พรรณิภา โสตถิพันธุ์ : เศรษฐกิจพอเพียง สรรค์สร้าง พลังพลเมือง

การเป็น “พลเมือง” ต้องเริ่มจากการ “คิด” ทำอะไรเพื่อบ้านเกิด

นายกิตติรัตน์ ปลื้มจิตร

นายกิตติรัตน์ ปลื้มจิตร


   คำกล่าวตอนหนึ่งของ นายกิตติรัตน์ ปลื้มจิตร เจ้าหน้าที่มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในการประชุมพัฒนาและสร้างสรรค์กระบวนการทำงานเพื่อส่วนรวมของเยาวชน ในโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สงขลาฟอรั่ม กับ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อวันที่ 13 - 15 ธันวาคม 2556 ณ ห้องประชุมสมิหลา โรงแรมบีพี สมิหลา บีช สงขลา

โดยปีที่ 2 นี้มีเยาวชนเมืองสงขลาที่มีความตระหนักสำนึกรักบ้านเกิดของตนเอง
ที่ลุกขึ้นมาทำโครงการเพื่อป้องกัน แก้ไขและพัฒนาชุมชนของตนเอง จำนวน 16 โครงการ ดังนี้


  1. โครงการโตไปไมว่างงาน กลุ่มเด็กไทยใจกตัญญู
  2. โครงการสานสายใยเพื่อช่วยเพื่อน กลุ่มพลังคนหัวรั้นช่วยสังคม
  3. โครงการหมอน้อย กลุ่มเยาวชนรักสุขภาพบ้านทุ่งจัง
  4. โครงการ Hero Herb กลุ่ม Doctor กัมปง
  5. โครงการสวยใสสไตล์ มุสลิมะฮ์ กลุ่ม Muslim Online
  6. โครงการห้องน้ำในฝัน กลุ่มเด็กรุ่นใหม่หัวใจเกินร้อย
  7. โครงการเด็กดีเพื่อชุมชน กลุ่มพลังปลิง
  8. โครงการสร้างคลองสร้างคน กลุ่มเยาวชนรักษ์หนองบัว
  9. โครงการสื่อเล็กๆ ของเด็กสงขลา กลุ่ม TS.5 School Channel
  10. โครงการรู้รักถิ่นเกิดเปิดประวัติสาสตร์ดอนขี้เหล็ก กลุ่ม DKL ไชโย
  11. โครงการกองทุนขยะสร้างอนาคต กลุ่มหิ่งห้อยน้อย
  12. โครงการกองทุนขยะเพื่อพัฒนาบ้านเกิด กลุ่มRn mix
  13. โครงการภาพเล่าเรื่องเมืองสงขลา 2 กลุ่มชมรมต้นคิด
  14. โครงการแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์วัดบ่อทรัพย์ กลุ่มจิตใสใจอาสา
  15. โครงการปลูกต้นน้ำคืนชีวิต กลุ่ม CD Power
  16. โครงการพลังเยาวชนจัดการชุมชนเรียนรู้หาดสมิหลา กลุ่ม Beach For Life 2

­

นางพรรณิภา โสตถิพันธุ์ ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม กล่าวว่า จิตสำนึกความเป็นพลเมืองในโลกยุคใหม่ ทักษะที่ต้องสร้าง คือ การคิดแบบมีเหตุมีผล การจัดการอารมณ์ รู้จักฝึกปฏิสัมพันธ์สื่อสารกับคนอื่น เข้าใจตนเองและรู้เขารู้เรา มีจิตใจเพื่อส่วนรวม แต่ปีนี้สิ่งที่เราเน้น คือ จิตสำนึกในความเป็นพลเมืองที่รู้จักตระหนัก และหวงแหนในสิทธิหน้าที่ของตนเองและประชาธิปไตย

โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลาเป็นโครงการที่เน้น “กระบวนการ” สร้างสรรค์พลเมืองเยาวชน ให้เกิดจิตสำนึกรักชุมชน บ้านเกิด มองเห็นปัญหาของชุมชน และปรารถนาจะร่วมกันแก้ไข ด้วยการสร้างแกนนำมาร่วมกันทำงาน เติมทักษะชีวิตในตัวแกนนำ ผ่านการทำโครงการต่างๆ ที่เยาวชนคิดขึ้นจากโจทย์ปัญหาในชุมชนของตนเอง

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า สาระสำคัญในการประชุมครั้งนี้ได้ใช้ “หลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง” มาคิดวิเคราะห์โครงการก่อนทำจริง โดยเริ่มจากหลักที่ 1 มีเหตุมีผล ให้คิดว่าเรามีเหตุมีผลในการทำโครงการนี้อย่างไร หลังจากนั้นจึงไปสู่หลักที่ 2 ความพอประมาณ ว่าโครงการที่ทำมีความพอประมาณในด้านไหนอย่างไร เมื่อตกผลึกแล้วก็มาสู่หลักที่ 3 คือ ภูมิคุ้มกัน ซึ่งหมายถึงมีภูมิคุ้มกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น โดยให้คาดการณ์ถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นว่ามีอะไรบ้าง ทั้งปัญหาของตนเองและปัญหาของงาน และวิธีแก้ปัญหานั้นเป็นอย่างไร ส่วนหลักที่ 4 คือ ความรู้ เป็นความรู้เกี่ยวกับปัญหา สาเหตุ ผลกระทบ คนที่เกี่ยวข้องหรือความรู้เทคนิคที่ใช้แก้ปัญหาเป็นต้น และหลักที่ 5 คุณธรรม ถือเป็น “หัวใจ” สำคัญ เพราะการเป็นพลเมืองที่ดีต้องมี “คุณธรรม” โดยเฉพาะในเรื่องของการคอรัปชั่น คุณธรรมจึงหมายรวมถึงข้อตกลงร่วมในการทำงาน หรือทำโครงการร่วมกันให้สำเร็จ โดยเน้นไปที่ความอดทน ความรับผิดชอบ ตรงต่อเวลา การเคารพผู้อื่น และที่สำคัญคือความซื่อสัตย์ โปร่งใสต่อการทำงาน “สิ่งเหล่านี้คือหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็น “หลักคิด” ก่อนทำ ทำให้น้องๆ เห็นโครงการของตนเองชัดเจนยิ่งขึ้น น้องๆ สามารถนำ “หลักคิด” นี้ไปประยุกต์ใช้ได้ทุกเรื่อง ซึ่งหลักปรัชญาฯ สามารถเนียนเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของเราได้”

ในกระบวนการดังกล่าวเยาวชนได้นำความรู้มาประยุกต์ใช้ในการเขียนโครงการของตนเองได้อย่างชัดเจนผ่านการวิเคราะห์ตาม “หลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง” ทำให้รู้แผนการทำงานตั้งแต่ต้น กระทั่งผลสำเร็จที่จะตามมา เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า หลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จำเป็นในกระบวนการสร้างสรรค์ Active Citizen ของโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ซึ่งแรงขับเคลื่อนเล็กๆ เหล่านี้ คือจุดเริ่มต้นที่จะช่วยให้สังคมไทยได้รับรู้ ความเป็นพลเมือง...ของเยาวชนสงขลาได้