“กอไก่ ไรเดอร์” เขียนชีวิตด้วยความฝัน ร่วมแบ่งปันการเรียนรู้




           “กอไก่” คือพยัญชนะตัวแรกในโลกการเรียนรู้ของเด็กไทย
ไม่ว่าจะยากดีมีจนหรือขาดพร่องอย่างไร เราล้วนเริ่มต้นการเรียนรู้โลกและชีวิตในจุดที่เท่าเทียมกัน...ด้วยพยัญชนะตัวนี้

           แต่ในโลกแห่งความจริง
ต้นทุนชีวิตของคนเราไม่เคยเท่ากัน
เช่นเดียวกับความสำเร็จที่อาจไม่ได้มีไว้สำหรับทุกคน

          กระนั้น
ต้นทุนชีวิตที่แตกต่างกลับหาใช่ดัชนีชี้วัดความสำเร็จในชีวิต คนที่ต้นทุนน้อยไม่จำเป็นต้องประสบความสำเร็จน้อยกว่าคนที่ต้นทุนสูงเสมอไป
หากคนคนนั้นเลือกที่จะเรียนรู้ชีวิตและสิ่งรอบตัว
ขวนขวายหาโอกาสและพัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดยั้ง
ไม่แน่ว่าเขาอาจประสบความสำเร็จได้มากกว่าคนที่มีต้นทุนสูงกว่าก็เป็นได้

          การเรียนรู้จึงเปรียบได้กับเครื่องยนต์ของชีวิต
ที่จะนำพาชีวิตมุ่งไปข้างหน้า โดยไม่จำเป็นต้องพะวักพะวนถึงต้นทุนที่ติดตัวมาว่ามีมากหรือน้อย

           ณ
ที่นี้คงไม่มีใครที่เข้าถึงภาวะนี้ได้ลึกซึ้งไปกว่าเด็กหนุ่มคนหนึ่งจากอุทัยธานี
ที่เริ่มต้นชีวิตด้วยต้นทุนที่น้อยกว่าคนอื่น แต่วันนี้เขากลับประสบความสำเร็จได้ด้วยพลังแห่งการเรียนรู้
และมองว่าการเรียนรู้นี้คือสิ่งสำคัญที่เขาอยากจะส่งมอบต่อให้แก่เพื่อนๆ น้องๆ
ทั้งที่มีชีวิตปกติและที่ขาดพร่อง

          ขอชวนไปทำความรู้จักกับ
“ไนซ์” และโปรแกรมเพื่อการเรียนรู้ของเขา ที่เหมือนกับจะบอกเราทุกคนว่า ต้นทุนชีวิตของเราอาจไม่เท่ากัน
แต่ในโลกของการเรียนรู้ เราล้วนเริ่มต้นที่จุดเดียวกัน










“แม่เลี้ยงผมมาในแบบที่ให้คิดเองครับอาจเพราะเขาไม่มีเวลามาสอน...แต่เขาก็สอนให้เป็นคนดี
ให้ทำแต่สิ่งดีๆ”






ชีวิตเริ่มต้นที่ “ลอลิง”





           เพราะชีวิตจริงกับโลกของการเรียนรู้นั้นแตกต่างกัน
จุดเริ่มต้นชีวิตของเด็กคนหนึ่งจึงอาจไม่ได้เริ่มต้นที่ “กอไก่”
แต่อาจเป็นตัวอักษรอื่น ที่ใครหลายคนอาจไม่เคยคิดฝัน

สำหรับนายปองพล วงษ์คาร หรือ “ไนซ์”
ชีวิตของเขาเริ่มต้นที่ “ลอลิง”

ลอลิงที่มาจาก
“ลำพัง”





           “ผมมาจากครอบครัวที่ลำบากครับพ่อแม่แยกทางกัน
แม่กับพ่อเลี้ยงพาผมย้ายจากกรุงเทพฯ ไปอยู่ที่อุทัยธานี
เป็นจุดพลิกผันของชีวิตก็ว่าได้” ไนซ์เล่าถึงต้นทุนของตัวเองด้วยรอยยิ้มจางๆ

           เพราะโลกของผู้ใหญ่กับโลกของเด็กไม่เคยเป็นโลกใบเดียวกัน
ทางออกที่ดีที่สุดที่ผู้ใหญ่เล็งเห็น หลายๆ ครั้งกลับไม่ใช่สิ่งที่เด็กต้องการ



           การย้ายบ้านจากกรุงเทพฯ
มาอยู่อุทัยธานีของครอบครัวไนซ์ก็เป็นเช่นนั้น
แม้จะตัดสินใจยุติปัญหาด้วยการพาไนซ์มาอยู่ด้วย
แต่แม่ของไนซ์ก็มีภาระการงานที่ต้องรับผิดชอบ
ทำให้ไนซ์ต้องเริ่มอยู่บ้านคนเดียวมาตั้งแต่ชั้นมัธยม 2 โดยแม่จะกลับมาหาเดือนละครั้ง
แต่บางทีกว่าจะกลับก็ 3-4 เดือนครั้ง

            คงด้วยตระหนักดีว่า
ตัวเองไม่มีเวลาอยู่กับลูกเหมือนแม่คนอื่นๆ
แม่ของไนซ์จึงปลูกฝังให้ไนซ์รู้จักที่จะคิดและตัดสินใจเองมาตั้งแต่เด็ก

            “แม่เลี้ยงผมมาในแบบที่ให้คิดเองครับอาจเพราะเขาไม่มีเวลามาสอนด้วย
(หัวเราะ) แต่เขาก็สอนให้เป็นคนดีนะ ให้ทำแต่สิ่งดีๆ” ไนซ์เล่าด้วยรอยยิ้ม

           อิสระที่ได้รับจากแม่
หากเป็นเด็กคนอื่นก็อาจใช้เวลาที่มีไปกับการเล่นรื่นเริงโดยไม่คิดคำนึงถึงสิ่งอื่นใด
แต่สำหรับไนซ์ ถือเป็นโอกาสในวิกฤติ ที่ฐานะทางการเงินที่ไม่สู้ดีนัก
ทำให้เขาต้องเริ่มหาเงินเองมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย

โลกหมุนไปด้วย “งองู”

           “สมัยอยู่อุทัยธานี
แม่ให้
“เงิน” ไว้ใช้เดือนละ 2,000 บาทครับ มันทำให้เราต้องรู้จักจัดการเงิน
2,000 นี้ให้อยู่ให้ได้ตลอดทั้งเดือน” ไนซ์เล่าให้ฟังถึงฐานะทางการเงินในวัยเด็ก ที่อาจไม่ได้มั่งมีเหมือนคนอื่น

            ตามประสาเด็ก
ด้วยอยากมีอยากได้เหมือนเด็กคนอื่น ตอนมัธยม 5 ไนซ์จึงตัดสินใจหนีแม่กลับไปอยู่กับพ่อที่กรุงเทพฯ
เนื่องจากครอบครัวใหม่ของพ่อมีฐานะทางการเงินที่ดีกว่า

            แต่กระนั้น
ไนซ์ก็ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับครอบครัวใหม่ของพ่อได้ ซ้ำยังถูกคนในครอบครัวใหม่ของพ่อดูแคลนกลับมาเสียอีก

            แต่แทนที่จะโกรธ
ไนซ์กลับมองว่านั่นคือแรงผลักดันที่ทำให้เขามีทุกวันนี้

            “มันเป็นแรงผลักดันให้เราต้องทำโน่นนี่นั่นให้ได้ครับ
เหมือนเขาดูถูกว่าบ้านเราไม่มีอะไร (หัวเราะ) แต่ผมมีแม่ดีครับ"

             ด้วยเหตุนี้ ที่ผ่านมาไนซ์จึงไม่ยี่หระกับการทำงานเพื่อหาเงิน
ไม่ว่างานอะไรที่สุจริต เขาคิดว่ามันคือสิ่งที่น่าภูมิใจ
แม้แต่เก็บขยะแลกเงินไนซ์เองก็เคยทำมาแล้ว

            “ตอนเด็กๆ เคยเก็บขยะขายครับ
เพื่อเก็บเงิน 2,000 บาทไปซื้อเกม Play
Station ที่หลุดจำนำ พอเก็บได้ปุ๊บเอาเงินให้แม่
แม่เอาเงินไปใช้หนี้ เสียใจมาก (หัวเราะ)” ไนซ์เล่าด้วยสียงหัวเราะ

ก้าวเข้าสู่โลกของ “คอควาย”

              “การอยู่คนเดียวด้วยตัวเอง
ถ้าไม่บวกไปเลยก็ลบไปเลย เหมือนเราได้เจออะไรด้วยตัวเองแล้วได้ฝึกคิด
โชคดีที่เราไม่ไปเจออะไรที่มันไม่ดี ซึ่งรอบข้างก็มีคนติดยาเยอะนะครับ แต่โชคดีที่เราไม่ไปฝั่งนั้น”
ไนซ์กล่าวถึงช่วงเวลาที่ต้องใช้ชีวิตด้วยตัวคนเดียว
แต่โชคดีที่เขาได้เข้าสู่โลกใบหนึ่ง ที่ดึงดูดความสนใจของเขาเข้าไปหา
จนไม่มีเวลาจะมาสนใจเรื่องอบายมุขต่างๆ

