“การ์ตูน” เรียนรู้ “เรื่องความไว้วางใจ” นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน

“การ์ตูน” เรียนรู้ “เรื่องความไว้วางใจ” นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน

............................................

เด็กหญิงกัลยา ส่องาม (การ์ตูน) อายุ 14 ปี เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปี 3 โรงเรียนประสาทวิทยาคารเป็นหนึ่งในเยาวชนแกนนำจากเทศบาลกันตวจระมวล จังหวัดสุรินทร์ ที่ร่วมเรียนรู้ในค่าย 10 วัน สะท้อนการเรียนรู้สิ่งที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ คือ “เรื่องความไว้วางใจคนอื่น”


การเรียนรู้เรื่องการรู้จักตนเอง

ได้เรียนรู้ข้อดีข้อเสียของตนเอง คือ ข้อดี เป็นคนร่าเริง ให้อภัยคนอื่น กล้าได้กล้าเสีย ไม่ถือตัว ส่วนข้อเสีย คือ เป็นคนโกรธง่าย หายยาก เป็นคนตรงๆ เข้ากับคนอื่นได้ยาก และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องก็คือกิจกรรมใช่ฉันเลย ที่ทำให้รู้จักตัวเองมากขึ้น และรู้จักสังคมการทำความเข้าใจของเพื่อนมากขึ้น ได้เห็นตัวตนของเพื่อนมากยิ่งขึ้นด้วย

การเรียนรู้เรื่องการรู้จักภาวะการนำของตนเองและการทำงานเป็นทีม

ได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมตีบอล ที่มีการเป็นผู้นำเกิดขึ้น ซึ่งจะมีผู้แบบวางแผน การร่วมมือกันในทีม รู้จักการให้อภัยเมื่อทำลูกบอลตก ถึงแม้จะไม่ได้ดั่งใจก็ตาม แต่ก็ได้เรียนรู้จักการแพ้ ได้เรียนรู้ว่าทุกคนในทีมก็พยายาม การปลอบใจของผู้นำในทีมก็มีความสำคัญ นอกจากนั้นผู้นำต้องให้ลูกทีมได้เสนอการวางแผนว่าสิ่งไหนดี ควรใช้สิ่งไหนในการนำมาใช้ เมื่อมีคนเสนออีกก็ต้องมีการนำแผนมาประยุกต์ เพื่อหาข้อดีหรือนำมารวมกันเพื่อให้เกิดการลงตัวของแผนที่ประยุกต์เข้าด้วยกัน

การเรียนรู้เรื่องการรู้จักสังคม

ประทับใจในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ปราสาทหินพนมรุ้งโดยได้รู้จักการเข้ามาของประเทศกัมพูชา ได้เรียนรู้วัฒนธรรมคนเขมรหรือพระมหากษัตริย์เขมรที่เข้ามาสร้างปราสาทหิน และประกอบพิธีทางศาสนาเพื่อบูชาพระศิวะ จนเกิดประติมากรรมด้านหน้าปราสาท ซึ่งต่อมาอำนาจของเขมรเสื่อมลงทำให้ปราสาทหินพังทลาย ประติมากรรมบางส่วนแตกหักสูญหายไปตามกาลเวลา เช่นเดียวกับรูปประติมากรรมพระนารายณ์ที่ขาดหายไป

การเรียนรู้เรื่องการรู้จักเศรษฐกิจ

การเรียนรู้เศรษฐกิจเป็นเป้าหมายในการสร้างอาชีพในการทำมาหากิน ทำให้ได้เรียนรู้ในการวางแผนในการประกอบอาชีพได้ลงลึก มีการวางแผน มีการใช้ canvas การวาง 9 ช่อง ได้เรียนรู้การวิเคราะห์การทำธุรกิจ การทำเป็นอาชีพที่เราอยากทำ การเรียนรู้ในการคิดสร้างสรรค์ในการทำธุรกิจก็เป็นการทำให้แปลงใหม่ ไม่เหมือนผู้อื่น และการจัดรูปแบบสินค้าหรือบริการที่แปลกใหม่และตอบโจทย์ปัญหาของผู้บริโภคก็เป็นสิ่งสำคัญ

