"ชุดความคิด" หัวใจการสร้างกระบวนการพัฒนาเด็กแบบได้ผล

การจัด “ค่ายพัฒนาศักยภาพและสร้างเครือข่ายเยาวชนสร้างสรรค์ชุมชนท้องถิ่น 21 วัน ครั้งที่ 1" จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-21 ตุลาคม 2562 ณ หน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้าห้วยสามสบ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน ที่ผ่านมา เป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักงานส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในการดำเนินโครงการวิจัย 5 อปท และร่วมมือกับสำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สมัชชาการศึกษาจังหวัดสุรินทร์ คณะกรรมการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ 25 อปท.จังหวัดสุรินทร์ นายอำเภอจอมพระและนายอำเภอสนม เป็นอีกหนึ่ง “เครื่องมือ”เพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชนทั้งในและนอกระบบ

ในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก อาจารย์ประชา หุตานุวัตรรองประธานกรรมการบริหาร สถาบันยุวโพธิชน มูลนิธิสัมมาชีพ ซึ่งมีความชำนาญในด้านการจัดกระบวนการเรียนรู้ การภาวนา การพัฒนามนุษย์จากด้านใน มาสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้แก่เยาวชนทั้งในและนอกระบบ วันนี้อาจารย์ได้มาถ่ายทอดแนวคิดในการจัดกระบวนการพัฒนาเด็ก เยาวชน ทั้งในและนอกระบบ ให้ได้ผลต้องประกอบด้วยอะไร และทำอย่างไร เพื่อให้ความรู้ตรงนี้เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจสามารถนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาเด็ก เยาวชนในชุมชนของตนเองได้ต่อไปในอนาคต

"จากที่ได้ลงไปดูเด็กทำกิจกรรมตาข่ายไฟฟ้ามองเห็นได้ว่าเด็กเหล่านี้เป็นเด็กที่มีพลังดีมาก มีความเป็นผู้นำโดยธรรมชาติ"

อาจารย์เกริ่นก่อนถ่ายทอดแนวคิด ของผู้ออกแบบกระบวนการ ต่อการพัฒนาเยาวชน ให้มีประสิทธิภาพและสัมฤทธิผล "การพัฒนาเด็ก ใช้เครื่องมืออย่างเดียวไม่ได้ เครื่องมือเป็นเพียงเครื่องมือ แต่เวลาจะพัฒนาเด็กมันต้องมีหัวใจที่ถูกต้องด้วย และต้องมีชุดความคิดที่ชัดเจนด้วย จึงจะใช้เครื่องมือได้ถูกต้องในหลายกรณี องค์กรต่างๆ ชอบหาเครื่องมือ เครื่องมือไม่ใช่คำตอบ แต่หัวใจที่ถูกต้องเป็นคำตอบ และหลักคิดที่ชัดเจนเป็นคำตอบ

สำหรับเด็กนอกระบบ ในแง่หนึ่ง เขาก็เป็นคนเหมือนเด็กทั่ว ๆ ไป เครื่องมือจะต้องมีเครื่องมือ ชุดความคิด และทัศนคติที่ถูกต้อง และหมายถึงสำหรับเด็กทั่วไปด้วย และต้องปรับให้เฉพาะกับกลุ่มนี้ด้วย ต้องเข้าใจทั้งสองชุด เวลาเราจะฝึกเด็ก ชุดความคิดอันแรก การตัดสินใจคือการศึกษาถ้าเด็กนั่งอยู่ในห้อง ฟังเล็กเชอร์ ดูหนัง ทำโน้นนี่ตามครูสั่ง การศึกษาไม่เกิด เพราะเด็กไม่ได้ตัดสินใจ การศึกษาจะเกิดเมื่อเด็กได้ร่วมตัดสินใจกับเรา เช่น กำหนดกติกาด้วยกัน ถอดองค์ความรู้ด้วยกัน สร้างองค์ความรู้ด้วยกัน องค์ความรู้ไม่ได้มาจากครูฝ่ายเดียว กระบวนกรหรือครูเป็นคนที่ร่วมกับเด็กสร้างองค์ความรู้ขึ้นมา ดังนั้นองค์ความรู้นี้เป็นของเขา ไม่ใช่ของครู เป็นการร่วมกันสร้าง ตัวอย่างเช่น กิจกรรมตาข่ายไฟฟ้า อันนี้เป็นหลักคิดอันแรก