นั่นคือโลกของ “คอมพิวเตอร์”
และการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย หรือ NSC

            “เริ่มสนใจคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่ก่อน
ม.1 แล้วครับ
แต่ตอนนั้นคือใช้คอมฯ เพื่อการเล่นเกมอย่างเดียวเลย รู้สึกว่ามันสนุก
แล้วก็อยากรู้อยากเห็น ไปสิงอยู่ในร้านเกม ถามโน่นถามนี่จนเจ้าของร้านรำคาญ
(หัวเราะ) จนเขาตั้งฉายาให้ผมว่า เจ้าหนูจำไม ในเรื่องอิ๊กคิวซัง
เพราะถามไปเสียหมดทุกอย่าง” ไนซ์เล่าพลางอมยิ้ม

             และเป็นความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับเกมและคอมพิวเตอร์นี่เองที่นำพาไนซ์ให้เข้ามาสู่แวดวงของการพัฒนาโปรแกรมเพื่อส่งประกวด

              “ตอน ม.1 ได้มีโอกาสตามรุ่นพี่มาร่วมงาน NSC ที่กรุงเทพฯ ครับ รุ่นพี่ส่งประกวดแล้วเข้ารอบ ด้วยความที่เป็นเด็ก ผมก็เลยรู้สึกว่ามันยิ่งใหญ่มาก”

             ทำให้ในปีต่อมา
ไนซ์จึงเดินเข้าไปหาอาจารย์ และบอกความตั้งใจว่า อยากจะทำผลงานส่งประกวดบ้าง

             อาจเป็นการพูดเล่นๆ ตามประสาเด็ก แต่การตอบสนองของอาจารย์ในวันนั้น
กลับทำให้การพูดเล่นของไนซ์กลายเป็นเรื่องจริงขึ้นมา

            “พูดกับอาจารย์เล่นๆ แบบเด็กๆ ว่า อาจารย์ครับ
ผมอยากประกวด
โดยที่ไม่มีความรู้อะไรเลยนะครับตอนนั้น แต่อยากประกวด
แต่อาจารย์กลับตอบมาสั้นๆ ง่ายๆ ว่า
งั้นก็ประกวดสิ

            ได้หนังสือการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์แบบถ่ายเอกสารจากอาจารย์มาเล่มหนึ่ง
ไนซ์ก็มาศึกษาด้วยตัวเองประกอบกับขอคำปรึกษาจากอาจารย์
และตอนส่งประกวดก็ให้รุ่นพี่ช่วยทำรูปเล่มนำเสนอโครงการให้

             ผลที่ออกมาคือผลงาน
“การ์ตูนเกร็ดพระพุทธศาสนา” เข้ารอบสุดท้ายของ NSC

             “มองย้อนกลับไปตอนนี้มันอาจไม่ได้เป็นผลงานที่ดีมากครับ
เป็นเหมือนก้าวแรกของเราเท่านั้น แต่ก็ดีใจมาก” ไนซ์กล่าวด้วยรอยยิ้ม

              และนับแต่นั้นเป็นต้นมา
เขาก็พัฒนาผลงานเข้าประกวด NSC
มาตลอด จนถึงผลงานชิ้นล่าสุดนี้

ที่เป็นทั้งช่วงเวลาวิกฤติของชีวิตและเป็นทั้งช่วงเวลาแห่งความสำเร็จไปพร้อมๆ
กัน









“ผมไม่ได้เป็นคนเขียนโปรแกรมเก่ง...แต่เป็นเพราะกอไก่
ไรเดอร์ นี่แหละที่ช่วย เพราะเราต้องไปหาข้อมูล หาวิธีทำ แล้วก็ฝึกมาด้วยตัวเอง”








ช่วงที่ “สอเสือ” กระโดดเข้ามาในชีวิต

             ไนซ์ย้ายจากอุทัยธานีมาอาศัยอยู่ในโรงงานที่สมุทรปราการ
ชีวิตของเขายังคงเป็นไปในรูปแบบเดิม คือแม่ต้องไปทำงานต่างจังหวัด และให้เบี้ยเลี้ยงเดือนละ
4,000 บาทไว้ให้ไนซ์ใช้
ยังดีที่ไนซ์ได้ทุนจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพที่เขาได้ศึกษาต่อระดับปริญญาตรี
แต่รายจ่ายก็ยังเป็นภาระที่ไม่อาจทำให้เขาอยู่เฉยๆ ได้ เขาจึงต้องทำงาน Freelance
หาเงินตลอดการเป็นนักศึกษา ซึ่งจริงๆ
แล้วไนซ์ทำอย่างนี้มาตลอดตั้งแต่ตอนอยู่มัธยม

