ถอดกระบวนการต้นน้ำ (โคชและพี่เลี้ยง จังหวัดสงขลา)

ถอดกระบวนการต้นน้ำ (โคชและพี่เลี้ยง จังหวัดสงขลา) วันที่ 9 -10 พฤษภาคม 2559

เจ๊าะ จบอะไรมา

เจ๊าะ: จบภาษามลายู วิชาโทคอมพิวเตอร์ ตอนนั้นที่เลือกมลายูไม่ใช่ภาษาที่ตัวเองถนัด พอดีมีครูมาฝึกสอนที่โรงเรียนแล้วรู้สึกว่าสนุก เขามีวิธีสอนที่แตกต่างจากโต๊ะครู ตอนนั้นเรียนสายวิทย์-คณิตแล้วเบื่อ จึงไปต่อด้านภาษา และชอบคอมพิวเตอร์ด้วยจึงเลือกวิชาโทคอมพิวเตอร์ เลือกวิชาที่ชอบและวิชาที่ถนัด ตอนตัดสินใจเรียนไม่ได้คิดคิดว่าอยากเปิดร้านคอมพ์เป็นของตัวเอง พอเรียนไปสักพักรู้สึกว่าดีที่เราเรียนมลายู แม้เราจะอยู่ในนั้นมีภาษามาลายูถิ่นแต่เราเรียนภาษามลายูกลาง ตอนที่เปิดร้านคอมพ์คิดว่าเห็นเด็กไปหมกมุ่นเล่นเกมส์ อยากให้เด็กเป็นเหมือนตัวเราที่เวลาเล่นคอมพ์จะชอบหาความรู้ จึงอยากเปิดร้านคอมพ์แนวที่ไม่มีเกม ให้เด็กใช้คอมพ์ไปในทางที่เราทำ อีกอย่างอยากเปิดห้องสมุด เพราะในชุมชนไม่มีห้องสมุด มีแต่ในโรงเรียนหรือไม่ก็ในเมือง ตัวเราชอบอ่านหนังสือ ตอนเด็กชอบอ่านหนังสือ ชอบไปห้องสมุดประชาชน หนังสือที่อ่านส่วนใหญ่เริ่มจากนิยายแล้วเป็นวรรณกรรม พอเรียนจบก็เข้ามาเป็นบัณฑิตอาสาเพราะตอนเรียนเรามีความรู้เรื่องทำโครงการ อีกอย่างเขารับสมัครเลยลองสมัครดูแล้วก็ติด

ได้ความรู้เรื่องการทำโครงการมาอย่างไร

เจ๊าะ: ตอนสมัครเป็นคณะกรรมการหอพักมหาวิทยาลัย พี่เลี้ยงแต่ละหอพักต้องทำโครงการอย่างน้อย 2 โครงการให้น้องในหอพักทำ เราทำผิดบ้างถูกบ้าง ตอนนั้นทำเกี่ยวกับเรื่องสันทนาการคลายเครียดเวลาสอบ มีเกมนิดหน่อย มีการนำกระบวนให้น้องผ่อนคลาย

ตอนใกล้เรียนจบก็มีคิดเรื่องทำราชการ เพราะพี่สาวบ่นว่าทำบัณฑิตอาสาไปล่ารายชื่ออย่างเดียว ไปเก็บข้อมูล ทำงานไม่มีขั้นตอนไม่มีกระบวนที่แน่นอน แต่เราไม่อยากเป็นข้าราชการเช้าชามเย็นชาม เพราะรับข้อมูลมาแต่แบบนั้น เป็นบัณฑิตอาสาปีหนึ่ง หลังจากนั้นไปสมัคร กพ. แต่ไม่ได้สอบ เพราะไม่ได้อยากเป็นข้าราชการ แล้วไปช่วยแม่ เริ่มคิดกับแม่ว่าจะทำร้านคอมพ์ ช่วงแรกหาทุนด้วยการขายน้ำมัน ขายน้ำปั่น แต่ขาดทุน จึงไปยืมเงินยายมาเปิดร้านคอมพ์ ที่ร้านของเราจะกำหนดว่าเด็กอายุไม่ถึงเกณฑ์ก็ไม่ให้ใช้ ถ้าใช้ต้องมีพ่อแม่มาดูด้วย พวกพ่อแม่ก็ไว้ใจ เราไม่ได้หวังให้ร้านได้กำไรเยอะแค่ให้พออยู่ได้ ทำไปทำมา เหมือนว่ายังไม่มีความรู้ที่มากพอ เริ่มคิดว่าร้านคอมพ์อย่างเดียว ไม่ได้ทำให้เด็กแถวบ้านเราดีขึ้น ยังติดยายังติดเกมอยู่เหมือนเดิม

คิดอะไรที่ทำให้เราแคร์เรื่องนี้

เจ๊าะ: ในชุมชนเป็นพี่เป็นน้องเป็นญาติเราเหมือนกัน แล้วถ้าหลานๆ เราโตขึ้นก็ต้องอยู่ในสังคมนี้ ถ้าเราไม่ดูแลแล้วเขาจะทำอย่างไรในเมื่อเขาต้องอยู่กับสังคมเพื่อนมากว่า ไม่ฟังหรอก เราทำร้านคอมพ์ เป็นบัณฑิตอาสาก็ไม่ได้มีความรู้ ไม่ชำนาญถึงขั้นจะพัฒนาเด็กในชุมชน ประกอบกับสงขลาฟอรั่มรับสมัคร เราไม่ได้รู้จักสงขลาฟอรั่มมาก่อน รู้จากพี่มินีแค่ว่าทำงานเกี่ยวกับเด็ก แต่ก็ลองส่งใบสมัครมา

ตัดสินใจอย่างไร เพราะตอนนั้นธุรกิจก็ดูเหมือนว่าไปได้

เจ๊าะ: ทะเลาะกับที่บ้านว่าทำร้านคอมอยู่ดีๆ ไปโน่นทำไม เราบอกเขาว่าไม่อยากอยู่ที่เดิม มีความรู้แค่เดิมๆ เราอยากมีความรู้ใหม่ๆ เราเป็นบัณฑิตอาสา จบตั้งปริญญาตรีสูงกว่าทุกคนในตระกูล ทำไมเราไม่ใช้ความรู้มาทำให้บ้านเราดีขึ้น ตอนนี้เด็กมีแต่การพนันและเสพยาเสพติด หลานที่บ้านก็โตขึ้นเรื่อยๆ เราเป็นห่วง ที่จริงสมัครเล่นๆ แอบหวังนิดๆ ว่าจะได้ มาสัมภาษณ์กับป้าหนู ดูเพลงสงขลาส่องแสงมีคำหนึ่งที่สะกิดใจเราว่า อย่าเป็นคนไม่สาไหร การที่เราอยู่เฉยๆ ก็เหมือนกับเราเป็นคนไม่สาไหร ไม่สนใจอะไร คนในชุมชนจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ ซึ่งมันขัดกับอุดมคติที่เราถูกบ่มเพาะมาจากบัณฑิตอาสาด้วยที่ว่า เราอยู่ในสังคม ไม่ได้อยู่คนเดียว มันเกิดที่คนหนึ่ง แต่จะกระทบไปสู่อีกหลายคน แล้วเราชอบอะไรใหม่ๆ จึงตัดสินใจมาสมัครที่นี่แล้วก็ได้ ตอนนี้ร้านคอมพ์หยุดไปแล้ว ค่อยไปสานใหม่ ค่อยไปเริ่มใหม่


พอเข้ามาทำสงขลาฟอรั่มแล้ว เข้าใจหรือยังว่าเขาทำอะไร แล้วเราคาดหวังกับเป้าหมายงานเราอย่างไร

เจ๊าะ: เข้ามาแรกๆ ศึกษาการทำงานของที่นี่ ไม่เหมือนโครงการอื่นๆที่ทำโครงการแล้วได้โครงการ ที่นี่สอนให้เด็กอดทนอดกลั้นไม่เพ้อฝัน อยู่ในโลกความเป็นจริง ป้าหนูเป็นแรงบันดาลใจอย่างนึ่ง เขาจะมีความรู้ใหม่ๆ ตลอด เราตามไม่ทันสักที เวลาป้าหนูด่าอาจน้อยใจแต่ไม่กลัว ชอบเวลาทำงานกับแก แล้วแกให้ความรู้ เมื่อก่อนเวลาจัดการกับปัญหาเราจะตรงๆ พอมาทำงานที่นี่จึงได้รู้ว่าบางทีเราใช้ทางอ้อมก็ได้ ใช้การพูดซอฟต์ๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับตัวเอง ก็กำลังศึกษาวิธีการนั้นอยู่

อยู่ที่นี่ 2 ปีแล้วเป็นอย่างไรบ้าง

เจ๊าะ: ถ้าที่นี่ทำไปอีก 10 ปี เราก็คงอยู่ไปอีก 10 ปี

อะไรที่หล่อเลี้ยงให้อยู่ที่นี่ได้

เจ๊าะ: วิธีคิด วิธีการทำงานไม่เหมือนที่อื่น ไม่ใช่ทำโครงการเพื่อโครงการแต่ทำโครงการเพื่อจิตใจภายใน ซึ่งสำคัญมากเพราะเดี๋ยวนี้เด็กไม่มีวุฒิภาวะ พ่อแม่ให้เรียนอย่างเดียว ถ้าเขาได้ทำงานด้วยจะทำให้ควบคุมอารมณ์ได้ คิดอยากนำโครงการแบบนี้ไปทำที่บ้าน เวลาประชาสัมพันธ์โครงการเราก็ไปบอก ครั้งแรกที่มีโครงการลงบ้านตัวเอง คือโครงการตะลุโบะเมื่อปีก่อน รู้สึกภาคภูมิใจที่อย่างน้อยได้ทำอะไรเพื่อบ้านเราเพราะไม่ได้มองแค่หมู่บ้านที่อยู่คือบ้านตัวเอง แต่มองว่า 3 จังหวัดเป็นบ้านตัวเอง เนื่องจากเราได้รับการสอนตั้งแต่เด็กว่า เพราะเราคือเรือนร่างเดียวกัน หมายถึงคนที่นับถือศาสนาเดียวกันคือเรือนร่างเดียวกัน การช่วยให้เขาดีขึ้น พัฒนาขึ้น เราก็ได้บุญ ส่วนไหนเจ็บ เราก็เจ็บไปด้วย

พอเราเข้ามาทำงานที่นี่ ไม่ได้คิดแล้วแค่ว่าคนในศาสนาจะดีขึ้น ถ้าคนในสังคมเดียวกันนี้ดีขึ้น ทั้งหมดก็จะดีขึ้น คนในศาสนาเราก็ดีขึ้น มันเปิดกว้างเรื่องนี้มากขึ้น

เจ๊าะได้วิธีคิดพวกนี้มาจากไหน อะไรที่หล่อหลอมให้เป็นเราในวันนี้

เจ๊าะ: พ่อชอบให้ดูสารคดี ดูข่าว ดูความเป็นไปของโลก และสอนให้เรายืนอยู่ได้ด้วยตัวของตัวเอง ขณะเดียวกันก็อยากให้เรียบร้อย อยู่ในหลักศาสนา เป็นผู้หญิงเรียบร้อยที่ไม่ต้องทำงานสมบุกสมบัน เหมือนการสอนของพ่อจะขัดแย้งกับสิ่งที่เขาอยากให้เราเป็น ส่วนแม่จะสอนทำดีได้ดี ไม่ต้องคิดมากว่าคนอื่นจะดีกว่าจะเอาเปรียบเรา เดี๋ยวอัลเลาะห์ลงโทษเขาเอง ทำดีก็ต้องได้ดี ทำชั่วไม่นานก็กรรมตามสนอง ประกอบกับเราเคร่งครัดศาสนา และเชื่อมว่าความเป็นจริงเป็นอย่างไร ทำให้เรากลายเป็นคนอย่างนี้ คอยหาความรู้ตลอดเพื่อให้ยืนด้วยตัวเองได้ ไม่สร้างภาระให้ใคร


ทำหน้าที่อะไรที่สงขลาฟอรั่ม

เจ๊าะ: ตอนแรกทำเรื่องโครงการ เรื่องบันทึกตอนประชุม ต่อมาป้าหนูเห็นว่าไหนๆ ก็บันทึกการประชุมแล้วให้บันทึกวิดีโอด้วยดีกว่า หลังจากนั้นเริ่มมารับผิดชอบโครงการเป็นพี่เลี้ยงให้น้อง


ชอบอะไรมากกว่าระหว่างงานที่บันทึก จัดการข้อมูล กับการเป็นโคช

เจ๊าะ: เราชอบโคชมากกว่าเป็นความรู้ที่มากกว่าการถอดกระบวนอยู่คนเดียว ถ้าเราเก่งเรื่องการโคชก็จะเก่งการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า จนน้องไปถึงเป้า ทำให้เราภูมิใจ ว่าเด็กคนหนึ่งที่ทำงานไม่เป็น แล้วเราได้สอน ได้โคชจนเขาเก่งขึ้น เราจะภูมิใจอีกมากแค่ไหน ตอนที่ดูแลโครงการถึงใครจะว่าอย่างไร เรายังภูมิใจ เราสนิทกับน้องมาก เวลามีปัญหาอะไรคุยกันหมด ขออะไรน้องทำให้หมด แต่การโคชมันยาก ยังทำไม่ดีเท่าคนอื่น เป็นสิ่งที่ไม่เคยเจอ จึงอยากฝึกตัวเอง ขณะเดียวกันถ้าน้องมีศักยภาพแล้วเราพาไปไม่ถึง เราก็รู้สึกผิดเหมือนกัน ตอนที่เราแก้ปัญหาให้น้องไม่ได้ ทำให้โครงการดีขึ้นไม่ได้ ก็คิดมากเหมือนกัน นั่งคิดตลอดว่าจะทำอย่างไร พยายามจัดการด้วยตัวเอง เพราะเกรงใจคนอื่น ถือว่าเป็นบทเรียนที่พยายามจัดการทั้งที่ร้อน จึงทำไม่ได้ ทำให้รู้ว่าเราต้องคุยกันก่อน เพราะมีเพื่อนมีพี่อีกหลายคนที่ช่วยจัดการได้


ความเกรงใจหายไปตอนไหน

เจ๊าะ: ตอนประชุมแล้วเราไม่สามารถเล่าเรื่องน้องออกมาได้ทั้งหมด อธิบายไม่ถูก วนอยู่ที่เดิม จึงนำเรื่องปัญหามาพูดคุย พี่ก็เข้ามาช่วยให้ดีขึ้น และโครงการไปได้ตามเป้าที่น้องต้องการ มี อบต.เข้ามาสานต่อ ชุมชนเห็นว่าเป็นโครงการที่ดี

อุ้มเรียนจบอะไรมา

อุ้ม: เป็นคนสงขลา จบวิจิตรศิลป์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรียนจบแรกๆ สอนศิลปะเด็กอยู่เชียงใหม่ จากนั้นย้ายมาเป็นครูที่รังสิตคลอง 3 แล้วกลับมาอยู่บ้านเป็นช่างรับปริ๊นต์งานพิมพ์ งานสติ๊กเกอร์ จากนั้นจึงมาทำที่สงขลาฟอรั่ม

เราเลือกเรียนที่เชียงใหม่ เพราะเคยไปเรียนศิลปะตอนซัมเมอร์แล้วชอบ เหมือนได้อยู่กับตัวเองและทำอะไรสักอย่าง แล้วได้ดูหนังเรื่องเพื่อนสนิทจึงอยากลองเรียนดู ตอนแรกว่าจะเรียนเทคโนฯ ใกล้บ้าน หรือ มอ.ปัตตานี พอไปสอบที่เทคโนฯ ก็ติด แต่ลงแอดมิชชั่นด้วยก็ติดที่ มช.เลยไปเรียน รู้สึกชอบแต่ไม่ใช่เท่าไรชอบการใช้ชีวิตของผู้ร่วมเรียนศิลปะ มีการวิจารณ์และพูดคุยเรื่องงาน ตอนจบมาใหม่ๆ ไม่รู้จะทำอะไร เพราะอยากทำมากกว่าการวาดภาพขาย จนมีเพื่อนชักชวนไปสอนศิลปะเด็ก รู้สึกสนุก ต้องปรับเปลี่ยนการพูดให้ง่ายขึ้น แต่ช่วงแรกที่หางานไม่ได้เลยเริ่มรู้สึกไม่ใช่ จบศิลปะเหมือนเป็นวิชาที่รองจากวิทย์-คณิต บางทีมีจ๊อบเพ้นต์ช้างก็ไปรับจ้างเขา

ความฝันแรกตอนเรียนอยากเป็นศิลปินมาก ประเภทวาดรูป พอเรียนไปเรื่อยๆ เริ่มรู้สึกว่าเราไม่ได้เก่งขนาดนั้น หรืออาจไม่ได้ชอบจริงๆ เพราะมีช่วงหนึ่งที่เราอยู่กับมันนาน แล้วรู้สึกว่า เราตัน หาทางออกไม่ได้ในตอนทำทีซีสคือ งานชิ้นใหญ่ต้องใช้เวลาทำค่อนข้างนาน อาจารย์จึงให้ติด P ไว้ แล้วเราเพ้นต์อยู่นานจนรู้สึกตัน และต้องจบแล้ว กระทั่งอาจารย์ถามว่าคุณทำงานจบแล้ว แต่ในใจของคุณจบหรือเปล่า เราก็นั่งคิดทบทวน แล้วได้คำตอบว่าเสร็จแล้ว


ตอนทำงานที่เชียงใหม่ต่างกับที่รังสิตอย่างไร

อุ้ม: ตอนอยู่เชียงใหม่ สอนศิลปะเด็กเล็ก เราก็เปิดหาว่าอยากสอนอะไรแล้วสอนเลย แต่พอเปลี่ยนมาสอนในโรงเรียนที่รังสิต เราต้องทำแผนการสอน ซึ่งไม่เคยทำ ไม่เคยเรียนมาก่อน อาจารย์ในโรงเรียนแนะนำให้ก็อปวางไปเลย ตอนนั้นเรางงมากว่าทำไมต้องมาก็อปวาง เรารับไม่ได้ว่าทำไมต้องก็อปวาง เราก็เปลี่ยนของเราว่าจะสอนอะไร ตอนอยู่โรงเรียนมีเรื่องการโกงค่าสอนพิเศษ ซึ่งเรารู้สึกว่าไม่ใช่ รับไม่ได้ ทั้งที่ตอนนั้นชอบการเป็นครูมาก อยากไปโรงเรียนมาก เด็กก็สนุก เราก็มีความสุข


อะไรที่ทำให้การสอนหนังสือสนุก

อุ้ม: สิ่งที่เราเรียนมา แบบฉบับที่เราโตมา มีเรื่องคล้ายกัน แต่ต้องปรับใช้ ตอนแรกเราพูดยากเกินไป เด็กจะไม่เข้าใจ เราก็จะปรับในทุกวัน แล้วแต่ละห้อง แต่ละคนก็รับรู้ได้ไม่เท่ากัน เราต้องย้อนคิดว่าทำอย่างไรให้เขาเรียน โดยเฉพาะเด็กที่ดื้อ เราก็สอนพร้อมกันทั้งห้อง ใครทำได้ปล่อยให้ทำ แล้วมาเดินจี้คนที่ดื้อซึ่งจริงๆ แล้วเกิดจากไม่เข้าใจและไม่กล้าถาม แล้วสนุกมากตรงที่พอเราเริ่มจี้เขาจริงๆ เด็กดื้อๆ เหล่านั้นกลับมีพรสวรรค์ในการวาดรูปเขา เราจะสนุกมาก เวลาสอนเขาแล้วเขาวาดรูปแปลกๆ มีเรื่องตลกเยอะ เพราะความใสของเด็ก และต้องปรับตัวเองเยอะมาก ว่าจะทำอย่างไรให้เขาทำตามโดยไม่ดุเขา

เป็นครูสนุกแล้วทำไมถึงออก

อุ้ม: ที่พูดไปว่า รู้สึกมีเรื่องขัดแย้งเยอะมาก เรามาเป็นครูแล้วต้องอยู่ภายใต้คนที่เขาไม่ค่อยดี แล้วเขามาทำให้เราไม่ดี จึงรู้สึกว่าทำไมเป็นกันอย่างนี้หมดเลย แล้วก็เป็นกับเกือบทั้งโรงเรียน เราจึงไม่ค่อยชอบเรื่องแบบนี้ โดยเฉพาะเรื่องเงิน ตัวเรามุ่งมั่นกับการสอน แต่วันหนึ่งเขากลับมาบอกว่าเราเป็นครูที่โกงเงิน ซึ่งเราไม่เคยรู้มาก่อน ตอนนั้นจึงตัดสินใจว่าเราอยู่ไม่ได้

อะไรที่ทำให้รู้สึกว่าเรายอมไม่ได้กับเรื่องราวเหล่านี้

อุ้ม: ตอนพ่อสอน เขาจะบอกอันนี้ไม่ถูกต้อง เราก็คิดตามว่าไม่ถูกต้องอย่างไร พอรู้สึกว่าไม่ถูกต้องก็จะขัดใจ ว่าทำไมเราต้องมาทำ แล้วก็ไปสมัครเป็นครูสอนศิลปะเหมือนกันที่เกาะสมุย เขารับแต่ไม่ได้ไป เพราะแม่ขอร้องให้อยู่สงขลา จากนั้นสมัครงานไปเรื่อย ต่อมาเป็นช่างก็มีข้อจำกัดที่ต้องไปต่างจังหวัด พอดีรู้จักกับกลด แม่กลดแนะนำว่าที่นี่มีการรับสมัครเลยมา

ตอนนั้นได้ยินคร่าวๆ ว่าดูแลโครงการของเด็กๆ คิดว่าไม่น่ายาก วันแรกที่มาสมัครได้ดูวิดีโอคลิป แล้วรู้สึกถูกสะกิดในตอนหนึ่งของวิดีโอที่บอกว่าคุณได้เรียนรู้มาจากหลากหลายอาชีพแล้วได้นำวิชามาเสริมสร้างหรือต่อยอดอะไรเพื่อประเทศชาติบ้าง เราก็รู้สึกเห็นด้วยว่านานแค่ไหนแล้วที่เราก็ไปเรื่อยของเรา ไม่ได้มานั่งทบทวนคิดว่าจะใช้ไปทางไหนดี แล้วตอนนั้นป้าหนูก็สัมภาษณ์ว่าเราจะใช้วิชาที่เรียนมากับงานที่สงขลาฟอรั่มได้อย่างไร โดยให้คิดเร็วๆ ตอบเร็วๆ เราก็ตอบว่ามันคงคล้ายๆ ศิลปะ เป็นเรื่องของจินตนาการ ถ้าคนเรามีจินตนาการก็น่าจะทำอะไรเพื่อไปสู่ความฝันให้เป็นจริงได้ สุดท้ายพอมาทำงานตรงนี้ก็คล้ายๆ กับความคิดของเราตอนนั้น

ป้าหนู: ที่บอกให้ตอบเร็วๆ เพราะอยากได้ความจริง ไม่อยากได้คำตกแต่ง

ป้าหนูคิดอย่างไรให้ดูคลิป

ป้าหนู : เป็นวิธีการสอนของเราเอง เพื่อให้เขาดูหน้าตาการทำงานของเรา และต้องลงพื้นที่กับเราเป็นการสอบ เพราะสัมภาษณ์นั้นตกแต่งให้สวยได้ แต่เราใช้การถามว่าว่างไหม ไปลงพื้นที่ ถ้าเขาตอบว่าไม่ได้ เราตัดเลย

พอเข้ามาทำงานเป็นอย่างไร

อุ้ม: ป้าหนูให้อ่านวารสารของโครงการเก่าๆ ว่าปีที่ 1-2 เป็นอย่างไร แต่ยังไม่เข้าใจ ป้าหนูจะบอกว่าให้ทำไป แล้วเรียนรู้จากสิ่งที่ทำ ครั้งแรกที่ลงเวทีคือเวทีพัฒนาโครงการ เป็นครั้งที่แรกที่เราได้โคชน้อง ตอนแรกไม่มีกระบวนอะไร แค่พูดตรงๆ ดูว่าเป้าหมายตรงไหม ลักษณะการทำงานเป็นอย่างไร ไม่มีเครื่องมือ ถามตรงๆ ก็เริ่มเข้าใจเรื่อยๆ ว่าเป็นอย่างไร

ป้าหนู: กรณีของอุ้มจะต่างกับคนสมัครคนอื่น เราเชื่อว่าคนที่เคยผ่านการทำงานจะมีวุฒิภาวะอยู่แล้ว จึงให้เขา Learning by Doing ไม่ต้องจู้จี้จุกจิกมาก

