ชลธิชา สันหรีม : โครงการเกษตรปลอดสารพิษ

เด็กหญิงชลธิชา สันหรีม (น้ำหวาน) อายุ 14 ปี

ศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาลตำบลปริก ตำแหน่ง: หัวหน้าโครงการ

โครงการเกษตรปลอดสารพิษ เทศบาลตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา กลุ่มเกษตรปลอดสารพิษ

­

­

ถาม ขอให้ช่วยแนะนำตัว

ตอบ สวัสดีค่ะ ชื่อชลธิชา สันหรีม ชื่อเล่นน้ำหวาน อายุ 14 ปี กำลังจะขึ้น ม. 3 โรงเรียนเทศบาลตำบลปริก

ถาม ขอให้ช่วยเล่าถึงโครงการที่ทำ

ตอบ ทำโครงการเกษตรปลอดสารพิษ เทศบาลตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา กลุ่มเกษตรปลอดสารพิษ เป็นหัวหน้าโครงการ ทำเรื่องการปลูกผักปลอดสารพิษเพื่อส่งเข้าโรงครัวของโรงเรียน เราเริ่มต้นจาก ศึกษาข้อมูลว่าในแต่ละวัน โรงอาหารต้องการผักชนิดไหน ปริมาณเท่าไร จากแม่ครัวและคุณครูที่รับผิดชอบโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียน เมื่อได้ข้อมูลมาจากโรงครัว เราวางแผน ทำแผนผังเป็นตารางให้เห็นว่า ในหนึ่งสัปดาห์มีเมนูอะไรบ้าง ใช้ผักอะไร ปริมาณเท่าไร เราจะสามารถปลูกผักส่งโรงครัวได้ปริมาณเท่าไร ทดลองปลูกผักให้ตรงความต้องการของโรงครัว ซึ่งโรงเรียนของเราแบ่งพื้นที่สำหรับทำแปลงเกษตรบริเวณหลังโรงเรียน หลังจากผักโตเต็มที่ เราจะนำผักไปส่งที่โรงครัว

ถาม ผักในโครงการที่ปลูกได้มีปริมาณเพียงกับความต้องของโรงครัวไหม

ตอบ ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของโรงครัว แต่สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายของโรงครัวได้ครึ่งหนึ่ง

ถาม ใครในโรงเรียนได้รับประทานผักของเราบ้าง

ตอบ นักเรียน คุณครู บุคลากรในโรงเรียนทุกคน ประมาณ 500-600 คน

ถาม ช่วยเล่าถึงตัวเราก่อนเข้าร่วมโครงการเป็นอย่างไร

ตอบ หนูมีความเชื่อมั่นในตัวเองนิดหน่อย ชอบทำงานจิตอาสา มีความคิดเป็นของตัวเอง แต่ไม่กล้าแสดงออกให้คนอื่นรู้ มีความเป็นผู้นำแต่ไม่ได้แสดงให้ใครเห็น หนูกลัวว่าถ้าเราแสดงความคิดเห็นออกไป แล้วเพื่อนมีความคิดเห็นไม่ตรงกับเรา กลัวเพื่อนว่า

ถาม หลังเข้าร่วมโครงการตัวเราเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

ตอบ หนูมีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น กล้าแสดงความคิดเห็น กล้าแสดงออกมากขึ้น เช่น เวลาที่มีการประชุมแต่ละครั้ง หนูกล้าเป็นผู้นำในการพูด เพื่อนในกลุ่มยอมรับความคิดเห็นของเรา และช่วยกันเสนอความคิด

การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นตอนที่มาทำโครงการ เราได้พบปะเพื่อนอยู่เรื่อย ๆ ก่อนทำงานเราต้องทำ BAR และ AAR เราพูดคุยกันตลอด จนสนิทกับเพื่อน และกล้าแสดงความคิดเห็น เรากล้าชวนเพื่อนคุยมากขึ้น คุณครูในโครงการชวนพวกเราคิด ตั้งคำถาม หนูกล้าแสดงออกกับคุณครู เพื่อนยอมรับความคิดเห็นของหนูในตอนนั้น หลังจากนั้นหนูมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น หนูสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ รู้จักปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนในกลุ่ม แต่ก่อนหนูชอบทำงานกับเพื่อนที่สนิทเท่านั้น คนที่ไม่สนิทหนูไม่กล้าทำงานด้วย เวลาที่ไปงานสงขลาฟอรั่ม ต้องทำงานกับเพื่อนที่ไม่สนิทจากหลายที่ หนูสามารถทำงานร่วมกับเขาได้

