โครงการสอนภาษาอังกฤษให้น้องโรงเรียนวัดไผ่ล้อมซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมาย ที่เลือกทำเรื่องนี้เพราะว่าน้องๆ เขามีศักยภาพที่จะทำตรงนี้ให้กับน้องๆ วัดไผ่ล้อมได้ และกลุ่มเป้าหมายไม่ได้อยู่ไกลจากโรงเรียนเกินไป เขาจึงเลือกที่จะทำโครงการสอนภาษาอังกฤษให้น้อง เด็กๆ กลุ่มนี้จะเป็นเด็กชั้น ป. 3 - 4 พ่อแม่แยกทางกันอยู่กับตาอยู่กับยาย ที่บ้านก็มีปัญหาหลายๆ เรื่อง และจากการที่เป็นโรงเรียนรัฐบาลก็จะเป็นเด็กเรียนร่วม มีเด็ก LD บ้าง เด็กซึ่งมีหลายๆ ส่วนที่ไม่สมบูรณ์ บกพร่องทางการเรียนรู้ หรือเรียนรู้ช้าก็จะมาเรียนร่วมกัน
ตอนเริ่มการทำงานเด็กๆ ของเรา เขาก็จะได้กระบวนการวางแผนจากการเข้าค่ายเยาวชนเศรษฐกิจพอเพียงทั้ง 2 ครั้ง กระบวนการตรงนี้ ทางมูลนิธิฯ ได้ชี้แนะว่าจะทำอะไร แบบไหน เมื่อเขาได้เข้ากระบวนการเสร็จในค่ายครั้งแรก พอค่ายครั้งที่สอง ก็ได้เพิ่มเติมอีกว่าพอเขาไปลงมือทำ มันจะเกิดปัญหาอะไรบ้าง เด็กเขาก่อนลงมือทำเขาก็จะวางกรอบของเขาแล้ว มีเงื่อนไขความรู้ในตัวพอสมควรจากการอบรม และจากการศึกษาค้นคว้าเอง พอเขาได้เค้าโครงเรียบร้อยแล้วเขาก็เริ่มทำ ก็เริ่มตั้งแต่การร่างหลักสูตรที่จะไปสอนน้อง คือหลักสูตรที่น้อง ป. 3 ป. 4 เรียนมีอะไรบ้าง เขาก็ไปร่างออกมา พอได้ออกมาแล้ว เขาก็ไม่แน่ใจว่าเอาไปสอนน้องแล้วจะได้ผลไหม เขาจึงลองไปสอนน้องโรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ชั้น ป. 3-4 และก็เอามาให้ครูดูก่อนว่าใช้ได้ไหม แต่ขั้นตอนการทำครูไม่เห็น บังเอิญในกลุ่มมีน้องเพื่อนเป็นเด็กที่สอบได้ทุนไปเรียนแลกเปลี่ยนประเทศสหรัฐฯ เด็กคนนี้เขาก็มีพื้นความรู้ภาษาอังกฤษค่อนข้างจะเด่น แต่อีก 4 คนที่เหลือภาษาอังกฤษก็จะอยู่ในขั้นพอได้ เพราะการไปสอนน้องชั้น ป. 3 - 4 เขาจะไม่ได้เน้นตามสาระ ตามมาตรฐานตัวชี้วัดที่เด็กเขาเรียนจริงๆ แต่จะเน้นกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้น้องๆ กล้าพูด เมื่อเด็กร่างและได้หลักสูตรเขาก็เริ่มกระบวนการของเขา ตั้งแต่เปิดประชาสัมพันธ์ในโรงเรียน การรับสมัครสมาชิกจิตอาสา พบว่ามีคนมาสมัครค่อนข้างเยอะ เขาก็มาคัดเลือกสมาชิกจิตอาสาให้ได้คุณสมบัติที่เขาต้องการ เมื่อรับสมัครเสร็จแล้วเขาก็มาร่วมกิจกรรมของเขา พอไปเริ่มทำงานจริงๆ แล้ว เขาก็ไปประสาน ผอ.และฝ่ายวิชาการว่าเขาจะทำแบบนี้ๆ นะ เขาก็ไปพูดของเขาเอง เพียงแต่ว่าเขาจะมาบอกเราก่อนว่าเขาจะไปคุยกับทาง ผอ.โรงเรียนวัดไผ่ล้อมนะ เขาก็ไปและดำเนินของเขาเอง พอถึงวันไปเขาก็ไปสอน
