“ระบบวิเคราะห์ฝ่าเท้าอัจฉริยะ” เรื่องของเท้า และยอดเขาแห่งความสุข

ชื่อผลงาน              : “ระบบตรวจวัดและวิเคราะห์น้ำหนักกดบริเวณฝ่าเท้าอัจฉริยะ”

                               เพื่อนำไปประยุกต์ใช้สำหรับการออกแบบอุปกรณ์พยุงส้นเท้าและฝ่าเท้าชนิดแรงกดบริเวณสำคัญ
                               สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

เจ้าของผลงาน        : นายยุทธพงศ์ อุณหทวีทรัพย์ (อู๋)

การศึกษา               : ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์

                               มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา

          “เท้า” อาจเป็นของต่ำในความคิดของใครหลายคน แต่ในทางสรีรศาสตร์ เท้าคืออวัยวะสำคัญอันเป็นฐานคอยแบกรับน้ำหนักการยืนตัวตรงของมนุษย์ ช่วยให้มนุษย์อย่างเราสามารถดำรงชีวิตและสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้อย่างที่เป็นในทุกวันนี้

         เท้าจึงไม่ใช่ของต่ำ หากคืออวัยวะทรงคุณค่าที่คอยแบกรับ และนำพาชีวิตความคิดฝันของมนุษย์ไปสู่ยอดเขาแห่งปรารถนา ตลอดช่วงเวลาแห่งอายุขัย

         ผู้ที่เห็นความสำคัญของเท้าจึงเป็นผู้ที่สมควรได้รับการยกย่อง โดยเฉพาะผู้ที่ก้าวย่างจนตัวเองเท้าเจ็บ เพื่อไปทำงานให้สุขภาพเท้าของผู้อื่น

        ขอชวนคุณผู้อ่านไปสัมผัสย่างก้าวของ “อู๋” วิศวกรหนุ่ม กับนวัตกรรมเพื่อฝ่าเท้าที่เขาพัฒนาขึ้นมาด้วยน้ำพักน้ำแรง

        แล้วคุณอาจพบว่า เรื่องของเท้ามีอะไรมากกว่าที่คิด...

“ผมเป็นคนที่อยากทำอะไรแล้วใช้ประโยชน์ได้จริง ทำเสร็จแล้วต้องใช้งานได้ ไม่ใช่ทำส่งแล้วทิ้งงานไปเลย”

วิศวกรรม ฝ่าเท้า และเบาหวาน

          นายยุทธพงศ์ อุณหทวีทรัพย์ หรือ “อู๋” ฉายแววความเป็นวิศวกรมาตั้งแต่เด็ก เห็นได้จากที่เขาชอบเล่นกลไกที่สามารถใช้งานได้ ทั้งยังชอบประยุกต์ดัดแปลงสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง เช่น ดัดแปลงรถบังคับเป็นเรือบังคับ หรือสิ่งของที่ใช้งานได้อย่างหนึ่ง อู๋ก็อยากทำให้มันสามารถใช้งานด้านอื่นๆ ได้ เป็นต้น

          จึงไม่แปลกเท่าไหร่ ที่เมื่อเติบโตขึ้นอู๋จะมุ่งมั่นมาทางวิศวะโดยตรง โดยศึกษาระดับปริญญาตรีในภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา

          ซึ่งเป็นที่นี่เอง ที่เป็นจุดกำเนิดนวัตกรรม“ระบบตรวจวัดและวิเคราะห์น้ำหนักกดบริเวณฝ่าเท้าอัจฉริยะ” ของผู้ชายคนนี้

         “ช่วงนั้นผมต้องทำโครงงานเพื่อจบการศึกษาครับ กำลังหาโจทย์ว่าเราจะทำเรื่องอะไรดี จึงไปขอคำปรึกษาจากอาจารย์” อู๋ที่ปัจจุบันกำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าถึงความเป็นมาของระบบวิเคราะห์ฝ่าเท้าอัจฉริยะ

         เป้าหมายในการทำโครงงานของอู๋นั้นไม่มีอะไรมาก นอกจากอยากทำอะไรที่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งเป็นลักษณะนิสัยส่วนตัวมาตั้งแต่เด็ก

        “ปกติผมเป็นคนที่อยากทำอะไรแล้วใช้ประโยชน์ได้จริงครับ ทำอะไรเสร็จแล้วมันต้องใช้งานได้ มีประโยชน์ ไม่ใช่ทำส่งแล้วทิ้งงานไปเลย” อู๋กล่าวด้วยรอยยิ้ม

         ด้วยอยากสนองปณิธานข้อนี้ของชายหนุ่ม อาจารย์ไพรัช สร้อยทอง ที่ปรึกษาโครงงานวิจัย จึงพาอู๋ไปแนะนำกับคุณหมอท่านหนึ่ง ซึ่งอาจารย์ไพรัชเข้ารับการรักษาอยู่และได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนถึงการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์อยู่เนืองๆ เนื่องจากทางคุณหมอมีไอเดียที่จะพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์อยู่มากมาย แต่ขาดทักษะทางวิศวกรรม ก็พอดีกับที่อู๋ต้องการพัฒนานวัตกรรมที่มีผู้นำไปใช้ได้จริง อาจารย์จึงแนะนำให้ทั้งสองได้พบและแลกเปลี่ยนกัน จนเกิดเป็นการร่วมงานกันเหมือนชะตาลิขิต

