พี่เลี้ยงเด่น นางสารภี รองสวัสดิ์ (ครูสาว) อายุ 52 ปี
ครูสอนวิชาสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ระดับชั้น ประถมศึกษาปีที่ 4 – 6
และมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3 โรงเรียนวัดบ่อทรัพย์ ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
พี่เลี้ยงโครงการ โครงการศึกษาประวัติศาสตร์บ้านแหลมสน ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
ถามขอให้ครูแนะนำตัว
ตอบชื่อครูสารภี รองสวัสดิ์ ครูโรงเรียนวัดบ่อทรัพย์ สอนวิชาสังคม ศาสนา ประวัติศาสตร์ ป.4 – ป.6 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษาที่ผ่านมา คุณครูที่รับผิดชอบโครงการเกษียณอายุราชการ จึงรับหน้าที่พี่เลี้ยงโครงการศึกษาประวัติศาสตร์บ้านแหลมสนและสอนวิชาประวัติศาสตร์ให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ม.1-3
ถามการเป็นคุณครูพี่โครงการศึกษาประวัติศาสตร์บ้านแหลมสนมีอะไรที่คุณครูรู้สึกประทับใจบ้าง
ตอบโครงการนี้ในช่วงแรกมีคุณครูอีกคนรับมาตั้งแต่ปีการศึกษาที่แล้ว คุณครูท่านนี้เกษียณ ทางโรงเรียนจึงให้ครูดูแลเป็นพี่เลี้ยงให้กับนักเรียน ครั้งแรกที่ไปร่วมกิจกรรมไม่รู้เกี่ยวกับความเป็นมาของโครงการ พอได้ทำกิจกรรมร่วมกับสงขลาฟอรั่มประมาณ 2 ครั้ง เกิดความรู้สึกดีขึ้นเรื่อย ๆ ประทับใจการเป็นโคช การเป็นพี่เลี้ยง
ครูได้นำกิจกรรมมาปรับใช้ในการสอนนักเรียนที่โรงเรียน นำกระบวนการเข้าไปอยู่ในโครงการประวัติศาสตร์ จากตอนแรกเราแค่สอนนักเรียนไปตามเนื้อหา ไม่มีการลงพื้นที่จริงไปสัมผัสกับชุมชน พอมาอยู่กับโครงการนี้ ได้ไปสำรวจว่าชุมชนของนักเรียนมีอะไรที่น่าสนใจ จึงได้รู้ว่าโครงการไม่ง่ายอย่างที่เราคิด เพราะมีปัญหาอีกหลายอย่าง และเราต้องไปสร้างความร่วมมือกับชุมชน
การลงพื้นที่ครั้งแรก นักเรียนไม่กล้าพูดกับชาวบ้าน ขาดความมั่นใจ ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ครูเองก็ยังไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรเช่นกัน เราได้พี่เลี้ยงจากสงขลาฟอรั่มมาแนะนำ พอได้แนวทางเรา (ครู และนักเรียน) ร่วมกันทำ BAR (Before Action Review) ว่าวันนี้เราจะทำอะไร มีจุดประสงค์อะไร ตั้งคำถามอะไรบ้าง พอได้แล้วก็ลงพื้นที่ ตอนทำก็เจอทั้งปัญหาและได้ความรู้จากการซักถาม สังเกตเห็นชุมชนตอบรับโครงการของเราดี นักเรียนมีความมั่นใจและมีพลัง ครูทำแค่แนะนำ ช่วย ให้แรงบันดาลใจ เวลาที่นักเรียนลงพื้นที่ต้องอย่าปล่อยให้นักเรียนรู้สึกโดดเดี่ยว