เด็กๆ เขากำหนดเวลาที่เขาไปสอนคือบ่ายสองโมงครึ่งถึงบ่ายสามโมงครึ่ง รายละเอียดโครงการเราก็นำไปบอก ผอ. ฝ่ายวิชาการ และครูประจำชั้นของเขารับทราบ แต่พอเด็กลงไปสอนจริงๆ แล้ว พอผ่านสัปดาห์แรก ไปสอนอีกทีสัปดาห์ที่สอง ทางครูประจำชั้นที่วัดไผ่ล้อมก็แปลกใจเข้ามาถามเพราะเข้าใจว่าทำแค่ครั้งเดียวสัปดาห์เดียว แต่จริงๆ เราต้องการทำแบบต่อเนื่อง เขาก็เป็นห่วงถามว่าถ้าอย่างนั้นมันก็เสียเวลาเรียนน้องสิ อย่างนั้นแล้วเขาจะเรียนทันไหม พอเจออย่างนี้นักเรียนเขาก็กลับมาบอกกับครูว่าอย่างนี้ก็เจอปัญหาแล้วสิ แล้วจะทำอย่างไรดี ครูก็บอกว่าก็ลองไปวางแผนดู ทำอย่างไรให้บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่นนะ เราต้องหยิบเงื่อนไขคุณธรรมขึ้นมาใช้ ก็เลยบอกกับนักเรียนเขาว่าพวกหนูลองดูสิว่าทำอย่างไรไม่ให้กระทบกับครูประจำชั้นเขาด้วย แล้วเราก็ไม่เสียด้วย เพราะที่เด็กเลือกไปสอนภาษาอังกฤษทุกวันจันทร์ในเวลานี้เพราะตอนคาบเรียนนั้นเด็กของเราเขาว่าง มันเป็นคาบชุมนุมอยู่แล้ว เด็กของเราก็ไม่เสียการเรียนของเขา เขาก็เลยขอย้ายเวลาเรียนมา จากเดิม 12 นาฬิกามาเป็นบ่ายโมง แต่ครั้งนี้ก็เจอปัญหาอีกเพราะเด็กวัดไผ่ล้อมติดกับงานเขตรับผิดชอบบริการ เหมือนกับว่าเวลา 11.30 - 12.30 น. ที่เด็กๆ จะไปทำกิจกรรมสอนภาษาอังกฤษ พอถึง 12.10 น. เด็กวัดไผ่ล้อมก็ต้องออกจากห้องเรียนมาทำเขตบริการรับผิดชอบของเขา ทางโรงเรียนแบ่งเขตบริการว่า ป. 3 ดูแลความสะอาดตรงนี้นะ ป. 4 ต้องทำตรงนั้น พอเรียนๆ อยู่กับพี่ๆ พอถึงเวลาเขตบริการ เด็กเขาก็ต้องไป น้องเขาเลยปรับเวลาอีกจนกระทั่งได้เวลาที่ไม่กระทบกระเทือนใคร เป็นทุกวันจันทร์และวันพุธเวลา 11.30 - 12.10 หรือ 12.20 น. เหลืออีก 10 นาทีให้น้องทำไปเขตบริการ เดิมที่เขากำหนดเป้าหมายสัปดาห์ละครั้ง แต่เวลามันน้อยเขาเลย เขาเลยเปลี่ยนเป็นทำสัปดาห์ละสองวัน เพื่อให้ครบสองชั่วโมงต่อสัปดาห์ เวลาก็จะได้เต็มที่
พอไปทำกระบวนการที่เขาไปทำจริงๆ เด็กเขาก็จะเจอปัญหาตอนสอนว่าหลักสูตรที่เขาร่างไป บางทีเด็กก็ไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร เขาก็มาปรับหลักสูตรอีก ให้พี่เลี้ยงไปแทรกประกบกับน้องๆ เป็นกลุ่มๆ ไป ข้างหน้าห้องก็จะมีน้องวิทยากร 1 คน หรือกี่คนก็ว่าไป ทำหน้าที่บรรยาย ส่วนที่เหลือก็มาประกบน้องๆ ที่แบ่งไว้เป็นกลุ่มๆ เลย เป็นเด็กโรงเรียนวัดไผ่ล้อมชั้น ป. 3-4 เรียนรวมกัน 60 คน พบว่าการเรียนรวมไม่มีปัญหาอะไรเพราะเน้นการทำกิจกรรม เช่นให้น้องร้องเพลงเป็นภาษาอังกฤษแล้วก็มีท่าทางประกอบแล้วก็หยิบคำศัพท์ภาษาอังกฤษมาสอนให้น้อง ก็แกัปัญหาเรื่องน้องไม่ฟังได้ แล้วก็มีปัญหาอื่นแทรกเข้ามาอีก ว่าเด็กที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเป้าหมายจากชั้นอื่นก็มานั่งแซว แต่ถ้ามองในมุมของครูก็มองว่าเขาคงอยากมาร่วมกระบวนการด้วย น้องเขาก็หาวิธีจัดการของเขาเอง เช่น ปล่อยเขาไปไม่สนใจ หรือชวนเขามาเรียนด้วย
