ทำความรู้จักกับ “สมเกียรติ สาระ” เคล็ดลับการพัฒนาเยาวชนที่ใช้ได้ผลที่ “หนองอียอ”
6 ก.พ. 2557
“ผมถือว่าการให้โอกาสเด็กสำคัญที่สุด ไก่ตาย ปลาหาย ไม่เป็นไร อย่าเสียใจ เพราะเราได้โอกาสในการเรียนรู้กลับมา เมื่อเวลามีประชุมใหญ่ในระดับตำบล เราก็จะนำเสนอการเรียนรู้ของเด็กๆ ให้ผู้ใหญ่ได้รับรู้เข้าใจว่าการเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา แล้วล้มเหลวนั้น ไม่ใช่ความล้มเหลว เพราะเราไม่ได้เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลาเพื่อให้มีกำไร แต่เราให้เด็กเลี้ยงเพื่อให้เด็กมีกิจกรรมทำร่วมกันและมีการเรียนรู้สำหรับใช้ในวันข้างหน้า
ขึ้นชื่อว่าทำด้วย “ใจ” มักจะประสบผลสำเร็จในท้ายสุดเสมอ เฉกเช่นเดียวกับ “สมเกียรติ สาระ” หัวหน้าสำนักปลัด อบต. หนองอียอ อำเภอสนม จ.สุรินทร์ ที่เป็นแบบอย่างให้กับ “คนทำงานเพื่อชุมชน” อย่างแท้จริง จึงขอนำบางส่วน บางตอน จากการพัฒนาตนเองของ “สมเกียรติ” ทั้งด้วยตนเองและจากการเข้าร่วมโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ซึ่งสนับสนุนโดยสรส.(สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข) มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ทำให้ได้เห็น “บุคลากร” ที่สำคัญต่อการพัมนาท้องถิ่นอีกหนึ่งคน ซึ่ง “สมเกียรติ” ยังไม่หยุดอยู่แค่นี้ ยังได้พัฒนาตนเองต่อด้วยการเข้าร่วมอบรม “หลักสูตรนักถักทอชุมชน” ซึ่งจัดต่อเนื่องจากโครงการเดิมเป็นระยะที่ 2 เรื่องราวของ “สมเกียรติ” จึงมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง สำหรับวันนี้ขอนำเสนอเป็นตอนแรก....
องค์การบริหารส่วนตำบลหนองอียอ เปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชนท้องถิ่น เป็นการเปิดโอกาสให้ทั้งเด็กที่กำลังศึกษาอยู่ในระบบและเด็กที่ศึกษานอกระบบได้ทำกิจกรรมร่วมกัน
จุดเด่นของการทำกิจกรรมร่วมกันของเยาวชนในตำบลหนองอียอ คือ เป็นกิจกรรมที่เกิดจากความคิด ความต้องการของเยาวชนเอง จึงมีการทำงานกันอย่างต่อเนื่อง แข็งขัน และมีจำนวนของเยาวชนเข้ามาร่วมทำร่วมคิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
บุคคลผู้ริเริ่มให้เกิดการรวมตัวของเยาวชนตำบลหนองอียอ จนกลายเป็น
โครงการเครือข่ายเด็กและเยาวชนจิตอาสาพัฒนาหนองอียอ ซึ่งมีสภาเด็กและเยาวชนตำบลหนองอียอ และเครือข่ายแกรนำเด็กและแลเยาวชนตำบอลหนองอียอ ทำกิจกรรมต่างๆ คือชายหนุ่มอายุ 38 ปี ที่มีตำแหน่งเป็น หัวหน้าสำนักปลัด อบต.หนองอียอ ที่ชื่อ สมเกียรติ สาระ
“สมเกียรติ” เป็นคนตำบลหนองสนิทที่มีพื้นที่อยู่ติดกับตำบลหนองอียอ เขาเริ่มชีวิตการทำงานโดยเป็นประธานสภาเยาวชนในหมู่บ้าน และลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภา ได้รับเลือกโดยไม่ต้องอาศัยสินจ้างรางวัลใดๆ นอกจากการเข้าหาแต่ละบ้าน ก่อนจะผันตัวเองไปสอบเป็นพนักงานส่วนตำบลนับจากนั้นมา ชีวิตของสมเกียรติก็มุ่งมั่นอยู่ในเส้นทางของการทำงานเป็นบุคลากรในหน่วยงานบริหารที่สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบล มาได้ 8 ปีแล้ว