แสดงว่าเทคนิคการโคชงานน้องแต่ละคนของป้าหนูจะต่างกันไปตามบริบทของเขา

ป้าหนู: เวลาสัมภาษณ์งาน เราจะมีน้องจ๋อกับน้องตาอีก 2 คน น้องจ๋อเคยเป็นผู้อำนวยการสถานพินิจ ส่วนตาเป็นนักสังคมสงเคราะห์ เขาจะมีคำถามและมุมมองคนที่ลุ่มลึก กรณีของอุ้มคือเขาเคยผ่านงานน่าจะไม่ต้องจู้จี้จุกจิก แต่ถ้าเป็นเด็กใหม่จะจู้จี้มาอย่างเจ๊าะ ที่นี่เรามองความเป็นมนุษย์มากกว่ามองแยกว่าผู้หญิงหรือผู้ชาย

1 ปีที่ผ่านมาชอบหรือใช่

อุ้ม: ชอบและตอนนี้ใช่ เพราะเราไม่ค่อยได้มีการติดตามสถานการณ์ทางสังคม พอเรามาอยู่ที่นี่ เราเริ่มมองและติดตามเรียนรู้ เมื่อก่อนไม่เคยมานั่งคิดว่าสิ่งที่เราทำมีขั้นตอนแอบแฝงอยู่ ทำไปโดยไม่เคยถอดบทเรียนตัวเอง แต่เมื่อได้มานั่งคิดและเห็นว่าจริงว่าที่ทำเพราะอะไร ได้สรุปข้อปรับปรุง มีลำดับขั้นตอน และชอบอีกอย่างที่เวลาขาดอะไร เราต้องเติมความรู้ตลอด เรากลับไปมองครอบครัวหรือคนรอบข้าง เขาจะเสพแค่นี้ไม่มีการเติมต่อเหมือนเราเมื่อก่อน เป็นที่ๆ ให้ความรู้แล้วเข้ากับสถานการณ์จริง ป้าหนูเคยบอกว่าตอนนี้อาจเป็นงานเล็กๆ ที่ยังไม่เกิดผล แต่ภายภาคหน้าน่าจะสั่นคลอนอะไรบางอย่างได้ อาจเกิดผลในอีก 10-20 ปีข้างหน้า มันอาจไม่ได้ทำได้วันนี้ แต่เพียงแค่เราเริ่มทำ วันหน้าอาจทำได้จริง แล้วคนอื่นอาจเริ่มมองเห็นและอยากทำแบบเรา

ไอดอลคือใคร

อุ้ม: ไอดอลในชีวิตเป็นพ่อ พ่อจะปรับเปลี่ยนทุกอย่างตามยุคสมัย เป็นผู้ใหญ่ที่พิสูจน์ให้เห็นว่าทำได้ถ้าอยากเรียนรู้ พ่อจะชี้ให้เห็นเหตุผลว่าไม่ถูกต้อง เหมือนทะเลาะกับน้อง น้องผิดอาจแต่อุ้มมองตัวเองหรือยังว่าอุ้มก็ผิด

อะไรคือแรงบันดาลใจ

อุ้ม: หมือนเรามาอยู่ในกลุ่มพลังร่วมที่จะทำอะไรดีๆ เมื่อก่อนที่ดูทีวีเห็นเขาทำโครงการดีๆ แต่ไม่เคยสงสัยหรือหาข้อมูลเพิ่ม แต่พอเรามาอยู่จุดนี้ ไม่ใช่แค่คนจะทำอะไรดีๆ แต่โครงการนี้ปลูกฝังให้เด็กทำอะไรดีๆ เป็นแรงบันดาลใจของความเชื่อเก่า ที่เคยเชื่อว่าถ้าทุกคนดูแลตัวเองก่อน เหมือนสิ่งที่สงขลาฟอรั่มสอนว่าให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน แล้วจะเปลี่ยนคนอื่นได้

แต่มันยากและเหนื่อยไหม

อุ้ม: ตอนแรกที่โคชเด็ก เราไม่ค่อยเข้าใจเลยว่าจะพูดอย่างไร ตอนแรกก็ลอกๆ พี่มินีก่อน เพราะพี่มินีมักจะงัดอะไรออกมาใช้เวลาที่ตันแล้วไปไม่ได้ เราก็เริ่มหาทางไปได้ถูก

เมื่อก่อนที่เราเป็นครู แล้วอ่านเด็กออกว่าจะสอนเด็กแต่ละกลุ่มแบบไหน ตอนนี้เราเจอสูตรตัวเองเหมือนตอนสอนเด็กไหม

อุ้ม: คล้ายๆ กับตอนนั้น ตอนแรกเราต้องวิเคราะห์ว่าเด็กคนไหนเข้าใจ ใครที่ไม่เข้าใจก็ชวนเขาคุยเหมือนตอนสอนศิลปะ น้องรู้สึกอย่างไร อยากทำอะไร เด็กก็จะอยากคุยมากขึ้น แต่การทำโครงการจะมีเครื่องมือบางอย่าง เช่น ไทม์ไลน์ที่ทำให้เห็นเป้าหมายชัด ส่วนตอนสอนวาดภาพไม่ต้องมีเป้าหมายชัดขนาดนี้

เป้าหมายในชีวิตคืออะไร

อุ้ม: ไม่ได้วางไว้ พยายามให้มีเป้าหมายสำรอง เผื่อเวลาผิดพลาด เพราะเคยล้ม แล้วต้องไปต่อ ทำมาหลายอาชีพมาก ที่บ้านเคยว่าว่าทำไมเปลี่ยนงานบ่อย แต่เราไม่ชอบจึงออก ตอนนี้ที่แอบวางไว้คืออยากเรียนต่อทางด้านสายนี้ แต่คิดว่าต้องเรียนรู้จากงานให้ดีก่อน

ตาลเรียนจบอะไรมา

ตาล: จบพัฒนาชุมชนจากราชภัฎสงขลา ใจจริงอยากเป็นตำรวจแต่ไม่ได้ไปทางสายนั้น ต่อมาเลือกสอบเป็นครู เพราะที่บ้านอยากให้รับราชการและตอนอยู่ประถมรักคุณครูคนหนึ่งมาก เพราะคอยช่วยเราตลอด แต่สอบไม่ติด จึงมาเรียนพัฒนาชุมชน ตอนเรียนไม่ค่อยเข้าใจเรื่องการลงชุมชนสักเท่าไร แต่ชอบตามเพื่อนไป มีจิตอาสา เพื่อนไปไหนก็ไปด้วย พอไปปีแรกได้เจอหลายคน ได้แสดงน้ำใจ จากนั้นก็ชอบและออกค่ายทุกปี มาเริ่มเข้าใจการลงชุมชนตอนปี 4 ที่เด็กเรียนพัฒนาชุมชนทุกคนต้องลงไปฝึกงานในชุมชน อยู่ในสำนักงาน 2 เดือน และลงชุมชน 3 เดือน แต่เราเลือกพื้นที่แถวพัทลุง แล้วมีเพื่อนมาฝึกงานที่สงขลาฟอรั่ม รู้สึกว่าโครงการที่เราทำ ทำอะไรแบบง่ายๆ ไม่นานก็เสร็จ ได้เจอชาวบ้านเขาก็ให้ความช่วยเหลือดี แต่ยังไม่เข้าใจว่าต้องลงไปช่วยเหลือเขาอย่างไร

นอกจากอยากเรียนรู้กับเพื่อนแล้วมีเหตุผลอื่นไหม เพราะพัทลุงกับสงขลาก็ค่อนข้างจะไกลกัน

ตาล: ก่อนหน้าจะเรียนจบ เราไป-กลับ พัทลุง-สงขลาทุกอาทิตย์ เพราะเพื่อนฝึกงานอยู่ที่สงขลาฟอรั่ม แล้วเขาจะชวนมาวัดหาด เราก็มาเป็นอาสาสมัครวัดหาด มาช่วย เพราะอยากรู้ว่าเป็นอย่างไร เห็นเขาส่องลงไปที่หาด

ป้าหนู : ทางเรามีงบประมาณน้อย แต่การลงวัดหาดเป็นกิจกรรมที่ใหญ่ต้องลงต่อเนื่องเป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งรัฐไม่มีทุนให้ จึงต้องใช้อาสาสมัครเข้ามาช่วย

ตาล: ครั้งแรกที่ได้ลงวัดหาด เรารู้สึกว่าได้เรียนรู้หลายอย่าง เรียนรู้เครื่องมือการวัดหาด เรียนรู้ทิศทางการไหลของน้ำทะเล ไม่รู้สึกเหนื่อยหรือร้อน เห็นอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ เก็บตัวอย่างทราย เราก็สงสัยว่านำไปทำอะไร พอสุดท้ายอาจารย์เป้ก็มาเฉลยว่านำไปเข้าแล็ป ทำให้ความรู้เพิ่มขึ้นจากที่เราแค่เห็นว่าหาดยาk

ตอนแรกรู้จักสงขลาฟอรั่มไหม

ตาล: ตอนแรกที่มาไม่ค่อยรู้จัก แต่มีน้องส่งโครงการมา อาจารย์ปอมอยากให้ตาลไปเป็นสต๊าฟช่วยน้องเราจึงได้มาเป็นสต๊าฟช่วยน้องแบบผิวเผิน พอรู้จักบ้างว่าสงขลาฟอรั่มทำโครงการเด็ก หลังจากโครงการจบเราก็มาวัดหาด พอเรียนจบจะไปเป็นเจ้าหน้าที่ประมง แต่พี่มินีชวนมาทำก็ลองสมัคร

มีนีเห็นอะไรในตัวน้อง

มินี: เห็นคนที่ทนกับงานอาสาสมัคร ซึ่งหาแบบนี้ยาก เพราะงานต้องตากแดดทุกอาทิตย์ เห็นความรับเห็นผิดชอบ สำหรับงานที่สงขลาฟอรั่ม ขอใจมาก่อน อย่างอื่นไม่ใช่เรื่องยาก ถึงเก่งอย่างไร ถ้าไม่มีใจก็อยู่ไม่ได้นาน เห็นเขาจะไปทำงานโรงงานก็รู้สึกเสียดายกับสิ่งที่เขาทำมาก่อน

ตาลคิดอย่างไรตอนมินีมาชวน

ตาล: ใจของเราอยากไปที่โรงงาน พอพี่มินีชวนก็ท้าทาย เพราะทุกวันที่เรามาวัดหาด จะเห็นพี่เก๋ พี่มินีทำงานเหนื่อย งานก็เยอะด้วย แต่ท้าทายด้วยว่าเราจบใหม่แล้วได้เรียนรู้อะไรเยอะกว่าไปทำงานในโรงงาน พี่มินีบอกว่าเราจบปริญญาทั้งทีจะไปทำโรงงานหรือ เราก็ฉุกคิดและเห็นด้วยกับพี่มินี

เข้ามาแล้ว ป้าหนูให้ดูสงขลาส่องแสงกับกลด ตอนนั้นเราดูแบบไม่คิดอะไร แต่พอนั่งวิเคราะห์แล้ว เราชอบเพลงท่อนที่ว่า ถึงต่างคนต่างมาแต่มาร่วมกันทำอะไรดีๆ เพื่อชุมชน เพื่อสังคมของตัวเอง ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน คุณมารวมตัวทำอะไรดีๆ กันได้ นั่นเป็นงานแรกที่ถูกสัมภาษณ์ ก็ตื่นเต้นตอนนั้นพอป้าหนูสัมภาษณ์สติก็ไปหมด

ป้าหนูเห็นอะไรในตัวตาล

ป้าหนู : ราได้ข้อมูลมาว่าน้องเป็นคนที่ยอมทำงานหนัก แล้วไม่ได้ค่าตอบแทนต่อเนื่องนานมาก ตอนทำอาสาสมัคร ก็น่าจะเป็นบทพิสูจน์ของเด็กจบใหม่ เวลาเราประกาศรับว่าไม่ต้องมีประสบการณ์ เราน่าจะหาบุคลากรที่มีพื้นฐานอย่างนี้คือความเป็นมนุษย์ เหมือนสงขลาฟอรั่มเป็นโรงเรียนที่สร้างมนุษย์ เราค้นพบว่าภารกิจของเราคือต้องเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น แล้วเราน่าจะชวนคนอื่น กรณีของตาลเขาไม่อะไร ได้ก็ได้ไม่ได้ไม่เป็นไร ซึ่งการได้บุคลากรแบบนี้ก็ท้าทายอยู่เหมือนกัน เด็กเขาก็รู้สึกท้าทาย เพราะการสร้างคนสักคนให้มีจิตสำนึกไม่ใช่เรื่องง่าย

พอเข้ามาทำรู้สึกอย่างไร

ตาล: แรกๆ ไม่ค่อยเข้าใจในเนื้อหาก็อาศัยดูจากพี่มินีเป็นตัวอย่าง เข้ามาแรกๆ ก็บันทึกการประชุมก่อน และถอดเทป เรียนรู้ว่างานเป็นอย่างไร สิ่งหนึ่งที่ทำให้ตาลเข้าใจเร็วคือสำนักงานของเราจะมีการประชุมบ่อยมาก ป้าหนูจะอธิบายการทำงานในออฟฟิศว่าต้องมีงานอะไรบ้าง มีการแบ่งหน้าที่งานที่ชัดเจนมาก ทำให้เรารุ้ว่าหน้างานหลักของตัวเองเป็นอย่างไร ทุกๆ ปีป้าหนูจะให้เช็คว่าหน้างานของเรามีอะไรบ้าง ทำไปถึงไหน มีอุปสรรคอะไร เหมือนกับให้เราได้ทบทวนและเข้าใจงานมากขึ้น

ที่ให้น้องใหม่บันทึกการประชุมเพราะอะไร

ป้าหนู : เราตั้งเรื่องนี้เป็นหลักไว้ เพราะเวลาจะให้ใครบันทึกการประชุมชอบหลบหน้าหลบตา ขี้เกียจมาถอดเทป จึงเล่าประสบการณ์ขอตัวเองให้ฟังว่าตอนบรรจุข้าราชการใหม่ๆ เขาจะให้เราบันทึกการประชุม จะเป็นคนที่ชอบปรับตัว ถ้าอคติกับสิ่งที่เขามอบหมาย เราจะไม่มีความสุข แล้วจะทำอะไรไม่ได้ดี เราจึงสอนน้องว่างานนี้มีเกียรติมาก เพราะเวลาเราบันทึกประชุมจะต้องนิ่งตั้งใจฟังแล้วตีความ และเรารู้งานมากที่สุด พอเลิกประชุม นายถามอะไร เราสรุปเป็นข้อได้ เวลาออกไปนอกห้อง เพื่อนร่วมงานต้องมาขอข้อมูลจากเรา แล้วฝึกให้เราเป็นคนนิ่งกับการฟัง

หลังเข้ามาทำสงขลาฟอรั่ม ความคิดที่จะไปทำงานโรงงานเป็นอย่างไรบ้าง

ตาล: พอเข้ามาอยู่ที่นี่ฝังชิพอะไรสักอย่าง เวลากลับไปบ้าน แม่ก็ถามทำไมไม่สอบราชการ เลยบอกแม่ว่าเราอยากทำที่นี่ ถ้าสงขลาฟอรั่มไม่ปิดตัวก็จะทำงานที่นี่ไปเรื่อยๆ

ชิพอะไรที่ติดตัวของเรา

ตาล:รามาทำงานที่นี่มีอะไรให้เรียนรู้ เปิดโลกกว้างใหม่ๆ ทั้งความรู้ทั้งเครือข่าย ทำแล้วมีความสุข และเครื่องมือที่เรียนมาจากมหาวิทยาลัย ได้นำมาลองใช้หมดเลย เราชอบงานที่เจอคนเยอะๆ ไม่ชอบงานนั่งออฟฟิศ เหมือนเป็นคนเงียบๆ แต่เวลาลงพื้นที่จะมีลูกล่อลูกชน สนิทกับน้องง่าย

อะไรที่ทำให้ชอบที่นี่

ตาล: การได้พัฒนาความคิด ทุกครั้งที่จะมีการประชุม เราจะตื่นเต้นและทบทวนตลอดว่าที่ผ่านมามีอะไรบ้าง รู้สึกเหมือนให้เราเรียนรู้ตลอดเวลา เวลาป้าหนูจะส่งไปอบรมก็ชอบตลอดเวลา เพราะได้เรียนรู้และเปิดโลกกว้าง

ป้าหนู : ตาลไม่ได้เล่าว่ามีอยู่ช่วงหนึ่งที่เขาเฉา ไม่อยากทำอะไร หมักหมมบันทึกการประชุมไว้ เพราะแม่ไม่สบาย

พี่มินี : โครงการของน้องแต่ละโครงการเหมือนเรามีวิจัยอยู่ในใจเรื่อยๆ และมีวิจัยใหญ่ของโครงการเราด้วย ป้าหนูจะให้อ่านหนังสือแล้วมารีวิว ความรู้สึกเหมือนตอนเรียน แต่เป็นหนังสือที่ต้องเชื่อมกับชีวิตจริง เชื่อมกับงานของเราด้วย การทำงานที่นี่จึงเหมือนกับเรามาเรียน

แรงบันดาลใจที่ทำให้ตาลอยากทำต่อ

ตาล: การได้เรียนรู้ตลอดเวลา เวลาไปคุยกับเพื่อน เรามีความรู้ ไม่ได้หมายถึงมีความรู้มากกว่าเพื่อน แต่เราได้เรียนรู้เยอะ การมาอยู่ที่นี่คือครอบครัวหนึ่งมีความอบอุ่นในการทำงาน ได้พัฒนาความรู้ตลอดเวลา ทำให้เราเท่าทันเหตุการณ์ด้วย เวลาป้าหนูมาแชร์ว่ากำลังเกิดแบบนี้ขึ้น เราก็ได้รู้ พอกลับไปบ้านเราก็แชร์ให้แม่ฟัง

เห็นพัฒนาการในตัวเองไหม

ตาล: เมื่อก่อนไม่ค่อยพูด พอมาอยู่นี่เราต้องกล้าเป็นผู้นำ รู้สึกว่าตัวเองพัฒนาขึ้น แต่ไม่ได้สังเกตว่าตัวเองเก่งขึ้นหรือด้อยลง จะลุยไปข้างหน้าเรื่อยๆ

ความภูมิใจที่อยู่ที่นี่ 3 ปี

ตาล: ป้าหนูให้โอกาสเข้ามาเรียนรู้และไว้วางใจให้เราดูแลโครงการน้องๆ และเราสามารถพาน้องไปถึงเป้าในการแก้ปัญหาชุมชน

ป้าหนูมองในกระบวนการสร้างคนยังไง

ป้าหนู : เป็นธรรมชาติของทุกออฟฟิศที่ตัวเองนำ มันไม่ได้อยู่ในแผนแต่เป็นบุคลิก อย่างสงขลาฟอรั่มความอาวุโสจะเยอะ ใครๆ ชอบบอกว่ามีช่องว่าง แต่เราไม่มี ที่ผ่านๆ มาคือเพื่อนรุ่นเดียวกัน แล้วเราเป็นหัวหน้า แต่ที่นี่คือรุ่นหลาน บุคลิกการถ่ายทอดจึงสูงมาก และการมองเป็นรายบุคคลจะสูงและชัด บางเรื่องจะกัดไม่ปล่อย เพราะเห็นว่าถ้าปล่อยการเติบโตของเขาต้องผ่าเหล่าผ่ากอ ระบบการถ่ายทอดจะจริงจัง ไม่ใช่เพื่อนสู่เพื่อน ไม่ใช่แม่กับลูก ใช้ความจริงใจกับจริงจัง สายใยเริ่มตั้งแต่วินาทีแรกที่แหวกประตูเข้ามา เราเคยว่ามินีแรงมาก แต่เขาก็เห็นจริงว่าเราเคยพลาดมาจริง แล้วเขาก็นำความผูกพันตรงนี้ไปต่อยอดกับน้องๆ ในหน่วยงานของเราก็มีประชุมย่อยบ่อย จึงเกิดความผูกพันตรงนี้ ที่ประชุมเยอะ เพราะเวลาประชุมนั้นไม่ใช่แค่ภาษาพูด เราได้ฝึกให้ตัวเองนำเด็กสัก 3-5 ก้าว เพื่อให้เชื่อถือเรา และลูกน้องเราที่นี่ไม่มีการตอแหล เราจะให้เขาพูดตรงๆ รู้ก็บอกว่ารู้ ไม่รู้ก็บอกไม่รู้ เพราะบางทีการไม่รู้ของเขาอาจทำให้เราฉลาดขึ้นก็ได้ อีกอย่างคือคุณเล่นกับคำว่าพลเมือง แต่ถ้าคุณไม่มี คุณจะไปสอนเด็กไม่ได้ น่าจะเป็นตรงนี้ที่เป็นความผูกพันในองค์กรเรา เพราะคำว่าจริงจังและจริงใจนั้นไม่ใช่ของเล่นๆ ความไม่รู้นี่จริงนะ พอมินีร้องไห้ เรารู้เลยว่าเขาไม่รู้จริงๆ ทำไปเพราะไม่รู้ ไม่ใช่รู้แล้วทำผิด

หัวใจของสงขลาฟอรั่มคือ

ป้าหนู : หน้าที่ในการสร้างความเป็นมนุษย์ มนุษย์รุ่นใหม่และพลเมืองรุ่นใหม่ เราเพิ่งมาค้นพบว่าไม่ใช่แต่มนุษย์ที่อยู่ที่นี่ คุณต้องอยู่ร่วมกันในสำนักงาน หน่วยงาน กับหัวหน้าที่อายุเยอะให้ได้ คนชอบบอกว่ามีช่องว่าง เราบอกว่าอย่าพูดเลย เรารู้ เราอยู่ตรงนี้ ความจริงช่องว่างไม่มีหากผู้ใหญ่รู้ตัวและรู้สึกกับความไม่รู้ของลูกน้อง ถ้าคนแก่เป็นอย่างนี้จะไม่เหยียบเขา อย่างเราเองก็ไม่รู้บางเรื่อง เช่น เราดุกลดเยอะ แล้วเขานิ่มนวลมาก ซึ่งทำให้เรารู้สึกตัวว่า เป็นคนที่บู๊เยอะมาก ทุกคนจะมีบางอย่างปะทะเข้ามาที่หัวใจ แล้วเราจะหยุดคิด แต่ไม่ได้หยุดบอก ถ้าเขาโกรธคงอยู่ไม่ได้ เพราะนี่เป็นบุคลิกของเรา และพวกเขาต้องเป็นผู้นำให้ได้ เพราะคนข้างนอกจะมาดูถูกลูกน้องเราไม่ได้ ถ้าส่งมินีไปประชุมแทน มินีต้องพูดได้ ถ้าพูดโง่ๆ มันจะดูโง่ทั้งออฟฟิศ อีกอย่างที่ค้นพบคือคุณจะบอกไม่ได้ว่าแต่ละคนเก่งอย่างไร เพราะเราอยู่รวมกันข้อดีของคนหนึ่งจะเสริมข้อที่ขาดของอีกคนหนึ่ง เราอยู่รวมกันสงขลาฟอรั่มถึงเป็นอย่างนี้ ใหม่มาแซมมินีตรงที่ไม่แข็งแกร่งได้ มินีมาแซมใหม่ตรงที่ไม่ละเอียดได้ บางเรื่องที่ช่างคิดเจ๊าะช่วยได้ หรืออุ้มอาจมองภาพรวมได้ แล้วเสียงเย็นของเขาจะทำให้เหตุการณ์เบาลง ปีนี้เป็นปีที่เรารู้สึกว่าใครจะมาถามว่าลูกน้องแต่ละคนเก่งอย่างไรไม่ได้ ความเป็นสงขลาฟอรั่มเป็นองค์ประกอบของความเป็นผู้นำร่วม คำว่า Corrective Leadership ก็คือสิ่งนี้ ต้องมองให้เห็นว่าเราทำงานเป็นทีม โดยธรรมชาติของคนไม่มีใครสมบูรณ์แบบทุกเรื่อง

ทำไมมาทำงานที่นี่

กช : แม่รู้จักพี่ของป้าหนู ตอนจบใหม่ๆ แม่ชักชวนให้มาทำงานที่นี่ เวลามีงานอาสาที่ไหนครอบครัวเราจะไปร่วมทั้งครอบครัว กลดชอบทำกิจกรรมมาตลอดตั้งแต่มัธยมปลายถึงมหาวิทยาลัย ทั้งคณะกรรมการชมรมโขน ชมรมอนุรักษ์ คณะกรรมการหอพัก กลดชอบทำกิจกรรม แม่ก็ถามว่าเราชอบทางนี้ อยากมาทำงานแนวนี้ไหม จึงแนะนำให้สมัครที่นี่ ครอบครัวปลูกฝังตั้งแต่เล็กๆ ให้เห็นประโยชน์ของส่วนรวมมาก่อน และคำสอนของมหาวิทยาลัยที่บอกว่าขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นกิจที่ 2 ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่ 1 ซึ่งเป็นพระราชปณิธาน ของสมเด็จพระราชบิดา คำเหล่านี้สอนเรามาตลอดและทำให้เราไม่นิ่งเฉยกับสิ่งที่เห็น