ถาม คุณครูสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนอย่างไร
ตอบครูสร้างแรงบันดาลใจโดยการกระตุ้น เวลาลงนักเรียนลงไปทำงานแล้วเจอปัญหา ครูช่วยนักเรียนโดยแนะนำวิธีการพูดคุยกับชาวบ้าน ว่าเราเข้าไปแล้วเราจะคุยกับเขาอย่างไร เพื่อทำให้เขาให้ความร่วมมือกับเรา ตอนแรกนักเรียนกลัว มีชาวบ้านบางคนเขาไม่ค่อยพูด ไม่ค่อยเต็มใจให้ข้อมูลกับเรา ครูแนะนำว่านักเรียนต้องไปนั่งคุยเรื่องทั่วไปก่อนที่จะเริ่มคุยสิ่งที่เราอยากรู้ ในตอนแรก นักเรียนจะบอกเลยว่า หนูทำไม่ได้ค่ะครู หนูไม่กล้า เราเริ่มทำให้ดู ในครั้งหน้านักเรียนก็เริ่มกล้าทำด้วยตัวเอง
ฝึกเขาตรงนั้นแล็วก็บอกเขาว่า ชุมชนนี้เป็นชุมชนของเรา ไม่มีอะไรหรอกลูก เด็กเขาขาดความมั่นใจ ขาดความเชื่อมั่น พอเราฝึกเขาบ่อย ๆ พาเขาลงพื้นที่ บ่อย ๆ เขาก็กล้าที่จะพูดคุยกับชาวบ้าน กล้าแนะนำ กล้าถามเพื่อที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาใช้ในโครงการ
ถามก่อนหน้านี้บรรยากาศในห้องเรียนของคุณครูเป็นอย่างไร
ตอบแต่เดิมเราแค่สอนแบบเก่า ๆ เราสอนแบบเดิมอ่านแล้วก็มาดูรูปดูภาพ แต่เราไม่ได้ตั้งคำถามเปิดกว้างให้เด็กได้แสดงความคิดเห็น ไม่ให้เด็กค้นข้อมูลหรือลงพื้นที่จริง ไม่เหมือนกระบวนการที่เราได้จากโครงการศึกษาประวัติศาสตร์บ้านแหลมสน พอเด็กเขาเข้าร่วมโครงการนี้เขาได้รู้ซึ้งว่าในชุมชนของเรา ยังมีสิ่งที่มีค่ามากมาย
ถามตรงจุดไหนที่ลงไปทำแล้วเด็กสนุกขึ้น เหตุการณ์เป็นอย่างไร
ตอบการทำงานเรานัดพบที่โรงเรียนเพื่อทำ BAR ว่าจะทำอะไรบ้าง ด้วยวิธีการอะไร มีเครื่องมืออะไรบ้าง เสร็จแล้วนักเรียนจะแบ่งงานกัน จากนั้นพากันลงพื้นที่ เด็ก ๆ สนุกตรงที่เราไปสัมผัสพื้นที่ในชุมชนของเราจริง ๆ แล้วเรามีวิทยากรในชุมชนที่เขามาเล่าให้ความรู้ เด็ก ๆ ตั้งคำถามแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างผู้นำในชุมชนกับนักเรียน นักเรียนช่วยกันสรุป หลังจากลงพื้นที่เสร็จแล้วเรากลับมาที่โรงเรียน มาทำ AAR (After Action Review) อีกครั้งหนึ่ง ว่าวันนี้เราลงไปชุมชนประสบความสำเร็จไหม เราได้อะไรไหม เรามีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง ที่ครูประทับใจคือจากที่เด็กไม่ตอบสนองเวลาคุณครูสอน แต่เมื่อเขาไปลงพื้นที่ เขาแย่งกันตอบเวียนกันตอบอย่างมีความสุข นี่คือความประทับใจที่ครูอยากขอบคุณสงขลาฟอรั่มและสยามกัมมาจล ที่ให้โอกาสเราได้เปิดกว้างได้เปิดโลกทัศน์ของตัวเอง อย่างครูก็ได้แต่สอนอยู่ที่โรงเรียนไม่ค่อยได้ไปอบรมหรือไปเห็นข้างนอกว่าเขามีอะไรอย่างไร การที่เราไปร่วมกับสงขลาฟอรั่ม เราได้ความรู้มาปรับใช้เยอะเลยทีเดียว