ด้วยความมุ่งมั่นที่จะทำงานเพื่อพัฒนาชุมชนในถิ่นของตนเอง “สมเกียรติ” เริ่มมองหาแนวทางในการทำงานพัฒนาเด็กและเยาวชนตลอดระยะของการทำงานเป็นพนักงาน ประสบการณ์ชีวิตที่ต้องจากบ้านไปทำงานในเมือง ทำให้เขาเข้าใจคุณภาพชีวิตของคนที่ต้องไปใช้แรงงานต่างถิ่น จึงอยากให้เยาวชนในชุมชนมีภูมิคุ้มกันในตนเอง
เพราะอยากได้ประสบการณ์การทำงาน “สมเกียรติ” จึงขอย้ายมาทำงานใน อบต.หนองอียอ เมื่อมีผู้บริหารใหม่ เพื่อนร่วมงานใหม่ ทำให้เขาได้มีโอกาสเรียนรู้งานอย่างมากมายทั้งงานในหน้าที่และงานที่ตัวเองต้องการทำ
เมื่อมาอยู่ที่หนองอียอ เขาเริ่มสนใจทำโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างจริงจัง โดยได้รับแรงบันดาลใจจากการเห็นแนวคิดการทำงานที่เน้นกลไกในระดับตำบลของ สรส.(สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข) มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา โดยผู้อำนวยการ อาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ จึงได้เชิญทางอาจารย์และทีมงานมาร่วมสร้างวิสัยทัศน์ในการทำงานให้กับผู้บริหารของอบต.หนองอียอ ได้เห็นถึงความจำเป็นของการทำงานพัฒนาเด็และเยาวชน
หลังจากผู้บริหาร “ไฟเขียว” “สมเกียรติ” ก็เริ่มออกเดินก้าวแรก ซึ่งเขาบอกว่าเป็นการทำงานแบบ “ลองผิดลองถูก” โดยขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งผู้นำชุมชน ในแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายกว่าจะทำให้เด็กๆ รวมตัวกันติดได้อย่างเหนียวแน่น เพราะต้องอาศัยเวลา ความต่อเนื่องสม่ำเสมอ
“ปีแรกที่เริ่มทำคือ ปี 2553 ผมทำแบบมีใจ และลองผิดลองถูก คือเป็นการทำที่มาจากตัวเราเอง คิดเอง แล้วเอาไปใส่ให้เด็ก วันแรกๆ ที่เด็กมาประชุม บางคนก็เมามาเลย มีอุปสรรคในการทำงานเยอะมาก แต่เราก็ค่อยๆ ปรับวิธีเรียนรู้ไปเรื่อยๆ หลังจากนั้น ปี 2554 ก็ลองทำแบบใหม่ เปลี่ยนให้ทำงานกันแบบมีส่วนร่วมมากขึ้น คือปล่อยให้เด็กคิดเอง เราแค่พยายายามทำให้เด็กไม่เบื่อ หารูปแบบกิจกรรมหลากหลาย และทำให้กิจกรรมของพวกเขาเป็นไปอย่างจิตอาสามากขึ้น เพื่อให้ผู้ใหญ่โดยเฉพาะผู้นำชุมชนให้เขายอมรับเด็กๆ ก่อน ที่เลือกงานที่เป็นจิตอาสา เพราะจะช่วยให้ภาระงานของผู้นำชุมชนเบาขึ้น เขาก็จะเห็นประโยชน์ และทำให้เด็กๆ สามารถทำกิจกรรมในหมู่บ้านได้ง่ายขึ้นเมื่อมีผู้ใหญ่สนับสนุน”
ในระหว่างการเรียนรู้วิธีทำงานเพื่อให้เข้ากับเด็ก “สมเกียรติ” ได้พบกับ “สุริยา ดวงศรี” หรือ “เขียว” ซึ่งกลายเป็นแกนนำเยาวชนคนสำคัญที่ช่วยให้การทำงานพัฒนาเด็กเยาวชนในตำบลหนองอียอ ก้าวไปไกลอย่างรวดเร็ว
“ครั้งแรกที่เห็นเขียว ผมก็คิดว่าเด็กคนนี้คงเป็นนักเลง เพราะติดสินจากท่าทางกิริยาของเขา แต่พอได้รู้จักจริงๆ ผมเห็นถึงความตั้งใจจริงของเขียวที่อยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง และมีความตั้งใจในการทำงานให้กับชุมชนมาก”