เรียนที่ไหน

กช : เราเรียนที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง คณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ สาขาการจัดการสารสนเทศและคอมพิวเตอร์

สมัยเด็กฝันอยากเป็นอะไร

กช : สมัยเด็กอยากเป็นหลายอย่าง อยากเป็นโปรแกรมเมอร์ ชอบคอมพิวเตอร์ พัฒนาโปรแกรมได้ เราค้นพบตัวเองจริงตอนปี 3 ที่ไปฝึกงาน คือเราชอบการเรียนทฤษฎี แต่เมื่อไปเจอภาคปฏิบัติคือ คนทำงานใน สายงานคอมพิวเตอร์จะไม่ค่อยพูดคุยกัน ปฏิสัมพันธ์ไม่ค่อยดี เวลาสั่งงานก็ผ่านแชท ฝึกงานที่บริษัททำเว็บหาดใหญ่ เรารับหน้าที่ส่วนกราฟิกดีไซน์ การทำงานที่นั่นคือต่างคนต่างอยู่ ส่วนเราต้องการพื้นที่พูดคุยกับคนอื่น อยากระบาย และถูกปลุกฝังจากทางบ้านว่าต้องทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวมบ้าง อย่าเอาแต่เรียน

ที่บ้านทำอะไร

กช : แม่เป็นลูกจ้างประจำที่วิทยาลัยประมง พ่อขับรถให้บริษัท

ตอนไปฝึกงานที่คิดว่าไม่ใช่ตัวเอง เรารู้สึกอย่างไรบ้าง

กช : ตอนนั้นที่รู้สึกไม่ใช่คือการพูดคุย การปฏิสัมพันธ์กับคน และทำไปแล้วสุขภาพตัวเองไม่ดี ปวดตา เครียด เพราะการออกแบบเว็บดีไซน์ต้องละเอียดทุกพิกเซล ต้องรองรับอารมณ์กับลูกค้า จึงไม่ค่อยชอบเท่าไร ตอนมาสมัครยังไม่รู้จักสงขลาฟอรั่ม เราก็ศึกษาว่าทำอะไรบ้าง เลยไปเสิร์ชเจอเพื่อนสมัยประถมจึงจำได้ว่าเป็นกิจกรรมที่เพื่อนชวนมาร่วม แต่เราติดภารกิจ จึงทราบว่าสงขลาฟอรั่มมีมานานแล้ว แต่เราไม่รู้จัก วันมาสัมภาษณ์บรรยากาศเงียบขรึม ป้าหนูก็ให้เข้าสัมภาษณ์ ลองทำงานระยะหนึ่ง และลองตัดต่อเพลงสงขลาส่องแสง ฟังไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง หลังจากนั้นพี่ตาลก็มาและสัมภาษณ์พร้อมกันอีกรอบโดยการให้ดูวิดีทัศน์โครงการและเพลงสงขลาส่องแสง แล้วเขียนบรรยายความรู้สึก

ป้าหนู : การจะรับไม่ใช้การพูดคุยอย่างเดียว เพราะตอนนั้นเราไม่มีเวทีเวิร์คช็อป ก็ต้องลงมือทำงานจริงที่ออฟฟิศ

กช : ตอนสัมภาษณ์กับป้าหนูก็กลัวและตื่นเต้น แต่ป้าหนูบอกว่าไม่ต้องพูดคำที่สวยหรู แค่พูดออกมาจากใจก็พอ จึงลดอาการเกร็งไปได้ แต่ขอสารภาพว่าตอนนั้นเราคิดจะทำแค่ 2-3 เดือนแล้วออก เพราะเรารับฟรีแลนซ์ราฟิก ทำโฆษณาเป็นแอนิเมชั่นเล็กๆ และรับจ๊อบทำทัวร์ด้วย แต่พอทำสักพัก เรารู้สึกผูกพัน เพราะพี่ๆ และป้าหนูเป็นกันเอง เหมือนครอบครัว ซึ่งตอนแรกพี่มินีถามว่าหรือเปล่า งานหนัก ลองทำไปก็เหนื่อยแต่ไม่ได้ท้อ เพราะมีความสุขเวลาได้ทำงานร่วมกับพี่ๆ ในสงขลาฟอรั่ม เรารู้สึกว่าทุกคนเทรวมหัวใจร่วมกัน ทำให้เรากระชุ่มกระชวยตลอดเวลา

อะไรในงานที่ตอนเริ่มทำช่วงแรกแล้วหนักสำหรับเรา

กช : การรวมกลุ่มน้อง ตอนนั้นตัวเองไม่มีพื้นฐานชวนน้องคุย เพราะสมัยทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยทำเพื่อสนุกและมีเพื่อน ไม่ได้คิดว่าการทำกิจกรรมจะไปพัฒนาอะไรภายใน ตอนลงบ่อทรัพย์รู้สึกว่ายากมาก เวลาลงพื้นที่แล้วชวนน้องคิด ตัวเองจะตื่นเต้นไปกับน้องด้วย เหมือนน้องชวนเราฝันว่าถ้าสำเร็จจะเป็นความสุดยอด แต่พอลงพื้นที่จริงแล้วน้องไม่ค่อยพูด เราร้องไห้เลยเพราะรู้สึกเหมือนตัวเองทำไม่สำเร็จ ครั้งหลังก็เรียนรู้จากครั้งแรก พัฒนาตัวเองขึ้นมาเรื่อยๆ คือที่ร้องไห้ เพราะรู้สึกว่าตัวเองพาน้องไปไม่ถึงหัวใจของการถอดบทเรียน เนื่องจากตอนนั้นยังใช้การเขียนเวลาถอดบทเรียนอยู่ จนพี่มินีบอกว่าให้น้องลองวาดภาพดู เผื่อน้องจะเล่าโครงการได้ ในที่สุดน้องก็เล่าโครงการได้ โดยทำเนื้อหาให้เป็นภาพ หลังจากนั้นเราก็ปรับกระบวนในการนำเสนอให้เป็นสตอรี่บอร์ด

ความรู้สึกนั้นท้อไหม

กช : ท้อมาก แต่พี่ๆ ให้กำลังใจว่านี่ครั้งแรก เดี๋ยวครั้งต่อไปค่อยมาพูดคุยกันใหม่ ปัญหาทุกอย่างจะเล่าให้แม่ฟัง แม่ก็ให้กำลังใจเสมอว่าลองเรียนรู้อย่างจริงจังก่อน อย่าเพิ่งท้อถอย

อะไรที่ทำให้เราอยากอยู่ต่อ

กช : เพื่อนร่วมทีม ทุกคนรักใคร่กลมเกลียวกัน ซึ่งองค์กรอื่นไม่มีแบบนี้ เราตัดสินใจว่าจะอยู่ที่นี่ตั้งแต่ได้ลงกิจกรรมแรก เพราะรู้สึกสนุกและได้เรียนรู้ ไม่เหมือนว่ากำลังทำงาน เวลาที่ AAR เราได้ทบทวนการทำงานว่าใช่หรือไม่ใช่

ป้าหนู : กลดจะเป็นเด็กที่ต่างจากเด็กผู้ชายอื่นๆในสมัยนี้ กลดจะรู้จักสัมมาคารวะ พ่อแม่เขาสอนมาดี หาไม่ได้แล้ว และออฟฟิศเรามีแต่ผู้หญิง ก็มีกลดมาสัมภาษณ์

เสียดายความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ไหม

กช : เสียดายแต่คิดว่าสิ่งที่ชอบ ถ้าไม่ใช่ ทำไปก็ไม่มีความสุข แต่เราก็นำความรู้ที่เรียนมาประยุกต์ใช้กับการทำงานที่นี่

คิดว่าที่นี่ใช่แล้วหรือยัง

กช : ใช่แล้วครับ รู้สึกมีความสุขเวลาได้ทำงานร่วมกับพี่ๆ ในสำนักงาน การลงพื้นที่ไปกับน้อง เวลาน้องเล่าโครงการอย่างสนุกสนานเราก็ชุ่มฉ่ำไปกับน้องด้วย เวลาลงไปหาน้องจะใช้การดูสถานการณ์ว่าเราจะคุยกับน้องได้หรือเปล่า ถ้าคุยไม่ได้ก็มาปรึกษาทีมว่าจะทำอย่างไรต่อ อย่างน้องคลองแดนที่ไม่มีการดำเนินกิจกรรม ตอนนั้นก็โดนป้าหนูตีหนักเหมือนกัน ตัวเองเครียดมาก แต่ว่าความเครียดนี้เหมือนเป็นแรงผลักดันให้ฮึดสู้ โคชน้อง ช่วยน้องให้ไปถึงฝั่ง มีความพยายามสูงมาก ลงพื้นที่บ่อย ในที่สุดมันก็สำเร็จ

ป้าหนู : ตอนนั้นท้าทายเขามาก คือตั้งโจทย์ให้เห็นว่าเป็นความล้มเหลวมากที่น้องไม่เคลื่อน เป็นเพราะพี่หรือเปล่า แต่ที่จริงแล้ว บูมซึ่งเป็นคู่ของกลด เขาเฉื่อยมาก ที่กลดใช้คำว่าตีคือกลุ่มอื่นไม่เคยอยู่ในลักษณะนี้เลย พี่เลี้ยงก็ไม่เคยจิกตกกันขนาดนั้น ซึ่งกลดจะฮึดสู้มากกว่าบูม

ทำไมเวลาติดขัดเลือกจะปรึกษาอุ้มกับตาลก่อนมินี

กช : พี่ตาลกับพี่อุ้มจะอยู่ในพี่เลี้ยงระดับเดียวกับเรา ส่วนพี่มินีจะอยู่ในอีกระดับเป็นหัวหน้าโคช เราเกรงใจ อะไรที่พอแก้ไขสถานการณ์ได้ก่อนก็ทำเอง ถ้าไม่ได้จริงๆ ค่อยไปหาพี่มินี สำหรับคลองแดนนี่เป็นเหตุการณ์ที่เจ็บหนักที่สุด เคยอ่านหนังสือการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง เขาบอกว่าการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงต้องผ่านอะไรที่เจ็บหนัก ตัวเองถึงจะเปลี่ยนแปลง ซึ่งกลดว่าจริง เพราะไม่อยากให้เกิดซ้ำอีกครั้ง

ถ้าย้อนกลับไปมองกลดคิดว่าติดอยู่ตรงไหน

กช : เราโทษตัวเองก่อนว่าติดตามน้องไม่เข้มข้น และมาจากตัวน้อง ตอนนั้นพยายามติดต่อน้องหลายช่องทาง แต่ติดต่อไม่ได้เลย จนต้องไปหาน้อง แล้วน้องก็รับปากว่าจะทำ แต่หลังจากนั้นก็ติดต่อไม่ได้อีก

ป้าหนู : สภาพเด็กกลุ่มนี้มาจากหลายที่ แล้วเป็นเด็กคลองแดนที่พอจบสถาบันการศึกษาในคลองแดน ก็ต้องมาเรียนต่อในเมือง แล้วเสาร์-อาทิตย์ที่เราคิดว่าเด็กจะว่าง กลายเป็นไม่ว่าง บางทีไม่กลับบ้าน เด็กกระจัดกระจาย รวมตัวยาก แล้วเราก็ได้เด็กในพื้นที่มาชดเชย เหมือนชุบความหวังในช่วงที่กลุ่มกำลังจะแตก ทำให้ขึ้นมาอีกครั้งได้ การที่จับตามองกลด เพราะน้องในกรุ๊ปที่จบใหม่ แล้วกำลังลองผิดลองถูก ความเป็นโคชยังไม่แข็งแรง จึงต้องถูกจับตามองพิเศษ

ทำไมเลือกคลองแดน

กช : ตอนลงพื้นที่ การชวนน้องคิด ชวนน้องฝัน น้องเป็นคนที่ฝันดี ไอเดียมาจากตัวเขา แต่เวลาจริงเขาอาจท้อถอย จึงถอดใจไปบ้าง แต่หลังๆ เมื่อถูกกระตุ้น เขาก็ฮึดสู้มาอีกครั้ง

ป้าหนู : ช่วงหลังที่ได้เด็กในพื้นที่มาจึงค่อยดีขึ้น โมเดลของเขาก็ดี แต่ชุมชนนี้ไม่สนใจเยาวชน ความเข้มแข็งของเขาอยู่ที่ผู้ใหญ่หมดเลย เราทุ่มเทเรื่องการคิดเพื่อเยาวชน แต่เขาไม่แบ่งเวลาให้เลย เขาตั้งประเด็นนี้ไว้อันดับหลัง เน้นเศรษฐกิจก่อน ซึ่งความจริงเด็กที่มาร่วมกับเรา จากการคัดเลือกของผู้ใหญ่ เป็นเด็กดีทั้งนั้น แต่เราต้องอย่าลืมว่าทำงานกับเยาวชนจะอยู่ที่เค้าทั้งหมดไม่ได้ พอย้ายโรงเรียน เปลี่ยนพื้นที่ เขาจะเปลี่ยนความสนใจ ไปเร็วมาก กว่าเราจะเจอกลุ่มแบบโรงเรียนมหาฯ แล้วจับมือกันทำงานอย่างเอาจริงเอาจังค่อนข้างยาก น่าศึกษาเหมือนกันว่ามีองค์ประกอบอะไรอย่างไร เขาแบ่งเวลาอย่างไร เพราะเขาต้องมีฝันหนึ่งที่หล่อเลี้ยงยุคสมัยของเขา แต่อีกฝันหนึ่งทำไมหนักแน่น ทีนี้เด็กคลองแดนจากก้านนอก พอไปอยู่หอพัก ก็มีคนที่เราสืบพบว่าเขาหลงใหลได้ปลื้มกับแสงสี

กช : ตอนนั้นรู้สึกว่าตัวเองย่ำแย่มาก ทุกคนพยายามปลอบ แต่เราเดินหนีว่าอย่าเพิ่งปลอบ เพราะเดี๋ยวจะอ่อนแอ หลังจากวันนั้นก็รู้สึกว่าตัวเองมีจิตใจเข้มแข็งมากขึ้น และรักในทีมคือทุกคนพยายามให้กำลังใจตลอด แต่ช่วงนั้นขอไม่รับ อยากยืนด้วยตัวเองก่อน เราคิดว่าถ้าอ่อนแอ ต่อไปเมื่อเจอเหตุการณ์นี้ เราจะรับไม่ได้ ในที่สุดก็ผ่านพ้นไปได้

แล้วเราได้เรียนรู้อะไรจากน้องในฐานะที่เป็นโคช

กช : เทคนิคของตัวเองในการลงพื้นที่ไปหาน้อง ต้องใช้เทคนิคอย่างไรติดตามในแต่ละกลุ่ม เพราะทุกกลุ่มมีเทคนิคต่างกัน และเทคนิคให้กำลังใจตัวเอง อย่างเวลาเครียดก็จะโทรคุยเล่นกับกลุ่มที่น่ารักหน่อย มารับพลังจากกลุ่มน้อง พอตั้งใจหลักได้ก็ไปกลุ่มที่ต้องใช้พลังเยอะ กำลังใจที่ดีที่สุดเวลาลงพื้นที่คือน้องรู้สึกว่าเราเป็นพี่เป็นน้องกับเขาจริงๆ เวลาเราลงไป เขาชอบมากอด รู้สึกรักกันจริงๆ

คิดว่าความผูกพันที่เกิดขึ้นนี้มาช่วงไหน

กช : มาทุกขั้นตอนเลย ตั้งแต่ชวนน้องคิดน้องฝัน ถึงตอนนั้นยังไม่ได้เป็นพี่เลี้ยง แต่รักจริงๆ จะเกิดช่วงพัฒนาโครงการในเวทีเวิร์คช็อป 1 ทำให้น้องเปิดใจยอมรับเรา

ป้าหนู : การเป็นโคชที่สงขลาฟอรั่มไม่ต้องพูดเพราะ แต่ต้องจริงใจกับน้อง สิ่งที่พยายามรักษาคือ คุณบอกว่าเป็นโคชก็ต้องรู้จักโครงการน้องตั้งแต่เริ่มไม่ใช่เอาใครก็ได้มาวิจารณ์น้อง เป็นคนแปลกหน้ากัน การทำโครงการจะพยายามรักษาสิ่งที่น้องเลือก แล้วค่อยๆ ตกแต่งให้พี่เลี้ยงดูแล

กช: คิดว่าความผูกพันระหว่างเรากับน้อง จะเกิดขึ้นตอนให้น้องวาดภาพ เราบอกน้องว่าตัวเองวาดภาพไม่เป็น แต่ช่วยตัดเส้นได้ ช่วยหาภาพได้ว่าน้องจะวาดอะไร และจะพูดท้าทายน้องว่าการนำเสนอของเราจะผ่านหรือไม่ผ่านก็ขึ้นอยู่กับเราแล้ว จากนั้นทั้งเวิร์คช็อปเขาจะตื่นตัวและพยายามฝึกซ้อม บางกลุ่มเครียดจนร้องไห้ เราก็รู้สึกผิดที่ทำให้น้องเครียด แต่พอน้องเขานำเสนอผ่าน เขาก็ดีใจมากที่ทำได้และมีความสุข

น้องจับหัวใจโครงการของตัวเองได้หรือยัง

กช : เราจะให้น้องทบทวนในเวิร์คช็อป ถ้าน้องเข้าใจตัวโครงการชัดเจน ต่อไปจะปฏิบัติกิจกรรมอย่างเข้าใจและถูกต้อง ไม่เป๋ไปทางอื่น แต่กลุ่มที่จับไม่ได้ก็มี เราพยายามช่วยน้องเต็มที่ โดยการพูดคุย

การจับหัวใจโครงการต้องจับอะไร

กช : ทำไมเราถึงอยากทำโครงการนี้ เห็นสภาพปัญหา สาเหตุ และผลกระทบอะไร เรามีความคิดอย่างไรที่จะแก้ปัญหา แล้วถ้าทำกิจกรรมเหล่านี้ อนาคตข้างหน้าที่ฝันจะเป็นอย่างไร

ข้อดีของตัวเองคืออะไร

กช : จุดเด่นคือเป็นคนที่หากไม่รู้จะตอบว่าขอไปศึกษาแล้วจะมาให้คำตอบ เป็นคนที่พยายามก่อนจะให้คำตอบ

เห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวเองอย่างไร

กช : รู้สึกนิ่งมากขึ้น จากเคยขี้ตกใจ กระโตกกระตาก เมื่อก่อนกลัวจะตอบคำถามป้าหนูไม่ได้เวลาประชุม แต่ตอนนี้สบายขึ้น เหมือนนำประสบการณ์การทำงานของเรามาพูดคุย ตั้งแต่กลับจากเสม คิดว่าตัวเองกล้าขึ้นเวลาลงพื้นที่พิจารณาโครงการของน้อง ไม่กลัว แต่ไม่ประมาท พยายามซ้อมตลอด เพราะเป็นคนที่ไม่มั่นใจในตัวเอง การสร้างความมั่นใจคือต้องศึกษาข้อมูลและฝึกซ้อมไปก่อน

อะไรจากเสมที่ทำให้เรากล้า

กช : การได้รู้จักตัวเองว่าเราเป็นบุคคลทิศทางไหน และบุคลิกการเป็นวิทยากรกระบวนการ คือต้องมีบุคลิกน่าเชื่อถือ ไม่ใช่ล่อกแล่ก เพราะจะทำให้เขาไม่เชื่อถือเราและองค์กรของเรา

ตอนที่เรากล้านำน้องแล้ว เรารู้สึกอย่างไร

กช : สิ่งแรกที่คิดคือ ถ้าทำไม่ได้จะเป็นตัวเราและภาพลักษณ์ขององค์กร พอทำได้ก็เริ่มเชื่อมั่น ส่วนเทคนิคการโคชนำมาจากพี่มินี ใช้เทคนิคแตกต่างกัน เครื่องมือคนละตัว แต่เป้าหมายเหมือนกัน พี่มินีใช้ไทม์ไลน์ ส่วนเราใช้แบบตาราง หลังๆ เราเริ่มมาใช้ไทม์ไลน์ เพราะเห็นภาพชัดว่าต้องไปถึงธงอย่างไร

ตอนนำน้องทำกิจกรรม ตรงไหนที่สื่อสารกับน้องได้ยากที่สุด

กช : จุดเริ่มต้นโครงการ การชวนน้องคิดว่าทำไมถึงอยากทำ เพราะเป็นการดึงหัวใจของโครงการ เนื่องจากน้องบางคนไม่รู้เลยว่าทำไมถึงอยากทำเรื่องนั้นๆ ขั้นต่อมาที่ยากคือ กิจกรรมตอบธงของเขาได้อย่างไร

เคยวิเคราะห์ไหมว่าโคชคนเดียวกัน แล้วทำไมบางกลุ่มได้ บางกลุ่มไม่ได้

กช : น่าจะเป็นที่ตัวน้องในการรับสารที่แตกต่างกัน บางคนรับเร็ว บางคนรับช้า

มาถึงวันนี้ภูมิใจในตัวเองแค่ไหน

กช : ภูมิใจที่ได้ทำงานกับสงขลาฟอรั่ม เหมือนที่พูดไปแล้วว่าเมื่อก่อนทำกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยเพื่อความสนุกและได้เพื่อน แต่ตอนนี้รู้สึกอยากจะสร้างแรงบันดาลใจให้น้องในมหาวิทยาลัยของตัวเอง มาทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวมและมองภายในของตัวเอง จึงไปชวนน้องชมรมโขนและเด็กคอมพ์ เพราะอยากให้คอมพิวเตอร์ตอบโจทย์ของสังคม แต่เขาไม่ได้ส่งมา ที่ส่งมาเป็นโขน ก็รู้สึกภูมิใจที่สร้างแรงบันดาลใจให้น้องสำเร็จ เมื่อก่อนเสียดายตอนทำโปรเจ็กต์จบน่าจะทำโปรแกรมตอบแทนสังคม

เราเดินมาถึงจุดนี้ได้เพราะอะไร

กช : กำลังใจจากป้าหนูและพี่ๆ ที่คอยเติมเต็มและให้ความรู้ กำลังใจที่สำคัญที่สุดคือที่บ้าน คอยให้กำลังใจตลอดเวลาเหนื่อย เราไม่ค่อยเล่าให้ฟัง แต่พ่อแม่จะเห็นจากสีหน้าและพฤติกรรม เขาพยายามพูดคุยให้เราดีขึ้น

เป้าหมายในชีวิต

กช : ตอนนี้ยังไม่ได้คิด ถ้าฝันระยะใกล้นี้คือ เราจะพาน้องไปถึงฝั่งให้ได้ โดยไม่มีอุปสรรค การที่น้องชวนฝันก็ตื่นเต้นดีใจไปกับน้องด้วย ฝั่งของเขาจะวางโครงว่าต้องการให้โครงการสำเร็จแบบไหน และธงความเป็นพลเมืองในตัวจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากทำโครงการ

มีนีเรียนจบอะไรมา

มีนี: จบพัฒนาชุมชน ม.ทักษิณ ที่ตัดสินใจเลือกเพราะชอบอะไรที่ลุยๆ เราเลือกเรียนโดยไม่ได้ปรึกษาใคร เนื่องจากพื้นฐานครอบครัวไม่ได้มีการศึกษาสูง จึงตัดสินใจทั้งหมด และตอนนั้นก็คิดแค่ว่าเรียนอะะไรให้จบ ไม่ต้องยากมาก พอเรียนไปก็เป็นวิชาเอกที่เรื่อยๆ จริงๆ แต่เลือกวิชาโทรัฐศาสตร์ เพราะอยากสอบเป็นปลัด ปรากฏว่าก็สอบไม่ได้อยู่ดี พอเรียนถึงปี 3-4 เริ่มเข้าใจคำว่าพัฒนาชุมชนมากขึ้น จากการที่ต้องไปลงชุมชน และเริ่มชอบที่ได้อยู่กับชาวบ้าน พอเรียนจบแม่บอกว่าจะเสียเงินฝากเข้ารับราชการให้ แต่เราไม่ชอบเรื่องอย่างนี้ เพราะรู้สึกว่าเป็นการปิดโอกาสคนอื่น และตัวเองเป็นคนที่ไม่ยอมเสียเปรียบ

นิสัยไม่ยอมเสียเปรียบมาได้อย่างไร

มีนี: อาจเป็นเพราะครอบครัวของเรามี 4 คน พ่อ แม่ เรา และน้อง ถ้าภาพมีแค่นี้ก็จะเป็นครอบครัวอบอุ่น แต่มีน้าเป็นผู้ชาย แม่ต้องเลี้ยงเขาตั้งแต่แม่อายุ 17 ปี เพราะยายเสียแล้วตาไปแต่งงานใหม่ พอโตมาเราเห็นพฤติกรรมที่น้าทำกับแม่ ก็รู้สึกว่าแม่ไม่ควรได้รับอะไรแบบนี้ ถ้าเทียบกับพ่อ เราจะสู้มากกว่า เพราะพ่อจะมองว่าตัวเองเป็นคนนอก แต่เราคือลูก จึงไม่ชอบอะไรที่เหมือนถูกเอาเปรียบ