หลักคิดอันที่สองคือความรักคือการศึกษาถ้าหากเด็กแข่งขันกัน ต่อสู้กัน อยากชนะคนอื่น อันนี้การศึกษาไม่เกิด การศึกษาจะเกิดเมื่อเขารู้สึกว่าเขาเป็นเพื่อนกัน เขาเป็นมิตรกัน ช่วงสองสามวันนี้ยังอยู่ในระหว่างการสร้างกระบวนการให้เกิดชุมชนกัลยาณมิตร ชุมชนที่เห็นเพื่อนมนุษย์เป็นเพื่อน ไม่ใช่เป็นคู่แข่ง

หลักอันที่สาม เด็กจะต้องมีฉันทะที่จะฝึกฝนตนเอง ที่จะขัดเกลาตัวเอง ถ้าไม่มีฉันทะ จะฝึกฝนตนเอง จะขัดเกลาตัวเอง เราสอนไปให้เหนื่อยตายก็ไม่มีประโยชน์อะไร ขาก็สนุกในค่าย จบแล้วก็จบกันไป สิ่งที่สำคัญมากคือเด็กต้องมีฉันทะที่จะไปปรับปรุงตัวเอง ขัดเกลาตัวเอง บำรุงตัวเองให้งอกงามต่อไปหลังจากตรงนี้ ผมว่านี่เป็นหลักพื้นฐานของหลักคิดที่เวลาเราจะจัดกระบวนการเรียนรู้ เราก็จัดสามสี่ตัวนี้ให้ชัดมาก การที่เด็กจะเกิดฉันทะที่จะฝึกฝนตัวเองได้ ต้องทำทุกวันในค่าย เหมือนที่เราภาวนาทุกวัน เราทำกิจกรรมโน้นนี่ ถอดบทเรียนทุกวัน ตรงนี้เป็นการฝึกฝนตนเอง อย่างการทำกิจกรรมดูคลิปสิ่งแวดล้อมแล้วเด็กช่วยกันคิด กิจกรรมอย่างนี้เราทำทุกวัน ฉันทะในการคิดเป็นส่วนสำคัญของการฝึกฝนตนเอง เพราะฉะนั้นเราถือเรื่องพวกนี้สำคัญมาก และการใคร่ครวญ ตรึกตรองชีวิตตัวเอง ก็เป็นเรื่องสำคัญมากเช่นกัน

ดังนั้น ในแง่หนึ่ง เป็นการกลับมาหาหลักของพุทธศาสนา กัลยาณมิตร โยนิโสมนสิการ ทั้งสองส่วนนี้เป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้สำหรับการศึกษา ถ้าการศึกษาไม่มีสองส่วนนี้จะเรียกว่าเป็นการศึกษาที่แท้จริงไม่ได้ ทั้งหมดนี้เป็นหลักคิดที่กระบวนกร คนจัดกระบวนการเรียนรู้ต้องคิดให้ชัดมาก

ทีนี้นอกจากนั้นแล้ว ทำไมเราต้องมาอยู่ในป่า ทำไมเราไม่เช่าโรงแรม พักสบาย ๆ อยู่อย่างนั้น การเรียนรู้ไม่เหมือนกัน บรรยากาศแบบนี้ สิ่งแวดล้อมแบบนี้ เด็กอยู่กับธรรมชาติ ได้พลังของธรรมชาติ ดังนั้นเวลาเราจัดกระบวนการเรียนรู้ นอกจากคิดถึงเนื้อหาแล้ว บรรยากาศสำคัญมากบรรยากาศแบบนี้ นั่งกับพื้น นั่งเป็นวงกลม แทนที่จะนั่งโต๊ะ มีจออย่างดี มีทุกอย่างเรียบร้อย คนละบรรยากาศ และการนั่งเป็นวงกลม แทนที่จะนั่งเป็นแถวเป็นแนว ก็เป็นการจัดบรรยากาศซึ่งต่างจากบรรยากาศของห้องเรียนทั่วไป ในแง่ที่ทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันมากกว่าเป็นคนที่รับความรู้จากใคร หลักพวกนี้ ต้องจับประเด็นพวกนี้ให้ชัด

เวลาเราจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเติบโตลึกซึ้งของมนุษย์ ทุกกลุ่มต่างกันหมด เพราะฉะนั้น เราไม่มีคำตอบที่ตายตัว กระบวนกรจะต้องเป็นนักอ่านพลังของกลุ่มจะเห็นว่าตารางเราเปลี่ยนตลอดเวลา จะเห็นว่าทีมเราประชุมทุกวัน จริง ๆ ประชุมทั้งกลางวันและเย็นด้วยซ้ำไป และถ้าเราอ่านแล้วพลังกลุ่มเป็นอย่างไร เราจะปรับตลอดเวลาเพื่อให้เหมาะสมกับกลุ่มนั้น ๆ ไม่ใช่เฉพาะกับเด็กกลุ่มนี้ แต่กับเด็กทุกกลุ่ม เราจะทำแบบนี้ กับผู้ใหญ่ด้วย และไม่ใช่กับคนไทย เราทำงานกับพี่น้องเพื่อนบ้านด้วย ทำงานกับพี่น้องในประเทศจีน พี่น้องในเมืองแถบตะวันตกด้วย เราใช้กระบวนการเดียวกัน คือกระบวนการของเราต้องปรับให้เหมาะกับคนเรียนแต่ว่าไม่ทิ้งหลักการพื้นฐานที่เราพูดมาเมื่อกี้นี้ ต้องจับหลักการพื้นฐานให้แม่น ส่วนเครื่องมือต่าง ๆ นี้ปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ยกตัวอย่าง ผมมาเห็นเด็กเขาว่างปั๊บตีกลอง ว่างปั๊บตีกลอง อันนี้เป็นทางออกทางหนึ่งของเขา ถ้าใช้การเล่นการแสดงออกของเขา เป็นการเติบโตของเขา เราไม่เคยให้เด็กออกมาเล่นแบบนี้นะครับ เหมือนตอนกลางวันนี้ แต่พอเราเห็นพลังแบบนี้ ต้องใช้อันนี้ เป็นต้นนะครับ แล้วจะมีอื่น ๆ อีก อย่างเราเห็นเด็กอย่างนี้ปั๊บ ความเป็นผู้นำของเด็กเกิด เมื่อกี้เห็นใช่ไหมครับ พอเราให้เขาได้แสดงดนตรีและเตรียมอุปกรณ์หลายคนเข้ามาแบก เข้ามารับผิดชอบ เข้ามาอะไรแบบนี้ แต่เป็นคนละกลุ่มกับที่ขึ้นมาเล่นกลองนะ อีกแบบหนึ่งนะ

เพราะฉะนั้นเพื่อจะให้เด็กทั้งหมดได้แสดงความเป็นผู้นำ เราต้องมีกิจกรรมที่หลากหลายมีเครื่องมือที่หลากหลาย และเครื่องมือนี้หาได้ในทุกที่ คิดได้ในทุกที่ จัดให้เหมาะกับสถานการณ์ในทุกที่ได้ ดังนั้นในแง่นี้ กระบวนกรจะต้องเป็นคนที่ละเอียดอ่อนกับพลังของกลุ่ม และสามารถปรับคลื่นพลังของเรากับพลังของกลุ่มให้เข้ากันได้แล้วเราจะรู้ว่าแบบนี้ต้องทำแบบไหนถึงจะเหมาะกับกลุ่มนี้

ถ้าถามว่าเด็กนอกระบบ ข้อต่างคือ เด็กนอกระบบแบบนี้ มีความเป็นผู้นำมากกว่าเด็กเรียน เด็กที่อยู่ในระบบไม่มีความเป็นผู้นำมากเท่านี้ เห็นชัดเจน เด็กพวกนี้พร้อมที่จะลุกขึ้นมาทำโน้นทำนี่ คล่องแคล่วว่องไว การแสดงออกต่างๆ ก็ชัดเจนมาก ดังนั้นเขามีความเป็นผู้นำมาก อันนี้เราต้องจัดกิจกรรมให้ท้าทายพอสำหรับเขา กิจกรรมที่ท้าทายเด็กมันจะยากหรือง่ายขึ้นอยู่กับคนเรียนแต่ละกลุ่มๆ ด้วย

