ถอดบทเรียนพี่เลี้ยงแม่กลอง ปี 2
ประเด็นที่ 1 :
ทบทวนกระบวนการต้นน้ำ แล้วเบื้องหลังในการออกแบบกิจกรรมและการบ่มเพาะเด็กและเยาวชน
อาการของแต่ละคนและของน้องในตอนนี้
พี่อาร์ต
กระบวนการต้นน้ำเริ่มจากเราต้องหาเด็กมาเวิร์คช็อป พัฒนาโครงการของเด็กทั้ง 25 โครงการ แล้วลงไปคุยทีละโครงการให้เข้าใจ ช่วงพัฒนาโจทย์ Active Citizen จะยาก ยิ่งเป็นเด็กเล็กๆ ยิ่งยาก ทำเอกสารก็เยอะ
และปีนี้เน้นเรื่องตัวพี่เลี้ยงชุมชนด้วย ทั้งทีมนักถักทอ ทีมใหม่จากศิลปากร จึงต้องลงไปเคลียร์ให้เกิดการทำงานของเขาเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ทำแบบเดิม
พี่อ้วน
การทำงานปีนี้มี 2 ส่วน ส่วนที่ 1 คือพยายามสร้างการเรียนรู้กับคนในทีม ต่างจากปีแรกที่แบ่งหน้าที่กันทำ แต่ปีนี้ทุกคนต้องทำทุกหน้าที่ การจัดการงานจึงเพิ่มขึ้น เรื่องที่ 2 คือกลุ่มเด็กปีนี้มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป มีข้อจำกัดเยอะมาก ทำให้เราต้องลงไปตามน้องทุกทีม อย่างปีที่แล้วบางทีมใช้การพูดคุยทางโทรศัพท์ได้ แต่ปีนี้ต้องลงไปทำงานเอง ตอนนี้วันหนึ่งเราลง 3 ทีม เพราะจำเป็นมาก เราหนีน้องไม่ได้เลย
บทบาทของการจัดการทีม แบ่งหน้าที่รับผิดชอบของแต่ละคนในปีนี้
พี่อ้วน
ตอนแรกเป็นความไม่เข้าใจ เพราะเรื่องเอกสารปีที่แล้วน้องทำ แต่ปีนี้อาให้พวกผมทำด้วย เพื่อสร้างการเรียนรู้พร้อมน้อง แต่เราเองอยากมุ่งไปข้างหน้ามากกว่า การต้องห่วงเรื่องเอกสาร จึงจัดการเยอะ และกินเวลาของเรามาก
และปีนี้คนที่เข้ามาใหม่ไม่เคยผ่านกระบวนการ CBR แต่ตอนปี 1 ผมกับอาร์ตเคยผ่านกระบวนการ CBR แล้ว ทำให้น้องยังไม่มีกระบวนการ จึงต้องลงไปโคชเด็กพร้อมน้องด้วย
เพราะเราทำกับเด็กด้วยหรือเปล่าจึงต้องใช้เวลาเยอะมากกว่าทำกับผู้ใหญ่ที่ชินแล้ว
พี่อาร์ต
ผู้ใหญ่ก็ต้องใช้เวลา อย่าง CBR ต้องลงไปคุยเหมือนกัน แต่ถ้าไม่ให้น้ำหนักที่งานนี้ ไม่ได้ทำความเข้าใจกับเด็ก เด็กก็ไม่เข้าใจ ขณะที่ผู้ใหญ่ยังพอทิ้งช่วงได้ เพราะมีความรับผิดชอบ
เวลาไปลงพื้นทีกับน้องต้องเริ่มกระบวนการใหม่ทุกครั้งไหม
พี่อ้วน
อันนี้อาจต้องแบ่ง อย่างผมดูน้องกลุ่มนักถักทอ ซึ่งเป็นเด็กเล็ก ปรากฏว่าเขาไม่ต้องเริ่มใหม่สามารถต่อยอดได้ สิ่งที่ต่างกับปี 1 คือต้องใช้กระบวนการเสมเข้ามาช่วยเยอะ อย่างการออกแบบกิจกรรม ต้องคิดใหม่เรื่อยๆ เพราะถ้าใช้ซ้ำ 2-3 ครั้งน้องจะเริ่มจับทางได้ และเริ่มเตรียมคำตอบไม่จริงไว้
สำหรับทักษะพื้นฐานคือเรื่องการทำความเข้าใจตัวเองและเด็ก สิ่งที่ใช้เพิ่มมาคือการออกแบบกิจกรรมในแต่ละครั้ง โดยนำเป้าหมายของน้องเป็นที่ตั้ง มาออกแบบกิจกรรมให้น้องสนุก ไม่เบื่อ ได้ความรู้
เด็กในโครงการปีที่แล้ว คล้ายว่ามีวุฒิภาวะมากกว่าปีนี้ใช่ไหม
พี่อ้วน
ปีที่แล้วเราคัดเด็กเข้มมาก ดูเด็กที่มาว่าเป็นกลุ่มไหน รู้จักตั้งแต่ยังไม่เริ่มโครงการ แต่ปีนี้ภาคีพาเด็กเข้ามา เพราะฉะนั้นเราไม่ได้ดูตั้งแต่ต้น และเด็กมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด จึงต้องทำความเข้าใจเยอะ
พี่เลี้ยงนักถักทอก็ยังคุมเด็กของตัวเองไม่ได้ ยังไม่เข้าใจกระบวนของเราเท่าไร ส่วนทีมเราเองก็มีการสลับคนดูแลเด็ก จึงค่อนข้างหนักกว่าปี 1
พี่อาร์ต
เด็กจากศิลปากร อาจารย์คัดมาให้ ตัวผมจะเน้นเรื่องการสรุปบทเรียนที่นำมาใช้กับเด็กศิลปากร เพราะเราไม่ได้ลงทุกครั้งที่เด็กทำกิจกรรม แต่จะติดตามว่าน้องทำกิจกรรมเมื่อไร ทำอะไรบ้าง แล้วไปสรุปบทเรียนกับน้อง โดยคุยให้เห็นว่าทำอะไร เกิดการเรียนรู้อะไร ล่าสุดที่ไปคุยได้คิดจะยกระดับความคิดน้องมากขึ้น
อะไรที่ทำให้คิดจะยกระดับการทำงาน
พี่อาร์ต
การสรุปบทเรียนเดิมไม่มีหลักอะไรเลย ใช้ประสบการณ์ที่เคยเข้าร่วมเวทีล้วนๆ แต่พอได้คุยกับน้อง 2-3 ครั้ง เริ่มเห็นกรอบบางอย่างในการสรุปบทเรียนให้มีทิศทาง
ผมมองว่าถามตามลำดับเหมือนเดิมไม่ได้ เพราะน่าเบื่อและน้องอาจตอบไม่จริง ถ้าอยากได้ผลจริงต้องปรับรูปแบบไม่ให้ซ้ำเดิม ซึ่งที่วางไว้กับไปเจอหน้างานอาจไม่ใช่แบบเดียวกันก็ได้
พี่ธเนศ
พวกผมอาจติดว่าเวลาจะทำอะไรต้องคิด ผมเคยพูดว่าเวลาจะไปทำงาน ต้องเตรียมวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายว่าน้องจะเป็นอย่างไร ไปท่าเดิมๆ เราเบื่อไหม ถ้าเราเบื่อ น้องก็เบื่อ
พี่อ้วน
ผมจะจดพฤติกรรมเด็ก เพื่อจัดให้ทุกคนได้พูดตอนถอดบทเรียน ให้เด็กทุกคนสามารถเดินไปด้วยกันได้ เพราะมีบทเรียนจากปี 1 ที่ทั้งทีมมีน้องเก่งโดดเด่นขึ้นมาคนเดียว พอปี 2 จึงเห็นว่าให้เก่งคนเดียวไม่ได้ มีวิธีอะไรทำให้ทั้งทีมเดินไปด้วยกันได้ แม้คนที่เก่งต้องชะงัก แต่ต้องทำ เพื่อให้เดินด้วยกันได้
สิ่งที่พวกเราทำกันบ่อยมากในปีนี้คือ ดูพฤติกรรมของเด็กเป็นรายคน ถ้าพวกผมจัดการไม่ได้ ต้องให้อาจัดการ เช่น เด็กถาวรา หรือเด็กศิลปากรบางทีม
แต่ละคนมีเทคนิคจดความเปลี่ยนแปลงของเด็กอย่างไร อย่างอ้วนมีการจดพฤติกรรม แล้วคนอื่นล่ะ
พี่อาร์ต
นำคนที่เก่งออกมาให้ดูเพื่อน 4 คน เขาก็เห็นว่าเพื่อน 4 คนคุยกันสนุกเลย แล้วเราก็นั่งคุยกับเขาว่าเห็นอะไรบ้าง เขาจะเห็นภาพเลยว่าเพื่อนก็พูดได้
พี่อ้วน
ผมใช้วิธีให้ทุกคนทำกิจกรรมเวียน แล้วเด็กที่พูดเยอะจะเห็นว่าตัวเองตอบไม่ได้ เพื่อนตอบได้ ตัวเขาเองต่างหากไม่ปล่อยให้เพื่อนตอบ
กิจกรรมที่ใช้คือ 6 เหลี่ยมปัญหา โดยมีเก้าอี้ 6 ตัว ตั้งหลังชนกันคล้ายเก้าอี้ดนตรี แต่ละตัวมีคำถามแปะอยู่ เกี่ยวกับชุมชน และเรื่องที่น้องทำ แล้วให้น้องสุ่มตอบคำถาม ซึ่งบางคนรู้ บางคนไม่รู้ คนพูดเก่งพอเจอคำถามยากๆ บางข้อก็ตอบไม่ได้ เพราะพูดอย่างเดียวไม่เคยจด ส่วนคนที่ตอบได้ คือพวกที่ไม่ค่อยพูดแต่จด พอวนรอบแรกเสร็จจะเห็นว่าใครรู้อะไรไม่รู้อะไร แล้วดึงกลับมาถอดบทเรียนกันก่อนว่าเป็นอย่างไร น้องก็สะท้อนว่าตอบไม่ได้ ไม่รู้
จากนั้นให้ลองอีกรอบหนึ่ง คราวนี้เดินเลือกคำถามที่อยากตอบที่สุด ซึ่งจะเป็นข้อที่เขารู้ พอตอบก็จะตอบเยอะ แล้วดึงกลับมาถอดบทเรียนอีกรอบ เราจะชี้ให้เห็นข้อจำกัดว่าแต่ละคนตอบเฉพาะสิ่งที่ตัวเองรู้ จึงตั้งคำถามกับน้องว่า แล้วทำอย่างไร ให้ความรู้ทุกข้อเป็นความรู้ของพวกเรา น้องก็ตอบทันทีว่าต้องมาคุยก่อน ให้ทุกคนได้เขียน พอเนื้อหาเยอะ น้องจะเห็นแล้วว่างานสามารถเดินต่อได้
โด่ง
ผมใช้การสังเกต และจดจำว่าใครเป็นอย่างไร อย่างทีมมะพร้าวคือ ตฤณ ที่เพื่อนมองว่าเรียนเก่ง ตอบตลอด จนเพื่อนไม่กล้าพูด เพราะกลัวผิด คิดว่าตัวเองไม่มีความรู้เท่าตฤณ เราต้องดร็อปตฤณ แล้วให้คนอื่นพูด
อีกปัญหาคือคนที่พูดเยอะจะรู้สึกว่าตัวเองทำคนเดียวอย่างตฤณ หรือบัว เวลานั่งคุยประชุมทีมกัน ผมจะพยายามบอกให้คนอื่นลองพูดบ้าง แล้วชี้ให้เห็นว่าเพื่อนก็พูดได้ ไม่ใช่บัวหรือตฤณทำคนเดียว เวลาบัวมาปรึกษา ผมบอกว่าน้องอย่าคิดมาก เพื่อนอาจจะเก่งคนละแบบ พออาไปถอดครั้งล่าสุด บัวก็เข้าใจแล้วว่าเพื่อนเก่งต่างกัน ทุกคนช่วยกันได้สุดท้ายก็อยู่ที่การจับพฤติกรรมของน้องว่าเราจะบริหารทีมนี้อย่างไร ให้เด็กได้เรียนรู้ร่วมกัน ต้องมาปรึกษากันตลอด
เวลาเจอปัญหาระหว่างทำงานกับน้อง ผมจะไลน์ถามในกลุ่ม พอกลับมาที่ออฟฟิศก็มาเล่าให้พี่ฟังว่า เจอปัญหาอะไรมา เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง การพูดคุยกับอาและพี่ๆ จะได้มุมต่างกันขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ถ้าคุยกับอา อาจะเห็นอาการว่าผมเอาไม่อยู่ อาจะลงไปทำเองครึ่งหนึ่ง แล้วมาสรุปให้ผมฟัง
เวลาที่อาลง โด่งเคยแอบคิดไหมว่า เพราะเราทำไม่ได้หรือเปล่า
โด่ง
ผมก็คิดว่าเพราะตัวเองทำไม่ได้ใช่ไหม แต่เจียมตัวว่ายังขาดมุมและประสบการณ์ ถ้าอาลงมาแสดงว่าต้องการจะสอนอะไรบางอย่าง ต้องนิ่งดู และเห็นว่าตัวเองเป็นอย่างไร คือเราติดกับเนื้อหาของเด็กมากเกินไป มุ่งที่โครงการอย่างเดียว โดยไม่มีมุมอื่นให้น้องเลย พออาชี้มุมที่เราขาด ก็เข้าใจจำได้มากกว่าที่ไปทำเอง
พี่อาร์ต
ปีนี้เราคุยกันในทีมค่อนข้าง แต่น้องไปหนุนเด็กแล้วมาปรึกษาจะเยอะ มีอะไรก็ถามตลอดผมก็มีคิดในใจว่าทำไมไม่คิดมาแล้วมาเสนอ บางทีผมไม่รู้ปูมหลังของเด็กเท่าน้องที่ไปลงพื้นที่
ผมว่าการมาปรึกษาแล้วเกิดการเรียนรู้ของโด่งกับนัทดีขึ้น เพราะงานช่วงแรกมีแต่เอกสาร ทำแล้วแก้ จึงไม่เห็นภาพที่ชัด ส่วนตอนนี้คือการปรึกษาปัญหาการทำงานลงพื้นที่ พอทำแล้วผิด กลับมาปรึกษา แล้วไปลงมือทำจริง จึงเหมือนเข้าใจได้ไวจากการลงมือทำ
ความรู้สึกของโด่งตอนที่เพิ่งเข้ามาทำกับตอนนี้ เวลาไปถามอาต่างกันไหม
โด่ง
ตอนแรกจะกลัวเวลาอาลงมาจี้ แต่พอไม่ถามแล้วทำพลาดมาก็โดนด่าอยู่ดี สู้ถามให้โดนด่าตั้งแต่แรก ยังดีกว่าพาน้องไปมั่วๆ บางทีพอถามเราก็ไม่โดนด่า แต่ได้คำแนะนำกลับมา พอไม่โดนด่าก็ถามไปเรื่อยๆ ถามแล้วเหมือนได้แนวทางว่าเราจะไปอย่างไรดี ลงพื้นที่วันนี้จะไปแบบไหน ต้องเก็บเนื้อหาหรือคุยเล่น
พี่อาร์ต
ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงของน้องในวันนี้เป็นรูปธรรมมากกว่าช่วงแรก เพราะช่วงแรกจะเป็นเรื่องเอกสารเยอะ แล้วเดี๋ยวแก้ เดี๋ยวผิด หลังนับ 2 พอปรึกษาแล้วไปทำ จะเห็นน้องเปลี่ยนเลย พูดเก่งขึ้นหรือรู้เรื่องนี้มากขึ้น
พี่ธเนศ
น้องใหม่ 2 คนต้องสร้างการเรียนรู้ด้วย Active Citizen เพราะช่วงหลังงาน CBR เป็นงานที่น้องใหม่ทำไม่ได้ เดิมเราใช้ CBR ฝึกเด็กรุ่นเก่า แต่ตอนนี้เด็กไปไม่ถึง CBR หรอก ชาวบ้านไปไกลแล้ว ชาวบ้านส่วนหนึ่งก็ไม่ได้ทำโครงการใหม่ แต่ถึงทำโครงการใหม่ก็เป็นประเด็นปัญหาที่ใหญ่ๆ ทั้งนั้น เราจึงใช้ Active Citizen สร้างการเรียนรู้ให้เด็กรุ่นใหม่ และวางความรับผิดชอบไว้ว่าต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ ผมไม่ค่อยไป พวกนี้จะรู้ว่าถ้าผมลงคือต้องไปจัดการอะไรบางอย่าง หรือผมต้องการไปทำให้เขาดู แล้วครั้งต่อไปน้องจะลงไปทำได้ด้วยวิธีการของเขาเอง แต่แก่นหรือหลักการที่เราบอกว่าเวลาไปทำงานไม่ใช่จะเอาแต่เนื้อหาอย่างเดียว ต้องดูบริบทโดยรอบด้วย เพราะจะช่วยสร้างการเรียนรู้และทักษะที่สำคัญ ถ้าทำได้จะเดินไปสู่เป้าหมายอย่างง่ายดาย