พอเรียนจบ เพื่อนสมัครไปบัณฑิตอาสา เราเห็นวิธีการคัดคนของบัณฑิตอาสาก็มองว่าเขาน่าจะอยากคัดคนทำงานจริงๆ จึงส่งใบสมัครไป ระหว่างรอเรียกก็กลับไปขายลูกชิ้นกับน้ำปั่น ทำขายหน้าบ้าน พอขายลูกชิ้นได้ 2 อาทิตย์ ก็ไปบัณฑิตอาสา เข้าค่ายคัดตัว

ทำไมถึงอยากไปบัณฑิตอาสา

มีนี: มันมีคำว่าอาสา จึงรู้สึกเหมือนเขาไม่ต้องการอะไรจากเรา การเลือกพื้นที่ เราเลือกไปที่กระบี่ เพื่อเปิดโลกให้กว้างขึ้นมากกว่า 3 จังหวัด ช่วง 3 เดือนแรกจะศึกษาชุมชนที่อยู่ว่ามีจุดแข็งจุดอ่อนอย่างไร ซึ่งเราไม่ค่อยจริงจังกับการหาข้อมูลมาก ทำบัณฑิตอาสาอยู่ 1 ปี พอเข้าเดือนที่ 4 เราต้องคิดโครงการเอง ถ้าชาวบ้านไม่เห็นด้วย เขาจะไม่มาทำกับเรา จึงต้องเริ่มคุยกับชาวบ้าน หาคนมาร่วมกับเรา เรื่องทำงานไม่ยากแต่จะยากตรงการเข้าคน ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ ส่วนเนื้อหางานเรามั่นใจ

ใกล้จบบัณฑิตอาสาได้วางแผนไหม

มีนี : สมัครเรียนพัฒนาสังคมที่ มอ. หาดใหญ่ คิดว่าจะเรียนด้วยทำงานด้วย แต่ไม่ได้เรียน เพราะหลังจบพบว่าตัวเองชอบงานแบบบัณฑิตอาสาจริงๆ ชาวบ้านมีความจริงจังให้ เรารู้สึกปลอดภัย ที่ยังไม่เรียน เพราะมองว่าถ้าเราต้องเสียงานแล้วเรียนอย่างเดียว ภาระจะตกอยู่ที่แม่ จึงตัดสินใจทำงาน เริ่มเข้ามาทำที่สงขลาฟอรั่ม เนื่องจากรุ่นพี่ที่ทำบัณฑิตอาสาทำอยู่โครงการสะพานชีวิตโทรมาชวน จากนั้นทำสะพานชีวิตอยู่ 3 ปี จากนั้นก็มาทำโครงการพลังพลเมือง ตอนมาสัมภาษณ์งาน ป้าหนูเล่าว่าน้องข้างในจะเจอคดีมา แล้วถามว่าเราไม่กลัวหรือ เราบอกว่าไม่กลัว เพราะคนเราสามารถพัฒนาได้ อยู่ที่การขัดเกลาของสังคม ใช่ว่าเขาจะไม่ดีตลอดไป เพราะพ่อแม่ทำให้เราเห็นว่า ต่อให้น้าชายไม่ดีอย่างไร เขาก็ไม่เคยไล่ เหมือนเป็นหน้าที่ที่เขาต้องดูแล เราจึงรู้สึกว่าอยู่ที่เราจะดูแลเขาอย่างไร

ทำไมป้าหนูถึงรับมินี

ป้าหนู: เราตั้งสเป็กไว้ว่าต้องการบัณฑิตอาสาเข้ามาทำงาน เพราะเขาได้รับการขัดเกลามาระดับหนึ่งแล้ว ส่วนรายละเอียดความเป็นมินีตอนนั้นจำไม่ได้ ค่อนข้างนานแล้ว

มีนี: การทำสะพานชีวิตทำให้เราเข้าใจสังคมมากขึ้น เป็นอีกโลกหนึ่ง รู้จักทั้งน้อง ทั้งครอบครัวของเขา แม้น้องปล่อยตัวออกมาแล้ว เราก็ยังต้องติดตามต่อชีวิตน้องเป็นอย่างไร กลับไปกระทำผิดซ้ำไหม

ทำงานนี้เครียดไหม

มีนี: ค่อนข้างเครียด เป็นงานที่อยู่กับความทุกข์ ถ้าปล่อยวางไม่ได้จะหลอน แต่ถ้าน้องคนหนึ่งเปลี่ยนไปจะรู้สึกเหมือนตัวเองได้ทำบุญ ไม่ได้ทำงาน งานนี้เป็นงานที่ทำแล้วเข้าใจแม่มากขึ้น และไม่ตราหน้าความผิดแก่ใครง่ายๆ

บทบาทหลักๆ นอกจากติดตามน้องคืออะไร

มีนี: สรรหาน้องเข้าโครงการที่ยังเหลือระยะฝึกอีก 6-12 เดือน อยู่ในขั้น 3-1 เพราะจะออกไปเรียนข้างนอกได้ โดยการอ่านสำนวนของน้อง จะได้รู้ระยะฝึกที่เหลือ และรู้จักประวัติน้องมากขึ้น จากนั้นส่งรายชื่อไปที่ศูนย์ฝึกว่าใครสนใจเข้าร่วม ส่วนมากน้องสนใจ เพราะอยากออกไปข้างนอก นอกจากเราและน้องต้องพยายามให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ฝึกเข้ามามีบทบาทร่วมด้วย

ป้าหนู: บุคลากรสงขลาฟอรั่มที่ผ่านสะพานชีวิตมามี 2 คน ถือเป็นพื้นฐานที่ดี เพราะการที่สามารถมองเยาวชนเหล่านี้มีสิทธิความเป็นมนุษย์ ถือว่าข้ามมาอีกขั้นแล้ว เรื่องเยาวชนข้างนอกถือเป็นเรื่องเล็กเลย ตั้งแต่สงขลาฟอรั่มจับงานในสถานพินิจ เราจะพยายามสู้เพื่อให้เด็กที่อยู่ข้างในมีสิทธิส่งเสียงได้เท่ากับเด็กข้างนอก อย่างเราทำรายการวิทยุอยู่ รายการของเราจะดังมาก เพราะมีเสียงของเด็กจากในสถานพินิจ แต่กว่ากรมพินิจจะอนุญาตก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การที่เด็กเหล่านี้ได้เล่า ทำให้คนเข้าใจเด็กที่ก้าวพลาดได้เยอะ แล้วเราค้นพบว่ามีจำนวนมากที่พ่อกับแม่รักลูกไม่เท่ากัน น้องยืนยันว่าตัวเองทำผิดเพื่อรับโทษแทนพี่ เพราะแม่รักพี่มาก ให้คนไทยสังคมสงขลาได้รับรู้ว่าเด็กข้างในกับเด็กข้างนอกมีหัวใจเดียวกัน และจะโทษครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งไม่ได้ เพราะเวลาเด็กเล่าเขาจะบอกว่า สังคมเป็นอย่างนี้ ฉันจึงเป็นอย่างนี้ นี่ไม่ใช่การโยนความผิด แต่สังคมต้องรับผิดชอบด้วย ตอนนี้มีเด็กใจร้ายเยอะมาก ซึ่งเป็นตัวชี้วัดว่าสังคมเราเป็นอย่างไร

การทำสะพานชีวิต 3 ปีสอนอะไรเราบ้าง

มีนี: ก่อนจะทำงานเราต้องชัดก่อนว่าจะทำอะไร เลื่อนลอยไม่ได้ ตัวเรานั่นล่ะที่กดดันตัวเอง เพราะนี่คือชีวิตจริง สิ่งที่สอนเราตอนอยู่ที่นั่นคือเราต้องทำงานกับผู้ใหญ่ในศูนย์ฝึก การถ่อมตัวเป็นสิ่งสำคัญ แม้แต่กับน้อง อย่างวันแรกที่ทำงานกับน้อง เราพาน้อง 30 คนไปที่ชายหาด โดยไม่มีผู้คุม เราบอกน้องว่าใครจะหนีให้หนีเลย แต่เราฆ่าตัวตายอย่างเดียว เพราะคงรับผิดชอบไม่ไหว ทำให้เรารุ้ว่าการทำงานกับคนจริงๆ คือการไว้เนื้อเชื่อใจกันที่จะทำให้ทำงานด้วยกันได้ เราไม่เคยรู้สึกกลัวเวลาพาเขาออกมาข้างนอก ไม่เคยมีกำแพงกับน้องคนไหน

ตอนเปลี่ยนหน้างานจากสะพานชีวิตมาเป็น Active Citizen รู้สึกอย่างไร

มีนี: ตอนนั้นยังไม่รู้อะไรมาก รู้แค่ว่าเปลี่ยนจากเด็กข้างในมาเป็นเด็กข้างนอก งานน่าจะคล้ายกัน

ป้าหนู : เราให้เลือกว่าใครจะอยู่ใครจะไป เพราะเป็นการบุกเบิกหน้างานใหม่ และช่วงนั้นเป็นรอยต่อที่บัณฑิตอาสาจะไปเรียนต่อด้วย บางคนก็ขอแยกย้าย เติบโตไปตามทาง

การต้องปรับตัวกับโครงการใหม่ มีผลกับการทำงานไหม

มีนี: ตอนนั้นเรายังไม่กล้า เพราะคนอื่นเป็นพี่และเข้ามาทำงานก่อน ตัวเราทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงโครงการ

ป้าหนู: การทำงานเป็นพี่เลี้ยงโครงการสะพานชีวิตกับ Active Citizen แตกต่างกัน เพราะน้องข้างในพร้อมจะตามเรา เนื่องจากเขาไม่ได้มีอิสระในการตัดสินใจ เขาพร้อมจะตามเรา แต่กับเด็กข้างนอกมันไม่ใช่ เราก็กลัวมากว่าพี่เลี้ยงจะติดนิสัยที่เหนือกว่าน้องนิดหน่อยมาใช้กับเด็กข้างนอก ซึ่งทำแบบนั้นไม่ได้เลย บอยจึงไม่สามารถอยู่ได้ เพราะอยู่ตรงนั้นเขาเป็นฮีโร่ แต่ตรงนี้ตัวเองต้องเรียนรู้น้อง น้องก็ต้องเรียนรู้เรา ส่วนเด็กสงขลาฟอรั่มรุ่นหลังที่ไม่ผ่านสะพานชีวิตจะไม่มีนิสัยนี้เลย งานพลเมืองนี้เราไม่อยากให้เด็กไปชนกับใคร อยากสร้างพลเมืองที่สงบขึ้น

ปีแรกในการทำงานเป็นอย่างไร

มีนี: เริ่มตั้งแต่การประชาสัมพันธ์ การจัดการเปลี่ยน เพราะมันกว้างขึ้น ต้องมีท่าทีในการเข้าไป และงานต้องชัด เรื่องทีมตอนนั้น เราอยู่ฝ่ายปฏิบัติการกับพี่บอย พี่ใหม่ ซึ่งเรารู้สึกว่าเป็นน้อง ไม่สามารถบอกพี่ได้เยอะ ป้าหนูดูก็รู้แล้วว่าสถานการณ์ออฟฟิศเป็นอย่างไร

ป้าหนู: ช่วงแรกสถานการณ์ออฟฟิศค่อนข้างปั่นป่วนเหมือนกัน เพราะมีอยู่ 2 แก๊งที่จ้องกันไปมา บอยออก กล้วยมา บอยจะกลับมา กล้วยยกทีมออก เราไม่เครียด เพราะรู้จักมาทุกคนแต่มั่นใจอย่างหนึ่งว่ามีเด็กจบใหม่ที่สามารถนำมาสร้างได้ ทีมเก่าเขาก็รู้ตัวเองว่าอยู่ไม่ได้ก็ออก คิดว่านี่คือทางชีวิตของเขา เราจะพูดเสมอว่าไปทำอาชีพอะไรก็ได้ แต่ข้อให้เป็นพลเมือง เพราะเราสอนน้อง ไม่ใช่พระที่เทศน์ แต่ทำไม่ได้ มันไม่สมศักดิ์ศรีของตัวเอง

ส่วนมินีเขาก็คงอยู่ได้ด้วยอะไรบางอย่าง ด้วยความอ่อนน้อม เขาเป็นคนที่เย็นเวลาเราร้อน เก็บรายละเอียดได้เยอะ เราคิดว่าหัวข้อขยายได้แค่นี้ เขาจะมีตัวอย่างขยายได้เยอะ เป็นตัวอย่างให้น้องว่าเวลารวมกลุ่มต้องเก็บรายละเอียดของความเป็นมนุษย์ เรื่องร้องไห้ของมินีสอนใจเราได้เยอะมาก อย่างกรณีของพีระที่เรากับมินีต้องไปเป็นพยาน เราก็กลัวว่ามินีจะร้องไห้แล้วเสียเครดิต แต่คำหนึ่งของมินีที่บอกคือ ที่ร้องไห้ไม่ใช่ว่ากลัว แต่พอได้ทบทวนเหตุการณ์แล้ว มันกลับมากระทบใจอีกครั้งหนึ่ง แล้วเราเป็นห่วงมาก เพราะต้องไปโดนทนาย 5 คนของฝ่ายจำเลย พูดรวนให้เราประสาทเสีย ช่วงนั้นสงสารมินีจับใจ กับช่วงที่โดนปืนกลถล่ม เรานั่งอยู่กับพื้น ส่วนมินีเป็นคนคลานออกไป เพื่อเอาเราเข้ามา เราเลยนับถือใจความกล้าของเด็กคนนี้

สำนึกพลเมืองก่อตัวขึ้นมาในตัวเราอย่างไร

มีนี: ตอนแรกเราเข้าใจว่าแค่สำนึก แค่นึกถึงเรื่องนี้คือสำนึกแล้ว ไม่รู้ว่าแล้วอย่างไรต่อ แต่การที่เราลงไปคุยกับน้อง เหมือนว่าเราถูกตั้งคำถามว่าโครงการน้องเป็นอย่างไร ช่วงแรกเวลามีอีเวนต์ที่เครือข่ายทำ เรารู้สึกว่าอีเวนต์อีกแล้ว งานเรายังไม่ถึงไหน พอช่วงหลังรู้สึกว่าต่อให้เราไม่ทำ แต่ต้องเรียนรู้และเข้าใจ เราต้องออกแบบให้น้องได้เรียนรู้ ตอนนี้พอมีงานอะไรนอกเวลางาน เราเฉยๆ แล้วที่ต้องไปทำ เพื่อนชวนไปไหน เราไม่กล้ารับนัดเพื่อน เผื่อน้องจะนัด เพราะรู้สึกว่าเราต้องสแตนด์บายกับงานแบบนี้

ทำไมต้องสแตนด์บายขนาดนั้น

มีนี: เรามีความสุขกับงานแบบนี้ อย่างเจอกลุ่มล่าสุด เราคุยและเจอน้องเยอะมาก เขาไม่เคยทำงาน และถูกผู้ใหญ่ให้มาทำ แต่พอคุยก็โอเคกับสิ่งที่จะทำ เขาก็ถามว่าลงชุมชนเป็นอย่างไร คอยถามรายละเอียดต่างๆ มากมาย และในระหว่างคุยงานก็มีการคุยเรื่องอื่นที่สนุกด้วยกัน จนรู้สึกว่าตรงนี้กลายเป็นสังคมของเราไปแล้ว แต่ถ้าสังคมเพื่อนต้องมีเงินไปเที่ยว ช็อปปิ้ง ดูหนัง เว้นแต่ช่วงที่เราอยากพักยาวไปเที่ยว ก็จัดการได้ และตั้งไว้ว่าต้องกลับบ้านเดือนละครั้ง เพื่อไม่ให้แม่รู้สึกว่าเราอยู่ไกลบ้าน

อะไรที่ทำให้มินียังทำงานแบบนี้อยู่

มีนี: มีเรื่องท้าทายตัวเองตลอดเวลา จากที่เคยคิดว่าพอทำปีแรกแล้ว ปีต่อมาจะเหมือนเดิม แต่ป้าหนูมาให้โจทย์ตลอดว่าจะออกแบบกระบวนอะไรให้น้อง เราจึงต้องพัฒนาตัวเอง สไตล์งานกับสไตล์เราเป็นเรื่องเดียวกัน ตอนนี้เราก็ชอบคิดไม่หยุด

กังวลไหมว่าถ้าหมดโครงการนี้จะทำอะไรต่อ

มีนี: ถ้าหมดอะไรจะทำจริงๆ เรากลับไปอยู่บ้านได้ ที่บ้านเรามีอะไรให้ทำ แต่อาจไม่ได้เป็นธุรกิจที่เราจะมีเงินใช้ ใจเรานิ่งด้วย ไม่กระวนกระวายว่าถ้าตกงานจะทำอย่างไร และเคยคุยกับพ่อแม่แล้วว่าถ้าออกจากงานที่นี่จะไม่สมัครสอบที่ไหน เราจะกลับมาอยู่บ้าน

งานนี้ให้อะไรกับตัวเรา

มีนี: เราอยู่ได้ในบ้านแบบนี้ เพราะบ้านนี้ไม่ได้นำกะลามาครอบเรา เปิดตลอด มีเวทีไหนที่พัฒนาเราได้ เขาก็ส่งเราไป แล้วก็มาแชร์กัน ไม่มีใครทำตัวเองเป็น one man show

จากการเป็นน้องแล้วมาเป็นพี่ เหนื่อยไหม

มีนี: เขาก็มีสไตล์ของเขา แต่บางอย่างเราก็ขัดใจว่าทำไมคิดไม่ได้ เราต้องบอกหรือ เพราะเรามีความฝันว่าเขาจะรู้งานโดยไม่ต้องบอก พอคิดดูอีกทีคือตอนนั้นเราก็เป็นแบบนี้

ฝันอยากเห็นอะไร

มีนี: อยากเห็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่บ้านเรา ที่เยาวชนบ้านเราสามารถส่งเสียงได้ โดยไม่เป็นอย่างทุกวันนี้ ที่นี่ส่งเสียงให้ดังและคนข้างๆ จะได้ยิน และมาร่วมส่งเสียงกับเรา เหมือนอย่างที่มีเด็ก 3 จังหวัดขอส่งโครงการเข้ามา จึงเห็นว่ามันเริ่มดังขึ้น

ภูมิใจอะไร

มีนี: เราเป็นผู้ใหญ่ขึ้น มีวุฒิภาวะ รู้ว่าต้องวางตัวอย่างไร ไม่ด่วนตัดสินว่าเขาเป็นอย่างไร สามารถข้ามพ้นอะไรที่ไม่โอเคได้ง่ายขึ้น มีวิธีจัดการที่ดี ไม่ได้เป็นแค่คนตั้งรับ แต่ริเริ่มคิด ตั้งโจทย์ให้ตัวเองก่อน คิดว่าจะพาน้องไปทางไหน

ความมั่นใจมาจากไหน

มีนี: มีการพูดคุย การสะท้อน การตั้งคำถาม

การนำตัวเองได้เกิดขึ้นช่วงไหน

มีนี: มีความรู้สึกบางอย่างในความเป็นพี่ว่า ถ้าพี่ไม่ชัดแล้วน้องจะชัดได้อย่างไร บางทีเรารู้สึกว่าไม่แฟร์กับป้าหนูที่ต้องมากระตุ้นเราตลอดเวลา เราควรมีวุฒิภาวะที่โตขึ้นได้แล้ว ค่อยๆ ชัดขึ้นมา อาจเป็นเพราะเรื่องสำนึกพลเมืองที่ปีแรกเรายังไม่เอาไหน แต่เพราะการฟูมฟักของที่นี่ทำให้เรามองชัดและไปได้

คุณค่าของเรา

มีนี: ตอนแรกเรามองว่าการที่ทำอะไรแล้วไม่เดือดร้อนคนอื่นก็พอแล้ว แต่ตอนนี้เรามองว่าแค่นั้นไม่ได้ ต้องทำอะไรที่เป็นประโยชน์ การที่เราคุยกับน้องให้เขาเห็นว่าสิ่งที่เขาเห็นมีค่า และเขารู้สึกว่าอยากทำมัน เราคิดว่ามีค่าแล้วที่ไปสร้างความรู้สึกนั้นให้เขา และเขากล้าจะลงมือทำ

ป้าหนูรู้สึกอย่างไรกับความเป็นทีม ณ วันนี้

ป้าหนู : การยกระดับของเจ้าหน้าที่ชุดนี้มีความลึกไม่เท่ากัน ทั้ง 7 คน ก็พอใจ เขายกระดับตัวเองขึ้นมาตามอายุงานได้ดี ความเจริญก้าวหน้าของสงขลาฟอรั่มเป็นเพราะพวกเขาเสริมกัน น่าพอใจ ถ้าวันไหนเราต้องไปทำงานเครือข่าย ไปช่วยเขาคิดบ้าง เรายังเหนื่อยอยู่เพราะไม่รู้จะส่งใครไปบ้าง

เช็คเอาต์

กช: ตัวเองได้ทบทวนสิ่งที่ทำมาอีกครั้ง และได้เห็นพัฒนาการของตัวเอง อาจมองไปถึงอนาคตว่าต้องมีทิศทางอย่างไรในการก้าวเดินต่อไป

ปอง:ได้รู้จักทีมสงขลาฟอรั่มมากขึ้น เห็นการถ่ายทอดแนวคิดการทำงาน ละเอียดและใส่ใจ มีความสัมพันธ์เชิงครอบครัว ที่ให้คำปรึกษากันด้วยลำดับความอาวุโส ทุกคนใส่ใจการทำงานและมองว่าตัวเองต้องพัฒนาตลอดเวลา

พี่ตาล: วันนี้ได้ทบทวนจากที่เดินหน้าทำงานมาตลอด บางสิ่งที่ไม่ได้ฉุกคิดก็มีโจทย์เกิดขึ้นในใจ และจะกลับไปค้นหาต่อ

พี่เมย์: ทำให้รู้จักเบื้องลึกของสงขลาฟอรั่มมากขึ้น เห็นว่าทุกคนใช้ใจนำในการทำงาน อย่างที่บอกว่าถ้าใจเรามาแล้วเรื่องอื่นก็ไม่ใช่ปัญหา นอกจากแนวคิดเรื่องการจะมาทำงานเยาวชน ถ้าขาดการทำงานด้วยความรู้สึกแบบครอบครัวอาจทำให้หลายคนอาจเดินออกไปแล้ว

พี่แจง : เห็นว่างานเป็นเรื่องของการสร้างการเรียนรู้ให้กับน้อง แต่ก็เชื่อว่าเป็นการสร้างการเรียนรู้ให้กับตัวเองด้วย เริ่มต้นจากเราก่อน การให้ความสำคัญของการสร้างคน ความเป็นมนุษย์ของโคช ที่ตัวเองอาจจะเห็นชัดเจนที่นี่ว่าการใช้ความเป็นมนุษย์สัมผัสกับน้อง ทำให้เรารู้สึกชัดเจนที่นี่

พี่ออม: ชอบว่าที่นี่เป็นโรงเรียนมนุษย์ ทำให้เรามาทบทวนตัวเองด้วย บางครั้งเราก็หลงลืมเป้าหมายของการทำงาน เรียนรู้ไปกับทุกคนในการเริ่มต้นโครงการ ว่าเราเริ่มต้นไปด้วยกัน เหมือนเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ละขั้นตอนในการทำงาน

พี่มน: ได้ฟังความฝันที่แต่ละคนไม่ถึงฝัน แต่มาฝันร่วมกันใหม่ สงขลาทำงานด้วยใจ เราให้ใจเขา เขาก็ให้ใจเรา แล้วเราก็จะมีความสุขกับงาน

พี่โจ้ : ภาคภูมิใจในงานที่เราทำกับที่สงขลามากที่สุดที่ช่วงชีวิตที่ทำงานมา คุณค่าของการมีฝัน เราได้เจอคุณค่าแท้ของการศึกษาที่ตามหา มันคือการพัฒนาภายใน แล้วนำไปพัฒนาคนอื่น ที่นี่เป็นที่ ๆ กลมกล่อมของการทำงาน ลึก สิ่งที่แต่ละคนค้นเจอ สุดท้ายเรามีความรู้สึกว่าความเก่งไม่ใช่โคชคนเดียว แต่มันคือทีม ที่ชัดแจ้งสุดคือความเป็นสำนึกพลเมือง ที่เราเล่นไปกับเขาด้วยไม่ใช่แค่เราให้น้องเขารู้สึกคนเดียว