ถามจากที่ห้องเรียนเงียบ คุณครูสอนไปแบบเดิม พอครูได้ไปเรียนรู้วิธีคิดวิธีการจากสงขลาสงขลาฟอรั่ม จากสยามกัมมาจล แล้วนำกลับมาทำให้เด็ก ๆ ตื่นเต้น ตื่นตัว กับการเรียนรู้ ที่ดูมีชีวิตชีวากับเรื่องประวัติศาสตร์ บทบาทของคุณครูเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไรบ้างในการเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ให้กับเด็ก
ตอบบทบาทของครูที่เปลี่ยนแปลงไปคือ หาวิธีการสอนและเปิดกว้างให้นักเรียนแสดงความคิดเห็น ไม่จำกัดความคิดของนักเรียน คือให้เด็กแสดงออกได้เต็มที่ ครูได้หันมามองตัวเองว่า เราไม่ควรตัดสินเวลาเด็กตอบ เมื่อเด็กตอบมาผิด ครูไม่ควรบอกว่าแบบนี้ไม่ใช่ แต่เราควรเสริมว่าควรจะเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ หรือว่ามาคิดร่วมกัน ให้เขาได้แสดงความคิดเห็น แล้วคุณครูก็เสริมในส่วนของเขาไม่รู้
นักเรียนเขากล้าแสดงออก ดังนั้นสิ่งที่เขาได้จากโครงการคือความกล้าแสดงออก นักเรียนมีความมั่นใจที่จะพูดในที่สาธารณะ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการเป็นนักเรียนที่มีความมั่นในใจตัวเอง กล้าพูดกล้าแสดงออก แล้วก็กล้าแสดงความคิดเห็นของตัวเองอย่างหลากหลาย
ถามคุณครูใช้เครื่องมือ BAR ก่อนทำกิจกรรม และใช้ AAR หลังทำกิจกรรม เครื่องมือเหล่านี้ได้มาอย่างไร
ตอบทางสงขลาฟอรั่มแนะนำเครื่องมือ เราก็มาร่วมกันคิดร่วมกันทำ ถ้าเราไม่วางแผน งานของเราจะสะเปะสะปะ งานไม่ได้ตามเป้าหมาย หรือตามวัตถุประสงค์ที่เราต้องการ เราได้เรียนรู้เรื่องเครื่องมือ เช่น ถ้าเราจะไปสัมภาษณ์เราต้องเตรียมว่าจะถามอะไรบ้าง เรามีข้อมูลอะไรบ้างแล้วเราจะถามเขาว่าอย่างไร เราต้องเตรียมคำถามไป เตรียมอุปกรณ์ไปให้ครบ พอเสร็จเราก็เอามารวบรวมว่าที่ไปมาได้อะไรบ้าง มาร่วมกันเขียนลงไปในแผ่นชาร์ตแล้วนำมาสรุปร่วมกัน
ถามในการที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับนักเรียนนอกจากเทคนิค BAR และ AAR คุณครูใช้เทคนิควิธีการอะไรอีกบ้าง