สิ่งที่เขาภูมิใจก็คือเด็ก LD เด็กสมาธิสั้น ซึ่งปกติเขาจะไม่สนใจ ไม่กล้าพูด ไม่กล้าทำ ไม่มีความผูกพันกับใครเลย แต่พอพวกพี่เข้าไปพูดคุยไปเล่นไปแก้ปัญหาร่วมกันกับเขา น้องกลุ่มนี้ก็กลายเป็นหันมาสนใจที่จะพูดคุยกับคนอื่น นักเรียนของเราก็วิเคราะห์ว่าน่าจะเป็นเพราะคนอื่นให้ความสนใจกับเขา น้องเขาจึงเริ่มให้ความสนใจ มาร่วมทำกิจกรรม มาพูดคุย พี่ให้ทำอะไรเขาก็ทำ เหมือนมีพี่คอยดูแล เขามีปัญหาอะไรก็มีพี่คอยชี้แนะคอยบอก เขาก็แก้ปัญหาได้
จากการที่สิ่งที่นักเรียนไปสอนไม่ได้เน้นเรื่องแกรมม่าอะไร แต่จะเน้นให้เกิดทัศนคติที่ดีต่อวิชาภาษาอังกฤษ แล้วก็ทำให้น้องกล้าที่จะพูด กล้าที่จะโต้ตอบ พูดภาษาอังกฤษมากขึ้น จากปกติน้องจะไม่ได้พูด เรียนกันไปตามเนื้อหาแบบโรงเรียนรัฐบาล สื่อที่เอาไปใช้ประกอบเช่นการร้องเพลง ดนตรี และการเต้น พื้นฐานเด็กของเรา เขาก็จะใช้กระบวนการที่เขาเรียนกับสถาบันภาษาแทมบริท (โรงเรียนจ้างสอน) เขาก็จะใช้เป็นเพลง มีท่าทางประกอบ เขาก็เอาทุนความรู้ที่เขามีอยู่ไปสรุปไปสอนน้อง เด็กวัดไผ่ล้อมกลุ่มนี้ไม่เคยเจอแบบนี้ เขาก็ชอบ การได้ทำกิจกรรมฝึกทักษะการพูด การนำเสนอ สุดท้ายนักเรียนของเราก็ได้ไปทำกิจกรรมรวม 20 ครั้ง 20 วัน พบว่าเด็กๆ วัดไผ่ล้อมมีพัฒนาการเปลี่ยนไปเลย วันสุดท้ายจบหลักสูตร พี่ก็จะสอบปลายภาค น้องก็จะปิดก่อน เสร็จแล้วเขาก็ไปโดยให้น้องมานำเสนอ ขอย้อนเล่าว่าเด็กของเราจะให้เด็กวัดไผ่ล้อมทำทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน เมื่อถึงพิธีเปิดเขาก็วางแผน ได้เอากำหนดการพูดมาให้ครูนกดู พอไปถึงเขาก็เอาห่อหนังสือเป็นสื่อมอบให้แก่โรงเรียน พอไปถึงน้องแกนนำ คือ ชวนา สุทธินราธร (ลีน่า) ก็จะเป็นพิธีกรกล่าวขอบคุณโรงเรียนที่ให้ความอนุเคราะห์ให้ได้ทำกิจกรรมกับน้อง โอกาสนี้เด็กๆ ของเราก็อยากจะขอบคุณ และนำเสนอผลงานที่เราทำมาตลอดเวลาที่ทำมาว่าน้องเขามีความสามารถแบบไหนบ้าง และบังเอิญว่าวันนั้นมีครูทุกคนเข้ามาร่วม เพราะเป็นวันเกษียณอายุของคุณครูอยู่แล้ว ทุกคนต้องมาร่วมอยู่ในห้องประชุมใหญ่ ลีน่าเล่าว่าพอพูดปุ๊บทุกคนในห้องประชุมก็ตั้งใจฟัง และเห็นของยิ้มของคุณครูประจำชั้น และคุณครูท่านอื่นๆ ที่โรงเรียนวัดไผ่ล้อมว่าเด็กของเราทำได้ขนาดนี้เลยเหรอ ครูเขาก็ภูมิใจ พวกลีน่าก็ภูมิใจ มีกำลังใจ มีฟี้ดแบ็คเป็นคำพูดของน้องๆ วัดไผ่ล้อม เด็กๆ ของเราได้อัดวิดีโอมา และมีสัมภาษณ์น้องวัดไผ่ล้อม ก็บอกกับลีน่าว่าเราไม่ได้เก็บจากคุณครูด้วยว่ารู้สึกอย่างไร เป็นแบบไหน แต่ก็มีฟี้ดแบ็คอีกอย่างให้ภูมิใจว่าตอนเด็กๆ ยังไปทำกิจกรรม คุณครูเขาไม่เคยโทรมาหาครูนก ครูนกก็เพียงแต่แอบถามเพราะฝ่ายวิชาการโรงเรียนวัดไผ่ล้อมเป็นศิษย์เก่าสตรีมารดาฯ ว่าเด็กเราเป็นอย่างไรบ้าง แต่เขาก็โทรมาบอกว่าโรงเรียนวัดไผ่ล้อมจะมีจัดค่ายภาษาอังกฤษให้กับเด็ก อยากให้น้องๆ ของเราไปเป็นวิทยากร หรือเป็นฐานการเรียนรู้ฐานหนึ่ง แล้วก็อยากจะคุยกับน้อง อยากจะเชิญไปประชุมเพราะต้องมีการวางแผนการทำงาน เราก็ขอบคุณเขาและมาเล่าให้ลีน่าฟัง ก็เป็นความภูมิใจของเด็กอย่างหนึ่งว่าสิ่งที่ผู้ใหญ่เห็นที่เขาทำให้สังคม แล้วสังคมเห็นว่าเขามีคุณค่านะ เขาทำแล้วก็ไม่ได้เปล่าประโยชน์นะ คุณครูได้ประโยชน์ น้องเขาก็ได้ประโยชน์ และตัวเขาเองก็ได้เรียนรู้กระบวนการทำงาน
ส่วนตัวมีสิ่งหนึ่งที่ภูมิใจว่าเขาคิดเองทำเอง ครูอยู่ห่างๆ เปิดโอกาสให้เขาคิดและทำไปเลย เพราะเรามองว่าจากการที่เขาได้เขียนเค้าโครงเรื่องของโครงการแล้ว ลองให้เด็กไปทำดูสิ เพราะโรงเรียนของเราตามบริบทของเราจะป้อนให้เขาทุกอย่าง เขาจะคิดเองไม่เป็น ฝึกเองไม่เป็น พอเที่ยวนี้ปุ๊บ เราก็เลยให้เขาไปทำดู เด็กเขาก็ทำเองคิดเอง เราก็ทำหน้าที่ชี้แนะเขา ประสบการณ์ครั้งนี้ก็เลยเป็นการสอนเด็ก จากที่เด็กไม่เคยทำงานประสานผู้ใหญ่ เด็กเข้าไปพูดคุย เด็กไม่เคยวางแผนงานเป็นสเต็ปๆ ก็ได้เข้าไปพูดคุย สิ่งหนึ่งที่ครูนกประทับใจมากเลยคือปกติเราสอนหนังสือแล้วน้อยใจว่าสอนแล้วเด็กไม่เอาไปใช้ แต่ครั้งนี้ทำเสร็จพอสอนเสร็จเขาต้องกลับมา AAR กันว่ามีปัญหาอะไร ติดอะไร มันเกิดอะไรขึ้น เขาก็วางแนวทางการแก้ปัญหาว่าทำอย่างไรในครั้งต่อไป แล้วเขาก็จะทำอย่างนี้ทุกครั้ง เพราะฉะนั้นปัญหามันก็ได้รับการแก้ไขเป็นช่วงๆๆ มันไม่ใช่ทำทีเดียวแล้วเกิดปัญหาแล้วแก้เลย มันไม่ใช่ การทำงานจึงค่อนข้างลื่นไหล สำหรับตัวเด็กเอง
ความสำเร็จที่เขาได้รับคือความผูกพันกับน้องๆ อีกอย่างหนึ่งคือจิตอาสาในกลุ่มนี้มันเหมือนเป็นครอบครัว เป็นพี่เป็นน้อง ครูก็บอกว่าลีน่าอย่างวันนั้นที่พี่โต้ง ศุทธิวัต นัสการ เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ไปติดตามน้องลงพื้นที่ทำกิจกรรมวันนั้นเขาต้องไปประสานกับทางโรงเรียนแล้วถามว่าใครไปทำอีกเรื่อง ลีน่าก็บอกว่าครูคะมีน้องที่เขาสามารถทำตรงนี้ได้ เพราะฉะนั้นเขาก็จะมีกลุ่มของเขาและน้องก็ทำได้จริงๆ แล้วช่วงนั้นก็เป็นช่วงที่ครูนกเห็นชัดจริงๆ คือเป็นช่วงกีฬาสี คนนี้เขาก็อาสาขึ้นมา ขึ้นมาหาครูนก ที่โรงเรียนจะมีปลอกแขน "จิตอาสาทำด้วยใจ ให้ด้วยรัก" ของชาวสตรีมารดาฯ เขาก็บอกว่าเขาจะไปอาสาดูความเรียบร้อยในโรงเรียน ในช่วงที่เขาลงกีฬาสีกัน ว่ามีใครแอบตามตรอกตามซอกอะไรไหม เราก็ได้ยินว่าเขามีการแบ่งหน้าที่กัน เขาฟังคนที่เป็นผู้นำและก็มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันว่าเราจะทำแบบนี้ดีไหม ทำแบบนั้นได้ไหม