ตัวอย่างหนึ่งคือปีที่แล้วเราจัดค่ายให้เณร 21 วันเหมือนกัน แถวนี้ ก็เป็นเณร ในแง่หนึ่ง เณรก็เป็นเด็กนอกระบบนะครับ เพราะว่าเขาก็เป็นคนจนที่สุดของคนจนที่มาบวชเณรเพื่อจะมาได้เรียน เราก็ได้เห็นว่าชีวิตเณร เขาต้องธุดงค์ ก็พาไปอยู่ป่า แล้วเวลาอยู่ป่าก็อยู่คนเดียว กลางคืนไม่ให้มาคุยกัน อีกคืนหนึ่งให้เดินกลางคืนกลับมาวัดห้าหกกิโลเมตร อย่างนี้เป็นต้น เดินทะลุป่าบ้าง เขารู้สึกท้าทาย อีกอันหนึ่งก็คือเณรห้าว ห้าว แปลว่าเขาต้องการการท้าทายที่เหมาะกับเขา ไปนอนป่าช้ากัน ก็พาเณรไปนอนป่าช้า ต่างคนต่างอยู่ อะไรแบบนี้ คือสร้างความเป็นผู้นำ ต้องให้เหมาะกับพลังของเขาด้วย ต้องเหมาะกับพลังของเขา ขึ้นอยู่ที่สถานการณ์แต่ละที่ เราต้องจัด ปรับให้เป็นตามความเหมาะสมของตอนนั้น

ทีนี้ที่สำคัญมากก็คือทัศนคติของกระบวนกร กระบวนกรไม่ใช่งานอาชีพ กระบวนกรเป็นงานของชีวิตอย่างอ้อย (วราภรณ์ หลวงมณี) เขาผูกพันกับเด็ก โดยเฉพาะเด็กแบบนี้ เขาผูกพัน เขารู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของพลังเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งที่จะโอบอุ้มคนเหล่านี้ ผมพูดชวนเขาไปทำงานที่ได้เงินเยอะกว่านี้เขาไม่สนใจ ผมทำงานหลายประเทศ และชวนเขาไป เขาสนใจ แต่อุทิศตัวให้กับเด็กที่อยู่นอกระบบ คนที่อยู่นอกระบบ ในแง่นี้ ผมถือว่าเขาเป็นหัวหน้า ผมมาช่วยเขาสำหรับงานนี้

สำหรับความคาดหวังต่อเด็กกลุ่มนี้หลังจากค่าย 21 วัน ผมคิดว่าบางคนก็จะค้นพบตัวเอง บางคนจะเริ่มเห็นคุณค่าของตัวเองสำคัญที่สุดคือเราต้องรู้ว่าไม่ว่าเด็กนอกระบบหรือในระบบ รวมทั้งพวกเราที่นั่งอยู่ในที่นี้ทุกคนด้วย สังคมกดให้พวกเรารู้สึกว่าพวกเราเป็นคนไม่ดี คนใช้ไม่ได้ คนเก่งไม่พอ เขารวยเป็นพันล้าน รู้สึกว่ารวยไม่พอ มีเงินเป็นร้อยล้านก็คิดว่ายังรวยไม่พอ อันนี้คือสังคมทำ หน้าตาใช้ได้ ก็รู้สึกว่าสวยไม่พอ เพราะว่าไม่ขาวเหมือนนางแบบที่โฆษณาอยู่ในโทรทัศน์ สังคมทั้งหมดสอนให้คนดัดจริตและรู้สึกว่าตัวเองดีไม่พอตลอดเวลา ผมก็นึกว่าเป็นเฉพาะคนไทย ผมไปอยู่อังกฤษ คนอังกฤษก็เป็นแบบนี้ รู้สึกว่าตัวเองดีไม่พอ เป็นประเด็นพื้นฐานของมนุษย์สมัยใหม่ เขาเรียกเป็นภาษาวิชาการว่าความแปลกแยก มนุษย์แปลกแยกกับตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า เพราะฉะนั้นถ้า 21 วันนี้มีเด็กสักห้าคนหรือสิบคนรู้สึกว่าชีวิตเรามีค่า ผมคิดว่าประสบความสำเร็จแล้ว ไม่ง่ายครับ เพราะว่าระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมือง ระบบวัฒนธรรมทั้งหมด กดให้คนไม่มีค่า เพราะอะไร ถ้าคุณรู้สึกมีค่าในตัวคุณเอง คุณไม่ต้องซื้อมือถือใหม่ มือถือยังใช้ได้ คุณไม่ต้องซื้อใหม่ คุ ณรู้สึกไม่มีค่าเพราะคุณต้องมีโทรศัพท์รุ่นล่าสุด มีไอแพดรุ่นล่าสุด ต้องมีรถยนต์แบบนี้ ทั้งหมดนี้เพราะความแปลกแยกพื้นฐานกับตัวเอง ไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง เพราะฉะนั้นงานของเรา ให้เด็กค้นพบคุณค่าที่แท้จริงของตัวเอง เกิดความเคารพตัวเองเป็นพื้นฐาน การเคารพตัวเอง ภาษาโบราณก็คือ Hero การเคารพตัวเองเป็นฐานของคุณธรรมทุกอย่าง