ตอบวิธีการอื่นคือทักษะการพูดคุย การแก้ปัญหา เวลาที่นักเรียนเข้าไปในชุมชนแล้วเจอปัญหา จะไปสัมภาษณ์แต่ชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมือ เราต้องมีเทคนิควิธีการพูด จะพูดอย่างไรเพื่อชักจูงให้เขาร่วมมือและให้ข้อมูลกับเรา นักเรียนพอเจอปัญหาชาวบ้านแสดงความไม่พอใจเขาก็จะถอยออกมา เขาจะกลัวแล้วบอกว่า “หนูไม่กล้า” เราก็ต้องบอกว่าให้พูดกับเขาดี ๆ บอกเขาว่าเราต้องการอะไรใช้เทคนิคการพูด ให้เขาเห็นความสำคัญของงานที่เราทำ เทคนิคการสัมภาษณ์ เทคนิคการบันทึกข้อมูลการใช้อุปกรณ์เพื่อช่วยบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ให้ได้ครบถ้วนตามที่เราต้องการ เช่น นักเรียนคนหนึ่งบันทึก คนหนึ่งอัดเสียง เพื่อจะได้ข้อมูลนำมาเขียนได้ถูกต้อง
ตอนแรกเจอปัญหาก่อนไปสัมภาษณ์ผู้รู้ ได้ข้อมูลที่ไม่ตรงกันหลายแหล่ง คนโน้นว่าอย่างนี้ ถามคนนี้เขาบอกแบบนี้ นักเรียนบอกว่า “ครูขาหนูสัมภาษณ์แล้วข้อมูลที่ได้มาไม่ตรงกัน” ครูจึงชวนนักเรียนให้นำเอาข้อมูลมาตรวจเช็คยืนยันกันดู ได้ข้อสรุปว่า ต้องค้นหาข้อมูลในแหล่งอื่น ๆ ค้นคว้าจากอินเตอร์เนต หนังสือที่เป็นบันทึกเก่า ๆ นำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบ ว่าข้อมูลไหนน่าเชื่อถือได้มากที่สุด
ใช้กระบวนการทางประวัติศาสตร์ในการสืบค้น ถ้าถามชาวบ้านได้ข้อมูลไม่ตรงกัน ต้องไปพิพิธภัณฑ์สืบค้นว่าจริงไหม เราวิเคราะห์ข้อมูลพบว่ามีบางส่วนที่ตรงกันบางส่วนไม่ตรงกัน ต้องมาวิเคราะห์ว่าส่วนไหนที่มีความน่าเชื่อถือที่สุด นักเรียนก็มานั่งวิเคราะห์ทำ Timeline (เส้นเวลา) ทำแผนที่เดินดิน กว่าจะลงแผนที่ได้ก็ใช้เวลา
ถามก่อนหน้าเป็นพี่เลี้ยงโครงการนี้ คุณครูเคยทำโครงการลักษณะแบบนี้หรือกิจกรรมโครงการพัฒนานักเรียนมาบ้างไหม
ตอบครูทำเป็นครั้งแรก เพิ่งมาเรียนรู้เพิ่งเข้าใจว่าโคชเป็นอย่างไร แต่มีความสุขมากได้ประสบการณ์เยอะ
ถามโคชตามความเข้าใจของครูเป็นอย่างไร
ตอบตอนแรกเข้าใจว่าครูต้องทำเองหมด ที่จริงแล้วไม่ใช่ เราเป็นเพียงผู้แนะนำให้ความช่วยเหลือ แค่ดูแลกระตุ้นนักเรียนเท่านั้นเอง นักเรียนมีศักยภาพอีกมากที่เราเองคาดไม่ถึงเลยว่า เด็กที่เรามองและตัดสินว่าทำไม่ได้ จริง ๆ เด็กทำได้ เพียงเราใช้คำถามกระตุ้น ให้กำลังใจ ช่วยเหลือเขา เขาสามารถทำอะไรได้โดยที่เราคาดไม่ถึง
ถามทีมสงขลาฟอรั่มทำอย่างไรจึงช่วยคุณครูให้มีมุมมองแบบนี้