วิธีการโค้ชชิ่งนักเรียนของครูนก ครูจะให้ 7 คำถามของอาารย์ทิศนาเขาไปเลยว่า เวลาจะทำ หนูจะทำอะไร ทำแล้วมันเกิดอะไรขึ้น หนูจะแก้ปัญหาที่เจออย่างไร ตัวเองทำแล้วได้เรียนรู้อะไร สิ่งที่มันติดตัวเราไปในการทำงาน เราพยายามที่จะถามตัวเองตลอดนะ ก็จะพยายามบอกเขา เราก็จะถามตัวเองตลอด แต่เป้าหมายของการไปสอนครั้งนี้มันไม่ใช่การไปสอนให้ครบ 20 ชั่วโมงตามที่หนูกำหนด แต่การไปทำตรงนี้มันเหมือนโจทย์ปัญหาสมมติขึ้นมาเพื่อให้หนูเรียนรู้วิธีการและกระบวนการทำงานเท่านั้น เพราะฉะนั้นหนูต้องเรียนรู้จากสิ่งเหล่านี้ เราก็จะบอกเขาตั้งแต่วันที่ปฐมนิเทศค่ายเศรษฐกิจพอเพียง สิ่งหนึ่งที่ครูนกคิดว่ากลับไปจากค่ายเศรษฐกิจพอเพียงครั้งที่ 3 นี้ ครูนกมีเอกสารข้อมูลพร้อมแล้ว เพราะให้นักเรียนเขียนเป็นเรื่องเล่าขึ้นมาว่าหนูทำแล้วหนูได้อะไร รู้สึกอย่างไร เขาก็เขียนกลับมา ครูนกก็ได้อ่านบ้าง บางคนก็อาจยังไม่ตอบโจทย์เราเท่าไหร่ แต่ก็จะค่อยๆ สอน ก็บอกกับลีน่าว่าไปทำเป็นรูปเล่มออกมาว่าตั้งแต่กระบวนการทำงานของเรา ซึ่งน้องเขาก็เตรียมไว้อยู่แล้ว วันนี้ได้มาเห็นของโรงเรียนจุฬาภรณฯ ซึ่งมีหนังสือเล่มเล็ก ของเราก็น่าจะทำได้เหมือนกัน เหมือนที่เราเคยเรียนรู้จาก อ.ทรงพล เจตนาวณิชย์ ว่าเวลาเราทำอะไร ก็จะมีคุณลิขิต คุณบันทึก บันทึกอะไร เครื่องมืออะไร มันก็เป็นเครื่องมือหนึ่งๆ ว่าเวลาทำงานเราทำอะไรบ้าง ทำอย่างไรบ้าง ครูก็บอกกับเขาว่าต่อไปหนูจบไป ความรู้ตรงนี้มันก็ติดตัวหนูออกไป สูญหายไป ดังนั้นเราทำหนังสือตรงนี้เพื่อให้น้องๆ เขาได้เรียนรู้ ถอดมาเป็นหนังสือรูปเล่มออกมา
ถามว่าสิ่งที่มูลนิธิฯ จัดอบรมให้กับเด็กๆ ทั้งค่าย 1 และค่าย 2 มีประโยชน์ไหม ครูนกว่าการที่เราลงกับเด็กตอนนี้มันมีประโยชน์ ก่อนหน้านี้เราทำมากันมากกับครู พอมาตรงนี้เราทำกับเด็ก การทำงานกับเขา งบประมาณเราไม่ต้องมีมากหรอก ให้เล็กๆ น้อยๆ เขาจะได้ทำงานและโชว์ศักยภาพของเขา ถามว่ามีประโยชน์ไหม ครูนกว่ามีมาก คือเขาได้คิด ได้แก้ปัญหา ได้ลงมือทำงาน และเด็กกลุ่มนี้ที่เป็นจิตอาสา ก่อนหน้านี้เขาก็ไม่ได้มีความคุ้นเคยกัน แต่พอมาทำงานด้วยกัน เหมือนครูที่มาตรงนี้ มาทำงานด้วยกัน เราก็มีความสนิทสนมใกล้ชิดกันมากขึ้น ความใกล้ชิด ความผูกพัน ความศรัทธามันทำให้เกิดอะไรมากมายตามมาหลายอย่าง เหมือนกับน้องๆ ศรัทธาพี่ลีน่า เราศรัทธาพระรูปนี้ ศรัทธาพ่อคนนี้ พี่คนนี้ น้องคนนี้ พอมีความศรัทธาปุ๊บ มันก็จะมีความรัก ความเอื้ออาทร ความเห็นอกเห็นใจตามมาเอง การมาทำกิจกรรมตรงนี้จึงได้ประโยชน์ น่าจะมีให้เด็กเขาได้ทำต่อไป หรือเขาอาจต่อยอดของเขา หรือทำแนวใหม่ เขาก็จะได้เรียนรู้
