ประกายความคิดในวันเริ่มต้น


ผู้บริหาร/ครูเด่น

ครูศิวพร แย้มแต่งอ่อน ครู โรงเรียนหนองรีมงคลสุขสวัสดิ์ ที่อยู่ : 50/1 หมู่ที่ 7 ตำบลหนองรี อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี รหัสไปรษณีย์ 2000

ประกายความคิดในวันเริ่มต้น “ปี พ.ศ. 2534 ได้มีโอกาสไปสอนชาวเขา ได้เป็นเรียนรู้ชีวิตของคนภาคเหนือ และที่สำคัญก็คือได้เข้าเฝ้าในหลวง ประทับใจที่ท่านเสด็จไปในทุกพื้นที่ ทำให้ชาวเขาสามารถเปลี่ยนจากปลูกฝิ่นมาปลูกพืชเมืองหนาวโดยวิธีการสอน ไม่ใช่การให้อย่างเดียว

เราเป็นครูมีโอกาสสอนคนอื่นได้ จึงนำเอาหลักการทรงงานมาใช้ “เข้าใจ เข้าถึง แล้วจึงพัฒนา” และทำให้ดูเป็นแบบอย่างเหมือนที่พระองค์ท่านทรงใช้ยาสีฟัน”

"บทเรียนความสำเร็จในการใช้เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อจัดการการเรียนรู้"

โดย นางศิวพร แย้มแตงอ่อน โรงเรียนหนองรีมงคลสุขสวัสดิ์ เป็นโรงเรียนประจำตำบลที่อยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี แม้ว่าจะมีระยะทางห่างจากตัวเมืองเพียงแค่ 7.5 กิโลเมตร แต่ก็เป็นโรงเรียนมัธยมเล็กๆ นักเรียนส่วนมากเป็นเด็กด้อยโอกาส ครอบครัวแตกแยก ทั้งนี้เพราะนักเรียนอพยพโยกย้ายตามผู้ปกครองมาจากภาคเหนือและภาคอีสานเพื่อมาทำงานในโรงงานในละแวกใกล้เคียง เมื่อถึงฤดูทำนาหรือผู้ปกครองตกงาน ทำให้ผู้ปกครองต้องย้ายกลับถิ่น โรงเรียนจึงได้มุ่งเน้นกิจกรรมที่นักเรียนสามารถนำไปสร้างเป็นอาชีพได้ เนื่องจากเด็กๆ ส่วนใหญ่มักไม่มีเงินเรียนต่อในระดับสูง และส่วนใหญ่เมื่อจบการศึกษาก็จะไปทำงานตามโรงงานเหมือนพ่อแม่ ในขณะที่เด็กนักเรียนบางคนไปรับจ้างทำงานตามปั๊มน้ำมันระหว่างเรียน เพื่อหาเงินมาเป็นค่าเล่าเรียน

การขับเคลื่อนกิจกรรมตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนหนองรีมงคลสุขสวัสดิ์ จึงเริ่มจากการพึ่งตนเอง ลดรายจ่ายในครอบครัวโดยการปลูกผัก เลี้ยงปลา และกิจกรรมสร้างอาชีพ เพื่อให้เด็กๆ มีภูมิคุ้มกันที่ดีติดตัวไปเมื่อเรียนจบ