โด่ง
ตอนนี้เด็กก็ติดทำกิจกรรม เพราะพอไปแล้วมันได้เรื่องเล่า ไม่ใช่แค่ชาวบ้านสนุก เด็กก็สนุกด้วย ชาวบ้านเขาเล่าให้ฟังเยอะ เด็กก็นั่งฟังเยอะ สนุกกับเรื่องราวเก่าๆ เด็กบอกไม่เคยฟัง เพราะไม่ได้ถาม ไม่ได้คุย แต่ตอนแรกๆ ที่ผมทำงาน ก็ยังไม่ได้ใส่ใจเรื่องบริบท
อะไรที่ทำให้เรารู้ว่าบริบทมีความสำคัญ
โด่ง
การไปดูงานวิจัย หรือออกไปดูงานที่อื่น จะเห็นว่าเขาไม่ได้เอาแค่ประเด็นเดียว แต่ยังศึกษาเรื่องหลายๆ อย่างที่จะมาประกอบกันเป็นเป้าหมายได้ มีปัจจัยหลายอย่าง
พี่ธเนศ
ทุกเรื่องเป็นระบบหมายความว่าความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน น้องอาจเห็นเฉพาะปลายทาง แต่ไม่เห็นความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงระบบพวกมะพร้าว รำ หรือชีวิตคน มันเชื่อมโยงกับบริบทว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ได้มีอยู่โดดๆ ซึ่งเวลาเด็กคิดจะดิ่งไปที่เรื่องนั้นเลย แล้วทิ้งบริบทรอบข้างเหมือนกับพวกน้องของเรานี่ล่ะ เราจึงชี้ให้เห็น System Thinking
วิธีการสอนงานพวกนี้ไม่ได้บอกกันตรงๆ เราใช้การสอนผ่านการทำให้ดู พอขึ้นรถกลับก็ถามทันทีว่าเห็นอะไรไหม วันนี้ผมทำอะไรให้ดู แล้วเห็นสิ่งที่เหมือน สิ่งที่แตกต่างจากสิ่งที่ตัวเองเคยทำอย่างไร อะไรคือหัวใจที่ลงไปทำ เวลาเห็นว่าเขาเข้าใจ แล้วก็ปล่อยให้ไปทำเอง อาจไปก่อน ส่วนเราตามไป หรือไม่ก็ไม่ตาม เพราะบางทีเราวางแผนแต่ไม่บอกเขา อยากเห็นว่าทำอย่างไร เตรียมตัวไปอย่างไร
ผมจะเน้นว่าก่อนทำงานคุณต้องคิดก่อนไปทำ อย่าดูถูกชาวบ้านหรือเยาวชนว่าอย่างไรก็ได้ แต่เขาจะไม่เห็นว่าเวลามาทำงานจริงๆ ผมวางแผน เพราะที่ออฟฟิศทุกคนต้องทำแผนสัปดาห์ ไม่ใช่เข้ามาออฟฟิศแล้ววันนี้จะทำอะไรก็ไม่รู้ วันอาทิตย์เย็นต้องส่งแผนให้ผมดูว่า 7 วันต่อไปนี้จะทำอะไรบ้าง แล้วผมจะคอยดูว่าทำตามแผนไหม ฝึกเรื่องการวางแผน แต่ก็ทำบ้าง ไม่ทำบ้าง พอไม่ทำ เราก็กระตุกบ้าง แกล้งลืมบ้าง หายไปสักพัก พอไม่ส่งแผนอีกแล้ว ค่อยกระตุ้น แต่หัวใจคือทำให้เห็นเรื่อง System Thinking การคิดเชิงระบบ ถ้าทำให้เห็นบนงาน ไม่ได้ก็มาเล็กเชอร์ให้ฟัง
พี่อ้วน
เรื่อง System Thinking ตั้งแต่อบรม หรือได้คุยมา ถ้าพูดเฉยๆ ไม่เห็นหรอก พวกผมก็ไม่เห็น อาศัยว่าไปเวทีกับอาบ่อยๆ จนเห็นว่าเชื่อมกัน แล้วเป็นเรื่องที่ชาวบ้านพูดเอง เด็กพูดเองบางเรื่องด้วย พอเห็นสิ่งที่เราฟังมา ก็พบว่าเชื่อมโยงกับกันจริง จึงรู้สึกว่า ถ้าเราไม่ทำ ไม่เชื่อม ไม่มองรอบๆ คงลำบาก
พี่อาร์ต
ผมดูแผนเป็นหลักว่าต้องทำอะไร แล้วจะเห็นระบบ รายละเอียด อย่างแผนโครงการแต่ละโครงการ ซึ่งเราทำ Project Management จะเห็นอยู่แล้วว่ารายละเอียดต้องไปทำอะไร อย่างไร เวลาไปหนุนน้องให้น้องทำ จะเห็นระบบ เรื่องราวแวดล้อมในพื้นที่นั้นอีกเยอะ เห็นระบบในพื้นที่มากขึ้น
โด่งมีวิธีทำงานโครงการของตัวเองอย่างไร
โด่ง
ตอนแรกที่ทำงานมุ่งแต่ทำตามแผน ไม่ได้คิดเชิงระบบ พอมาแชร์กับอาและพี่ เขาก็จับได้ว่าเราขาดเรื่องรอบตัว เรื่องคิดเชิงระบบ ว่าก่อนจะมาถึงมะพร้าวต้องมีปัจจัยอะไรบ้าง สิ่งนี้คือสิ่งที่ขาด พอได้ทำแล้วเขาก็เติมให้ ด้วยการชี้ให้เห็น
ตัวเราเองก็รู้ข้อมูลของชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมตรงนั้นน้อย เราเติมความรู้ของเราอย่างไร
โด่ง
เนื้อหาที่จะเติมให้กับน้อง ส่วนใหญ่เปิดอินเทอร์เน็ตหาข้อมูลไปก่อน รู้ไปบ้าง ยอมรับเลยว่าสภาพพื้นที่ที่ลงไปเรารู้น้อยมาก รู้แค่ความเป็นมาเล็กๆ น้อยๆ เพราะยังเป็นคนในจังหวัด ว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นอย่างไร แต่ไม่รู้ว่าทำไมมันเป็นแบบนี้
เวลาอาเขาเล่าให้ฟังก็พยายามจับว่านี่ไง เราไม่รู้อันนี้ก็เอาไปถาม เพราะอาเขาเคยทำเรื่องมะพร้าวมาก่อน เขาก็จะเล่าให้ฟังไล่ตั้งแต่หัวมาจนล่าง เราก็มาเล่าให้ฟังได้ อย่างมะพร้าวตาต้องถี่ถึงจะมาทำเป็นไม้ได้
นัท
ถ้ามองเรื่องระบบ ตอนแรกไปก็เหมือนกัน ไม่เตรียมตัว แต่ตอนหลังเริ่มเห็นความสำคัญ เอาแผนมาดูมาอ่าน เตรียมตัวมากขึ้นจากที่ไปแล้วเห็นตัวเองว่าไม่พร้อม อาจะกระตุกว่าไม่เอามาหรือ ไม่เตรียมตัวหรือ
พอเริ่มเห็นมากขึ้น ครั้งหน้าเราก็มองว่า ต้องใช้อะไรบ้าง เตรียมตัวอย่างไร เราขาดอะไร มันก็เอาไปให้พร้อมขึ้น
บางครั้งจะมองหน้าแบบว่าพี่ช่วยผมหน่อย เขาก็มองแล้วปล่อยให้เราทำก่อน ค่อยเข้ามาช่วย
ตอนที่ไปต่อไม่ถูก พี่ต้องมาช่วย รู้สึกอย่างไร
นัท
เห็นว่าเรามองแค่เรื่องเดียว เวลาน้องทำกิจกรรม อย่างทำไทม์ไลน์ศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ เราก็ชวนน้องคุยแต่เรื่องนี้จนลืมมองไปว่า การทำงานครั้งนี้ขาดการประสานงาน การเตรียมอุปกรณ์ การแบ่งบทบาทหน้าที่ ชวนคุยจนน้องไปเรื่องอื่น เราดึงกลับมาเรื่องนี้
พี่อาร์ต
เห็นชัดคือรำ ช่วงแรกจะไปประชาสัมพันธ์เพื่อหาคนมาฝึกรำ ซึ่งตอนแรกจะไปเป้าปลายทางเลย แต่ในแผนไม่ใช่อย่างนั้น แผนคือไปศึกษาก่อนว่ามีคนรู้เรื่องรำอยู่ที่ไหนบ้าง เขาผ่านการร่ำเรียนมาแบบไหน อยู่ดีๆ น้องก็กระโดดไปโน่นเลย เหมือนกับโคโค่ออยล์ จะไปหาเลยว่ามีแหล่งทำน้ำตาลมะพร้าวอยู่ที่ไหนบ้างในชุมชน พาไปสัมภาษณ์ พาไปคุย จริงๆ ไม่ใช่ แต่ว่ามีรายละเอียดอยู่ว่าต้องไปศึกษาว่ามะพร้าวมีอะไรบ้าง เขาอยู่กันอย่างไรกับมะพร้าว นี่คือรายละเอียดที่จะเห็นแวดล้อมในแผน
พี่อ้วน
ผมว่าเราเหมือนายช่างใหญ่ เพราะ เราคาดหวังให้น้องมองเป็นระบบไม่ได้ น้องจะคิดอะไรเป็นก้อนๆ หน้าที่ของเราคือทำอย่างไรให้น้องเห็นว่าก้อนนี้เชื่อมโยงกับอะไร ประกบกับอะไรต่อได้ นี่เป็นหน้าที่หลักที่ช่วงหลังเราทำกันบ่อยมาก
ยิ่งเจอกับน้องกลุ่มเด็กๆ จะคิดอยากทำอะไรเหนือแผน ไม่ค่อยดูแผนเท่าไร เพราะดูแผนก็ไม่เข้าใจ อย่างประวัติศาสตร์ชุมชน ทีมเด็กโตจะเข้าใจ แต่กับทีมเด็กก็มองแค่นั้น ประวัติศาสตร์ก็ประวัติศาสตร์ สมุนไพรก็สมุนไพร รำก็รำ น้องไม่เห็นว่าเชื่อมกันอย่างไร หน้าที่ของเราคือจำเป็นต้องทำให้น้องเห็นว่าอันนี้เชื่อมกับอันนี้ได้ ลองดูไหม ลองทำหรือยัง ลองแล้วเป็นอย่างไร
พี่ธเนศ
สิ่งที่ย้ำตลอดคือเรื่องแผน
1.เราทำ Project Management
2. เราทำแผน ก็ต้องถามว่าแผนนี้ใครเขียน ถามน้องที่ทำงาน เพราะจริงๆ ใน สังคมไทยไม่ใช้แผนที่เขียน เพราะเราไม่ได้ปลูกฝังเรื่องนี้มา เราจึงให้ความคิดพวกนี้ว่าจริงๆ เราต้องการใช้แผนในการปลูกฝังน้องด้วย เครื่องมือคือเราทุ่มเทเขียนมาตั้งนาน เราทำ เราคิดเอง แต่เวลาทำงานกลับไม่หยิบมาใช้ ผมลงไปทุกครั้งจะถามว่าแผนอยู่ไหน แล้วทำงานนี้อยู่บนแผนไหน ทำกิจกรรมนี้อยู่ตรงไหนของแผน คือจะให้ทิศทางไปว่าเรื่องสำคัญคือแผน
ผมไม่ได้จะไปตามงาน แต่จะฝึกน้องว่าเรื่องแผนสำคัญ เพราะถ้าเรื่องนี้ติดตัวไป อนาคตเวลาไปทำงานองค์กรต่างๆ หรือกลับไปทำอะไรในท้องถิ่น มันจะถูกติดไว้ในตัวว่าแผนสำคัญ ไม่ได้เขียนเพื่อเอาเงิน แล้วจบ ไม่เคยสนใจ เอาเงินไปทำอะไรก็ได้ ซึ่งอันนี้บอกเลยว่าถ้าที่ไหนมีสัญญาณการใช้เงินแบบผิดปกติ ไม่เดินตามแผน เราจะลงไปจัดการทันที เพราเราจะไม่ปลูกฝังนิสัยแบบนี้ไว้
สิ่งที่ได้จากเสม
พี่อาร์ต
สิ่งที่ได้จากเสมคือ เรื่องที่พี่เล็กทำเรื่องนาฬิกา เรื่องการแตกองค์ประกอบ ผมนำมาเทียบกับแผน ว่าในแผนมีองค์ประกอบอะไรบ้าง ไปถึงเรื่องที่มีอะไรบ้างคือ ใช้เครื่องมืออะไร
ในฐานะโคช เราต้องการเติมเครื่องมืออะไรอย่างนี้ตลอดเวลาใช่ไหม
พี่อาร์ต
เดิมทำบนประสบการณ์มากกว่ามีหลักการ แต่พอไปเติม เราก็ชัดเจนกับหลักการที่ได้มา
พี่ธเนศ
วัฒนธรรมอย่างหนึ่งขององค์กรเราคือ ทุกครั้งที่น้องไปอบรมมา ผมจะตั้งคำถามว่าไปอบรมมา แล้วใช้ไหม ถ้าไปอบรมมาแล้วไม่ใช้ ทีหลังไม่ต้องไป มันเสียเงินเยอะ แล้วคุณไม่ใช่มันไม่ได้ เพราะฉะนั้นคุณต้องทำมาใช้ แต่ละคนก็จะมีสไตล์ปลีกย่อยของตัวเอง อย่างอ้วนก็จะชอบคิด แต่ทั้งหมดคือดึงสิ่งที่อบรมมาแนบเข้ากับตัวแล้วประยุกต์ใช้ให้ตรงกับตัว
ถ้าผมไปอบรมได้อะไรมาใหม่ๆ ผมจะนำมาทดลองใช้ทันที แล้วเอามานั่งถกกันว่าเครื่องมือเป็นอย่างไร หมายความว่าไปรับมาต้องรีบลองใช้ ไม่อย่างนั้นจะลืม นี่เป็นสิ่งที่ผมทำและถ่ายทอดให้พวกนี้ว่าต้องทำ ต้องเห็นคุณค่าของการไปอบรม
พี่อ้วน
เรื่องที่ผมโดนฝังหัวจากอาอยู่ตลอดคือ แก่นอยู่ไหน เบื้องหลังคืออะไร เพราะฉะนั้นเวลาไปอบรม ผมจึงต้องหาเบื้องหลังว่าวิธีการแบบนี้ทำไมจึงเป็นแบบนี้ พอเข้าใจแก่นแล้วก็ง่ายกับการมาประยุกต์ ซึ่งเป็นคำถามที่ถูกถามตั้งแต่ปีแรกที่เพิ่งเข้ามาทำงาน เอามาใช้นี่รู้ไหม ก็ติดไปกับการทำงานเด็กด้วยว่าเบื้องหลังของน้องคืออะไร ยิ่งพอเข้าอบรมเสมเรื่องฝึกการฟังเข้ามา ยิ่งทำให้เราต่างจากปี 1 ที่มุ่งแต่จะเอางานของเรา ขณะที่ปี 2 ฟังก่อนว่าน้องจะทำอะไรบ้าง แล้วค่อยปรับ
นัท
ช่วงแรกถามเป็นแพตเทิร์นก่อน แต่ช่วงหลังได้ดูพี่ๆ มากขึ้น จึงค่อยเข้าใจแก่นแล้วจับมาประยุกต์ได้ คืออาจไม่เข้าใจตั้งแต่อบรมเลย ต้องมาคุยกับอา กับพี่ ผมจึงเริ่มเข้าใจมากขึ้น
โด่ง
สิ่งที่ได้จากเสมคือการจับประเด็นแล้วแตกเนื้อหาออกมา พอเวลาเราเห็นอาการน้อง ผมก็จะพยายามนึก ว่าน้องเป็นแบบนี้เพราะอะไร เพื่อให้น้องเห็นความสัมพันธ์ และสะท้อนตัวน้องว่ามุ่งทำเพียงเป้าหมายอย่างเดียว และช่วยในการลงไปเติมกับน้อง ดูอาการทีม ทีมเป็นอย่างนี้เพราะอะไร
ล่าสุดไปลองทำกิจกรรมให้น้องรู้ว่าลืมมองเรื่องรอบตัวไป ทำกิจกรรมโดยให้น้องวาดรูปอะไรเล่นๆ ซึ่งกิจกรรมก็ทำให้น้องเห็นว่าน้องมุ่งไปที่เป้าหมายอย่างเดียว แต่การมองเนื้อหาจะทำให้รู้ว่าจะไปอย่างไรต่อ น้องมาแบบนี้ก็ทำให้เราเห็นว่าน้องขาด เราสามารถไปเติมได้