ตอนนี้ท่าน ผอ.ซิสเตอร์ก็มอบหมายในวันปฐมนิเทศ ให้เด็กทุกคนไปทำจิตอาสาแล้วก็มาเขียนเรื่องเล่ามาว่าตัวเองได้ไปทำอะไรมา แบบไหนบ้าง การทำตรงนี้โรงเรียนต้องเอื้อกับเด็กด้วยนะ โรงเรียนก็ต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน ก็ต้องส่งเสริม ที่โรงเรียนเองก็ส่งเสริมเด็กเขาอยู่แล้วเป็นประจำในการที่จะเห็นอกเห็นใจผู้อื่น การให้ผู้อื่น ตรงนี้เด็กก็จะถูกปลูกฝังให้ซึมซับเป็นพฤติกรรมผ่านกิจกรรมอยู่แล้ว มันก็เลยไปได้พอสมควร
ผลการเปลี่ยนแปลงของเด็กก่อนค่ายและหลังค่ายที่เห็นชัดเจนคือความรับผิดชอบ ความรับผิดชอบในการทำงาน และความกล้า อีกสิ่งหนึ่งคือทักษะในการเขียน เราไม่ต้องมาพูดมาแนะ เขาเขียนของเขาเองได้ อันไหนเป็นสิ่งที่เขาทำ เขาเขียนตามสิ่งที่เขาทำ เขาพูดตามสิ่งที่เขาเขียน เขาทำจริงมันจึงเขียนออกมาได้ไม่ยาก มันจึงถ่ายทอดมาได้ไม่ยาก ถ้าคุณไม่ได้ทำจริง มันจะเขียนออกมาได้ยาก มันจะพูดออกมาได้ยาก เด็กกลุ่มนี้จึงเขียนออกมาได้ไม่ยาก เพราะเขาได้ทำจริง ได้แก้ปัญหาจริง ได้เรียนรู้จริง มันจึงออกมาจากตัวของเขา ถึงแม้ว่าเราจะให้เขาตอบคำถาม ครูนกก็เห็นว่าเขาเขียนไปคำไหน สิ่งที่เขาเกิดขึ้นมันคืออะไร เราก็ดูผ่านสิ่งที่เขาเขียน มันก็วัดได้เลยด้วยความเป็นครูของเราว่า เขาทำจริง เขาก็พูดได้จริงตามสิ่งที่เขาทำ บางสิ่งด้วยซ้ำที่เราไม่ได้รู้เท่าเขา เพราะเราไม่ได้เป็นผู้ปฏิบัติ แต่เด็กเขาจะรู้ ถ้าน้องเกิดปัญหาอย่างนี้จะแก้แบบไหน ในส่วนของครูเราไม่ได้ไปสัมผัสแบบเขา ถ้าเราเอาแนวของครูที่ใช้ในโรงเรียนไปแก้กับเด็กต่างโรงเรียนมันก็แก้ไม่ได้ เพราะสถานการณ์มันคนละแบบ ลีน่าจึงบอกว่ามันไม่ใช่แค่เด็กกลุ่มนี้นะ แต่เป็นพ่อแม่ของเด็กกลุ่มนี้ด้วย เวลาน้องไปสอน ก็ต้องมีขนมไปเป็นกำลังใจให้น้อง มันก็ต้องมีงบประมาณ พ่อแม่เขาก็บอกว่าไม่เป็นไร เขาก็รับทราบด้วย เพราะเด็กก็ต้องไปเล่าว่าวันนี้ไปสอนน้อง น้องเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ แล้วหนูก็ต้องเตรียมขนมไปให้น้อง หนูก็เตรียมไป ฟีดแบ็คที่มาจากผู้ปกครองน้องฝ้ายชั้น ม.2 จะเห็นชัดมาก แม่เขาบอกว่าลูกของเขาเปลี่ยนไปเยอะมากตั้งแต่มาร่วมกับตรงนี้นะ ค่ายที่สอง เขามีการฝากผลไม้จากสวนมาให้พี่ๆ เยอะมากเลย เพราะเขาประทับใจ อยากฝากของมาให้ เพราะน้องฝ้ายไปเล่าให้แม่เขาฟัง แม่เขาก็เห็นว่าลูกเขาเปลี่ยนไป เป็นผู้ใหญ่ขึ้น กล้าคิดกล้าทำกล้าพูด จากเมื่อก่อนเป็นเด็กขี้อายไม่พูด พอมาอยู่ตรงนี้ปุ๊บเขาพูด อย่างตอนค่ายครั้งที่ 1 ในวงแลกเปลี่ยนให้เด็กได้พูดแสดงความคิดเห็น เราก็ภูมิใจในศักยภาพของเด็กแต่ละคน เรารู้สึกภูมิใจกับเด็ก เหมือนคำพูดที่เขาออกมาพูด เราก็บอกเด็กๆ ว่า "ฝ้าย ดูนะ พี่ๆ เพื่อนๆ แต่ละคนเขาก็เก่งๆ เขาก็มีอะไรออกมา เราก็เรียนรู้ เก็บเกี่ยวจากคนที่อยู่รอบข้างเรา มันเป็นความรู้หมดเลย