ถาม อะไรที่ทำให้ความคิดในการทำงานร่วมกับคนอื่นเปลี่ยนไป

ตอบ ถ้าเราต้องอยู่กลุ่มเดียวกัน แล้วเราไม่ปรับตัวทำงานร่วมกับเพื่อน จะทำให้เกิดการแตกแยก เกี่ยงกันทำงาน ต่างคนต่างทำงาน งานนี้ของเธอ งานนี้ของฉัน แต่ตอนนี้ไม่ว่าจะงานของใคร เราช่วยกันทำได้

ถาม เพื่อนในทีมที่ร่วมโครงการคือเพื่อนสนิทของเราแต่เริ่มต้นไหม

ตอบ ตอนเริ่มต้นไม่สนิท พอทำโครงการกันมาเรื่อย ๆ จึงสนิท ตอนนั้นหนูปรับตัวเข้ากับเพื่อน เพื่อนเขาก็ปรับตัวเข้ากับหนู ทั้ง 2 ฝ่ายปรับตัวเขาหากัน

ถาม วิธีการปรับตัวเข้าหาเพื่อนทำอย่างไร

ตอบ หนูชวนเพื่อนคุย เล่าเรื่องเกี่ยวกับประสบการณ์ของตัวเอง เรื่องส่วนตัว เรื่องทั่ว ๆ ไป เราแลกเปลี่ยนความคิดกัน ทำให้เรารู้ว่าเพื่อนเขาก็มีความคิดเหมือนกับเรา

ถาม การเปลี่ยนแปลงหลังจากเข้าร่วมโครงการ มีเรื่องอะไรบ้าง

ตอบ เมื่อก่อนเวลาที่คิดอะไรแล้ว เราจะลงมือทำเลย พอทำโครงการนี้ เรารู้ว่าต้องวางแผนวางแผนเป็นลำดับขั้นตอน รู้ว่าเราจะทำอะไรก่อนหลัง ทำอย่างไรให้งานออกมาสมบูรณ์แบบ ทักษะเรื่องการวางแผนนี้ หนูได้ในช่วงที่เราต้องวางแผนแลกเปลี่ยนความคิดกันในกลุ่ม เราเอาความคิดที่แต่ละคนเสนอมาเรียงลำดับขั้นตอนการทำงาน พอเราวางแผนแล้ว เมื่อเราเจอปัญหา เราจะรู้ว่าปัญหานี้อยู่ที่ขั้นตอนไหน เราจะได้แก้ปัญหาตรงจุด ไม่ต้องเสียเวลาในการค้นหาปัญหา

อีกอย่างที่หนูเปลี่ยนไปคือ การยอมรับนิสัยของเพื่อนที่ไม่เหมือนกัน เพื่อนบางคนมีความรับผิดชอบน้อย บางคนรับผิดชอบมาก บางคนไม่ตรงเวลาก็มี ถ้าเรามีเวลาว่างไม่ตรงกัน เราต้องยอมรับกันให้ได้ หาข้อตกลงกันว่าจะทำอย่างไรดี อย่างที่หนูบอก หนูเป็นคนมีความเชื่อมั่นในตัวเองและกล้าแสดงออก แต่เวลาที่เพื่อนแสดงความคิดเห็น หนูต้องให้สิทธิ์เพื่อนในการแสดงความคิดด้วย เราต้องรับฟังซึ่งกันและกัน เมื่อก่อนตอนหนูฟังความคิดเห็นของเพื่อน หนูแค่ฟังผ่าน ๆ หนูไม่นำมาคิด พอได้มาทำโครงการ เรานำความคิดเห็นของเพื่อนมาคิดและปรับให้เข้ากับความคิดเห็นของเรา ถ้าเราเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของเพื่อน เราจะทำงานร่วมกับเพื่อนได้

ถาม โครงการนี้ได้ปลูกผักเพื่อเป็นอาหารให้สำหรับคนในโรงเรียน การที่ตัวเราได้ทำงานเพื่อคนอื่นแบบนี้ ตัวเรารู้สึกอย่างไร

ตอบ หนูรู้สึกภูมิใจ โรงเรียนของเราเปิดตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมต้น เด็กนักเรียนมัธยมจะได้ไม่ต้องซื้ออาหาร ทุกคนในโรงเรียนได้กินผักที่สด สะอาด ปลอดสารพิษตกค้าง