หลังจากที่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงจากการเข้าร่วมโครงการพัฒนาเยาวชน และกิจกรรมเวทีเสวนาที่จัดโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ข้าพเจ้าได้บูรณาการแนวคิดดังกล่าวเข้าสู่การเรียนการสอนในกลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยีที่ตนเองสอนและขยายผลสู่บุคลากรในโรงเรียนผ่านกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนจนเกิดเป็นกลุ่มชุมนุมต่างๆ ที่ร่วมกันสร้างกิจกรรมภายในโรงเรียนขึ้นด้วยการทำงานแบบ “พอประมาณ” คือรู้จักตนเองว่ามีศักยภาพอะไรบ้าง และใช้สิ่งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นอกจากนั้นยังได้เชิญวิทยากรมืออาชีพจากภายนอกมาให้ความรู้และฝึกปฏิบัติโดยนักเรียนสามารถเลือกเรียนตามความถนัดของตนเอง สำหรับอาชีพที่เลือกมาให้นักเรียนได้เรียนรู้นั้น จะเป็นอาชีพที่ไม่ใช้เครื่องปรุงหรือวัสดุอุปกรณ์ที่ยุ่งยากซับซ้อน นักเรียนสามารถหาซื้อได้ง่ายและไม่แพง ทำให้พ่อแม่ญาติพี่น้องทานที่บ้านได้โดยใช้วัสดุที่มีอยู่ในบ้านไม่ต้องซื้อหาเพิ่ม และถ้าจะนำไปประกอบเป็นอาชีพก็ไม่ต้องลงทุนมาก พอที่กำลังตนเองจะทำได้โดยไม่ต้องไปกู้ยืมเงินคนอื่น เช่น อาชีพการทำหอยทอด กระหรี่ปั๊ป ขนมกุ้ยฉ่าย ขนมปั้นขลิบ สาคูไส้หมู การแปรรูปสมุนไพรที่มีในท้องถิ่น เป็นต้น โดยบางครั้งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลหนองรี และเจ้าหน้าที่เกษตรประจำตำบลมาสอนให้กับกลุ่มยุวเกษตรกรของโรงเรียน

ด้วยการเรียนรู้ “แบบพอเพียง” จากประสบการณ์จริงเหล่านี้ ทำให้เด็กๆ หนองรีฯ สามารถนำหลักคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้และสร้างเป็นอาชีพติดตัว อันจะนำไปสู่ภูมิคุ้มกันที่ดีในอนาคต นักเรียนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ นำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน สามารถนำทรัพยากรธรรมชาติที่มีในท้องถิ่นมาผลิตผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน เป็นการลดรายจ่าย พึ่งตนเอง และเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุในท้องถิ่น เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและนำมาใช้ได้อย่างเหมาะสม ได้ฝึกทักษะและรับประสบการณ์ตรงในการเรียนรู้จากวิทยากรในท้องถิ่น เห็นแนวทางในการประกอบอาชีพในอนาคต ทำให้มีความรู้ รอบคอบในการทำงาน มีความอดทน รับผิดชอบ มีการแบ่งปันและสามัคคีภายในกลุ่มเพิ่มมากขึ้น

ปัจจุบันข้าพเจ้าได้เปิดวิชาเพิ่มเติมในกลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยีในรายวิชาเศรษฐกิจพอเพียงช่วงชั้นที่ 3 และกิจกรรมชุมนุมวิถีชีวิตพอเพียง โดยได้ฝึกให้นักเรียนได้เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงผ่านการทำโครงงานอาชีพ ฝึกให้นักเรียนคิดวิเคราะห์การปฏิบัติงานโดยให้หลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข และ 4 มิติ และฝึกถอดบทเรียนโดยตอบโจทย์ ทำอะไร ทำทำไม ทำไปเพื่ออะไร อะไรคือแรงจูงใจที่อยากจะทำ เป็นต้น

หลังจากที่นักเรียนสามารถคิดวิเคราะห์ได้แล้ว จึงได้ร่วมกันคิดและจัดระบบงานที่ทำและมีอยู่แล้วเป็นฐานการเรียนรู้ ได้แก่ ฐานบ้านพ่อพอเพียง ฐานข้าวของพ่อ ฐานจุลินทรีย์เพื่อชีวิต ฐานป.ปลาพอเพียง ฐานสวนครัวลอยฟ้า ฐานสมุนไพรใกล้ตัว ฐานคนเอาถ่าน(เตา“อิวาเตะ”) ฐานเรื่องกล้วยๆ ฐานมีอะไรในกอไผ่ เป็นต้น โดยนักเรียนเป็นผู้รับผิดชอบ ในกิจกรรมแต่ละฐานและสามารถวิเคราะห์ได้ว่ามีความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันอย่างไร ใช้เงื่อนไขความรู้และคุณธรรมอะไร และเมื่อคนในชุมชนมาขอดอกและใบขี้เหล็ก มะขาม ดอกแค นักเรียนและครู จึงได้แนวคิดไปทำโครงการถนนกินได้ ชุมชนนำโดยผู้ใหญ่บ้าน และอบต.ก็ให้ความร่วมมือช่วยกันปลูกต้นไม้ที่สามารถเก็บใบ ดอก ผล กินได้ปลูกริมถนนทั่วไปทั้งตำบล

ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายจากทางโรงเรียนให้เป็นหัวหน้าศูนย์การเรียนรู้ฯ หัวหน้ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียนและครูกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยีงานเกษตร และเป็นที่ปรึกษากิจกรรมชุมนุมเกษตร ข้าพเจ้าได้สอนให้นักเรียนปลูกผัก เลี้ยงปลาไว้รับประทาน เพราะนักเรียนส่วนมากเป็นเด็กจากต่างจังหวัดอาศัยอยู่ในห้องแถวและในบ้านพักของโรงงาน เด็กๆ ก็จะช่วยกันปลูกผักสวยครัวไว้ที่โรงเรียน เช่น ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด พริก มะเขือ ฯลฯ เมื่อมีผลผลิต นักเรียนก็จะเก็บเอาไปประกอบอาหารที่บ้าน ข้าพเจ้าก็จะบอกให้เขาเก็บเอาไปเท่าที่ต้องการเท่านั้น ไม่ต้องเก็บเอาไปแช่ตู้เย็นแล้วปล่อยให้เน่า นอกจากนั้นก็นำมาประกอบอาหารกลางวันของนักเรียนที่มาช่วยงานและนักเรียนที่ไม่มีเงินซื้ออาหารทาน โดยข้าพเจ้าจะเอาหม้อหุงข้าว อุปกรณ์สำหรับประกอบอาหาร ซื้อข้าวสารและเครื่องปรุงไว้ให้ นักเรียนก็เก็บผลผลิตที่ปลูกและเลี้ยงไว้นำมาประกอบอาหารรับประทานกัน บางครั้งนักเรียนช่วยงานตอนเย็นก็จะทำทานกันก่อนกลับบ้านด้วย

ในการประกอบอาหารมื้อเที่ยง หากมีผลผลิตเหลือมาก ข้าพเจ้าก็จะให้นักเรียนเก็บใส่ถังไปวางไว้ให้คุณครูในโรงเรียน โดยให้หยิบเอาเองตามความต้องการ นักเรียนเล่าว่าคุณครูบางคนเคยถามว่าทำไมไม่ใส่ถุงให้เลย เขาก็ตอบไปว่า “เราจัดให้ เราก็ไม่ทราบว่าครูแต่ละคนต้องการอะไร ถ้าเราให้ในสิ่งที่เขาไม่ต้องการ เขาก็เอาไปทิ้งทั้งๆ ที่คนอื่นอาจจะต้องการก็ได้ ก็เลยนำมาให้หยิบกันเอง เอาเท่าที่ตัวเองต้องการ” ข้าพเจ้าและนักเรียนจึงได้ปฏิบัติอย่างนี้มาโดยตลอด แผนการเรียนการสอนเรื่องความพอเพียงในโรงเรียนหนองรีมงคลสุขสวัสดิ์นั้น ไม่ได้เขียนออกมาเป็นตำราหรือถอดมาเป็นหลักสูตร แต่ทั้งครูและเด็กในโรงเรียนหนองรีฯ ได้ร่วมกันคิด ร่วมกันเรียนรู้ และลงมือปฏิบัติสู่แนวทางแห่งความพอเพียงนี้ไปพร้อมๆ กัน