อีกเรื่องคือการตั้งคำถาม ตอนนี้สามารถคิดต่อยอดการถามน้องด้วยคำตอบของน้องได้แล้ว มากกว่าแรกที่มาทำงาน ช่วงแรกคือน้องตอบมา ก็จบแล้วเพราะตอบแล้ว แต่พอหลังๆ พยายามนำคำตอบของน้องมาถามต่อ อาการที่เจอคือน้องตอบกว้าง เราจะค่อยๆ ถามจนเล็กลง เล็กลง เล็กจนน้องไปไม่ได้ เราก็ไปไม่ได้
พอไปต่อไม่ได้แล้วทำอย่างไร
โด่ง
ดึงกลับมาที่หลักของโครงการ ให้น้องพูดต่อ ก็ถามไปได้เรื่อยๆ อีก มันได้ทักษะการตั้งคำถาม
ความรู้สึกแรกๆ ที่ตั้งแล้วไปต่อไม่เป็น กับพอเราถาม ยิ่งถามยิ่งลงลึก ความรู้สึกในตัวของเราเป็นอย่างไรบ้าง
โด่ง
ผมกังวลว่าถ้ายิ่งลึกน้องจะตอบได้ไหม ถ้าตอบไม่ได้จะไปอย่างไรต่อ น้องพูดอะไร ผมก็พยายามหาคีย์ที่จะไปต่อได้ เพราะถ้าถามแล้วไปต่อไม่ได้ก็ดูอย่างไรอยู่
สรุปบทบาทของโคชที่ได้ลงพื้นที่ทำงานช่วงนี้
สิ่งที่ได้คือ
- ทุกคนรู้งานตัวเองว่าต้องลงไปสังเกตน้อง อ้วนก็จะไปสังเกตเป็นรายคน แล้วบันทึก จดจำกลับมาเล่าให้ทีมฟัง
- การลงไปชวนคิดชวนคุย ซึ่งแต่ละคนจะมีเทคนิคตามแต่พฤติกรรมของน้อง เช่น ถ้าเป็นน้องนักถักทอ อ้วนก็ใช้เกม ใช้ความสนุกเข้าไป ถ้าเป็นเด็กศิลปากรที่คุยเนื้อหาได้ ก็พาแตกองค์ประกอบ เป็นบทบาทโคชเรื่องการสร้างการเรียนรู้
- Project Management คือพี่เลี้ยงต้องแม่นแผน ลงไปคุยกับน้องก็รู้ว่าต้องพาน้องทบทวนว่าแผนเป็นอย่างไร
- System Thinking เป็นชุดวิชาที่ยากที่สุด ที่จะต้องพาน้องให้เห็นถึงความเชื่อมโยง ทีมโคชก็คงกำลังฝึก
ทีมโคชจะใช้ 4 เรื่องนี้ และพี่ธเนศจะเข้ามาช่วย ด้านบทบาทในการพัฒนาโคชคือ ทำแผนแล้วก็กลับมาคุยให้ฟัง เป็นทีมหรือตัวต่อตัว บางทีอาจลงพื้นที่ไปด้วย ซึ่งเทคนิคสำคัญที่ต้องช่วยน้องคือการเป็นช่างเชื่อม ทำให้น้องเห็นว่าสิ่งที่เป็นก้อนนั้นสัมพันธ์กัน อันนี้เราพอจะได้เห็นเทคนิคแล้วจากการทำงาน ช่วงหลังเดี๋ยวเราจะย้อนกันไปคุยถึงต้นน้ำว่าทำไมจึงเลือกเด็กแต่ละกลุ่มมาทำโครงการ
ประเด็นที่ 2 :
การคัดเลือกเด็กและเยาวชนเข้ามาทำโครงการ
แบ่งโครงการที่รับผิดชอบกันอย่างไร
พี่อ้วน
ช่วงที่ต๋องยังอยู่จะแบ่งกัน 4-5 โครงการ แต่ตอนนี้กระจายของต๋องมาให้คนอื่นด้วย การจับคู่บัดดี้ลงพื้นที่ระหว่างพี่กับน้องก็ตามสะดวก ใครสะดวกที่จะไปลงกับใครก็ไป ส่วนที่ผมรับผิดชอบคือของนักถักทอ และจากของต๋องอีก 2 ทีม คือวัดลาดเป้งกับห้วยสงสัย
พี่ธเนศ
ที่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัย อาร์ตเป็นคนดู
โด่ง
ของผมถาวรา 2 ทีม สมุทรสงครามทั้งหมด แพรกหนามแดง ชิพมั้ง
นัท
ของผมกาญจนบุรี 1 ทีม ราชบุรี 2 ทีม และสวนผึ้ง 2 ทีม
นอกจากเด็กมหาวิทยาลัย เด็กนักถักทอ แล้วอีกกลุ่มเลือกมาอย่างไร
พี่อาร์ต
เด็กที่ผ่านโครงการปีแรกมาแล้ว
พี่อ้วน
เราแบ่งกลุ่มเด็กกันเอง โดยดูจากเกณฑ์ อาร์ตมีปฏิสัมพันธ์ดีกับเด็กจอมบึง และให้เด็กมหาวิทยาลัยด้วย ของผมจะเป็นเด็กนักถักทอ ส่วนนัทจบด้านเกษตรและป่าไม้จึงน่าจะเข้าใจเด็กวิทยาลัยเกษตรบวกกับเป็นคนราชบุรีจึงให้ทีมสวนผึ้งด้วย ส่วนที่เหลือเป็นทีมที่อยู่แม่กลอง จึงให้โด่งเป็นคนรับผิดชอบ ส่วนตอนแรกแบ่งตามความสนิท ใครสนิทกับกลุ่มไหนก็ดูกลุ่มนั้น
พี่ธเนศ
การดูแลจะทำตั้งแต่ต้นน้ำไปจนจบ เขาต้องทำเอกสาร คุยพัฒนากับน้อง พัฒนาเอกสาร เพื่อทำเสนอกับผู้ทรงคุณวุฒิ แล้วไปติดตามน้องด้วย ซึ่งตอนหลัง เราเจอข้อจำกัดว่า บางคนไม่สามารถคอนโทรลน้องได้ จึงต้องกลับมาเขย่าใหม่ อย่างตอนแรกให้ต๋องไปดูศิลปากร แต่น้องสะท้อนกลับมาว่าพี่พูดไม่รู้เรื่อง จึงต้องปรับวิธีโคชใหม่
เวลาเราเจออาการแบบนี้ทำให้เราได้คิดไหมว่าคราวหลังเวลาจะให้น้องดูแต่ละทีมต้องวางอย่างไร
พี่ธเนศ
เบื้องหลังที่จะให้ใครดูทีมไหนมีฐานคิดรองรับอยู่ แต่ไม่ได้ตายตัว ดูว่าช่วงนี้ต้องเปลี่ยนขุมกำลังเพราะเห็นจุดอ่อน ตอนนี้ที่ใช้คือ นัทกับโด่งยังไม่ให้ลงเองในกิจกรรมหลัก ต้องมีผม อาร์ต หรืออ้วนไปด้วย แต่กิจกรรมย่อยก็เริ่มให้ไปเองแล้ว
สิ่งที่ผมจับหลักได้และคิดว่าจำเป็นมากคือ ช่วงของการตั้งไข่ หรือช่วงแรกที่น้องเริ่มงาน หัวใจคือเราต้องให้น้องสัมผัสอะไรบางอย่าง พวกเราไปพาทำ แล้วถอดให้ลึก ให้เห็นว่าทำแบบนี้มีคุณค่า มีเครื่องมือบางตัวที่หากลงมือทำให้ดีจะทำให้น้องรู้สึกว่า แค่นี้ก็ได้อะไรแล้ว อันนี้เป็นจุดเริ่มต้น หลังจากนั้นจะเริ่มผ่อนให้น้องทำเอง
เนื่องจากว่าเราลงไปทำด้วย เราไปวางแผนกับน้องแล้ว ใส่เครื่องมือเลย หมายความว่าตอนนี้กระบวนการนับ 3 จบไปแล้ว คือน้องได้แผนแล้ว หลังจากนี้น้องต้องทำตามแผนงาน เช่น ใช้เวทีประวัติศาสตร์หรือเรื่องราวย้อนอดีต น้องยังไม่เข้าใจ แต่เราพาทำให้น้องเห็นคุณค่า
พี่อาร์ต
แล้วอย่างที่บอกคือเห็นระบบสิ่งแวดล้อม ระบบในชุมชน อย่างศิลปากรก็ทำไปแล้ว 2 ทีม คือปลาอกกะแร้กับอิสลาม ก็พบว่าน้องเริ่มเห็นข้อมูล เรื่องราวในชุมชน ตาของน้องแพรวพราว อยากรู้เพิ่ม และเห็นบรรยากาศของชาวบ้านที่มาคุยด้วย น้องเขาดีใจที่ชาวบ้านอยากเล่า ก็รู้สึกสนุก
พี่อ้วน
เราต้องสังเกตช่วงเวลาที่จะใส่เครื่องมือให้น้อง อย่างเด็กนักถักทอจะไปใส่ว่าทำไทม์ไลน์หรือแผนที่ตั้งแต่แรก เขาจะไม่เข้าใจ ต้องปล่อยให้ทำตามสไตล์ก่อน แล้วกลับมาชวนคุย ใส่เครื่องมือไทม์ไลน์เข้าไป วันนั้นให้โด่งลองชวนคุย เด็กขึ้นเลย เขาเริ่มสนุกกับการเข้าชุมชน แต่พอจุดหนึ่งกำลังจะตก เพราะเจอแต่สิ่งเดิม เราก็เติมเครื่องมือเข้าไปอีก เขาจะเห็นอย่างอื่นมากขึ้น และขึ้นมาอีก
เคยเจอภาวะนี้ไหมที่เด็กขึ้น
นัท
ผมเห็นน้องสนุก ดูแววตาแล้วเขาอยากทำอีก อย่างทีมแป้ง ที่ไปกับพี่อาร์ตก็เห็น ตอนแรกน้องยังไม่ทำอะไร เรื่อยๆ พอพาทำไทม์ไลน์ เริ่มเห็นอะไรมากขึ้น เริ่มอยู่ตรงนั้นนานขึ้น ไม่ได้ไปเอาข้อมูลอย่างเดียว แต่ได้เรียนรู้ ได้รู้จักคนด้วย
โด่ง
ผมเห็นจากตอนถอดบทเรียน จากเรื่องราวที่เล่าคือ น้องมีความใส่ใจ เล่าได้เป็นฉากเป็นตอน ลุงเล่าอะไรมา จำได้แทบหมด สนุกกับการทำ ชอบ อยากทำอีก
พี่ธเนศ
โด่งกับนัทเห็นอาการแบบนี้ตรงกันหรือเปล่า ถ้าพี่ 2 คนบอกว่าขึ้นแล้ว เราจะได้สังเกตว่า หน้าตา อารมณ์ อาการแบบนี้เรียกว่าขึ้นแล้ว มันใช้กระบวนการกระทั่งน้องตาลุก แล้วอินเนอร์จะออก อยากทำอะไรต่อ ซึ่งเดิมเราไม่ได้ทำแบบนี้ เราต้องเข็นให้น้องอยากจะทำ แต่พอพี่ไปแล้วเห็นอาการแบบนี้ ต้องย้อนถามกลับว่าตัวเองเห็นไหม จะได้ใส่สำนึกพลเมืองถูก พอเห็นว่า Wording ลอยมาแล้ว ต้องรู้ว่าจะตบอย่างไรให้เข้าไปเรื่องสำนึกพลเมือง ต่อไปต้องสังเกตอาการว่าแบบไหนที่สำนึกพลเมืองเริ่มเกิดขึ้น
เวลาไปช้อนเด็กที่เบื่อ รู้ได้อย่างไรว่าต้องเป็นเวลาไหน เพราะแต่ละโครงการมีขั้นตอนไม่เหมือนกัน แต่ละคนน่าจะมีเทคนิคต่างกัน
พี่อ้วน
เรื่องแรกผมจะดูอาการของเด็กมากที่สุด เมื่อน้องเริ่มทำอะไรที่เป็น Routine ซ้ำๆ คุยกันกี่ครั้งตอบมาแบบนี้อีกแล้ว
เรื่องที่ 2 คือพอคุยกันไป เริ่มนอกเรื่อง สมาธิไม่อยู่ ตอนแรกที่ทำน้องสนุก แต่พอทำ 2 ครั้งไปแล้ว ครั้งที่ 3 จะเริ่มเบื่อ และคำตอบที่เขาตอบมาเราจะรู้ทันทีว่าแบบนี้จำจากครั้งที่แล้วมาพูด เรื่องกับชุมชนน้องจะตัน พอลงชุมชนกลับมาสรุปบทเรียนก็ได้ความรู้เดิมๆ
เพราะฉะนั้นเราสังเกตได้ว่าน้องไปไม่ได้แล้ว เราก็เริ่มคิดว่าเครื่องมือไหนจะพาน้องไปได้กว้างกว่าที่เคยเป็นมา เรื่องนี้ผมก็เพิ่งได้เรียนรู้ในปีนี้ เพราะปีที่ผ่านมา พอลงพื้นที่ จะทำเป็นขั้นตอนว่าครั้งนี้ต้องทำไทม์ไลน์ ครั้งนี้ต้องทำแผนที่ แต่พอลองมาทำกับเด็กเล็ก ความคิดของผมคือ ถ้าเราใช้แบบนั้น แต่เด็กไม่อิน และพี่เลี้ยงไม่เข้าใจ เวลาประสานงานและใช้เครื่องมือจะลำบาก ดังนั้น ควรทำให้เด็กกับพี่เลี้ยงเดินลงชุมชนด้วยกันก่อน พอเขาพร้อมจะเดินลงชุมชนด้วยกันแล้ว ค่อยใส่เครื่องมือ เพื่อให้พี่เลี้ยงอินกับเครื่องมือแล้วนำไปใช้กับเด็ก จึงจะขยับต่อได้
กลุ่มที่เห็นชัดคือ เด็กไทยรัฐวิทยา ที่ทำเรื่องสมุนไพร ช่วงแรกผมปล่อยไปกับพี่เลี้ยงเลย อยากไปเก็บความรู้จากผู้รู้ เก็บไปเลย พอเก็บสัก 3-4 ครั้ง เริ่มเจอสมุนไพรซ้ำ ลงไปผู้รู้กี่คนก็พูดเรื่องเดียวกัน พอให้โด่งฝึกใส่ไทม์ไลน์ แล้วไปช้อน น้องจึงเห็นอะไรมากกว่าสมุนไพร รู้จักบ้านของตัวเอง เห็นคุณค่าคนในครอบครัว คือปู่ของเขา เห็นว่าการลงพื้นที่ของเขาทำให้ผู้สูงอายุยิ้มได้ เป็นเรื่องเล็กๆ ที่เด็กรู้จักใส่ใจ ทำให้เด็กคิดได้ว่าต่อไปต้องทำเรื่องนี้
เวลาน้องสะท้อนตัวเอง เรากระตุกอย่างไร
พี่อ้วน
ผมจะชี้ได้คือลงไปกับเด็ก แล้วเห็นพฤติกรรมและหยิบขึ้นมา บางอย่างน้องอาจมองไม่เห็น แต่สำคัญมาก เช่น เด็กวิทยาลัยเกษตรกาญจนบุรีที่ขับรถจักรยานยนต์จากสังขละบุรีมา 200 กิโลเมตร เพื่อมาผสมอาหารร่วมกับชาวบ้าน แล้วก็ขับรถกลับ เด็กมองไม่เห็นว่านี่คือสำนึกของเขา หน้าที่ของเราคือสะกิดว่าเขาอุตส่าห์มาขนาดนี้ เพื่อใคร ครอบครัวก็ไม่ใช่ ทำเพื่ออะไร คนในชุมชนก็เช่นกันที่นั่งรอเด็ก 2 ชั่วโมงครึ่ง เด็กมาเลทเพราะเขาขับรถมอเตอร์ไซค์ ชุมชนกลับไม่โกรธ แต่นั่งรอเด็ก เราก็ชี้ว่าเห็นไหมว่าชาวบ้านก็มีสำนึก เพราะเห็นเด็กมีสำนึก ชาวบ้านมีสำนึกกลับว่าเด็กทำเพื่อตัวเอง ผู้ใหญ่เข้าใจเด็ก เป็นมุมที่ต้องสังเกตพฤติกรรมแล้วหยิบขึ้นมาใช้ด้วย นอกจาก Wording
เวลากระตุกเด็กเรื่อง 200 กิโลเมตร เราสังเกตไหมว่าเด็กรู้สึกอย่างไรบ้าง
พี่อ้วน
เขายิ้มภูมิใจ คือทุกทีมจะมีเรื่องเล็กๆ แบบนี้ บางคนต้องตื่นมาทำงาน 6 โมงเช้า แต่ยังหาเวลามาคุยกันได้ เช่น ทีมปลายโพงพาง แค่การที่เขายอมแบ่งเวลาทำงานหารายได้ มาทำงานโครงการฯ ก็ถือว่าฟูลมากแล้ว
รู้ได้อย่างไรว่าตรงนี้ใช่ เป็นสำนึกพลเมือง
พี่อ้วน