          “ถ้าเราคิดโจทย์เอง ทำออกมามันอาจจะไม่ได้ใช้ แต่ตรงนี้คุณหมอต้องการนำไปใช้อยู่แล้ว พัฒนาเสร็จก็สามารถใช้งานกับคนไข้ได้เลย จึงตัดสินใจว่าทำตัวนี้แล้วกัน” อู๋กล่าว

          ระบบตรวจวัดและวิเคราะห์น้ำหนักกดบริเวณฝ่าเท้าอัจฉริยะ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้สำหรับการออกแบบอุปกรณ์พยุงส้นเท้าและฝ่าเท้าชนิดแรงกดบริเวณสำคัญสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน คือ โจทย์ที่เกิดขึ้นจากการแลกเปลี่ยนกันระหว่างคุณหมอกับอู๋ เนื่องจากในปัจจุบัน ผู้ป่วยโรคเบาหวานถือเป็นกลุ่มที่มีอัตราการต้องถูกตัดขาหรือเท้าเพื่อรักษาชีวิตจากแผลอักเสบติดเชื้อที่เท้ามากที่สุด

           จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า อาการเท้าเบาหวาน (Diabetic foot) ซึ่งเกิดในผู้ป่วยโรคเบาหวาน เป็นกลุ่มอาการของเท้าที่เกิดจากโรคปลายประสาทเสื่อม เส้นเลือดส่วนปลายตีบตัน และการติดเชื้อ ซึ่งจะนำไปสู่การสูญเสียการทำงานของเท้า และเสี่ยงเกิดบาดแผลเนื่องจากเท้าชา ไร้ความรู้สึก และที่สำคัญคือ รองเท้าหรือลักษณะการเดินที่ไม่สอดรับกับแรงกดของฝ่าเท้า ก็อาจทำให้เกิดแผลกดทับ ที่นำไปสู่การต้องตัดขาหรือเท้าได้ โดยจากข้อมูลระบุว่า ทุกๆ 30 วินาที ทั่วโลกจะมีผู้ป่วยเบาหวานถูกตัดขา 1 คนจากปัญหาแผลที่เท้า

           ด้วยเหตุนี้ หนึ่งในขั้นตอนการรักษาผู้ป่วยเบาหวานของสถานพยาบาลทั่วไป จึงต้องมีการตรวจคัดกรองเท้า หรือวิเคราะห์โครงสร้างและแรงกดของฝ่าเท้า เพื่อให้คำแนะนำในการเลือกรองเท้า หรือออกแบบอุปกรณ์ช่วยพยุงฝ่าเท้าให้เหมาะสมกับแรงกดของผู้ป่วย เพื่อป้องกันแผลที่จะเกิดจากการกดทับนั่นเอง

“ซึ่งนี่แหละครับคือโจทย์” อู๋กล่าว “เพราะเท้าของเราจำแนกได้ 3 รูปแบบใหญ่ๆ แต่ทุกวันนี้คุณหมอต้องจำแนกด้วยสายตาหรือการจับคลึง ซึ่งมีโอกาสผิดพลาดสูง เอกซเรย์ก็ได้แต่เสียเวลา จริงอยู่ที่ต่างประเทศมีเครื่องตรวจวัดโดยเฉพาะ แต่ก็ราคาสูงมาก”

         กล่าวง่ายๆ คือ ปัจจุบันโรงพยาบาลในประเทศส่วนมากยังไม่มีเทคโนโลยีสำหรับตรวจวิเคราะห์แรงกดของฝ่าเท้าโดยเฉพาะ ทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเบาหวานถูกตัดขาหรือเท้า ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ

         การพัฒนานวัตกรรมระบบวิเคราะห์ฝ่าเท้าอัจฉริยะ เพื่อให้แพทย์สามารถตรวจคัดกรองเท้าผู้ป่วยเบาหวานได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้นของอู๋ในครั้งนี้ จึงเป็นเหมือนการปฏิวัติวงการแพทย์ในประเทศ เกี่ยวกับการรักษาโรคเบาหวานก็ไม่ปาน

“คุณหมอย้ำอยู่เสมอว่า เราเป็นวิศวกร เราสามารถสร้างเครื่องมือให้ตอบโจทย์ทางการแพทย์ได้” 

จากวิศวะคอมฯ สู่แพทยศาสตร์

          มนุษย์เราไม่มีใครเก่งไปหมดทุกด้าน แม้แต่ปราชญ์ก็ยังมีบางเรื่องที่ต้องเพลี่ยงพล้ำ นี่คือภาวะที่อู๋ต้องประสบกับตัวเองเมื่อได้รับโจทย์มา แม้ว่าส่วนตัวจะมีทักษะและแรงบันดาลใจด้านวิศวกรรม ไอที และเทคโนโลยีอยู่เหลือเฟือ แต่กับระบบวิเคราะห์ฝ่าเท้าอัจฉริยะนี้ ไม่ใช่การใช้ระบบกลไกหรือไอทีแบบเพียวๆ แต่ต้องผสมผสานกันระหว่างระบบไอทีวิศวกรรมกับศาสตร์ทางการแพทย์

          แล้วอู๋ที่ไม่เคยมีความรู้ศาสตร์ทางการแพทย์มาก่อนเลยจะทำอย่างไร?

