ข้อมูลพื้นฐาน โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี สังกัด สพฐ. |
ความสำเร็จที่เริ่มต้นด้วย
“การตีความความรู้ แล้วจึงนำลงสู่การปฏิบัติ” : ทำให้ความเข้าใจในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักคิดของบุคลากรโรงเรียน ผอ. กัญพิมา เชื่อมชิต ผู้อำนวยการโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี เล่าถึงระยะแรกของการทำงาน หลังจากที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นต้นแบบโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียงเมื่อปีพ.ศ. 2547 ว่า ในตอนนั้นยังไม่เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างถ่องแท้ จึงมองว่าเป็นเรื่องการประหยัด การออมและการเกษตรเท่านั้น
เมื่อต้องนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาสู่กระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียน จึงได้มุ่งเน้นไปที่กลุ่มสาระการงานอาชีพฯ เพื่อต้องการสร้างประสบการณ์ให้ผู้เรียนเรียนรู้เรื่องการประหยัดอดออมไปบนฐานการทำงาน
การศึกษา ค้นคว้า และทำความเข้าใจจากเอกสารและสื่อต่างๆ การออกไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหน่วยงานภายนอก ช่วยให้เกิดความกระจ่างมากขึ้นว่า “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือเรื่องของหลักคิด วิธีคิด” เมื่อได้นำมาใช้กับโครงการพัฒนาสวนพฤกษาศาสตร์ในโรงเรียน ยิ่งทำให้เข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น จากนั้นจึงได้เริ่มนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไปเป็นหลักคิดในการทำงานของของครูและนักเรียน เรื่องเล่าความสำเร็จเรื่องนี้ คือ การนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาตีความสู่การปฏิบัติในเรื่องการทำงานบริหารการศึกษา ที่แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ทุกงาน ทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นในโรงเรียน สามารถนำมาวิเคราะห์ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้ทั้งสิ้นเรื่องทั้งหมดนี้เกิดจากคำถามของคุณครูที่เอ่ยถามว่า “ผู้อำนวยการคะ พวกหนู (ครูกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์) จะพานักเรียนไปทัศนศึกษาที่ไบเทค บางนา เนื่องในสัปดาห์วิทยาศาสตร์ ผู้อำนวยการจะอนุญาตให้พวกหนูไปหรือไม่คะ” นักเรียนประจำที่ต้องอยู่ในโรงเรียนตลอด 24 ชั่วโมง พวกเขามีความรู้สึกอยากออกไปนอกโรงเรียนอยู่ตลอดเวลา และสำหรับครั้งนี้หากผู้อำนวยการไม่อนุญาตให้ไปทัศนศึกษา นักเรียนก็คงไม่พอใจผู้อำนวยการ การที่ครูจะพานักเรียนไปทัศนศึกษาในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ที่ไบเทค บางนา ซึ่งถือเป็นงานที่รวบรวมผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์ไว้มากมาย แต่ผู้อำนวยการกลับไม่อนุญาตให้ไป และเมื่อผู้ปกครองได้ฟังดังนั้น ก็คงจะโทรศัพท์มาต่อว่าข้าพเจ้าอย่างแน่นอนเพียงแค่หลับตา ก็มองเห็นภาพความยุ่งยากใจที่อาจจะเกิดขึ้นกับข้าพเจ้าแล้ว ดังนั้น การให้คำตอบครูกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ข้าพเจ้าจะใช้หลักนิติศาสตร์เพียงอย่างเดียวไม่ได้ คงต้องใช้หลักรัฐศาสตร์เข้ามาช่วยด้วย หรือที่กล่าวว่าต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการบริหารจัดการ ดังนั้น คำตอบที่ครูวิทยาศาสตร์ท่านนั้นได้รับฟังจากข้าพเจ้าในวันนั้นคือ พรุ่งนี้นัดประชุมครูทุกท่านในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์แล้วค่อยตัดสินใจร่วมกัน วันรุ่งขึ้นในที่ประชุม ข้าพเจ้าได้สอบถามหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ว่า “ได้มีกำหนดการพานักเรียนไปทัศนศึกษานอกสถานที่ไว้ในแผนปฏิบัติการหรือไม่ หากไม่มีในแผนปฏิบัติการของโรงเรียนก็ไม่เป็นไร พวกเรามาช่วยกันวางแผนพานักเรียนไปทัศนศึกษาในครั้งนี้ร่วมกันก็แล้วกัน” ดังที่ได้เกริ่นไว้ข้างต้นว่า การจะทำงานใดๆ ของโรงเรียน เราจะต้องกำหนดเป้าหมาย วิธีการ แล้วก็วางแผนดำเนินงานด้วยหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง ดังนั้นการประชุมในวันนั้น พวกเราจึงได้ช่วยกันกำหนดเป้าหมายและวิธีการ ดังนี้