ถาม นอกจากโครงนี้ น้องน้ำหวานเคยทำงานโครงการอื่น หรือ ร่วมกิจกรรมอะไรบ้าง

ตอบ หนูเคยเข้าร่วมโครงการผ้ามัดย้อมโคนต้นปริก ตอนนั้นศึกษาวิธีการทำผ้ามัดย้อม ส่วนโครงการปลูกผักปลอดสารตอนนี้ เราได้ทำงานร่วมกับการโครงการกลุ่มไก่ไข่อารมณ์ดีด้วย กลุ่มของเขาเป็นเด็กผู้ชายล้วน เราแลกเปลี่ยนการทำงานกัน เช่น เวลาที่กลุ่มของหนูต้องยกร่องแปลงผัก พวกเขามาช่วยเราบ้าง ส่วนพวกเราไปช่วยพวกเขาด้วย วันเสาร์และวันอาทิตย์พวกเราจะเข้าไปรดน้ำในแปลงผัก ช่วยไล่หมาที่จะมากินไก่ ช่วยกันจับไก่เข้าเล้า ตอนแรกพวกหนูกลัวไก่ แต่พอเราจับไก่บ่อยขึ้น ตอนนี้ไม่กลัวแล้ว เวลาที่เราทำงานร่วมกับโครงการอื่น เราจะได้ความรู้และทักษะหลายด้าน เราได้ทั้งความรู้เรื่องผักและความรู้เรื่องไก่ไข่ หนูชอบหาความรู้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางด้านความคิด

ถาม ขอให้เลือกจุดเปลี่ยนที่เป็นที่สุดในการทำโครงการนี้ คือเรื่องอะไร

ตอบ เรื่องการวางแผนการทำงาน การใช้ชีวิตประจำวันปกติเราไม่ได้วางแผนอะไรให้กับชีวิต เพราะว่าเรายังเด็ก หนูไม่รู้จักการวางแผนการทำงาน พอมาเข้าร่วมโครงการหนูรู้จักการวางแผน เห็นปัญหาชัดเจนขึ้นมาว่าอยู่ตรงไหน ได้รู้จักวิธีการแก้ไขปัญหา ก่อนหน้านี้ไม่รู้ว่าจะทำอะไรก่อนดี พวกเราสับสน คุยกันไม่รู้เรื่อง ทำงานแบบมั่ว ๆ ครูแนะนำให้พวกเราลองวางแผน หลังจากนั้นเราลองวางแผนกัน เราต้องวางเป้าหมาย ระบุจุดประสงค์ของสิ่งที่เราจะทำ วางลำดับขั้นตอน คิดวิธีไปถึงเป้าหมาย และวิธีการแก้ปัญหาไว้ว่าตอนที่เกิดปัญหาเราจะแก้ไขอย่างไร

ถาม ปัญหาอุปสรรคในการทำโครงการคือเรื่องอะไร

ตอบ ปัญหาใหญ่ คือ เราต้องปลูกผักส่งโรงครัวในปริมาณที่มาก แกนนำของเรามีจำนวน 12 คนคุณครู 1 คน ทั้งหมดเป็น 13 คน เรารับสมัครน้องในโรงเรียน เพื่อมาช่วยทำโครงการ น้องที่มาสมัครเป็นน้องหลายระดับชั้น อายุไม่เท่ากัน เราต้องช่วยกันดูน้อง ต้องดูว่าน้องอายุเท่านี้ทำอะไรได้บ้าง เราต้องคอยดูแลน้อง