         “ปัญหาคือเราเรียนวิศวะมา (หัวเราะ) ไม่มีความรู้ทางการแพทย์เลย ไหนจะความรู้เรื่องกายวิภาค เรื่องกระดูกเท้า ก็เลยต้องไปหาคุณหมอ ดูว่าคุณหมอตรวจรักษาอย่างไร”

         ซึ่งอู๋บอกว่า การได้เข้าไปคลุกคลีรู้ระบบการตรวจรักษาทางการแพทย์นี้ เป็นเหมือนจุดเปลี่ยนของชีวิต หนึ่งคือเป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจ และสอง การได้รู้ได้เห็นของจริง ทำให้อู๋สามารถพัฒนาระบบที่ทำงานบนพื้นฐานของการใช้งานจริงขึ้นมาได้

         อนึ่ง เขียนบรรยายแค่ 2 บรรทัดอาจดูเหมือนอู๋ทำง่ายๆ ไม่นานก็เสร็จ แต่จริงๆ แล้วอู๋บอกว่าต้องทำงานร่วมกับคุณหมอเป็นปี

         “งานนี้ต้องใช้ความรู้คอมพิวเตอร์ที่มีอยู่ทั้งหมด ทำระบบให้สามารถแปลผลจากภาพไปเป็นข้อมูลทางการแพทย์ ซึ่งก็ต้องอาศัยความรู้และแนวคิดจากคุณหมอ ใช้เวลาศึกษาตรงนี้เป็นปีครับ วิ่งไปกลับโรงพยาบาล เอางานไปให้คุณหมอเช็คว่า อย่างนี้ดีหรือเปล่า เรื่องของ application เรื่องของ interface ว่า มันตอบโจทย์ไหม ซึ่งคุณหมอก็จะมีไอเดียที่ปิ๊งใหม่ๆ มาเรื่อยๆ (หัวเราะ) ก็ต้องทำเพิ่ม ถือเป็นช่วงที่หนักมากเพราะต้องเรียนไปด้วย”

        และประจวบเหมาะกับขณะที่อู๋และเพื่อนนักศึกษาในชั้นกำลังขะมักเขม้นทำโครงงานให้แล้วเสร็จ ก็พอดีกับที่มหาวิทยาลัยมีการประชาสัมพันธ์การแข่งขันโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย (NSC) ครั้งที่ 13 ประจำปี 2011 อาจารย์ไพรัชจึงให้นักศึกษานำโครงงานที่กำลังทำนั้นส่งเข้าแข่งขัน และจะนำผลจากการแข่งขันมาเป็นส่วนในการให้คะแนนในวิชาด้วย

         ซึ่งไม่ผิดคาดเท่าไหร่ เมื่อผลงานของอู๋เป็นที่สนใจของผู้ที่เข้าชมงานจำนวนมาก รวมไปถึงเข้าตากรรมการ จนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับที่ 2 ร่วมกับทีมจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น

         “จุดเด่นของระบบนี้คือ สามารถวัดผลออกมาใช้ประโยชน์ได้จริงๆ ครับ คือคนจะเห็นตั้งแต่ต้นน้ำเลยว่า เขามาตรวจวัดจากระบบนี้แล้วได้อะไร ผลลัพธ์ออกมาแล้วเอาไปใช้อะไรได้ต่อ” อู๋กล่าว

         และผลจากการเข้าร่วมแข่งขันในครั้งนี้ นอกเหนือไปจากรางวัลแล้ว ก็คือการประชาสัมพันธ์ผลงานของอู๋ออกไปในวงกว้าง จนเขากลายเป็นหนุ่มเนื้อหอมไปในพริบตา

จากเวทีประกวด สู่โรงพยาบาล

         “กลุ่มเป้าหมายหลักของระบบนี้คือ โรงพยาบาล ส่วนกลุ่มเป้าหมายรองคือ คนไข้ที่ต้องใช้งานเครื่องมือตัวนี้ครับ” อู๋อธิบายถึงกลุ่มเป้าหมายของระบบที่เขาพัฒนาขึ้นมา

         ส่วนเป้าหมายหลักของระบบวิเคราะห์ฝ่าเท้านี้ อู๋ตั้งใจพัฒนาเพื่อจำแนกลักษณะเท้าของผู้ป่วยเบาหวาน ว่าเป็นเท้าลักษณะไหน เพื่อให้แพทย์นำข้อมูลไปใช้ในการรักษาและทำอุปกรณ์เสริมอุ้งเท้าตามลักษณะของผู้ป่วย

           แต่ผลพลอยได้จากระบบนี้ก็คือ แพทย์สามารถนำระบบไปวิเคราะห์ฝ่าเท้าในคนไข้กลุ่มอื่นๆ ได้ด้วย เช่น การลงน้ำหนักของผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดขา ซึ่งเป็นปกติของการผ่าตัดขา ที่อาจทำให้หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะมีการลงน้ำหนักซ้ายหรือขวาผิดปกติไปจากเดิม แพทย์ก็ต้องมาทำการตรวจวัดเพื่อให้คำแนะนำและทำการรักษาต่อไป ซึ่งระบบวิเคราะห์ฝ่าเท้าของอู๋สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในจุดนี้ได้ แทนการสังเกตอาการผู้ป่วยด้วยตาเปล่าและสอบถามแบบเดิมๆ