1. ต้องการให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นศึกษาหาความรู้จากเรื่องภาวะโลกร้อน 2. ต้องการให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแต่ละระดับวิเคราะห์สิ่งที่จะไปศึกษา เช่น มัธยมศึกษาปีที่ 4 วิเคราะห์ความรู้ด้านชีววิทยา มัธยมศึกษาปีที่ 5วิเคราะห์ความรู้ด้านวิชาเคมี และมัธยมศึกษาปีที่ 6 วิเคราะห์ความรู้ด้านวิชาฟิสิกส์
ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น มีวิธีการดังนี้ 1. ให้ศึกษาเรื่องภาวะโลกร้อน โดยครูจะมีใบงานให้นักเรียนบันทึกความรู้ตามที่ครูต้องการให้นักเรียนไปสืบค้นข้อมูลจากมูลภาวะโลกร้อน 2. ให้วิเคราะห์การปฏิบัติงานของตนเองกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 3. นักเรียนนำใบความรู้ที่ศึกษา และใบงานที่วิเคราะห์ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการปฏิบัติงานของตนเองไปให้ผู้ปกครองอ่าน 4. ให้ผู้ปกครองบันทึกความคิดเห็นในผลงานของลูก แล้วนักเรียนนำผลงานของตนเองพร้อมใบความคิดเห็นของผู้ปกครองส่งครูเพื่อให้คะแนน 5. ก่อนจะให้คะแนน จะมีการอภิปรายความรู้ร่วมกันระหว่างครูกับนักเรียน 6. ครูรวบรวมใบงานทั้งหมด (ของแต่ละห้อง) เข้าเล่ม พร้อมทั้งบันทึกสรุปผลงานความรู้ของนักเรียน แล้วเอกสารเล่มนั้นจะกลายเป็นผลงานการสอนของครูสามารถนำไปประเมินสมรรถนะด้านที่ 2 ของครูได้ 7. ถ้านักเรียนไม่รับผิดชอบ ไม่มีผลงานส่งครู นักเรียนจะไม่มีคะแนนและจะถูกตัดสิทธิ์การไปทัศนศึกษาทุกรายวิชา
1. ให้นักเรียนวิเคราะห์การทำงานของเครื่องร่อนกับหลักการทางฟิสิกส์ 2. นักเรียนวิเคราะห์การปฏิบัติงานของตนเองกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 3. นักเรียนนำใบงานที่วิเคราะห์แล้วทั้ง 2 ใบ ไปให้ผู้ปกครองอ่านและให้ผู้ปกครองบันทึกความคิดเห็น 4. นักเรียนนำใบงานและใบบันทึกความคิดเห็นของผู้ปกครองส่งครู เพื่อที่ครูจะให้คะแนน 5. ก่อนจะให้คะแนนจะต้องมีการอภิปรายความรู้ร่วมกันระหว่างครูกับนักเรียน 6. ครูรวบรวมและสรุปผลงานความรู้ของนักเรียนแต่ละห้องเรียนแล้วเข้าเล่มไว้ ผลงานนั้นจะกลายเป็นผลงานการสอนของครู ซึ่งครูสามารถนำไปประเมินสมรรถนะด้านที่ 2 ของครูได้เช่นกัน 7. ถ้านักเรียนไม่มีความรับผิดชอบ ไม่ส่งงาน จะถูกลงโทษเช่นเดียวกับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น |
|
เมื่อวางแผนกันเรียบร้อยแล้ว ข้าพเจ้าได้แจ้งให้คณะครูกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ประชุมกันต่อ เพื่อตกลงว่าจะดำเนินการไปทัศนศึกษากันอย่างไร โดยข้าพเจ้าอนุญาตให้พานักเรียนไปทัศนศึกษาได้ แต่ต้องทำตามที่พวกเราช่วยกันวางแผน และผลการประชุมเป็นอย่างไรให้แจ้งข้าพเจ้าทราบในวันรุ่งขึ้น หลังจากนั้นข้าพเจ้าก็ขอตัวออก จากที่ประชุม พอวันรุ่งขึ้น ครูกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ก็เข้ามาแจ้งกับข้าพเจ้าว่า พวกเขาตกลงกันไม่จัดไปทัศนศึกษาที่ไบเทค บางนาแล้ว และเมื่อข้าพเจ้าสอบถามเหตุผลจากครู ก็ได้รับคำตอบว่า หลังจากที่ได้วิเคราะห์หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการพานักเรียนไปทัศนศึกษาในครั้งนี้ พบว่าเวลาที่มีอยู่ไม่พอประมาณกับงานที่จะต้องดำเนินการ
|