห้องมีเอาไว้ใช้งาน เอาไว้ใช้ไปส่งงาน รวบรวมงาน บอกครูทำความเคารพ เรารู้ไงว่าต้องเจอสภาพแบบนี้ เราเลยไม่เอา แล้วยิ่งต้องออกเสียงภาษาอังกฤษ ‘please stand up’เนี่ย ไม่เลย ไม่เอาเลย สุดท้ายก็เลยไม่ได้เป็นหัวหน้าห้อง แล้วก็ไม่ทำอะไรเลยในห้อง ทุกกิจกรรมในโรงเรียน ในห้องนี่ไม่ดีเลย ไม่ทำเลย แต่มาเปลี่ยนก็ตอนทำกิจกรรมนี่แหล่ะ เราเห็นว่าเพื่อนมาช่วยเรา
หลังๆ เพื่อนเล่าให้ฟังว่าเพื่อนในห้องไม่ค่อยชอบเรา เพราะเราไม่ค่อยทำงานของห้อง จะทำงานของตัวเองตลอดเวลา แต่ว่าพอเวลาเราทำงานนี้เพื่อนกลับมาช่วย อาจจะเป็นเพราะเราอยู่กับเพื่อนทุกกลุ่ม คือคุยกับเพื่อนทุกกลุ่ม งานที่เราทำมันดูเป็นภาระไง เราก็ไม่อยากให้เพื่อนมาเดือดร้อน ความรู้สึกประมาณนั้นมากกว่า พอถึงคราวที่เราทำงานใหญ่ เพื่อนก็เข้ามาช่วยงานเรา เราเลยรู้สึกว่ามันไม่ทิ้งเรา พอถึงคราวที่พวกมันมีงานเราก็ไปช่วยเพื่อน
หลังจากที่ผมทำงาน “Beach for Life” เพื่อนในห้องเป็นกรรมการนักเรียน เป็นประธานนักเรียน ผมก็เข้าไปช่วยเพื่อน รับงานห้องแบบเต็มๆ เลย แต่ก่อนหน้านั้นก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากมาย
อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น นอกจากวิธีคิด และทัศนคติที่มองเพื่อนเปลี่ยนไปจากเดิมคือ “เพื่อนไม่สนใจเรื่องไกลตัว” จนในท้ายที่สุดก็พบว่า...เมื่อถึงคราวจำเป็น และต้องการกำลังเสริม “เพื่อน” ที่มีอยู่มักจะเข้ามาก่อนใคร ๆ
“ผมว่าตรงนี้แหล่ะที่ทำให้ผมเปลี่ยน...ตอนหลังๆ มันเลยทำให้เราคิดว่า ถ้าเราต้องการความช่วยเหลือจากใคร เราต้องไปช่วยเขาก่อน...ทุกวันนี้หลังเลิกเรียนตอนเย็น ก็ต้องไปช่วยน้อง เพราะเราดูแลหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มก็จะคุยกันตอนเย็น ก็ต้องไปช่วย ไปเป็นที่ปรึกษาให้”
และหลังโครงการ “Beach for Life” ปีแรกสิ้นสุดลง น้ำนิ่งกลับบ้านที่ชะแล้
“ชะแล้เป็นพื้นที่ทดสอบเรา เป็นพื้นที่ฝึกวิชา ฝึกวิทยายุทธ์ ฝึกการทำงานทีมเวิร์ค ฝึกการฟังคนอื่น เพราะเราต้องทำกับเด็กประถม แล้วเด็กประถมมันมีชุดความคิดที่ต้องตาม เราจะทำยังไงให้น้องได้คิด เราเป็นโค้ช เป็นพื้นที่ฝึกการเป็นโค้ชของเราด้วย....ก็กลับไปทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ และเรื่องขยะ แต่สุดท้ายก็ทำทั้ง 2 อัน มันเป็นงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำค่าย แต่มันเป็นพื้นที่ที่ฝึกตัวเรา ฝึกการฟังความคิดเห็นคนอื่น ฝึกการโค้ชคนอื่นให้เขาได้ก้าวขึ้นมาอยู่ด้านหน้าบ้าง เพราะที่ตรงนั้น มันไม่มีอะไรเลย แล้วเราต้องเนรมิตขึ้นมาทั้งหมด โดยให้เด็กเป็นคนเนรมิต แล้วเราถอยออกมาเป็นคนให้คำปรึกษา ชี้แนวทางว่าอย่างนี้ดีมั้ย ลองแบบนี้มั้ยแทน ให้เขาได้ลงมือทำมากกว่า และอยู่ที่ชะแล้ผมทำเกษตรอินทรีย์ มีแปลงปลูกผัก เพาะเห็ด ปลูกถั่วงอก ทำเองหมด เพราะเราไม่มีเงินจากที่ไหน ก็เลยเอาเงินเก็บส่วนตัวไปแอบทำ ใช้ไปหลายหมื่น เห็ดได้ขาย ลงทุนไปหมื่นหนึ่ง ได้กลับมา 2 หมื่นกว่า”