         อนึ่ง ระบบวิเคราะห์ฝ่าเท้าอัจฉริยะนี้ ประกอบด้วยองค์ประกอบ 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นเครื่องโพโดสโคป ซึ่งสามารถดูภาพฝ่าเท้าจากจอแสดงผลและสามารถนำภาพฝ่าเท้าที่ได้ไปประเมินผลต่อได้ กับอีกส่วนที่เป็นโปรแกรมประยุกต์ ซึ่งสามารถประเมินอาการผิดปกติของเท้าได้โดยการวัดอัตราส่วนของฝ่าเท้า เพื่อตรวจสอบความผิดปกติของรูปเท้า ประเมินการไหลเวียนของโลหิตจากภาพทั้งก่อนและหลังการใส่อุปกรณ์เสริมอุ้งฝ่าเท้า โดยจะแสดงผลเป็นข้อมูลทางการแพทย์ ซึ่งแพทย์สามารถนำมาประกอบการวินิจฉัยโรคและการติดตามผลในการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          “ที่จริงโรงพยาบาลสั่งเครื่องมือวัดลักษณะนี้ได้จากต่างประเทศนะครับ เป็นเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งราคาเป็นหลักแสน 2-3 แสน จนถึงหลักล้านก็มี เทียบกับระบบของผมต้นทุนไม่เกิน 1 หมื่นบาท ใช้งานได้เหมือนกัน (ยิ้ม) แค่โรงพยาบาลมีคอมพิวเตอร์ ผมก็ implement ระบบไปติดตั้งในคอมพิวเตอร์ แล้วทำเครื่องมือตรวจวัดราคา 1 หมื่นบาทขึ้นมา ก็ใช้งานได้เลย” อู่กล่าวพลางอมยิ้ม

           คงเพราะใช้งานได้เทียบเท่ากัน แต่ราคาถูกกว่าเหลือเชื่อ หลังจากการประกวด NSC รวมถึงเดินสายประกวดในงานต่างๆ ตามคำแนะนำของทาง NECTEC ชื่อของอู๋ก็เริ่มเป็นที่รู้จักในแวดวงการแพทย์ในวงกว้าง เช่น

         -โครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ ของ สสส. ซึ่งผลงานของอู๋ติด 1 ใน 10 ผลงานที่ได้รับทุน และอู๋ก็ได้นำทุนที่ได้มาทำระบบและเครื่องตรวจวัดให้โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร ในสังกัดโรงพยาบาลศิริราช

          -งานมหกรรมพลังเยาวชน มีกลุ่มบุคคลจำนวนมากสนใจระบบของอู๋ เช่น สมาคมผู้ป่วยเบาหวาน, ผู้ประสานงานงานคอมพิวเตอร์โอลิมปิค ชักชวนอู๋ให้ไปนำเสนอผลงานในงานดังกล่าว ในปีที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ รวมไปถึงแพทย์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ที่ถึงขนาดเข้ามาทาบทามอู๋ไปร่วมงานด้วยกัน

ซึ่งอู๋ก็ได้ตอบตกลงไป

“เราไม่ได้เรียกร้องเยอะ...แค่อยากให้ระบบมันได้ใช้งานจริงๆ เขาจะแบ่งมาเท่าไหร่ก็ได้ บางที่ก็ขาดทุน”



ถึงเวลาขยายผล ในความสาละวนของชีวิต

           อู๋ได้ไปร่วมงานกับแพทย์ในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพอยู่ประมาณ 1 ปี ซึ่งใน 1 ปีนี้ทำให้อู๋ได้สั่งสมประสบการณ์ทางการแพทย์แทบไม่ต่างอะไรกับนักศึกษาแพทย์คนหนึ่ง

           “ไปทำงานร่วมกับคุณหมอ คุณหมอก็พาเข้าไปดูการรักษาทุกอย่าง ทุกกระบวนการ ได้ศึกษาเรื่องการรักษาเท้า เป็นทางการแพทย์ทั้งหมด คุณหมอถึงขนาดส่งรูปกระดูกเท้ามาไว้ในโทรศัพท์ให้เลย ปัจจุบันนี้ก็ยังอยู่” อู๋กลั้วหัวเราะ

แต่ก็ใช่ว่าเป็นเรื่องทางการแพทย์ จะไม่เกี่ยวกับวิศวกรรมเสียทีเดียว

            “คุณหมอชี้ให้เราเห็นว่า คนเราก็เหมือนกับหุ่นยนต์ ทุกอย่างมันเกิดขึ้นได้หมดจากแรงทางฟิสิกส์ แรงที่โยกแขนโยกขา เท้ากระทบพื้น เกิดจากแรงฟิสิกส์ทั้งนั้น ซึ่งมันสามารถคำนวณได้ คุณหมอย้ำอยู่เสมอว่า เราเป็นวิศวกร เราสามารถสร้างเครื่องมือให้ตอบโจทย์ทางการแพทย์ได้”

            กระนั้นก็ดี การทำงานในทุกๆ ศาสตร์บนโลกใบนี้ ล้วนต้องมีปัญหาอุปสรรคที่รอคอยให้เราเข้าไปค้นพบและแก้ไข ซึ่งถ้าสมมติว่า ให้เลือกแก้ปัญหาของศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งระหว่างวิศวกรรมศาสตร์กับแพทยศาสตร์ คนทั่วไปก็คงกุมขมับและถอยฉากหลบไปแล้ว แต่สำหรับอู๋ สิ่งที่เขาต้องเผชิญคือปัญหาที่เกิดจากการรวมศาสตร์ทั้งสองเข้าด้วยกัน