ตอบทีมสงขลาฟอรั่มเขาช่วยเหลือทุกด้าน เขาน่ารัก เรามีปัญหาอะไร ทำอะไรไม่ได้เราสามารถปรึกษาเขาได้ตลอดเวลา มีการอบรมให้ครูที่ดูแลโครงการด้วย จึงมีความเข้าใจ ตอนแรกบอกตรง ๆ ว่าครูไม่อยากไปเพราะตามภาระหน้าที่งานของเราเยอะ เราสงสัยว่าโครงการนี้จะเป็นอย่างไร พอเราเข้าไปครั้งที่สองครั้งที่สาม เริ่มชอบ ปกติครูจะถอยออกมา แต่งานนี้เต็มใจเข้าร่วมจริง ๆ
แม้ว่านักเรียนของเราได้เข้าร่วมเพียงไม่กี่คนมีแกนนำ 5 - 6 คน แต่นักเรียนสามารถกลับมาถ่ายทอด แนะนำให้เพื่อนในโรงเรียนได้ นักเรียนรุ่นพี่จะจบออกไป 2 คน เขาได้มองไว้ว่าจะถ่ายทอดให้รุ่นน้อง เขาเลือกกันเองว่าใครน่าจะดูแลโครงการนี้ต่อไป และได้มอบหมายกันเรียบร้อยไว้แล้วต่อไปใครเป็นหัวหน้าเป็นแกนนำ เด็กในโครงการเปลี่ยนไปจากที่เด็กเหลวไหล ร้าย ไม่เคยรับผิดชอบอะไร กลับมีความรับผิดชอบในตัวเอง
ถามคุณครูคิดว่าโครงการไปทำอะไร ให้เด็กเป็นคนที่มีความรับผิดชอบ ต้องหารุ่นน้องทำต่อจากตัวเอง
ตอบในโครงการศึกษาประวัติศาสตร์บ้านแหลมสน เด็ก ๆ มองว่า สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของหมู่บ้านถูกปล่อยให้รกร้าง ดูธรรมดาไม่มีใครสนใจ นักเรียนเล่าว่าเวลาที่ถามชาวบ้านคนเฒ่าคนแก่ในในชุมชน เขาไม่เข้าใจว่า “ทำไมคนแก่เล่าไม่ได้” “เขาไม่เคยเล่าสืบต่อกันมาเหรอครู” ครูจึงบอกไปว่าบางทีคนเก่าแก่จริง ๆ ของชุมชนเราที่รู้อาจไม่อยู่แล้ว อาจจะเป็นคนที่อื่นมาอยู่ที่นี่และไม่รู้เรื่องราวประวัติท้องถิ่นของเราก็ได้ จึงไม่มีคนเฒ่าคนแก่ที่จะบอกเล่าเรื่องราวของชุมชน บอกได้เพียงว่าตรงนี้เป็นซุ้มประตูบ่อเก๋ง พอถามต่อว่าตรงนี้ใช้ทำอะไร มีประวัติอย่างไร เขาก็ตอบเพียงว่าเป็นซุ้มประตูบ่อเก๋ง พอนักเรียนถามคนในชุมชนมากเข้าก็โดนตวาด
นักเรียนรู้สึกว่าไม่สามารถถามหาความรู้กับคนในชุมชนได้ จึงคิดกันว่าถ้าเราต้องหาข้อมูลเองไม่ต้องถามใคร เพื่อให้สามารถเล่าได้ ตอนนี้เขาสามารถเล่าให้คนอื่นฟังได้ในระดับหนึ่งแล้ว ครูจึงสรุปกับเขาว่าเพราะฉะนั้นนักเรียนนี่ล่ะ จะต้องเป็นคนเรียนรู้เพื่อเล่าต่อให้คนได้รู้ประวัติความเป็นมารากเหง้าของเรา
ตอนนี้ท้องถิ่นเข้ามาดูแลพัฒนา สถานที่สำคัญของชุมชนให้ดูปลอดภัย นักเรียนก็วิ่งเล่นอยู่แถวนั้น มีนักท่องเที่ยวแวะเข้ามา ได้พบเจอนักเรียนของเรา ถามว่าที่นี่คืออะไร นักเรียนสามารถตอบ เล่าเรื่องราวให้เขาฟังได้ ถึงแม้ว่าจะเล่าได้ไม่ทั้งหมดแต่เขาสามารถบอกความสำคัญ มีความเป็นมาอย่างไร เท่านี้นักเรียนก็ภูมิใจ เพราะเขาสามารถอธิบายเรื่องราวชุมชนตัวเองได้จากที่ไม่เคยสนใจประวัติความเป็นมาของชุมชนเลย