พี่ตั้ม : ตลอดการทำงานที่ผ่านมาไม่เคยเป็นพี่เลี้ยงและคิดว่าจะไม่เป็นพี่เลี้ยงใคร เราไม่รู้วิธีการสอน เวลาเราไกด์ น้องจะไม่ได้อย่างใจ เราก็จะหงุดหงิด เพราะเราไม่รู้วิธีการโคชที่แท้จริง กระทั่งได้รับโอกาสไปเป็นโคชทีมกล้าใหม่ใฝ่รู้ทั้ง 19 ทีม มีอารมณ์ผิดหวังเหมือนที่กลดเป็นบ้างว่าน้องดึงหัวใจของโครงการออกมาไม่ได้ การฟังวันนี้ทำให้รู้ว่าเรายังไม่เข้าใจการเป็นพี่เลี้ยง ยังไม่เข้าใจน้อง ยังไม่เข้าใจความเป็นมนุษย์ของแต่ละคน คนนี้เป็นอย่างนี้ต้องใช้วิธีการมาสร้างเขาได้อย่างไร อีกอันคือเราอาจนำช่วงการพูดคุยเวลากินข้าวในทีมกลับมาใช้

พี่ก้อม : การสร้างทีมของป้าหนูว่าทำอย่างไรให้ทีมมีเป้าหมายร่วมกัน มีพลังที่จะทำงานไปในทิศทางเดียวกัน เราจะพาทีม พาน้องอีกหลายคนในออฟฟิศให้ไปร่วมกันได้อย่างไร เรารู้ตัวว่าใจร้อน อยากให้เขาเป็นงานเร็ว เพราะเวลาของเราเหลือน้อย และอีกอย่างที่เหมือนป้าหนูคือ ลูกน้องฉันใครอย่าด่า อยากให้ลูกน้องโต ทั้งความคิดและหน้าที่การงาน ทุกคนทำงานได้แต่ทุกคนต้องการกำลังใจ เราคนเดียวก็ให้ไม่ไหว ไมรู้จะไปอย่างไร ก็พยายามหาวิธีอยู่ แล้วมาเห็นที่นี่ว่าการมีเป้าหมายร่วมกัน ทำให้ทีมแข็งแรง ทุกคนเก่ง แต่คนละด้าน พอมารวมกันคือความงาม

พี่มินี : รู้สึกดีใจที่น้อง ๆ บอกว่าที่นี่ใช่สำหรับเขา เพราะเรารู้สึกว่ามันยากที่จะหาคนมาทำแบบนี้ การที่เขาลงมาสัมผัส เราเองก็เหนื่อยที่ต้องเจอเพื่อนร่วมงานใหม่ ๆ เพราะงานเราต้องเดินหน้าตลอด ดีเหมือนกันที่มีคนมาตั้งคำถามให้เรา เพื่อให้เราได้หยุดคิดว่ายังไง เหมือนเป็นการทบทวนตัวเอง มีความสุขทุกครั้ง

เจ๊าะ : รู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่ได้มาเจอ และทำงานที่นี่ ที่ผ่านมาเราเจอคนหลายรูปแบบ เรามองงานเป็นงานแต่ไม่ได้มองว่าเป็นหน้าที่ที่เราต้องทำเหมือนที่นี่ ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ เหมือนเป็นที่ที่เราหาเจอ เป็นงานที่ตัวเองค้นพบว่าเป็นอาชีพที่เราใฝ่ฝันว่าทำอะไรก็ได้ที่ทำดีไปในแต่ละวัน

ป้าหนู : เห็น 2 ภาคส่วน ในส่วนของลูกน้องตัวเองเห็นความเติบโต เห็นดีกรีบางอย่างที่มีในตัวเราไปอยู่ในตัวเขา เหมือนความที่เราเลี้ยงลูกเราพร่ำสอน เราจะไม่เห็นในสิ่งที่เราสอนจนเขาโต เราได้เห็นสิ่งที่ป้าหนูสอนอยู่ในตัวเขา ตอนที่เรานั่งฟังเราเหมือนเป็นบทบาทเป็นแกนนำ ที่เขาพูดวันนี้ให้คนอื่นฟัง ในความเป็นองค์กรเราเห็นความแรงตามเป้าหมายได้ชัด แม้ว่าเขาจะเข้ามาในเวลาที่ไม่เท่ากัน

อีกส่วนคือมูลนิธิ ที่เราเห็นว่าเป็นญาติของเราที่มีความปรารถนาดี อ่อนน้อมถ่อมตน สม่ำเสมอ บางเรื่องที่เขาก้าวล้ำกว่าเราแต่ไม่เคยใช้วิธีสั่งสอน แต่เป็นการแชร์ความรู้กัน ถ้าไม่มีมูลนิธิสยามกัมมาจล เราอาจจะฝ่อไปเหมือนกัน แล้วเรามีเพื่อน มีญาติที่อยู่นอกครอบครัว เราเห็นภาพตรงนี้ชัด 


วันที่ 10 พฤษภาคม 2559

­

ช่วงป้าหนูมารับโครงการนี้ คำว่าสำนึกพลเมืองที่ฝังอยู่ในตัวป้าหนู และความริเริ่มที่จะมาทำสำนึกพลเมืองให้เด็กนั้นชัดไหม หรือแค่อยากให้เด็กมีทักษะชีวิต

ป้าหนู: ความเป็นผู้นำของแต่ละจังหวัดต่างกัน เราต่อสู้เพื่อสิ่งนี้มาตลอดในเรื่องความไม่ยุติธรรม เรืองจิตสำนึกเพื่อบ้านเกิด เป็นองค์ประกอบของผู้นำที่สงขลาฟอรั่ม ไม่ใช่เราคนเดียว แต่มีในอีกหลายคนที่เติบโตมาพร้อมกับเรา และเติบโตกันไปเป็น NGO หลายแห่ง มันไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ ฉันจะต่อสู้เพื่อสร้างสิ่งนี้

แล้วมาถึงจุดหนึ่งที่เราคบแต่ NGO มากๆ มันตันเวลาเล่นกับผู้ใหญ่ เราจึงคิดที่จะสร้างคนเพื่อมาป้อนเส้นทางนี้ เริ่มจากบ้านเกิด ตอนั้นไปกู้ธนาคารโลกมาเพื่อรับงานการศึกษานอกโรงเรียน แล้วสอนผ่านวิทยุและไปรษณีย์ เพราะสมัยนั้นสื่อที่ดีคือวิทยุและไปรษณีย์ใช้การคุยทางวิทยุกับชาวบ้าน เราต้องพูดให้คนเข้าใจ ให้มันลามไปถึงหัวใจ เพราะวิทยุไม่ได้เห็นหน้า ตรงนั้นบ่มเพาะพลังการพูดขยายเสียง ต้องขอบคุณที่ตอนนั้นเราลาออกจากกระทรวงการต่างประเทศ แล้วมาอยู่กองการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการซึ่งกระจอกมาก แต่เรามองแล้วว่าวิสัยทัศน์สอนคนจำนวนมาก เราต้องดูสถานีวิทยุ14 จังหวัด เวลาเดินสายคนหยุดงานหมดเลย เพื่อมาดูครูทีมนี้ ป้าหนูจะจัดรายการตอนเช้า รายการชนบทบ้านเรา ช่วงตี 5-7โมง เป็น 2 ชั่วโมงที่คนติดมาก จดหมายมาขอความรู้เยอะมาก

ตอนนั้นเนื้อหาที่ถ่ายทอดคืออะไร

ป้าหนู: เราว่าเป็นพื้นฐานให้งานนี้เลยคือ เอาตามสถานการณ์ ต้องลงพื้นที่เป็นประจำ และพื้นฐานอีกอันหนึ่งคือ พ่อเป็นครูบ้านนอกที่สมาร์ท สอนความรู้เราหลายอย่าง เช่น การเกี่ยวข้าว รำวง พ่อเรียนภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง แล้วสอบผ่านได้ทุนไปสอนการศึกษาผู้ใหญ่ที่อังกฤษ เราไม่ได้คิดว่าเราจะต้องเป็นเหมือนพ่อ แต่คิดเลยไปว่าถ้าจะสร้างเด็ก เราอยากให้ความเป็นชนบท ความบริสุทธิ์ยังมีอยู่ เขามีราก ต่างกับเด็กในเมืองคือรุ่นแรกที่เราประสบปัญหามาก เขาไม่มีราก จึงทำเรื่องอย่างนี้ลำบาก กลับมาเรื่องที่มา คือตอนนั้นเราทำราชการ และทำอย่างอื่นไปด้วย แต่พยายามรักษาความเป็นราชการที่ดี ไม่โกงเวลางาน ลงทุนสร้างสตูดิโอเล็กๆ ในบ้าน เพื่อจะทำเทปแล้วจ้างมอร์เตอร์ไซค์ส่ง อสมท. หาดใหญ่ ที่ให้เวลาเราฟรี ด้วยความที่เราสร้างชื่อเสียงไว้ระดับหนึ่ง แล้วเราอยากให้เสียงของเราดังสักครึ่งวัน เราก็ทำสปอตโฆษณาเล็กๆ เกี่ยวกับทะเลสาบ ซึ่งสมัยก่อนยังไม่มีใครทำ ของเราจะมีเสียงทะเลสาบ นกเป็ดน้ำ และมีเวิร์ดดิ้งที่มีพลัง กลายเป็นว่าสถานีเขาป้อนงานให้เราผลิตเป็นสารคดีสั้นของ สวท. กับ อสมท. กศน. ยุคแรกคือดีมาก ต่างประเทศยอมรับ ตั้งแต่ปี 19 โลกทัศน์เปิดมากกว่านี้ เราว่าสิ่งเหล่านี้เกาะตัวมาในเรื่องของการเล่นกับสื่อเฟสแรกเราเล่นกับเด็กเมืองสงขลา เรื่องของคนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เมื่อปี 1920 คนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้มีกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ตอนนั้นคาราบาวดังใหม่ๆ แต่งเพลงที่เพราะมากให้คนอ่านออกเขียนได้ หลังจากการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ สื่อก็มาแรง คนไม่ทันสื่อ เราจึงเป็นยุคแรกที่มาเล่นเรื่องนี้กับเด็ก ไม่มีทุน ไม่ต่อเนื่อง พอปิดเทอมหรือเสาร์-อาทิตย์ที่ว่างค่อยนัดเด็กมา ก็สามารถสร้างแก๊งสื่อเล็กๆ ได้ สร้างสปอตโฆษณารณรงค์เรื่องสื่อดังไปทั่วสงขลา-หาดใหญ่ ในรายการวิทยุพูดเรื่องบ้านเกิด เปิดมิติ เรื่องของความเท่าเทียมกันระหว่างเด็กข้างนอกและเด็กในสถานพินิจ ให้เด็กในสถานพินิจได้มาฝึกพูด พอเที่ยงวันจะเป็นรายการของเด็กสถานพินิจ ตอนนั้นเด็กในสถานพินิจประมาณ 600-700 คน มานั่งตรงสนามเพื่อฟังวิทยุที่จัดจะชิงโชค เป็นภาพที่ประทับใจมาก จากนั้นค่อยๆ เล่นมาเรื่อย เราเล่นอยู่กับเด็กสถานพินิจนานมากตั้งแต่ปี 34 จนถึงยุคบอยมาอยู่แล้วออก และหล่อเลี้ยงอยู่นานจนคิดว่าต้องสละทิ้ง เพราะทีมนี้ก็เติบโตพอจะดูแลกันเองได้ บอยเขาเคยเป็นเด็กข้างในน่าจะทำได้ดีกว่าเรา เพราะเราก็เทรนด์เขามาในระดับหนึ่งแล้ว ต้องตัดใจ เพราะยังมีเด็กในสังคมอีกเยอะ

จุดเปลี่ยนที่บอกว่าจากทำงานกระทรวงการต่างประเทศ แต่พอมาทำ กศน. คนได้ประโยชน์มากกว่า อะไรคือแรงบันดาลใจ

ป้าหนู: ตอนที่เรียนอยู่ธรรมศาสตร์ เราเรียนการทูตเพื่อความเท่ แล้วแก๊งเราจะไฮโซหมดเลย มีเราคนเดียวในกลุ่มที่เสาร์-อาทิตย์ไปสอนพิเศษสลัม เจอกับครูประทีปที่สลัมคลองเตย ไปเล่นดนตรีหาเงินต่อเดือนได้เยอะมาก แต่หมดกับสอนพิเศษ ที่ฝันมากคืออยากเป็นนักหนังสือพิมพ์ แต่ทำงานได้ไม่นาน เพราะพ่อไม่ชอบ จึงไปสอบกระทรวงการต่างประเทศเพื่อเอาใจพ่อ แล้วพอไปอยู่ รับไม่ได้กับเรื่องของเส้นสาย

ทำไมต้องไปสอนพิเศษ

ป้าหนู: เห็นความลำบากแล้วอยากช่วย และมีเงินที่จะซื้ออาหารและเครื่องเขียนไปให้เด็กได้ ทั้งที่เราอยู่ในกลุ่มเด็กเกเร ไม่เรียน แต่ก็รับผิดชอบเวลาเรียน รู้สึกว่าพวกทฤษฎีการเมืองมันเพ้อเจ้อ ตกยุคไปแล้ว นั่งท่องอยู่ได้ ทำไมไม่นำทฤษฎีใหม่ๆ มาจับแล้ววิเคราะห์ ตอนเรียนปริญญาตรีรุ่นน้องที่เป็นอาจารย์ต้องมาขอร้องให้ไปแก้วิชาปรัชญาการเมือง เราคิดว่าตัวเองเป็นคนนอกระบบคือเรียนแล้วสอบไปอย่างนั้น สอบแบบเฉียดฉิว สูงสุดได้บี กฎหมายแรงงานเอ นอกนั้นเฉียดตก แต่แก๊งเพื่อนไม่ได้ช่วยเราเลย นัดสังสรรค์ที่เรารู้สึกว่าไร้สาระมาก เกรงใจจึงไป แต่เราก็รักเพื่อน พออายุ 60 ปีทุกคนถึงเพิ่งมาพูดว่าสิ่งที่เขาทำ การเป็นทูตมันไม่มีคุณค่าอะไรเลย สิ่งที่เราทำมันมีคุณค่ากว่าและอยากช่วย เราลาออกจากกระทรวงการต่างประเทศ ช่วงที่พ่อไม่อยู่ ไปสอนหนังสือที่อังกฤษ จึงสอบให้ได้ด้วยตัวเอง เพื่อจะได้ไม่ขึ้นชื่อว่าเป็นเด็กเส้น ก็สอบได้ที่ลำปาง

จากนั้นเขาก็เริ่มก่อตั้งที่ภาคใต้ กรมมาถามว่าไปอยู่ภาคใต้ไหม แต่ยังไม่มีใครช่วย ต้องทำงานเป็นผู้ประสานงานอยู่คนเดียว เด็กจบใหม่ แต่ต้องรับผิดชอบแบบนี้ เรารับเพราะอยากกลับบ้าน มาเจรจากับโรงเรียนมหาวชิราวุธ จากนั้นคนค่อยๆ ทยอยมา อยู่ที่นั่นมีความสุขมากเพราะงานตรงกับจริต คือรับผิดชอบเทคโนโลยีการศึกษา ตอนนั้นทำวิทยุ โทรทัศน์ในระดับชุมชน 14 จังหวัด เราเป็นภูมิภาคที่ผลิต ต้องรู้ฐานข้อมูลของบ้านเรา มันจึงติดมาใช้ในการทำงานตอนนี้ที่ต้องรู้ฐานข้อมูลของน้อง ซึ่งเป็นหัวใจพื้นฐานของ Active Citizen เราทำราชการอยู่ 31 ปี ซึ่งระหว่างนั้นเป็น NGO ด้วย

คลื่นทางการศึกษาเราได้ฟรี แต่คลื่นที่ถูกคนกรุงเทพฯ แย่งซื้อแล้วมาขายคนในท้องถิ่นแพง คิดเลยว่ามันมาใช้น้ำ ใช้ไฟเรา ไม่ได้บำรุงที่นี่ จึงมาแย่งซื้อ แต่ประมูลไม่ได้ เพราะไม่มีเงินก้อนใหญ่ แต่คนที่ประมูลได้มาขายเราแบบถูกๆ เพราะอยากให้รายการอย่างเราอยู่ในสถานีของเขา เราจึงได้เวลาถูกๆ ระหว่างที่ทำรายการจะมีผู้สนับสนุนเข้ามาตลอด ก่อนที่จะรับงานสปอนเซอร์ เราจะนั่งคุยกับเขาก่อนว่าได้ไหม เช่น สนามกอล์ฟจะไม่รับ ทำเหมือนดัดจริตเรื่องมากนั่นล่ะ แต่ไปได้ อยู่ได้ เราก็ทำคอเรดิโอ วิทยุสร้างสรรค์ พี่ชายของพี่ก็ไปทำบ้านทุ่งพัฒนากับช่อง 7 ที่ได้รางวัลโทรทัศน์ทองคำ จากนั้นแยกย่อยมาเป็นสงขลาทอล์ค จากทำตรงนั้นก็ลาออกจาก กศน. ภาค แล้วมาอยู่ศูนย์วิจัยชุมชน ดูแลศูนย์วิจัยทอผ้า 3 แห่ง ทำงานวิจัยเรื่องวัฒนธรรมตาลโตนด ทำให้เรารู้จักคาบสมุทรสทิงพระ ระหว่างนั้นเราได้ทุนไปทำวิจัยเรื่องเด็กที่อเมริกา 6 เดือน ที่ดินก็ถูก อบจ. โกง กลับมาคือเป็นของคนอื่นแล้ว จึงลาออก แล้วไปหาอาจารย์ประเวศ วะสี คือเรารู้สึกว่าทำไมสิ่งเล็กๆ ถึงถูกเหยียบย่ำตลอด เหมือนท้อแท้ แล้วอาจารย์พูดมาดีมากว่า ความจริงฐานที่คุณทำเรื่องสำนึกมาตุภูมิ คือสำนึกพลเมือง สิ่งนี้มันเติบโต มันดี คุณทำต่อ แล้วท่านพูดแบบนิ่งไม่อารมณ์ตามเรา ทำให้เราได้สติ

ลาออกจากงานอยู่ 2 ปี พอปี 50 เริ่มฟอร์มไทยพีบีเอส ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ต้องตัดสินใจครั้งใหญ่อีกครั้ง เพราะทิ้งสงขลาฟอรั่มไว้ในระดับหนึ่ง แล้วไปบุกเบิกในสังคมที่เราไม่คุ้นเคย ซึ่งอยู่ไทยพีบีเอสไม่มีความสุขเลย ตอนนั้นคิดว่าเราต้องการให้ เพราะด้วยปรัชญาของโทรทัศน์สาธารณะ ถ้าไม่เอาจริง ยังใช้วิธีคิดแบบสื่อส่วนกลาง สื่อกระแสหลัก คือประเทศไทยอยู่ที่กรุงเทพฯ ไม่ได้คิดแบบโทรทัศน์สาธารณะที่มีผู้ชมเป็นพลเมืองไม่ใช่ผู้บริโภค วิธีคิดแบบนี้ยังมีอยู่น้อยในสื่อ

เราไม่มีความสุขในสังคมของมืออาชีพที่คิดว่าคนอื่นโง่กว่า แล้วเป็นสังคมที่ลูกน้องแทงหลังอยู่ตลอดเวลา เพราะคนจากต่างจังหวัดมาเป็นนายมัน โดยเฉพาะฝ่ายข่าว แต่ถ้าเราไปจังหวัด เขาจะขึ้น อยากทำ อยากได้ผู้บริหารแบบเรา แล้วเราดูแลสภาผู้ชมผู้ฟังซึ่งเป็น NGO สายต่างๆ ที่อหังการ์เข้ามาอยู่ ซึ่งก็ดื้อไปอีกแบบ เป็นความทรงจำที่ไม่สุขเลย

ไทยพีบีเอสให้พี่คือ จิตสำนึกพลเมืองที่เข้มแข็ง เหมือนผ่านร้อนผ่านหนาว เราเล่นทางพลเมืองมาตลอดชีวิต เพราะฉะนั้นเราจะชัดเจนของเรามาตลอด พอมาเจอเปา เราเป็นคนขี้เกรงใจ ทั้งชีวิตทำงานฟรีตลอด หาเงินมาสนับสนุนโครงการเอง งานที่เราทำเหมือนจะคอยปลุกคนให้ตระหนักถึงปัญหาและความสำคัญของการเปลี่ยนแปลง เราจะสอนน้องเสมอว่าให้ทำไปก่อน แล้วค่อยหาทฤษฎีมาอธิบาย

ตอนที่มาเจอกับพี่เปาเป็นอย่างไร

ป้าหนู: ตอนที่เปาบอกว่าให้มาเขียนโครงการ ตอนเจอครั้งแรกเราไม่ชอบ ว่าจะไม่เอา แต่พอตั้งสติก็คิดว่าจะเขียนโครงการให้เล็กไม่ได้ เพราะเราใช้เงินทุนต่างประเทศมาตลอด แต่จะเอาของเขามาเยอะก็เกรงใจ พอมานั่งคุยกัน เปาก็ต้องปรับตัว เราเองก็ต้องปรับตัว ฟังที่เขาพูดแล้วเหมือนเขารู้ความฝันเรา แต่เราไม่กล้าขอทุน เขาอธิบายแบบใจเย็นมาก เรากลับไปเขียนใหม่ แต่ก็เขียนภายใต้ความเกรงใจ ส่วนสิ่งที่เราไม่ลดราคือความเข้มข้นของงาน เพราะทางมูลนิธิเองก็ยังไม่เคยทำงานด้านนี้ ดังนั้นเราต้องเข้มแข็งกับกระบวนนี้และเอาออกมาให้ได้ เราว่าเป็นโชคดีที่เจอเปา เพราะเขาคิดอะไรได้ลึกซึ้ง และใจเย็นที่จะคุยกับคนพวกนั้น

ฐานคิดในการคัดเลือกเด็ก

กช: เริ่มด้วยการกำหนดเงื่อนไขกฎเกณฑ์ การประชาสัมพันธ์รับสมัคร ทีมพี่เลี้ยงจะกำหนดเงื่อนไขการรับสมัคร จากนั้นออกแบบสื่อประชาสัมพันธ์ในโซเชียลมีเดียเงื่อนไขคือเปิดรับสมัครเยาวชนที่มีอายุตั้งแต่ 14-24 ปี ที่มองเห็นสภาพปัญหาในชุมชนหรือโรงเรียนของตัวเอง และปัญหาที่ต้องการจะแก้ไขเอง

ป้าหนู: การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอายุ 14-24 ปีมีหลายวิธี

พี่ตาล: วิธีแรกคือประชาสัมพันธ์ทั่วไป หลังจากนั้นมีการประชาสัมพันธ์ในโซเชียลมีเดีย มีการเปิดรับสมัครให้น้องกรอกแบบฟอร์มออนไลน์มาที่เรา มีการโทรคุยกับเครือข่ายของสงขลาฟอรั่ม ประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มเก่าที่เคยร่วมงานกับสงขลาฟอรั่ม

ป้าหนู: การรับสมัครเหมือนมี 2 เกณฑ์ คือกลุ่มเก่าที่ทำมาแล้วก็สมัครได้ เราใช้วิธีโทรเพราะรู้จักกันอยู่แล้ว เปอร์เซ็นต์คือ กลุ่มเก่า 10-15 โครงการ คือมองประเมินจากปีที่แล้วว่า เรามีกลุ่มเท่าไร และน่าจะอัพขึ้นมาได้เป็น 30 กลุ่ม ซึ่งเราจะอุดหนุนกลุ่มเก่ามากกว่า แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแผน ที่ตั้งไว้อย่างนี้อยู่ในหลักการและเหตุผลของโครงการ คือเราไม่อยากให้ทำ 1 ปีแล้วจบ แต่ถ้าเขาทำแล้วไม่ดี มีจุดอ่อน ต้องมีการคุยกัน อย่างกลุ่มสานสายใยเพื่อนช่วยเพื่อน เขาทำดีทั้งหมด ยกเว้นเรื่องหนึ่งคือการเงิน เพราะเขาเป็นกลุ่มที่นำเงินเราไปลงทุน แล้วขายตะกร้า ซึ่งเรายังไม่เห็นการนำเงินมาใช้เกี่ยวกับความเป็นพลเมือง ถ้าเขาจะมาทำต่อปีที่ 2 คุณต้องทำเรื่องนี้ให้เห็นผล พี่ๆ เองก็ต้องรู้เท่าทันกลุ่มที่จะมาทำต่อเนื่อง เราก็นำเข้าที่ประชุม แล้วไปคุยกับพี่เลี้ยงอย่างตรงไปตรงมา

ในความคิดของป้าหนู การทำอย่างนี้ สักกี่ปีจึงจะฝังสำนึกพลเมือง

ป้าหนู: 3 ปี เหมือนกรณีที่เราเห็นได้ชัดคือ Beach for life เหมือนเราได้แล้วระดับหนึ่ง แล้วเขาเป็นวิทยากรต่อให้เรา สร้างกลุ่ม งานก็ยกระดับสู่การเป็นงานวิจัย