ถาม มีวิธีการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร

ตอบ ในการแบ่งงานเรามานั่งคุยกับเพื่อน ๆ ในกลุ่ม ช่วยกันเสนอความคิด พวกเราคิดว่าน้องที่มีวัยต่างกัน กำลังที่ต่างกัน ความอดทนต่างกัน เราควรแบ่งหน้าที่ให้เหมาะสมกับเขา น้อง ๆ ทุกคนมีความสุข น้องประถมมีความสุขตอนที่รดน้ำผัก เราจะให้ความรู้เกี่ยวกับการรดน้ำผักให้กับน้อง เช่น ผักประเภทนี้ต้องรดน้ำปริมาณเท่าไร ต้องรดกี่วัน ถ้าเรารดน้ำผักมากเกินไปหรือน้อยเกิน จะมีผลอย่างไรกับผักบ้าง น้อง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการกับเรามีประมาณ 50 - 60 คน เราแบ่งเวรให้เขาช่วยกันทำงาน เราแบ่งน้องเป็นระดับชั้น ดูว่าน้องอายุเท่านี้ทำอะไรได้บ้าง เช่น น้อง ป.3 แบ่งเวรเพื่อรดน้ำผัก จะเป็นแบ่งวันและสัปดาห์ น้องกลุ่มนี้เขาว่างตรงกัน สามารถทำงานพร้อมกันได้ พี่มัธยมเราให้มาช่วยงานยกร่องปลูกผัก เพราะเป็นงานที่หนักต้องใช้กำลัง

ถาม เวลาที่มีปัญหาอุปสรรค ขอคำปรึกษาจากใคร

ตอบ ถ้ามีปัญหาเราจะเรียกสมาชิกกลุ่มแกนนำมาคุยกัน หาวิธีแก้ไขปัญหา จากนั้นเอาความคิดนี้ไปปรึกษาคุณครูพี่เลี้ยงโครงการ คือ คุณครูกสินทิพย์ ว่าวิธีการแก้ไขปัญหาของพวกเราดีหรือไม่ ครูมีคำแนะนำอะไรเพิ่มบ้าง เช่น เรามีปัญหาเรื่องน้องมีวัยที่ต่างกัน เราจะถามครูว่า “คุณครูขา ถ้าเราใช้น้องประถมรดน้ำผัก พี่มัธยมช่วยกันทำแปลงผัก คุณครูว่าอย่างไรคะ” ครูจะให้คำปรึกษา หลังจากนั้น พวกเราเอาสิ่งที่ครูแนะนำ มาคิดว่าเราสามารถทำได้ไหม

ในช่วงแรกเราขาดความรู้เรื่องปุ๋ย เราถามครูว่า “คุณครูพอจะรู้จักแหล่งเรียนรู้เรื่องปุ๋ยไหมคะ” ส่วนหนึ่งเราหาความรู้ไว้แล้วบ้าง แต่เราอยากถามคุณครูเพิ่มเติม จะได้มีข้อมูลจากหลายแหล่ง เพื่อเอาความรู้ที่ได้มาทำสูตรปุ๋ย

ถาม ผู้รู้ที่ให้คำปรึกษา มีใครบ้าง

ตอบ พวกหนูและสมาชิกในกลุ่มมาจากหลายชุมชน เรารู้ว่าในชุมชนมีแหล่งเรียนรู้ตรงไหนบ้าง เราช่วยกันหาข้อมูล ขอให้คุณครูช่วยติดต่อพี่พนักงานที่ ILT3 เป็นศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของเทศบาล หลังจากนั้นเราได้ไปสอบถามเรื่องปุ๋ย ส่วนผสม วัตถุดิบที่ใช้ เราได้ไปถามปราชญ์ชาวบ้าน ท่าน สท. ฟาริส เรื่องปุ๋ย เรื่องการปลูกผัก การเจริญเติบโตของผักและการเก็บผัก เราไปถามความรู้จากท่านผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งมีความรู้เรื่องการปลูกผักเพราะท่านปลูกผักทานเอง ผู้รู้ทุกคนในชุมชนให้ความร่วมมืออย่างดี คอยสนับสนุนพวกเรา ถามพวกเราว่า “ทำไมพวกเราถึงสนใจการปลูกผัก” หนูเล่าถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ เขาชื่นชมว่าเป็นความคิดที่ดี หนูมองว่าถึงเราจะเด็ก แต่เราก็มีความคิดแบบผู้ใหญ่

ถาม จากการทำโครงการตัวเราได้เรียนรู้เรื่องอะไร

ตอบ เรียนรู้เรื่องการทำงานร่วมกับผู้อื่น การวางตัว เช่น ถ้าทำงานกับเพื่อนเราเล่นได้นิดหน่อย แต่ถ้าทำงานกับผู้ใหญ่เราต้องจริงจัง ทำตัวให้น่าเชื่อถือ พูดเสียงไพเราะ ไม่พูดเล่นขอความรู้แค่ให้ผ่านไปเท่านั้น แต่เรากำลังจะนำความรู้ไปปฏิบัติจริง เช่น “พี่คะ หนูขอมาเรียนรู้เรื่องการทำปุ๋ยค่ะ พี่ว่างหรือเปล่าคะ” เราต้องดูด้วยว่าเขาว่างไหม ไม่ใช่ว่าพี่ไม่ว่างแต่พี่ต้องให้ความรู้หนูนะ ต้องดูกาลเทศะด้วย