           นั่นไม่น่าจะต่างอะไรกับปัญหาโลกแตก ที่ทำให้ไม่ว่าใครก็ตามพานท้อได้ง่ายๆ

           “มันมีจุดที่อยากจะเลิกทำอยู่เหมือนกันนะครับ คือตอนนั้นระบบมันพัฒนามาถึงขีดสุดแล้ว ใช้งานได้จริง แต่ก็มีรายละเอียดที่อยากจะพัฒนาเพิ่มขึ้นไปอีก ซึ่งยังติดข้อจำกัดทางเทคโนโลยีหลายๆ อย่าง และจุดเด่นที่เราอยากจะทำก็คือ ราคาต้องเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย ก็เลยหยุดไปช่วงหนึ่ง ไปเรียนปริญญาโทต่อด้วย แต่แรงบันดาลใจยังมีอยู่นะครับ จากการที่เราได้คลุกคลีกับคนไข้ ได้เห็นผู้ป่วย ก็อยากจะพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปอีก”

          แม้การพัฒนาแนวดิ่งเหมือนจะเดินมาจนสุดทาง แต่การขยายผลแนวระนาบเหมือนเพิ่งเริ่มต้น ด้วยแรงสนับสนุนจากภายนอก ทั้งจาก NECTEC เจ้าภาพการประกวด NSC ที่คอยกระตุ้นเร้าและนำเสนอช่องทางการขยายผลให้อู๋มาโดยตลอดนับแต่ประกวดเสร็จ ทำให้อู๋ตัดสินใจส่งผลงานเข้าประกวดโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ซึ่งช่วยประชาสัมพันธ์ผลงานของอู๋สู่สาธารณชนในวงกว้างได้เป็นอย่างดี

         กับอีกหนึ่งแรง คือ โรงพยาบาลแพร่ ที่เสิร์ชเห็นชื่ออู๋จาก Google และติดต่อเข้ามา ซึ่งอู๋ก็ได้ไปติดตั้งระบบให้ฟรี

“มันมีความต้องการเข้ามาตลอดครับ เช่น จากโรงพยาบาลแพร่ เขาแสดงความต้องการมาอย่างจริงจังว่าอยากได้ระบบนี้ไปตอบสนองการรักษาผู้ป่วย ซึ่งเราเห็นว่ามันมีประโยชน์มาก จึงไปทำให้”

         แรงใจได้ไฟมาเติมเชื้อ แต่สิ่งที่กลับไม่เอื้อคือ เวลาในชีวิตที่เริ่มติดขัดสับสน

         “ตอนนั้นปัญหาใหญ่ของผมคือเรื่องเวลาครับ เพราะทำงานประจำเต็มเวลาจันทร์ถึงศุกร์ เสาร์อาทิตย์ก็เรียนปริญญาโทต่อ สัปดาห์หนึ่งหมดแล้วครับ (หัวเราะ) ไม่มีเวลาที่จะไปช่วยเขาขยายผลต่อ” อู๋เล่าถึงช่วงเวลาที่แสนอลหม่านของชีวิต


ก้าวข้ามความเหนื่อยล้า ด้วยกำลังใจของชีวิต

          หลังจากไปติดตั้งระบบให้โรงพยาบาลแพร่ ทางโรงพยาบาลเองก็มีความต้องการให้อู๋ร่วมพัฒนาระบบต่อไป พร้อมๆ กับขยายผลสู่โรงพยาบาลอื่นๆ ซึ่งแม้จะยินดีอย่างยิ่ง แต่ด้วยภารกิจของชีวิตที่อัดแน่นเต็มเวลา ทำให้อู๋ไม่สามารถเข้าไปร่วมงานได้เต็ม 100%

         ทางออกจึงคือการแบ่งสรรหน้างาน ไปพร้อมๆ กับที่อู๋เองก็ต้องสละเวลาว่างในชีวิตอันน้อยนิด คือช่วงเย็นหลังเลิกงาน รวมถึงช่วงเวลาที่เคยใช้พักผ่อนส่วนตัว ไปกับการพัฒนาและเดินทางเพื่อขยายผลระบบนี้

           “คือการพัฒนาระบบมันต้องมีแหล่งเงินมาสนับสนุนการทำวิจัยครับ คุยกับทางโรงพยาบาลแพร่ เขาก็เสนอตัวว่า เขาจะนำระบบนี้ไปเสนอขายให้กับโรงพยาบาลอื่นๆ เพื่อให้ได้ทุนมา โดยแบ่งหน้าที่กันว่า โรงพยาบาลแพทย์เป็นคนทำเครื่องมือตรวจวัด ซึ่งก่อนหน้านี้ผมก็ไปสอนให้จนเขาทำเองได้ ส่วนตัวผมก็พัฒนาระบบแล้วไปติดตั้งให้ แล้วก็แบ่งสรรค่าตอบแทนกัน”

           โรงพยาบาลแพร่ขายระบบและเครื่องมือตรวจวัดนี้ในราคา 25,000 บาท โดยจะหักค่าระบบและการติดตั้งมาให้อู๋ ซึ่งเอาเข้าจริงๆ แล้ว เขาแทบไม่ได้กำรี้กำไรเท่าไหร่นัก เพราะ...