ระหว่าง 3 ปีเขาต้องได้รับการเติมตลอดเวลาไหม

ป้าหนู: ใช่ โดยเฉพาะแกนนำ ที่ค่อนข้างใกล้ชิดกับที่นี่ อันนี้อาจเป็นข้อจำกัดของกลุ่มอื่นที่อยู่ไกล ซึ่งเรื่องนี้เป็นจุดอ่อนอยู่ อย่างเช่น ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ เด็กเลือกผังเมืองมาเป็นเครื่องมือเอง เพราะสงขลาฟอรั่มจะใช้สายตามองสถานการณ์ต่างๆ รอบตัว อย่างเมืองสงขลาเปลี่ยนผังเมืองใหม่ เราจะให้เด็กของเราอยู่เฉยๆ ได้อย่างไร เราต้องนำเรื่องผังเมืองมาเป็นกระบวนเรียนรู้ แต่ไม่ใช่ให้เด็กไปชน เพราะว่าอยู่ดีๆ เด็กของเราไปเปลี่ยนสังคมไม่ได้ แต่ให้นำสถานการณ์ในสังคมมาเป็นตัวเรียนรู้ ปรากฏว่ากลายเป็นการพลิกการทำผังเมือง ทำให้เห็นว่าเรื่องนี้น่าจะสอนตั้งแต่อนุบาลเสียด้วยซ้ำ กลายเป็นมิติที่ลุ่มลึก แล้วสัญลักษณ์สีของกรมโยธาธิการและผังเมืองนำมาใช้แค่ 3 สี มีความหมายอย่างไร ทำไมสทิง

พระบ้านฉันอายุตั้งหลายร้อยปี ทำไมไม่นำสีนี้มาลง โรงงานจะได้ไม่มาทำลาย ความเป็นพลเมืองทำให้เด็กแตกความคิดแล้วเราเห็นไฟที่เวลาเด็กเข้าเวิร์คช็อปจัดผังเมือง เขามีชีวิตชีวา ได้มองเมืองมองชุมชน แต่เราไม่ได้หวังจะไปต่อยหน้าอธิบดีกรมโยฯ แล้วทำให้ผู้ใหญ่ที่ทำเรื่องนี้ซอฟต์ลงด้วย คือต้องรู้จริงไม่ใช่ว่าไปยืนประท้วงแต่ตอบอะไรไม่ได้ เราค้นพบจากสถานการณ์จริง อย่างกรณีหาดถ้าเราแค่นั่งเย็นสบายก็มมีอะไร แต่พอให้เด็กศึกษาเรื่องระบบธรรมชาติ มันแตกไปเรื่องอื่นเยอะเลย

เลือกไหมว่ากลุ่มไหนจะใช้การประชาสัมพันธ์อย่างไร

พี่มินี: กลุ่มเก่าที่โทรหากันอยู่แล้ว เราจะใช้โทรศัพท์ และเครือข่ายที่เรามองเห็นว่าเขามีจุดร่วมกับเรา เช่น อยากให้น้องในชุมชนเป็นคนดี แต่การจะเข้ามาทำโครงการได้ เราก็มีการเลือก ไม่ได้มีเส้น เพียงแค่เลือกโทรศัพท์หาคนที่เขาเข้าใจเรา และเราไว้วางใจเขา เราอยากให้ความสำคัญกับเขา จึงใช้การโทรหา เช่น ที่ปัตตานีที่มองว่ายังมีเรื่องเล่นต่อได้ เราก็โทรไปชวนน้องกลุ่มเก่าจากปัตตานี แต่บางประเด็นที่เขาคิดไม่ออก เราก็เข้าไปช่วยกระตุก

ป้าหนู: การประชาสัมพันธ์มีข้อจำกัดอยู่คือไม่ใช่แมสว่าใครก็ได้ จึงเป็นระบบคล้ายสรรหา เพียงแต่สเต็ปแรกเป็นการประชาสัมพันธ์ทั่วไป และการบอกปากต่อปากของโรงเรียนจากผลการทำงานที่เราทำมา 2 ปี

พี่มินี: อย่างเวทีผังเมือง เราก็เปิดพื้นที่ให้เด็กกลุ่มอื่นมา ตอนนั้นเราตั้งไว้ว่าทุกอำเภอในจังหวัดสงขลาจะต้องมา เราก็แบ่งหน้าที่กันว่าใครติดตามโซนไหน แล้วบางกลุ่มที่ไม่เคยมา เขาก็สนใจเข้ามา

ป้าหนู: กรณีที่ฟ้องหาดทราย ไม่ใช่ว่าจะฟ้องได้เลย ต้องมีประชาชนทั่วไปที่น่าเชื่อถือ อย่างน้อย 200 รายชื่อมาเซ็นรับรอง เราได้คนจากเทพาที่ทุกข์เพราะเรื่องโรงงานมาร่วมเซ็น เหมือนคนหัวอกเดียวกัน

ทำไมจึงวางการจัดเวิร์คช้อปผังเมืองให้มีเด็กจาก 16 อำเภอเข้าร่วม

ป้าหนู: เด็กของเราอาจเป็นเป้าหมายหลัก แต่ประเด็นที่ต้องเรียนรู้ก็ต้องนำองค์ประกอบมาให้ครบ สร้างบาลานซ์ให้เกิดความรู้จริง เราเชิญวิทยากรที่มีกระบวนให้ความรู้แก่เด็กเรื่องผังเมืองได้ดีมา ความเป็นเราทำให้ได้กลุ่มเข้ามาร่วมเยอะ

พี่มินี : ได้หาดเครือข่ายมามากที่สุด คือเกิดจากการบอกต่อจากพี่สู่น้องในชุมชนและมหาวิทยาลัย เช่น ปัตตานี เบตง

เด็กจากเครือข่ายและสมัครเข้ามาเอง มีคุณสมบัติต่างกันไหม

พี่มินี: ที่ผ่านเครือข่ายจะยากตรงที่เขาได้รับอะไรบางอย่างที่เครือข่ายไปคุย และเด็กจะมีข้อกังวล ซึ่งต่างจากที่เราไปคุย เพราะเด็กจะมีความกังวลใจ แต่การที่สมัครเข้ามาเอง เราใส่ให้เขาได้เลย พอสุดท้ายเราลงไปคุยกับเขาเอง จึงทำให้ผลออกมาเหมือนกัน แต่ก็เหนื่อย ข้อเสนอที่ได้มาครั้งแรกเรายังไม่ได้ไปเจอเขา เพียงแค่จับจากเปเปอร์ให้ได้ว่าเขาอยากทำอะไร

ป้าหนู: จริงแล้วกระบวนการที่จะให้ได้กลุ่มเป้าหมายมา โค้ชต้องเข้าไปรู้จักตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ใช่คนแปลกหน้ามาจากไหน ฉะนั้นโคชต้องรู้จักน้องหมด เนื่องจากการเลือกสรรเด็กค่อนข้างนานถึง 2 เดือน แต่ถ้าเป็นโคชแค่ไปรู้จักกลุ่มคือจบ ถ้าทำเป็นกระบวนการเรียนรู้จะค่อยๆ เติบโตและไว้วางใจ สรุปเรื่องการสรรหาคือ ระยะ 2 ปีที่ทำงานผ่านมาค่อนข้างมีความหมาย เพราะเป็นการประชาสัมพันธ์สงขลาฟอรั่มด้วย และเยาวชนเคยเห็นผลงานของรุ่นพี่ในชุมชนเดียวกัน เขาก็อาจฝันว่าจะมีรูปของเขาที่ทำแบบพี่บ้าง หรือพี่กลุ่มเก่าชวนให้น้องเสนอโครงการ

พี่เลี้ยงเวลาลงพื้นที่แต่ละครั้งจะมีอยู่ในใจแล้วว่าจะไปเปลี่ยนอะไรน้องใช่ไหม

ป้าหนู: เป็นงานหลักเลย แล้วงานของเขาคืองานโคช งานสร้างจิตสำนึกคือการเปลี่ยนข้างใน ส่วนคำถามที่ว่าจะไปเปลี่ยนอะไรนั้น แล้วแต่สถานการณ์และงาน เราไม่ลงไปแบบใจกลวงๆ ถ้าเราไม่มองด้วยสายตาข้างใจก็จบ อย่างที่บอกถ้ารอแค่ตอนน้องลงมือทำงานอย่างเดียวคงไม่ทัน

ครั้งแรกที่เจอน้อง เราจะถามอะไร

พี่มินี : ก่อนจะไปเรามีการคุยกลุ่ม ป้าหนูจะมีการเช็ก คือระยะเวลาต้นน้ำ กว่าจะถึงน้อง พี่ก็ถูกตั้งคำถามมาเยอะ เช่น โครงการนี้จะพาน้องไปสู่ความเป็นพลเมืองอย่างไร

ป้าหนู: มันเริ่มตั้งแต่คุณค่าอยู่ตรงไหน ซึ่งเขาอาจไม่ใช้คำว่าคุณค่า เพราะตอบยาก ที่นี่เราใช้คำว่าคุณค่า อย่างนำเรื่องโขนมาเรารู้ว่ามีทางไป แต่ต้องเช็กเขาก่อน หรือนำบางโครงการมาทำเรื่องคุณค่า จากนั้นจะโยงไปสู่เรื่องความเป็นพลเมืองได้อย่างไร เพราะฉะนั้นเราจะตั้งคำถามเรื่องคุณค่าก่อนแล้วค่อยโยงไปเรื่องอื่น

พี่มินี: ป้าหนูจะถามว่างานของน้องมีคุณค่าอย่างไร แล้วจะพาน้องไปอย่างไร ซึ่งเราจะไม่ตรงไปตรงมา เพราะการทำงานแบบพี่น้อง เรื่องความสัมพันธ์ต้องมาเป็นอันดับ 1 เพราะเราคล้ายแหล่งทุนของเขา เวลาเราไปถาม เขาอาจเฟคเพราะกลัวไม่ได้เงิน ความจริงบางอย่างอาจไม่ออก ครั้งแรกต้องคุยก่อนว่าเขาส่งโครงการนี้เพื่ออะไร อยากได้อะไร ระหว่างคุยต้องจับให้ได้ว่าจริงๆ น้องอยากได้อะไร พอเสร็จแล้วก็ส่งผลให้ป้าหนูและคณะกรรการพิจารณาอีกที่

ย้อนกลับไปวันที่ต้องอ่านแล้วกลั่นออกมา เรารู้สึกอย่างไร

ตาล: พออ่านบางโครงการเราไม่เข้าใจ แต่ในส่วนของตาลจะปรึกษาหลาย ๆ คน พยายามดึงจุดอ่อน จุดแข็งออกมาก่อน จุดอ่อนที่เราเจอส่วนมากเป็นเรื่องของรายชื่อที่ยังไม่ครบ หรือตัวพี่เลี้ยงอย่างเราจะมองไม่เห็นคุณค่าของโครงการ เราจะโน้ตไว้ก่อน

จังหวะที่ 2 ชัดกับตัวเองไหม

ป้าหนู: การใช้คำว่าคุณค่ากับงานของเด็ก เป็นหลักจิตวิทยาที่ทำให้เขารู้สึกภาคภูมิใจ แต่ตัวพี่ไม่ได้ใช้คำนี้กับน้องโดยตรง พี่จะใช้กระบวนการที่พาไปสู่คุณค่า เพราะในที่สุดทุกคนอยากให้งานตัวเองมีคุณค่า ดังนั้น พี่กับน้องต้องช่วยกัน

พี่มินี: ขั้นแรกเราต้องดึงด้วยตัวเองให้ได้ก่อนจะไปคุยกับทีม ซึ่งเป็นการประชุมหลายมิติ คณะกรรมการก็ใส่เต็มที่ ว่างานจะยิ่งใหญ่ แต่ในระหว่างที่เราอ่าน เราจะคิดว่าถ้าออกแบบงาน ดึงรายละเอียดเพิ่ม เช่น ชวนชาวบ้านมา งานก็จะใหญ่ขึ้น เวลาเราอ่านเราก็ฝันไปกับน้องด้วย

ป้าหนู: เราไปแยกว่าเป็นเพราะกระบวนโค้ชไม่ได้หรอก มันเป็นกระบวนพัฒนาโครงการ เพราะสายตาของที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ชีวิตมา เขาจะมองว่าจุดอ่อนอยู่ตรงนี้ แล้วช่วยกันสุมหัวดู 8 คน เพื่อจะนำไปคุยกับน้อง โจทย์ใหญ่คือคุณค่าอยู่ตรงไหน ถึงจะพาไปสู่จิตสำนึกพลเมืองได้ เหมือนโขนถ้าค้นไม่เจอ ก็เต้นโขนอยู่อย่างนั้น แล้วจะตรงไหนล่ะจะพาไปสู่สำนึกพลเมือง เพราะเราสนใจกระบวนการเติบโตของเด็ก หรืออย่างห้องน้ำ การที่ผู้หญิงมุสลิม ได้รับการยอมรับจากอาจารย์ผู้ชาย แล้วประกาศให้เป็นโครงการของสถานศึกษา มันยิ่งใหญ่มาก

แสดงว่าบทบาทสำคัญอยู่ที่กรรมการที่จะมาช่วยเติม

ป้าหนู: ปีที่ 3 กรรมการที่ปรึกษาเราเปลี่ยน 1-2 คน เราว่าเขาอินไปกับเรื่องนี้แล้ว จนเขาอยากนำไปใช้ แต่ไม่ได้ เพราะโตมาต่างกัน

การจะชวนกรรมการเข้ามามองอย่างไร

ป้าหนู: เขาไม่ใช่บอร์ดแบบราชการ แต่ต้องเข้าใจที่จะมาให้เครดิตลูกหลานเรา ต้องดูตั้งแต่โครงการมา สรุปเบื้องแรก แล้วใช้ประสบการณ์และสายตามาเติมเต็ม แต่เติมเต็มด้วยความเคารพ เขาจะมีการโทรศัพท์สอบถามกับชุมชน น้อง พี่เลี้ยง ว่าใช่หรือไม่ใช่อย่างไร พอเขาอินแล้วก็เหมือนเขาร่วมสร้างพลเมืองไปกับเรา

เลือกกรรมการอย่างไร

ป้าหนู: ดูประสบการณ์และแนวคิดของเขาที่ใกล้เคียงกับเรา มีกรรมการหลุดไปบ้าง 1-2 คน เพราะไม่มีเวลาและแนวคิดของเขาที่ไม่เข้ากับเรา สัดส่วนจะไปเพิ่มที่ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็น NGO สายซอฟต์ลงมาหน่อย เพราะเมื่อก่อน NGO จะไม่สนใจเรื่องการสร้างคนเลย

พี่มินี: เราสัมผัสได้ว่าเขามีเมตตา เป็นคนที่ฟังเรามาก และให้เกียรติความคิดเรา หน้าที่ของเราต้องเชื่อมให้ได้ เราต้องออกแบบกระบวนการพาน้องไปถึงสิ่งที่ผู้ใหญ่พูด ในแผนงานน้อง เคยถูกป้าหนูถามว่าไม่เห็นเลยว่าจะนำไปสู่จิตสำนึกพลเมืองได้อย่างไรแล้วกระบวนไหนที่จะให้เขาเรียนรู้เพื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง เราเองก็ต้องมีในใจว่าจะออกแบบอย่างไร การ AAR ช่วยเขาได้ แล้วป้าหนูก็ตั้งคำถามอีกว่าทำโครงการแล้วมาประเมินแค่ช่วงสุดท้ายหรอ ทำไมในแต่ละกิจกรรมไม่ให้เกิดการประเมินไปเลย ซึ่งในการประเมินต้องมีกระบวนที่ให้เขาเห็นตัวเอง และรู้สึกว่าถ้ามีกระบวนให้เขาตั้งคำถามตัวเองด้วย เขาจะได้คิดว่าการเรียนรู้วันนี้เกิดอะไรขึ้น

เหมือนเรานำโครงการน้องมาดีไซน์เบื้องต้นว่าจะทำอย่างไรเพื่อพาน้องไปให้ถึงสำนึกพลเมือง

ป้าหนู: มันเป็นกระบวนการ เหมือนอยู่ดีๆ ที่ตั้งว่าคุณค่าอยู่ตรงไหนพี่ตั้งกับทีมโคช แต่เวลาพี่เลี้ยงลงไปโคชน้องจะใช้กระบวนให้น้องค่อยๆ รู้ ถ้าน้องเขียนเลยว่ารู้อะไร แล้วจะมาเข้าโครงการของเราทำไม คงไม่มี มันจะเริ่มเขียนโครงการตามฝันตัวเองก่อน ซึ่งเราจะเคารพ 2.เช็กตามแบบฟอร์ม เสร็จแล้วดูภาพรวมว่าคุณค่าอยู่ตรงไหน คำเหล่านี้มันกว้างมาก ใครๆ ก็อยากให้ยั่งยืน เราต้องมาแตกอีกว่าจริงยั่งยืนมีอะไรบ้าง นอกจากแบบฟอร์มแล้ว เรามีกระดาษอีกแผ่นที่ให้เขียนโดยไม่ต้องมีแบบฟอร์ม อย่างกลุ่มโขน เขาก็อธิบายได้ว่าแต่ละขั้นกว่าจะแสดงเขาได้อะไร เพราะเมื่อผ่านกระบวนการ ความคิดของเขาจะไม่กลวง ตรงนี้เป็นหน้าที่ของโคชคือ เส้นทางก่อนจะแสดง น้องเรียนรู้อะไร อ่านมาตั้งแต่เขียน 7 บรรทัดจนลึกขึ้น ให้เขาชัดที่จิตวิญญาณไม่ใช่เอกสาร

ตอนที่พิจารณา 33 โครงการลงไปทั้งหมดไหม

พี่มินี: ตอนลง เราลงไปหมด แล้วเราก็กลับมาเช็กด้วยกัน บางกลุ่มที่อ่อน แต่ประเด็นของเขาในสายตาเรา สามารถทำให้เขาขึ้นมาเป็นทีมที่แข็งได้ เท่ากับท้าทายตัวพี่เลี้ยงด้วยว่าจะทำได้ไหม อย่างกลุ่มปัตตานี เป็นพื้นที่ที่รู้สึกว่าเราต้องให้โอกาสเขา ตอนนั้นรู้สึกว่าไม่เอา แต่พอคุยกับใหม่ ใหม่บอกว่าน่าทำ จากนั้นก็มานั่งคุยกันว่าดีอย่างไร

ระหว่างกลุ่มที่พร้อม กับกลุ่มไม่พร้อมแต่ประเด็นน่าสนใจ วางอะไรไว้เป็นอันดับ 1

พี่มินี: เราเลือกกลุ่มที่ประเด็นน่าสนใจก่อน เพราะรู้สึกว่าประเด็นนี้ล่ะจะพาเขาเติบโต หรืออาจเพราะเราเติบโตมาใน 3 จังหวัดเป็นเยาวชนถูกกระทำ ที่เขาเป็นแบบนี้เพราะถูกกดทับ ได้โครงการได้เงินมา เขาพาเด็กทำอย่างเดียว ไม่ได้ใส่กระบวนการ

พี่ตาล: กลุ่มส่วนใหญ่ในความดูแลของเราเป็นกลุ่มที่พร้อมจะทำ เพราะช่วงที่ลงจะแบ่งทีมกันตามพื้นที่

อะไรเป็นสิ่งหล่อหลอมที่ทำให้เด็กมาทำโครงการ

มินี: เวลาเราเจอน้องครั้งแรกคำถามที่เราจะคุยกับน้องว่าทำไมต้องเป็นเรา เพราะว่าในหมู่บ้านมีทั้งผู้ใหญ่ มีอบต. มีผู้ใหญ่ มีโต๊ะอิหม่าม ที่ทำกับคนได้ง่ายกว่าเราทำไมต้องเป็นเรา เขาก็จะบอกว่าก็บ้านเราถ้าเราไม่ทำ ก็เขายังไม่ได้ทำ มันจะเป็นสิ่งที่จับเลย

หลังจากที่น้องส่งโครงการเข้ามาอีกครั้ง มีอะไรเปลี่ยนไปบ้างไหม เห็นอะไรชัดขึ้น

มินี: ชัดขึ้นเพราะว่า ในการคุยของเราก็มีเป้าในใจที่ต้องมีข้อเสนอโครงการที่ชัด ในการคุยของเราแต่ละขั้นก็จะนำไปสู่ตัวโครงการของเขาที่เป็นขั้นเป็นตอน ใช้หลักการและเหตุผล เราใช้ 5ห่มมาคุย บางพื้นที่ สุดท้ายก็ต้องเรียบเรียงสิ่งที่เขาคุยในนั้น

ทำไมถึงใช้บางพื้นที่

มินี: สถานการณ์ของน้องถ้ามาไม่ชัดเราต้องคุยกันเยอะกับเวลา วันที่เราต้องคุยกับเขา เหมือนเราคุยกันพอมันชัดแล้วเราจะแตกเป็นวงกลมใหม่มันเสียเวลา มันไม่เป็นธรรมชาติ แต่พอเรารู้สึกว่านี่สามารถเป็นช๊อยงานเขาได้เราก็จะจับความคิดเขาใส่กระดาษ เวลาคุยกันเราต้องเอาทุกอย่าที่เคยคุยกันมาโยงเชื่อมกัน

โค๊ชต้องมีไหวพริบในการวิเคราะห์แต่ละกลุ่มโครงการ เคยมีแบบไปต่อไม่ได้ไหม

มินี: จะเป็นแค่บางครั้งแบบเอายังไงดีน้องไม่ค่อยคุย บางทีทีมเราก็พลาดจริงๆ ด้วยความที่ตั้งคำถาม ไม่รอให้จบ สุดท้ายมันไม่ได้ มันได้องค์ประกอบ ต่อไม่ได้เนื้อความอะไรซักอย่าง เป็นสนามให้จัดการกับอารมณ์ พออารมณ์ไป อะไรๆมันจะมา แล้วในสถานการที่อารมณ์เราไป จะต้องมีคนหนึ่งที่นิ่ง แล้วดึงกลับมาได้

พี่มินีจัดการกับอารมณ์อย่างไร

มีนี: ตอนแรกเรารู้สึกว่าถ้าเราพูดไปมันก็จะไปเราก็จะนิ่งให้น้องไปพัก และก็มาคุยกับทีมว่ายังไง มันดีตรงที่เราเป็นทีมที่ฟังกัน เราก็จะกลับมาเร็ว เพราะว่าเวลาที่ไปอยู่ข้างหน้าเราจะลืมนำเอาออก แล้วก็ลืมว่าข้างๆเป็นยังไง ถ้าสมมติว่าเวลาที่เราไม่ได้มาอยู่ข้างหน้าเราต้องจับให้ได้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น เหมือนเวลาเราไปอยู่ข้างหน้าน้องก็จะเสริม ขอทบทวนอีกครั้งว่ามันเป็นยังไง

เราจะรู้ได้ยังไงว่าคนนี้จะต้องนำ คนนี้ถอย

มินี: เราคุยกันก่อนว่าใครจะนำก่อน

ป้าหนู: ถ้าเลือกกันไปแล้วคนนั้นจะต้องเป็นคนนำของกลุ่มนั้นๆ เพียงแต่ว่าต้องช่วยกันทำงาน

มินี: เรารู้สึกว่ามันต้องเติม เราะเหมือนที่บอก เราไม่ได้เชี่ยวชาญ

ป้าหนู: มันไม่ใช่บทบาทของโคชแล้ว เป็นบทบาทของน้อง โครงการเขาต้องพูดเอง เวทีนี้จะเป็นการให้เด็กนำเสนอ โค้ชมีหลายระดับ เราก็ฟังแล้วก็มาประเมิน ตัวโค้ชใหญ่เองก็มองเห็นโครงการทุกโครงการจากกระบวนที่ไปทำ สุดท้ายคนในเวทีต้องเลือก เป้าหมายอยู่ที่เด็ก เด็กก็จะได้คอนเฟิร์มโครงการของตัวเอง คราวนี้ไม่ใช่การพูดคุยกับพี่เลี้ยงแล้ว เพราะเป็นอีกระดับหนึ่ง