ถามจากตัวเองก่อนว่าถ้าเป็นเราจะทำอะไรแล้วเกิดสำนึกขึ้น ครั้งแรกอาจยังไม่เห็น ดึงสำนึกไม่ได้ แต่ครั้งแรกไปดูข้อมูล ดูสถานการณ์ แล้วมาคิดว่าอะไรคือสำนึกในสถานการณ์ที่เด็กเจอ แล้วไปครั้งที่ 2 พอเห็นว่าใช่ก็หยิบขึ้นมาทันที
ที่ทำแบบนี้ได้มาตอนไหน
พี่อาร์ต
อย่างที่เคยไปลงพื้นที่กับทีมปัญญานุกูล ศิลปากร วันนั้นจูนมีแอ็คทีฟเต็มที่มาก แต่คิดว่าทำอยู่คนเดียว ทั้งที่เพื่อนในทีมก็อยากทำ ไม่ใช่ไม่อยากทำ เพียงแต่ทุกคนมีภารกิจต่างกัน เราก็พยายามให้กำลังใจว่าคุณไป 1-2 ครั้ง สิ่งที่คุณกำลังทำนั้นไม่เหมือนเดิม นี่คือสำนึกใหม่ที่คุณกำลังดึงตัวเองเข้ามาทำ พอน้องมีกำลังใจ เขาก็กลับมาดีกัน นั่งร้องไห้ด้วยกันเลย เราก็พยายามชูให้เห็นคุณค่าของสิ่งที่น้องทำ
พี่อ้วน
ผมเคยโดนคำถามจากอาว่า เห็นสำนึกจากเด็กไหม แล้วสำหรับตัวเอง คิดว่าอะไรคือสำนึก นี่เป็นคำถามที่ทำให้ฉุกคิดว่าเรายังไม่รู้เลยว่าอะไรคือสำนึก ตอนไปสงขลา เห็นเขาคุยเรื่องสำนึกกัน เห็นเด็กแสดงออก เราก็เริ่มกลับมาคิดกับตัวเองว่า เรามองเป้าโครงการมากกว่าสิ่งที่เด็กกำลังทำหรือเปล่า ผมคิดได้ช่วงหลังของปีที่ 1 พอมาปีที่ 2 คือโครงการสำคัญ แต่ต้องอยู่ข้างหลังสิ่งที่เด็กอยากทำ จึงทำให้เห็นอารมณ์ความรู้สึกของเด็กเยอะขึ้น
เวลาเห็นวิธีการช้อนของพี่อ้วน นัทกับโด่งเห็นตรงกันไหมกับสิ่งที่พี่อ้วนเล่า
โด่ง
เห็นบางครั้ง บางครั้งก็เป็นความรู้ใหม่ บางครั้งเห็นว่ามุมนี้รู้แล้วพี่อ้วนต้องช้อน พอเด็กพูดเรื่องนี้มา พี่อ้วนก็จะถามต่อทันที แต่บางมุมเราก็นั่งฟัง แล้วเก็บมาถามว่าทำไมพี่อ้วนถึงช้อน ก็เข้าใจว่าเป็นสำนึกในมุมที่พี่อ้วนคิด เหมือนเป็นความรู้ใหม่เวลาเด็กพูดอะไรขึ้นมา ผมก็เก็บไปใช้ได้ มันเป็นบางครั้ง เพราะผมมองว่าคำว่าสำนึก ยังรู้จักน้อยมาก
นัท
เรื่องที่เห็นส่วนใหญ่คือการที่น้องเสียสละเวลามา ส่วนเรื่องอื่นจะเห็นจากพี่และอาช้อน เราก็ได้รู้ว่าเรื่องพวกนี้ต่อไปต้องเอามาเก็บไว้ แล้วลองนำมาใช้มองน้อง
มีบางช่วงไหมที่พี่หรืออาช้อนแล้วตรงกับเรา แล้วเรารู้สึกว่าเริ่มได้แล้ว
โด่ง
เดี๋ยวนี้เริ่มมีบ่อย เพราะเวลามองสำนึก เด็กจะพูดออกมาหลายทีมเหมือนกัน แต่ยังติดตรงที่จะถามต่ออย่างไร เวลาเราถามตรงกับเขาถามก็ดีใจเหมือนกัน
นัท
รู้สึกดีใจ ถ้าแบบเราเห็นบ้าง แม้ยังไม่ได้หมด แต่วันนี้ได้รู้เพิ่มจากเดิมที่จับไม่ได้ ก็จับได้มากขึ้น
สำนึกพลเมืองที่เขาเห็น พอตอนนี้ลงพื้นที่ก็ค่อยๆ เริ่มมากขึ้น ถ้าย้อนกลับไปตอนที่เราชวนน้องทำโครงการ มีบ้างไหม
พี่อ้วน
ผมว่ามีเป็นรายทีม สิ่งสำคัญคือ แต่ละทีมที่เห็นจะมีแกนหลักว่าโครงการมา แล้วอยากทำ และไปหาเพื่อนมาร่วมทำ ซึ่งคนนี้จะเป็นคนที่สำนึกเกิดมาก เพราะเขามีความรับผิดชอบจะต้องทำให้ได้ แล้วยังต้องไปหาเพื่อน เป็นเรื่องเล็กๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มโครงการกับเด็กหลายทีม
จุดเริ่มต้นของโครงการปีแรกกับปีที่ 2 ต่างกันไหม เหมือนปีแรกเราไปพัฒนาโจทย์ในพื้นที่ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโจทย์กว่าจะมาทำเป็นโครงการ
พี่อาร์ต
ต่างตั้งแต่ค้นหาเด็กแล้ว ปีแรกหว่านหนังสือเชิญจึงมีที่ไม่ใช่เครือข่าย และเป็นเครือข่ายด้วย แต่เน้นเครือข่ายเป็นเปอร์เซ็นต์ที่มีน้ำหนักมากกว่า ส่วนปีนี้นำเด็กนักถักทอ ศิลปากร ซึ่งไม่ได้อยู่ฐานของเราเข้ามาทำ
เหตุผลของการต้องนำเด็กนักถักทอ ศิลปากร วิทยาลัยเกษตรมาเพื่ออะไร
พี่อาร์ต
ปีแรกเราได้เด็กคุณภาพจากโรงเรียนมา แต่ปีนี้คือเด็กที่ไม่รู้เลยว่าเป็นแบบไหน รู้แค่เด็กจากแม่กลอง วิทยาลัยเกษตร และสวนผึ้ง ซึ่งมาต่อยอดปี 2
สำหรับปีนี้ เด็กจากปีแรกได้ต่อยอดโครงการเดิม ส่วนเด็กนักถักทอก็คิดจะเชื่อมงบประมาณในปีที่ 3 ถ้า อบต. เห็นประโยชน์กับการพัฒนาเด็กในพื้นที่ของเขา ส่วนศิลปากรก็พัฒนาเด็กจากที่ทำ MOU ร่วมกัน ขยายไปสู่สถาบัน
ทำไมจึงคาดหวังกับ อบต.
พี่ธเนศ
การทำงานที่แม่กลอง โดยพื้นฐานเราไม่ค่อยได้ทำงานกับผู้นำท้องถิ่น อบต. ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน เรื่องที่เชื่อมงานนักถักทอมา มีฐานคิดตั้งแต่ชวนพี่ทรงพลมาแล้วว่าจริงๆ จุดสำคัญคือถ้าทำให้ท้องถิ่นเข้าใจกระบวนการพัฒนาเด็กและเยาวชน ซึ่งจะสามารถขยายผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้มาก
ดังนั้นจึงเป็นสเต็ปว่าเริ่มจากนำเจ้าหน้าที่ไปอบรม ผู้บริหารท้องถิ่นก็รับรู้ผ่านกลไกนักถักทอชุมชนก่อน ซึ่งหลักสูตรนักถักทอชุมชนไม่ได้มองแค่การพัฒนาเด็ก แต่มองว่ากลไกการพัฒนาเด็กที่ถูก ต้องพัฒนาที่ท้องถิ่น เพราะฉะนั้นนี่จึงเป็นจิ๊กซอว์เพื่อเบาแรงเรา เป็นการเชื่อมให้เกิด
พอมีต้นทุน เราก็มาต่อว่าการเข้าหลักสูตนักถักทอคือไปเรียนทฤษฎี แต่การลงมือทำจริงที่จะได้ลองวิชาคือโครงการของเรา ถ้าเราสามารถทำให้คนเหล่านี้เข้าใจได้ พวกเขาจะเป็นเชื้อที่แพร่ออกไป
เดิมเราโฟกัสที่ อบจ. แต่ยังไม่เต็มรูปแบบ ซึ่งการเล่นเต็มรูปแบบนั้นเข้าไปคุยกับนายกฯ คนเดียวไม่ได้ ต้องไปคุยระบบกลไกของเขา แต่ต้นทุนของเราที่ อบจ. ยังไม่พร้อม ยังไม่มีรูปธรรมที่ท้องถิ่นสนับสนุนเงิน เราจึงตั้งใจว่าเมื่อไรที่ทำกับอบต. 4-5 แห่งนี้แล้ว คงต้องมีโจทย์ต่อว่า เมื่อเจ้าหน้าจะนำไปบรรจุในแผน ทีนี้จะมาทั้งกิจกรรมและเงิน และนำไปสู่ผลที่เกิดขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ซึ่งต้องเปลี่ยนจากเจ้าหน้าที่ก่อน ก็ถูกเปลี่ยนมาจากพี่ทรงพลแล้ว แต่ไม่พอ ให้ลงมือทำแล้วอิน ถึงจะไปเปลี่ยนแปลงได้จริง
เราหวังว่าปีหน้า อบต. ก็อาจเข้ามาหนุนงบประมาณกับเรา โดยขอแค่ฝากเด็กมาเข้าร่วมกระบวนการกับโครงการ เหมือนศิลปากร ที่เราขายศิลปากร เพราะอยากให้กระบวนการแบบนี้เข้าไปเปลี่ยนมหาวิทยาลัย ซึ่งเรารู้สึกว่า ระบบมหาวิทยาลัยตอนนี้ล้มเหลว สอนเด็กออกมาแล้วไม่ได้มีคุณภาพ พามาเรียนรู้ชุมชนก็เรียนรู้แบบผิวเผิน ไม่ได้อะไรขึ้นมา ซึ่งเสียเวลาและมาทำให้ชาวบ้านรู้สึกไม่ดีด้วย
เนื่องจากเราเห็นว่าคณบดีเป็นรุ่นน้องพี่เรา เขาก็รู้จักเราส่วนหนึ่ง และอาจารย์ของเขาก็สนใจเรื่องแบบนี้ แล้วตอนนั้นน้องในทีมก็จบมาจากศิลปากร 3 คน มีรูปธรรม 1 โครงการ พอดีเขาพานักศึกษาปริญญาเอกลงมาแพรกหนามแดง เราจึงใช้โอกาสนี้ในการพูดคุย ชวนมาทำด้วยกัน แต่เป้าลึกๆ คือต้องการเปลี่ยนอาจารย์ ไม่ใช่แค่นักศึกษา ปีที่แล้วมีอาจารย์อ๋อประสบความสำเร็จ ก็เล็งไว้ว่าจะเป็นเชื้อไปแพร่ในมหาวิทยาลัย
ปรากฏว่าไม่ใช่ เพราะการเมืองในมหาวิทยาลัยแรงมาก ถ้าถามเราคิดว่ามหาวิทยาลัยล้มเหลว แล้วก็จะล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงไปเรื่อยๆ เพราะเท่าที่อยู่ลาดกระบังมา ทำงานมากับทุกฝ่าย การเมืองยังไม่แรงขนาดนี้ แต่พอเข้าไปในศิลปากรพูดกับคนนี้ก็ไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าคนนี้ฝ่ายไหน ยิ่งตอนนี้คณบดีใกล้หมดวาระ เจ้าหน้าที่เกียร์ว่างหมดเลย ไม่ยอมทำ ถ้าคณบดียังอยู่ในตำแหน่งเต็มๆ คงไล่บี้ การทำงานกับมหาวิทยาลัยไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด ต้องอาศัยความสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ด้วย
อย่างที่เคยทำงานกับวิทยาลัยเกษตร อะไรก็ไม่ได้ ทุกอย่างอยู่ในระเบียบ แต่พอสนิทเท่านั้นล่ะ อะไรก็ได้ ที่เราบอกพวกนี้คืออะไรก็ไม่เท่าความสัมพันธ์ พอรู้แล้วต้องตั้งกลับมาหลักใหม่กับศิลปากร โดยการสร้างรูปธรรมให้มากพอ แล้วค่อยกลับไปใหม่ เพราะใน MOU เขียนไว้ว่าผูกพัน 3-5 ปี เราต้องดูว่าเปลี่ยนคณบดีใหม่จะผูกพันจริงหรือเปล่า แต่เราก็เหนื่อย อาจารย์มหาวิทยาลัยน่าสงสาร เครียดมาก
อีกอย่างคืออาจารย์เขาคิดว่าเงิน 2 หมื่นที่โครงการฯ ให้ไม่น่าทำอะไรได้ เราเดินไปคุยกับอาจารย์ทุกคนว่าห้ามให้เงินเด็ก ห้ามเอื้ออำนวย
กลุ่มที่เหลือคัดอย่างไร
พี่อ้วน
เป็นกลุ่มที่ต่อยอดจากปีที่แล้วคือ เราเห็นบทเรียน จากปีแรกว่าน้องกำลังเห็นสำนึกอะไรบางอย่าง เช่น ชิพมั้ง ท่าคา เห็นจากตอนที่จัดงานมหกรรม เด็กที่ไม่คิดว่าจะช่วยกลับเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงให้งานเดินต่อได้ แล้วพอน้องบอกว่าขอสมัครปี 2 เราจึงพร้อมที่จะรับ เพราะสำนึกเริ่มเกิด เราไปหยุดเขาไม่ได้ เห็นว่าน้องอยากจะเปลี่ยน ถ้าเราไม่ให้โอกาสถือว่าแย่มาก
จริงๆ เห็นตั้งแต่เป้าหมายปี 1 คือเราอยากได้กลุ่มเด็กที่ขาดโอกาส เด็กหลังห้อง พ่อแม่แตกแยก ไม่มีเวลาให้ อยากให้โอกาสเด็กที่ไม่เคยได้รับโอกาสแบบนี้มาทำ พอเห็นเด็กปี 1 เติบโต อย่างเห็นชัดมาก เช่นวิชาแพะ จากเด็กหลังห้องกลายเป็นเด็กที่เป็นที่อาจารย์ต้องการนำไปใช้งาน แล้วเด็กภาคภูมิใจจากที่ไม่เคยทำแล้วได้ทำ หรือเด็กชิพมั้งที่ปี 1 ไม่เอาอะไรเลย แต่พอมาทำกระบวนการ เด็กรู้สึกตัวว่าสิ่งที่เคยทำมามันผิด เขาคุยกับเราว่าจะไม่กลับไปทำแบบนั้นอีกแล้ว พอเราเห็นแบบนี้ก็รู้สึกว่าต้องให้โอกาส เพราะเขาเป็นพลังของบ้านเกิดเขาได้เยอะ
พี่อาร์ต
ส่วนใหญ่เด็กพวกนี้ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องราวในบ้านตัวเอง มักเจอแต่ปัญหา ปัญหาในครอบครัว ปัญหาที่โรงเรียน ปัญหาเพื่อน แล้วจะเครียดอยู่แต่กับพวกนี้ พอได้มาทำกิจกรรมก็สนุกและได้ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน เขาจึงติด
เวลาเรารับเด็กพวกนี้เข้ามา เรากังวลไหมว่าเขาจะไปพาเพื่อนเสีย
พี่อาร์ต
มีบางที
พี่อ้วน
ส่วนตัวผมไม่กังวล เพราะรู้สึกว่าเด็กถ้ามีสภาพแวดล้อมที่ดีและมีโอกาสที่เอื้อให้เขาได้ทำอะไรบางอย่าง แม้จะมีมุมที่อาจหลุดบ้าง แต่อย่างน้อยก็เติมภูมิคุ้มกันให้เขารู้ว่าพอจะทำแบบนี้ ทำไม่ได้แล้ว ผมว่านี่สำคัญมาก
พี่ธเนศ