การสอดแทรกเรื่องพอเพียง เช่น การสอนวิธีปลูกผักด้วยเงื่อนไขของความรู้ว่า ควรปลูกผักชนิดใดในพื้นที่แบบไหน เน้นให้เด็กรู้จักตนเอง รู้ว่าพื้นที่ว่างรอบ ๆ บ้านหรือในโรงเรียนควรนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร และมีความพอประมาณโดยผักที่ปลูกไม่ได้หวังว่าจะต้องนำไปขายได้ราคาแพง แต่อย่างน้อยๆ คือปลูกไว้ทานเองที่บ้าน ไม่ต้องไปซื้อหา หากผู้ปกครองกลับจากการทำงานในโรงงานมืดค่ำ ก็สามารถนำผักที่ปลูกไว้มาทำอาหารให้ครอบครัวทานร่วมกันได้ กิจกรรมด้านเกษตรที่เด็กๆ และครูได้ร่วมกันคิด ล้วนแฝงไปด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้สามารถทำลายปัญหาและข้อจำกัดของการทำงานลงได้ด้วยเงื่อนไขของการลงมือทำงานด้วยความรู้ คือโครงการผักสวนครัวลอยฟ้า จากแรงบันดาลใจที่เห็นผักสวนครัวและสมุนไพรที่ปลูกไว้ในโรงเรียนออกดอกผลงอกงาม ทำให้เด็กๆ นำวิธีปลูกที่ได้รับความรู้จากโรงเรียนมาลองทำที่บ้าน แต่ด้วยความจำกัดของพื้นที่ซึ่งเด็กๆ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่บริเวณห้องแถว และไม่มีพื้นที่ว่างในบริเวณบ้านมากนัก ทำให้เกิดความคิดร่วมกันว่า ผักบางชนิดสามารถเจริญงอกงามในพื้นที่จำกัดได้ จึงลองนำผักมาปลูกใส่กระถาง บางคนก็บอกว่าไม่มีที่วางกระถาง จึงลองหาที่แขวนกระถางผักแทน ทำให้พืชผักเหล่านี้กลายเป็นกระถางไม้ประดับ ที่นอกจากจะเพิ่มความสวยงามให้กับบ้านแล้วยังสามารถนำมาปรุงเป็นอาหารรับประทานได้อีกด้วย

อีกกิจกรรมหนึ่งที่นักเรียนสนใจก็คือ กิจกรรมลดรายจ่าย โดยการผลิตผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนขึ้นใช้เอง อาทิ น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า สบู่สมุนไพร แชมพู ครีมนวดผม ครีมอาบน้ำ ฯลฯ ผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดจะเน้นการนำวัสดุธรรมชาติที่มีในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ นอกจากจะประหยัดค่าวัสดุแล้ว ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุธรรมชาติที่มีในท้องถิ่นอีกด้วย เช่น ลูกมะกรูด บางบ้านก็ปล่อยให้หล่นเน่าไม่มีค่า เมื่อนักเรียนไปขอมาหมักก็เป็นจุลินทรีย์ที่ใช้ในการทำน้ำยาล้างจาน ทำให้มะกรูดมีค่ามากขึ้น เมื่อนักเรียนผลิตเสร็จแล้ว ก็นำน้ำยาล้างจานไปแบ่งปันให้เจ้าของมะกรูด ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคม มีน้ำใจและรู้จักแบ่งปัน เป็นต้น

ในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ทางโรงเรียนได้ทำโครงการด้วยงบประมาณจากชุมชน ด้วยการจัดกิจกรรมสร้างอาชีพให้กับนักเรียน มีการเชิญวิทยากรมืออาชีพมาให้ความรู้และฝึกปฏิบัติให้นักเรียน โดยให้นักเรียนสามารถเลือกเรียนตามความถนัด ความชอบของตนเอง อาชีพที่เลือกมาให้นักเรียนได้เรียนรู้นั้น จะเป็นอาชีพที่ไม่ใช้เครื่องปรุงหรือวัสดุอุปกรณ์ที่ยุ่งยากซับซ้อน นักเรียนหาซื้อได้ง่ายและไม่แพง หรือนำมาจากที่บ้านได้โดยไม่ต้องไปซื้อหามาเพิ่ม และเป็นอาชีพก็ไม่ต้องลงทุนมาก พอที่กำลังตนเองจะทำได้โดยไม่ต้องไปกู้ยืมเงินคนอื่น การออกแบบการเรียนรู้ คิดจากการมองเห็นสภาพปัญหาที่แท้จริงของเด็กๆ ด้วยการนำกิจกรรมลดรายจ่ายโครงการสร้างอาชีพ มาเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความสนใจใคร่เรียนรู้ ซึ่งแต่ละกิจกรรมก็ล้วนเกิดจากความคิดของเขาที่มองเห็นศักยภาพจากสิ่งรอบตัว โดยมีครูคอยกระตุ้นให้เกิดกระบวนการคิดและลงมือทำ ด้วยการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปบูรณาการใช้ในชีวิตจริง กระบวนการและขั้นตอน ข้าพเจ้าสอนเด็กด้วยวิธีง่ายๆ ด้วยการเล่าถึงความพอเพียง อย่างการใช้เงินในชีวิตประจำวัน ชวนคิดว่ามีเหตุผลหรือไม่ สิ่งไหนสมควรซื้อหรือไม่สมควรซื้อ พ่อแม่ทำงานหนักในโรงงานเพื่อนำเงินมาให้เป็นค่าใช้จ่ายประจำวันๆ ละ 40 บาท ค่ารถก็ไม่ต้องจ่ายเพราะนั่งรถรับส่งของโรงเรียน ข้าพเจ้าจึงแนะนำให้ทุกคนลองหยอดกระปุกออกสินวันละ 10 บาท แล้วแนะว่าถ้าหากวันไหนพ่อแม่ไม่มีเงินให้ เงิน 10 บาทที่เก็บไว้นี้ก็จะมีประโยชน์สามารถนำไปใช้ช่วยเหลือพ่อแม่ของพวกเขาได้ ผักสวนครัวที่เราปลูกไว้ก็นำไปให้ผู้ปกครองประกอบอาหารได้เป็นการลดรายจ่ายของครอบครัว

นอกจากนี้ยังมีวิธีให้เด็กๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมนั่งล้อมวงคุยกัน ผลัดกันมาเล่าถึงวิถีชีวิตของแต่ละคนว่าเป็นอย่างไร เพื่อร่วมกันเรียนรู้การรู้จักตนเอง อย่างเด็กบางคนสามารถปลูกข้าวทำนาได้ ก็ได้เล่าถึงวิถีการทำนาที่แตกต่างกันในแต่ละภาค ตัวอย่าง เช่น ครูเป็นคนภาคใต้ก็มีวิธีการทำนาและปลูกข้าวโดยใช้เครื่องมือที่แตกต่างจากเด็กๆ ในภาคอีสานและภาคเหนือ ทำให้พวกเขาสนุกและเกิดการเรียนรู้ถึงวิถีชีวิตทั้งของตนเองและเพื่อนๆ หรือหากเด็กคนไหนที่ทำนาและปลูกข้าวไม่เป็น เพื่อนๆ ที่ทำเป็นก็มาช่วยกันสอน และชวนกันร่วมเรียนรู้วิธีการปลูกข้าวในโรงเรียน “ชวนกันมาทำนาด้วยวิธีง่ายๆ ในโรงเรียน คือ ช่วยกันขุดดินแล้วนำพลาสติกปูทับลงไป ใส่ดิน ใส่น้ำ ให้เด็ก ๆ ช่วยกันเหยียบย่ำให้เป็นโคลน เด็กบางคนก็มาบอกว่า บ้านหนูมีต้นข้าวที่แม่หว่านไว้ และก็นำพันธุ์ข้าวเหล่านั้นมาให้เพื่อนๆ ที่โรงเรียนช่วยกันดำ เด็กๆ ก็ได้เรียนรู้ร่วมกันและจากความพยายามเหล่านี้ เมื่อข้าวออกรวง ทุกคนก็ช่วยกันเกี่ยวข้าวที่ปลูกไว้เอง ด้วยความภาคภูมิใจ

การเรียนรู้ “ความพอเพียง” จากประสบการณ์จริงเหล่านี้ ทำให้เด็กๆ หนองรีฯ สามารถนำหลักคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้และสร้างเป็นอาชีพติดตัว อันนำไปสู่การมีภูมิคุ้มกันที่ดีได้ในอนาคต