แล้วเราก็เก็บกลับมาพัฒนาตัวเรา" อย่างฝ้าย เขาเป็นเด็กเรียนดีอยู่แล้ว แต่ที่ฝ้ายขาดอย่างเดียวคือความกล้า ถ้าฝ้ายกล้าอีกนิดเดียวมันก็จะทำให้ตัวเองลื่นไหล ถามว่าเมื่อก่อนพี่ลีน่าเป็นแบบนี้ไหม "ไม่" แต่พี่ลีน่าเขาได้ทำกิจกรรม มันก็เป็นการฝึกฝนตัวเองไปเรื่อยๆ เมื่อก่อนครูก็ไม่มีอะไร แต่พอเราฝึกฝนตัวเองไปเรื่อยๆ มันก็เกิดการเรียนรู้ไปเรื่อยๆ เขาก็พัฒนา เมื่อก่อนฝ้ายจะหยิบไมค์แต่ละทีก็ยาก แต่ตอนนี้เขาพูดได้
อาจารย์วัดจากตรงไหนว่าเด็กเกิดหลักคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ... ครูก็จะคอยสังเกตเวลาเขาคุยกัน เขาก็จะพูดคุยกับเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น พี่มองว่าเขาใช้หลักคิดในการทำงานตลอดนะ เขาใช้ทุกเรื่อง เขาจะคิดว่าทำแบบนี้จะดีไหม เขาจะคิดของเขาตลอด ถ้าเราไม่คิดแบบนี้ มันอาจจะไม่เป็นแบบนี้ อย่างการทำโครงงานจิตอาสา ครูยังไม่คิดด้วยซ้ำว่าเขาจะต้องทำร่างหลักสูตร แต่พอกลับจากค่ายเขาก็ไปร่างหลักสูตรออกมาเลย สัปดาห์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 จนถึงชั่วโมงสุดท้าย เหมือนเขาพยายามสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองมากที่สุด ถ้าเจอน้องแบบนี้ แล้วเราจะทำอย่างไร เขาก็จะวางแผนของเขา อยู่ในตัวของเขาอยู่แล้ว
ประทับใจกิจกรรมจิตอาสา ตอนนี้ทุกห้องทุกชั้นเรียน มันมีของมันอยู่แล้วนะ มีชั่วโมงจิตอาสา แต่จิตอาสามันไม่เกิด ครูต้องเช็คเวลาเรียน ครูต้องวัดผลประเมินผล แล้วที่นี้ต้องให้เด็กไปทำ แต่เขาไม่ทำ หรือไปก็แบบไม่เต็มที่ ทางครูต้องมีสมุดบันทึกเล่มหนึ่งว่าเขาไปทำจิตอาสาที่ไหนเมื่อไหร่ ให้ครบชั่วโมงเขา 15 ชั่วโมง ทำเสร็จแล้วต้องมาให้ครูเซ็นต์รับรอง แต่สิ่งที่พบคือพอครบชั่วโมง ครูถาม เด็กๆ ถึงค่อยมาซื้อสมุด ซึ่งมันไม่ใช่ การบันทึกมันต้องบันทึกเรื่อยๆ ไม่ใช่จะมาบันทึกวันที่ครูจะเก็บรวบรวมแล้ว แต่เด็กพวกนี้เขามาทำแบบนี้แล้วเขาก็จะทำของเขาไปเรื่อยๆ เขาทำด้วยใจ ไม่ใช่ว่ามีใครมาบังคับ ถ้าเขาคิดเองทำเองแก้ปัญหาเอง ถึงมีความผิดพลาดมันก็ลื่นไหล ให้เขาคิดเอง ครูรู้สึกว่ามันไปได้เองมันดี แต่ภายใต้เงื่อนไขแบบนี้ก็ต้องมีใครสักคนคอยมองถูกมองผิด สามารถที่จะนำเพื่อนได้ งานนั้นมันจึงจะสำเร็จ แต่ตรงนี้เรามองผู้นำอย่างลีน่า เขาก็มีอะไรหลายๆ อย่างเป็นภูมิของตัวเอง เขาเห็นความสามารถของเพื่อนๆ ได้ แต่ละคนก็มีความสามารถแตกต่างกัน มองจากการทำงานด้วยกันกับเพื่อน เขาสามารถมองเพื่อนออกมาว่าคนนี้ทำงานเป็น คนนี้ภาษาอังกฤษได้ เพื่อนคนนี้ดูแลน้อง LD ได้ น้องรัก