การเรียนรู้เรื่องการรู้จักสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมมีมากขึ้น ทั้งในระดับชุมชนและในระดับโลก ซึ่งมีผลกระทบหลากหลาย เช่น การทิ้งขยะไม่ถูกที่ การกำจัดไม่ถูกวิธีที่ทำให้มีผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน หรือมีก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดโลกร้อน และมีการตัดไม้ทำลายป่าในชุมชน ทำให้ไม่มีความชุ่มชื่น และส่งผลให้อาจเกิดดินถล่ม เพราะไม่มีรากไม้ยึดเกาะดินเอาไว้ นอกจากนั้นการเดินทะเลในปัจจุบันก็มีการเดินเรือมากขึ้น มีการทิ้งน้ำมันลงนทะเล ส่งผละกระทบต่อการตายของสัตว์น้ำ และทำลายระบบนิเวศของน้ำ ปะการังตาย ซึ่งเกิดทั้งจากการทิ้งขยะและภาวะโลกร้อนที่ทำให้ปะการังเกิดการฟอกขาว รวมถึงการทำเศรษฐกิจเป็นเส้นตรงก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม


การเรียนรู้เรื่องการรู้จักการทำสมาธิและการเข้าใจพระพุทธศาสนา

ได้เรียนรู้การทำสมาธิ ทำให้เรียนรู้ในการตั้งสติ มีสมาธิมีการฝึกร่างกาย จิตใจและอารมณ์ในการอยู่กับตนเอง และได้เรียนรู้พระพุทธศาสนามากขึ้น และการสวดมนต์มากขึ้น ทำให้จิตใจสงบผ่องใส

การเรียนรู้เรื่องการรู้จักเครื่องมือในการเรียนรู้

ได้เรียนรู้เครื่องมือหลายอย่าง เช่น การฝึกตั้งคำถาม ที่ทำให้รู้จักคำตอบที่เราต้องการมีการกล้าแสดงออกในที่สาธารณะ โดยมีการไปพูดที่ตลาดในเรื่องที่เราสนใจ เป็นการฝึกฟังที่ดี เพราะเมื่อมีคนพูด ก็ต้องมีคนฟัง ต้องมีมารยาทในการให้เกียรติการเป็นผู้นำ ส่วนผู้นำก็ต้องมีการยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น การมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมการเข้าใจผู้ตามว่าความรู้สึกเป็นอย่างไร ผู้ตามรู้สึกอย่างไร

สิ่งที่ได้ประโยชน์จากค่ายครั้งนี้

ได้การแสดงออกได้ไปพูดที่ตลาดที่มีคนเยอะทำให้กล้าแสดงออกมากขึ้นเพราะปกติเป็นคนขี้อาย ไม่ค่อยกล้าพูดกับใคร

กิจกรรมในค่ายที่ชอบ

กิจกรรมที่ชอบมากที่สุดคือ กิจกรรมการเดินตะปูเพราะได้ฝึกความอดทนและความเชื่อใจเพื่อน สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ ในเป็นเรื่องความไว้วางใจคนอื่น และการที่เราพยายามระมัดระวังกับสิ่งรอบข้างที่เรากำลังใช้ชีวิตผ่านไป

ความใฝ่ฝันในอนาคต

อยากเป็นนักวอลเลย์บอลเพราะได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก และอีกความฝันหนึ่งคืออยากเป็นทหารเพราะชอบกิจกรรมที่ท้าทายและใช้ความอดทน

.............................................................

ถอดบทเรียนจาก ค่ายพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชนสู่การเป็นพลเมืองรุ่นใหม่ที่สามารถดึงศักยภาพของตนเองออกมารับใช้ชุมชนสังคมอย่างสร้างสรรค์ ภายใต้โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 3 การขับเคลื่อนกลไกพัฒนาเยาวชนด้วยการจัดการความรู้และกระบวนวิจัยเพื่อท้องถิ่น ครั้งที่ 2 วันที่ 30 เมษายน-11 พฤษภาคม 2561ณ ศูนย์ปราชญ์พ่อคำเดื่อง ภาษี บ้านโนนเขา หมู่ 8 ตำบลหัวฝาย อำเภอแคนดง จังหวัดบุรีรัมย์ สนับสนุนโดยมูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย สถาบันยุวโพธิชน มูลนิธิสัมมาชีพ สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) มูลนิธิสยามกัมมาจล