ถามเด็กไปถามแล้วคนแก่ตวาดกลับ คุณครูพลิกสถานการณ์ตรงนั้นมาสร้างการเรียนกับนักเรียนอย่างไร
ตอบคุณครูก็บอกเด็กว่า บางครั้งเราต้องดูสถานการณ์และเวลาด้วย ว่าในขณะที่เราจะถามเขายุ่งอยู่ไหม เขาทำอะไรที่เป็นภาระอยู่ไหม เราต้องดูเวลาว่าเหมาะสมไหม ไม่ใช่เดินตรงเข้าไปถึงถามทันที บางครั้งเขาทำงานมาเหนื่อย ๆ เขาก็ตวาดให้ ต้องแนะนำว่าเวลาไหนที่ถามได้ ถ้าเขามีแขกเราก็ต้องรู้จักคอย ต้องรู้เวลาเพราะคนในชุมชนเขาไปทำงานตั้งแต่หัวรุ่ง ตีสี่บางทีเขาก็ไปแล้ว พอเราเข้าไปถามเขาตอนที่เขาเพิ่งกลับจากทำงาน เขาก็หงุดหงิดเป็นเรื่องปกติ ต้องดูเวลาที่เหมาะสมก่อนเข้าไปหาข้อมูล บางทีต้องนัดบอกเขาล่วงหน้าวันที่เขาว่าง
ถามบทบาทของเด็กนักเรียนในโครงการศึกษาประวัติศาสตร์บทบาทมีอะไรบ้างที่สัมพันธ์กับชุมชนรอบโรงเรียน
ตอบนักเรียนศึกษาประวัติศาสตร์ของชุมชนบ้านแหลมสน สถานที่สำคัญในชุมชนเราทั้งหมด นักเรียนลงพื้นสำรวจข้อมูลชุมชน กลับมาช่วยกันวาดทำแผนที่เดินดิน ทำ Timeline ประวัติศาสตร์ นักเรียนทำเองทั้งหมด
ถามเด็กทำแล้วชุมชนมีเสียงตอบรับอย่างไรบ้าง
ตอบตอนแรกชุมชนสงสัยที่เด็กลงพื้นที่หลายครั้ง เราลงพื้นที่จนได้ข้อมูลที่ชัดเจน ชุมชนตั้งคำถามว่ามาทำอะไรบ่อยๆ ตอนหลังเด็กบอกเขาว่ามาทำโครงการศึกษาประวัติศาสตร์บ้านแหลมสน มาหาข้อมูล ครูรู้สึกว่าในช่วงหลังชุมชนให้ความร่วมมือ ผู้นำชุมชนบอกว่า “ทำอย่างนี้ดี เดี๋ยวมีนักท่องเที่ยวมาจะเชิญให้มาเป็นมัคคุเทศน์เล่าให้นักท่องเที่ยวฟังได้ไหม” ผู้นำชุมชนเห็นความสำคัญก็ช่วยกันให้ข้อมูล
ถามคุณครูคิดว่าทำไมผู้นำชุมชนถึงเปลี่ยนจากตั้งคำถามมาเป็นให้ความช่วยเหลือร่วมมือ
ตอบผู้นำชุมชนในระยะหลังเขาก็เริ่มพัฒนาชุมชน เขาอาจมีแผนงานไว้ เขาเริ่มพานักท่องเที่ยวเข้ามาในชุมชนมากขึ้น พอเห็นนักเรียนทำโครงการ เขาจึงเห็นว่าเป็นประโยชน์กับตัวนักเรียนที่จะสามารถมาเชื่อมโยงกับแผนของเขาได้ เขาจึงหันมาให้ความร่วมมือ โดยให้ข้อมูลช่วยหาข้อมูลต่าง ๆ มาเพิ่มให้กับนักเรียน
ถามเขาเป็นคนเข้ามาหาทางกลุ่มของนักเรียนเองหรือว่าคุณครูไปประสานไว้ก่อน
ตอบตอนแรกคุณครูเข้าไปหาผู้นำชุมชนก่อน บางทีเราต้องเข้าหาผู้นำชุมชนเพราะว่าอยู่ในพื้นที่ บางทีมีอันตรายเวลาที่นักเรียนลงพื้นที่ในชุมชน อยากให้ผู้นำชุมชนมาร่วมด้วย เราจึงเข้าไปหานัดแนะกับเขา ถามผู้นำว่าพอจะมีความรู้เรื่องประวัติสถานที่นี้ไหม ผู้นำบอกว่ามีสามารถเล่าได้ เราก็นัดนักเรียนในโครงการและนักเรียนที่สนใจลงพื้นที่ พอตอนหลังมีนักท่องเที่ยวมา ผู้นำประสานขอนักเรียน 1 - 2 คน ที่เล่าเรื่องนี้ได้จากการที่เขาสังเกตในวันก่อน ให้ไปเล่าเรื่องราวให้นักท่องเที่ยวฟัง