ส่วนวิธีการ “ฝึก” กลุ่มเยาวชนให้ขึ้นมาทำงานกลุ่ม...น้ำนิ่งปรับจากกระบวนการทำงานของ Beach for Lifeคือ “ให้การเรียนรู้เป็นเรื่องที่สนุก”
แรกเริ่มก็ฝึกอะไรที่มันสนุก ๆ ก่อน ผมใช้การซ้อมเชียร์ลีดเดอร์ เราเองไม่เป็นเชียร์ลีดเดอร์เหมือนกัน แต่รู้สึกว่ามันได้สมาธิดี เห็นเพื่อนทำ ก็เลยพามาฝึกก่อน เด็กประมาณ 5-6 คน ซ้อมเสร็จก็ไปช่วยกันปลูกผัก แต่กว่าจะได้อะไรสักอย่าง ผมก็ถามเด็กก่อนว่าอยากทำอะไร เด็ก ๆ บอกอยากปลูกผัก ก็ปลูกผัก แต่ไม่มีตังค์ ก็ใช้วิธีตัดไม้ ขุดดิน มองหาอะไรที่อยู่รอบตัว อุปกรณ์บางอย่างก็ใช้วิธีขอยืม แถวนี้มีร้านสมศักดิ์การเกษตร เขาขายอุปกรณ์พวกนี้ ก็ไปขอยืมมาบ้าง บ้านไหนมีขี้วัวก็ไปขอมา ลงทุนซื้อพันธุ์ผักอย่างเดียว เราก็ได้คำตอบแบบไม่คาดคิด ปกติเราไม่มีอะไรก็จะซื้อ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่า เราปล่อยให้เด็กๆ จัดการ เขาก็แค่มองหาอะไรที่ใกล้ตัวเขา มันก็เป็นพื้นที่ให้เราได้คิดนะ บางครั้งเราไม่จำเป็นต้องยืนอยู่ข้างหน้าอย่างเดียวก็ได้ แค่กระตุ้นให้เขาได้คิดจัดการเองตามแบบที่เราวางแผนไว้
ทีนี้จากแปลงผักก็มาเป็นเห็ด จากปัญหาขยะที่มีอยู่มากมายก็มาเป็นละคร ซึ่งเรื่องราวมันสะเทือนความรู้สึกผู้ใหญ่มาก ทำให้เขาต้องมองกลับมาเรื่องการจัดการเรื่องขยะ จนเกิดธนาคารขยะขึ้น โดยเด็ก 5 คนนี้ เอามอเตอร์ไซค์ไปตระเวนรับซื้อขยะ เอาไข่ไปแลกเอา ชั่งกิโลแลกเอาขยะ
จากละครก็กลายเป็นเวทีปิดถนนหน้าบ้านผู้ใหญ่บ้าน ตรงสี่แยกชะแล้เพื่อมาแสดงให้คนแก่ดู ทำอยู่ 7 เดือนสิ่งที่ฝึกเราได้ดี คือการดันเด็กให้กล้าคิดกล้าแสดงออก คอยเป็นแรงผลักดันให้เด็กกล้าทำ คอยตั้งคำถามให้เขาหาคำตอบ ให้กำลังใจโดยการนั่งคุย ชื่นชมกันและกัน ทุกๆเดือนที่สี่แยกชะแล้ เราจะพาเด็กๆ และผู้ปกครองไปดู แล้วเราก็ชมเด็กตรงนั้นเลยให้ผู้ปกครอง พ่อแม่เด็กได้ยิน ให้เขาพูดในสิ่งที่พ่อแม่ไม่เคยพูดกับเด็กเลย ให้พ่อแม่ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำกับเด็กๆ เลย อย่างเช่น การกอด การหอม มันทำให้เห็นว่า เออ...จริงๆ แล้วเราสามารถจัดการกับปัญหาบางอย่างที่เป็นปัญหาครอบครัวได้นะ อย่างครอบครัวที่ไม่อยากให้เด็กทำกิจกรรม แต่ถ้าเด็กอยากทำ เราก็ต้องใช้วิธีจัดการประมาณนี้ แล้วก็เรื่องการบริหารจัดการ ในเวลาที่เราไม่มีเงิน มันผะอืดผะอมมาก มันท้าทายมากๆ
Chapter 3: ก้าวต่อไปของ BEACH FOR LIFE
Beach For Life เป็นโครงการเล็กๆ ของเด็กกลุ่มหนึ่งที่พยายามจะหาคำตอบว่า “ทรายหายไปไหน” และเส้นทางของการตามหาทรายได้ก่อให้เกิด “ความรู้” มากมายหลายประการ โดยเฉพาะเรื่องของการพัฒนา “คนรุ่นใหม่”
เพราะนอกจากแกนนำรุ่นแรก 5 คน ที่ถูกฝึกฝนจากสงขลาฟอรั่มอย่างเข้มข้น มี 2 คน ที่ยังคงเดินไปบนเส้นทางสายงานพัฒนา
ขณะเดียวกันยังมีน้องๆ รุ่น 2 และรุ่น 3 เดินตามรอยรุ่นพี่อีกร่วม 10 คน โดยมีน้ำนิ่งเป็นแกนนำในการฝึกน้องๆ