การเรียนรู้อีกอย่าง คือ หนูได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องผัก เราสามารถนำมาใช้ได้ที่โรงเรียนและที่บ้าน ก่อนหน้านี้ที่บ้านหนูไม่ปลูกผัก ไม่รู้วิธีการปลูกและดูแลผัก ตอนนี้ที่บ้านหนูปลูกผักกรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค ผักบุ้ง ผักในแปลงของหนูขึ้นสวย มีรอยแมลงนิดหน่อย แต่เป็นผักที่ปลอดสารพิษ พ่อกับแม่หนูหันมาช่วยปลูกผัก ช่วยทำแปลงผัก ซื้อเมล็ดผักมาให้หนู พ่อแม่บอกว่า “ทำไมเมื่อก่อนถึงซื้อผักจากตลาด” หนูพูดขึ้นว่า “ตอนนี้หนูมีความรู้แล้ว หนูอยากปลูกเอง” หนูรู้สึกภูมิใจ เวลาที่แม่เอาผักของหนูมาทำกับข้าวและคนในครอบครัวได้กินผักที่ปลอดภัย สิ่งที่ได้เรียนรู้อีกอย่าง คือ การทำโครงการเราต้องมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนและคนรอบข้าง เราควรมีมารยาทในการพูด ใช้คำที่เหมาะสม ไม่พูดหยาบคาย

ถาม เรื่องที่ยากที่สุดในการทำโครงการคือเรื่องอะไร

ตอบ ยากในช่วงแรก ตอนที่เรายังไม่มีความรู้ ไม่มีพื้นฐานอะไรเลย พอเรามีความรู้เราได้ลงมือปฏิบัติจริงไม่ยาก

ถาม ขอให้เล่าถึงความมุ่งมั่นและความพยายามของตัวเองในการทำโครงการ

ตอบ ถ้าเราขาดความรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราต้องหาความรู้หลายด้าน จากปราชญ์ชาวบ้าน ผู้รู้ ค้นหาจากอินเตอร์เน็ต เมื่อเราได้ข้อมูลมา เราจะไม่เชื่อในทันที ต้องคิดก่อน ต้อง “เอ๊ะ” ก่อน เราต้องสงสัยก่อนว่าเป็นข้อมูลที่จริงหรือไม่ หลังจากนั้นให้เราค้นหาข้อมูลเพิ่ม มีข้อมูลจากแหล่งอ้างอิงอื่นเพิ่มไหม พอเรารู้ข้อมูลจริงแล้ว เราถึงจะ “อ๋อ” “เราต้อง เอ๊ะ ก่อน อ๋อ” การที่เราหาข้อมูลจากหลายที่ดีกว่าหาข้อมูลแหล่งเดียว เราจะได้รู้ข้อดีข้อเสีย ถ้าหาข้อมูลจากแหล่งเดียวและเป็นข้อมูลเท็จ แล้วเราเชื่อทำตามจะมีผลเสียตามมา เราต้องนำข้อมูลมาวิเคราะห์ก่อนเสมอ

ถาม เรื่องที่ประทับใจที่สุดในการทำโครงการคือเรื่องอะไร

ตอบ การใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ หนูเป็นคนที่ติดเที่ยว ไม่ค่อยมีความรับผิดชอบ พอได้ทำโครงการนี้ วันเสาร์วันอาทิตย์เที่ยวน้อยลง เรามีความรับผิดชอบมากขึ้น เพราะต้องไปรดน้ำผักที่โรงเรียน เราต้องรับผิดชอบ ดูแลน้อง ๆ ที่สมัครเข้าร่วมโครงการ หนูต้องรับผิดชอบเอาผักไปส่งที่โรงครัวชึ่งต้องตรงเวลา หนูจึงประทับใจการเปลี่ยนแปลงของหนู