“สมเกียรติ” ยอมรับว่า เขียวคือตัวอย่างบทเรียนสำคัญที่ทำให้เขาเรียนรู้การทำงานร่วมกับเด็กว่าต้องมีวิธีการอย่างไร ทำแบบไหน เมื่อเข้าสู่ปีที่สอง จึงเห็นการรวมกลุ่มของเยาวชนที่ชัดเจนมากขึ้นในแต่ละหมู่บ้านหลังจากปรับวิธีคิด เปลี่ยนวิธีทำ โดยจัดให้เด็กจากทั้งสองกลุ่ม คือในระบบและนอกระบบทำงานรวมกัน ไม่มีการแยกส่วน เพราะทั้งสองกลุ่มสามารถเกื้อหนุน เติมเต็มในส่วนที่ต่างคนต่างขาด เช่นเด็กนอกระบบมีเวลามากกว่า ก็จะดูแลรับผิดชอบงานในโครงการของกลุ่มในวันธรรมดาได้ ขณะที่เด็กในระบบมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องวิชาการ ก็สามารถช่วยเหลือสนับสนุนกันได้ และเมื่อถึงเสาร์ วันอาทิตย์ ทั้งสองกลุ่มก็จะมาช่วยกันทำงาน ได้เรียนรู้จักกันและกันไป
ทั้งหมดนั้น คือกระบวนการทำงานพัฒนาเด็กและเยาวชนของตำบลหนองอียอ โดยมี “สมเกียรติ” เป็น ผู้ประสานงานหลัก ทำหน้าที่เป็น
คุณอำนวย (Facilitator) เชื่อมให้คนทุกกลุ่มได้มีโอกาสมาร่วมทำงาน เรียนรู้ไปด้วยกัน
“สมเกียรติ” เรียนรู้และมุ่งมั่นในการทำงานร่วมกับเด็กอย่างต่อเนื่อง จนถึงปี 2555 ผลงานของเด็กๆ ได้รับการยอมรับจากผู้ใหญ่ในตำบลอย่างเห็นได้ชัด เพราะมีการให้ความร่วมมือสนับสนุนด้านต่างๆ ทั้งงบประมาณจาก อบต. ที่ให้เพิ่มขึ้น และผู้ปกครองปล่อยให้บุตรหลานของตนมาร่วมทำกิจกรรมด้วยความเต็มใจทุกสัปดาห์
“สมเกียรติ” ยังเรียนรู้ว่า การทำงานแบบมีส่วนร่วม ทำให้เขาไม่ต้องเหนื่อยคนเดียวอีกต่อไป และไม่ต้องเครียดกังวล งานที่ดูเหมือนหนักหนาสาหัสในตอนเริ่มต้น มาถึงวันนี้ จึงเป็นเรื่องสบายๆ ไปแล้ว
“แต่ก่อนเราเครียดมาก เวลาจะทำงาน จะเรียกประชุม เรากังวลว่าผู้ปกครองจะยอมให้ลูกของเขามาไหมนะ แต่มาตอนนี้ เราไม่ต้องกังวลเรื่องพวกนี้แล้ว ทำงานได้อย่างสบายใจมากขึ้น เพราะผู้ปกครองรู้เห็นและให้การสนับสนุน ในตัวเด็กๆ เองที่เราเห็นพัฒนาการความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนคือ การจัดงานต่างๆ เด็กเข้ามาเยอะเลย คิดว่าสิ่งที่ทำให้เด็กๆ เข้ามาทำงานร่วมกันเพราะงานที่ทำมันสนุก แล้วเขาได้เจอเพื่อน ได้แสดงความสามารถของตนเองออกมา ได้ทำงานร่วมกันเป็นทีม น่าจะเป็นเรื่องพวกนี้แหละที่ทำให้เด็กยังทำงานกันต่อโดยไม่คำนึงถึงเรื่องค่าตอบแทนใดๆ”
กิจกรรมที่ทำเป็นประจำในนามของ
โครงการเครือข่ายเด็กและเยาวชนจิตอาสาพัฒนาหนองอียอ มีหลากหลาย ทั้งการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคติดต่อและการคุ้มครองผู้บริโภคในรูปแบบของการจัดเสียงตามสายในทุกหมู่บ้านของตำบล ทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์ การเรียนรู้อาชีพตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ การเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เลี้ยงกบ เพาะเห็ด รวมทั้ง กิจกรรมจิตอาสา คือการทำความสะอาดพื้นที่ในหมู่บ้านและในวัดซึ่งจัดทุกวันเสาร์ กิจกรรมพวกนี้มีการทำกันอย่างต่อเนื่อง โดยมี อบต.ลงทุนงบประมาณให้
สำหรับกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้อาชีพ หลังจากทำไปแล้วไม่ว่าจะได้กำไรหรือขาดทุน