            “พอหักค่าเดินทาง ค่าน้ำมัน ค่าเสียเวลา ค่ากิน ค่าที่พักแล้ว ก็คิดว่าไปเที่ยวและทำบุญแล้วกันครับ (หัวเราะร่า) โรงพยาบาลเองก็เหมือนกัน ได้เงินมาส่วนหนึ่งเขาก็เอาเข้าองค์กรที่สนับสนุนผู้ป่วยเบาหวาน เป็นเหมือนการทำบุญมากกว่าการทำขาย (ยิ้ม)”

          เพราะสำหรับผู้ชายคนนี้ สุดท้ายแล้วเงินอาจไม่ได้สำคัญเท่าความสุขที่เขาได้รับ จากการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์

          “ส่วนที่โรงพยาบาลแบ่งมาให้เราก็ไม่ได้เยอะครับ เพราะเราไม่ได้เรียกร้องเยอะ (หัวเราะ) ตอนที่คุยกันแค่อยากให้ระบบมันได้ใช้งานจริงๆ เขาจะแบ่งมาเท่าไหร่ก็ได้ บางที่ก็ขาดทุน แต่ก็ได้กำไรตรงได้เที่ยว” อู๋กล่าว

           ทำงานจนแทบไม่มีเวลาพักผ่อน ต้องเดินทางอยู่ตลอด ทั้งผลตอบแทนที่มาก็ไม่ได้มากมายถึงขนาดจะตั้งตัวได้ แต่อู๋กลับไม่ได้มองว่านี่คือความยากลำบากที่ควรท้อถอย แต่คือก้าวย่างที่จะเพิ่มความแข็งแกร่งให้ชีวิต

            “ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการทำงานนี้ก็คือ ความรับผิดชอบที่ต้องเพิ่มขึ้นครับ จากที่แต่ก่อนเราเรียน ทำระบบนี้ขึ้นมาเพื่อให้จบการศึกษา แต่พอระบบมันไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนอีกหลายๆ คน ขึ้นกับคุณหมอ กับผู้ป่วย เราก็ต้องมีความรับผิดชอบ scope ที่เราจะต้องทำให้จบการศึกษามันเสร็จไปแล้ว ซึ่งถ้าเราตั้งเป้าแค่จบ องค์ความรู้ต่างๆ จากคุณหมอ ความต้องการของโรงพยาบาลอีกหลายที่ ผู้ป่วยอีกเท่าไหร่ มันจะสูญเปล่าไปหมด เราจึงอยากทำเพื่อตอบโจทย์การใช้งานของคนอีกจำนวนมากที่รออยู่” อู๋กล่าวด้วยรอยยิ้ม

          เจ้าตัวไม่มีปัญหากับความเหน็ดเหนื่อย แต่ทางบ้านล่ะ?

          “ทางบ้านสนับสนุนเต็มที่อยู่แล้วครับ แต่อาจจะห่วงเรื่องการเดินทางไกล กลัวเราเหนื่อยหรือไปแล้วไม่ได้อะไร ทั้งคุณพ่อคุณแม่และน้องเขามองด้วยความเป็นห่วงเรา แต่พอได้รางวัลอะไรมาเขาก็ภูมิใจ อย่างช่วงที่ลงหนังสือพิมพ์เขาก็ปลื้ม เอาไปคุยกับคนอื่นได้หลายวัน (หัวเราะ)”

"โรงพยาบาลบางที่ซื้อเครื่องมือมาราคาหลักแสน แต่ใช้ไม่ได้กับคนไข้ทุกคน เราจึงอยากทำเครื่องที่มันใช้ได้กับทุกคน เพราะสุขภาพมันประเมินด้วยเงินไม่ได้"

ทิวทัศน์แห่งความสำเร็จ จากยอดเขาแห่งความสุข

            การทำงานหนักในแง่หนึ่งก็ไม่ต่างจากการเดินเท้าสู่ยอดเขา หากเราท้อถอยลงกลางทาง แม้จะไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย แต่ก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น

            แต่หากเรากัดฟันหยัดยืนสืบเท้าไปทีละก้าว หยุดพักบ้างแล้วเดินต่อ สุดท้ายปลายทางเราย่อมถึงยอดเขา และสิ่งที่ได้รับคือทิวทัศน์อันสวยงาม และความแข็งแกร่งจากการเอาชนะอุปสรรค ที่เกิดขึ้นในหัวใจของเราเอง

            เช่นเดียวกับอู๋ในเวลานี้ ที่เดินมาจนถึงยอดเขาที่เขาตั้งมั่น ต่างแต่เพียงยอดเขาสำหรับคนอื่นอาจคือยอดเขาแห่งความสำเร็จ ชื่อเสียง และเงินทอง แต่สำหรับอู๋ เขากำลังยืนอยู่บนยอดเขาแห่งความสุข นั่งมองความสำเร็จของระบบวิเคราะห์ฝ่าเท้าอัจฉริยะที่เขาพัฒนาขึ้น กระจายขยายผลสู่สาธารณะในวงกว้าง

           “ที่ทำแล้วไม่ท้อ เพราะมันทำแล้วได้ใช้ประโยชน์ครับ โรงพยาบาลได้ใช้ คนไข้เขาพอใจ เหมือนได้บุญที่ระบบของเราช่วยรักษาเขาได้ ความต้องการของผู้บริโภคนั่นแหละครับที่ทำให้อยากทำ ถ้าไม่มีคนใช้ ก็คงไม่ได้พัฒนาต่อแล้ว” อู๋กล่าว

           ณ ปัจจุบันระบบของอู๋ได้ถูกติดตั้งและใช้งานจริงในโรงพยาบาล 8 แห่งทั่วประเทศ อันได้แก่