ผมไม่ถือว่าเด็กเหล่านี้เป็นปัญหา เด็กเหล่านี้เป็นเหยื่อของสังคมครับ เป็นเหยื่อของสังคมระบบปัจจุบันนี้ เกิดจากอะไร เกิดจากสังคมที่แข่งขันกัน พวกนี้เป็นพวกแพ้แล้วถูกคัดออก ระบบสังคมแข่งขันกัน เพื่อจะไต่ยอดขึ้นไปข้างบน เราแข่งขันกัน ในที่สุด เพื่ออะไร เรากำลังทำงานกับกลุ่มนี้ คือกลุ่มที่ถูกคัดออก ถูกถีบออกมาจากระบบ เขาเป็นส่วนที่อยู่ล่างสุดของสังคม แต่เขาเป็นคนมีค่า และมีความหมาย เราต้องทำให้เขาเห็นว่าเขามีค่า และมีความหมาย ในห้าสิบคน ถ้าห้าคนเห็นอันนี้ ผมคิดว่าประสบความสำเร็จครับ

แต่งานนี้ถ้าจะทำจริงจังต้องทำต่อเนื่อง การที่จะพยุงความรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าจะต้องติดตามด้วยกิจกรรมอื่น ๆ อีก ถ้าการฝึกฝนตัวเองได้ผล หลายคนก็จะฝึกฝนตัวเอง สิ่งสำคัญที่สุดคือกัลยาณมิตรถ้าเด็กเขารู้สึกว่าเขามีเพื่อน มีชุมชน กลับไปแล้ว ที่สังคม คือต้องทำงานกับพ่อแม่ กับชุมชน ซึ่งทางเราทำอยู่แล้วใช่ไหมครับ ผมว่าอันนี้ดีทางมูลนิธิสยามกัมมาจล ทำเรื่องนี้ผมว่าดี เพราะถ้าเขากลับไปแล้ว ชุมชนยังมองเขาเหมือนเดิม เขาก็ไม่มีทางดีขึ้น ถ้าชุมชนเห็นเขามีค่า แล้วเปิดทางให้เขาทำโน้นทำนี่ เขาจะมีความหมาย และเขาจะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปจะเห็นว่าหลายคนที่มาเป็นผู้ช่วยกระบวนกร เจ็ดแปดคน เขาก็เป็นเด็กแบบนี้มาก่อน และเขาก็สามารถเปลี่ยนตัวเขาเองขึ้นมาได้ ดังนั้นโอกาสที่คนเหล่านี้ฝึกฝนให้เชี่ยวชาญขึ้น คนเหล่านี้ก็จะเป็นกัลยาณมิตรของคนอื่น กระบวนกรคือใคร กระบวนกรคือกัลยาณมิตร กระบวนกรเป็นเพื่อนที่ดีของมนุษย์และถ้าเด็กเหล่านี้มีแวว เติบโตมาสามารถเป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อน อีกหน่อยกระบวนการจะเกิด ที่เขาจะปรับของเขาดีขึ้นเรื่อยๆ”