              ควบคู่ไปกับการใช้ชีวิตอย่างมุมานะอีกเส้นทางหนึ่งที่ไนซ์ให้ความสำคัญ
ก็คือการแบ่งเวลาพัฒนาโปรแกรมต่างๆ ส่งประกวด NSC ต่อเนื่องทุกปี
ซึ่งผลงานของเขาก็ได้รับการยอมรับให้เข้ารอบเกือบทุกปี แต่ก็ไม่เคยขึ้นสูงสุดจนถึงขนาดได้รางวัล

              จนมาถึงช่วงที่ต้องทำโครงงานส่งเพื่อจบการศึกษา
ไนซ์ได้รวมกลุ่มทำโครงงานร่วมกับเพื่อนอีก 2 คน ในหัวข้อโปรแกรมสำหรับการคัดลายมือบน Tablet
แต่ด้วยปัญหาหลายๆ อย่าง
ทำให้การทำงานร่วมกันครั้งนี้ไม่ประสบผลสำเร็จอย่างที่ตั้งใจ จนต้องแยกทีมกันไป

             ถือเป็นช่วงเวลาที่ “สับสน” ของชีวิต
แต่ด้วยความมุมานะที่มีอยู่ในตัวเองของไนซ์ ที่ไม่ว่าจะเริ่มต้นทำอะไรแล้วก็ต้องทำให้จบ
เขาจึงปรับความเข้าใจกับเพื่อน และขอนำโครงงานชิ้นนี้มาพัฒนาต่อด้วยลำพังคนเดียว

            “ตอนนั้นทะเลาะกันหนักครับ
จนคิดว่าโปรแกรมนี้ไปไม่รอดแน่ๆแต่ผมคิดว่าไหนๆ ก็ทำมาแล้ว ก็อยากให้มันออกมาดีที่สุด ผมว่าการทำงาน ณ
จุดหนึ่งมันเหมือนการเล่นเกมที่ต้องผ่านภารกิจแต่ละอย่าง
ปัญหาที่เกิดขึ้นก็เป็นเพียงภารกิจที่เราต้องผ่านมันไป” ไนซ์กล่าวเสียงจริงจัง

             กระนั้น
แม้ไนซ์จะพัฒนาโปรแกรมส่งประกวดมาตลอดตั้งแต่เรียนมัธยม
แต่เจ้าตัวก็ออกตัวอย่างชัดเจนว่า เขาไม่ใช่คนที่เขียนโปรแกรมเก่งกาจอะไร
ด้วยเหตุนี้ จากที่แต่เดิมได้ทำงานร่วมกันกับเพื่อน ช่วยแบ่งเบาภาระกันและกัน
เมื่อตัดสินใจจะพัฒนางานต่อคนเดียว ไนซ์จึงต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง


            “ผมไม่ได้เป็นคนเขียนโปรแกรมเก่งนะครับ
ไม่เก่งเลย (ลากเสียง) ถึงขนาดไม่รู้เรื่องเลยสมัยก่อน แต่เป็นเพราะโครงงานกอไก่
ไรเดอร์ นี่แหละครับที่ช่วย เพราะเราต้องไปหาข้อมูล หาวิธีทำ
แล้วก็ฝึกมาด้วยตัวเอง”

             ซึ่งการหาข้อมูลของไนซ์ก็ไม่จำเป็นต้องไปหาจากผู้รู้ที่เป็นตัวบุคคลที่ไหน
แต่หาได้จากเทคโนโลยี Google ซึ่งไนซ์เรียนรู้วิธีการใช้ด้วยตัวเองมาตั้งแต่สมัยยังอยู่มัธยม
3

             “ผมต้องไปขอบคุณเจ้าของ Google (หัวเราะ)
เพราะมันช่วยได้เยอะมากครับ ยิ่งตอนนี้ข้อมูลมันเยอะมาก
มันมีทุกอย่างที่สามารถหาได้ในพริบตา เรียกว่าเป็นครูก็ได้ครับ เป็นผู้แนะนำ
เป็นตัวทำเงิน เป็นสิ่งอำนวยความสะดวก เป็นเครื่องมือ
เพราะคนคนหนึ่งไม่ใช่จะถนัดอะไรทุกอย่าง เวลาหนึ่งชีวิตของเราที่มีมันเรียนรู้อะไรไม่ได้มากขนาดนั้น
แต่ Google สามารถช่วยได้” ไนซ์กล่าวพลางอมยิ้ม