“สมเกียรติ” จะปล่อยให้เด็กจัดการบริหารเอง บางกลุ่มที่เลือกทำโครงการเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงแล้วขาดทุน ก็เลปี่ยนไปทำกิจกรรมกีฬาแทน เป็นต้น ซึ่ง “สมเกียรติ” ไม่มองว่านี่คือปัญหา เพราะทุกอย่างที่เด็กทำ ล้วนแต่สร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กได้ หากมีผู้ใหญ่คนใดไม่เห็นด้วย หรือคลางแคลงใจกับการที่ “สมเกียรติ” ปล่อยให้เด็กๆ บริหารโครงการกันเองจนเกิดการขาดทุน เขาก็จะทำหน้าที่ชี้แจงในเวทีประชุมประจำเดือน เพื่อเตือนสติให้ผู้ใหญ่เข้าใจถึงการสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กว่าต้องเปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้จากการ “ลองผิดลองถูก”
จากการมุ่งมั่งทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ และมีความหลากหลาย รวมทั้งมีรูปแบบที่เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย จึงทำให้โครงการฯ ดังกล่าวของเยารวชนในตำบลหนองอียอได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งใน
โครงการคนไทยใจอาสาดีเด่น ของจังหวัดสุรินทร์ เมื่อเดือนกันยายน 2555 ทั้งยังได้รับงบประมาณสนับสนุนในการทำงานจาก อบต. มากขึ้น เพราะผู้บริหารเองยอมรับว่าเวลาไปร่วมประชุมที่ไหนก็ได้รับคำชมเชยตลอด
“ผมถือว่าการให้โอกาสเด็กสำคัญที่สุด ไก่ตาย ปลาหาย ไม่เป็นไร อย่าเสียใจ เพราะเราได้โอกาสในการเรียนรู้กลับมา เมื่อเวลามีประชุมใหญ่ในระดับตำบล เราก็จะนำเสนอการเรียนรู้ของเด็กๆ ให้ผู้ใหญ่ได้รับรู้เข้าใจว่าการเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา แล้วล้มเหลวนั้น ไม่ใช่ความล้มเหลว เพราะเราไม่ได้เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลาเพื่อให้มีกำไร แต่เราให้เด็กเลี้ยงเพื่อให้เด็กมีกิจกรรมทำร่วมกันและมีการเรียนรู้สำหรับใช้ในวันข้างหน้า”
จากที่เคยทำอยู่คนเดียวในปีแรก เมื่อขยับตำแหน่งขึ้นมาเป็นหัวหน้า ทำให้มีลูกน้องช่วยทำงานมากขึ้น “สมเกียรติ” ชี้ชวนให้ลูกน้องเข้าใจถึงความสำคัญของการพัฒนาเด็ก เยาวชน ว่าเป็นรากฐานที่สำคัญยิ่งในการทำงานท้องถิ่นอย่างไร
“การทำให้ทีมงานมีใจร่วมทำกับเรา คือ เราเน้นการสื่อสารในทีม สำรวจความรู้สึกของคนทำงานด้วยกันว่าเขารู้สึกอย่างไรบ้างเมื่อได้ยินเสียงสะท้อนของเด็ก เขาคิดอย่างไรถ้าหากเราไม่ทำให้กิจกรรมเหล่านี้เกิดขึ้น อีกอย่างที่เราทำให้เกิดแรงจูงใจในการทำงานของทีมงานคือ การประเมินเพื่อให้โบนัสแต่ละปี เพราะต้องมาจากผลงานที่เห็นชัดเจนจับต้องได้ ซึ่งก็คือจำนวนของเด็กที่มาเข้าร่วมมากขึ้น รวมทั้งการมีส่วนร่วมการยอมรับจากพ่อแม่ผู้ปกครองในชุมชนนั่นเอง”
สิ่งที่
“สมเกียรติ” ต้องการพัฒนาต่อไปคือ การรวบรวมงานที่ทำมาทั้งหมดให้เป็นระบบ มีการจัดเก็บที่สะดวกเมื่อต้องการใช้งาน รวมทั้งการนำเสนอในรูปแบบที่ทันสมัยมากขึ้น เช่น การใช้เครื่องมือสารสนเทศเข้ามาช่วยในการทำงาน
“ส่วนเรื่องความยั่งยืนนั้น เราไม่กังวลอีกแล้ว เพราะไม่ว่าจะเปลี่ยนผู้บริหารไปกี่คน แต่งานเหล่านี้ไปอยู่ในชุมชนแล้ว ผู้ปกครองและเด็กต้องการ ก็ต้องทำ ไม่มีใครไปเปลี่ยนได้ถ้าเป็นความต้องการของชุมชน”
เรื่องราวของ “สมเกียรติ” ไม่จบลงเพียงแค่นี้ ติดตามภาคต่อในตอน
“นักถักทอชุมชน:ถักทอทุนทางสังคมในการสร้างและส่งเสริมความเข้มแข็งของกลไกพัฒนาเด็ก เยาวชน ในชุมชนท้องถิ่น” เร็วๆ นี้ ติดตามรายละเอียดได้ที่ http://www.scbfoundation.com/project/เยาวชน4ภาค