ถาม คุณสมบัติในตัวเองที่เพิ่มขึ้นจากการทำโครงการคือเรื่องอะไร

ตอบ ความเป็นผู้นำและความเชื่อมั่นในตัวเอง หนูกล้าเป็นผู้นำเพื่อน ๆ เวลาหนูเสนออะไร เพื่อนจะยอมรับในตัวหนู เวลาที่หนูนำเพื่อน หนูจะปรึกษาเพื่อน ทำให้เพื่อนดูไม่ใช่ว่าเราออกคำสั่งเพื่อน เราต้องลงมือปฏิบัติด้วย เมื่อก่อนเราไม่มีความรู้เหมือนเพื่อน พวกเราเรียนรู้ไปด้วยกัน ทำไปด้วยกัน ไม่เอาเปรียบเพื่อน ตอนนี้หนูมั่นใจมากขึ้น จากแต่เดิมที่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง แต่ไม่กล้าแสดงออกออกให้ใครรู้

ถาม หลังจากจบโครงการนี้ น้ำหวานคิดว่าจะนำทักษะต่าง ๆ ที่ได้รับไปทำอะไรต่อไปบ้าง

ตอบ การอยู่ร่วมกับผู้อื่น ในอนาคตหนูไปอยู่ในสังคมที่ใหญ่ขึ้น เป็นเรื่องที่จำเป็นมาก เพราะเราต้องปรับตัวให้เข้ากับคนอื่น หลังจากนี้เราจะก้าวจากสังคมเด็กไปสู่สังคมผู้ใหญ่ เราต้องเจอคนเยอะขึ้น มีทั้งคนที่หวังดีและไม่หวังดี เราจะได้รู้ทันเขา ส่วนความรู้เรื่องการปลูกผักจะนำไปใช้จนแก่ นำความรู้ที่เรามีไปถ่ายทอดให้กับคนอื่นด้วย

ถาม ในอนาคตอยากส่งต่อโครงการปลูกผักปลอดสารพิษให้กับรุ่นน้องอย่างไร

ตอบ หนูวางแผนไว้ การทำงานในโครงการมีน้อง ๆ อยู่ทุกระดับชั้น หลังจากที่หนูจบจากโรงเรียนเทศบาลตำบลปริก รุ่นน้องที่ช่วยงานหนูอยู่ตอนนี้ เขามีความรู้เพิ่มขึ้นและหาความรู้ต่อยอดไปได้อีก เขาจะทำโครงการนี้ต่อไป อนาคตถ้าหนูไปศึกษาต่อที่อื่น หนูจะไปปลูกผักที่โรงเรียนนั้นด้วย หนูจะลองทำเรื่องขอโครงการ หาคนมาสนับสนุน

ถาม สิ่งที่พวกเราทำมีเสียงสะท้อนจากผู้ใหญ่ในโรงเรียนอย่างไรบ้าง

ตอบ เขาบอกว่าเป็นความคิดที่ดี ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับโรงเรียน ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ครูทุกคนเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวหนูและเพื่อน ๆ จากเด็กในโรงเรียนที่คนไม่ค่อยมีคนรู้จัก พอมาทำโครงการนี้ มีคนรู้จักมากขึ้น มีคนทักว่า “คนนี้พี่น้ำหวาน อยู่กลุ่มเกษตรปลอดสารพิษ” หนูรู้สึกดีใจเวลาเจอน้อง ๆ ที่เขาอยากร่วมโครงการกับหนู อยากไปรดน้ำผัก

ถาม สำนึกพลเมือง ในตัวเราและน้อง ๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

ตอบ หนูเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น กล้าพูด กล้าแสดงออก รู้จักวางแผนการทำงานเป็นลำดับขั้นตอน รู้จักทักษะในการทำเกษตรเพื่อมาปรับใช้ที่บ้านและที่โรงเรียน ทำให้คนในโรงเรียนมีผักปลอดสารพิษกิน ส่วนน้อง ๆ มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย มีจิตอาสาที่อยากจะช่วย ตรงต่อเวลรับผิดชอบช่วยดูแลผัก

ถาม อนาคตอยากเป็นอะไร

ตอบ อยากเป็นแพทย์

ถาม คิดว่าจะนำทักษะที่ได้รับมาใช้กับวิชาชีพแพทย์อย่างไร

ตอบ หนูคิดว่าการเรียนแพทย์จะต้องใช้การวางแผน เราต้องรู้ลำดับขั้นตอนในการรักษา เวลามีปัญหาต้องรู้จักวิธีการแก้ปัญหา ดูว่าปัญหาเกิดจากอะไร จะแก้อย่างไร หนูคิดว่าสอดคล้องกับทักษะที่ได้จากโครงการมาก