สังคมโดยทั่วไป ที่มีเด็กเหล่านี้อยู่ในพื้นที่หรือชุมชนตัวเอง ที่ไม่ได้รู้จักการใช้กระบวนการ อยากให้อาจารย์ช่วยให้แนวคิดว่าจะพัฒนาเด็กเหล่านี้อย่างไร “หนึ่งต้องเห็นก่อนว่าเขาไม่ใช่ตัวปัญหา ต้องเห็นว่าเขาเป็นเหยื่อ และเห็นว่าเขามีความสามารถเด็กพวกนี้เก่งทั้งนั้นเลยครับ อันนี้ก็ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มนี้นะ ถ้าเราสังเกตการศึกษาแบบปัจจุบันนี้ดี ๆ พวกที่เรียนเก่งได้เป็นเสมียนหรือซุปเปอร์เสมียน คนที่ขึ้นมาเป็นหัวหน้าคือคนที่หนีโรงเรียนเป็น คนที่โดดโรงเรียนเป็น คนที่คบเพื่อนเป็น พวกเรียนเก่งคบเพื่อนไม่เป็น ดังนั้นเรียนเก่งอย่างเดียวไม่พอ ชีวิตมันมีหลายด้าน สังคมเราปัจจุบันนี้ เราตัดสินคนด้วยมาตรฐานเดียว คือ คุณมีเงินมากไหม คุณมีอำนาจมากไหม คุณมีชื่อเสียงมากไหม บ้าเลยครับ คนมีความสามารถเยอะแยะ คุณค่ามีเยอะแยะ ไม่จำเป็นต้องมีชื่อเสียง คุณก็เป็นคนมีค่าได้ สังคมจะต้องเปลี่ยนด้วย ระบบคุณค่าในสังคมจะต้องเปลี่ยนด้วย ถ้าจะช่วยเด็กเหล่านี้ เราก็ต้องมองสังคมให้ออกด้วย ถ้าเรายังเป็นเหยื่อของสังคมปัจจุบันนี้ เรายังไต่เต้าแข่งขัน ไม่รู้จักพอ เราก็ช่วยเด็กเหล่านี้ไม่ได้หรอก เพราะเรายังช่วยตัวเองไม่ได้ เราก็เห็นพวกนี้เป็นพวกแพ้อยู่ดี

ถ้าพูดแทนเด็กกลุ่มนี้ได้ อาจารย์จะบอกอะไร บอกกับใคร “ผมมีค่า ผมไม่ได้เป็นคนไม่มีค่า ไม่ต้องมาตีตราผม อยากบอกทุกคนในสังคมแบบนี้ ผมเป็นอย่างนี้ ผมเป็นเหยื่อ แต่ผมก็รับผิดชอบได้ ผมลุกขึ้นมายืนด้วยตัวเองได้ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือเขาต้องการเพื่อนที่ดี เพื่อนที่เห็นคนเป็นคน ไม่ตีตราคน

เวลาเราทำงานกับเด็กเหล่านี้ ไม่ว่าเราจะทำได้วิเศษแค่ไหน เราทำที่ปลายเหตุนะครับ เราแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะว่าต้นเหตุของมันคือความเหลื่อมล้ำในสังคมซึ่งเป็นปัญหาทางโครงสร้างสังคมของเรา แล้วเราไม่ได้แก้กันเลย รัฐก็ไม่เคยคิดจะแก้เรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะฉะนั้นถ้าตราบใดที่เราไม่แก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคม จะมีเด็กอย่างนี้อยู่เสมอ จะมีเด็กที่ถูกคัดออกออกมาตลอดเวลา แล้วที่ร้ายแรงกว่านั้นคือตอนนี้สังคมไทยอาจจะไม่รู้สึก ชุมชนของเราล่มสลายนะครับ ชุมชนของเราพังไปแล้ว เด็กชนบทแต่ก่อน เรามีชุมชนซึ่งมีคุณค่าที่ส่งเสริมความเป็นมนุษย์หล่อหลอมขึ้นมาพร้อมกับครอบครัว ตอนนี้ชุมชนก็ล่มสลาย ครอบครัวก็พังถ้าเราไม่มีสองสถาบันนี้ ยากมากที่จะดูแลเด็กแบบนี้ แม้เราจะมาจัดค่าย 21 วันกี่ครั้งก็ตาม ถ้ากลับไปเขาไม่มีชุมชนรองรับ ไม่มีครอบครัวรองรับ จะยากมาก