เมื่อ “กอไก่” ลงไปในอยู่ใน “รอเรือ”





           “ถ้าเทียบกับงานที่ผ่านๆ
มา
กอไก่ ไรเดอร์ เป็นงานที่ผมใส่ใจที่สุดและใช้เวลากับมันมากที่สุดครับ
เช่น ช่วงหยุดปีใหม่หลายๆ วัน เกือบ 10
วัน ผมจะตื่นมานั่งทำตั้งแต่เช้าจนถึงดึกทุกวัน
ทำจนรู้สึกว่าไม่ไหวนะ เราทำเกินไปหรือเปล่า” ไนซ์กล่าวกลั้วหัวเราะ

          มุมานะจนสามารถทำโครงงานเพื่อจบการศึกษาได้สำเร็จ
และแน่นอนด้วยความผูกพันที่มีอยู่กับ NSC ไนซ์จึงไม่ลังเลที่จะนำโปรแกรมกอไก่ ไรเดอร์
นี้ส่งประกวดตามแบบที่เคย

          “เราแข่งมาตั้งแต่ ม.2 จนถึง ปี 4 ก็อยากส่งดูอีกสักครั้ง
คิดว่าจะเป็นครั้งสุดท้ายของการเป็นนักศึกษาแล้วก็เลยลองส่งดู คือใจจริงก็หวัง
“รางวัล”
ด้วยครับ” ไนซ์กล่าว

               กอไก่ ไรเดอร์ เป็นโปรแกรมฝึกคัดลายมือภาษาไทยบน
Tablet ที่ไนซ์พัฒนาให้สามารถใช้งานได้บนระบบปฏิบัติการ Android ซึ่งจริงอยู่ว่าโปรแกรมรูปแบบนี้ในปัจจุบันมีให้บริการแพร่หลายในระดับหนึ่ง
ไนซ์จึงพัฒนาให้กอไก่ ไรเดอร์ โดดเด่นกว่าโปรแกรมลักษณะเดียวกันด้วยกราฟฟิคที่มีสีสันแลดูคล้ายกับเกมมากกว่าแบบเรียน
รวมไปถึงมีระบบประมวลและแสดงผลการเขียนแต่ละครั้งออกมาในรูปของคะแนน
ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้วัดผลในการศึกษา
รวมไปถึงใช้ในการเล่นแข่งกันเพื่อความสนุกได้อีกด้วย

                อย่างไรก็ตาม ผลจากการส่งเข้าประกวด
NSC กอไก่ ไรเดอร์
ไปได้ไกลที่สุดคือผ่านเข้ารอบที่ 2

                กระนั้น แม้จะไม่ได้รางวัลจาก NSC พลาดหวังจาก “รอเรือ” ที่หมายมั่นปั้นมือไว้อีกครั้ง
แต่การเข้าร่วมในครั้งนี้
ก็ทำให้ไนซ์และผลงานของเขาได้มีโอกาสลงรอเรืออีกลำหนึ่งที่ชื่อโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่
ซึ่งไนซ์บอกว่าให้อะไรกับชีวิตมากกว่าแค่ถ้วยรางวัล

              “ถือเป็นอีกจุดพลิกผันของชีวิตอีกครั้งก็ได้ครับ
หลังจากที่มีปัญหาในการทำงานร่วมกับเพื่อน หลังจากพลาดหวังอะไรมาหลายๆ อย่าง
การได้ไปฟังโครงการต่อกล้าฯ ในวันสุดท้ายที่เขาเรียกประชุม มันสร้างแรงบันดาลใจให้ผมมาก
โดยเฉพาะการนำผลงานไปต่อยอดให้เกิดการใช้งานจริง รวมถึงขยายผลทางธุรกิจ” ไนซ์กล่าว

              จาก NSC ไนซ์จึงนำพาผลงานมาต่อยอดในโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่
ซึ่งถือเป็นแรงสนับสนุนที่ทำให้ไนซ์สามารถพัฒนาโปรแกรมให้สมบูรณ์มากขึ้น
จากที่ตอนส่งประกวด NSC นั้นมีตัวอักษรเพียงตัวเดียวคือ
กอไก่ แต่เมื่อได้เข้าโครงการต่อกล้าฯ ไนซ์ก็ได้พัฒนาจนมีครบทั้ง 44 ตัวอักษร คือ กอไก่-ฮอนกฮูกรวมถึงสระและวรรณยุกต์ต่างๆ ซึ่งปัจจุบันไนซ์กำลังทดสอบโปรแกรมโดยการขยายผลให้ภาคส่วนอื่นๆ
ได้ทดลองใช้

