ทรัพย์ในดิน

"ทรัพย์ในดิน"

โดย นางสารภี สายหอม

          เกริ่นนำ

          พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2544 ให้ครูต้องจัดการเรียนรู้แก่ผู้เรียนด้วยวิธีการที่หลากหลาย ชี้แนะแหล่งเรียนรู้ และสอนให้ผู้เรียนรู้วิธีการเรียนรู้ด้วยตนเอง ได้ฝึกปฏิบัติจริงและสอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นหลักคิด หลักปฏิบัติตน ให้รู้จักประมาณตน มีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี รู้จักใช้วัตถุสิ่งของทรัพยากรอย่างพอเพียง อยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีจิตสำนึกรักษ์ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม


            การออกแบบการเรียนการสอน

            ครูกระตุ้นให้นักเรียนสำรวจและสืบค้นหาความรู้ด้วยตนเอง เรียนรู้เรื่องใกล้ตัว นำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยนำความรู้ที่เรียนรู้ร่วมกันในห้องเรียนมาวิเคราะห์สภาพปัญหาของดินในชุมชน แล้วร่วมกันสืบค้นองค์ความรู้ของภูมิปัญญาท้องถิ่นในการอนุรักษ์และปรับปรุงดิน มีกระบวนการออกแบบการเรียนรู้ ดังนี้

          1. วิเคราะห์หลักสูตร เพื่อพิจารณาความสอดคล้องของมาตรฐานการเรียนรู้ ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง เนื้อหาสาระที่สามารถนำมาบูรณาการกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วิเคราะห์ผู้เรียน เพื่อกำหนดกลุ่มการเรียน แหล่งเรียนรู้ สื่อ กิจกรรมการเรียนรู้ วิธีการประเมินผลที่เหมาะสม
          2. กำหนดกิจกรรมการเรียนรู้ ในห้องเรียนสู่นอกห้องเรียน/แหล่งเรียนรู้ในชุมชน
                   2.1 เรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการเกิดดินและคุณสมบัติของดิน ด้วยการทดลอง
                   2.2 นักเรียนเตรียมการสำรวจพฤติกรรมการใช้ประโยชน์จากดินของคนในชุมชน
                   2.3 ออกสำรวจ/สัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ประโยชน์จากดินที่ดีและไม่ดี แนวทางการอนุรักษ์ ปรับปรุงดินตามภูมิปัญญาท้องถิ่น
          3. นักเรียนแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในห้องเรียน ศึกษาเนื้อหาเกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
          4. นักเรียนร่วมกันวิเคราะห์ถอดบทเรียนผลการดำเนินงานที่สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง


           ภาพความสำเร็จ

           1. นักเรียนสามารถวิเคราะห์ถอดบทเรียนจากกระบวนการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
           2. นักเรียนเรียนรู้การใช้วัตถุสิ่งของอย่างพอเพียง เรียนรู้แนวทางอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และนำวิทยาศาสตร์มาใช้กับเรื่องใกล้ตัวได้เหมาะสม

           3. นักเรียนเรียนรู้ด้วยความสนุก ฝึกทักษะการสำรวจ สัมภาษณ์ และรู้จักทำงานเป็นทีม

           4. นักเรียนใช้เหตุผลในการตัดสินใจและภูมิใจในความสามารถของภูมิปัญญาท้องถิ่น
           5. ชุมชนดีใจและให้ความร่วมมือในการเข้ามาเรียนรู้ของนักเรียน


หลักคิดในการออกแบบการเรียนการสอนของฉัน

            การออกแบบการเรียนการสอนของฉันจะยึดหลักง่ายๆ คงไม่มีทฤษฎีอะไรมาอ้างอิง คือเน้นนักเรียนเป็นสำคัญ นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียน นักเรียนพร้อมที่จะเรียน ครูพร้อมที่จะสอน ดังนั้นก่อนออกแบบการสอนฉันจะเตรียมความพร้อม ด้วยการศึกษาวิเคราะห์หลักสูตรจนเข้าใจ ศึกษานักเรียนของฉันเพื่อจัดกลุ่มให้เหมาะสม ชี้แจงให้เขาเข้าใจเป้าหมายการเรียน ชี้แจงเครื่องมือในการตรวจสอบความรู้ และทักษะต่าง ๆ การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข สนุกกับการเรียนควรทำอย่างไร ฉันจะให้ความสำคัญกับนักเรียนมาก ต้องเตรียมนักเรียนให้พร้อมก่อนการเรียนการสอน เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการเรียนที่ดีระหว่างนักเรียนกับครู นักเรียนกับนักเรียนด้วยกัน