สิ่งที่ผมเห็นมากและคิดว่าเป็นประโยชน์คือ เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมา กลุ่มเยาวชนรักแม่กลองได้ขาดหายไปตั้งแต่รุ่นอาร์ต โดยปกติถ้าเราสร้างเด็กกลุ่มเยาวชนรักแม่กลองมา เราจะมีคนเข้ามาในนี้ แต่มันไม่มี ตอนพี่เปากับโจ้มาชวนทำโครงการ Active Citizen ผมไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่าเรื่องที่จะสร้างเยาวชนรุ่นต่อไป เพราะผมก็ถูกสร้างมาแบบนั้น ถึงช่วงหนึ่งเราก็สร้างรุ่นอาร์ตมาช่วยงานได้ แล้วเราคิดว่าเหลืออีกสัก 10 ปี ต้องหยุดทำงานแล้ว จึงควรมีคนสานต่อ ตอนแรกตั้งใจว่ารุ่นอาร์ตจะเข้ามาสานต่อ แต่ตอนนี้คือเป็นศูนย์ ถ้าอาร์ตออกไปทำร้านอาหารอีก จึงไม่อยากคาดหวังแล้ว สร้างไปเรื่อยๆ คงเห็นผล อย่างนัทจากทีมท่าคา ที่ตอนนี้จุดติด ก็ทำให้เห็นว่ากระบวนการสามารถเปลี่ยนคนได้ แต่ต้องติดตามต่อเนื่องใกล้ชิด ดูไปเรื่อยๆ
นอกจากกระบวนการทำงานที่เราโคชเด็กไปตามกรอบแล้ว มีอะไรที่เราคิดว่าดึงเด็กพวกนี้ไว้ได้ ร้อยเด็กพวกนี้ไว้ได้
พี่ธเนศ
เด็กกลัวผมเยอะ เพราะผมดุ แต่ถ้าเข้าถึงผมจะรู้ว่าไม่ใช่คนดุ น้องเยาวชนที่ตอนหลังเข้าถึงจะรู้ แต่ก็มีรัศมีที่คงไว้เพื่อจัดการอะไรบ้าง ทั้งทำงานกับเด็กหรือผู้ใหญ่ เพราะเราต้องจัดการบางอย่างให้เป็นระบบ เมื่อเขาได้ระบบก็จะติดตัวเขาไป บางช่วงเป็นมารร้าย บางช่วงเฮฮาเหมือนครูที่มีทั้งดุ ทั้งใจดี ถ้าครูใจดีเกินเด็กก็เล่นหัว
กว่าจะได้โจทย์ทำอย่างไร
พี่อาร์ต
มีแบบฟอร์มให้น้องกรอกกับประเด็นที่น้องสนใจว่าอยากทำอะไร
พี่อ้วน
โจทย์ชัดคือหลังจากที่เราเริ่มนับ 1 แล้ว ปี 1 มาแบบชัดมาก แต่ปีนี้มาแต่ตัว ไม่ชัดเจน
เป้าหมายเวทีนับ 1 คืออะไร
พี่อ้วน
เป้าหมายแรกให้เด็กรู้จักโครงการ และได้ทบทวนตัวเองว่าบ้านของเขามีอะไร เติมเรื่องระบบนิเวศน์ภาคตะวันตก อยากให้เด็กเห็นความเชื่อมโยง ในปี 1 การแยกกลุ่มทำให้ลงลึกได้มาก ส่วนปีนี้นำเด็กมารวมกลุ่มกัน มีปัญหาเรื่องพี่เลี้ยงที่บางคนไปไม่ถึงเป้าหมาย จุดเด่นของปี 1 คือมีการตั้งคำถามตั้งแต่กลุ่มย่อย มีประเด็น เด็กค่อยเรียนรู้ แต่ขาดการเชื่อม พอปี 2 นำเรื่องการเชื่อมมาก่อน แต่ขาดการมองประเด็น
พี่ธเนศ
นำเครื่องมือของสงขลามาใช้ เพื่อให้เด็กมีข้อมูลพื้นที่ รู้จักพื้นที่ รู้จักผู้รู้ในชุมชน เพราะปีนี้มีเด็กนอกพื้นที่เยอะ เขาไม่รู้จักชุมชน และบริบทที่เขาจะทำงานเลย นี่จึงเป็นโจทย์ยากของเรา เตอนนี้จึงต้องทำให้น้องอินกับพื้นที่ ไปสานสัมพันธ์ เพื่อเดินโครงการให้ได้
พี่อาร์ต
เวทีนับ 1 อยากให้รู้บริบทชุมชน การทำงานเป็นทีม แนวคิดเรื่องพลเมือง
พี่ธเนศ
ในทุกเวทีที่สิ่งที่เราต้องสร้างให้น้องคือ ทักษะการฟัง พูด คิด และความกล้าแสดงออก
ทำไมต้องบอกเรื่องสำนึกพลเมืองตั้งแต่แรก
พี่อ้วน
เบื้องต้นเราอยากให้เด็กรับรู้ แต่ยังไม่ต้องถึงขั้นเข้าใจ เวทีนับ 1 ปีนี้มีข้อดีที่พี่ดูแลน้อง แต่ระดับการใช้คำกับการคุยกับน้องในภาพรวมต้องปรับใหม่ทั้งหมด ปีนี้เอกสารครบ ส่วนคนไม่นิ่งต่างจากปีหนึ่งที่คนนิ่ง เอกสารไม่ครบ
ทำอะไรกับพี่เลี้ยงชุมชน
พี่อ้วน
อาชวนคุยแต่แรก โดยเฉพาะนักถักทอ
พี่ธเนศ
ใช้วิธีพูดคุยโดยการชวนไปกินข้าว แล้วคุยกัน
พี่อ้วน
ตอนที่เราทำ Project Management ในเวทีนับ 2 เราต้องทำให้เด็กเห็นสำนึกซึ่งยากมากที่จะใช้พี่เลี้ยง 1 คนต่อ 2 กลุ่ม จึงเดินไปไม่ถึงเป้าหมาย
พี่ธเนศ
พี่เลี้ยงแต่ละคนมีพื้นฐานต่างกัน และเขามองว่าให้ได้ Proposal ก่อน ค่อยมาว่ากันถึงสำนึก แต่เราอยากให้เขาเกิดสำนึกอยากทำก่อนแล้วค่อยเอา Proposal
พี่อาร์ต
พี่เลี้ยงปีนี้ต่างกับปีแรก จะมาจู้จี้จุกจิกมากกว่า ถึงเขารู้บทบาทหน้าที่ แต่ว่ากลัวเสียหน้า เสียงาน
พี่ธเนศ
การมีกระบวนการใกล้ชิด และลงย่อยมากขึ้นทำให้เราเหนื่อยมากขึ้น
ทำไมต้องซ่อม
พี่ธเนศ
ความเป็นเจ้าของโครงการว่าอยากทำยังไม่ออก ปีที่แล้วพอเราอนุมัติ น้องเดินเองได้ทันที แต่ปีนี้เรากังวลตลอดเวลา กลัวคุณภาพจะตก ความรับรู้ของเด็กว่าฉันเป็นเจ้าของ ต้องลุกขึ้นมาทำ ดูแล้วไม่ใช่ จึงมองว่าใช้กระบวนการติดตามแบบปีที่แล้วไม่ได้ ตอนนี้จึงพาทำ ไปจุดระเบิด แล้วให้ลุกต่อ
พี่อ้วน
มันเป็น Project Management ปีนี้คือการทำเพื่อให้เขียน Proposal ได้ แต่เขายังไม่ได้สำนึก
พี่ธเนศ
ปีนี้พี่เลี้ยงน้อย พี่เลี้ยงไม่เข้าใจ และพี่เลี้ยงคิดว่าแค่นี้พอแล้ว ทั้งที่ทุกเวทีทุกเวิร์คช็อปคือการก่ออิฐไปเรื่อยๆ ถ้าฐานไม่ดี พอต่อไปก็ออกมาไม่ดี เราจึงต้องกลับมานั่งคิดและซ่อมสร้าง ถ้ามองคุณภาพตอนนี้ก็พอเกลี่ยกลับไปจุดเดิมได้แล้ว มองจากที่เราจับอาการได้
พี่อ้วน
เริ่มมีคำออกมาว่า ถ้าหนูไม่ทำแล้วใครจะทำ รู้สึกดีที่ได้ทำงานกับชุมชนบ้านของหนู
ผลสำเร็จของแผนที่ชุมชนที่เป็นการบ้านในเวทีนับ 1
พี่อ้วน
ถือว่าเดินไปถึงเป้าหมายคือแค่ให้น้องรู้จักชุมชน เพราะการทำแผนที่ยังไม่ได้วางเป้าประสงค์ที่การสัมผัสใจ เพราะการสัมผัสใจจะอยู่ขั้นตอนการทำไทม์ไลน์
ประเด็นที่ 3 :
เส้นทางชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานของทีมโคชแต่ละคน
ตอนที่เราคิดจะทำเด็ก 3 กลุ่ม การพัฒนาโจทย์หรือโคชเด็กทำอย่างไร
พี่อ้วน
ตอนแรกคุยกันก่อน และจัดด้วยความเข้าใจเบื้องต้น เด็กนักถักทอยังเป็นเด็กอยู่ทำเรื่องไม่ยากนัก ให้น้องใหม่ไปลองฝึก จะเห็นว่าตอนแรกประเด็นนี้อยู่ที่น้องใหม่ ประเด็นศิลปากรคาดหวังว่าน่าจะมีอะไร อาลงเอง ส่วนทีมมัธยมที่มาต้องต่อยอด อ้วนกับอาร์ตลง
พี่อาร์ต
แต่พอติดขัดก็กลับมานั่งคุยกันใหม่ อย่างต๋องประสานงานไม่โอเค น้องใหม่ยังไม่รู้เรื่องกระบวนการเท่าไร
พี่ธเนศ
โจทย์ของนัทกับโด่งมีโจทย์แฝง ต้องการให้โด่งรู้จักแม่กลองมากขึ้น ส่วนนัทก็อยากให้รู้จักแม่กลองมากขึ้น เราไม่ได้คาดหวังให้เขาอยู่กับเรา แต่เขาต้องเติบโต และกลับไปเป็นฐานในการทำงานที่พื้นที่ โดยฐานคิดต้องวางว่าเขาต้องกลับไปอยู่บ้าน
พี่อาร์ต
อย่างนัทจะพูดตลอดว่าอยากให้มีแบบนี้ที่ราชบุรีบ้าง
นัท
ผมเห็นเวลามีเวทีประชุมอย่างเพื่อนวันพฤหัส จะเห็นผู้ใหญ่ที่แม่กลองมารวมตัวกัน พอไปนั่งฟังทำให้อยากมีบ้างที่บ้าน รู้สึกว่าคนมารวมตัวกันเพื่อช่วยดูแลบ้าน เพราะทุกวันนี้คือต่างคนต่างอยู่
มีอะไรอยู่เบื้องหลังความคิดของนัทที่อยากให้ที่ราชบุรีมีกิจกรรมเหมือนที่แม่กลอง
นัท
เมื่อก่อนผมย้ายตามพ่อไปหลายที่ พอมาอยู่ที่นี่แล้วสร้างบ้านก็รู้สึกว่าเราอยู่ที่นี่แล้ว จึงอยากทำอะไรสักอย่าง อยากให้มีเครือข่ายช่วยกันดูแลบ้านเมือง ทุกวันนี้พอไปหลายที่ก็เห็นปัญหาที่เกิดจากการไม่คุยกัน และผมเพิ่งย้ายมาอยู่ใหม่ยังไม่รู้จักข้างบ้าน จึงอยากรู้จักคนเยอะๆ ช่วยกันดูแลบ้าน
พี่ธเนศ
เหมือนโด่งที่อยู่แม่กลอง หน้าบ้านอยู่ติดแม่น้ำแม่กลอง ลองสะท้อนหน่อยว่าที่ผ่านมาเรารู้จักแม่น้ำแม่กลองแค่ไหน
วันนี้ความรู้สึกที่มีกับแม่น้ำเปลี่ยนไปไหม
โด่ง
เมื่อก่อนรู้จักแค่ว่าชื่อแม่น้ำแม่กลอง ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแม่น้ำแม่กลองทำไมไปอยู่ราชบุรี ไม่รู้มันไหลมาจากไหน รู้แค่ผ่านหน้าบ้านผมแล้วลงทะเล
ตอนนี้เริ่มหวงระดับหนึ่ง เมื่ออาทิตย์ที่แล้วมีผักตบชวาลอยมาเยอะมาก ผมก็ตั้งคำถามว่าทำไมเยอะขนาดนี้ ถ้าไปอุดที่อื่นจะเป็นอะไรไหม แล้วใครจะมาแก้ไข ถ้าไปอุดใต้บ้านเรา น้ำจะเน่าไหม จะไหลลงทะเลไหมเริ่มกังวลกับปัญหาที่เกิดขึ้น ถ้าเมื่อก่อนมันไหลมาก็เรื่องของมัน ไม่ทำให้ผมลำบากก็พอแล้ว
ตอนที่สมัครเข้ามา แล้วเห็นความคิดเชื่อมโยงขนาดนี้มีไหม
โด่ง
เริ่มเห็นผลกระทบด้วยตัวเองว่าจากที่ไม่เข้าใจทำไมนำเค็ม น้ำกร่อย นึกว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่จริงๆ แล้วมีอะไรมากกว่านั้น ข้างบนมีปัญหา เขาถึงปล่อยน้ำมาไม่ได้ ต้องผันไปที่อื่น ทำให้บ้านเราต้องรับสภาพ มันไม่ใช่แค่เรื่องธรรมชาติ แต่เกิดจากคน จากเดิมมันไม่คิดอะไรก็ปล่อยไป ถ้ากินไม่ได้ก็ไม่ต้องกิน อาบไม่ได้ก็ไม่ต้องอาบ แต่เดี๋ยวนี้มันก็หน้าบ้านเรา เริ่มหวงแหน โมโห
แล้วข้อมูลปัญหาพวกนี้มาจากไหน
โด่ง
มาจากงานหลายๆ งาน งาน CBR งานเด็ก และจากที่อาเชื่อมโยงให้ฟัง สถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลง เราไปหลายๆ ที่ก็เห็นว่าจริง โลกขยับนิดหนึ่ง อากาศร้อนขึ้น น้ำแห้งแล้ง ปัญหาสภาพน้ำ คนถมที่ส่งผลหมด
เคยย้อนกลับไปถามตัวเองไหมว่าทำไมเมื่อก่อนถึงไม่เรียนรู้
โด่ง
เมื่อก่อนถ้ามีคนมาถามเรื่องนี้ ผมคงพูดว่ารู้ไปแล้วได้อะไรขึ้นมา ทำให้ได้ตังค์ไหม แต่ตอนนี้ไม่ใช่ พอเราเห็นคนอื่นเดือดร้อน เรามองเป็นความเดือดร้อนของเราด้วย เกิดความใส่ใจขึ้นมา
นัท
พอไปแล้วเจอปัญหาก็เริ่มคิดว่า หากเราไปอยู่ตรงนั้นจะเป็นอย่างไร ถ้าเราไปเห็นปัญหาต้องเรียนรู้กับเขา เขาต้องการคนช่วย เราก็ทำเต็มที่เท่าที่ทำได้
ส่วนเรื่องที่บ้าน ถ้ามีก็รู้สึกว่ามันอบอุ่นดี อยากให้เด็กรุ่นใหม่ขึ้นมาช่วยกันด้วย เพราะตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไว คนรุ่นใหม่ไม่ทำแล้วใครจะทำ อีกอย่างผมไม่ใช่คนที่นี่ รู้จักที่นี่น้อย จึงอยากทำความรู้จักกับชุมชน
ต้นแบบที่อยากเป็น
โด่ง
ลุงเกียว นี่คือจุดสุดยอด เขาเชื่อมโยงเก่งแล้วเล่าสนุกสนาน ทุกคนสนใจฟัง ผมฟังแล้วสนุกมาก และมีสาระ
นัท
ถ้าด้านกระบวนการประทับใจอาธเนศที่สามารถหยิบสิ่งที่เห็นมาเชื่อมโยงได้ทันที เห็นแล้วก็ว่าไม่ยาก แต่พอทำเองแล้วไม่ได้ อย่างพี่อ้วนคือเรื่องการพูดเสียงดัง ดึงน้องได้ อย่างพี่อาร์ตคือการเป็นคนนิ่งแล้วเด็กฟัง
ตั้งเป้าหมายในชีวิตไว้ว่าอยากเป็นอะไร
โด่ง
อยากเป็นเกษตรกร เพราะการทำงานนี้ทำให้เห็นว่าการเป็นเกษตรกรไม่ได้จนอย่างที่คิด พอดีกับที่ไปบ้านแฟน ได้คุยแลกเปลี่ยนพบว่าการปลูกนั้นสนุกสนาน ครอบครัวที่เป็นเกษตรกรอยู่ด้วยกันอบอุ่นดี ได้กินข้าวด้วยกันทุกมื้อ ไม่เหมือนคนทำงานอื่นที่ไปทำงานกลับมา 3-4 ทุ่ม ไม่ได้เจอพ่อแม่