            “ได้นำไปให้โรงเรียน
2 ภาษาย่านรังสิต ทดสอบกับน้องๆ อนุบาล 3 ได้ทดลองใช้ดูครับ
ซึ่งผลก็น่าพอใจ เพราะรูปแบบมันเป็นเหมือนเกม” ไนซ์กล่าวพร้อมรอยยิ้ม

              ซึ่งนอกจากผลงานนี้จะขยายผลได้ในเด็กปกติแล้ว
ทางคณะกรรมการของโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่
ยังได้แนะนำให้ไนซ์ขยายผลโปรแกรมนี้ในฐานะของเครื่องมือสนับสนุนการเรียนรู้สำหรับเด็ก
LD (Learning disability)หรือเด็กที่เป็นโรคการเรียนรู้บกพร่อง
โดยอาจเพิ่มเติมอุปกรณ์ปากกาสำหรับเขียน
เพื่อพัฒนาทักษะการใช้กล้ามเนื้อของเด็กกลุ่มนี้โดยเฉพาะอีกด้วย

                ทั้งนี้ หลังจากที่ผลงานของไนซ์ได้รับการเผยแพร่ออกไปในวงกว้าง
ก็มีหลายภาคส่วนที่ให้ความสนใจเข้ามาติดต่อเพื่อร่วมพัฒนาผลงานต่อ อาทิเช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
(สวทช.) ที่จะเข้ามาร่วมพัฒนาผลงานต่อ,สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) ที่ติดต่อเข้ามาเพื่อนำผลงานไปต่อยอดทางธุรกิจในรูปแบบของสื่อหนังสืออิเล็กทรอนิกส์หรืออื่นๆ
ตามความเหมาะสม สอดคล้องกับที่ตัวไนซ์เองก็คิดไว้ว่า
จะพัฒนาและเผยแพร่ให้ใช้งานได้ฟรีผ่านทาง Google Play Store สำหรับ Tablet ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android
ต่อไปในอนาคต

            “ปัจจัยที่ทำให้มีวันนี้ได้
หนึ่งคือ ตัวเอง สองคือ โอกาส สามคือ ความตั้งใจครับ คือ ถ้าเราไม่ชอบ
ไม่อยากที่จะทำมัน เราไม่มีทางที่จะทำให้มันดีได้ หรือว่าเราอยากทำมัน
แต่เราไม่ขวนขวายหาวิธีทำ ไม่รู้อะไรเลย เราก็ไม่มีทางทำได้เหมือนกัน”
ไนซ์สรุปถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จด้วยรอยยิ้ม ในวันที่ผลงานของเขาเดินมาจนถึงยอดเขา
และกำลังจะขยายผลไปสู่ยอดเขาลูกต่อๆ ไป

               แต่อย่างไรก็ตาม
ยังไม่ทันที่ไนซ์จะทันได้คิดอะไร เมื่อเรียนจบ เขาก็ได้รับโอกาสให้เข้าทำงานใน บริษัท ดิจิทัลมีเดียเอาท์ซอร์ส
โซลูชั่น จำกัดซึ่งไนซ์เคยรับจ้างเป็น Freelance มาก่อนหน้านี้ ทำให้ปัจจุบันไนซ์จึงไม่สามารถทุ่มเวลาเพื่อพัฒนาโปรแกรมได้เต็มที่เหมือนก่อน

ใครที่อยากลองเล่นกอไก่
ไรเดอร์ จึงอาจจะต้องรอสักพักหนึ่ง


“สิ่งที่ผู้ใช้จะได้จากโปรแกรมนี้คือ
รู้รูปแบบตัวอักษรที่ถูกต้อง รู้วิธีการเขียนที่ถูกต้อง รวมถึงได้รับความสนุก”







โลกสูงขึ้นด้วย “พอพาน”

             กฎธรรมชาติที่ดำเนินมาหลายร้อยล้านปีบอกไว้ว่า
มนุษย์จำเป็นต้องวิวัฒนาการตลอดเวลาเพื่อความอยู่รอด สังคมไหนที่เปล่าไร้ซึ่งการขับเคลื่อนไปข้างหน้า
ถึงวันหนึ่งสังคมนั้นย่อมล่มสลาย

              มนุษย์ในปัจจุบันจึงต้องเก่งกว่าบรรพบุรุษในอดีต
ลูกจึงต้องเก่งกว่าพ่อแม่ และเด็กในอนาคตต้องเก่งกว่าผู้ใหญ่ในวันนี้