                1. โรงพยาบาลสมเด็จราชเทวี ณ ศรีราชา จ.ชลบุรี

                2. โรงพยาบาลแพร่ จ.แพร่

                3. โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร ในสังกัดโรงพยาบาลศิริราช

                4. โรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก

                5. โรงพยาบาลศรีนคร จ.สุโขทัย

                6. โรงพยาบาลสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์

                7. โรงพยาบาลแม่จริม จ.น่าน

                8. โรงพยาบาลเชียงคำ จ.พะเยา

           และเชื่อได้ว่าตัวเลขจะไม่หยุดอยู่แค่นี้ โดยเฉพาะในภาคเหนือ ที่โรงพยาบาลแพร่กำลังขยายผลระบบนี้ออกไปอย่างกว้างขวาง และรอให้อู๋ไปติดตั้งให้

ถือเป็นทิวทัศน์แห่งความสำเร็จ ที่เกินไปกว่าที่อู๋คาดหวังไว้

           “ที่ตั้งเป้าไว้คือโรงพยาบาลได้ใช้ก็สำเร็จแล้วนะครับ คิดว่าตอนนี้ก็สำเร็จ 100% แล้วละ ส่วนที่เพิ่มมาถือเป็นกำไร เราตั้งเป้าไว้แค่นี้แต่ผลลัพธ์ที่ได้ต่อมามันมากกว่านั้นอีก” อู๋กล่าวด้วยรอยยิ้ม

มุ่งสู่ยอดเขาลูกต่อไป...

          “ที่ระบบนี้สำเร็จได้ก็เพราะมีความต้องการจากภายนอกเข้ามาสูง และเราอยากทำอะไรที่มีประโยชน์และขายได้ ขายได้ในที่นี้ไม่ใช่ขายเพื่อกำไรเป็นหลักนะครับ แต่ขายเพื่อเปลี่ยนมุมมองของโรงพยาบาลด้วย ว่าทำไมเขาต้องสั่งเครื่องมาจากต่างประเทศ เสียเงินให้ต่างชาติ โรงพยาบาลบางที่ซื้อเครื่องมือมาราคาหลักแสน แต่ใช้ไม่ได้กับคนไข้ทุกคน เราจึงอยากทำเครื่องที่มันใช้ได้กับทุกคน เพราะสุขภาพมันประเมินด้วยเงินไม่ได้” อู่กล่าวด้วยเสียงมุ่งมั่น

         ปัจจุบัน การพัฒนาระบบเพื่อใช้ในทางการแพทย์สำเร็จไปแล้ว จะเหลือก็ในส่วนของการพัฒนาระบบให้ดียิ่งๆ ขึ้นผ่านการวิจัย แต่ในระหว่างนี้ ก็มีความท้าทายใหม่เข้ามา นั่นคือการพัฒนาระบบเข้าสู่อุตสาหกรรมรองเท้า ซึ่งเป็นแนวทางที่คณะกรรมการโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ให้อู๋ไว้เป็นการบ้าน

         แต่ก็เหมือนเช่นกรณีของโรงพยาบาลแพร่ ยังไม่ทันที่อู๋จะทันคิดทำอะไร จู่ๆ Hush Puppies บริษัทผลิตรองเท้าก็ติดต่อเข้ามาผ่านทางอาจารย์ที่ปรึกษา ว่าต้องการนำระบบนี้ไปใช้ในร้านของเขา

        “เลยกลายเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันที่ทำให้เราต้องพัฒนาระบบต่อไปข้างหน้าอีกครับ ตอนนี้ก็อยู่ในกระบวนการการพัฒนาระบบร่วมกัน เขาก็ส่งคนมาช่วย มาคุยกัน เราอยากรู้อะไรเกี่ยวกับอุตสาหกรรมรองเท้าก็เข้าไปเรียนรู้จากเขา จนกว่าจะพัฒนาระบบเสร็จสมบูรณ์นั่นแหละครับ ถึงจะเป็นเรื่องของธุรกิจซื้อขายระบบกัน”

          แผนการในอนาคตของอู๋จากนี้ไป จึงแบ่งออกเป็น 4 ด้าน คือ แผนด้านการแพทย์ แผนด้านอุตสาหกรรมรองเท้า และด้านที่มีแนวโน้มจะต่อยอดได้ คือ แผนด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา รวมไปถึงด้านสุดท้าย คือ การสร้างธุรกิจของตัวเอง

          ซึ่งทั้งหมดสรุปรวบยอดได้ว่า อู๋ต้องการจะพัฒนาระบบเพื่อให้เกิดการงานจริงในระดับประเทศ

          แผนด้านการแพทย์ อู๋จะร่วมกับโรงพยาบาลขยายผู้ใช้งานระบบออกไปในลักษณะป่าล้อมเมือง คือจากภูมิภาคสู่เมืองใหญ่ อาจเริ่มจากหน่วยงานเล็กๆ ซึ่งตอนนี้ที่มีการเริ่มไว้แล้วที่ศูนย์ผู้ป่วยเบาหวานภาคเหนือ ใช้การขยายองค์ความรู้ออกไปผ่านการประชุมวิชาการของแพทย์พยาบาล การมาศึกษาดูงานของหน่วยงานจากภายนอกจังหวัด และเหนืออื่นใดคือให้เกิดการทดลองใช้จริง และบอกกันปากต่อปาก