ป้าหนูต้องการให้เด็กเรียนรู้อะไร

ป้าหนู: ให้นำเสนองานของตัวเองให้ชัดเจน ก่อนเซนสัญญา เป็นเหมือนหลักจิตวิทยาให้เขาได้ภูมิใจว่าพี่ดูแลมาอย่างดี เราได้นำเสนอแล้วก็ทำได้ดี เหมือน smart ขึ้น ให้เขาฉลาดในทุกเรื่องของเขา และได้นำเสนอกับคนแปลกหน้า กับผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เองก็ได้ฟัง พี่เลี้ยงทำงานมาเยอะแล้วก็จะได้เห็นผลงานตัวเอง หลายอย่างที่พี่เลี้ยงโคช ก็ได้เห็นด้วยว่าที่ตัวเองโคชน้องแล้วน้องมีศักยภาพยังไง น้องที่พี่อุตส่าห์สอนก็ต้องมานำเสนอเองไม่ผ่านพี่แล้ว โคชอาวุโสที่อยู่บนสุดก็ได้มองย้อนตัวเองว่าเด็กโคชเจ้าหน้าที่เราทำงานยังไง มันก็ส่งผล และภาพรวมของโครงการที่จะเข้ามาปีนี้เป็นยังไง เพราะว่าคณะกรรมการที่ปรึกษาเราไม่ใช่แค่ตรวจข้อมูล จะต้องลงพื้นที่ไปเยี่ยม เพราะเขามีกลุ่มในดวงใจอยู่เหมือนกันที่อยากไปดูความเคลื่อนไหว

ดีไซน์กระบวนการบนเวทีของงานเป็นอย่างไร

ป้าหนู : การออกแบบจริงๆแล้วเป็นหลักทั่วไปให้เด็กนำเสนอ แต่เราอยากให้ระทึกมีสีสันกว่านั้น อยากให้ดูเป็นพื้นที่ขลังไม่ใช่มาพูดๆ ภาพจะเป็นเรื่องของเอาจริงเอาจังไม่ใช่การมาแสดง ไม่มีการแสดงมาสลับ หัวใจคืออยู่ที่ศักยภาพ กับสิ่งทีเขาได้ใหม่ อาจจะไม่เรียกว่าพลเมืองก็ได้แต่ว่าความตื่นตัวใหม่ของเขา ความกล้าหาญที่จะนำเสนอ แล้วเวทีที่เราจินตนาการเราอยากให้มันขลัง เขานำสิ่งที่ดีมานำเสนอ ก็ยังไม่ได้ดั่งใจหวัง แทนที่จะไปย่างไฟแผ่นใสแบบเมื่อก่อน พรีเซนท์ พาวเวอร์พอยท์แบบนี้ มันน่าจะมีอะไรมากกว่านั้นที่สื่อสารกันได้มากขึ้น การสื่อสารไม่ใช่แค่ทางนี้อย่าเดียว เราจะได้เห็นสีหน้าท่าทาง การเอาจริงไม่จริงว่าทีมเขาเป็นยังไง เพราะงานของเรามันมากกว่าเปเปอร์ เราไม่ได้เป็นราชการที่ตรวจเปเปอร์ตรวจถูกผิดบางที แต่เราได้เห็นความเป็นเขา ความเป็นกลุ่มเยาวชน ก็เลยคิดว่าทำยังไงให้เข้าถึงสิ่งนั้นให้ได้มากที่สุด cpr ที่เราออกแบบยังไม่ลงตัว บางทีเราเลือกห้องประชุมของโรงแรมมันอาจจะไม่เหมาะกับอะไรแบบนี้

ที่ยังไม่ลงตัวเป็นเพราะอะไร

ป้าหนู: ยังมองไม่เห็นการเคลื่อนที่สมาร์ท เด็กพี่เลี้ยงก็ยังใหม่ เขาอาจจะเก่งเรื่องลงไปคุยกับน้องอย่างไม่เป็นทางการ แต่ในเวทีอาจจะต้องอีกแบบ เช่นการเป็นวิทยากรกระบวนการยังไม่ใช่ เราพลาดไปที่เอาเด็กกับเด็กมา อย่างน้ำฝนกับน้ำนิ่ง ที่ก่อนป้าหนูจะบอกว่าไม่ใช่ ก็คิดว่าเราไม่อยากให้น้องเสียกำลังใจ ด้วยความที่วัยใกล้กันแล้วจะทำภาพแบบชำนาญการมันไม่ใช่ หรือมินีจะติดขัดเรื่องภาษา แต่ความซื่อๆของเขากินใจน้อง ตอนนี้ลงตัวที่สุดคืออุ้มแต่ยังมีประสบการณ์ในสายงานน้อย แต่อุ้มจะมีน้ำเสียงที่คมเรื่องการให้คำถาม แต่ว่าเขายังมาไม่ครบปี บางอย่างเขายังเก็บได้ไม่ครบ คือเรายังขาดวิทยากรกระบวนการ มันไม่ใช่ใครก็ได้ ทำมาตั้ง2เดือน พอเด็กมาเจอ ตรงนี้สำคัญมากๆที่พยายามจะดีไซน์ออกมา จะให้เราออกโรงเองก็ไม่ใช่แล้ว ต้องให้เด็กรุ่นนี้ทำ

คีย์เวิร์ดคือคำว่า ให้น้องกล้าหาญที่จะก้าวเดิน และเวทีนี้จะต้องทำให้เกิดความระทึก

ป้าหนู: ถ้าเป็นเวทีของเด็กไม่ว่าวัยไหนต้องสนุก เพลงเยอะๆ เราไม่เคยทำสาระให้รื่นรมย์ พอให้เป็นสาระอย่างเดียวก็ไม่สนุก

พี่โจ้ ทฤษฎีการเรียนรู้เขาบอกว่า การเรียนรู้ที่ผ่านความรู้สึกที่เหมาสมมันจะเปลี่ยนอะไรบางอย่าง การที่เขาเกิดความรู้สึกระทึกและศักดิ์สิทธิ์จะต้องกล้าที่จะเอาตัวเองออกมา

ป้าหนู: ยังมีดีไซน์อีกเยอะอยากให้พี่ๆ มีเซอร์ไพร์สน้องบ้าง เรื่องเพลงเรายังคิดว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ที่ให้ความหมายแบบพี่มีฝันยังไงน้องมีฝันยังไง ไม่ได้ทำเพื่อให้เยาวชนเห็นกิจกรรม ส่วนเขาจะให้จบอย่างไรเราช่วยไม่ได้ ต้องมีคำถามจากตัวเอง เป้าเราก็มองมีทักษะที่เขามีอยู่เป็นสำคัญเราไม่ได้มองว่าเนื้อเขาเป็นคนยังไง

กระบวนการต้นน้ำชัดแล้ว ตั้งแต่การสรรหาเยาวชนมาถึงปัจจุบัน ทำไมต้องมองหลายมิติ พลังของโค้ชคืออะไร และทำอย่างไรให้ชัดในจิตวิญญาณ ตั้งแต่เวิร์คช็อป1

ป้าหนู: เขาชัดเจนในตัวของเขาเองไม่ถึงขั้นต้องจิตวิญญาณ เราเข้าไปจี้เค้าก็ปรับให้ดีขึ้น ลงพื้นที่พบกลุ่มเยาวชน35กลุ่ม (ตอนเวิร์คช็อป 3)อยู่ระหว่างการพิจารณากลั่นกรอง ลงพื้นที่พบน้องแต่ลงตั้งแต่กระบวนหาด้วย หลังจากพัฒนาโครงการเหลือ 26 กลุ่ม

ก่อนการนำเสนอได้ทำความเขาใจกับกรรมการใหม่อีกรอบไหม

มินี: ก่อนที่จะมีเวิร์คช็อป เราจะมีประชุมคณะกรรมการที่เราเชิญไปรับฟังเยาวชนนำเสนอโครงการว่ากระบวนการเราเป็นอย่างไร 1วันเต็มๆ 9โมงเช้าถึง5โมงเย็น รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่เราจะเชิญเพิ่ม เพราะว่าเรามีไม่พอ

ประเด็นที่เวิร์คช๊อป

ป้าหนู : วิพากษ์วิจารณ์ร่วมกันเอาแต่ละโครงการของเด็กมาแชร์กันก่อนแยกกลุ่มย่อย กรรมการตอนเริ่มดูร่วมกันทุกโครงการต่างคนต่างไปตรวจก่อนเอาลงไปพูดกับน้อง

มีเวิร์คช็อปที่นี่1วัน เวิร์คช็อปกรรมการที่จะเข้าร่วมเวทีพัฒนาโครงการ พี่เลี้ยงด้วย กรรมการที่ปรึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิที่เพิ่มมาอีก1คน อาจารย์เมย์ พี่เอก อาจารย์เพ็ญ

เรามาชี้แจงว่าเวทีที่จะจัดเป็นอย่างไร

ป้าหนู : วัตถุประสงค์ ไม่อยากให้ไม่รู้แผนบางทีเขาไปวิจารณ์แบบนอกลู่ ต้องเป็นคนที่เข้าใจส่วนใหญ่ 90%เข้าใจแล้ว ส่วนที่หาเพิ่มอีก3คนก็มาทำความเข้าใจวันเวิร์คช๊อป ไม่มีอะไรซับซ้อนเพราะครูส่วนใหญ่เป็นครูประจำกลุ่มอยู่แล้วมีประสบการณ์

ให้ความสำคัญอะไรกับกรรมการ

ป้าหนู: มานำเสนอไม่ใช่การจับผิด มีประโยชน์ทั้งสามระดับ เยาวชน พี่เลี้ยง กรรมการทำให้อบอุ่นใจ

มินี: เราคลี่ให้กรรมการเห็นให้เขาเห็นกระบวนในการสร้างพลเมืองของที่นี่ ว่ามีกี่กระบวนให้เห็นความก้าวหน้า เพราะว่าบางคนอาจมีข้อสงสัยเยอะ แต่พอเขารู้ว่าน้องทำไปถึงขั้นไหนแล้วก็จะรู้ว่าควรใส่อะไรเข้าไป เราชี้ให้กรรมการเห็นว่าเราไม่อยากได้แค่คำชื่นชม เพราะว่าพี่เลี้ยงก็จะไม่รู้ว่าต้องเอาอะไรไปเติมให้น้อง

ป้าหนู : สิ่งที่เราเห็นเด็กสมาร์ทขึ้น คล้ายๆสร้างการเคลื่อนไหว เราก็จะเห็นว่าเขาสนใจว่า จะมีคำถามใหม่บ้างไหม อันนี้เราจะเห็นเลยว่าพี่เปาต้องมาเรียนรู้ เพราะไม่เช่นนั้นจะเป็นการซักถาม ต้องระวังการเชิญใครมาเป็นผู้พูด เพราะเขาจะพูดแต่เรื่องเดิมๆ เพราะเขาไม่เข้าใจโครงการ ทุกจังหวัดต้องระวังจุดนี้

พอนำเสนอเสร็จเด็กบางกลุ่มจะได้เซ็นสัญญา

ป้าหนู : จะไม่มีสักกลุ่มได้เซ็นสัญญา ต้องให้เสร็จเวิร์คช็อปนี้ก่อน ทำเปเปอร์ให้เรียบร้อย ครึ่งวันก่อนจะปิดน้องจะต้องมา เพราะว่าอาจจะมีการแก้ไขก็ให้เวลาเขาครึ่งวัน ไปทำเปเปอร์ให้สมบูรณ์แบบแล้วก็ส่งมอบพี่ ยังไม่เซ็นสัญญา ต้องเป็นช่วงนี้แต่พลาดไปตรงที่ พอมาดูเปเปอร์น้องน้องมันต้องเสริมกระบวนการ เพราะถ้าอ่านจะเป็นแค่ตัวโครงการ แต่ว่าด้านการพัฒนาศักยภาพด้านในของเขา ว่าเขามีกระบวนการอย่างไร ต้องเห็นว่าน้องมีพัฒนาการเป็นอย่างไร หลังจากทำโครงงาน อีกอันก็คือรายชื่อของคนที่จะเซ็นสัญญายังไม่ครบก็เลยยังไม่เซ็น แต่เขาก็ทำกันได้ เพราะบางงานไม่ต้องใช้เงิน เขาก็จะวางแผนการทำงานได้ก่อน

เซ็นสัญญาต้องมาเซ็นที่ไหน

ป้าหนู: การเซ็นสัญญาถ้าน้องผ่านเวิร์คช๊อปตรงนี้ น้องก็ผ่านเงื่อนไขต่างๆหมดแล้ว ก็เซ็นได้เลย เพียงแต่แบบฟอร์มยังไม่สมบูรณ์เท่านั้นเอง และเป็นโจทย์ใหญ่ของพี่ว่าเป็นปีที่สามแล้ว ถ้าเป็นปีที่1จะให้อภัย ปีที่สามแล้วสิ่งนี้จะต้องปรากฏอยู่ในแผนที่เราพูดว่า ทำนั่นทำนี่ทำไมปีนี้ยังไม่ปรากฏแต่ตอนที่เขามาเล่าให้ฟัง เขาบอกทำแล้วเราเชื่อ เพราะฉะนั้นให้เพิ่มตรงนี้ ไม่รู้ว่าจะทำให้ลำบากรึเปล่า ในส่วนของโค้ชลองอภิปรายดู แต่ว่าปีนี้เป็นปีที่4 บางทีเราก็มาคิดว่าเราไม่เอาเปเปอร์เลยดีไหม ก็ไม่ได้เราต้องเคารพในแหล่งทุน ต้องมีหลักการที่เสริมใจเขาเหมือนกัน เพิ่งมาเข้มปีนี้ที่ผ่านมาก็มีมั่งไม่มีมั่ง

บางทีเขียนเพิ่มที่น้องทบทวน อันนี้เกิดขึ้นเมื่อก่อนปิด เอาสัญญามาให้เซ็นแล้วแต่มันยังไม่สมบูรณ์ แล้วเหมือนต้องทำเรื่องนี้ให้ปรากฏ เพราะโครงการเราอยู่ที่ความเป็นพลเมือง แต่ตอนนี้เหมือนเป็นเพื่อกิจกรรมอะไรไม่รู้ทั้งๆที่กระบวนเราลิงค์ตลอด ก็ต้องคลี่ให้ได้ เพราะทุกเรื่องก็ผ่านยากมาแล้วทั้งนั้น เช่นตอนที่เราบอกจะเชื่อมสิ่งที่น้องบอกว่ามีคุณค่าที่สุดมันก็ยากอยู่เหมือนกันก็ผ่านไปได้ ไม่ได้คิดว่าเขาโกหก เขาคงไปจัดกระบวนให้น้องคิดอย่างนั้น

มินี: กระบวนนี้จะไปสร้างความเป็นพลเมืองอะไรต้องมานั่งคุยกันประเด็นปัญหาของชุมชนในแต่ละวันเอาเรื่องอะไรมาคุยให้มีอย่างอื่นเข้ามา

ป้าหนู: ในระหว่างนี้ก็อนุญาตว่าใครต้องการเบิกก้อนแรกก็ให้เบิกแต่ต้องทำให้สมบูรณ์ เราก็เห็นมิติของการทำงาน การสร้างกระบวนโคช กรรมการ ต่องานเอกสารที่โค้ชต้องทำเป็นตัวช่วย มันเป็นยังไง

มินี: ก่อนลงไปจะมีข้อเสนอแนะของที่ปรึกษาก่อนเราเติมเต็มจะลิสต์เป็นโครงการเลยมีเนื้อหาที่เราต้องทำความเข้าใจ ทั้งตารางที่ฝึกการวิเคราะห์ให้ต้องเห็นการเป็นพลเมืองว่ามันเป็นยังไง เป็นโจทย์ที่ต้องจับ ทักษะชีวิต 5 ด้าน สเต็ปการคุย การวิเคราะห์ ว่าแต่ละขั้นตอนที่มันเชื่อม และคอมเมนต์ก็จะอยู่กับโครงงานน้องไปเลย การประชุมเรามี 3 กลุ่มย่อย ในแต่ละการประชุมก็จะมีคนจัดเรื่องเอกสาร แล้วทุกคนต้องเอาทุกอย่างมารวมเป็นแผนลงพื้นที่ แล้วนำข้อเสนอแนะใส่เลย

อันนี้เป็นตัวช่วย ก่อนหน้านี้มีอะไรต้องทำอีก

มินี: เอกสารที่มาไม่ได้มาจากฝ่ายปฏิบัติการบอกแบบนี้แต่จะลงไปทำอะไรกับน้อง เราก็จะมาทำวัตถุประสงค์ด้วยกัน เราต้องจับให้ได้คือ เรื่องสำนึกพลเมือง และทักษะชีวิต 5 ด้านเราต้องจับให้ได้ เครื่องมือว่าเราจะคุยกับน้องได้โครงการนี้แล้วเราก็จะชี้ว่าใครนำเขาก็จะไปคิดคำถามซ้อมกับตัวเอง

ป้าหนู: ในการทำงานเราจะพูดถึงถ้อยคำสำคัญ แต่จริงๆแล้วการสื่อสารการทำงานไปด้วยกันต้องใช้ทักษะในระดับการที่พี่กับน้องอยู่ด้วยกันมันต้องมีทักษะมาช่วย เพราะฉะนั้นทักษะที่เรานำมา 5 ตัวคือ

  • เรื่องระบบคิด การคิดเป็นเหตุเป็นผล พื้นฐานที่สุด คิดอะไรแล้วแต่จะต่อยอด
  • รู้เขารู้เราทำให้รวมทีมแล้วไม่โกรธกัน รู้ว่าเขาเป็นยังไงอย่างที่สอนคือลงไปไม่ใช่ทำให้เขาโง่กว่าเราและพี่ต้องยอมที่จะเรียนรู้
  • รู้จักจัดการอารมณ์สำคัญมาก
  • สื่อสารสร้างการประชาสัมพันธ์ ไม่ใช่พูดแล้วไม่เข้าหู เป็นพลังถ้อยคำ
  • จิตใจเพื่อนส่วนรวม

ได้ทักษะมาจากกระทรวงศึกษา ต้องพกติดตัวไป ตัวเองในฐานะพี่เราไม่เคยมีคนที่เอาแต่ใจตัวเองในทีม ต้องใช้การรวมทีมให้ได้ ต้องสอนน้องให้ใช้ทักษะชีวิต 5ข้อนี้ให้เป็น 

วิธีจัดการ

มีนี: ข้อเสนอมาฝ่ายปฏิบัติการก่อนแล้วก็ทำใบปะหน้าว่าลักษณะกิจกรรมเป็นยังไง ต้องดู

  • เกณฑ์ อายุ14-24 ปี
  • มีที่ปรึกษาโครงการ
  • มีสมาชิกครบ5คน
  • ระยะเวลาในการดำเนินงานต่อเนื่อง4-5เดือน
  • โครงการที่ทำต้องเชื่อมโยงกับชุมชน

ป้าหนู: ขั้นแรกถ้า 5 เกณฑ์นี้ต้องมีครบทุกเกณฑ์ โดยต้องผ่านฝ่ายปฏิบัติการ ตาล มินี ฝน

แต่ก่อนส่งทุกคนต้องมาดูมาคุยและดูใบปะหน้าเติมจุดแข็ง จะมีเกณฑ์ที่ที่ปรึกษาต้องเติมแล้วก็ก่อนส่งไป ตั้งแต่ปีแรกๆ ที่ส่งกลับให้คณะกรรมการที่ปรึกษาดูว่าเขาต้องตรวจอะไรบ้าง ดังนี้

  • โครงการนี้ต้องมีความสมเหตุสมผล
  • มีการบริหารจัดการเงินตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
  • ขั้นตอนต้องมีความเหมาะสมต่อวัตถุประสงค์

ส่งแล้วก็กำหนดวันประชุม และวันงานต้องเอาในปะหน้ามาด้วยเพราะต้องเอาไปเติม กรรมการก็จะโน้ตมาเลย พอวันประชุมก็จะมีเกณฑ์ว่า

  • โครงการนี้จะนำไปสู่การเป็นพลเมืองอย่างไร
  • มี10หัวข้อหน้าที่พลเมือง
  • ขั้นตอนนำไปสู้การเป็นพลเมือง

ที่ดีอย่างหนึ่งคือคณะกรรมการไม่ได้บอกว่าน้องต้องไปทำอย่างนี้ จะมีการคุยกับเขาว่าจะเอายังไง คือเคารพในการมาทำโครงการ แต่มีวิธีพาเขาไปสู่จุดหมาย

วันเวิร์คชอปต้องมีเอกสารอีกชุดไหม

มีนี: ก่อนจะมาเราก็ประชุมที่ปรึกษา ก่อนมาเราก็ลงพื้นที่ เราก็ได้ข้อเสนอที่ชัดเจนว่าจะทำอะไร พอมาประชุมก็จะแจกเอกสาร

ใช้เวลาทำนานไหม

มีนี: ไม่นานเพราะว่า เราลงพื้นที่มันชัดแล้ว ในระหว่างนั้นเราก็จะจดบันทึกแต่ละกลุ่ม แต่เรื่องความเป็นพลเมืองยังไม่ชัดในครั้งแรก สิ่งแรกที่ชัดคือ เรื่องข้อเสนอ มันต้องใช้เวลาเปลี่ยน

แบ่งหน้าที่กันยังไง

มีนี: ตอนที่ลงไปเขาเสนอกับทีมงานก็เช็คว่าได้ครบรึยัง เพราะว่าลงไปเราจะเก็บรูปว่าคุยครั้งแรกที่แตกในเปเปอร์ออกมา เราแค่เกลา ทีมก็จะช่วย เมื่อได้ข้อเสนอแล้วเราก็สรุปให้กรรมการ

ทำไมถึงคิดระบบแบบนี้

มีนี: ปีแรก ข้อเสนอมาเหมือนตอนแรกเราก็ไม่เคยทำ ป้าหนูก็บอกว่า เราจะให้เขามาอ่านทั้งหมดหรอ ก็เลยคิดครั้งแรกก็ยังขาดเรื่อง พอผ่านหลายปี ตั้งแต่ขั้นแรก เรื่องเกณฑ์ในการดูแล้วใบปะหน้าต้องเชื่อมกับเกณฑ์ เราต้องเขียนเป็นคนสกัด

พี่โจ้ มันไม่ใช่แค่ตัวสื่อสารระหว่างโค้ชที่ช่วยเราสกัดความเข้าในใจเราออกมา ไม่ใช่แค่ตัวสื่อสารของโค้ชกับกรรมการ มันอาจดูไม่สำคัญ แต่ที่โค้ชต้องมาทำมับเป็นระบบงาน ตั้งแต่วันแรกที่วิเคราะห์ออกมา การลงพื้นที่ แล้วก็เอาคอมเมนต์กรรมการมาเตือนตัวเอง พอมาเจอกรรมการอีกทีก็ต้องสรุป เหมือนโรงเรียนทำให้เราเป็นมืออาชีพ

มีนี: การดีไซน์แต่ละขั้นตอนเหมือนมันเกิดมาจากความหวั่นไหวเวลาถูกตั้งคำถาม แล้วเรารู้สึกว่ามันเป็นคำถามที่มันหลุดไปตอนที่เราทำงานเยอะๆ เราต้องทำแบบนี้เพื่อนให้เรามีคำตอบถ้าเราตอบไม่ได้แสดงว่าไม่ชัด เหมือนที่จะจัดเวทีหนึ่ง ป้าหนูก็จะมีคำถามเลยว่าเวทีนี้จัดเพื่ออะไร ทุกคนต้องชัด พอเราชัดในเวทีเราจะแบ่งว่าต้องไปดูน้องกลุ่มไหน ทุกคนต้องไปทำความเข้าใจเหมือนเป็นการทบทวนว่าเราขาดอะไร ว่าโจทย์โครงการน้องคืออะไร เป้าหมาย ตัวงานเขาไปตอบโจทย์อะไร แล้วโครงการไหนต้องเป็นห่วง แต่ถ้ากลุ่มที่มาชัดแล้วเราก็ต้องดูว่าเขาจะสกัดหัวใจสำคัญมันออกมายังไง

ป้าหนู : มีความรู้สึกว่าเรามีพัฒนาการในการนำเสนอเวทีพัฒนาโครงการชัดเลย น้องรู้จักสกัด ให้กระชับและชัดเจน การที่เขาจะทำได้มันเกลาเขาด้วยเวทีไปในตัว ที่ผ่านมาพอน้องฟุ้งทำไรไม่ถูกเวทีจะยืดเยื้อ 

ที่เราสกัดมาน้องๆได้เห็นกันไหม

มีนี: ไม่ มันเหมือนถ้าเขาเห็นมันจะเป็นชอยส์เขา แล้วเอาตามได้ สิ่งที่เราเห็นน้องยังอยู่ในงาน บางคนยังไม่เห็นคุณค่าจริงๆว่ามันจะพาไปถึงไหน ที่เราต้องพูดเราต้องติดตามหนุนเสริม