             ทั้งหมดทั้งมวลคือนิยามของการ
“พัฒนา” ที่เป็นกลไกสำคัญอันคอยขับเคลื่อนผู้คนและโลกใบนี้

             เพราะโลกไม่เคยหยุดหมุน
เราจึงต้องไม่หยุดพัฒนา เพื่อตามโลกให้ทัน และบางโอกาส
ก็เพื่อให้การพัฒนาของเรานั้นไปมีส่วนขับเคลื่อนผู้คนในโลก
และให้ตัวโลกเองนั้นสูงขึ้น

             ถึงวันนี้ แม้โปรแกรมกอไก่ ไรเดอร์
ของไนซ์จะยังรอการพัฒนาเพื่อขยายผลต่อในวงกว้าง แต่อย่างน้อยที่สุด โปรแกรมเล็กๆ
โปรแกรมนี้ก็ถือเป็นการพัฒนาที่ให้คุณค่าต่อผู้อื่น รวมถึงตัวของไนซ์เอง

            “สิ่งที่ผู้ใช้จะได้จากโปรแกรมนี้คือ
รู้รูปแบบตัวอักษรที่ถูกต้อง รู้วิธีการเขียนที่ถูกต้อง รวมถึงได้รับความสนุกครับ”
ไนซ์กล่าวถึงคุณค่าที่ผู้ใช้จะได้รับจากโปรแกรมนี้

              เช่นจากการที่ไนซ์เคยนำโปรแกรมไปเปิดให้เด็กๆ
ทดลองใช้ เด็กๆ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สนุก เพราะได้คัดลายมือแข่งกับเพื่อน
มีแพ้มีชนะกัน แต่ในขณะที่เด็กสนุกอยู่กับการแข่งนั้น
สิ่งที่เด็กจะได้รับไปโดยไม่รู้ตัวก็คือ รูปแบบตัวอักษรและวิธีการเขียนที่ถูกต้อง
เช่น การเขียนสระเอนั้น ที่ถูกวิธีคือเริ่มเขียนจากหัวขึ้นไปยังหาง
ถ้าผู้ใช้เขียนผิดทิศทางจากหางลงมาหัว คะแนนก็จะได้น้อยกว่าเพื่อนที่เขียนถูก
เป็นต้น

             ถือเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่สนุกและเหมาะสำหรับเด็ก

             แต่กระนั้น
ไนซ์ก็มองว่าโปรแกรมนี้มีจุดอ่อนในตัวของมันเอง นั่นคือ...

            “คือผู้ใช้จะรู้รูปแบบการเขียนที่ถูกต้องโดยที่ไม่เบื่อในระยะแรก
แต่ถ้าเล่นไปสักสัปดาห์หนึ่งอาจจะเบื่อได้ซึ่งต้องยอมรับครับว่า โปรแกรมหรือแอพพลิเคชั่นพวกนี้มันอยู่นิ่งไม่ได้
อาจมาเป็นกระแสช่วงหนึ่งแล้วก็จะหายไป”

             ด้วยเหตุนี้ ความตั้งใจของไนซ์ ณ
ปัจจุบันจึงคือ พัฒนาโปรแกรมออกมาและขยายผลให้แล้วเสร็จสมบูรณ์
ก่อนจะต่อยอดไปพัฒนาโปรแกรมอื่นๆ ต่อไป

             และแน่นอนว่านอกจากโปรแกรมนี้จะช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของผู้อื่น
ขณะเดียวกัน ไนซ์ก็ได้พัฒนาตัวเองผ่านการทำงานในครั้งนี้ด้วย

            “สิ่งที่ผมได้แน่ๆ
จากการทำงานนี้ก็คือ มันฝึกการทำงานกับตัวเอง เอาชนะตัวเอง และเอาชนะหลายๆ อย่างครับ
เหมือนเป็นแบบทดสอบหนึ่งที่ช่วยฝึกเราหลายๆด้าน และทำให้เราเปลี่ยนมุมมองเปลี่ยนความคิดมากขึ้น
ซึ่งผมว่ามุมมองกับความคิดทำให้คนโตขึ้น” ไนซ์กล่าวพร้อมอมยิ้ม

              เพราะทุกการเรียนรู้เริ่มต้นที่
“กอไก่”


              แม้จะโดยไม่รู้ตัว
แต่ตลอดการพัฒนาโปรแกรมหรือผลิตสื่อที่ผ่านมา
ผลงานของไนซ์แทบจะทั้งหมดเกี่ยวข้องกับสื่อการเรียนการสอนแทบทั้งสิ้น