            ดังนั้นก่อนออกแบบการเรียนการสอน บางครั้งจะถามนักเรียนว่าถ้าเรียนเรื่องนี้ครูให้นักเรียนทำบทบาทสมมุติ หรือออกสำรวจ หรือค้นคว้าแล้วมารายงาน นักเรียนชอบแบบไหน เมื่อนักเรียนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดวิธีการเรียน วิธีการวัดผลประเมินผล เขาจะเต็มใจเรียน เขาจะภูมิใจว่าครูให้ความสำคัญ ...แต่ในบางครั้งครูกำหนดเลยเพราะเป็นการเรียนรู้โดยปฏิบัติการทดลอง ซึ่งนักเรียนทำงานเป็นกลุ่ม ฉันรู้ว่านักเรียนจะเบื่อง่าย ฉันจะออกแบบการเรียนการสอนหลายๆ แบบ เพื่อไม่ให้จำเจ เน้นการเรียนรู้แบบร่วมมือของนักเรียน แต่ต้องเหมาะสมกับเนื้อหาด้วยนะ เช่น ขั้นทบทวนอาจเป็นเล่นเกม จับคู่ถาม-ตอบ ทำแบบฝึกหัด ทำแผนผังความคิดเชื่อมโยงเนื้อหา จับสลากถาม-ตอบ ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ฉันจะสอดแทรกหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้นักเรียนวิเคราะห์หลักความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล หลักความมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว เงื่อนไข ความรู้ และคุณธรรม เพื่อให้นักเรียนเกิดหลักคิดและหลักปฏิบัตินำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้


             กระบวนการและขั้นตอนในการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียง

             กระบวนการและขั้นตอนในการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงของฉันที่ผู้สนใจอาจนำไปปรับใช้ได้ โดยเฉพาะในการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาบูรณาการกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยฉันศึกษาและวิเคราะห์หลักสูตร มาตรฐานการเรียนรู้ ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง สาระการเรียนรู้ หน่วยการเรียน ลำดับเนื้อหาและเวลาเรียนที่สามารถนำมาบูรณาการเข้ากับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วิเคราะห์ผู้เรียน โดยขอประวัติและข้อมูลอื่นๆ ของนักเรียนที่จะสอนจากครูประจำชั้น จากงานทะเบียน/วัดผล และเก็บข้อมูลด้วยตนเองจากการให้นักเรียนทำแบบทดสอบก่อนเรียน การสังเกต การสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการ ในช่วงการจัดการเรียนรู้ 1-2 สัปดาห์แรกของการเปิดภาคเรียนประมวลข้อมูลที่ได้ทั้งหมดแล้วนำมาจัดแบ่งกลุ่มนักเรียนออกเป็นกลุ่มๆ คละนักเรียนที่มีความรู้ความสามารถ อ่อน ปานกลาง เก่ง วิเคราะห์เนื้อหาและกิจกรรม เพื่อออกแบบการเรียนรู้

             นอกจากนี้ยังใช้หลักปรัชญาฯ มาวิเคราะห์การเตรียมการว่าครูใช้หลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไขอย่างไร นักเรียนได้หลักคิดหลักปฏิบัติอย่างไรระหว่างเรียน หลังการเรียนมีผลลัพธ์ KPA ใน 4 มิติอย่างไร

             ขอยกตัวอย่างการออกแบบการเรียนรู้ที่ฉันภูมิใจ เรื่อง “ทรัพย์ในดิน” เผื่อท่านที่สนใจลองนำไปปรับใช้ได้ โดยฉันดึงเอาเรื่องใกล้ตัวของนักเรียนมาผูกเนื้อหาที่สอนในห้องเรียน เพราะฉะนั้น การออกแบบการสอนจะใช้วิธีการสอนที่เรียนในห้องเรียน เพื่อให้ได้เนื้อหาและใช้กระบวนการกลุ่ม มีการทดลองเหมือนปกติ แต่พอจะดึงเนื้อหาออกไปนอกห้องเรียน จะใช้วิธีโยงเนื้อหาไปกับปัญหาของชุมชน