ถามโครงการที่เด็กทำส่งผลอย่างไรกับชุมชนตรงนั้นบ้าง
ตอบทำให้ชุมชนของเราเห็นคุณค่าของสถานที่สำคัญในชุมชนของตัวเอง จากไม่สนใจไม่เคยไปดู เขาหันมาสนใจเห็นคุณค่าชุมชนตัวเองมากขึ้น ร่วมมือช่วยกันดูแลรักษามากขึ้นกว่าเดิม
ถามขอให้คุณครูขยายความเรื่องการเห็นคุณค่ามากขึ้นของชุมชนและเด็ก คือเรื่องอะไร ส่งผลอย่างไร
ตอบเห็นคุณค่าต่อสถานที่จากที่ไม่เคยสนใจไม่เคยไปเที่ยวไม่เคยไปดู ปล่อยให้รกร้างก็เข้าไปพัฒนา ทำความสะอาด เวลามีอะไรก็เข้าไปทำกิจกรรมชุมชนในสถานที่นั้น ชาวบ้านจากที่ไม่เคยเข้าร่วมทำอะไรกับชุมชนก็เข้ามาร่วมทำกิจกรรมมากขึ้น ความสัมพันธ์เริ่มใกล้ชิดกันมากขึ้น มีความใส่ใจในการดูแลเรื่องภูมิทัศน์สถานที่ท่องเที่ยว ให้สะอาดน่าเข้ามาท่องเที่ยว ให้เด็กเข้าไปเล่น พวกนักท่องเที่ยวมาก็จะได้ปลอดภัย ชาวบ้านร่วมกันพัฒนาถนนหนทางทางเข้า
ก่อนทำโครงการนี้ไม่มีภาพแบบนี้ ช่วงก่อนเราไปถามชาวบ้าน ดูสีหน้าท่าทางเขาไม่พอใจ ไม่เต็มใจที่จะให้ความรู้ให้คำตอบกับเรา แต่พอเราไปทำบ่อย ๆ และเริ่มมีคนเข้ามาเที่ยว พอเราเข้าไปรอบหลังปฏิกิริยาของของเขาก็เปลี่ยนไป ดีขึ้น ตอนนี้เริ่มมีคนมาเที่ยวในชุมชนของเรา เขาสามารถหารายได้จากนักท่องเที่ยวได้ เกิดทั้งคุณค่าและมูลค่า
ถามมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้างและแก้ไขอย่างไร
ตอบปัญหาตอนทำงานกับเด็ก ๆ ตอนลงพื้นที่ต้องเดินไกล เขาก็มีท้อบ่นเหนื่อยบ้าง ครูก็ให้กำลังใจและช่วยเหลือ แนะนำ กระตุ้น พอทำไปนักเรียนเริ่มมีพลังบวกมากขึ้น ส่วนใหญ่ทำงานบางครั้งนักเรียนจะมีข้อคิดเห็นไม่ตรงกัน ขัดแย้งกัน เราก็ต้องเข้าไปให้คำแนะนำไม่ให้เกิดขัดใจทะเลาะกัน เช่น พอแสดงความคิดเห็นแล้วไม่ตรงกัน คนหนึ่งก็บอกว่าของเขาถูกต้องแบบนี้ เราก็ต้องเป็นกลาง เข้าไปบอกว่าเอาอย่างนี้ไหม ให้เขาแชร์ความคิดออกมาว่าของหนูเป็นอย่างไร เพื่อนว่าแบบนี้ของหนูว่าอย่างไร ถ้าเราเอาสองอย่างนี้มารวมกัน น่าจะโอเคไหม ให้เขาลองทำดูตกลงว่าได้ พอครั้งต่อไป ครูก็สอนเขาว่าการทำงานร่วมกันจะมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน แต่เราอย่ายืดความคิดของเราเป็นหลักให้ลองเอาความคิดของทุกคนมาดูกันว่า ลองเปลี่ยนเอาของเราและคนอื่นมาจะดีกว่าไหม นักเรียนสามารถทำงานร่วมกันได้โดยไม่มีปัญหาการทะเลาะกันตลอดการทำโครงการ นักเรียนเข้าใจความคิดเห็นที่แตกต่างและสามารถที่จะนำมารวมเป็นความคิดเห็นร่วมของกลุ่ม
ถามกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนในวิชาของคุณครูไหม
ตอบงานสงขลาฟอรั่มเป็นกิจกรรมชุมนุม เทอมหน้ายังไม่ได้บรรจุ ถ้ามีต่อจะทำเป็นชุมนุมเหมือนเดิม
ถามถ้าไม่มีต่อกระบวนการแบบนี้คุณครูจะคิดว่าจะทำอย่างไรต่อไป เด็ก ๆ เขาพูดว่าเขาก็เตรียมรุ่นน้องไว้สืบทายาทแล้ว
ตอบถ้าไม่มีคุณครูจะทำตามแนวของสงขลาฟอรั่ม จะทำเรื่องประวัติศาสตร์บ้านแหลมสนในช่วงชั้นที่สอง ใช้กระบวนการต่าง ๆ ตามโครงการนี้ ในโรงเรียนของเรา
ถามคุณครูทำงานนี้มีแนวร่วมในโรงเรียนที่เป็นเพื่อนครูด้วยกันไหม
ตอบมีแนวร่วมคือรุ่นน้องครูคนหนึ่งที่ชอบกระบวนการแบบนี้มาก
ถามการเรียนรู้ของของคุณครูจากการทำโครงการนี้คืออะไรบ้าง
ตอบการได้ทำโครงการนี้ คุณครูได้เทคนิคกระบวนการ การทำงาน ของโครงการนี้ มาปรับใช้กับนักเรียนในโรงเรียน ได้ค้นพบศักยภาพนักเรียนแต่ละคนมีศักยภาพที่แตกต่าง สามารถทำอะไรที่เราคาดไม่ถึงได้ และนักเรียนมีความเชื่อมั่น มั่นใจ กล้าแสดงออก สำหรับครูคือได้ประสบการณ์ แนวกระบวนการ เทคนิค การตั้งคำถาม ตั้งคำถามเปิดกว้างเพื่อให้นักเรียนกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มศักยภาพ แล้วก็ได้นำกระบวนการทั้งหมดไปใช้กับนักเรียนในวิชาอื่น ๆ จากที่ได้ทดลองดูแล้วนักเรียนก็มีความสุขในการเรียนรู้
ถามตอนที่สังเกตว่าเด็กมีความสุขในการเรียนรู้ที่เขาเป็นอย่างไร
ตอบความสุขจากการเรียนรู้ สังเกตจากนักเรียนเรียนรู้นักเรียนเรียนรู้อย่างเต็มใจ แล้วก็กล้าที่จะถามกล้าที่จะตอบในเวลาที่ทำกิจกรรมร่วมกัน เมื่อมีกิจกรรมเข้ามา นักเรียนจะมากันโดยที่ไม่ได้บังคับ เหมือนการเข้าร่วมโครงการของสงขลาฟอรั่ม นัดลงพื้นที่นักเรียนมากันอย่างพร้อมเพรียง โดยที่ครูไม่ได้บังคับว่านักเรียนต้องมาทุกคน นักเรียนเต็มใจมา สุดท้ายครูเห็นว่านักเรียนมีความอยากรู้มีความสุขในการเรียนรู้
ถามคุณครูมีประเด็นอะไรที่คุณครูอยากจะพัฒนาตัวเองเพิ่มเติมไหม
ตอบครูอยากอบรมเทคนิคกระบวนการต่าง ๆ ที่จะมาช่วยเสริมตัวเอง เพื่อที่จะไปถ่ายทอดให้นักเรียน อยากพัฒนาตัวเองในกระบวนการที่แปลกใหม่ ที่ทำให้นักเรียนเรียนรู้อย่างมีความสุข