             นับแต่ผลงานที่ได้เข้ารอบ NSC “การ์ตูนเกร็ดพระพุทธศาสนา”ไล่เรื่อยมายังเกมบวกลบเลขที่ได้รางวัลในระดับตำบล,Animation การเรียนการสอน,
สื่อที่รณรงค์เรื่องการลดภาวะโลกร้อน รวมไปถึงงาน Freelance ที่ไนซ์รับจ้างทำสื่อการเรียนการสอนให้อาจารย์

             ต่างๆ
เหล่านี้ แม้ไนซ์จะบอกว่า ที่ทำเพราะมันเป็นประเด็นที่หาข้อมูลง่ายและมีขอบเขตกว้างขวาง
ทำได้ไม่มีวันหมดแต่ลึกๆ แล้วนั่นเป็นเพราะตัวไนซ์เองให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ และเพราะเขาไม่ถูกจริตกับสื่อที่เป็นสิ่งพิมพ์
การแสดงออกของผลงานจึงถูกขับเคลื่อนออกมาในรูปของสื่อไอทีเป็นหลัก

            ด้วยความหวังว่า
ผลงานของตัวเองจะสามารถสร้างการเรียนรู้ให้แก่เด็กที่ไม่ถูกจริตกับสื่อการเรียนรู้กระแสหลักได้

            “เพราะการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุดครับ
แต่ด้วยการเรียนรู้ปกติมันอาจจะไม่เหมาะกับเด็กบางกลุ่มที่เขาไม่สนใจอะไรที่มันไม่มีแรงกระตุ้น
เช่น สมัยก่อนถ้าเป็นหนังสือผมจะอ่านแล้วเฉยๆ แต่ถ้าเป็นเพลงที่เปิดประกอบการสอนภาษาอังกฤษ
อย่างเพลง Old McDonald (E
I E I O) ถึงทุกวันนี้ผมยังจำได้
และผมก็คิดว่าน่าจะมีเด็กที่เป็นอย่างผมเหมือนกัน” ไนซ์กล่าว

            เพราะเหตุนี้
การผลิตสื่อหรือพัฒนาโปรแกรมที่ผ่านมาของไนซ์ จึงมุ่งไปทางเพื่อการเรียนการสอนโดยที่เขาไม่รู้ตัวและถ้าเป็นไปได้
ไนซ์ก็อยากให้น้องๆ รุ่นต่อๆ ไป
มาร่วมพัฒนาและผลิตสื่อที่ช่วยสนับสนุนการเรียนรู้เช่นเดียวกัน

            “สำคัญคือแรงบันดาลใจครับ
ซึ่งคนเราสามารถหาแรงบันดาลใจได้ทุกที่ แรงบันดาลใจมีอยู่ทุกที่แต่อยู่ที่เราจะมองเห็นมันหรือเปล่า
ถ้าเราคิดไม่ออก แรงบันดาลใจก็มาจากตัวเรานี่แหละครับ
ถ้าเราอยากทำอะไรสักอย่างก็ต้องรู้ว่าเราอยากจะทำเพื่ออะไร”
ไนซ์กล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม




             เพราะในโลกของความเป็นจริง
มนุษย์เราต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลาเพื่อความอยู่รอด ซึ่งการพัฒนานั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการเรียนรู้
และในโลกของการเรียนรู้ ทุกคนล้วนต้องเริ่มต้นจาก “กอไก่”

            การมีสื่อที่ช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ก้าวแรก
ที่สามารถตอบสนองความแตกต่างของเด็กและเยาวชนได้อย่างหลากหลาย
ย่อมช่วยสร้างเสริมพื้นฐานขั้นแรกให้พวกเขาเหล่านั้น สามารถยืนอยู่บนจุดที่เท่าเทียมกันได้โดยไม่ต้องใส่ใจกับต้นทุนของชีวิตที่ติดตัวมาแต่เกิด

            แต่อย่างไรก็ตาม
ถึงที่สุดแล้วสิ่งที่สำคัญกว่าคือการเรียนรู้ในระยะยาว
ที่ไม่ใช่เพียงการเรียนรู้จากสื่อหรือตำราเรียน แต่คือการเรียนรู้ชีวิตและสิ่งรอบตัว
ขวนขวายหาโอกาสและพัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดยั้ง

ปลายทางย่อมมีความสำเร็จวางรอเราอยู่

ชีวิตที่ไนซ์เขียนขึ้นเอง
บอกแก่เราอย่างนั้น.