เหมือนไม่ได้คาดหวังเรื่องรายได้ ขอให้มีความสุข
โด่ง
ให้มีพอกิน
นัท
ส่วนหนึ่งทำที่นี่ อีกส่วนคืออยากช่วยที่บ้าน เพราะแม่ทำสวนอยู่ที่บ้าน แต่ไม่ได้คิดว่าจะทำเยอะ อยากทำเท่าที่มี
เราไม่ได้ต้องการไปทำงานในระบบใหญ่ใช่ไหม
โด่ง
ไม่เคยคิดแบบนั้น เห็นคนรอบตัวไปโรงงานบ้าง ข้าราชการบ้าง ทำงานที่อื่น ปีหนึ่งเราจะเห็นแม่เห็นยายได้กี่ครั้ง ถ้าเราทำงานที่นี่เราได้อยู่กับเขา
อะไรที่ทำให้เราทวนกระแสแบบนี้
โด่ง
การได้กลับบ้านมาเจอแม่ ไม่อยากไปอยู่กรุงเทพฯ ไม่อยากไปอยู่ต่างเมือง ระยะทางเท่ากัน ไปกรุงเทพฯ ใช้เวลา 2 ชั่วโมง อยู่นี่ใช้เวลา 10 นาที ตื่นเช้ามาฟังเสียงไก่ดีกว่าฟังเสียงคนตะโกน อยู่บ้านดีกว่าสนุกกว่า เจอคนมากกว่า
พี่อ้วน
อยากอยู่บ้านไม่ได้อยากไปไหน อยากทำงานเพื่อสังคม และดูแลที่บ้านเยอะขึ้น เพราะการทำงานกับชุมชนตรงกับเป้าหมายที่วางไว้มาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย
จุดไหนที่ทำให้ปักหมุดว่าจะทำงานด้านนี้
พี่อ้วน
เราเป็นลูกชาวนา เห็นชาวนาถูกเอาเปรียบมาตลอด จึงรู้สึกว่าถ้าเราเป็นข้าราชการหรือทำงานกับชาวบ้านต้องไม่เป็นแบบนี้ คิดกับตัวเองมาตลอด เดินเส้นทางนี้มาตลอด ไม่เคยเบนสาย คงไม่ได้ไปทำงานโรงงานกับเขาแน่
แล้วเรามีเป้าหมายว่าจะไปสร้างฐานที่บ้านเกิดไหม
พี่อ้วน
คงไม่ถึงขนาดเป็นศูนย์ ตอนนี้มีพื้นที่เป็นเครือข่ายบ้าง แต่คงมีเวลาได้ดูแลที่บ้านมากขึ้น เพราะพ่อก็ไม่ไหว แม่ก็ใกล้ไม่ไหว เริ่มรู้สึกว่าจำเป็นแล้ว ตอนนี้ได้แค่กระบวนการ ไม่รู้เลยว่าวิธีการลงมือทำจริงๆ อย่างไร แต่อนาคตก็วางไว้ว่าจะทำงานเพื่อสังคมและดูแลพ่อแม่ที่บ้านควบคู่กัน
จากที่เคยไม่ชอบเด็ก ตอนนี้รู้สึกอย่างไร
พี่อ้วน
ตอนนี้รู้สึกสนุก การทำงานกับเด็กทำให้เราโตไปพร้อมกับเขา ในขณะที่เราพยายามจะทำกระบวนการเพื่อให้เด็กเติบโต ตัวเราก็เติบโตไปกับเด็ก แล้วทำให้รู้สึกว่าเราชัดขึ้นเวลาทำงานกับผู้ใหญ่ จากที่ผ่านมาเคยคิดว่าเข้าใจผู้ใหญ่ เพราะเราอ่าน เราเรียน เรารู้จากหนังสือ แต่เราไม่เคยเห็นเบื้องหลัง ไม่เคยรู้วิธีการที่เป็นจุดเริ่มต้น พอมาทำงานกับเด็ก มันได้ไปเริ่มตั้งแต่จุดเริ่มต้นจริงๆ ตั้งแต่เป้าอย่างไร พอกลับมาทำงานกับผู้ใหญ่ เราละเมียดมากขึ้น เพราะก่อนจะมาทำงานกับเด็ก ผมเป็นคนใจร้อนมากพอมาทำงานเด็กต้องมองความเป็นเด็กกับมองความเป็นเราให้ได้ เวลาไปทำงานกับเด็กก็ใช้วิธีการที่ทำงานกับเด็ก ไปทำกับผู้ใหญ่ด้วย รู้สึกว่ามีความสุขกับตัวเองมากขึ้น
ตอนแรกฝืนตัวเองไหม
พี่อ้วน
ฝืน เพราะไม่ชอบการจู้จี้ ไม่ชอบคำถามอะไรเยอะแยะ แต่พอเริ่มตั้งหลักได้ พบว่าเราเองก็เป็นคนแบบนั้น เราจู้จี้ทั้งที่ไม่ชอบอะไรแบบนั้น แต่เป็นเอง เพราะฉะนั้นต้องปรับเยอะ บางทีท้อก็กับทั้งทีม ทั้งเด็ก ต้องตั้งคำถามตลอดว่าเราถูกคอมเมนต์แบบนี้ แล้วยังจะปล่อยตัวเองไปได้หรือ ช่วงที่ผ่านมาก็หลุดไป มันมีภาวะบางอย่างเข้ามาแทรก ทำให้คุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ ไม่ใช่ว่าปรับแล้วปรับได้ตลอด เป็นแค่กำลังพยายามปรับ ถ้ามีสิ่งเร้าเข้ามาก็พร้อมที่จะหลุดตลอด อึดอัดเหมือนกัน
จุดที่ทำให้รู้สึกว่าทำงานเข้ากับเด็กได้ เกิดขึ้นตอนไหน
พี่อ้วน
เริ่มปรับตอนอบรมเสม ก้าวออกจากตัวเอง จุดที่คลิกกับตัวเองคือหลังกลับจากสงขลา หลังจากพี่ๆ คุยกันว่า เอ็งต้องไปเรียนรู้เรื่องความเป็นพลเมือง พอกลับมาเราเริ่มเห็นมุมที่ใช่ จึงปรับตัวเอง
หนักไปทางไหนระหว่างฝืนแล้วอยากเฟดออกกับฝืนแล้วอยากทำ
พี่อ้วน
ฝืนแบบท้าทายตัวเอง เพราะบุคลิกของเราคือชอบเอาชนะ รู้สึกว่าทำไมจะทำไม่ได้ในเมื่อคนอื่นทำได้ ทำให้ตัวเองเป็นที่ต้องลองอยู่ตลอดเวลา
จุดเปลี่ยนในงานเด็กของเราคือ ทำงานอยู่ แล้วอาเรียกมาบอกว่าสีหน้าเปลี่ยน กำลังคิดจะเอาให้ได้แต่ใจตัวเอง ทำอย่างนี้ไม่ได้
พี่อาร์ต
เป้าหมายในชีวิต อยากทำแบบอา แต่จะไม่ทำงานด้านเดียวต้องมีความหลากหลาย เช่น เลี้ยงปลา ไม่ทิ้งงานราษฎร์งานหลวง ต้องจัดการตัวเอง ตอนแรกจบมาตั้งใจเข้าบริษัทกราฟิก ตั้งแต่ ม.ปลายทำงานกับเด็กเยาวชน เคยคุยกับพี่รหัสว่าเรียนกราฟิกทำไรได้บ้าง พี่บอกเป็นตำรวจสเก็ตช์ภาพก็ได้ ก็เลยมาคิดได้หลายอย่าง การทำร้านอาหารพอมาทำงานนี้เห็นความเชื่อมโยงของระบบ กินอย่างไรให้อิ่มท้องอิ่มสมองต้องปรับเปลี่ยนไปตามยุค ต้องเติมคือการทำงานโดยพยายามจัดการตัวเองด้วย
นัท
เราทำแล้วได้รู้เยอะ อยู่บ้าน ไม่จำเป็นต้องมีเงินเดือนเยอะก็ได้
พี่อาร์ต
เรามีเงินเดือนแค่นี้ แต่ได้รู้จักบ้านตัวเอง สิ่งที่ได้มันมากกว่าเงินเดือน
พี่อ้วน
ทำงานแบบนี้ธนาคารชุมชนมีเยอะ อยากกินข้าวบ้านไหนก็ไป เราไม่อดตาย เงินไม่ได้สำคัญเท่าความสัมพันธ์
โด่ง
เราเน้นว่าเหลือเท่าไร ทุกวันนี้เหลือเดือนละ 2,000 บาท ทุกเดือน แต่เราอยู่ได้จนถึงสิ้นเดือน
พี่ธเนศ
เราไม่ได้ดูแค่ว่าได้เรื่องอุดมการณ์ แต่ต้องดูต้นทุนด้วยว่า เราไม่มีค่าเช่าบ้าน ค่าเดินทาง ไม่ได้เสีย ไม่มีต้นทุน ต้องคุยอย่างมีศักดิ์ศรีกับเพื่อน ว่าเราไม่มีต้นทุน แล้วค่อยคุยต่อว่าได้อุดมการณ์อะไร
ฟอร์มทีมอย่างไร คัดเลือกคนอย่างไร
พี่ธเนศ
เราถามว่าอยากกลับมาอยู่บ้านไหม และอยากทำอะไรที่บ้านไหม ส่วนคุณสมบัติจะรับแค่จบ ม.6 พอ ยกเว้นอาร์ตที่เกลี้ยกล่อมเข้ามาทำ ส่วนนัทเข้ามาสมัครเอง
หลักๆ คือถามว่าอยากกลับบ้านไหม เพราะตอนแรกเคยคัดเยอะแล้วพบว่าไม่ช่วยอะไร จึงถามแค่เรื่องกลับบ้าน ส่วนเรื่องอื่นคิดว่าสามารถฝึกกันได้ นอกนั้นก็ดูท่าทีว่าพร้อมจะเรียนรู้ไหม เล่างานให้ฟัง แล้วกลับไปคิดว่าพร้อมจะทำไหม
คิดอย่างไรถึงมาสมัคร
นัท
ตอนนั้นเพิ่งจบใหม่ แล้วอยากกลับบ้าน เพราะไม่ค่อยได้อยู่กับพ่อแม่ จึงอยากกลับมาทำงานที่บ้าน ลองหาในเว็บไซต์ก็เจอที่นี่
การทำงานที่นี่เหมือนเรียนใหม่หมดเลย สิ่งที่ทำให้ลังเลในการจะทำงานนี้คือ พ่อแม่อยากให้รับราชการ แต่ทางบ้านให้ลอง จึงลองมาทำ พอลองแล้วก็เห็นหลายอย่าง ตอนแรกที่มาทำยังจับทางงานไม่ถูกเท่าไร พอได้ไปหลายที่จึงค่อยๆ เข้าใจ
เมื่อก่อนเคยคิดว่าอยากสอบเป็นนักวิชาการเกษตร แต่พอเริ่มมาทำก็วางงานราชการไว้ก่อน ส่วนความรู้ที่เรียนมาได้ใช้เวลาไปคุยกับชาวบ้านเรื่องงานเกษตร เพราะพอมีพื้นฐานบ้าง
พี่ธเนศ
ความเข้าใจเดิมของเรา คือคิดว่าเด็กเรียนเกษตรน่าจะคุยเรื่องชาวบ้านได้เยอะ แต่พอได้คุยกลับไม่รู้เรื่องชาวบ้านเท่าไร การที่เด็กลงชุมชนคือต้องนอบน้อมเข้าไปก่อน แล้วค่อยเรียนรู้กับเขา เราเคยบอกกับน้องว่าคนที่เรียกว่าชาวบ้าน จริงๆ เราก็เป็นชาวบ้านเหมือนกัน แค่มีโอกาสได้เรียนมากกว่าเขา
พี่อ้วน
สาขาที่เรียนกับชุมชน ไม่ใช่ว่าจะทำงานกับชุมชนได้ดี เพราะเวลาลงชุมชนตอนเรียนนั้นไม่ใช่ของจริง เมื่อมาทำงานจะพบว่าต่างกันกับในตำรามาก
การทำงานที่นี่ส่งผลต่อชีวิตส่วนตัวไหม
โด่ง
ความสนุกของการทำงานคือได้ลงพื้นที่พูดคุยกับน้อง ไม่ใช่คุยแต่เรื่องงาน ให้ไปทำงานเสาร์อาทิตย์ก็ได้ไม่เป็นไร เพราะอยู่บ้านเฉยๆ ไม่ได้ทำอะไร
นัท
ไม่กระทบชีวิตส่วนตัว มีแค่พ่อจะแซวว่าไปเที่ยวอีกแล้ว เดินทางบ่อยจัง
ทีมในดวงใจและทีมที่ไม่ประทับใจ
โด่ง
ประทับใจทีมของถาวรา น้องบัว พอไปถอดบทเรียนบ่อยๆ น้องเริ่มติดการลงพื้นที่ นัดกันลงพื้นที่ค่อนข้างบ่อย
ถ้าทีมล่างๆ น่าจะเป็นทีมมะพร้าวของตฤณ ถ้าผมดูคนเดียวคงไม่รอด ต้องให้อากับพี่ไปช่วย เพราะตัวเด็กและประเด็นของเด็กด้วย การทำเรื่องมะพร้าวนั้นกว้างมาก จุดโฟกัสยังไม่ชัด
นัท
ประทับใจ วษท.กาญจนบุรี น้องมาไกลและมีแกนนำ 2 คน ซึ่งเปิดพื้นที่ให้รุ่นน้องเข้ามาทำ ส่วนเด็กที่เป็นรุ่นพี่ถึงไปฝึกงานแล้ว ก็มีสำนึกความรับผิดชอบกลับมาทำงาน ชาวบ้านก็ประทับใจเด็ก
ส่วนทีมที่คิดหนักคือ วษท.ราชบุรี 1 ทีม และทีมโมกมัน เพราะน้องยังไม่ขับเคลื่อนอะไรมากนัก อาจต้องคุยเรื่องการจัดการกับน้อง
พี่อาร์ต
ประทับใจทีมหญ้าสาน ทำข้อมูลแบบมีส่วนร่วมได้ดี ไปทำทั้งกับนักศึกษา แม่ค้า เขาพยายามจะทำให้เห็นทั้งมหาวิทยาลัย ทั้งระบบ และพยายามติดต่อกับมหาวิทยาลัยเพื่อจะนำเด็กจากกองกิจการนักศึกษามาทำงาน เชื่อมประสานดี ทำงานเป็นทีม มีข้อมูลรายละเอียด
ส่วนกลุ่มที่ให้ต่ำสุดคือจอมบึง ซึ่งยังไม่เริ่มทำอะไรเลย
พี่ธเนศ
เราเห็นว่าโจทย์ที่น้องเลือกทำไม่สอดคล้องกับตัวเอง ไม่จำเป็นต้องไปทำที่วัดขนอม อาจต้องพาไปถอดบทเรียน เขามีวิธีคิดทำกิจกรรมเป็นอีเวนต์ ไม่คิดจะสร้างการเรียนรู้อย่างที่เราตั้งใจ
พี่อ้วน
ทีมที่ประทับใจกับทีมที่แย่เป็นทีมเดียวกัน คือ ทีมปลายโพงพาง ประทับใจที่น้องทุกคนในกลุ่มต้องทำงานพิเศษเวลาปิดเทอม แต่ใจก็อยากทำกิจกรรม เราจึงต้องหาวิธีที่น้องจะทำกิจกรรมให้ได้
สิ่งที่กังวลคือ ถ้าจะลงชุมชนจริงน้องจะทำอย่างไร อาจต้องให้พี่เลี้ยงชุมชนเข้าไปพูดคุยกับผู้ปกครอง และมีปัญหาที่สมาชิกในทีมมีทั้งผู้หญิง ผู้ชาย ผู้ปกครองก็เป็นห่วงว่าจะมีเรื่องชู้สาว
ปัญหาในการทำงานคืออะไร
พี่อาร์ต
ผมยังคุยกับน้องค่อนข้างน้อย เข้าไปกระตุ้นเป็นช่วง แต่ดีที่น้องให้ฟฟีดแบ๊ก จริงๆ อยากลง อยากคุยให้มากกว่านี้ หลังช่วงนับ 2 ทีมเรามีงานที่ต้องไปเยอะ จึงขาดช่วงการลงพื้นที่ไปหาน้อง
พี่ธเนศ
เราอาจเริ่มบันทึกการลงพื้นที่ของพี่เลี้ยงว่าลงกี่ครั้ง น้องทำกี่ครั้ง เพื่อทำเป็นฐานข้อมูล หาค่าว่าการจะทำงานแบบนี้ควรมากน้อยถี่ห่างอย่างไร
พี่อ้วน
ด้วยความที่เป็นเด็ก น้องจะคิดว่าพี่ว่างเสมอ มักมาบอกแบบกะทันหัน และไม่บอกรายละเอียดการทำงานให้ครบถ้วน ตัวผมเองก็มีปัญหาเรื่องวันเสาร์ อาทิตย์ เพราะต้องไปเรียน อีกเรื่องคือไม่สามารถสร้างการเรียนรู้ให้พี่เลี้ยงชุมชนได้เลย
นัท
การติดต่อกับน้องน้อย คุยที น้องถึงจะขยับที คิดว่าถ้าสามารถไปชวนน้องคุยได้เองจะเบาลง
โด่ง