            โรงเรียนสำโรงทาบเป็นโรงเรียนประจำอำเภอ รอบโรงเรียนเป็นท้องไร่ท้องนา ฤดูทำนาชาวบ้านจะใช้ยาฆ่าหญ้าตามวิธีสมัยใหม่ ไม่ใช้วิธีไถคราด ปักดำ แต่ใช้วิธีหว่าน วัชพืชขึ้นเยอะมาก วิธีง่ายๆ เพื่อกำจัดก็คือการฉีดยา ซึ่งยาจะฟุ้งกระจายไปในอากาศ เมื่อขี่รถผ่าน ครูและนักเรียนก็จะได้กลิ่น นอกจากนี้ ก็จะมีการใช้ปุ๋ยเคมีเยอะมาก พอเสร็จฤดูนาก็เผา กลิ่นเผาตอซังข้าวโชยเข้ามาถึงในโรงเรียน จากตรงนี้ที่ฉันสอนวิชาวิทยาศาสตร์ ม.2 จึงอยากให้นักเรียนตระหนักถึงปัญหาของชุมชน และผลกระทบที่จะตามมา

            

            ฉันแบ่งเนื้อหาการจัดการเรียนรู้ออกเป็น 3 แผนการเรียนรู้ แผนละ 2 ชั่วโมง

           แผนที่ 1 กระบวนการเกิดดินและคุณสมบัติของดิน โดยเริ่มต้นครูให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยการวิเคราะห์กระบวนการเกิดดินจากแผ่นภาพ มอบหมายให้นักเรียนทดสอบคุณสมบัติของดินชั้นบนและชั้นล่างในชุมชนของตนเอง ซึ่งนักเรียนสามารถนำวัสดุและอุปกรณ์ที่มีในบ้านหรือท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ในการทดลองได้ แล้วส่งรายงานเพื่อร่วมกันอภิปราย มอบบทเรียนการ์ตูนเรื่อง “ดินจ๋าอย่าร้องไห้” เพื่อวิเคราะห์ถึงความทุกข์ของดินที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ฉันอยากให้เด็กได้เรียนรู้ว่า หากไม่อนุรักษ์ดินในท้องถิ่นของเขา จะเกิดปัญหาดินอย่างไร

          แผนที่ 2 พฤติกรรมการใช้ประโยชน์จากดินของคนในชุมชน นักเรียนแต่ละกลุ่มวางแผนสำรวจการใช้ประโยชน์จากดินของคนในชุมชน นำข้อมูลมาแยกแยะพฤติกรรมที่ดีและไม่ดี ในระหว่างสำรวจให้สัมภาษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นถึงวิธีการปรับปรุงคุณภาพของดิน

          แผนที่ 3 แนวทางพัฒนาดินของคนในชุมชน นักเรียนแต่ละกลุ่มนำผลการสำรวจและสัมภาษณ์แนวทางพัฒนาและปรับปรุงดินของภูมิปัญญาท้องถิ่นมาอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน วิธีการดั้งเดิมเป็นอย่างไร เราน่าจะสืบทอดไว้หรือไม่ เช่น การปลูกพืชหมุนเวียน การทำปุ๋ยคอก และทำปุ๋ยชีวภาพใช้เอง เป็นต้น ครูให้นักเรียนวิเคราะห์กระบวนการทำงานกลุ่มและแนวทางในการใช้ประโยชน์จากดิน การปรับปรุงดินของคนในชุมชนว่าสอดคล้องกับหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไขในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร ซึ่งจะเห็นว่าครูจะสอนเรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงหลังการดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนย้อนดูว่าการทำกิจกรรมของแต่ละขั้นตอนสัมพันธ์กับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร โดยใช้สื่อบทเรียนการ์ตูนเศรษฐกิจพอเพียงที่ครูผลิตขึ้น จากนั้นให้นักเรียนถอดบทเรียนว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่นมีกระบวนการทำที่ใช้เศรษฐกิจพอเพียงหรือไม่ อย่างไร