“ตอนนี้แถวแรกจะเป็นผมกับฝน แถวสองจะเป็น เอ้ เนสส่วนแถวสามมองว่า ต้าน้องนุ๊ก และมะปรางไว้ รุ่นนี้ไม่ค่อยสนิทเท่าไร แต่จำหน้าได้ หลังจากนี้ก็ปาวารนาตัวแล้วว่า จะอยู่แบบนี้แหล่ะ คอยโค้ชน้อง เราต้องเข้าใจว่าน้องมันแค่ ม.4-5-6 จะให้มันสนใจจริง ๆ จัง ๆ ก็ยังไม่ได้ มันก็มีหลุดออกไปบ้าง แต่ด้วยความที่เราไม่สามารถจะทำมันได้ตลอดไป อย่างฝนนี่ก็อยู่ มอ. ไม่สามารถมาทำงานนี้ได้ตลอดเวลา เราจำเป็นต้องหา “แกนนำหลัก” มาทำงานต่อจากเรา ดังนั้นผมคิดว่าหน้าที่ผมต่อจากนี้คงเป็นเรื่องการโค้ช แต่เนื้องานมันก็คงเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่เรามีหน้าที่ฝึกน้อง”
ในกระบวนการฝึกน้อง ๆ แกนนำ น้ำนิ่งใช้กระบวนการของอาจารย์ชัยวัฒน์ถิระพันธ์ ซึ่งก่อนประชุม ต้องมีการ “เช็คอิน” เพื่อทบทวนเรื่องที่ผ่าน เป็นเสมือนการปรับสภาวะจิตให้พร้อมกับการเรียนรู้
ซึ่งเราวางแผนกันว่า ในแต่ละเวทีจะมีหลักอยู่ สองสามเรื่อง คือ
1) ให้ความรู้ ให้ข้อเท็จจริง
2) รับฟังความคิดเห็น
3) การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เช่น การถ่ายรูปร่วมกัน นั่งสมาธิริมหาด ก่อกองทราย รูปปกป้องหาด เหมือนได้เปิดให้น้องได้คิดมาก
อีกแนวทางคือ กำลังคิดจะเปิดพื้นที่ให้แกนนำรุ่น 1 กับรุ่น 2 ได้เจอกัน อยากจะมีพื้นที่ๆ หนึ่ง อาจไม่ใช่ Beach for Life เพื่อให้เด็กที่อยู่มหาวิทยาลัยได้เข้ามาทำอะไรที่ใหญ่กว่าเดิม เคลื่อนเรื่องหาดนี่แหละ แต่ขยายพื้นที่ให้กว้างขึ้น เป็นหาดที่ใหญ่ขึ้น ทำเป็นระดับภาคใต้เลย คิดไว้ถึงขนาดนี้นะ หรือไม่ก็อาจได้เห็นเด็กพวกนี้มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงกฎหมายในระดับประเทศก็ได้ เพียงแต่ต้องมีพื้นที่ให้เขาได้ยืน อยากให้น้องๆ ที่มีจิตอาสาเข้าได้ทำอะไรเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าออกจากบีชฯ แล้วหายไปกับสายลม ยังอยากให้เขาได้คิดอะไรต่อว่าจะดูแลเมืองเขายังไง ใช้ความเป็นจิตอาสาเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง
ซึ่งตัวอย่างดังกล่าว ได้มาจากการที่น้ำฝนเข้าไปเรียนกฎหมายที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์แล้วฝนก็พยายามทำกฎหมายเรื่องหาด ทีนี้พอเราเข้ามหาวิทยาลัย วิธีคิด มุมมองจะกว้างขึ้น เราสามารถจะทำอะไรได้มากขึ้น รู้จักคนเยอะขึ้น เห็นช่องทางมากขึ้น แต่ต้องมีพื้นที่บางจุดให้เขาได้รวมตัวกัน ให้คนที่อยู่เหนือ ใต้ ออก ตก ได้มารวมตัวกัน อาจจะเป็นประเด็นเรื่องหาดก็ได้ หรือเรื่องอื่นก็ได้
ฝนเสริมต่อว่า เพราะเวลาได้เจอกันเราจะเห็นว่า บางทีมันก็ไม่ได้มีเรื่องหาดเรื่องเดียวที่เราอยากจะทำ อย่างฝนก็ไม่ได้สนใจแค่เรื่องหาดเรื่องเดียวเหมือนกัน เดียวน้องมันก็จะเจอเรื่องที่น้องสนใจ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ชื่อ Beach for Life ก็ได้ เราไม่ได้มายด์ตรงนี้
[1]โครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Young Scientist Competition: YSC)