เวลาน้องลงชุมชน ผมไม่รู้จังหวะจะลงไปช่วยน้อง รู้แค่ว่าควรช่วย จึงไลน์กลับมาถามทีมว่าจะทำอย่างไรดี น้องไปต่อไม่ได้
อีกอย่างคืออาจารย์อยู่ด้วย เด็กจึงไม่กล้าถาม ทีมถาวราน่าจะเติมเรื่องการตั้งคำถาม โครงการเรียนรู้สู่วิถีมะพร้าวควรแบ่งเป็น 2 ขั้น ขั้นแรกน่าจะเรียนรู้องค์ประกอบของมะพร้าว ขั้นต่อมาคือเรียนรู้การแปรรูป
พี่ธเนศ
หน้าที่เราในฐานะพี่เลี้ยง ต้องหยิบสิ่งที่เขาตอบมาถามต่อ ถามแทนน้อง
พี่อ้วน
ถ้าเราไม่มีกระบวนการคอยกระตุ้น น้องจะขาดความจริงจัง
พี่ธเนศ
โด่งต้องเลิกคิดว่าทีมนี้น่าจะไม่ไหว แต่ให้นำบทเรียนจากทีมที่สำเร็จมากับอีกทีม
โด่ง
ความสัมพันธ์ของผมกับทั้งสองทีมต่างกัน ทีมหนึ่งคือคุยกันด้วยดี ถามอะไรก็ตอบ แต่อีกทีมหนึ่ง ถามอะไรไปเขาก็ไม่ตอบ
พี่ธเนศ
ให้ใช้การออกแบบกิจกรรมว่าทุกคนมีส่วนร่วม แต่มีความสามารถต่างกัน ซึ่งแต่ละคนก็มีคุณค่าที่จะพาโครงการไปสู่ความสำเร็จ
เรียนรู้อะไรจากการทำงาน
โด่ง
เรียนรู้เรื่องความอดทนและการจับสังเกต โดยปล่อยให้เด็กทำ ไม่เข้าแทรกแซงน้อง แล้วสังเกตพฤติกรรมแต่ละคนว่ามีความรู้สึกอย่างไรกับทีม การฟังแล้วจับประเด็น ฟังความคิดน้องโดยไม่ขัด
พัฒนาการที่เห็น ตอนนี้เริ่มเป็นที่พึ่งให้น้องได้มากกว่าเมื่อก่อน เพราะเมื่อก่อนน้องไม่สนใจ เราทำอะไรไม่ได้เลย เหมือนเราเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น แต่ก็รู้สึกกดดันมากขึ้นกับผลงานของน้องว่าจะไปได้ไหม
นัท
เรียนรู้เรื่องการเข้าหาน้อง วิธีการอะไรที่จะคุยกับน้องแล้วเป็นกันเอง และการเตรียมตัว อย่างเตรียมสิ่งของไปเผื่อน้อง ต้องคิดเยอะขึ้นก่อนจะไปหาน้อง
การเปลี่ยนแปลง คือ ได้เห็นตัวเองว่าเมื่อก่อนเป็นคนพูดโดยไม่ฟังใคร แต่พอได้เห็นคนอื่นพูดโดยไม่ฟังใคร เราจึงเข้าใจว่าเราเป็นคนแบบนี้เหมือนกัน
พี่อาร์ต
เรียนรู้เรื่องการวางแผน และการตื่นตัวในการทำงานกับเด็ก มีการวางแผนตลอด เพราะช่วงนี้มีหลายเรื่องที่ต้องทำ
อีกเรื่องคือ การได้เรียนรู้นิเวศน์ของราชบุรีและเพชรบุรีที่ไม่เคยรู้ ก็รู้มากขึ้น และโยงกับเครื่องมือประมงที่ชาวบ้านใช้ด้วย
พี่ธเนศ
เวลานัทตอบว่าได้อะไร สามารถนำความรู้ที่เราเรียนรู้พร้อมกับน้องมาตอบได้ ไม่จำเป็นต้องตอบแค่เรื่องการจัดการ เราต้องยกระดับมุมมองที่มีต่อการเรียนรู้ ต่อบริบทพื้นที่ด้วย ทั้งที่จริงนัทก็มี แต่อาจเคยชินเรื่องการจัดการในหน้าที่ของเรา ส่วนโด่งจะไปแต่เรื่องเนื้อหา ขาดการจัดการไป ทั้งสองคนควรสมดุลให้ได้ทั้ง 2 เรื่อง
วิธีการทลายกำแพงให้น้องไปต่อ
พี่อาร์ต
อย่ามองว่ามันเป็นปัญหา ผ่อนคลายกับมันแล้วค่อยๆ ทำไป การนำการแตกรายละเอียดซึ่งเคยใช้ในงานวิจัยมาใช้กับงานเด็ก เพื่อให้น้องเรียนรู้เรื่องราวเหล่านั้น
พี่อ้วน
- เรื่องแรก สิ่งที่ได้เรียนรู้คือพฤติกรรมของเด็กแต่ละช่วงวัย
- เรื่องที่ 2 ได้เห็นสถานการณ์เด็กตอนนี้จริงๆ ได้รู้จักไปถึงครอบครัวน้อง ได้คุย ได้เห็นพื้นฐาน เห็นว่าน่าเป็นห่วง อยู่แค่ป.6 ก็ต้องไปทำงานแล้ว ผมว่าผู้ใหญ่กำลังส่งผลกระทบอะไรบางอย่างแก่เด็ก
- เรื่องที่ 3 คือเทคนิคเครื่องมือ วิธีการใช้ พอไปอบรม ทำให้ชัดกับเบื้องหลังของเครื่องมือ และนำมาใช้ได้ชัดเจน
- เรื่องที่ 4 การจัดการอารมณ์ของตัวเอง ได้เรียนรู้พฤติกรรมตัวเองไปพร้อมพฤติกรรมเด็ก การเปลี่ยนแปลงคือ ตอนปี 1 ใช้การจำ ปีนี้จดหมดทั้งเครื่องมือ วิธีการ และพฤติกรรมเด็ก เพราะเราบอกให้เด็กทำ สำนึกก็บอกตัวเองว่าต้องทำ
พี่อาร์ต
การหยิบเครื่องมือมาใช้เกิดจากสำนึกอัตโนมัติ
พี่อ้วน
อย่างหนึ่งที่สำคัญคืออาเปิดโอกาสให้ทำ
พี่ธเนศ
ทุกคนทำได้ทุกเรื่อง แต่เก่งไม่เท่ากัน เชี่ยวชาญคนละแบบ สถานการณ์แต่ละอย่างหนัก ต้นทุนการทำงานไม่เท่าบางอย่างเหนื่อย
ลองสะท้อนตัวเองว่าเห็นจุดแข็งของเรายังไง
พี่อาร์ต
ใจเย็นขึ้นเหมือนมีเลนส์กล้องที่มีการหยิบมามองน้องได้หลายมุม มีทิศทางการิน้อง เลนส์ที่เกิดมาเอง ทำให้เรามองภาพกว้าง มองภาพลึก เห็นรายละเอียดของแต่ละโครงการ แล้วเลือกหยิบเงื่อนไขไปใส่ให้น้องเพื่อกระตุ้นน้องให้เกิดการเรียนรู้บางอย่าง เช่น กลุ่ม วษท. ราชบุรี ทีมอาวุโสโอเค น้องเข้าใจกระบวนการ แต่วิธีการรายละเอียดน้องทำไม่ได้ เราพาทำ และวางเงื่อนไขให้น้องเรียนรู้วิธีการ โดยเจอสถานการณ์บางอย่าง และนิยามศัพท์ให้น้องเข้าใจคำนั้นตรงกันกับเรา เช่น คำว่าบทเรียน เรียนรู้ คลี่แต่ละคำให้ชัดเจน จะได้เข้าใจพร้อมกัน
พี่อ้วน
ผมเชื่อมั่นในตัวเด็ก เชื่อมั่นในศักยภาพเด็กว่าเด็กทำได้ ละเมียดละไมกับเด็กแต่ละทีมขึ้นเยอะ กลับมาต้องจด มีการวางแผนอยากพาน้องไปถึงเป้าบางอย่าง
การเชื่อมั่นอย่างเต็มร้อย คือมองว่าเด็กทำได้ ยอมรับเด็ก ทำให้เรามีลูกเล่นพลิกแพลงมากขึ้น อย่างที่บอกเมื่อวานว่าเด็กปลายโพงพาง หากเป็นผมปีที่แล้วคงปล่อยทิ้ง แต่ปีนี้แค่เห็นนิดเดียวก็มองว่ามีสำนึกแล้ว
ที่คิดจะจดบันทึก เกิดจากตอนลงพื้นที่แล้วเห็นน้องตั้งใจก็เกิดคำถามว่าตัวเองเกิดความตั้งใจ ใส่ใจน้องแค่ไหน จึงบันทึก ซึ่งทำให้เห็นพฤติกรรมเด็ก เพื่อนำมาสู่การออกแบบกิจกรรม เวลาลงพื้นที่ เห็นอะไรเยอะ ปีแรกไม่เห็นแบบปีนี้ มองทุกอย่างเป็นโอกาสสำหรับน้อง แม้จุดที่ผิดพลาดก็มองเห็นเป็นโอกาสที่เดินไปข้างหน้า หยิบบทเรียนมาชี้ให้น้องดูได้ทันที
โด่ง
เวลาสังเกตน้อง คนที่ดร็อปลงไปแสดงว่าในใจเขากำลังมีอะไรบางอย่าง เวลาเห็นก็แคร์ พยายามให้น้องพูดออกมา ทำให้เขาเห็นว่าการพูดไม่ถูกไม่ผิด ครั้งต่อมาเขาจะกล้าพูดมากขึ้น
นัท
เวลาแลกเปลี่ยนกับน้อง แม้เราโตกว่า แต่ก็ยังมีเรื่องที่ไม่รู้ ทำให้ได้แลกเปลี่ยน รับฟังมากขึ้น ไม่ใช่แค่ไปเจอเสร็จแล้วกลับ พอ ไม่ได้เจอนานอยากเจอกับน้องบ่อยๆ เป็นห่วงน้อง
ส่วนเรื่องที่ไปปรึกษาลุงปัญญา คือไปเติมความรู้ขอมุมมองของลุง แลกกันว่าเราคิดอย่างนี้ ลุงอย่างไร ทำให้มองได้เยอะขึ้น เช่น ลุงบอกว่าเวลามองจากข้างบนนกจะมองไม่เหมือนปลา พอลงมาในน้ำปลาก็มองไม่เหมือนนก เราต้องปรับและคอยเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เราอยู่จุดนี้มองอย่างหนึ่ง ต้องคุยกับคนอื่นด้วยว่าเขามองอย่างไร
ให้แต่ละคนสะท้อนกันและกัน
พี่อ้วน
น้อง 2 คนมีความกระตือรือร้นในการไปเจอเด็ก จากช่วงแรกที่ไม่อยากไปในวันหยุด
โด่งออกแบบกิจกรรมกับเด็ก โดยประยุกต์เป็นของตัวเอง เข้าใจไวมาก ให้ไปลงพื้นที่แทนสามารถทำให้เด็กขึ้นได้
ส่วนนัทเป็นคนเก็บ ไม่ต้องบอก มาคอยถาม คอยเล่าว่าคิดแบบนี้ใช่ไหม เติมตรงไหน
ช่วงหลัง 2 คนจะเป็นแบบนี้ เห็นว่าตั้งใจกับเด็กมาก สิ่งที่สัมผัสได้จากอาร์ตคือปีนี้มีการวางแผน มีวิธีการชวนน้องคุยที่เปลี่ยนไป จากปีหนึ่งที่ไปลงเมื่ออยากไป คุยแบบเดิม ปีนี้เนื้อหาต่างออกไป
พี่อาร์ต
น้อง 2 คนเข้ามาใกล้ทีมมากขึ้น ทำงานได้ดีขึ้น จากเดิมที่เกร็งๆ ไม่กล้าเข้าหา พอช่วงหลังต้องไปด้วยกันเริ่มจับคู่ ทำให้ได้คุยกันมากขึ้น ผ่อนคลายขึ้น รู้จักรู้ใจกันมากขึ้น คุยเรื่องส่วนตัวส่งผลให้เรื่องงานมีประสิทธิภาพขึ้น น้องมาปรึกษาบ่อยขึ้น ได้โคชน้องเยอะขึ้น ตอนแรกน้องติดเรื่องกระบวนการ เราพยายามทำให้น้องเข้าใจแก่นการทำงาน พอเข้าใจก็ไปได้เลย ฟังแก่นของแต่ละคน แล้วคลี่ให้เข้าใจตรงกัน พอเข้าใจเริ่มคิดสร้างสรรค์งานมากขึ้น และเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง
นัทจะกังวลสูงกับงานตัวเอง พอกังวลจะเริ่มมีปัญหากับตัวเอง แล้วจะพูดอะไรไม่ได้ เขาเข้าใจแต่บางอย่างสื่อสารไม่ได้ เมื่อก่อนที่ผมไม่พูด เพราะเป็นนิสัยปกติอยู่แล้ว เก็บมากกว่าเอาออก มาได้ตัวกระบวนที่อาโคชให้ ลงไปศึกษาพื้นที่ก่อน เราเริ่มพัฒนาโจทย์ เริ่มวิเคราะห์ พอเราเข้าใจก็ถ่ายทอดได้ อีกอันคือเรื่องท่าทีผมกับอาที่ต่างคนต่างไม่ค่อยพูด พอหลุดกำแพงมาก็ผ่อนคลายและสบายมากขึ้น เมื่อก่อนทำอย่างเดียว แต่ช่วงหลังเข้าไปคลุก เห็นแผน ก็เริ่มคิดได้ว่าต้องทำเองแล้ว ไม่ใช่รอคำสั่งอย่างเดียว
สิ่งที่เปลี่ยนให้เป็นคนเอาออกบ้าง คือเก็บจนแน่นแล้วจึงพร้อมเอาออก
พี่ธเนศ
การลงไปเรียนรู้ยังไม่ถึงข้างใน ยังไม่โดน เราคิดถึงเรื่องชั่วโมงบิน ต้องสะสม บินบ่อย เราจะมั่นใจมากไม่ว่าเจออะไร จึงหนีบน้องไปฟังเวลาประชุม วันหนึ่งเขาจะเจออะไรบางอย่างที่ดึงมาใช้ได้ เพราะการเดินทาง ลงไปเรียนรู้ และตั้งคำถามต่อสิ่งที่เห็นเป็นประจำ เจออะไรใหม่ๆ ก็นำไปหาต่อ การมีโอกาสได้ลงมือทำ ได้เห็น ได้ฟัง ผ่านทุกเรื่อง แล้วจะพัฒนา เหมือนเวลาไปเทรนนิ่งก็เป็นการเติมชั่วโมงบินให้น้อง เราก็พาเขาไปด้วย
พี่อาร์ต
พออาเปิดโอกาสแบบนี้ ได้เจอคนที่หลากหลาย เราก็ได้เรียนรู้คนหลายแบบ
พี่อ้วน
เรื่องใช้ชีวิต อาก็เปิดโอกาสให้ เช่นเรื่องขับรถ ขับไปชนวันแรก แต่อากลับบอกว่าให้ขับบ่อยๆ จะได้ไม่ชน
นัท
พี่ 2 คนจะให้โอกาส อย่างพี่อ้วน ตอนแรกคุยเตรียมมา พอไปถึงก็เปลี่ยนโดยปล่อยให้เราทำ คอยมองห่างๆ ว่าไปได้ไหม ไม่ไหวก็ช่วย พี่อาร์ตจะปรึกษาคุยกันตลอด
โด่งเข้ากันได้ดี ตอนหลังมาจะเข้ามารันกิจกรรม อาจเพราะวัยใกล้กันด้วย คุยกันเต็มที่
โด่ง
ช่วงหลัง สนิทกับนัทมากขึ้น เพราะทำงานด้วยกัน แบ่งหน้าที่กันได้ ไม่ขัดกัน ไปกันได้ รู้หน้าที่กันแล้ว พี่อาร์ตจะให้คำแนะนำ บางทีก็ทำให้ดู ส่วนพี่อ้วนจะให้กระบวนการที่ใช้กับน้อง ผมได้กระบวนการมาเยอะ รู้ว่าแกคิดอย่างไรเวลาออกแบบ
ส่วนพี่พวง ตอนนี้จะเป็นบัดดี้กันเวลาลงพื้นที่ คอยให้คำแนะนำในการขึ้นกระดาน ถึงจะดุ แต่สอนดี ส่วนอาได้เรื่องรายละเอียด เพราะช่วงที่ผ่านมาผมเกือบโดนไล่ออก เพราะเวลาทำงาน ทำรูปเล่ม ช่วงแรกอาไม่อ่านเลย ช่วงหลังเขาเริ่มเติมว่าต้องละเอียดทุกคำ คำผิด คำสะกด จึงทำให้เราละเอียดไปหมดเลย ไม่ใช่แค่ทำให้จบ
ไปโครงการก็เจอหลายคน ได้เรียนรู้เรื่องการหัดตั้งคำถาม เพราะได้โอกาสเรียนพี่จากพี่ๆ คนอื่น ให้หมั่นตั้งคำถามกับตัวเอง กับสิ่งที่กำลังทำ ตั้งคำถามกับคนอื่น โลกก็กว้างขึ้น