ยกตัวอย่างครอบครัวพังทลายอย่างไร สมัยก่อนนี้ อยู่กันสองสามชั่วคนในครอบครัวเดียวกัน อยู่กันแล้วก็ดูแลกัน ตอนนี้ส่วนใหญ่เด็กก็โตมากับปู่ย่าหรือตายาย พ่อแม่ก็แยกกันไปทำมาหากินที่นั่นที่นี่ ต่างคนต่างไป เมื่อเราไปทำงานโรงงานที่นั่น โรงงานที่นี่ ไปเจอคนใหม่ก็รักกัน ก็แต่งงานกันใหม่ ลูกก็ไม่มีคนดู ผมเจอคุณยายหลายคนที่ต้องเลี้ยงหลานสี่ห้าคน คนละพ่อทั้งหมดเลย นี่แปลว่าครอบครัวเราล่มสลาย แล้วคุณย่า คุณยาย คุณตา เป็นคนดี แต่อยู่ในระบบสังคมอีกแบบหนึ่ง แบบโบราณ ลูกหลานอยู่กับโทรศัพท์มือถือ อยู่กับอีกชุดความคิดหนึ่ง เรื่องราวคนละแบบ และการสื่อสารก็เป็นไปไม่ได้ ไม่รู้จักกันเลยครับ คนเฒ่าคนแก่กับเด็กที่อยู่ด้วยกัน เพราะฉะนั้นเด็กเวลาโตมา ถ้าไม่มีความมั่นคงในชีวิต ในทางจิตใจ ยากมากที่เขาจะประคองใจ เพื่อจะดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีได้ เพราะอะไรเพราะมีสิ่งที่มาชักชวน เกมทั้งหลาย มือถือทั้งหลาย เต็มไปด้วยคลิปโป๊ เรื่องพวกนี้มันเต็มไปหมดในมือถือ สื่อต่างๆ คือระบบสังคมทั้งสังคม เราทำร้ายเด็ก ดังนั้นการที่เรามาช่วยแบบนี้ เราช่วยเท่าที่เราทำได้ ช่วยเท่าที่กำลังเรามี แต่ถ้าจะแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ต้องแก้ทั้งระบบ ผมอยากฝากอันนี้ไว้กับท่านทั้งหลายที่มีอำนาจวาสนาครับ

และเราจะอยู่อย่างไรกับสังคมแบบนี้อาจารย์ประชาได้ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจ ผมว่าถ้าเราจะอยู่แบบมีศักดิ์ศรีของความเป็นคน ผมเองกลับมาหาพระพุทธเจ้า เราต้องอยู่แบบทวนกระแสให้ได้ เราต้องไม่อยู่ตามกระแส เพราะกระแสปัจจุบันเป็นกระแสมิจฉาทิฐิ เป็นกระแสที่ทำให้คนเราเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นเราจะฝืนได้มากน้อยแค่ไหน อยู่ที่เราสั่งสมบารมีของเรา เราฝึกฝนตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน ฝึกอย่างไร เราไม่มีรถโก้ ๆ แต่รถของเรายังใช้ได้ เราไม่ต้องซื้อใหม่ มือถือเรายังใช้ได้ ไม่ต้องซื้อใหม่ อย่างนี้เป็นต้น เสื้อธรรมดา เสื้อทอชาวบ้าน ก็ใช้ได้ เท่ห์ด้วย ไม่ต้องซื้อใหม่ เราไม่จำเป็นต้องใช้ของมีแบรนด์ต่างๆ แล้วชีวิตเราจะมีความสุข สังคมให้ความสำคัญผิด ให้ความสำคัญกับความสำเร็จ แล้วนิยามความสำเร็จก็คือมีเงินเยอะ ๆ มีอำนาจเยอะ ๆ มีชื่อเสียงเยอะ ๆ อันนี้ผิด สิ่งสำคัญที่สุดของมนุษย์คือความสัมพันธ์ เราอยู่กับพ่อแม่ด้วยความรัก อยู่กับภรรยาด้วยความรัก อยู่กับลูกด้วยความรัก อันนี้สำคัญกว่า เพราะฉะนั้นถ้าเราจะอยู่ในสังคมแบบนี้ต้องไม่ตามกระแส ต้องเห็นว่าอะไรเป็นคุณค่าสำคัญ เวลาสำหรับการภาวนา คุยกับตัวเอง รู้จักตัวเอง สำคัญกว่าเวลาไปดูโทรทัศน์ สำคัญกว่าการไปดูยูทูป เราต้องคิดชัดว่าเราอยู่ในสังคมมิจฉาทิฐิ แล้วเราจะไม่ตามกระแสเขา เราทำอย่างไร ต้องค่อยๆ สั่งสมบารมีไป#

ติดตามชมกิจกรรมในเวทีและภาพประกอบเพิ่มเติมได้ที่นี่