กิจกรรมตรงนี้ทำให้เด็กๆ ได้ทั้งกระบวนการคิด และได้งานด้วย และสังเกตได้ว่าถ้าเขาทำอะไรที่เป็นความตั้งใจของเขาแล้วเขาก็จะมีความรับผิดชอบในตัว เขารับผิดชอบของเขา การเรียนของเขาเขาก็ต้องรับผิดชอบไม่ให้เสีย ครูนกจะไม่พูดว่าทำหรือยัง ไปหรือยัง ครูนกจะไม่เลย เราจะถามว่าไปถึงไหนแล้วมากกว่า ไม่ได้ไปเร่ง ครูนกมองภาพรวมเด็ก ไม่ได้คุยกับน้องทุกๆ คนที่ไปทำกิจกรรมด้วยนะ จะคุยกับลีน่าแล้วก็แกนหลักๆ เขามาถาม เราก็จะบอกเขาว่าถ้าเป็นครูนะ ครูจะทำแบบนี้ๆ แล้วเขาก็ไปคิดกันเองว่าเขาจะทำอย่างไร เป็นความคิดของเขาเลย เป็นงานเดียวเลยนะที่ครูนกไม่ได้ลงเลย เราต้องใจแข็ง ไม่ได้ลงเลยจริงๆ ตอนจบค่ายแรกก็คิดว่าจะไปทาบทามลองคุยกับ ผอ.โรงเรียนวัดไผ่ล้อมไว้ให้ก่อน แต่พอเอาเข้าจริงๆ แล้วก็ไม่ได้ไปทำ หลังจากค่ายครั้งแรกเราก็ไปรายงานผู้บริหารโรงเรียนว่าเด็กอยากทำแบบนี้ๆ และจะทำแบบนี้ๆ ซิสเตอร์ท่านก็รับทราบ บอกว่า ดีๆ แล้วทางโรงเรียนก็เอาเรื่องของเด็กไปลงวารสารโรงเรียน เด็กก็ภูมิใจว่าเรื่องของเขาไปลงปกหลังวารสารโรงเรียนเล่มล่าสุดนี้ ครูนกมั่นใจในตัวเด็กว่าเขาสามารถทำได้เพราะครูนกดูตั้งแต่ตอนเขาเขียนโครงร่างแล้วเอามานำเสนอ บอกกับลีน่าว่าอย่าให้น้องเขารู้สึกว่าถูกทิ้งซ้ำนะ เหมือนกับเด็กกำพร้าที่คนไปเยี่ยมไปกอดแล้วก็ลาเขากลับไป คนใหม่ก็มาทำแบบเดียวกัน ไม่มีใครกอดเขาอย่างถาวร ลีน่าจึงไปบอก ผอ.วัดไผ่ล้อมว่าขอให้ได้มีโอกาสกลับมาพบน้องเดือนละครั้งถึงแม้ว่าจะปิดโครงการไปแล้ว เพราะตอนนี้น้องติดพี่แล้ว ลีน่าเขาก็มีแผนต่อไปว่าจะกลับมาทำกับน้องที่โรงเรียนตัวเองบ้าง เป็นเด็กชั้น ป. 1-2 ตอนนี้เขาก็มีงานอยู่คือถอดรหัสกำจัดขยะ กิจกรรมเยอะแต่ก็สอบได้เกรด 4 เร็วๆ นี้ก็ต้องไปรับรางวัลภาษาไทย อันดับที่ 3 ของประเทศ ลีน่าจะเป็นเด็กที่มีงานอะไร เราโยนไมค์ให้แล้วเขาพูดได้เลย เดิมทีแรกเขาก็ไม่ได้หรอก แต่พอมาร่วมค่ายต่างๆ ได้ร่วมกิจกรรมหลายๆ อย่างแล้ว เขาก็ได้ฝึก
สะท้อนโครงการค่ายเยาวชนเศรษฐกิจพอเพียง ... การที่มูลนิธิฯ มาทำกิจกรรมตรงกับเด็ก ครูนกคิดว่ามาถูกทางแล้ว เพราะแต่ก่อนทำกับครู ครูเอามาทำต่อกับเด็ก ครั้งนี้มูลนิธิฯ ให้วิธีการทำงาน กระบวนการทำงานเป็นสเต็ปๆ พอเด็กออกไปทำกับชุมชนตัวอย่างที่ป้อมมหากาฬ มาค่ายที่สองก็มีพี่ๆ มาช่วยให้คำแนะนำ เหมือนเขาได้มาเรียนรู้ มีภูมิคุ้มกันก่อนออกไปทำ เด็กได้ใช้เศรษฐกิจพอเพียงทุกขั้นตอนการทำงาน ทั้งการวางแผน การจัดทีมงาน ฯลฯ ครูนกก็คิดว่าเขาทราบนะว่าตัวเองได้ใช้เศรษฐกิจพอเพียง และโรงเรียนก็ได้ย้ำตรงนี้กับเขาเป็นประจำ เขาเล่าได้ เด็กมีวิธีคิด ตอนนี้ทุกคนเขียนเรื่องเล่าออกมา ได้เรียนรู้อะไร รู้สึกอะไร และจะนำไปใช้อย่างไร
สะท้อนการเรียนรู้ของเยาวชนในโครงการค่ายเยาวชนเศรษฐกิจพอเพียง เครือข่ายเยาวชนสัมพันธ์เสริมพลังจิตอาสา (ค่ายที่ 3 เดือนตุลาคม 2556)
14 ม.ค. 2558