ตอนที่จะถูกไล่ออก ผมขอโอกาส ผมไม่อยากผิด อยากทำให้ได้
ตอนที่จะโดนไล่ออกรู้สึกอย่างไร
โด่ง
ผมไลน์มาคุยกับอาส่วนตัวว่าจะทำให้ดีขึ้น ถ้าทำไม่ได้ผมจะพิจารณาตัวเอง
อะไรที่ทำให้คิดว่าต้องสู้
โด่ง
ผมไม่อยากให้ใครมาบอกว่าเราผิด อยากทำให้ได้
พี่อาร์ต
โด่งเป็นคนที่จะทำอะไรต้องทำให้เสร็จ ไม่ชอบค้างคา ผมว่าเขาชอบที่ได้ทำงานที่บ้าน ได้รู้เรื่องบ้านตัวเอง โดนอะไรเยอะแยะก็ไม่ไป เพราะมีการทำงานที่บ้านดึงไว้อยู่
พี่อ้วน
ผมว่าส่วนหนึ่งคือพฤติกรรมส่วนตัวด้วย โดนอะไรที่หนักจะสะเทือนไม่นาน แล้วมองข้าม ไม่เก็บกลับมาคิด และทำงานต่อไปได้
พี่พวง
ตอนหลังโด่งมีการตั้งคำถามเยอะ จำแม่น เวลาไปลงพื้นที่เสร็จจะ AAR กันทีนทีที่ขึ้นรถตลอด
มีอะไรที่เราฟังจากคนอื่นแล้วเป็นเรื่องที่เราไม่เคยนึกมาก่อนไหม
โด่ง
เรื่องที่พี่อ้วนพูด จริงๆ ผมเป็นคนไม่เคยนำมาใส่ใจ แต่ก็เก็บมาคิด และคิดว่านำคำที่คนอื่นบอกมาแก้ไขดีกว่า ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองจะถูกตลอด ส่งงานทุกวันนี้ยังคิดก่อนว่าจะมีอะไรผิดไหม
พี่อาร์ต
ปีนี้ไม่อยากเสียใครไปแล้ว ผมคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่างไม่ให้น้องพากันไปเละเทะหมด จึงคุยกับแฟนโด่งเรื่องงานว่าการทำงานเป็นแบบนี้ ช่วยจัดการหลังบ้านให้เข้าใจโด่งด้วย
หากำลังใจมาเติมอย่างไร
พี่อ้วน
ผมดูจากอา ว่าคนที่งานหนักกว่าเรายังทำได้ แล้วเราที่งานน้อยกว่าเขา จะมาคอยโอดครวญหรือ มันไม่ได้ แต่เป้าสุดท้ายเรารู้ร่วมกันว่าจะพาเด็กไปไหน พอเป้าชัด บางทีก็เหนื่อย แต่พอดูคนที่ต้องจัดการมากกว่าเราเขายังยิ้มได้ ทำให้เรากลับมานึกแบบนี้ตลอกว่ามีคนหนักกว่าเรา
นัท
ผมคุยกับที่บ้าน พ่อแม่ให้คำปรึกษา คุยไปคุยมาก็คิดว่าเขาคงเหนื่อยกว่าเรา เพราะเราไม่ได้ช่วยที่บ้านเท่าไร ส่วนที่ทำงานช่วงนี้งานหนัก เพราะคนน้อย ก็คิดกับตัวเองว่าอยากเก่งขึ้น เพื่อช่วยเบาแรงพี่ๆ
โด่ง
คำพูดช่วงแรกที่ทำงานเหมือนว่าทำให้เก่ง จะได้เป็นแบบพี่เขา ไม่มีใครมาจ้ำจี้จ้ำไช เราก็คิดว่าถ้าทำได้จะทำงานง่ายขึ้น เปรียบเหมือนเกม ที่พอเลเวลสูงก็สบายต่อทีม ขอไปไหนก็สะดวก
พี่อาร์ต
ผมมองที่ชาวบ้าน ถ้าเขาหลุดพ้นเรามีแรงผลักดัน เด็กเห็นอะไรบางอย่าง เรามีความสุขแล้ว อีกอย่างคือบรรยากาศการทำงานที่สร้างกำลังใจและทำให้ออฟฟิศก้าวไป เห็นอาลดความหงุดหงิดไป เพิ่มเรื่องการให้ทุกคนเห็นบทเรียน สำนักงานก็เดินไป เป็นตัวหนุนด้วย
พี่พวง
ที่เราทำวิจัยที่ผ่านมา ชาวบ้านแก้ปัญหาได้ก็ดีใจ ส่วนเรื่องทีมช่วงหลัง ถ้าเราให้โอกาสเขา แล้วเขาเปลี่ยน ก็เหมือนการทำบุญ เราอาจไม่ได้ไปทำบุญที่วัด แต่ทำบุญด้วยการสร้างคน ถ้าใครเก่งขึ้น เราก็รู้สึกว่าคนเปลี่ยนได้จากการให้โอกาสของเรา อ้วนกลายเป็นตัวช่วยให้เรา เห็นงานแล้วก็รู้สึกว่าต้องเดินต่อ ถ้าสำเร็จก็เป็นความสำเร็จของทีม
พี่ธเนศ
เราบริหารเป้าหมาย ต้องหาวิธีการให้คนทำงานเติบโต ทุกครั้งที่มีคนเข้ามาทำงานกับเรา เราไม่ได้คาดหวังจะอยู่กับเขาแค่เรื่องงาน แต่เราจะเติบโตไปกับเขา เราอาจจะเหลือเวลาทำงานอีก 10 ปี กว่าจะถึงตอนนั้นเขาคงเท่าเราตอนนี้
ซึ่ง 4 เรื่องถ้าทำได้คือ จริยธรรม คุณธรรม วินัย และความรับผิดชอบ รักษาได้ จะอยู่รอด มีผู้ใหญ่เข้ามาค้ำจุน เราก็คอยเตือน พาไปรู้จักผู้ใหญ่หลายคน เราไม่ได้สอนแค่งาน แต่จะสอนเรื่องชีวิตด้วย
วิธีการสอน การบอก การจัดการ เราก็จัดการแบบนี้ บริหารความสุขให้อยู่ในจุดที่พอดี เวลาไปที่ไหนจะมีบทเรียนกับเขาทุกครั้ง เห็นอะไร คิดอะไร ตั้งคำถามทันที แล้วนำกลับมาคิดทบทวน จะรู้ว่าควรกระตุกใคร ช่วงไหน ต้องบริหารความเครียดตัวเองด้วย เรามีความสุขกับการทำงานและเห็นคนเติบโต คือสิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตเรา ตัวองไม่ใช่คนที่อยากมีอะไรเยอะ เวลาเราได้รับรางวัล ทีมเราต้องไป น้องเราต้องได้เห็น ถ้าน้องไม่ไป เราก็ไม่ไป อยากให้เขาเห็นพร้อมกัน
ทีมที่ 1 พี่อาร์ตกับนัท
โครงการ
ก่อนหน้าโครงการจะแบ่งเป็น 5 ประเด็นหลักคือ
1. บริบทพื้นที่ที่ดำเนินโครงการ
- -ทุนทางสังคมแบ่งเป็น วิถีชีวิต อาชีพ วัฒนธรรม
- -ทุนคนคือผู้รู้
- -ขอบเขตพื้นที่
- -ทุนทรัพยากรในชุมชน
2. เยาวชน เป็นเด็กในชุมชนหรือนอกชุมชน ที่อยู่ อายุ การศึกษา มีตำแหน่งในโรงเรียนไหม ประสบการณ์การเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาเยาวชน การรู้จักพื้นที่ดำเนินโครงการ บทบาทในทีม ข้อสังเกตคือเรียนรู้มากน้อยแค่ไหน การแลกเปลี่ยน มีส่วนร่วม กล้าแสดงออก เปิดพื้นที่รับฟังกัน การรู้สึกเป็นเจ้าของโครงการ ทักษะเด่นคือเรื่องพูด นำเสนอ ทำสื่อ
3. พี่เลี้ยงชุมชน ดูว่าเป็นคนในหรือนอกพื้นที่ มีอาชีพอะไร ครู อบต. ชาวบ้าน มีฐานคิด และความเชี่ยวชาญเฉพาะอะไร วุฒิการศึกษา เคยทำงานเกี่ยวกับเด็กในชุมชนไหม ติดต่อกับพี่เลี้ยงอย่างไร สังเกตท่าทีพี่เลี้ยงเวลาเข้าร่วมกิจกรรม
4. ประเด็นเนื้อหาคือความเข้าใจของน้องในแนวคิดโครงการ สำนึกพลเมือง ภูมินิเวศน์ การทำงานเป็นทีม การวางแผน พัฒนาโครงการ กำหนดเป้าหมาย งบเหมาะกับโครงการไหม เป็นไปได้ในเวลาของโครงการไหม คุณค่าที่ได้ทำ สิ่งที่ต้องปรับคือคอมเมนต์จากกรรมการ
5. การหนุนเสริม ใช้เครื่องมือ กระบวนการอะไร ความรู้เฉพาะด้าน ทักษะเฉพาะด้าน
พี่อ้วน
น่าจะเติมว่าพี่เลี้ยงชุมชนเคยผ่านกระบวนการเติมอะไรมาบ้าง
พี่ธเนศ
ตัวเยาวชนมีความมุ่งมั่นในการแสดงออก มีทัศนคติที่เขาจะทำอย่างไร พี่เลี้ยงมีทัศนคติต่อการพัฒนาเด็กอย่างไร เรื่องบริบทน่าจะมองว่าพื้นที่ที่เด็กเลือกมียุทธศาสตร์ความสำคัญอย่างไร ทำแล้วจะช่วยเสริมการทำงานของหน่วยงานอื่นอย่างไร สำคัญกับสถานการณ์ในพื้นที่อย่างไร พื้นที่นี้มีบทเรียน ประสบการณ์เดิมที่เขาเคยทำมาอย่างไร ประเด็นที่เด็กเลือกทำสำคัญต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่อย่างไร
ทีมที่ 2 พี่อ้วนกับโด่ง
การติดตาม
- ชื่อทีม รายละเอียดว่ามีใครเข้าร่วม ทั้งเด็กและพี่เลี้ยง
- เป้าหมายหลักของโครงการในวันนั้น
- กิจกรรมที่น้องไปทำแบ่งเป็นกิจกรรมพี่เลี้ยงลงไปช่วยวางแผนแล้วน้องไปทำ และกิจกรรมที่พี่เลี้ยงเป็นคนคิดและพาน้องไปทำเลย เราจะเพิ่งเป็นเป้าหมายของกิจกรรมนั้น วิธีการหรือกระบวนการที่ทำ และผลที่คาดว่าจะได้รับจากกิจกรรม
- วันเวลาที่ทำกิจกรรม
- พฤติกรรมของเด็ก และพฤติกรรมของพี่เลี้ยงในพื้นที่ และพฤติกรรมของชาวบ้านที่น้องลงไปทำงานร่วมกับเขา ดูทักษะที่เกิดขึ้น แบ่งเป็น ทักษะพื้นฐาน คือ ฟัง พูด ถาม การวางแผน การวิเคราะห์ ความสนใจ น้องสนใจในโครงการนี้ น้องเห็นจุดเด่นอะไรของตัวเอง พี่เลี้ยงเห็นจุดเด่นอะไรของน้อง การแสดงออกของน้อง
- ข้อจำกัดที่น้องและพี่เลี้ยงพบเจอ ปัจจัยสิ่งเร้าที่เข้ามากระทบกับตัวน้อง เช่น ครอบครัวเห็นด้วยกับการทำกิจกรรมไหม ข้อค้นพบจากการสังเกตของพี่เลี้ยงโครงการ และข้อค้นพบจากการถอดบทเรียนกับน้อง สิ่งที่น้องได้เรียนรู้ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น สำนึกพลเมืองที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นในมุมมองของพี่เลี้ยง ข้อเสนอจากน้องว่าอยากให้พี่เลี้ยงเติมอะไร
- คอมเมนต์จากพี่เลี้ยงที่ลงพื้นที่ว่าสิ่งที่ต้องเติมให้น้องในครั้งหน้าคืออะไร
เพิ่มเติมส่วนกระบวนการที่เราแยกเป็น 2 ส่วน กิจกรรมที่น้องทำ คือการลงไปร่วมวางแผนกับน้องเป็นอย่างไร กับกิจกรรมที่พี่เลี้ยงทำ พี่เลี้ยงเตรียมลงไปทำอย่างไร โดยทำให้ชัดว่ามีเป้าหมายอะไร มีกระชวนการอะไร ใช้ข้อมูลเข้ามาสนับสนุนกระบวนนั้น นี่เป็นแบบฟอร์มที่ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของเด็กในแต่ละครั้ง แล้วพี่เลี้ยงในชุมชนก็สามารถนำไปใช้สังเกตน้องได้ ส่วนประโยชน์สำหรับพี่เลี้ยงคือ แบบฟอร์มนี้เป็นการสรุปและประมวลผลส่งต่องานให้เพื่อนที่ไปทำแทนได้ในกรณีที่ลงไม่ได้ จะช่วยเสริมให้เกิดการทำงานต่อกันได้
พี่ธเนศ
ทั้ง 2 ทีมต้องล้อกัน เพราะการทำงานของน้องต้องมีข้อมูลด้วยเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรม ข้อมูลต้องผ่านกระบวนการการวิเคราะห์ด้วย เนื่องจากข้อมูลส่งผลต่อพฤติกรรม เราต้องนำข้อมูลสิ่งเร้าเชิงบวกไปเปลี่ยนพฤติกรรมของน้อง
พี่อ้วน
ผมว่าข้อมูลต้องมี 2 ส่วน ส่วนแรกคือ ถ้าทำกระบวนการนี้ น้องต้องมีข้อมูลอะไร และเมื่อลงไปทำ คือข้อมูลที่ตั้งใจจะเก็บ
โจ้
พี่เลี้ยงต้องวิเคราะห์เป้าหมายของโครงการ และข้อมูลอะไร แล้วจับประเด็นให้ได้ ว่าข้อมูลอะไรจะนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรม
พี่ธเนศ
เราต้องเข้าใจก่อนว่า เราทำงานสร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านการเรียนรู้ข้อมูลทำงานกับเด็กทุกเรื่องถ้าไม่มีกระบวนการที่เด็กมีข้อมูล จะกลายเป็น Event คนทั่วไปจะทำงานเป็นนักกิจกรรม
พี่อ้วน
ข้อมูลต้องมี 2 อย่าง
- ข้อมูลภาพรวม ที่พาให้เห็นว่าเป้าหลักของโครงการคืออะไร
- ข้อมูลรายกิจกรรม ซึ่งจะเป็นปลีกย่อย พาน้องเดินไปสู่เป้าหมายหลัก เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
พี่ธเนศ
เราหวังแค่เด็กไม่ได้ ในกระบวนการต้องไปเปลี่ยนทั้งเด็ก พี่เลี้ยง ชุมชน และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะหากผู้เกี่ยวข้องเข้าใจก็สามารถเป็นอีกแรงที่ช่วยผลักเด็ก แล้วเมื่อคนในชุมชนเปลี่ยนแปลงก็จะไปตอบโจทย์เรื่องยุทธศาสตร์ของกลุ่ม 1ซึ่งเป็นการเกิดอิมแพ็ค ไม่ใช่ความคาดหวังของโครงการ แต่มันได้เกิดขึ้น
สิ่งสำคัญคือเราต้องไม่ลืมว่า แก่นในการทำงานของเราต้องตั้งอยู่บนข้อมูล และการเรียนรู้บริบททำให้สัมผัสใจ แล้วจะเดินไปสู้เป้าหมายของโครงการได้