          แผนด้านอุตสาหกรรมรองเท้า อยู่ในช่วงการพัฒนาระบบเพื่อให้ Hush Puppies นำไปใช้งานในส่วนของการโฆษณา โดยอู๋จะพัฒนา application ที่ตอบโจทย์ด้านอื่นๆ นอกจากด้านสุขภาพเท้า เช่น ลูกเล่นว่าลูกค้าใส่รองเท้าแบบไหนถึงจะเหมาะที่สุด โดยให้สอดคล้องกับตัวสินค้าที่มีอยู่

           แผนด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา เป็นการผนวกการแพทย์กับอุตสาหกรรมรองเท้าเข้าด้วยกัน เหมือนในต่างประเทศ ที่ร้านขายรองเท้ากีฬาจะมีบริการตรวจวัดเท้า และเลือกสรรรองเท้าที่เหมาะสมมาให้เรา

            แผนด้านธุรกิจส่วนตัว เป็นการต่อยอดจากแผนด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา กล่าวคือเมื่อตรวจวัดเท้าเสร็จแล้ว แทนที่จะไปพึ่งร้านหรือโรงพยาบาลให้ผลิตรองเท้าออกมา อู๋อาจสร้างแบรนด์เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์รองเท้าขึ้นมาเอง แต่แผนนี้ยังเป็นเรื่องในระยะยาว และจำเป็นต้องหาแหล่งเงินทุนจากภายนอก ซึ่งน่าจะมีความชัดเจนมากกว่านี้ในอนาคตที่ระบบพัฒนาไปถึงจุดสูงสุดแล้ว

            “ตอนนี้ระบบมันยังไม่ได้ออกมาเป็น Actual Product จริงๆ ที่สามารถขายได้ในระบบตลาดครับ แต่เป็น Customize Product ที่พัฒนาขึ้นตามความต้องการของลูกค้าแต่ละแห่ง ซึ่งเมื่อถึงวันหนึ่งถ้ามันพัฒนาไปจนอิ่มตัวแล้ว มันถึงจะกลายเป็น Function ที่เราสามารถจัดการได้” อู๋กล่าวด้วยดวงตาเป็นประกาย


“สิ่งใดที่เราทำแล้วเห็นว่ามันมีประโยชน์ ทำไปเถอะครับ ถ้าเราตัดสินใจไปในทางที่มีประโยชน์แล้ว อย่างไรก็มีประโยชน์”




ทุกความฝันมีหนทางของมันเสมอ

          “ความจริงเท้าเป็นเรื่องใกล้ตัวทุกคนนะครับ เท้าอยู่ติดกับตัวเรา แต่เราไม่เคยสนใจเลย เวลาซื้อรองเท้าก็แค่ถูกตาถูกใจ แต่ไม่เคยเลือกให้ถูกเท้า ตอนแรกที่ส่งประกวด คนก็มองว่าเท้าเป็นเรื่องต่ำ แต่พอเกิดประโยชน์เห็นผลลัพธ์ คนก็ชื่นชม” อู๋กล่าวถึงผลตอบรับจากภายนอก ต่อแรงบันดาลใจที่ตัวเขาพัฒนาขึ้นมาจนเกิดเป็นจริง

          มองเส้นทางที่ผ่านมา กว่าจะเกิดเป็นระบบวิเคราะห์ฝ่าเท้าอัจฉริยะได้ อู๋ต้องผ่านเหตุการณ์และอุปสรรคนานัปการ ทั้งความยากลำบากของการผสานศาสตร์ 2 ด้านเข้าด้วยกัน ปัญหาเรื่องแหล่งทุน ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการเวลาในชีวิต รวมไปถึงปัญหาปลีกย่อยอีกนับไม่ถ้วน

          แต่สุดท้าย เขาก็ผ่านมาได้ และผลงานของอู๋ก็เดินทางไปมอบสุขภาพที่ดีให้แก่เท้าของผู้ป่วยจำนวนมากอย่างน่าชื่นชม

         “สำคัญคือแรงบันดาลใจครับ มันต้องมาจากตัวเองก่อน ทุกคนต้องมีจุดหนึ่งแหละที่ต้องตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำ อยากฝากง่ายๆ ครับว่า สิ่งใดที่เราทำแล้วเห็นว่ามันมีประโยชน์ ทำไปเถอะครับ ถ้าเราตัดสินใจไปในทางที่มีประโยชน์แล้ว อย่างไรก็มีประโยชน์ อยู่ที่หัวใจนี่แหละว่าจะตัดสินใจอย่างไร” อู๋ทิ้งท้ายอย่างอารมณ์ดี

          ไม่ต้องเกรงกลัวต่ออุปสรรคหรือปัญหา เพราะทุกอย่างมีทางแก้ไข เช่นที่อู๋ได้แสดงให้เห็นแล้ว ว่าถ้าขาดความรู้ ก็ต้องพึ่งผู้ที่มีความรู้กว่า ขาดสิ่งไหนก็วิ่งเข้าหาสิ่งนั้น เมื่อมีโอกาสไม่ควรดูดาย และสุดท้าย หากปรารถนาทิวทัศน์แห่งความสำเร็จ ก็ต้องเดินขึ้นเขา เพราะไม่มีความสำเร็จใดที่ได้มาโดยที่เราอยู่เฉยๆ

            เพราะเท้าไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อให้ยืนอยู่กับที่ แต่มีไว้เพื่อก้าวผ่านอุปสรรคของปัจจุบัน ไปสร้างสรรค์ประโยชน์ในอนาคต

การเดินทางของอู๋บอกเราอย่างนั้น...