เวิร์คชอป2 สร้างจิตสำนึกพลเมือง

ป้าหนู: กำลังคิดว่ายังไม่ใช่เวทีใหญ่ จะจัดกรุ๊ปประเด็นดูพื้นที่จริง ยังเป็นหัวใจเดิมเหมือนลง “ทองแดง”(ไม่แน่ใจ) แต่ว่าเราจัดแบบเคสเดียวให้เห็นว่าสามันชนพลเมืองเป็นยังไง แต่รอบนี้เรามีเคสเยอะ อย่างสถานการน้ำ เรื่องโซลาร์เซลหมู่บ้านตรงไหนเริ่มไปแล้ว เรื่องขยะ ขยะเราน้อยลงแต่จะดูว่าเข้ากับกลุ่มไหนได้บ้าง มีตลาดพัทลุง กับพวกพืชผักสวนครัว เศรษฐกิจพอเพียง อาจจะต้องแบ่งกลุ่มกันไป อาจจะต้องดึงกรรมการที่ปรึกษาที่ลุยๆไปด้วย เพื่อให้เขาไปเรียนรู้อะไรในเรื่องสำนึกพลเมือง อาจจะมีซักวันที่ไปมาทั้งหมดมาเจอกันเพื่อแชร์ วางแผนไว้แล้ว (มิถุนายน,สิงหา) น่านกรกฎา ศรีสะเกษ สิงหา แม่กลองตุลา อาจจะไม่ช่วงเดียวกันทยอยๆไป

เป้าหมายของเวทีเพื่อให้น้องได้เรียนรู้จากสถานการณ์จริง

ป้าหนู: มันต้องเชื่อมโยงสิ่งที่ต้องทำ เพิ่มมิติของความเป็นพลเมืองจากเคสจริง (18-19มิถุนายน)

เราใช้เวทีนี้มีชื่อหรือยัง

ป้าหนู: กล้าจะสอน

ถ้าเรื่องน้ำก็จะเป็นการจัดการทรัพยากร

ป้าหนู: เสร็จจากแม่กลองก็จะคิดอันนี้แต่มันจะอยู่ภายใต้เวิร์คชอปจิตสำนึกพลเมือง ดีไซน์กว้างๆ 

พี่โจ้ – วันที่ 6 นี้เราอาจจะนำกระบวนการต้นน้ำมาแชร์ให้กับกลุ่มซึ่งเราอาจจะต้องดึงหัวใจแต่ละขั้นไปแลกกัน แต่ว่าทีมนี้อยากให้เอาเอกสารในการทำงานคู่มือของเรา อยากให้เพื่อนได้เห็น มันเป็นระบบการทำงานที่อยากให้เพื่อนได้รู้ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องใช้เซนส์อย่างเดียวมันเป็นเรื่องของการจัดการ

AAR

พี่โจ้ – ในเรื่องของสำนึกพลเมืองมาได้ยังไง กระบวนการทำงานต้นนำและเต็มไปด้วยสีสัน เราอาจจะเลือกสะท้อนว่าเราได้เรียนรู้ตรงไหน ที่เราประทับใจ แล้วเราเกิดการเรียนรู้เป็นข้อค้นพบใหม่ที่ได้จากการพูดคุยกัน2วันนี้

พี่มินี: เราได้มองเห็นคุณค่างานของเรา การที่มีคนมาขุดคุ้ยเหมือนเรามองห็นคุณค่างานของเรา และคุณค่าของตัวเองด้วย อย่างตอนนั้นเราวุ่นกับงาน พอเราหยุดแล้วมาทบทวน พอเราพูดอะไรไปแล้วมีคนมาย้ำว่าสิ่งที่เราทำเป็นแบบนี้ป้าหนูก็จะย้ำ และเอาเรื่องอื่นมาเสริม ทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันมีคุณค่า

พี่ตั้ม: ไปเข้าเวทีอาจารย์สมเจตนา ก็พูดมาว่าธรรมชาติมันมีคุณค่าในตัวเราคืออะไร ก็เลยไปถามแกก็เฉลย คุณค่าของดาราก็คือการสร้างความบันเทิงให้กับผู้คน ให้ความสนุกสนาน แล้วก็มานึกถึงตัวเองว่าธรรมชาติเราคืออะไรก็ไม่รู้ก็ลองทบทวนตัวเองไปเรื่อยๆ ก็พบว่าธรรมชาติของเรามันคือความคิด คิดแบบบวกมาตลอด บางครั้งคิดลบ แต่อีกฟากเราต้องคิดบวกคิดที่จะทำ เราทำงานมาก็พยายามคิดว่าเราจะใช้ความรู้ความสามารถการเป็นนักข่าวของเราไปเล่าเรื่องของคนอย่างตอนทำงานวิจัย เอาเรื่องของชาวบ้านที่ไม่มีใครรู้จักว่าชาวบ้านสามารถทำวิจัยได้ ก็เอาเรื่องนี้เอาธรรมชาติของเรามาเล่าเรื่องของเขามาเล่าให้คนอื่นรู้ว่าคนที่มีความรู้ความสามารถแล้วไม่มีคนรู้จักมาทำให้คนรู้จัก เราก็ทำมาเรื่อยๆจนรู้แล้วว่าอันนี้แหละคือธรรมชาติอันมีคุณค่าของเรา พอมาทำงาน active citizen 2 ปี ที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้ก็จะเติมให้เรารู้สึกมีคนค่าต่อผู้อื่นอีก สังคม เด็ก มันจะทำให้รู้สึก2วันที่ผ่านมาว่าสิ่งเหล่านี้จะหล่อหลอมเราไปเรื่อยๆ คุณค่าก็จะเกิดจากเก็บเล็กผสมน้อยพอถึงเมื่อวานเราก็เริ่มรู้สึกว่าราเป็นส่วนหนึ่งทำให้เรารู้สึกว่าเรามีคุณค่า เป็นการเติมพลัง เราเริ่มเห็นวิธีการสร้างคุณค่าให้ตัวเองก็คือทำอะไรให้คนอื่น

พี่ก้อม : เห็นเส้นทางชีวิตของป้าหนูทุกคนถามว่าเราจะเลือกทางไหน แต่อยู่ที่เราว่าจะเลือกทางไหนมันอาจจะมีอุปสรรค์บ้างแต่ว่าถ้าใจเราต้องการที่จะไปมันก็ไปได้ พอเราอายุเยอะขึ้นตกตะกอนเราก็จะรู้ว่าเส้นทางที่เราเลือกมันใช่แล้ว มันอาจจะเหนื่อยแต่มีความสุขที่เห็นคนอื่นมีความสุข อย่างหนังสือเสร็จมาเล่มหนึ่ง ข่าวง เห็นน้องในโครงการทำงานก็เป็นความสุขของเรา

พี่โจ้: เห็นความเติบโตของตัวเองจากการเรียนรู้ที่เห็นทีมสงขลาฟอรั่มเติบโตในงาน ที่ป้าหนูบอกว่าเจอเราครั้งแรก ย้อนภาพไปตอนเรายังเด็กพอมาวันนี้เราก็เหมือนเติบโตไปด้วยกัน เห็นงานที่ตัวเองจดจ่อเติบโตแล้วมันภูมิใจ เราคิดว่างานของทีมสงขลาไม่ได้มีเทคนิคฉูดฉาดเหมือนทีมอื่น แต่ของเราเทคนิคมันอยู่ในตัวคนทุกคนที่ต้องการจะพัฒนามนุษย์เป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันก่อน เพื่อให้มนุษย์สมบูรณ์ ที่เราไม่ต้องไปพึ่งเทคนิคทางกาสอนอะไรที่ปฏิรูปการเรียนการสอนแล้วต้องใหม่ มีอาร์ทมีอะไรเข้ามาแต่ของเราที่แท้ความลึกแก่นมันอยู่ตรงนี้นี่เอง

ป้าหนู: สีสันมันไม่ฉูดฉาด แต่มันอยู่ในเนื้อในตัวเรา

พี่มน: ที่ผมมองก็คือของสงขลาฟอรั่มเป็นการทำงานที่ละเอียดอ่อนมันเริ่มจากภายในของตัวเอง ในทีมก่อน เราเริ่มที่จะใส่ใจอย่างป้าหนูก็มาที่ลูกน้อง พอเริ่มแบบนี้ เหมือนว่ามันถูกปลูกฝังภายในก่อนแล้วค่อยๆถูกขยายไปโค้ชน้องต่อ

พี่เมย์: ที่ชอบอาจจะไม่เกี่ยวกับงาน แต่ชอบตอนที่ป้าหนูรับสมัครคนเข้ามาทำที่ไม่ใช่แค่สัมภาษณ์ ก็ถามว่าคุณค่าของเพลงนี้คืออะไร แล้วที่ป้าหนูบอกว่าการลงพื้นที่คือการสอบเข้ามาทำงาน ชอบที่เป็นการวัดใจคนที่ทำงานเหมือนกันถ้าสมมติว่าเรามานั่งสัมภาษณ์ทำงานแบบนี้ๆ แต่เราไม่เห็นว่าจริงๆแล้วทำอะไร พอเข้ามาทำงานก็จะคิดในมุมงานของตัวเอง มันไม่คลิกกันก็เสียเวลาทั้ง 2 ฝ่ายอันนี้เหมือนให้คิดว่างานนี้ถ้ามันใช่ก็ทำ ถ้าไม่ใช่ก็ไม่เป็นไร

พี่แจง: รู้สึกว่า 2 วันนี้เหมือนงานที่เป็นงานถ่ายทอดให้ทุกคนเป็นพลเมือง เมื่อวานสิ่งที่ติดใจมากคือทำไมทุกคนรู้สึกว่าสิ่งนี้มันเป็นชีวิตของเราการเป็นพลเมืองที่เราไปสร้าง ที่ทุกคนเล่าเมื่อวานเรารู้สึกว่ามันคือชีวิตของทุกคน มันเป็นงานที่ทุกคนกำลังถ่ายทอด DNA ของตัวเองไปสู่น้องๆซึ่งมันมีความหมาย เป็นสิ่งที่มีในเนื้อในตัวเรา ส่วนอีกเรื่องนึงคือในฐานะที่เราเป็นคนกลางเราไม่ใช่คนทำเราจะทำหน้าที่สนับสนุนได้ยังไง เพราะเราไม่ใช่คนทำ เป็นคนที่รู้น้อยที่สุด คนที่อยู่หน้างานในแต่ละที่เขาจะมีเคล็ดลับแล้วเราละ เป็นคนนอกวงโคจรจะมาช่วยกันยังไงดี ตอนแรกก็มีไอเดียว่ามันน่าจะชวนหัวหน้าทีมหรือว่าสตาฟมาคุยเป็นภาคๆ ว่าเราเห็นประเด็นอะไรที่จะเอาไปขับเคลื่อนต่อ ตรงที่ป้าหนูพูดว่าโครงการที่เกิดขึ้นแล้วใน 4 พื้นที่ มันจะยกระดับยังไงเพื่อเป็นองค์กรที่จะเชื่อมกับสถาบันการศึกษามันจะเคลื่อนเชิงประเด็นกับ 4 พื้นที่ได้ยังไงก็อยากจะชวนคุยว่าเราจะช่วยกันยังไงรู้สึกว่ามันมีโจทย์ให้กลับไปคิดกลับไปทำ

พี่ปอง: ยังยืนยันคำเดิมว่าทีมสงขลาฟอรั่มมีการทำงานกันค่อนข้างดีมาก แล้ววันนี้ฟังเรื่องเส้นทางชีวิตป้าหนู กำมีความคิดคล้ายพี่แจงคือมันเป็นการถ่ายทอดคือป้าหนูปลูกฝังจากครอบครัวคือคุณพ่อแล้วตัวเองก็มีจุดยืนในการทำงานแม้ว่างานที่เคยทำคนอื่นภายนอกอาจจะมองว่ามันเป็นงานที่ดี แต่มองอีกมิติคือ มองที่จะช่วยสังคมมากกว่า มองในเรื่องของการพัฒนาคน โดยผ่านสิ่งที่มีโอกาสเข้ามาแล้วเพื่อไปสร้างโอกาสใหม่ให้กับคนอื่น แล้วอีกเรื่องของมินีก็เวลาที่ลงพื้นที่ไปแล้วจัดการกับอารมณ์ตัวเอง คือเราอยู่ในภาวะที่ต้องทำงานกับคนแล้วมันมีปัญหาด้วย ก็ต้องจัดการกับภาวะอารมณ์ของตัวเองให้ปกติและแก้ไขสถานการณ์ตรงนั้นให้ได้

พี่ออม: จริงๆเห็นด้วยกับหลายๆ คน แต่รู้สึกว่าป้าหนูเป็นคนจริง คือไม่ยอมแพ้กับอะไรและมีจุดยืนที่ชัด มันส่งพลังไปถึงลูกน้องในทีม และการทำงานของสงขลาฟอรั่มมันเริ่มจากการพัฒนาจากภายใน ไม่ต้องมีเครื่องมืออะไรเสิศเลอเลยแต่ว่าปลุกข้างใน ที่ออมเห็นน้องๆ ในโครงการเราก็รู้สึกเวลาเขาพูดมา แม้แต่พี่ๆในโครงการสำนึกความเป็นพลเมืองของเขามันอยู่ในตัวจริงๆ ก่อนที่จะเข้ามาโครงการอีกจนเขาเข้ามาทำงานตรงนี้ก็เหมือนเป็นการยกระดับส่งต่อถ่ายทอดให้คนอื่นอีก การลงพื้นที่ไปโค้ชน้องต่อ เห็นความตั้งใจจริงของพี่ๆด้วยทำให้น้องๆมีพลังที่จะทำ ชอบตอนที่ลงไปโค้ชน้องแล้วมีจุดที่น้องไม่รู้ว่าทำเรื่องอะไรแต่เราต้องทำให้น้องรู้ก็มีการทำการบ้านกันอยู่ตลอดว่าทำยังไงให้เขาเห็นในสิ่งที่เขาทำและเป็นอยู่ตรงไหนของโครงการ โดยที่เราไม่ได้ไปชี้นำ

พี่กช: รู้สึกว่าภูมิใจในงานของเราและสงขลาฟอรั่มด้วย คือในการทำงานทุกขั้นตอนคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคนทำงานเอง แต่พอเรามาถอดแล้ว เรารู้สึกว่าเราทำอะไรมามากมาย และมีคุณค่า แล้วพอเรามาเล่าให้พี่ๆฟัง พี่ก็ตื่นเต้นไปกับเราทำให้ตอกย้ำว่างานที่เราทำมันมีคุณค่าและมีประโยชน์

พี่ตาล: เราได้มาทบทวนงานทั้งหมดที่เราทำในช่วงแรก บางทีเราทำโดยไม่ได้หันกลับไปทบทวน พอได้มาทบทวนเราก็ได้เห็นคำถามที่ใช้แบบง่ายๆสบายๆเป็นกันเองให้เราได้ฉุกคิด ทบทวน นั่งคุยกันจนกระบวนทั้งหมดลงลึกและออกมาสมบูรณ์ และก็ชอบที่แต่ละวันเราพูดคุยกันเสร็จพี่ๆ ก็จะมีการเช็คเอาท์ให้เราพูดความรู้สึก สิ่งที่ได้เรียนรู้ มันก็เป็นเหมือนกระจกสะท้อนอีกทีว่าสิ่งที่เราพูดทบทวนกันมาทั้งหมดมันเกิดอะไรกับเราบ้าง

เจ๊าะ: คล้ายๆกับกชที่แต่ละวันที่เราทำงานนี้ เราเห็นมันเป็นเรื่องธรรมดา แล้วถ้าเราไม่ทำก็จะไม่มีใครทำมันเป็นหน้าที่ของเราแล้ว พอได้มาถ่ายทอดให้คนอื่นได้รู้ว่าเราเป็นยังไงตั้งแต่เริ่มต้นมาเราก็ได้ทบทวน ส่งพลังให้คนอื่นได้มีกำลังใจในการทำงาน ส่วนตัวเองก็ได้จุดไฟให้ตัวเอง จากตัวเองก็เป็นคนทำงานช้า เอื่อย ก็กลับไปคิดว่าเราช้าอยู่นะเราเรื่อยเปื่อย ก็คิดว่าเราต้องเพิ่มพลังให้มากกว่านี้ และสิ่งที่เราทำกำลังจะส่งต่อไป เราก็ต้องจริงจังมุ่งมั่นกับมันให้มากๆ รู้สึกภูมิใจที่ได้มาอยู่ที่นี่ และขอบคุณทั้งพรอ และทุกคนที่ให้โอกาสเรามาทำงานของคุณมากค่ะ

อุ้ม: เมื่อว่าที่นั่งคุยกันก็รู้สึกว่าตัวเองได้กลับไปทบทวนตัวเองถึงว่าทำไมเรามาอยู่ตรงนี้ และทำไมทำงานที่นี่ หลายๆ ครั้งที่เราตอบคำถามว่าเราไม่ชอบนั่นนี่ แต่ตอนนี้คิดว่าเราน่าจะมาถูกทางแล้ว แล้วยิ่งมาฟังจาก เจ๊าะ กช มินี ก็รู้สึกว่าแตกต่างกันมากเลยเพราะต่างคนต่างมีเรื่องราว ซึ่งบางครั้งไม่เคยได้ฟัง มันมีอะไรสักอย่างที่เราเป็นอยู่ พอมาถอดอีกครั้งอย่างที่ป้าหนูให้มาประชุมกันเบื้องต้น ตอนนั้นก็ไม่รู้สึกว่ามันละเอียดอ่อนเรื่องงานเอกสารน้องฝนจะเตรียมให้ไว้ตลอด เวลากลับมาจากลงพื้นที่เหนื่อยๆเราก็แค่มาหยิบไปมุมนั้นเรารู้สึกหายเหนื่อย อุ้มรู้สึกว่าตอนนี้มันชัดมาถูกทางถูกที่ ถูกที่ ดีที่สุด เพื่อนร่วมงานก็ที่นี่น่าจะดีที่สุด

มินี: ที่รู้สึกทุกครั้ง พื้นที่ตรงนี้มีจิตวิญญาณเรื่องพลเมืองที่ตอนแรกเราไม่ได้เข้าใจมันมาก ป้าหนูคอยฟูมฟักเรา รู้สึกว่าจิตวิญญาณนี้ไม่เคยดับ มันชัดเรื่อยๆ ด้วยการถ่ายทอดจากป้าหนู รู้สึกว่าจิตวิญญาณมันคือความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าองค์การทำงานไหนถ้าเขามีเรื่องเหล่านี้สามารถทำงานได้อย่างมีความสุข แม้จะเจอเรื่องยากยังไงก็สามารถเชื่อมให้พื้นที่ตรงนี้ใช่ มันเหมือนอะไรที่ดึงเราให้อยู่ในรูป เคยบอกป้าหนูถ้าเกิดไปอยู่ที่อื่นเจอเจ้านายที่เราตั้งคำถามกับตัวเองว่าไม่เห็นเขาจะทำอะไร แต่ที่นี่เรารูสึกว่าทุกครั้งที่มีโจทย์งานเราทึ่งกับมันตลอดมันท้าทายตลอด ก็เลยมองว่างานเรามันลึกไปเรื่อยๆมันไม่อยู่กับที่ มันทำให้ใจตื่นเต้นกับมันตลอด มีคำถามหนึ่งที่ชอบถามตัวเองว่า เบื่อรึยังกับการไปอบรมนี่นั่น เราจะตอบเลยว่า เราไม่เคยเบื่อ แต่เรารู้สึกสงสัย ซึ่งอาจจะเป็นบุคลิกบางอย่างที่ป้าหนูไม่ได้อยู่กับที่เราตามตลอด ได้เติมอยู่เรื่อยๆ 2วันนี้เราได้เห็นชีวิตที่เราไม่ได้ไปสัมผัสว่าเกิดอะไรขึ้น กับบทนักศึกษาเป็นยังไงกับบทที่ได้ทำงานกระทรวงต่างประเทศแล้วออกมาเป็นยังไง เราไม่ได้อยู่ตรงนั้นแต่เราสัมผัสได้จากการถ่ายทอดของป้าหนูเรารู้สึกว่าถ้าเป็นเราจะทำยังไง มันมีจิตวิญญาณที่ทำให้เราเชื่อมั่นว่ามันไม่เห็ฯผลวันนี้ซักวันมันต้องเห็นผล เราต้องไม่เหนื่อยฟรี

ป้าหนู: จะใช้โอกาสนี้ใน 2 วันและวันนี้ขอบคุณ คิดว่าสยามกัมมาจลเป็นลมใต้ปีก รู้สึกว่าลีลาท่าทีของน้องๆที่เคลื่อนเข้ามาในนามของการประเมิน แต่ทำให้ทีมสงขลาฟอรั่มรู้สึกกระชุ่มกระชวย เหมือนเวลาเราบินแล้วหน้าโต้ลมได้ชื่นใจได้ผ่อนคลาย และกระบวนการทีให้เราได้ถ่ายเทความจริงใจ ป้าหนูเชื่อว่าทีมทุกคนจะจริงใจไม่ดัดจริตเพราะเรารู้และอยู่ร่วมกัน เพราะสิ่งที่เป็นพฤติกรรม และลึกไปในใจ อย่างที่อุ้มว่าเวลาเราคุยกันเราคุยแต่เรื่องงาน ความเป็นเนื้อเป็นตัว ความเป็นเรายังไม่ค่อยได้คุยกัน

พอสยามกัมมาจลมาก็ทำให้เราได้ให้โอกาสน้องๆได้พูดเปิดใจ เปิดความคิด ได้เห็นเวลาเรามองคนทำงานทำไมต้องมองแต่คนเก่งที่เดินเข้ามาแต่ประตู แต่เราจะเห็นความสวยงามของการพัฒนาของลูกน้องแต่ละคน จากมินีร้องไห้ทุกวันก็มาเป็นเดือนละครั้ง เราได้เห็นความเข้มแข็ง การเลือกการผ่อนคลาย เขาเข้มแข็งขึ้น สังเกตวิธีการพูดการทำงานในลูกสาว 2 คนอย่างที่ป้าหนูว่าบางทีเขาก็ไปอยู่ในมินี ในจังหวะที่เราไม่ได้ทำมินีก็ไปตามจี้ให้ บางทีเราก็เห็นความอ่อนโยนในตัวอุ้ม เด็กๆบอกอันไหนที่อุ้มเข้ามาช่วยงานรู้สึกอบอุ่นโดยเฉพาะใหม่ เหมือนมีเพื่อน ตาลเวลาที่ซื่อๆลูกชาวสวนมันเคยซึม แม่ไม่สบาย ทำให้เราต้องเรียนรู้ว่าเราจี้มันแต่งานน้องมันเฉาไปเพราะแม่เขาป่วยเราไม่เคยถามเลย หรือว่าแม่มินีฝากปาเต๊ะมาให้เวลามินีกลับบ้านเราก็ไม่เคยเตรียมอะไรให้แม่มินีเลย หรือเจ๊าะโดนจับใน 3 จังหวัดชายแดนถ้าโดนทหารจับเรื่องใหญ่ เหยียบย่ำหัวใจก็ทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่า เขาทิ้งบ้านไว้เวลาเกิดอะไรขึ้นคนที่อยู่ไกลความห่วงใจก็จะออกมา

กชเหมือนลูกชายเขาจะเทคแคร์ ตาลด้วย เวลาจะกลับบ้านตาลก็จะช่วยหิ้วกระเป๋า แต่ว่ากับตาลจะยอมเพราะมันเป็นความสุขของเขา กชเขาสุภาพอ่อนโยนเหมือนแฟนคนแรกของป้าหนูทำให้เราอบอุ่น หน่วยงานเรามีผู้ชายน้อย พี่สาวป้าหนูแนะนำให้พอมาเจอความอ้วนไม่เป็นอุปสรรคเลยเห็นการพัฒนาสูงมาก เขาจะซื่อๆ ป้าหนูว่าโชคดีที่เลือกคนแบบไม่ใช้มาตรฐาน แต่เรามองเห็นความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ไม่ได้มองว่าเจ๊าะกับมินีเป็นมุสลิม แต่มองว่าเจ๊าะคือเจ๊าะ มินีคือมินี เห็นความเป็นเขา แต่เจ๊าะมีบางอย่างที่ป้าหนูเหนื่อยแต่เขาทำได้ เช่น การเขียนบันทึกที่เก็บรายละเอียด เรียบเรียงเขาก็จะช่วยได้ การพูดกะเขาตรงๆ ก็ทำให้เขาพัฒนาไปได้ทำให้ทีมสงขลาฟอรั่มเข้มแข็ง

ต้องขอบคุณทีมที่มาทั้งหมดทุกครั้งก็ทำให้สงขลาฟอรั่มมีความหมายมีคุณค่า โดยไม่ต้องตั้งคำถามว่าทำแล้วมีคุณค่าตรงไหน ทั้งคำถาม ทั้งสื่อ โจ้ มน วันนี้ออกภาพของอุ้ม เขาก็เก็บจุดเด่นของน้องออกมาได้ทันที ภาพเล็กๆ กับเวิร์ดเล็กๆ มันก็ดูธรรมดา แต่ป้าหนูเชื่อว่าทำให้อิ่มเอมใจมันมีความหมาย มีคุณค่ามาแต่ละครั้ง กระบวนการเป็นลมใต้ปีจริงๆทำให้เรารู้สึกมีชีวิตชีวา